www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ตราด >> ชุมชนบ้านอ่าวใหญ่

ชุมชนบ้านอ่าวใหญ่

 บ้านอ่าวใหญ่เป็นชุมชนหนึ่งบนเกาะกูด ชาวบ้านมีจำนวนไม่มากนักแทบทุกคนเลี้ยงชีพด้วยการทำประมงบ้างก็ทำสวน ที่หมู่บ้านอ่าวใหญ่ไม่มีหาดทรายสวยงามเหมือนอย่างสถานที่แห่งอื่นๆ บนเกาะกูด จึงแทบไม่มีนักท่องเที่ยวรู้จักหมู่บ้านแห่งนี้ ลักษณะภูมิประเทศเป็นอ่าวขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบ้านอ่าวใหญ่ ในสมัยที่การประมงรุ่งเรืองมีเรือประมงเข้ามาจอดหลบลมมรสุมกันเป็นจำนวนมาก จากคำบอกเล่าของป้าวาสนา หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่าป้าหนา เล่าให้ฟังว่าสมัยนั้นเรือประมงเข้ามาจอดเต็มอ่าวจนสามารถเดินจากฝั่งหนึ่งของอ่าวไปยังอีกฝั่งหนึ่งได้เพราะเรือจอดติดกันจนเต็มอ่าว

 ถ้าจะพูดถึงความสำคัญของอ่าวใหญ่ ขอกล่าวถึง เกาะกูด กันสักหน่อย เกาะกูดเป็นเกาะสุดท้ายของเส้นชายแดนของไทยด้านตะวันออกอยู่ในเส้นทางการค้ามีเรือสำเภาเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขายกันแต่โบราณ บริเวณนี้จึงเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นเป็นสถานที่ลี้ภัยของพระเจ้าเวียดนาม ยาลอง (องเชียงสือ) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเจ้าอนัมก๊กที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมัยรัชกาลที่ ๑ จนกระทั่งกาปักปันเขตแดนเมื่อฝรั่งเศสยึดดินแดนปัจจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วยเหตุที่อ่าวใหญ่มีทำเลที่ดีสำหรับการจอดเทียบเรือน้อยใหญ่ น่าจะเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งสำหรับการเดินทางทางเรือในอดีต

 ปัจจุบันการท่องเที่ยวในประเทศไทยเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกๆ พื้นที่ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางท่องเที่ยวในเมืองไทยจำนวนหลายล้านคนในแต่ละปี บ้านอ่าวใหญ่ที่ไม่มีหาดลงเล่นน้ำจึงมีนักท่องเที่ยวผ่านเข้ามาเพียงจำนวนน้อย ประกอบกับชาวบ้านที่มีความรักในธรรมชาติ ทำให้ธรรมชาติของที่นี่ยังคงสมบูรณ์อยู่อย่างมาก สังเกตุได้จากน้ำทะเลใต้ถุนบ้านแทบจะไม่มีขยะให้เห็นเลย น้ำทะเลใสมากมีปลาขนาดเล็กเข้ามาอยู่อาศัยเรียกว่าเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี มีสัตว์ทะเลหลายชนิดให้เราได้เห็นในพื้นที่ของอ่าวใหญ่ ทุกวันนี้จึงเป็นเหมือนอ่างปลาหรือตู้ปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้

