www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เพชรบุรี >> วัดในกลาง

วัดในกลาง

 เป็นวัดเก่าแก่มีอายุไม่น้อยกว่า 250 ปี เป็นวัดที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสร้างเพื่อถวายพระราชกุศลแด่พระมารดาซึ่งเป็นคนบ้านแหลม เจดีย์ อุโบสถแบบมหาอุด กุฏิ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในวัดล้วนเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย วัดนี้เป็นที่ประดิษฐาน หลวงพ่อสุโขทัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านตำบลบ้านแหลมและประชาชนทั่วไป

  สถาปัตยกรรมเด่นของวัดในกลางคือ ศาลาการเปรียญ ซึ่งทำด้วยไม้สักทั้งหลัง ได้รับการบูรณะโดยถอดชิ้นส่วนเดิมมาซ่อมแซมแล้วประกอบขึ้นมาใหม่ตามแบบเดิม สันนิษฐานว่า แต่เดิมเป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯให้รื้อถอนจากอยุธยามาปลูกสร้างที่วัดในกลาง การก่อสร้างแบบโบราณใช้ลูกสลักเป็นเดือยในการยึดไม้ บางส่วนใช้ตะปูจีน เสาของศาลาการเปรียญมี 8 เหลี่ยม มีคันทวยแกะสลักสวยงามเป็นรูปหัวนาคครองรับชายคา ซึ่งคันทวยหัวนาคของศาลาการเปรียญวัดในกลางนั้น เป็นที่ยอมรับกันว่า มีรูปแบบและลวดลายการแกะสลักที่อ่อนช้อย งดงามและวิจิตรบรรจงมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง วัดต่าง ๆ ที่จะบูรณะหรือสร้างศาสนสถานใหม่มักจะนำรูปแบบของคันทวยของศาลาการเปรียญวัดในกลางไปเป็นแม่แบบเสมอ

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานเพชรบุรี โทร. 0 3247 1005-6
http://www.tourismthailand.org/phetchaburi

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 27778

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
อุโบสถวัดในกลาง

อุโบสถวัดในกลาง วัดเก่าแก่ในอำเภอบ้านแหลม อยู่ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอมากนัก พอเลี้ยวรถเข้ามาก็จะเห็นอุโบสถขนาดใหญ่สีขาวตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นที่โล่งกว้างเป็นสิ่งแรก บริเวณโดยรอบแทบจะไม่มีเสนาสนะใดๆ หรือแม้แต่กำแพงล้อมรอบวัดก็ไม่มีให้เห็น ใกล้ๆ กับบริเวณวัดพอจะมีพ่อค้าแม่ค้ามาเปิดร้านเล็กๆ น้อยๆ นอกเหนือจากนั้นก็ไม่มีอะไรอื่น อุโบสถหลังนี้เป็นอุโบสถที่สร้างขึ้นมาใหม่แทนหลังเก่าที่ได้ทำการรื้อถอนออกไปเนื่องจากอายุความเก่าแก่ของอุโบสถหลังเก่าไม่สามารถยืนหยัดผ่านเวลายาวนานถึง 200 ปีได้ จุดเด่นของวัดในกลางที่ทำให้มีประชาชนเดินทางมาเยี่ยมชมนั้นไม่ใช่พระอุโบสถหรือพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ภายใน แต่เป็นศาลาการเปรียญที่ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยการคงรูปลักษณ์เดิมเอาไว้ให้มากที่สุด และยังได้ทำการตกแต่งเพิ่มเติมในหลายๆ ส่วนโดยช่างฝีมือชั้นครู พระอุโบสถวัดในกลางจึงไม่ได้เปิดให้เข้าไปไหว้พระ

