www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เพชรบุรี >> วาฬบรูด้า บางตะบูน

วาฬบรูด้า บางตะบูน

 วาฬบรูด้า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์อนุรักษ์ที่สำคัญอันดับต้นๆ ของไทยเรา เนื่องจากวาฬมีจำนวนน้อยมากตามธรรมชาติและมีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีวาฬเป็นสัตว์ประจำถิ่น วาฬไทยปรากฏตัวบ่อยครั้งในอ่าวไทย ตั้งแต่ปากน้ำเจ้าพระยาไปจนถึงประจวบคีรีขันธ์ แหล่งที่นิยมไปชมวาฬกันมากก็มีที่ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี การออกไปชมวาฬต้องมีการเตรียมตัวบ้างเล็กน้อย อย่างน้อยอาหารเครื่องดื่ม ยาแก้เมา (สำหรับคนที่ไม่เคยนั่งเรือนานๆ หรือไม่รู้ว่าตัวเองเมาหรือเปล่า) ในบางวันอาจจะต้องทาครีมกันแดด ในบางวันอาจจะต้องมีเสื้อกันฝน กล้องถ่ายภาพวาฬก็ควรจะซูมได้พอสมควร ก็่น่าจะมีช่วง 200 - 300 mm ไปด้วย ยิ่งยาวก็ยิ่งดี แต่บางทีวาฬก็เข้ามาใกล้จนมือถือก็ถ่ายรูปได้เหมือนกัน เริ่มต้นออกไปชมวาฬจะติดต่อยังไงดี เราก็มีข้อมูลมานำเสนอ

    ที่บ้านบางตะบูนมีเรือให้บริการเที่ยวชมวาฬ  อันดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึงก็คงต้องเป็นเรือพี่จำรูญ เป็นเรือโดยสาร 15 ที่นั่ง มีหลังคากันแดดกันฝน ติดต่อที่พี่จำรูญ (พี่จินดา ภรรยา) 032-581-233 ถ้ามาเป็นแบบครอบครัว มีเด็กเล็กแนะนำเรือใหญ่ นั่งสบาย มีหลังคาหลบแดด หลบฝนได้ดี เรือพี่เล็ก เบอร์ 086-7965506 

    *หมายเหตุ เนื่องจากช่วงฤดูศึกษาวาฬ มีระยะเวลาสั้น คือ กันยายน-พฤศจิกายน เท่านั้น ที่ช่วงนี้วาฬขึ้นมาให้เราเห็นได้บ่อยครั้ง เรือบริการชมวาฬจึงเต็มตลอด ควรจะทำการจองล่วงหน้านานๆ หน่อย

    การเดินทาง บ้านบางตะบูน อยู่ในอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ใช้ถนนพระราม ๒ (ธนบุรี-ปากท่อ) ถึงกม. 75 มีทางแยกหน้าปั๊ม ปตท. ป้ายจะเขียนว่าเส้นทางลัดไปชะอำ ขับตามถนนไปเรื่อยๆ ถ้าเห็นป้ายแยกเข้าบ้านคลองโคนไม่ต้องเลี้ยวเข้าไปนะครับ ตรงไปจนถึงสะพานยาวๆ สูงๆ ก่อนขึ้นสะพานเป็นทางโค้งหักศอก ตรงทางโค้งมีแยกเล็กๆ ออกไปให้ตรงเข้าไปตามทางเล็กๆ (ไม่ต้องขึ้นสะพาน) จะเห็นบ้านสีฟ้า คือบ้านลุงจำรูญ ส่วนทางไปบ้านเรือพี่เล็กนั้นต้องโทรสอบถามเอาเพราะยังไม่เคยไป

    ทิป ก่อนที่จะเลี้ยวจากถนนพระราม ๒ เข้าเส้นทางลัดชะอำให้แวะ ปตท. ซื้อของที่จำเป็นอย่างข้าวกล่องหรือขนมและเครื่องดื่ม น้ำแข็ง ไปด้วย (ในกรณีที่เอาถังแช่เครื่องดื่มมา) เพราะระหว่างการนั่งเรือตั้งแต่เช้าจนบ่ายสาม กลับถึงฝั่ง 5 โมงเย็น เป็นเวลาที่ยาวนานมากถ้าไปวันที่อากาศร้อนจะต้องมีเครื่องดื่มไปพอสมควร