 ความเป็นมาของหมู่บ้านอ่าวใหญ่ที่มีมาช้านานในด้านของการเดินทางคมนาคมระหว่างหลายประเทศเช่น ญวน เขมร จีน จึงทำให้ชุมชนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาชาวบ้านและวัฒนธรรมต่างๆ เอาไว้มากมาย เมื่อยุคสมัยของการทำประมงเริ่มจะประสบปัญหาสัตว์น้ำลดจำนวนลงและหายากกว่าเมื่อก่อน ค่าน้ำมันที่สูงขึ้นทุกวัน ชาวบ้านอ่าวใหญ่จึงพร้อมใจกันเปิดหมู่บ้านในฐานะแหล่งท่องเที่ยว ในระบบนิเวศพิพิธภัณฑ์ หรือ Ecomuseum (ผมเคยเขียนเรื่อง นิเวศพิพิธภัณฑ์เอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ เลยไม่อยากพูดถึงทฤษฎีมากเกินไปเดี๋ยวจะเบื่อ ถ้าสนใจลองเข้าไปอ่านที่ ชุมชนท่าระแนะ ระบบธนาคารสีเขียวนี้จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสียไปจากการทำประมงจับสัตว์น้ำจนจำนวนลดหายไปอย่างรวดเร็ว โดยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในหมู่บ้านจะเป็นผู้ทำกิจกรรมปล่อยสัตว์น้ำ ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตราด ได้แก่ ปูไก่ ปลาเก๋าปะการังลายจุด ปลาย่ำสวาท ฯลฯ นอกจากนี้นิเวศพิพิธภัณฑ์ยังจะช่วยสืบสานภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกหลานคนรุ่นหลัง ด้วยการนำเอาวัฒนธรรมเหล่านั้นมาเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวอีกด้วย

 กิจกรรมที่น่าสนใจจากภูมิปัญญาชาวบ้านได้แก่ สปาญวนยุคองเชียงสือ ย้อนรอยประวัติศาสตร์กองทัพเรือสมเด็จพระนเรศวร การรื้อฟื้นภูมิปัญญาการทำน้ำปลาตำรับโบราณ (สามกระต่าย)

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. ตราด โทร.039-597-259-60, 039- 597-255
ป้าหนา โทร. 085-278-6575

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 18930

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
การเดินทางไปบ้านอ่าวใหญ่

การเดินทางไปบ้านอ่าวใหญ่ บ้านอ่าวใหญ่เป็นหมู่บ้านหนึ่งบนเกาะกูดจะไปอ่าวใหญ่ก็ต้องเดินทางเหมือนไปเที่ยวเกาะกูดนั่นแหละจากชายฝั่งจังหวัดตราดไปที่ห้องขายตั๋วเรือข้ามฟากที่แหลมศอกจากนั้นก็เดินทางมาที่สะพานเทียบเรือเรือข้ามไปเกาะกูดมีหลายบริษัท เราเลือกใช้บริการของเรือนิลมังกรจุคนได้ประมาณ 100 คน เรือออกจากฝั่งเวลา 12.30 น. ใช้เวลาเป็นชั่วโมงกว่าจะมาถึงฝั่งของเกาะกูด จุดนี้ชื่อบ้านอ่าวสลัด คนมาเที่ยวเกาะกูดน่าจะรู้จักกันดี จากนั้นไปต่อรถสองแถวปกติเป็นรถเหมาวิ่งอยู่บนเกาะกูดจะไปรีสอร์ทไหนก็ว่ากันไปคณะของเรามากันเยอะ แถมลงบ้านอ่าวใหญ่อันเป็นหมู่บ้านสุดท้ายของเกาะ ก็เลยไปกัน 2 คันรถ ทุกคนเอาสัมภาระของตัวเองพร้อมกับกล่องลูกปลากะรังหงษ์ที่ได้รับมาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตราด จำนวนนับสิบถุง แพคใส่กล่องโฟมปิดปากอย่างดีขึ้นหลังคารถสองแถวแล้วออกเดินทาง

รถสองแถวใช้เวลาร่วมๆ ชั่วโมง พาพวกเราจากอ่าวสลัดไปจนถึงบ้านอ่าวใหญ่ซึ่งเรียกว่าเป็นต้นสายและท้ายสายของเกาะกูดเลยทีเดียว ชาวบ้านอ่าวใหญ่ร่วมกับทหารในกองทัพเรือที่ดูแลพื้นที่นี้อยู่ให้การต้อนรับคณะของเราเป็นอย่างดี เด็กๆ และชาวบ้านในชุมชนแต่ตัวสวยงามน่ารัก พร้อมกันการแสดงย้อนรอยประวัติศาสตร์สั้นๆ ให้เราชม แต่ขอออกตัวก่อนครับว่าเราเป็นคณะสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวก็เลยสอบถามว่าถ้าเป็นนักท่องเที่ยวทั่วไปการต้อนรับของชุมชนจะเหมือนของเราหรือเปล่า ก็ได้รับคำตอบว่าเหมือนกันทุกประการ ในการเข้ามาเที่ยวที่บ้านอ่าวใหญ่ต้องทำความรู้จักกับบุคคลสำคัญของหมู่บ้านที่เป็นแกนนำในการบุกเบิกการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านอ่าวใหญ่ คือลุงรวย กับป้าวาสนา หรือป้าหนา ซะก่อน

