เมืองตราดสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “กราด” ที่เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้ทำไม้กวาด ต้นไม้ชนิดนี้มีขึ้นอยู่รอบเมืองตราด ซึ่งในสมัยนั้นมีต้นกราดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พอถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองตราดมีชื่อในขณะนั้นว่า “บ้านบางพระ” จังหวัดตราด หรือเมืองทุ่งใหญ่ปรากฏชื่อในทำเนียบหัวเมืองสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2178) ว่าเป็นหัวเมืองชายทะเล สังกัดฝ่ายการต่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านการคลัง ตราดเป็นหนึ่งในเมืองท่าชายทะเล ที่มีชัยภูมิเหมาะกับการแวะจอดเรือ เพื่อขนถ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า เติมเสบียงอาหาร น้ำจืดบริเวณอ่าวเมืองตราด จึงเป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนพ่อค้าชาวจีนที่เดินทางเข้ามาค้าขาย
ตราดนับเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปลายอยุธยา สินค้าที่ส่งออกขายยังแดนไกล โดยเฉพาะของป่า เช่น เขากวาง หนังสัตว์ ไม้หอม และเครื่องเทศต่าง ๆ ล้วนมาจากเขตป่าเขาชายฝั่งทะเลตะวันออก แถบระยอง จันทบุรี ตราด โดยลำเลียงสินค้าผ่านมาตามแม่น้ำเขาสมิง ออกสู่ปากอ่าวตรา
เมื่อครั้งสงครามกู้เอกราชสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลือกตราดเป็นเมืองหน้าด่านกันชน ทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหารก่อนเคลื่อนกองทัพเรือออกจากจันทบุรี
ในสมัยรัชการที่ 1 เมืองตราดยังเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา ในสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยทำศึกกับเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันท์ซึ่งต่อมาหันไปสวามิภักดิ์กับญวน ไทยกับญวนผิดใจกันจนต้องทำสงครามกันในปี พ.ศ. 2371 ตราดเป็นแหล่งกำลังพล และเสบียงอาหารมีการตั้งป้อมค่ายอยู่ที่บ้านแหลมหิน ปากอ่าวเมืองตรา
สมัยรัชกาลที่ 5 ฝรั่งเศสได้ส่งกองทัพเรือเข้ายึดจันทบุรี ปี ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) และคืนให้ไทยในปี พ.ศ. 2447 โดยแลกกับเมืองตราดตั้งแต่แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูด รวมทั้งเมืองปัจจันตคีรีเขตร (เกาะกง) ต่อมารัฐบาลไทยเห็นว่าตราดมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และพลเมืองส่วนใหญ่เป็นคนไทย ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งเศสจึงยินยอมทำสัญญายกเมืองตราดกับเมืองด่านซ้ายฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (เมื่อหันหน้าไปทางปากแม่น้ำ) คืนให้กับไทยโดยแลกเปลี่ยนกับพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 โดยฝ่ายไทยมีพระยามหาอำมาตยาธิบดี ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระยาศรีเทพตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าผู้แทนรัฐบาลไทย ฝ่ายฝรั่งเศสมีเมอซิเออร์รูซโซเรซิดังเป็นหัวหน้าผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสได้กระทำพิธีส่ง และรับมอบกัน ณ ศาลากลางจังหวัด และฝรั่งเศสยอมถอนทหารออกไปเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2450
ในช่วงสงครามอินโดจีน (พ.ศ. 2483-2484) ฝรั่งเศสพยายามเข้ายึดเมืองตราดอีกเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 กองทัพเรือไทยได้เข้าต่อสู้ขัดขวางกองทัพเรือฝรั่งเศสที่ล่วงล้ำน่านน้ำไทยอย่างกล้าหาญ รักษาเมืองยุทธศาสตร์ที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ได้