อุโบสถวัดในกลาง

อุโบสถวัดในกลาง ด้านหลังของอุโบสถ ภาพนี้ถ่ายด้วยมุมตรงๆ เพื่อเน้นให้เห็นลักษณะของหน้าบันที่สวยงามและมีขนาดใหญ่ ถามถึงประวัติวัดในกลาง ผมเดินขึ้นไปบนศาลาการเปรียญหลังใหญ่ของวัดดูว่ามีอะไรน่าสนใจบนนั้นบ้าง พอดีมีชาวบ้านมาทำบุญที่วัดอยู่กันบนศาลาหลายคน เห็นผมถือกล้องมาถ่ายรูปก็ถามว่าผมถ่ายไปทำอะไร พอบอกว่าจะถ่ายรูปมาเขียนเว็บไซต์ชาวบ้านก็บอกให้ผมมาถามกับหลวงพ่อ หลวงพ่ออยู่ในกุฏิซึ่งเป็นห้องๆ หนึ่งบนศาลาการเปรียญใหญ่นั่นเอง หลวงพ่อเอาเอกสารชุดใหญ่มาให้บอกให้พระลูกวัดไปถ่ายเอกสารมาให้ผม ผมก็เลยบอกหลวงพ่อว่าไม่ต้องลำบากหรอกครับผมเอากล้องถ่ายเอาก็ได้ พอถ่ายรูปเอกสารประวัติของวัดมาได้แล้วมานั่งอ่านที่บ้าน ปรากฏว่าประวัตินั้นยาวมาก เขียนไว้เกี่ยวกับเสนาสนะเก่าแก่ของวัดหลายอย่าง เลยต้องย่อๆ เอาหน่อย ประวัติวัดในกลางได้ดังนี้
วัดในกลางเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี อยู่อำเภอบ้านแหลม มีการคมนาคมที่สะดวกใกล้ๆ กับที่ว่าการอำเภอ ตามความเชื่อของนักวิชาการให้ความเห็นว่า เป็นวัดที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 250 ปี อยู่ในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ประกาศตั้งวัดปี พ.ศ.2305 และวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2525 ส่วนเรื่องที่จะสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่เดิมเรียกขานกันว่าวัดกลางสนามจันทร์ ความเป็นมาของชื่อก็ไม่มีผู้ใดทราบ เปลี่ยนมาเป็นวัดในกลางเมื่อใดและเพราะเหตุใดก็ไม่มีหลักฐานปรากฏ แต่ชื่อวัดในกลางนั้นเรียกกันมาอย่างน้อย 1 ชั่วอายุคนตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ ปัจจุบันพระครูสิริวชิรธรรม (พระมหาสมยศ ฐิติโก) เป็นเจ้าอาวาส อุโบสถหลังเก่าถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่ในปี 2540 ในหลุมลูกนิมิตของอุโบสถเก่ามีโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ภาชนะเคลือบเบญจรงค์ เครื่องลายคราม เต้าปูนสำริด ขันสำริด และกล้องยาสูบ รวมทั้งเครื่องประดับต่างๆ เช่นแหวน หัวแหวน ทับทรวง ส่วนลูกนิมิตที่ขุดขึ้นมาเป็นก้อนหินตามธรรมชาติ มิได้มีการปรุงแต่งให้กลมเหมือนลูกนิมิตในปัจจุบัน เป็นลักษณะที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย

เจดีย์วัดในกลาง

เจดีย์วัดในกลาง ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ คงรูปแบบเดิมเอาไว้ เป็นเจดีย์รูปแบบประเพณีนิยม สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ รูปทรงเดียวกับเจดีย์วัดไผ่ล้อมเพชรบุรี

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน เป็นสิ่งที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง อยู่เยื้องๆ ด้านหลังของอุโบสถ ใกล้กับเจดีย์ 3 องค์ ช่างที่มาดำเนินการก่อสร้างก็กำลังนั่งพักเที่ยงอยู่ในศาล เชื่อว่าอีกไม่นานคงจะเสร็จสมบูรณ์ครับ

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินวัดในกลาง

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินวัดในกลาง

ศาลาการเปรียญวัดในกลาง

ศาลาการเปรียญวัดในกลาง จากศาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน มองไปด้านข้างเราก็จะเห็นศาลากลุ่มหนึ่งประกอบด้วยศาลาหลายหลังเรียงอยู่ใกล้ๆ กัน ทั่วบริเวณศาลาได้มีการปลูกต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก จึงทำให้รู้สึกร่มรื่นดึงดูดให้เข้าไปหลบแดดและชมความงดงามภายใน ศาลาการเปรียญ ก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่โดยคงส่วนที่ยังใช้ได้ไว้คงเดิม มีสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 1 ราชบุรีกำกับดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์ รวมค่าใช้จ่ายกว่า 15 ล้านบาท ที่มาของศาลาการเปรียญวัดในกลาง ว่ากันว่า เป็นศาลาที่พระเจ้าตากสิน พระราชทานไว้เป็นอนุสรณ์แม่นกเอี้ยง ณ วัดในกลาง ภายหลังแม่นกเอี้ยงได้รับการสถาปนาเป็นพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ในปี พ.ศ. 2312
จุดเด่นของศาลาการเปรียญที่เราได้เห็นตั้งแต่ภายนอกคือ ช่อฟ้า เป็นช่อฟ้าปากหงส์แบบช่างเมืองเพชรต่างจากตัวศาลาที่ยกมาจากกรุงศรีอยุธยาแต่ไม่ได้ใช้ช่อฟ้าปากครุฑตามแบบศิลปะอยุธยา คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นโดยช่างเมืองเพชรประกอบเข้าไปในภายหลัง ฝาศาลาไม้ปะกนตามแบบกุฏิสงฆ์โบราณ

