www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เพชรบุรี >> วัดต้นสน

วัดต้นสน

 ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านแหลม เป็นวัดสำคัญของชาวบ้านแหลม เป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ของชุมชนบ้านแหลม มีสิ่งสำคัญอันเป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านแหลม คือหลวงพ่อสัมฤทธิ์ นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งแปลกกว่าที่อื่น เนื่องจากด้านหลังมีรูปปั้นหลวงพ่อทวดยืนเกือบชิดกัน บริเวณหน้าวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่น้ำเพชรบุรี มีสะพานคอนกรีตสูงทอดข้ามแม่น้ำ มีศาลาไทยริมน้ำสำหรับนั่งพักผ่อน มองเห็นทิวทัศน์สวยงามของหมู่บ้านชาวประมงมีเรือจอดอยู่เรียงรายและมีนกนางแอ่นมาทำรังอยู่ในวัดและโดยรอบ จึงมีการทำธุรกิจเก็บรังนก โดยการสร้างตึกสูงสำหรับให้นกนางแอ่นมาอาศัย

ข้อมูลเพิ่มเติม:โทรศัพท์ 032481094

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 28698

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ศาลาการเปรียญวัดต้นสน

ศาลาการเปรียญวัดต้นสน การเดินทางสู่วัดต้นสน อำเภอบ้านแหลม เพชรบุรี ในวันนี้ผมเลือกใช้เส้นทางคลองโคน บางตะบูน บ้านแหลม (แยกซ้ายมือข้างถนนเพชรเกษม ที่มีป้ายเขียนว่าทางลัดไปหาดชะอำ) พอมาถึงวัดต้นสนจะมีสะพานสูงมากข้ามคลองตรงเข้าไปยังวัด เชิงสะพานค่อนข้างแคบรถสวนกันไม่ได้ ต้องผลัดกันขึ้น ผลัดกันลง ข้ามสะพานมาได้แล้วก็จะเห็นมณฑปสีขาวอยู่ซ้ายมือ กับลานจอดรถกว้างขวางมากอยู่ขวามือ วัดต้นสนไม่มีกำแพงวัด ด้านหนึ่งติดคลอง ส่วนบริเวณวัดมีถนนผ่านจนดูเหมือนวัดถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ผมไม่ได้จอดรถที่ลานจอดรถกลางแจ้งหน้าศาลาด้านขวามือ แต่ขับตรงมาที่หน้าศาลาการเปรียญที่สร้างได้อย่างสวยงามอลังการแล้วก็จอดรถ เราจะต้องไปที่มณฑปหลวงพ่อสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่กับวัดต้นสนแห่งนี้มาช้านาน

บริเวณมณฑปหลวงพ่อสัมฤทธิ์

บริเวณมณฑปหลวงพ่อสัมฤทธิ์ ดูจากผังบริเวณของวัดพื้นที่รอบมณฑปหลวงพ่อสัมฤทธิ์เป็นบริเวณที่กว้างขวางที่สุด และมีกำแพงล้อมรอบ มีประตูทางเข้า 2 ด้าน ก่อนที่จะเข้าไปกราบไหว้หลวงพ่อสัมฤทธิ์ผมขอกล่าวถึงประวัติวัดต้นสน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ให้มากขึ้นอีกนิดดังนี้ครับ

วัดต้นสน เดิมมีชื่อด้วยกันหลายชื่อ เช่น วัดสนธยา, วัดนอก, วัดนอกต้นสน ที่เรียกกันว่า “วัดต้นสน” จนถึงปัจจุบันนี้ เหตุเพราะเดิมนั้นมีต้นสนขึ้นอยู่กลางวัด จึงถือเป็นนิมิตหมายให้เรียกเป็นชื่อของวัดติดมาถึงทุกวันนี้

เนื่องด้วยไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างวัดต้นสนอย่างชัดเจน จึงไม่สามารถรู้ถึงปีที่สร้างวัดที่แท้จริง แต่ก็พอ สันนิษฐานได้ว่า การสร้าง วัดต้นสนน่าจะเริ่มต้นนับจากการมีเจ้าอาวาสปกครองวัดแล้ว โดยกำหนดเอาพระอธิการคล้ำเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.2326 ถึง พ.ศ.2347 ถ้านับจากปี พ.ศ.2326 ถึงปี พ.ศ.2553 (ปีที่เรียบเรียงเอกสารนี้) วัดต้นสนจะมีอายุได้ 227 ปี

ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง ในหนังสือตำนานไทย เขียนโดย นายอาบ ไชยาคำ ได้เขียนถึงเรื่องการสร้างวัดต้นสนไว้ว่า “เมื่อ พ.ศ.2405 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขณะนั้นเป็นเจ้าพระยาศรี มาอำนวยการก่อสร้างวังบนเขา เมื่อ พ.ศ.2402 เมื่อเสร็จแล้ว ผู้คนที่เกณฑ์มาใช้การงานยังไม่ได้ปลดปล่อย จึงให้มาทำกระโจมไฟ หรือประภาคารปากทางเข้าอ่าวบ้านแหลม เป็นตึกสี่เหลี่ยมหลังคามุงกระเบื้องสีแดง ตรงกลางมีเสาสำหรับชักโคมกลางคืน มีคนเฝ้า ขณะนั้นปากอ่าวอยู่ใกล้ราวศาลเจ้าโจ้บัดนี้ เมื่อก่อนไม่มี ท่านได้มาปลูกเรือนแพที่ริมน้ำตรงท้องคุ้งสะพานยาวบัดนี้ ระหว่างนั้นท่านก็สร้างวัดต้นสนไปด้วย แต่ชาวบ้านเรียกว่าวัดนอกหรือวัดปากอ่าวก็ถูกทั้งสองอย่าง”

จากข้อมูลที่เขียนโดย นายอาบ ไชยาคำ สรุปตามความเห็นของท่านว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สร้างวัดต้นสน ใน พ.ศ.2405 ในเรื่องนี้ คุณสุธรรม เงินกอง และคุณมั่นเกียรติ โกศลนิรัติวงษ์ ได้เขียนเรื่องประวัติวัดต้นสนไว้เช่นกัน เมื่อ พ.ศ.2518 โดยไม่เห็นด้วยกับข้อมูลของนายอาบ ไชยาคำ ที่ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรี(ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สร้างวัดต้นสน ใน พ.ศ.2505 โดยได้ตั้งข้อสังเกตไว้ดังนี้

(1) ที่ตั้งกระโจมไฟที่ปากอ่าว
(2) ขณะนั้นปากอ่าวอยู่ใกล้ศาลเจ้าโจ้
(3) วัดที่ท่านสร้างมักปรากฏในประวัติของท่าน แต่ไม่มีวัดต้นสนในประวัติของท่านเลย
(4) ในประวัติหลวงพ่อสัมฤทธิ์กล่าวว่า “เมื่อ พ.ศ.2384 มีคนร้ายลักพาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ไป พระอธิการยังได้ติดตามนำกลับมา” แสดงว่า หลวงพ่อสัมฤทธิ์ประดิษฐานที่วัดต้นสนนี้ก่อน พ.ศ.2405

ในการตั้งข้อสังเกตนี้ ผู้เรียบเรียง (ธีร์ พุ่มทับทิม) ขอเพิ่มเติมข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ตามประวัติเจ้าอาวาสวัดต้นสนเริ่มที่พระอธิการคล้ำ ปกครองวัดต้นสนตั้งแต่ พ.ศ.2326 – 2347 ห่างจาก พ.ศ.2405 ถึง 58 ปี จึงเป็นไปได้ยากที่มีเจ้าอาวาสวัดก่อนจะมีการสร้างวัดจะมีขึ้นมา เพราะโดยธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติแล้ว ต้องมีวัดขึ้นก่อนจึงจะมีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัด แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จะได้นำวัสดุที่เหลือจากการสร้างพระนครคีรี มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดต้นสน ซึ่งเป็นสถานที่จอดพักเรือที่ขนวัสดุสิ่งของก่อนที่จะเดินทางข้ามทะเลกลับยังเมืองหลวงต่อไป

มณฑปหลวงพ่อสัมฤทธิ์

มณฑปหลวงพ่อสัมฤทธิ์ เมื่อเข้าประตูมาแล้วเราจะเห็นเพียงมณฑปหลังเดียวตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นที่ลานกว้างขวางมาก ด้านหลังถัดออกไปจะเป็นพื้นที่ริมคลองมีศาลาให้พักผ่อน