    ออกเดินทางกี่โมงดี ถ้าเราเหมาเรือทั้งลำจะไปเวลาไหนกลับเวลาไหนก็ตกลงกับเรือได้ แต่ปกติเราจะออกเดินทาง 8.30 ประมาณนี้ กลับจากทะเลบ่ายสามแล่นเรือ 2 ชั่วโมงถึงฝั่ง 5 โมงเย็น ได้เห็นวาฬบรูด้ากันแบบเต็มๆ การเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปบางตะบูนใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ก็กะๆ เวลาเผื่อกันอีกหน่อยให้พอดีๆ

    วาฬมีกี่ตัว อันนี้แล้วแต่ดวงนะ บางวันเค้าพร้อมใจกันขึ้นมาโชว์ตัวได้มากถึง 8 ตัว แต่บางวันเห็นกัน 2 ตัวก็มี แต่ละตัวมีการตั้งชื่อโดย ทีมงานวาฬไทย เท่าที่รู้ๆ ก็มีชื่อ สุขใจ เมษา แสนสุข วันสุข ทองดี ข้าวเหนียว สาคร กันยา และสดใส ติดตามข่าวสารและจุดสังเกตุวาฬแต่ละตัวได้จากหน้าเฟสบุค https://www.facebook.com/thaiwhales และกลุ่มดูวาฬไทย https://web.facebook.com/groups/Whalewatching.Thai/

ข้อมูลเพิ่มเติม:พี่จำรูญ (พี่จินดา ภรรยา) 032-581-233

แก้ไขล่าสุด 2017-08-22 07:20:42 ผู้ชม 39026

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ท่าน้ำหน้าบ้านลุงจำรูญ

ท่าน้ำหน้าบ้านลุงจำรูญ เริ่มต้นการเดินทางออกทะเลหาวาฬบรูด้าที่บ้านปากอ่าว บางตะบูน บ้างลุงจำรูญ หรือที่ชาวบ้านละแวกนี้เรียกกันว่าบ้านสีฟ้า เป็นบ้านที่เจ้าของบ้านทำอาชีพเรือบริการนำเที่ยวชมวาฬ ไปพร้อมๆ กับการทำประมง ชื่อเสียงของลุงจำรูญดังไปทั่วหมู่บ้านในฐานะที่ลุงมีความเชี่ยวชาญในการพาเรือนักท่องเที่ยวเข้าใกล้วาฬบรูด้าได้มาก นักวิชาการรวมทั้งนักศึกษาหลายคณะต่างเคยใช้บริการเรือของแกมาแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเรือแกลำเดียวเท่านั้นที่ทำงานลักษณะนี้ ถ้าจะมากันจริงๆ ขอให้มากันกลุ่มใหญ่แล้วสอบถามชาวบ้านดูก็จะมีเรือให้เลือกอีกหลายลำในกรณีที่เรือลุงจำรูญไม่ว่าง ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้นในปีนี้ที่เราออกทริปกัน เรือของลุงก็ไม่ว่างตลอดทั้งปี ถึงขนาดที่ว่าวันธรรมดาก็ยังหาวันว่างได้ยากวันเสาร์อาทิตย์ไม่ต้องถามถึงเลยเต็มตลอด เรามากันวันพฤหัสบดี นอนที่บางตะบูนโฮมสเตย์ 1 คืน แล้วออกเรือกันวันศุกร์

ข้อมูลคร่าวๆ ของเจ้าวาฬบรูด้าเท่าที่เรารับฟังมาจากลุงจำรูญ ก็ประมาณว่ามันเป็นสัตว์ที่เข้ามาหากินในพื้นที่บางตะบูนประมาณ กันยายน จนถึง พฤศจิกายน ช่วงต้นและปลายฤดูหากินจะพบเห็นได้ไม่บ่อยเท่าช่วงกลางๆ อย่างตุลาคมก็เป็นช่วงที่เหมาะสมแล้วเพียงแต่ว่าอาจจะต้องผจญกับฝนตกระหว่างเดินทางเหมือนอย่างวันนี้