ปี พ.ศ. 2521 เกิดสงครามสู้รบในกัมพูชา ชาวเขมรนับแสนหนีตายทะลักเข้ามาในเขตไทยทางเทือกเขาบรรทัด เขตพรมแดนด้านตะวันออก เส้นทางหลวงหมายเลข 318 จากตัวเมืองตราดเลียบขนานเทือกเขาบรรทัด และชายฝั่งทะเลสู่อำเภอคลองใหญ่เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สายสำคัญ เมื่อสงครามสงบลงในปี พ.ศ. 2529 เส้นทางสายนี้ได้แปรเปลี่ยนเป็นเส้นทางการค้าระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชาบริเวณตลาดหาดเล็ก สุดเขตชายแดนไทย และเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางต่อไปยังเกาะกง
การขุดพบ “พลอยแดง” หรือ “ทับทิมสยาม” ในเขตอำเภอบ่อไร่เมื่อปี พ.ศ. 2514 ก่อกระแสการตื่นพลอย ผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามาแสวงโชคที่นี่ความเจริญทุกด้านมุ่งสู่บ่อไร่จนกลายเป็นเมืองใหญ่คู่กับตัวเมืองตราด พื้นที่ที่เคยเป็นป่าทึบกลายเป็นหลุมบ่อ เมื่อทรัพย์สินในดินเริ่มหมดไป ในปี พ.ศ. 2534 บ่อไร่กลายเป็นเมืองร้าง เหลือไว้เพียงอาคารร้านค้าซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจังหวัดตราด อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 315 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 2,819 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดชายแดนทางภาคตะวันออกของประเทศไทย แบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอเขาสมิง อำเภอแหลมงอบ อำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ อำเภอเกาะกูด และอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราดมีอากาศไม่ร้อนจัด หรือหนาวจนเกินไป แต่มีฝนตกชุกมาก เพราะมีพื้นที่ติดทะเลและภูเขาโอบล้อม จึงทำให้รับอิทธิพลของลมมรสุม แบ่งออกเป็น 3 ฤดู
ฤดูหนาว เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ช่วงเดือนพ.ย.-ก.พ. อากาศไม่หนาวมากนัก อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส
ฤดูร้อน เป็นช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. อุณหภูมิโดยเฉลี่ยไม่เกิน 34 องศาเซลเซียส
ฤดูฝน เกิดจากอิทธิพลลมมรสุมตัวันตกเฉียงใต้พัดผ่านทะเลอ่าวไทย ในช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค ของทุกปี ทำให้มีฝนตกชุกในเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉลี่ยจะมีปริมาณน้ำฝน 4,000 มม.ต่อปี
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
ททท.สำนักงานตราด (ตราด) อ.แหลมงอบ ตราด โทร. 0 3959 7259-60
สำนักงานจังหวัดตราด โทร. 0 3951 1282
สถานีเดินรถโดยสารประจำทาง โทร. 0 3951 1986
สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง โทร. 0 3951 1239
สถานีตำรวจภูธร อำเภอคลองใหญ่ โทร. 0 3958 1115
สถานีตำรวจภูธร อำเภอแหลมงอบ โทร. 0 3959 7033
สถานีตำรวจภูธร กิ่งอำเภอเกาะช้าง โทร. 0 3958 6191, 0 3958 6250
โรงพยาบาลตราด โทร. 0 3951 1040-1
โรงพยาบาลคลองใหญ่ โทร. 0 3958 1044
โรงพยาบาลแหลมงอบ โทร. 0 3959 7040
โรงพยาบาลกรุงเทพฯ-ตราด โทร. 0 3953 2735
โรงพยาบาลกิ่งอำเภอเกาะช้าง โทร. 0 3958 6130
ด่านตรวจคนเข้าเมืองแหลมงอบ โทร. 0 3959 7261
ด่านตรวจคนเข้าเมืองคลองใหญ่ โทร. 0 3958 8108
จุดตรวจด่านชายแดนบ้านหาดเล็ก โทร. 0 3958 8084
สถานีตรวจอากาศ อำเภอคลองใหญ่ โทร. 0 3958 1276
Link ที่น่าสนใจ
ททท.สำนักงานตราด (ตราด) http://www.tourismthailand.org/trat
สำนักงานจังหวัดตราด http://www.trat.go.th
No Blog Found