จุดชมวิวบ้านอ่าวใหญ่

จุดชมวิวบ้านอ่าวใหญ่ ระหว่างเดินทางด้วยสองแถวก่อนจะลงเนินเขาจะผ่านศาลาตรงนี้เรียกว่าจุดชมวิวมองลงไปจะเห็นบริเวณบ้านอ่าวใหญ่ และอ่าวขนาดใหญ่ได้เกือบทั้งหมดที่มองไม่เห็นก็เพราะต้นไม้ขึ้นบังไปส่วนหนึ่งระหว่างที่พักอยู่ที่หมู่บ้านยังเคยคิดว่าจะขึ้นมาถ่ายรูปวิวนี้ตอนกลางคืนแต่จุดชมวิวนี้ก็อยู่ไกลเกินไปแถมตอนกลางคืนชาวบ้านอ่าวใหญ่แทบจะไม่เปิดไฟฟ้ากันเลยถ้าขึ้นมาจริงๆ ก็คงแทบไม่เห็นหมู่บ้าน

บรรยากาศบ้านอ่าวใหญ่

บรรยากาศบ้านอ่าวใหญ่ มาถึงหมู่บ้านแห่งนี้แล้วไม่เดินดูรอบๆ ก็ดูกระไรอยู่ หมู่บ้านแห่งนี้ทุกหลังคาเรือนปลูกอยู่นอกฝั่งคือยื่นไปในทะเล ทางเดินสร้างเป็นสะพานเชื่อมต่อกันไปตั้งแต่บ้านหลังด้านนอกเข้าไปจนถึงหลังสุดท้าย อ่าวเป็นรูปโค้งเกือบเป็นวงกลม อีกด้านหนึ่งของอ่าวก็มีบ้านปลูกอยู่แต่ตอนนี้เหลือคนอยู่อาศัยแค่คนเดียว ที่นี่มีร้านค้าหลายร้านขายเฉพาะของจำเป็นไม่กี่รายการ แต่ก็มีร้านอาหารขายอาหารทะเลเป็นหลัก มีศาลาเดียวเป็นทั้งที่นั่งกินข้าวและที่ประชุมเล็กๆ ร้านอาหารมีน้ำปั่นขายถูกอกถูกใจผู้มาเยือนอย่างพวกเรามาก มีร้านไอติม 2 ร้าน ขายไอติมคนละยี่ห้อกันชอบวอลล์หรือเนสท์เล่ ก็เลือกเอา สะพานที่เชื่อมกันเป็นทางเดินจะมีกระชังปลาอยู่หลายกระชัง ชาวบ้านที่จับปลาได้ถ้าตัวเล็กจะปล่อยไปถ้าตัวใหญ่จะเอามาขังไว้สำหรับทำอาหารและขาย ตัวไหนไม่แน่ใจก็จะเก็บไว้ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเข้ามาดู ถ้าศูนย์ฯ จะขอซื้อเอาไปเพาะพันธุ์ชาวบ้านก็จะยกให้ฟรีๆ นี่แหละหัวใจนักอนุรักษ์ที่จะทำให้ปลาหายากเพิ่มจำนวนขึ้นให้ลูกหลานได้เห็นก่อนที่จะสูญพันธุ์ไป ใต้ถุนบ้านมีลูกปลาหลายชนิดเข้ามาอยู่ อย่างฝูงปลากะตัก ปลาอมไข่ และอื่นๆ อีกหลายชนิด อยากจะลงไปตำน้ำดูใต้ถุนบ้านเหมือนกันแต่หอยเม่นเยอะมากโปรแกรมนี้จึงต้องงดไว้ก่อน