บ้านลุงจำรูญเป็นบ้านไม้หลังไม่ใหญ่มากนักตั้งอยู่ที่เชิงสะพานยาวข้ามคลองบางตะบูนออกสู่ปากอ่าว มีวัดปากอ่าวอยู่อีกด้านของสะพานใครๆ ก็เลยเรียกสะพานนี้จนติดปากว่าสะพานปากอ่าว ท่าน้ำหน้าบ้านลุงก็เหมือนบ้านของคนอื่นๆ ที่สร้างอยู่ริมน้ำ มีเรือจอดอยู่หน้าบ้านเป็นทั้งยานพาหนะและเครื่องมือหากิน จากท่าน้ำหน้าบ้านมองออกไปฝั่งตรงข้ามจะมีภัตตาคารรูปเรือชื่อ แล เล เป็นร้านอาหารที่วิวสวยสุดในละแวกนี้ และก็เป็นที่ฝากท้องของเราเมื่อเย็นวาน

ออกเดินทางสู่ท้องทะเล

ออกเดินทางสู่ท้องทะเล เรือประมงขนาดเล็กดัดแปลงมาเป็นเรือโดยสาร 15 ที่นั่งเหมือนๆ กับเรือโดยสารที่เราเคยเห็น นับว่าขนาดไม่ใหญ่นัก แต่ก็เหมาะสำหรับการเดินทางออกไปหาวาฬบรูด้า เมื่อสมาชิกทุกคนที่จองทริปนี้เอาไว้มาพร้อมเพรียงกันแล้ว เราก็ออกเดินทางเวลาประมาณ 9 โมงเช้า ผ่านกระเตงจำนวนมาก ชมวิถีชีวิตของคนปากอ่าวที่จะเดินทางด้วยเรือกัน ฝนยังคงตกปรอยๆ ท้องฟ้าหลัวทั้งวัน กระเตงแบบต่างๆ ที่สร้างบริเวณอ่าวก็มองเห็นเพียงลางๆ เหมือนกับเมืองในหมอกสวยไปอีกแบบ บ้านเฝ้าฟาร์มหอย ที่ชาวบ้านเรียกว่ากระเตง หลายคนคงรู้ว่ามีการดัดแปลงเป็นที่พักรูปแบบใหม่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่กระเตงที่ยังคงใช้เพื่อการเฝ้าหอยตามจุดประสงค์หลักของมันก็ยังคงอยู่มากแล้วก็มีการพัฒนาติดจานดาวเทียมและแผงโซลาร์เซลล์แล้วด้วย ไม่ต่างอะไรกับบ้านหนึ่งหลังที่บรรยากาศน่านอนยิ่งกว่าบ้านบนบกซะอีก

วิวสวยบางตะบูน

วิวสวยบางตะบูน ก่อนจะออกทะเลขอย้อนภาพสวยๆ สักใบ กับสะพานปากอ่าวบางตะบูน ภาพนี้ถ่ายจากบนเรือภัตตาคารแล เล เชิงสะพานด้านขวามือของรูปนี้คือบ้านลุงจำรูญเจ้าของเรือนำเที่ยวของเรา แสงยามเย็นของบางตะบูนเป็นภาพที่สวยงามดึงดูดนักท่องเที่ยวและช่างภาพจำนวนมากมาเก็บภาพที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราอยู่บนสะพานแล้วมองออกทะเล จะเห็นกระเตงเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมากเหมือนชุมชนกระเตงเลยทีเดียว

เหยี่ยว

เหยี่ยว ระหว่างการเดินทางออกทะเล เรายังอยู่ใกล้กับป่าชายเลน อันเป็นที่ทำกินผืนใหญ่ของนกนานาชนิดๆ หนึ่งในนั้นก็คือเจ้าเหยี่ยว ที่เราย้อนเรือกลับมาเพื่อพยายามเก็บภาพของมัน สมาชิกบนเรือล้วนแล้วแต่เป็นช่างภาพด้วยกันทั้งนั้น ต่างคนต่างก็มีเลนส์ขนาดต่างกันไป ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ 70-300 mm แต่ก็ยังไม่ได้ภาพเหยี่ยวที่ใหญ่พอ คนที่เอาเลนส์ 500mm มาก็ได้ภาพสวยๆ ไป

