www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ตราด >> ฟาร์มปูนิ่มบ้านคันนา

ฟาร์มปูนิ่มบ้านคันนา

 หมู่บ้านที่เคยรุ่งเรืองในด้านการเลี้ยงปูนิ่มกระจายส่งไปทั่วประเทศ ตามกระแสนิยมของการกินปูนิ่ม แต่เรื่องราวของปูนิ่มก็มีความเป็นมาที่ซับซ้อนเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ในบางช่วงคนหยุดกินปูนิ่มกันไปเฉยๆ ก็มี บางทีการเลี้ยงปูนิ่มก็มีปัญหาเหมือนเลี้ยงกุ้งคือตายกันเยอะเกษตรกรที่เคยทำกิจการเลี้ยงปูนิ่มทั้งหมู่บ้านก็ประสบภาวะขาดทุนหลายรายเลิกเลี้ยงปูนิ่มกันไปบ้างแล้ว ส่วนป้าแมว ผู้ยังคงเลี้ยงปูนิ่มแต่ไม่ได้มีไว้สำหรับการจำหน่ายเหมือนแต่ก่อน เพียงต้องการเก็บบ่อและวิธีการเลี้ยงปูนิ่มเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา จนตอนนี้คนที่ยังเลี้ยงปูนิ่มในหมู่บ้านจะว่าเหลือเพียงป้าแมวก็คงจะไม่ผิดนัก

 เมื่อเป็นแบบนี้แล้วแนวทางการจะมาเที่ยวฟาร์มปูนิ่มคงจะไม่เหมือนแต่ก่อนเพราะมีเพียงบ่อเดียวให้ชมกรรมวิธีการเลี้ยงให้ดูเท่านั้น ป้าแมวผู้เข้าร่วมโครงการธนาคารสีเขียวหรือ ระบบนิเวศพิพิธภัณฑ์ Ecomuseum กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานตราด โดยมีนายวรนิติ์ กายราศ เป็นผู้อำนวยการและแกนนำในการดำเนินโครงการนี้ในหลายๆ ชุมชนจังหวัดตราด เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากการทำประมงเพราะปลาหายากกว่าเมื่อก่อน เป็นการรักษาระบบนิเวศโดยให้นักท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนร่วมไปด้วย กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้มาสัมผัสได้แก่

 การทำสปาสาหร่าย ด้วยสาหร่ายพวงองุ่นและเกลือสปา การปลูกสาหร่ายพวงองุ่น (เรานำขึ้นมาทำสปาเราก็ต้องปลูกเพิ่มเข้าไปในธรรมชาติเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้สืบไปอย่างไม่มีวันหมด)
 การศึกษาความรู้เรื่องปูนิ่ม
 ชมลานปูใบ้ และการจับปูใบ้ที่สืบทอดกันมานาน และการหาหอยชนิดต่างๆ ของชาวบ้าน
 ชมลุงจิ๋วทอดแห แบ่งปลาให้เหยี่ยวกิน กับฉากหลังพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามทุกๆ เช้า

 สัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแต่หาดูได้ยาก พักผ่อนสบายๆ แบบโฮมสเตย์ติดแอร์

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. ตราด โทร. 039-597-259-60, 039- 597-255
ป้าแมว โทร. 086-383-0832

แก้ไขล่าสุด 2016-11-01 00:00:00 ผู้ชม 14771

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ป้าแมว ฟาร์มปูนิ่ม

ป้าแมว ฟาร์มปูนิ่ม พอเดินทางมาถึงบ้านป้าแมว เราจะเห็นบ้านหลังเล็กๆ พอประมาณ มีบ้านแยกออกไปกระจายอยู่ตามขอบบ่ออีก 2-3 หลัง ป้าแมวอยู่หลังใหญ่ส่วนที่แยกออกมาเปิดเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ ป้าแมวออกมาต้อนรับอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส ตักน้ำอัญชันใส่แก้วเย็นๆ ยกมาให้ หลังจากทักทายกันสักพักป้าแมวจะเริ่มเล่าความเป็นมาของการเลี้ยงปูนิ่มให้ฟังแล้วก็พาเราไปที่บ่อปูนิ่ม