มณฑปหลวงพ่อสัมฤทธิ์

มณฑปหลวงพ่อสัมฤทธิ์ สร้างในลักษณะคล้ายทรงจตุรมุข มีลานประทักษิน 2 ชั้น มีบันไดทอดขึ้นไปทีละชั้น ที่ประทับใจผมมากที่สุดคือ มณฑปที่สร้างอยู่กลางลานกว้างกลางวันมีแสงแดดร้อน บันไดก็ร้อน แต่ก็ไม่มีใครถอรองเท้าไว้ตามขั้นบันได แต่ทุกคนที่มากราบไหว้สักการบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์กลับถอดรองเท้าไว้ล่างสุดแล้วเดินผ่านบันไดร้อนๆ ขึ้นไป เพราะส่วนใหญ่ผมก็จะเห็นว่าผู้คนชอบถอดรองเท้าไว้ตามบันไดมากกว่าที่จะถอดไว้ล่างสุดเพราะกลัวร้อน ก็นับว่าเป็นการแสดงความศรัทธาอย่างหนึ่งของผู้คนที่นี่

หลวงพ่อสัมฤทธิ์วัดต้นสน

หลวงพ่อสัมฤทธิ์วัดต้นสน กลางมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ด้วยกัน องค์เล็กประทับยืนปางห้ามสมุทรอยู่ตรงกลางคือหลวงพ่อสัมฤทธิ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่ศรัทธาของประชาชนทั้งละแวกวัดต้นสนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีหลวงพ่อวัดบ้านแหลมองค์จำลองตามความนิยมของชาวบ้านในจังหวัดใกล้เคียงกับจังหวัดสมุทรสงครามมักจะสร้างไว้บูชาในวัดต่างๆ ด้านในสุดเป็นพระพุทธชินราชองค์จำลอง ตลอดเวลาที่ผ่านมาจะมีนกนางแอ่นเข้ามาในมณฑป วิหาร ศาลา ของวัดอยู่เป็นประจำ จนในระยะหลังๆ ชาวบ้านได้หันมาปลูกอาคารสำหรับเลี้ยงนกเหล่านี้เพื่อเก็บรังไปขาย นกก็เข้ามารบกวนในวัดน้อยลง

ปิดทองหลวงพ่อสัมฤทธิ์

ปิดทองหลวงพ่อสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในมณฑปหลวงพ่อสัมฤทธิ์อนุญาตให้ประชาชนมาปิดทองได้ โดยทางวัดสร้างบันไดทางขึ้นไปยังแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปให้เดินขึ้น-ลงได้ทั้ง 2 ข้าง ที่เห็นหนูน้อยคนนี้กำลังปิดทองอยู่เป็นหลวงพ่อวัดบ้านแหลมองค์จำลองที่ประดิษฐานข้างหลวงพ่อสัมฤทธิ์

หลวงพ่อสัมฤทธิ์วัดต้นสน

หลวงพ่อสัมฤทธิ์วัดต้นสน หลวงพ่อสัมฤทธิ์ประดิษฐานที่วัดต้นสน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นเวลาช้านานแล้ว ประวัติที่ถูกต้องแท้จริงเป็นอย่างไรไม่ทราบชัด เพราะไม่สามารถสืบหาพยานหลักฐานมาแสดง ได้แต่เล่าสืบพ่อกันมาบ้าง หลักฐานทางประวัติศาสตร์บ้าง ลักษณะทางพุทธปฎิมากรรมบ้างมาอ้างอิงเพื่อให้สอดคล้องใกล้เคียงกันพอจะเชื่อถือได้

ลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้ มีรูปลักษณะเป็นแบบสมัยละบุรี เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สูงประมาณ 87 เซนติเมตร ความกว้างพระอุระ 30 เซนติเมตร เนื้อโลหะทำด้วยสัมฤทธิ์ทั้งองค์ เป็นฝีมือการสร้างของมอญ ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อสำฤทธิ์เป็นที่รู้จักกันดีของประชาชนชาวบ้านแหลมและอำเภอใกล้เคียง ตลอดจนชาวจังหวัดต่างๆ ทั้งใกล้และไกลต่างพากันมานมัสการกราบไหว้ เสี่ยงทาย บนบานอยู่เสมอมิได้ขาด ทั้งในทางรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยน้ำพระพุทธมนต์ แคล้วคลาดภยันอันตรายต่างๆ การทำมาค้าขาย การประกอบอาชีพให้เจริญรุ่งเรือง ชาวบ้านแหลมยึดถือเอาองค์หลวงพ่อสัมฤทธิ์เป็นหลักชัยที่ยึดมั่นประจำใจในการสร้างความดี เพื่อให้ประสพผลสำเร็จเสมอมา ทางวัดได้จัดให้มีงานนมัสการหลวงพ่อสัมฤทธิ์เป็นประจำในราวกลางเดือน 12 ของทุกปี

มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า กษัตริย์มอญแห่งกรุงหงสาวดีเป็นผู้สร้างพระองค์นี้ ในสมัยนั้นขอมยังเป็นใหญ่ในสุวรรณภูมิ ขอมกับมอญมีมัมพันธภาพทางเชื้อสายกันอย่างใกล้ชิดอันเชื่อมโยงมาแต่สมัยทวาราวดี เหตุนี้กระมังจึงผูกเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องกับประวัติที่มาของหลวงพ่อสัมฤทธิ์

เมื่อสมัยสงครามมอญกับพม่า สมัยสมเด็จพระเจ้าอนิรุทธมหาราช ราว พ.ศ. 1600 ต้นเหตุแห่งสงครามคือการที่พม่าขอพระธรรมคำภีร์ ไตรปิฎกและพระคณาจารย์ เพื่อนำไปฟื้นฟูพระศาสนาในพม่าซึ่งกำลังเสื่อม แต่ทางมอญขัดข้องอ้างว่าพระคณาจารย์ไม่ยอมไป พม่าจึงยกทัพไปรบมอญ พระสงฆ์ฝ่ายรามัญประเทศได้ขนย้ายและซุกซ่อนพระธรรมคัมภีร์กับพุทธรูปเป็นการใหญ่

คงเป็นเพราะสาเหตุนี้กระมังหลวงพ่อสัมฤทธิ์จึงถูกซุกซ่อนในโพลงมะกอกใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองหลวงหงสาวดี ต่อมาพวกชีผ้าขาวตนหนึ่งได้ไปนั่งพักที่โคนต้นมะมอกซึ่งซ่อนพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ จึงเกิดอัศจรรย์ปาฏิหารย์เป็นแสงสว่างพุ่งออกมา ชีผ้าขาวตนนั้นเห็นเข้าจึงเอาผ้าห่มแบกขึ้นเดินรอนแรมมาจนถึงเมืองสุโขทัย บังเอิญข้ามแม่น้ำเรือเกิดล่มพระองค์นี้จึงจมหายหาไม่พบ ต่อมากล่าวว่าพระปาฏิหารย์ลอยขึ้นมากระทบเรือค้าพลูเข้า พ่อค้าจึงนำไปกับเรือโดยใช้ใบตองปิดคลุมไว้ เที่ยวล่องเรือค้าขายจนกระทั่งมาถึงอ่าวบ้านแหลม จึงนำเรือมาจอดที่ท่าน้ำวัดต้นสน หลวงพ่อสัมฤธิ์ได้ไปเข้าฝันท่านสมภารให้ไปขอซื้อที่เรือพ่อค้าก็ได้ถวายท่านมา พระองค์นี้จึงได้ประดิษฐานเป็นหลักชัยของวัดต้นสนนับแต่นั้นมา

บานประตูหน้าต่างประดับมุก

บานประตูหน้าต่างประดับมุก สิ่งที่น่าสังเกตุอีกอย่างหนึ่งของการสร้างวัดในจังหวัดสมุทรสงครามก็ดี จังหวัดเพชรบุรีก็ดี และอีกหลายๆ จังหวัดมักจะสร้างบานประตูหน้าต่างประดับด้วยมุก ลวดลายภาพก็แตกต่างกันไปแต่ละบานเหมือนกันบ้างต่างกันบ้าง แต่สวยงามทุกบาน เวลาเราขยับไปทางซ้ายทางขวาเราจะเห็นมุกแวววาวเป็นสีรุ้งสวยมากครับ

ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ออกจากมณฑปหลวงพ่อสัมฤทธิ์ เดินไปทางริมน้ำจะเห็นศาลศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์หลังคาแบบทรงไทยแต่ล้อมด้วยกระจกใสทั้งหลัง เพื่อป้องกันนกเข้ามารบกวนสร้างความสกปรก

ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีความเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีชาวบ้านเดินทางมาบนบานเรื่องหางาน เมื่อได้งานแล้วก็มาปิดทองรูปท่านทั้งองค์ชายคนนั้นจึงเล่าเรื่องที่บนไว้ให้ฟัง การปิดทองทั้งองค์ก็ทำมาหลายสัปดาห์และใกล้จะเสร็จแล้วครับ

วิถีชีวิตขาวประมงวัดต้นสน

วิถีชีวิตขาวประมงวัดต้นสน ชุมชนแห่งนี้ประกอบอาชีพหลากหลาย ส่วนหนึ่งทำประมง แต่ละวันก็จะเห็นเรือประมงเข้ามาจอดอยู่ที่คลองติดกับวัดต้นสน คลองแห่งนี้เชื่อมไปยังปากอ่าวที่บางตะบูนได้ด้วยครับ บางคนก็ได้เริ่มสร้างตึกเลี้ยงนกนางแอ่นเอารัง ในระหว่างเดินทางมายังวัดต้นสนก็จะเห็นคอนโดนกนางแอ่นอยู่หลายแห่ง บางแห่งมีตึกมากมายหลายหลังมองไกลๆ เหมือนตึกเอื้ออาทรเลยทีเดียวครับ

อุโบสถวัดต้นสน

อุโบสถวัดต้นสน เป็นเสนาสนะที่สร้างขึ้นอย่างงดงามมากในวัดต้นสน ปกติจะไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไป เพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่มาวัดต้นสนจะไปกราบไหว้สักการบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ที่มณฑปอยู่แล้ว แต่ความสวยงามของอุโบสถวัดต้นสนก็ดึงดูดความสนใจของเราได้ไม่น้อยเลย ข้างๆ อุโบสถสร้างเป็นศาลาการเปรียญหลังใหญ่มากและสวยงามกลมกลืนกันกับอุโบสถ

ศาลหลวงปู่ดำใหญ่

ศาลหลวงปู่ดำใหญ่ เป็นลักษณะศาลเพียงตา ส่วนที่มาในการสร้างยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนครับ

เจดีย์วัดต้นสน

เจดีย์วัดต้นสน สร้างแบบประเพณีนิยมที่จะมีเจดีย์แบบย่อมุมไม้สิบสองเรียงกัน 3 องค์ จะเห็นได้ในวัดต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน แต่ที่วัดต้นสนสร้างไว้บนเรือ ล้อมรอบด้วยสระน้ำเล็กๆ ด้านหนึ่งของลำเรือมีรูปปั้นพระอภัยมณีกับนางเงือกด้วย เรือเจดีย์นี้อยู่ข้างศาลหลวงปู่ดำใหญ่

หน้าบันศาลาวัดต้นสน

หน้าบันศาลาวัดต้นสน เป็นศาลาสำหรับตั้งสวดอภิธรรม พอดีมองเห็นหน้าบันสร้างได้สวยงามเป็นเรื่องราวรามเกียรติ์ แปลกตาเมื่อหน้าบันนี้อยู่กับศาลาที่ดูธรรมดาๆ มาก

หน้าบันศาลาวัดต้นสน

หน้าบันศาลาวัดต้นสน จบการนำเที่ยววัดต้นสนไว้เท่านี้ก่อนนะครับ สำหรับข้อมูลทั้งหลายก็ได้ความอนุเคราะห์มาจากเว็บไซต์ของวัดต้นสน หากสนใจข้อมูลเพิ่มเติมให้คลิกเข้าไปที่ http://www.wattonson.org

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดต้นสน เพชรบุรี
Sampaongern Home Stay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวีท ดรีม เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านเคนภู รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan thew thalay aquamarine Cha am Hua hin เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสวิสพาลาซโซ่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  19.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านไม้ชายเลน รีสอร์ท สมุทรสงคราม
  19.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
เจเจ โฮม เพชรบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  19.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ คีรี เรสซิเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  19.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฟิร์นกัลลี โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  19.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
Core Khiri Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  19.61 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com