ชมนกบางตะบูน

ชมนกบางตะบูน ช่วงสุดท้ายของแนวอ่าวจะออกสู่ท้องทะเลกว้าง ช่วงนี้น้ำยังไม่ลึกมาก ชาวบ้านเอาหลักขนาดต่างๆ มาปักเป็นแนวเรียงรายกันหลายสิบต้นเพื่อทำการเลี้ยงหอยเลี้ยงปลา ดักจับสัตว์น้ำ บนยอดเสาพวกนี้เป็นที่พักของฝูงนกที่หากินในน้ำเป็นหลัก มันบินหาเหยื่อไปรอบๆ แล้วก็มาพักอยู่บนเสา เป็นภาพที่พวกเราชอบกันมาก ยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์กันไปหลายภาพ จากแนวหลักพวกนี้ออกไปจะไม่มีอะไรให้เราถ่ายรูปแล้วจนกว่าจะเจอวาฬบรูด้า หลายคนเก็บกล้องเข้ากระเป๋าเพื่อไม่ให้โดนฝนโดยไม่จำเป็น จำได้ว่าระยะทางจากฝั่งออกทะเลไปจนเจอวาฬประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร ต้องนั่งเรือเกือบสองชั่วโมงเลยทีเดียว

กระชังเลี้ยงปลาทะเล

กระชังเลี้ยงปลาทะเล อีกรูปแบบหนึ่งของการเลี้ยงสัตว์น้ำเอาไว้ขาย สร้างครั้งเดียวเลี้ยงได้นานหลายปี ภาพแบบนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้เห็นกันบ่อยนัก

วาฬหรือฉลามกันแน่

วาฬหรือฉลามกันแน่ หลังจากออกเรือมาเป็นชั่วโมงกว่า ผู้นำทีมสำรวจวาฬบรูด้าพาเรือล่องมาทางใต้แล้วหันออกด้านตะวันออกจากนั้นมุ่งขึ้นเหนือ เราเห็นตึกโรงงานหลายแห่งอยู่บนฝั่งเดาได้ไม่ยากเลยว่าเรามาถึงมหาชัยกันแล้ว ป๋าณุ คือชื่อในวงการที่ช่างภาพเรียกขานกัน แกอายุหลักหกแล้วยังแบกกล้องกับเลนส์ใหญ่เบ่อเริ่มออกถ่ายรูปกับช่างภาพรุ่นหลังหลายคนก็อายุคราวหลานแล้ว แกเดินมาที่หัวเรือกับกล้องส่องทางไกล ส่ายไปส่ายมาพร้อมกันสีหน้าเคร่งเครียดเพราะยังไม่ได้เห็นวาฬ สมาชิกบนเรือเริ่มออกอาการไม่สบายเท่าไหร่กับคลื่นกลางทะเล หลายคนกินยามาล่วงหน้า หลายคนก็เริ่มจะหลับ เพราะท้องทะเลเวิ้งว้างไม่มีสิ่งจูงใจใดๆ หลายสิบนาทีต่อมาเราได้รับวิทยุจากเรือนักท่องเที่ยวอีกลำว่าพบวาฬแล้วอยู่บริเวณร่องน้ำมัน ป๋าณุส่งสัญญาณให้ลุงจำรูญหันเรือไปทิศทางนั้นทันที แล้วปรากฎว่าเป็นบริเวณที่เราแล่นเรือผ่านมานั่นเอง ในช่วงขามาวาฬยังไม่โผล่ เรือที่ออกมาทีหลังก็เลยเห็นวาฬก่อน พอเรือเราเข้ามาบริเวณที่พบวาฬ เราเห็นครีบมันโผล่มาไกลๆ หลายคนก็วิจารณ์ว่ามันน่าจะเป็นโลมามากกว่าวาฬเพราะขนาดมันเล็ก แต่ดูเผินๆ ก็คล้ายๆ กับครีบฉลามที่เราเห็นในฉากของหนังฝรั่งเหมือนกันนะ