เห็นชาวบ้านที่นี่เอาชามอ่างใบใหญ่ไปจมน้ำไว้ใต้สะพานก็สงสัยอยู่ว่าจะทำไปเพื่ออะไร พอตกเย็นเห็นเด็กลงเล่นน้ำในชามอ่างก็เข้าใจเลย ชามอ่างนี้จะช่วยให้เด็กๆ ลงเล่นน้ำได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องหอยเม่น เด็กๆ ในหมู่บ้านอ่าวใหญ่จะว่ายน้ำเป็นกันทุกคนตามประสาลูกชาวเล

น้ำแตงโมปั่น

น้ำแตงโมปั่น เวลคัมดริงค์ของหมู่บ้านเอาไว้ต้อนรับแขกที่มาเยือนดับร้อนได้เป็นอย่างดีสนนราคา 40 บาท (ถ้าไปจริงๆ ถามราคาก่อนสั่งนะครับเผื่อว่าจะขึ้นแล้ว ^^)

กิจกรรมปล่อยลูกปลากะรังหงส์

กิจกรรมปล่อยลูกปลากะรังหงส์ ปลากะรังหงส์เป็นปลาเศรษฐกิจที่นิยมเอามาทำอาหารรับประทานกัน เนื้อเหนี่ยวนุ่มกำลังดีทำให้ชาวประมงจับมาขาย ยิ่งนิยมเท่าไหร่ก็ยิ่งมีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็วมากเท่านั้น ปลากะรังหงหงส์ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงมีขนาดโตเต็มที่แต่ถูกจับมาขายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น การเพิ่มปริมาณตามธรรมชาติมีอัตราน้อยกว่าการถูกจับทุกวันนี้ปลาชนิดนี้กลายเป็นปลาที่หายากใกล้สูญพันธุ์ไปจากทะเลจังหวัดตราด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตราดจึงได้นำปลาชนิดนี้ขึ้นมาเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์และพบว่าสามารถเลี้ยงในบ่อดิน (เรื่องราวเหล่านี้ได้ข้อมูลมาจากศูนย์ฯ ก่อนที่จะลงเรือข้ามฟากมาเกาะกูด) ไข่ของปลากะรังหงหงส์ฟักเป็นตัวแล้วต้องใช้เวลานานถึง 45 วันกว่าจะโตพอที่จะนำมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติได้ ชาวบ้านอ่าวใหญ่เลือกพื้นที่ส่วนหนึ่งของอ่าวมาสร้างพื้นที่อนุรักษ์ที่ห้ามจับสัตว์น้ำทุกชนิดโดยเด็ดขาด ในววันนี้เราจึงได้มีกิจกรรมพาเด็กๆ ที่เป็นอนาคตของหมู่บ้านไปร่วมทำกิจกรรมการปล่อยปลากะรังหงหงส์ในกระชัง เมื่อโตเต็มที่จึงจะค่อยๆ ตัดกระชังให้ปลาออกไปหากินตามธรรมชาติต่อไป

ภูมิปัญญาชาวบ้านอ่าวใหญ่อีกอย่างหนึ่งก็คือการเดินทางโดยการใช้เรือใบที่ทุกวันนี้เริ่มสูญหายไปเพราะใช้เรือติดเครื่องสะดวกกว่ามาก แต่ในวันนี้ชาวบ้านอ่าวใหญ่ได้แสดงให้เห็นว่าเรือใบยังใช้การได้ดี ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็ข้ามฟากอ่าวจากหมู่บ้านไปยังพื้นที่อนุรักษ์ได้แล้ว แต่ขากลับลมสงบเรือใบก็แล่นไม่ได้ต้องใช้การแจวกลับแทน ผลัดกันแจวอยู่หลายมือกว่าจะถึงฝั่ง

เสร็จสิ้นการปล่อยลูกปลากะรังหงส์แล้ว ชาวบ้านก็พาเด็กๆ ไปเรียนรู้กระบวนการปลูกปะการังเขากวาง เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ในทะเล เพราะปะการังเขากวางเป็นสิ่งหนึ่งที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนน่าเป็นห่วง แต่เป็นสิ่งที่ปลูกขยายได้งานนี้เราได้มีโอกาสได้ลงไปถ่ายขั้นตอนการตัดปะการังเพื่อนำขึ้นมาปลูก ตลอดจนถึงขั้นตอนการนำลงไปปลูกในทะเลด้วย เป็นการถ่ายวิดีโอใต้น้ำอย่างเป็นเรื่องเป็นราวครั้งแรกของผมด้วยลองชมกันครับ