ศาลาพักร้อนวัดในกลาง

ศาลาพักร้อนวัดในกลาง เมื่อเดินเข้ามาในบริเวณศาลาการเปรียญจะเห็นด้านหน้าจัดให้เป็นสวนที่มีความร่มรื่นสวยงามสบายตา ทางเข้ามีศาลาพักร้อน 2 หลัง รูปทรงศาลาไทยประเพณีโบราณเมืองเพชรบุรี ข้างๆ ศาลามีหอระฆังรูปทรงกะทัดรัดเป็นของเดิมมาบูรณะใหม่

ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญ คราวนี้จะลองเดินขึ้นไปชมภายในกันครับ บันไดทางขึ้นมี 2 ทางคือด้านตะวันออก และด้านตะวันตก จากบันไดด้านซ้ายเป็นศาลาการเปรียญส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นศาลาด้านสกัดทิศตะวันตกซึ่งสร้างเพิ่มเติมขึ้นในระหว่างการบูรณะเพื่อให้เกิดความสมดุล มีชานยื่นออกมาเชื่อมต่อกับตัวศาลา ของเดิมมีเพียงศาลาด้านสกัดทิศตะวันออกหลังเดียว ศาลาการเปรียญวัดในกลาง รูปทรงเหมือนกับศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม มีมุขประเจิดเช่นเดียวกัน เป็นมุขของหลังคาลดชั้นมีเสาตั้ง ตั้งบนชายคาปีกนก เป็นศิลปะสมัยอยุธยามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ส่วนศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณารามอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลาง (พระเจ้าเสือ พ.ศ.2246-2251) ศาลาการเปรียญวัดในกลางเป็นศาลาการเปรียญที่รื้อย้ายมาจากกรุงศรีอยุธยา ที่หัวเสามี พ.ศ. จารึกไว้ แต่ไม่มีผู้ใดจำได้เลย

พระพิฆเณศ

พระพิฆเณศ ประดิษฐานอยู่ในศาลาสกัดด้านทิศตะวันตก

ภาพลายรดน้ำวัดในกลาง

ภาพลายรดน้ำวัดในกลาง สิ่งหนึ่งที่ขึ้นชื่ออย่างมากของศาลาการเปรียญวัดในกลาง ก็คือภาพเขียนลายรดน้ำที่สร้างขึ้นหลังจากการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญที่มีอายุกว่า 200 ปี แม้ว่าการบูรณะจะทำให้สิ่งเก่าแก่หลายอย่างเปลี่ยนเป็นของใหม่แต่การบูรณะด้วยหลักความคิดที่จะคงสิ่งล้ำค่าเก่าแก่ให้คงอยู่สืบต่อไป จึงได้ยังคงหลายๆ ส่วนของศาลาการเปรียญให้มีคงเดิมมากที่สุด การตกแต่งศาลาการเปรียญด้วยภาพเขียนลายรดน้ำที่เกิดจากนิมิตของพระมหาสมยศ (เจ้าอาวาส) ภาพลายรดน้ำส่วนแรกเหนือธรณีประตูขึ้นไปเป็นภาพปฏิจจสมุปบาทนำรูปแบบมาจากธิเบต

พระประธานศาลาวัดในกลาง

พระประธานศาลาวัดในกลาง กลางศาลาการเปรียญมีพระพุทธรูปประดิษฐานในบุษบกยอดนพศูลสวยงามมาก อีกทั้งการประกอบศาลาการเปรียญหลังนี้ เป็นภูมิปัญญาของช่างบ้านแหลม โดยใช้ไม้แผ่นใหญ่มารองรับเสาไว้ก้นหลุม กันศาลาทรุดตัวเพราะดินที่อำเภอบ้านแหลมเป็นดินอ่อนตัว ส่วนอื่นๆ ประกอบด้วยสลักเดือยไม้ทั้งหมด ภายในศาลาการเปรียญตกแต่งด้วยลายรดน้ำทั้งขื่อ แป และหัวเสา รวมไปถึงเต้า เว้นไว้แต่ผนังปะกนและบานหน้าต่างเท่านั้น โดยช่างจากกรมศิลปากรเป็นผู้เขียนเรื่องราว

ภาพลายรดน้ำวัดในกลาง

ภาพลายรดน้ำวัดในกลาง ส่วนที่อยู่ปีกนกด้านทิศใต้เป็นภาพมงคล 108 อยู่ที่ฝ่าพระบาทพระพุทธรูปจากวัดโพธิ์ เป็นภาพที่เกิดร่วมกับพระพุทธเจ้าเรียกว่าสหชาติ รอบๆ เป็นสัตว์หิมพานต์ทั้ง 2 ด้าน ภาพเหนือปีกนกด้านทิศตะวันออก เป็นภาพนิมิตเน้นช่างแกะสลักประเทศอินเดีย และรูปช้างเผือกมาพรมน้ำศักดิ์สิทธิ์ให้พระนางสิริมหามายาก่อนจะประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ และที่เหนือขึ้นไปอีกมีภาพพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และเทพชุมนุม