ระยะห่างของเรือกับวาฬบรูด้า

ระยะห่างของเรือกับวาฬบรูด้า หลังจากที่เราย้อนกลับมาตรงที่เรืออีกลำวิทยุมาบอกว่าเจอวาฬ เรือเราและเรืออีกลำก็ขับวนเวียนใกล้เจ้าบรูด้าเพื่อทำการเก็บภาพแต่รักษาระยะห่างไม่เข้าไปกวนมันจนเกินไป แค่เวลาไม่กี่นาทีสมาชิกที่มาดูบรูด้าเป็นครั้งแรกก็สังเกตุได้ว่า คนขับเรือเดาตำแหน่งของมันได้ยังไง ก็ให้ดูที่ฝูงนกนางนวลที่พึ่งพาอาศัยเทคนิคการจับปลาของวาฬบรูด้า ซึ่งมันจะต้องโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำทุกครั้งหลังจากที่ต้อนปลาเล็กๆ มารวมกันเป็นกระจุกเพื่อที่จะอ้าปากเอาน้ำเข้าไปปลาเล็กๆ ก็จะไหลไปตามกระแสน้ำเข้าไปในปาก ส่วนที่เล็ดลอดออกมาได้ก็ต้องโดนนกนางนวลโฉบจับไปกิน เป็นการพึ่งพาอาศัยกันตามธรรมชาติระหว่างสัตว์ข้ามสายพันธุ์ที่น่าเอ็นดู

หลายคนที่ไม่เคยออกไปดูวาฬบรูด้าอาจจะคิดว่านั่งเรือมองเห็นไกลๆ ลิบๆ บอกเลยว่าไม่ใช่ ขึ้นอยู่กับความชำนาญของคนขับเรือว่าจะเดาตำแหน่งการโผล่ของมันได้ดีขนาดไหน วันที่เราออกทะเลไปนั้นวาฬบรูด้าโผล่ขึ้นมาให้เห็นเป็นจำนวนถึง 8 ตัวด้วยกัน หลังจากถ่ายรูปตัวนี้เบื่อแล้วเราก็ขับตามตัวอื่นๆ ไปโดยสังเกตุเอาจากฝูงนกและการโผล่ขึ้นมาของมันที่เราจะมองเห็นได้หลายร้อยเมตรกลางทะเล

รู้จักบรูด้ากันหน่อย

รู้จักบรูด้ากันหน่อย วาฬบรูด้า หรือ วาฬแกลบ (อังกฤษ: Bryde's whale, Eden's whale; ชื่อวิทยาศาสตร์: Balaenoptera brydei) เป็นวาฬขนาดใหญ่ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดอยู่ในวงศ์ Balaenopteridae โดยชื่อ วาฬบรูด้า เป็นการตั้งเพื่อให้เป็นเกียรติ แก่กงสุลชาวนอร์เวย์ ในประเทศแอฟริกาใต้ ที่ชื่อโยฮัน บรูด้า

มีจุดเด่นที่ครีบหลังที่มีรูปโค้งอยู่ค่อนไปทางด้านปลายหาง แพนหางวางตัวตาม แนวราบ และมีรอยเว้าเข้าตรงกึ่งกลาง ครีบคู่หน้ามีปลายแหลม ซี่บนแผ่นกรองค่อนข้างหยาบ และเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ จึงได้รับการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ห้ามมีการค้าขายวาฬบรูด้าระหว่างประเทศ
วาฬบรูด้าพบกระจายพันธุ์ในท้องทะเลเขตอบอุ่นทั่วโลก ในประเทศไทยพบอาศัยอยู่ในอ่าวไทย สามารถพบได้ในจังหวัดชายทะเลเกือบทุกจังหวัด แต่จะพบบ่อยที่ทะเลบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ลักษณะลำตัวมีสีเทาดำ รูปร่างค่อนข้างเพรียว มีลายแต้มสีขาวประปรายตรงใต้คางและใต้คอ บางตัวพบมีแถบสีจางบนแผ่นหลัง บางตัวก็มีจุดสีจางทั้งตัวคล้ายสีเทาลายกระสีขาว เวลาอยู่ในทะเลจะสังเกตเห็นสัน 3 สันเด่นชัดด้านบนของปาก ซึ่งจะวางตัวขนานกันจากปลายปากจนถึงตำแหน่งของรูหายใจ ในขณะที่วาฬชนิดอื่น ๆ มีสันตรงกึ่งกลางปากเพียงสันเดียว เวลาผุดขึ้นหายใจเหนือผิวน้ำจะเห็นหัวและน้ำพุที่หายใจออกมาเป็นเวลานานสักครู่ ก่อนจะเห็นครีบหลังตามมา ส่วนหัวมีแนวสันนูน 3 สัน ครีบเล็กและปลายแหลม ครีบคู่หน้ามีความยาวเป็นร้อยละ 10 ของความยาวลำตัว ใต้ปากล่างมีร่องตามยาวประมาณ 40-70 ร่อง พาดจากใต้ปากจนถึงตำแหน่งสะดือ แผ่นกรองที่ห้อยลงมาจากปากบนมีจำนวน 250-370 แผ่น แผ่นที่ยาวที่สุดยาว 60 เซนติเมตร ซี่บนแผ่นกรองค่อนข้างหยาบ เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะยาว 14-15.5 เมตร หนัก 20-25 ตัน กินอาหารโดยการกรอง มีซี่กรองคล้ายหวีสีเทา อาหารส่วนใหญ่เป็นแพลงตอน, เคย, ปลาขนาดเล็ก และหมึก