บ่อปูนิ่ม

บ่อปูนิ่ม เดิมทีหมู่บ้านนี้เลี้ยงปูนิ่มกันแทบทุกบ้าน ที่เราเห็นเรียงๆ อยู่ในบ่อเป็นเหมือนกระชังขนาดเล็กสำหรับขังปูไว้ในกล่องพอตัวไหนลอกคราบเป็นปูนิ่มก็จะถูกจับขึ้นมาขาย ป้าแมวเล่าว่าสมัยการเลี้ยงปูนิมบูมใหม่ๆ มีกล่องใส่ปูนิ่มในหมู่บ้านนี้เป็นล้านกล่อง แต่ตอนนี้เหลือเท่าที่เห็นนี้เท่านั้นป้าแมวเลี้ยงไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ฟาร์มปูนิ่มบ้านคันนา

ป้าแมวพาเรามาดูปูนิ่มในกล่องแต่ตอนนั้นยังไม่มีตัวที่ลอกคราบเราเลยอดเห็นปูนิ่มตอนเป็นๆ เลย นี่ก็เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบ้านคันนาจะได้เห็น

ฟาร์มปูนิ่มบ้านคันนา

ฟาร์มปูนิ่มบ้านคันนา

เมื่อการเลี้ยงปูนิ่มที่เคยสร้างรายได้ให้อย่างงดงามได้เสียไปป้าแมวตัดสินใจเข้าร่วมการสร้างชุมชนแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กับททท. โดยมีโฮมสเตย์ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นห้องแอร์อยู่ริมบ่อเพาะเลี้ยงปลาทะเลและสาหร่ายพวงองุ่นที่กรมประมงชายฝั่งเอามาให้ลองปลูกเพราะเชื่อว่าต่อไปในอนาคตสาหร่ายพวงองุ่นจะเป็นที่ต้องการของตลาด

ฟาร์มปูนิ่มบ้านคันนา

รอบบ้านป้าแมวจะปลูกพืชผักสวนครัวเอาไว้กินเองและทำกับข้าวเลี้ยงนักท่องเที่ยวที่มาพัก สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือป้าแมวมีต้นองุ่นอยู่ที่ซุ้มตรงป้ายโฮมสเตย์ เป็นร้านไม่สูงมากปลูกองุ่นแค่ต้นเดียวข้างบ่อน้ำเค็ม นึกว่าองุ่นจะไม่ขึ้นแต่กลับขึ้นงามและออกลูกให้ได้เด็ดกินเป็นประจำ แถมรสขององุ่นยังอร่อยด้วยปลอดสารพิษ 100%

ฟาร์มปูนิ่มบ้านคันนา

สะพานข้ามบ่อทำให้เดินจากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่งได้เร็วๆ ไม่ต้องอ้อม ในบ่อนี้จะมีเลี้ยงปลาเอาไว้หลายพันธุ์ ส่วนหนึ่งจะทำเป็นบ่อปลูกสาหร่ายพวงองุ่นเพื่อสร้างรายได้เสริมที่เราเห็นอยู่อีกด้านของสะพานเป็นห้องพักขนาดใหญ่ นอนได้เป็นสิบคนมีแอร์ด้วยนอกจากนี้ยังมีอีกหลังอยู่ฟากที่เรายืนอยู่

สาหร่ายพวงองุ่น

สาหร่ายพวงองุ่น ต้นพันธุ์ที่กรมประมงให้มาป้าแมวเอามาลองปลูกปรากฏว่าได้ผลดี เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาอบรมเรื่องการใช้ประโยชน์สาหร่ายพวงองุ่นในการทำสปาด้วยการผสมเกลือสปาหรือดอกเกลือลงไปแล้วเอามาขัดผิวกันแบบสดๆ ส่วนประกอบง่ายๆ แบบนี้เดี๋ยวเราไปดูดีกว่าว่าจะได้ผลยังไง

ฟาร์มปูนิ่มบ้านคันนา

สาหร่ายพวงองุ่นและดอกเกลือหรือเกลือสปาเป็นส่วนผลผลิตจากธรรมชาติ ก็เลยเอามาขัดแขน ขัดตัว จนถึงขัดหน้า ซึ่งมีโอกาสแพ้น้อยมาก ใครที่แพ้สาหร่ายหรือน้ำเค็ม อาจจะใช้บริการสปาสาหร่ายที่ไม่ได้ (แต่คงหาคนแพ้ได้ยากเต็มทน)