ชุมชนบ้านอ่าวใหญ่

สักการะศาลสมเด็จพระนเรศวร

สักการะศาลสมเด็จพระนเรศวร กิจกรรมของวันแรกได้ผ่านไปแล้วเราขึ้นฝั่งเกาะกูดประมาณเกือบบ่ายสองโมง ออกไปปล่อยปลาปลูกปะการังเขากวาง เสร็จแล้วกลับเข้าฝั่งเป็นเวลาของอาหารเย็น อาบน้ำอาบท่าไปรวมกันที่ศาลาร้านอาหารของหมู่บ้าน ซีฟู๊ดสดๆ ชนิดที่ชาวเมืองต้องอิจฉามีมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกุ้ง หอย หมึก ปลา เอามาย่างแบบบุฟเฟต์ พร้อมน้ำจิ้มรสเด็ดของหมู่บ้านแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างคนเมืองกับคนทะเลจากนั้นก็แยกย้ายเข้านอน เช้าวันต่อมามีกิจกรรมหลายอย่างรอเราอยู่

อันดับแรกคือการเดินทางไปสักการะศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เราจะต้องนั่งเรือเพื่อข้ามฟากของอ่าวเพื่อไปยังหมู่บ้านเล็กๆ อีกฟากหนึ่งมีบ้านสร้างอยู่หลายหลังคาเรือนในอดีตมีคนอาศัยอยู่โดยสร้างโรงน้ำปลาด้วยวิธีการหมักปลาตำรับโบราณของหมู่บ้านส่งขายเป็นผลิตภัณฑ์ 5 ดาว คือน้ำปลาสมกระต่าย แต่เหตุเพราะการขนส่งไม่สะดวกโรงงานน้ำปลาก็หยุดกิจการไป ในสมัยนั้นมีการสร้างศาลสมเด็จพระนเรศวรหรือพระองค์ดำขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ทรงยกทัพเรือปราบกบฏที่อ่าวใหญ่ โดยศาลแห่งนี้ตั้งอยู่บนเชิงเขา

ชุมชนบ้านอ่าวใหญ่

เมื่อเรือจอดเทียบท่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ฟากนี้เพียงคนเดียวก็ออกมาถามไถ่เพราะแกไม่รู้ว่าเราข้ามมาทำไม บ้านไม้หลายหลังที่ถูกทิ้งไป ดูช่างน่าเสียดายมากสำหรับพวกเรา ตอนนี้บ้านทุกหลังที่อยู่ฟากนี้ก็ตกเป็นของป้าที่อยู่คนเดียวนี้ไปแล้ว (ถ้ามีเงินนะจะซื้อไว้ซ่อมทำโฮมสเตย์ให้ฝรั่งมาเช่าซะเลย) จากนั้นเราก็เดินตรงไปยังศาลสมเด็จพระนเรศวรที่อยู่บนเขา

ศาลสมเด็จพระนเรศวร

ศาลสมเด็จพระนเรศวร ยุคที่การประมงเจริญรุ่งเรืองชาวประมงมากราบไหว้ศาลแห่งนี้ ป้าหนาเล่าให้ฟังว่าเสียงประทัดจุดถวายดังอยู่ไม่ขาดเป็นประจำทุกวัน เมื่อการประมงหาปลายากและน้ำมันแพงชาวประมงก็เลิกอาชีพไปศาลแห่งนี้ก็เหมือนถูกปล่อยร้างไปไม่ค่อยมีคนมากราบไหว้เหมือนเก่าเหลือแต่ชาวบ้านที่ดูแลกันเอง แต่เมื่อหมู่บ้านเปิดแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาก็จะมีการฟื้นฟูศาลแห่งนี้ให้กลับมาเป็นดังเดิม ป้าหนาแจกธูปสำหรับสักการะสมเด็จพระนเรศวรพร้อมเล่าถึงประวัติศาสตร์การยกทัพปราบกบฏ ณ อ่าวใหญ่แห่งนี้ในช่วง พ.ศ. 2121