ภาพจิตรกรรมแผ่นไม้สมัยรัชกาลที่ 4

ภาพจิตรกรรมแผ่นไม้สมัยรัชกาลที่ 4 สิ่งสำคัญของศาลาการเปรียญวัดในกลาง คือภาพจิตรกรรมที่เขียนไว้บนคอสองเขียนบนแผ่นไม้ ได้รับการยกย่องมาก เชื่อกันว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีคุณค่ามหาศาล เป็นภาพอดีตพุทธประวัติ ในภพพระโพธิสัตว์ลักษณะการเขียนแบบร่วมสมัย มีหนักเบา สีค่อนข้างสด แสดงอารมณ์ออกทางสีหน้า และแววตามีความแม่นยำในการใช้ภู่กันมาก

ภาพลายรดน้ำวัดในกลาง

ภาพลายรดน้ำวัดในกลาง ด้านหลังบุษบกเป็นภาพมงคล 38 ประการ อยู่เหนือช่องประตูทางด้านตะวันตก ซึ่งเชื่อมต่อกับศาลาด้านสกัดทิศตะวันตกที่ประดิษฐานพระพิฆเณศ

โต๊ะหมู่บูชาในศาลาการเปรียญ

โต๊ะหมู่บูชาในศาลาการเปรียญ ใช้ในการประกอบพิธีทางสงฆ์ การสวดมนต์สำหรับนักปฏิบัติธรรมที่มาที่วัดในกลางแห่งนี้ ฉะนั้นถ้าหากสนใจอยากจะเข้าชมภายในศาลาการเปรียญที่งดงามของวัดในกลาง ควรจะมาในช่วงกลางวันอย่าให้เย็นมากนัก

ชานต่อศาลาการเปรียญ

ชานต่อศาลาการเปรียญ ชมความงดงามภายในศาลาการเปรียญครบทุกด้านแล้วคราวนี้ลองเดินออกมายังศาลาด้านสกัดทิศตะวันออกครับ

รูปสมเด็จโตและพระเจ้าตาก

รูปสมเด็จโตและพระเจ้าตาก ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาด้านสกัดทิศตะวันออก

คันทวยวัดในกลาง

คันทวยวัดในกลาง คันทวยศาลาการเปรียญเป็นคนละแบบกับศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม สวยงามไปคนละแบบ ของวัดในกลางเป็นคันทวยหัวนาค แกะสลักไม้ลีลาอ่อนช้อยแต่แข็งแรง ปลายคันทวยหรือหางพญานาคจะม้วนลง ภายในกรอบของดอกบัวมีเต้ารับหัวนาคได้อย่างกลมกลืนลงตัว

ศาลาพักร้อนหน้าศาลาการเปรียญ

ศาลาพักร้อนหน้าศาลาการเปรียญ

วัดในกลาง

วัดในกลาง เป็นหมู่กุฏิสงฆ์กึ่งศาลาแบ่งเป็นห้องๆ สำหรับสงฆ์ได้จำวัดตามแบบของกุฏิที่นิยมของวัดในภาคกลาง ผู้ที่สนใจเข้าชมวัดในกลางให้มาติดต่อท่านเจ้าอาวาสที่นี่

สังขารพระครูวชิรคุณาธาร

สังขารพระครูวชิรคุณาธาร พระครูวชิรคุณาธาร หรือ หลวงพ่อเพชร นาควโร อดีจเจ้าอาวาสวัดในกลาง ที่สังขารร่างไม่เน่าเปื่อย จึงตั้งไว้ในโลงแก้วให้ประชาชนเข้ามาสักการะบูชา หลวงพ่อเพชร นาควโร ชาตะ วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2458 มรณภาพ วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม 2542
การนำเที่ยวชมความงดงามวัดในกลาง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีก็จบลงเพียงเท่านี้ครับ วัดในกลางนับว่าเป็นวัดแรกที่เราได้พบว่ามีจุดเด่นอยู่ที่ศาลาการเปรียญ เดินทางไปวัดไหนใกล้ไกลทั่วประเทศ ส่วนมากก็จะมีความสำคัญอยู่ที่พระวิหาร หรือพระอุโบสถ มีเวลาผ่านมาเที่ยวบ้านแหลม ลองแวะเข้ามาชมวัดในกลางด้วยตัวเองสักครั้ง จะประทับใจไม่รู้ลืมเลยครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดในกลาง เพชรบุรี
Sampaongern Home Stay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวีท ดรีม เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.63 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านเคนภู รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.76 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan thew thalay aquamarine Cha am Hua hin เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสวิสพาลาซโซ่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
เจเจ โฮม เพชรบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.72 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ คีรี เรสซิเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฟิร์นกัลลี โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
Core Khiri Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไวท์ มังกี เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.91 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com