สปาสาหร่าย

สปาสาหร่าย ผลของการนำเอาสาหร่ายพวงองุ่น ผสมกับเกลือสปาหรือที่เรียกอีกอย่างว่าดอกเกลือ ในส่วนผสมอันเป็นสูตรเฉพาะของบ้านคันนา เมื่อผสมดีแล้วเพียงเอาสาหร่ายพวงองุ่นที่ผสมมาขัดที่ผิว ปกติจะสาธิตด้วยการขัดแขนเพราะแขนมี 2 ข้างพอขัดข้างเดียวเราจะเห็นผลชัดเจนมาก แขนที่ขัดด้วยสาหร่ายขาวกว่าอีกข้างหนึ่งแบบไม่ต้องใช้เทคนิคแต่งภาพ ใครไปเที่ยวบ้านคันนาจะได้ทดลองการทำสปาแบบนี้ด้วย แม้ว่าความขาวจะอยู่กับเราได้ไม่นานเพราะหลังจากทำสปาเราก็เดินออกแดดถ่ายรูปกันอีกหลายวันแดดก็เผาแขนเรากลับมามีสีเข้มเหมือนเดิม แต่ถ้าใครขัดแล้วดูแลรักษาไม่ออกแดดแรงๆ หรือทาครีมกันแดด แล้วขัดเป็นประจำเชื่อว่าขาวจริงแน่ๆ สาหร่ายผสมเกลือสปาซื้อมาขัดที่บ้านต่อก็ได้ด้วย

กิจกรรม Eco-musium

กิจกรรม Eco-musium ระบบนิเวศพิพิธภัณฑ์ที่ผู้อำนวยการ ททท. ตราด นายวรนิติ์ กายราศ (ผู้ชายนั่งตรงกลางภาพ) นำมาใช้ในชุมชน คือนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวได้รับการบริการทำสปาสาหร่ายก็ต้องเป็นคนปลูกสาหร่ายกลับคืนสู่ธรรมชาติวนเวียนอยู่อย่างนี้จะทำให้มีสาหร่ายพวงองุ่นใช้ได้ตลอดไป

ลานปูใบ้

ลานปูใบ้ ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจของหมู่บ้านคันนาก็คือลานหินกว้างแห่งนี้ เมื่อน้ำขึ้นจะมองไม่เห็นพอน้ำลงจะเห็นลานหินกว้างใหญ่สุดสายตา ขนานนามว่าลานปูใบ้ด้วยเหตุว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปูใบ้มานานแสนนาน ชาวบ้านรุ่นปู่ย่าตายายเล่าให้ลูกหลานฟังว่า ปูใบ้จะเข้ามาอยู่อาศัยและวางใข่ในลานแห่งนี้มีให้กินไม่รู้จักหมด แต่ในวันนี้ปูใบ้ได้หายไปจากลานปูใบ้เหมือนกับหอยหลอดที่หายไปจากดอนหอยหลอดเพราะคนจับกินหมด เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าทุกอย่างที่อยู่ในธรรมชาติหากเราใช้อย่างไม่รู้จักคิดก็จะหมดไป เมื่อเป็นดังนี้นิเวศพิพิธภัณฑ์ที่ ผอ. ททท. ตราด วางรากฐานไว้ให้คนในชุมชนจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้ชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ตามแนวทางทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปูใบ้

ปูใบ้ เมื่อปูใบ้หายไปจากลานปูใบ้ การนำปูมาปล่อยไว้ในธรรมชาติก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อขยายพันธุ์ปูใบ้ต่อไปให้ลูกหลาน วันนี้หมู่บ้านคันนานำโดยป้าแมวนำปูใบ้มาสาธิตการจับปูใบ้ที่เคยมีอย่างมากมายในอดีต และเราทุกคนหวังว่าลานปูใบ้จะกลับมาอุดมสมบูรณ์มากด้วยปูใบ้เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

อุปกรณ์การจับปูใบ้

อุปกรณ์การจับปูใบ้ ปูใบ้ตัวใหญ่ก้ามใหญ่แต่ไม่น่ากลัว เมื่อมันถูกจับมันจะอยู่นิ่งๆ หดขาเข้าหากันทั้งหมด เหมือนยอมจำนนเลย ขอบคุณน้องอรที่เป็นแบบด้วยครับ