วิวสวยๆ หมู่บ้านอ่าวใหญ่

วิวสวยๆ หมู่บ้านอ่าวใหญ่ เมื่อเราอยู่ในเรือกลางอ่าวใหญ่เราจะเห็นหมู่บ้านที่ฝั่งแทบจะนับจำนวนหลังได้เลย หมู่บ้านเล็กๆ และสงบเงียบแห่งนี้นักท่องเที่ยวชาวไทยแทบไม่เคยมาแต่ชาวต่างชาติเริ่มเข้ามาเที่ยวและพักผ่อนกันแล้ว

ห้องนอนโฮมสเตย์

ห้องนอนโฮมสเตย์ เล่ามาตั้งเยอะลืมให้ดูห้องนอนของเรา บ้านหลังแรกใกล้กับถนนเป็นบ้านที่เปิดเป็นโฮมสเตย์ ห้องโถงใหญ่ด้านนอกนอนได้หลายคน แล้วก็มีห้องแบ่งเป็นห้องเล็กๆ 3 ห้อง แต่ละห้องมีที่นอน 2 ชุดแต่ถ้าจะนอนจริงๆ 3-4 คนก็พอได้ ผ้าปูและผ้าห่มดูดีกว่าที่คิดมาก มีปลั๊กสำหรับเสียบสายชาร์จต่างๆ ได้หลายจุด ห้องน้ำเป็นห้องน้ำรวมอยู่ชั้นล่าง มี 3 ห้อง สะดวกสบาย มีลมพัดเอื่อยๆ และไม่มียุง เปิดหน้าต่างนอนได้เลย

วิวสวยบ้านอ่าวใหญ่

วิวสวยบ้านอ่าวใหญ่ ข้อเสียของหมู่บ้านแห่งนี้ในสายตาของคนชอบถ่ายรูปก็เห็นจะเป็นทิศทางของหมู่บ้าน อ่าวใหญ่เป็นอ่าวที่ล้อมรอบด้วยเขาไม่สูงเท่าไหร่ ทั้งพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกจะตกลงบนสันเขา ไม่ตรงกับมุมของทะเล เลยไม่มีมุมให้เราถ่ายพระอาทิตย์ค่อยๆ ลับหายลงน้ำ แต่บางมุมอย่างท่าเรือของหมู่บ้านก็สวยอย่างที่เห็นนี่ละครับ

ชุมชนบ้านอ่าวใหญ่

ดินเนอร์บ้านอ่าวใหญ่

ดินเนอร์บ้านอ่าวใหญ่

อ่าวใหญ่ยามเช้า

อ่าวใหญ่ยามเช้า เป็นภาพแรกเห็นของเช้าวันใหม่ที่มองจากหน้าต่างชั้นบน หลังจากผ่านพ้นการหลับลึกอย่างแสนสบายเมื่อคืนนี้ ที่นี่ไม่มีสัญญาณเครื่อข่ายของทรูมูฟ ส่วนดีแทคมีแต่น้อยมากโหลดรูปแทบไม่ขึ้น สำหรับ AIS สัญญาณชัดมาก ถ้าจะมาเที่ยวให้เตรียมซิม AIS มาด้วยจะช่วยให้เราไม่ตกข่าว ส่วนผมใช้ทรูสัญญาณไม่มี ก็ดีเหมือนกันได้พักผ่อนจริงๆ แบบไม่มีอะไรรบกวน ^-^

สปาญวน

สปาญวน หลังอาหารเช้าและกาแฟผ่านพ้นไป กิจกรรมที่ชาวบ้านอ่าวใหญ่เตรียมไว้ให้เราได้สัมผัสก็คือสปาญวน ตำรับสปาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยคองเชียงสือ ทุกวันนี้เริ่มเลือนหายไปจากหมู่บ้านอ่าวใหญ่ นิเวศพิพิธภัณฑ์ หรือ Ecomuseum การท่องเที่ยวแบบใหม่ ก็จะทำให้การทำสปานี้ได้ฟื้นคืนชีพมาใหม่ นักท่องเที่ยวจะได้ลองทำสปา และเป็นการสอนให้กับลูกหลานในหมู่บ้านไปด้วยในตัวเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมอันดีให้คงอยู่ต่อไป