หอยกระพง

หอยกระพง นอกเหนือจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปูใบ้แล้ว ลานแห่งนี้บริเวณที่มีเลนขังอยู่บนลานหินจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหอยด้วย หอยที่หาง่ายในบริเวณนี้ได้แก่หอยกระพง เมื่อชาวบ้านเรียนรู้ว่าของทุกอย่างมีโอกาสสูญพันธุ์ชาวบ้านจึงเลือกจับเฉพาะหอยที่ตัวใหญ่แล้วเท่านั้นส่วนตัวเล็กๆ จะปล่อยให้มีโอกาสเติบโตต่อไป

เดินหาหอยปากเป็ด

เดินหาหอยปากเป็ด เมื่อเรียนรู้เรื่องปูใบ้ หอยกระพง เสร็จแล้วก็จะมีหอยอีกชนิดหนึ่ง คือหอยปากเป็ด เป็นหอยที่อยู่ในที่ที่น้ำถึง ต้องเดินหาตามชายเลนและอาจจะต้องลงไปเดินในบริเวณน้ำตื้น

หอยปากเป็ด

หอยปากเป็ด วันนี้เราเจอหอยปากเป็ดแค่ตัวเดียวแล้วยังมีขนาดเล็กอยู่ เราก็ปล่อยมันไปอยู่ในธรรมชาติตามเดิม ทั้งหมดนี้กำลังจะได้รับการฟื้นฟูโดยชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่นี่จะได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมสร้างธนาคารสีเขียวคืนสู่ธรรมชาติกันทุกคนด้วย นับเป็นการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอีกมากมายทั่วประเทศ

นอนดูดาวบ้านคันนา

นอนดูดาวบ้านคันนา เอาละร่วมกิจกรรมต่างๆ มากมาย เหนื่อยแล้วเข้านอนกันดีกว่า ห้องนอนโฮมสเตย์บ้านป้าแมวเป็นที่พักของเราคืนนี้ พระจันทร์เต็มดวงซะด้วยเห็นพระจันทร์ทรงกลดบางๆ วงใหญ่ๆ อยู่กลางฟ้าเลยออกมากดชัตเตอร์ซะหน่อย ดวงดาวพร่างพราวแม้ว่าจะมีแสงจันทร์สาดส่องคืนนี้สวยจริงๆ

อรุณสวัสดิ์บ้านคันนา

อรุณสวัสดิ์บ้านคันนา เช้านี้ที่บ้านคันนา หรือที่จริงต้องบอกว่าทุกๆ เช้า จะมีชายคนหนึ่งเดินตะคุ่มๆ ไปที่ลานปูใบ้ แกคือลุงจิ๋ว จะมาพร้อมแหและข้องทุกวัน แกมาทอดแหหาปลาที่ลานปูใบ้นานหลายปีแล้ว เห็นเหยี่ยวบินอยู่บนฟ้าเลยเอาปลาที่ทอดแหได้โยนให้เหยี่ยวโฉบไป เหยี่ยวก็โฉบไปจริงๆ พอหลังๆ นานวันเข้าเอาปลาวางบนหมวกเหยี่ยวก็มาโฉบปลาไปจากหมวกด้วย แต่คนอื่นมาลองทำบ้างเหยี่ยวจะไม่เข้ามาโฉบปลา เป็นมิตรภาพที่หาชมยากจริงๆ พอรู้เรื่องลุงจิ๋วจากผอ. ททท. เราก็ตื่นให้เช้าแล้วมาดักรอที่ลานปูใบ้แต่เราต้องซ่อนตัวอยู่ใต้ต้นไม้เพื่อไม่ให้เหยี่ยวระแวง

ลุงจิ๋วแบ่งปลาให้เหยี่ยว

ลุงจิ๋วแบ่งปลาให้เหยี่ยว มิตรภาพอันยาวนานนับปีระหว่างคนกับเหยี่ยวแค่เอาปลาวางบนหมวกเหยี่ยวก็มาโฉบเอาไปเป็นอย่างนี้ทุกๆ เช้า พอสายลุงก็เลิกทอดแหมาเล่าประสบการณ์ให้เราฟัง ลุงจิ๋วบอกว่าทำแบบนี้มานาน 2 ปีแล้ว แรกๆ แค่โยนปลาให้เหยี่ยวบนฟ้า หลังๆ ลองเอาปลาวางไว้บนหมวกเหยี่ยวก็มาโฉบเอา พอวันไหนทอดแหไม่ได้ปลาก็สงสารเหยี่ยวที่มารอ สุดท้ายทุกวันนี้ก่อนจะออกมาทอดแหต้องไปตลาดซื้อปลาก่อน เผื่อวันไหนทอดแหไม่ได้ปลาก็จะได้มีปลาให้เหยี่ยวกิน แหม.. อะไรก็เกิดขึ้นได้บนโลกใบนี้ มหัศจรรย์บ้านคันนา

ลุงจิ๋วลานปูใบ้

ลุงจิ๋วลานปูใบ้ ก็อย่างที่เล่าไปว่าเหยี่ยวจะบินมาโฉบปลาจากลุงจิ๋วเท่านั้น เพื่อไม่ให้เหยี่ยวระแวงเราจึงได้แต่ซ่อนตัวอยู่ใต้ต้นไม้ไกลๆ ท้องทะเลที่ลานปูใบ้ตอนนี้น้ำขึ้นจนมองไม่เห็นลานหินแล้ว แถมโชคดีอีกอย่างที่ทะเลด้านนี้หันไปทางตะวันออกเราจึงมีโอกาสได้ชมพระอาทิตย์ขึ้นอีกด้วย

ฟาร์มปูนิ่มบ้านคันนา

วิวสวยๆ ขนาดนี้ ไม่จำเป็นต้องออกไปหาที่ไหนไกลๆ ในต่างประเทศเลย ลุงจิ๋วยังคงทอดแห พระอาทิตย์ก็เคลื่อนขึ้นมาเรื่อยๆ จนพ้นยอดเขา ท้องฟ้ายามเช้าแบบนี้สุดยอดเมืองไทยจริงๆ ต้องบอกว่า หลงรักประเทศไทย เต็มๆ เลยครับ

อาหารเช้าบ้านป้าแมว

อาหารเช้าบ้านป้าแมว ท้ายสุดสุดท้ายเมื่อถ่ายรูปลุงจิ๋วเสร็จเราก็เดินกลับบ้านพักอาบน้ำอาบท่า วันนี้ป้าแมวเตรียมอาหารไว้ให้เราน่ากินๆ ทั้งนั้น มีปูนิ่มทอด 1 จานเป็นพระเอก ตามด้วยอาหารง่ายๆ สไตล์โฮมสเตย์แต่อร่อยนะ ปลาส่วนหนี่งเป็นปลาที่ป้าแมวซื้อจากลุงจิ๋ว แบบนี้แหละการอยู่แบบพึ่งพากัน อยากย้ายมาอยู่ที่นี่จัง

สาหร่ายพวงองุ่น

สาหร่ายพวงองุ่น อีกหนึ่งประโยชน์ของสาหร่ายที่มีลักษณะเหมือนพวงองุ่นจิ๋ว ก็คือมันกินได้ แค่เอามาล้างน้ำจืด 4-5 น้ำ ให้หมดเค็ม เอามากินสด จิ้มน้ำพริก อะไรก็ว่าไป บางคนเอามาชุบแป้งทอดเหมือนผักทั่วไป ก็อร่อย แถมขายได้ด้วย จานละ 150 แน่ะ นับว่าแพงมาก สาหร่ายชนิดนี้กำลังขยายพันธุ์กันอย่างมาก ต่อไปราคาจะถูกลง ที่เพชรบุรีก็มีขาย ที่ตราดก็กำลังเพาะปลูกกันใหญ่ ไว้ว่างๆ ลองมาเที่ยวบ้านคันนา เดินเข้าไปหาป้าแมวได้เลย ป้าแมวอัธยาศัยดี มาพักที่นี่นอกจากจะได้พักผ่อนสบายๆ ยังได้ความรู้หลายอย่างติดตัวด้วย เยี่ยมครับ...

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสอบถาม
ททท. ตราด โทร. 039-597-259-60, 039- 597-255
ป้าแมว โทร. 086-383-0832

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ปูนิ่มบ้านคันนา ตราด
บ้านปู รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
ยามาดะย่ะ บีช รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
Check In & Chill Out เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
ป๊อป ริเวอร์ไซด์ โฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  19.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมทอสคานา ตราด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  22.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านริมน้ำ รีสอร์ต โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  23.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรสวิแดง เกทเฮ้าท์
  24.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
บาซาร์ เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตราด สวีท ฟีล แอท โฮม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
อาร์ตทิสท์ เพลส ตราด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.18 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com