เดินทางสู่โลกใต้ทะเล

เดินทางสู่โลกใต้ทะเล สมบัติล้ำค่าที่สุดที่ชาวบ้านอ่าวใหญ่มีไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่าความสมบูรณ์ใต้ท้องทะเลเนื่องจากอ่าวใหญ่ไม่เคยเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในด้านการดำน้ำอย่างจริงจัง คงมีเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่มาดำดูปะการังเทียม หรือเรือปูน หรือเรือจม ซึ่งเป็นเรือของลุงกุลวิทย์ เกลือลอย อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านอ่าวใหญ่ผู้คิดค้นน้ำปลาสามกระต่าย ที่ได้ล่มลงเมื่อครั้งไปส่งน้ำปลาในสมัยนั้น ก็เลยได้แหล่งที่อาศัยของปลาอินทรีย์ขึ้นมาเป็นที่รู้จักกันในวงการดำน้ำ ซึ่งเป็นการดำน้ำลึกที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่นิยมเท่ากับการดำดูปะการังน้ำตื้น ความสมบูรณ์ของทะเลที่ไม่เคยเปิดให้ชมมาก่อนจะสวยขนาดไหน วันนี้ลุงรวยรับอาสาพาพวกเราออกไปดูให้เห็นกับตา

ชุมชนบ้านอ่าวใหญ่

ระยะทางประมาณ 500 เมตรจากหมู่บ้าน เลยจุดที่ประกาศเขตอนุรักษ์มาไม่ไกล เราเข้าสู่เขตน้ำตื้นของอีกฟากของอ่าวใหญ่ จากบนเรือที่เราอยู่มองลงไปเห็นปะการังและปลาต่างๆ ใต้ทะเลได้ชัดแจ๋ว เรียกเสียงฮิอฮาจากความตื่นตาของสื่อมวลชนบนเรือได้อย่างดี ระดับน้ำบริเวณนี้ลึกประมาณเอวเท่านั้น ในน้ำทะเลโซนนี้มีสิ่งที่ต้องระวังคือหอยเม่น หอยจอบ และหอยมือเสือ นี่เป็นคำบอกเล่ากึ่งเตือนของชาวบ้านก่อนที่เราจะลงน้ำทำให้ทุกคนไม่ค่อยจะกล้าลงไปเท่าไหร่ แต่เพราะน้ำตื้นและใสมากเราจึงรู้ว่าตรงที่เราก้าวเดินไปนั้นไม่มีอันตราย แล้วทุกคนก็ทยอยลงน้ำพร้อมสนอกเกิล

ชุมชนบ้านอ่าวใหญ่

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตราด (ททท.) โดยการนำของผู้อำนวยการ นายวรนิติ์ กายราศ พาสื่อมวลชนมาร่วมพิสูจน์เส้นทางการท่องเที่ยวแห่งใหม่นี้ โดยได้วางแผนจะเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอนาคตอันใกล้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้ชาวบ้านเตรียมความพร้อมกันให้ดีเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปกรณ์สำหรับนักท่องเที่ยวและมาตรการในการควบคุมดูแลไม่ให้นักท่องเที่ยวทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในทะเล เพื่อรักษาควาสวยงามแบบนี้ไว้ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน สำหรับผมแล้วถ้าพูดถึงเรื่องดำน้ำ นี่คงเป็นอีกแห่งหนึ่งที่ผมกล้าพูดว่าสมบูรณ์และสวยงามมากในภาคตะวันออก ปลามากมายหลายชนิดว่ายน้ำหนีตอนที่เห็นเรา (ผมค่อนข้างชอบนะ ดีกว่าปลาที่ว่ายเข้ามาหาคน เพราะรู้ว่าจะมีขนมให้กิน) ปลิงทะเลที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา มีขนาดเล็กกว่าแขนผมนิดเดียวสร้างความเสียวสยองให้สาวๆ

ปะการัง

ปะการัง รวมทั้งดอกไม้ทะเล หญ้าทะเล มากมายหลายชนิดมีให้เราชมที่นี่ ทุกสิ่งทุกอย่างมีชีวิต บางที่ที่ไปดำน้ำมาจะเห็นซากปะการังตายแต่ที่นี่แทบไม่มีให้เห็นเลยถ้าจะมีก็ตายตามอายุขัยของมันเองไม่ใช่ตายเพราะขยะหรือถูกเหยียบ

ชุมชนบ้านอ่าวใหญ่

  หอยมือเสือ

หอยมือเสือ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้เห็นหอยมือเสือขนาดใหญ่มาก ปกติจะเห็นตอนไปดำน้ำที่ทะเลภาคใต้ หรือในอควาเรียม แต่พอได้มาเห็นตัวจริงในทะเลบอกได้คำเดียวว่าประทับใจมาก ยิ่งเมื่อได้รู้ว่าหอยตัวนี้น่าจะมีอายุเกือบ 50 ปี ด้วยแล้ว ระหว่างถ่ายรูปนี้เพื่อนๆ บนเรือก็คอยตะโกนบอกให้ระวังอย่าเข้าใกล้หรือเผลอไปเหยียบเข้า แรงงับของมันอย่างน้อยก็นิ้วขาดได้แน่ๆ

ปลาสิงโต

ปลาสิงโต เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นแต่ในควาเรียม แต่ตอนนี้เราได้มาเห็นตัวเป็นๆ ในทะเลจริงๆ ประทับใจสุดๆ ครับ แต่ต้องระวังเจ้าตัวนี้ให้มากนะครับ จัดเป็นสัตว์ทะเลที่มีอันตราย ปกติมันพรางตัวได้ดี ลายของมันเวลาเข้าไปว่ายอยู่ในหญ้าทะเลแทบมองไม่เห็น ปลาตัวนี้เพื่อนที่อยู่บนเรือชี้ให้ผมดู ทั้งๆ ที่ผมใส่หน้ากากดำน้ำอยู่ยังไม่ค่อยจะเห็นเลย เป็นเพราะว่าน้ำที่นี่ใสมากอยู่บนเรือยังมองเห็นในน้ำ คนใส่หน้ากากบางทีก็โดนพรางตาไปด้วย พอรู้ว่ามันมีพิษที่หนามๆ รอบตัวมัน ผมเลยถ่ายรูปนี้แต่ไกลๆ ไม่กล้าเข้าใกล้ ไม่งั้นภาพคงจะชัดกว่านี้เยอะ

หอยจอบ

หอยจอบ ท้ายที่สุดของเรื่องราวการเดินทางมาสำรวจที่เที่ยวใหม่ที่บ้านอ่าวใหญ่ ก็คือเจ้าหอยตัวนี้ ปกติผมไม่เคยได้ยินชื่อ แต่ชาวบ้านเล่าว่าเป็นหอยที่อันตรายต้องระวัง เปลือกหอยจอบมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ตั้งหงายขึ้นเหมือนคนวางจอบหงายไว้ ถ้าเราตีขาไปเฉี่ยว หรือเดินไปเหยียบ รับรองได้เห็นเลือดแน่ๆ แล้วเพื่อนๆ ละ เคยเห็นหอยจอบบ้างหรือเปล่า ถ้ายังละก็เตรียมแพคกระเป๋าได้เลย บ้านอ่าวใหญ่เปิดรับนักท่องเที่ยวเมื่อไหร่จะมาแจ้งทันทีครับ ^-^

ถ้าอยากจะมาเที่ยวที่นี่ สอบถามข้อมูลได้ที่
ททท. ตราด โทร.039-597-259-60, 039- 597-255
ป้าหนา โทร. 085-278-6575

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ชุมชนบ้านอ่าวใหญ่ ตราด
Away Koh Kood เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.52 km | แผนที่ | เส้นทาง
เกาะกูด อ่าวพร้าว บีช รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
ซันไชน์ ออน เดอะ ร็อค เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฟอร์เรสท์ บูทิค เฮาส์ เกาะกูด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
Rest Sea Resort Koh Kood เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ ซันไชน์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
Ban Choeng Kao เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
เกาะกูดคลับ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  6.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
เกาะกูด เนเวอแลนด์บีช รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  6.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
มาตา เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.86 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com