วาฬบรูด้าพบแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ในเขตละติจูด 40 องศาเหนือถึงใต้ ไม่พบการอพยพย้ายถิ่นฐานเป็นระยะทางไกล โดยมากมักพบครั้งละ 1-2 ตัว วัยเจริญพันธุ์ ในช่วงอายุ 9-13 ปี วาฬบรูด้าจะให้ลูกครั้งละ 1 ตัวทุก 2 ปี ตั้งท้องนาน 10-12 เดือน ระยะให้นมน้อยกว่า 12 เดือน ลูกวาฬแรกเกิดจะมีความยาวประมาณ 3-4 เมตร มีอายุยืนได้ถึง 50 ปี เวลาจมตัวดำน้ำจะโผล่หัวเล็กน้อยแล้วทิ้งตัวจมหายไปไม่โผล่ส่วนหางขึ้นมาเหนือน้ำ

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า พื้นที่อ่าวไทยพบว่าเป็นแหล่งอาศัยและศึกษาเกี่ยวกับวาฬบรูดาแหล่งใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชีย โดยถือว่าเป็นสัตว์ประจำถิ่นอ่าวไทยไปแล้ว เมื่อพบจำนวนประชากร 2-20 ตัว ขนาดที่แตกต่างกันในแต่ละวัน ซึ่งประเมินว่ามีจำนวนประชากรราว 35 ตัว และทำการจำแนกอัตลักษณ์ได้แล้วกว่า 30 ตัว พร้อมกับมีการตั้งชื่อให้ด้วย

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 พบฝูงวาฬบรูด้า ในบริเวณที่ห่างจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาเพียงแค่ 5 กิโลเมตรเท่านั้น และมีการสำรวจพบมากขึ้น โดยอาหารสำคัญของวาฬฝูงนี้ก็คือ ปลากะตัก และพบด้วยว่าวาฬบรูด้าที่อาศัยอยู่บริเวณอ่าวไทยนี้มีขนาดเล็กกว่าวาฬบรูด้าที่พบที่อื่นทั่วโลก จึงเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ชาวต่างชาติมาก และสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวาฬชนิดใหม่ ที่กำลังจะมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้เป็นชนิดใหม่ด้วย

ที่มา th.wikipedia.org/wiki/วาฬบรูด้า‎

วาฬบรูด้า บางตะบูน

วาฬพ่นน้ำ เป็นอีกภาพหนึ่งที่เราพยายามจะถ่ายมาให้ได้ หลังจากที่มันอ้าปากเอาปลากะตักกับน้ำเข้าไปเป็นจำนวนมาก มันจะกลับลงไปใต้ทะเล ก่อนหน้านั้นมันจะพ่นน้ำออกมา เราหวังว่าจะได้เห็นน้ำพุเส้นยาวๆ แต่ก็ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน เพราะมันพ่นน้ำออกมาเป็นฝอยเล็กๆ อย่างที่เห็น เนื่องจากวาฬบรูด้าไม่ค่อยจะเอาส่วนหางโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำจึงแทบไม่มีภาพหางของมันปรากฏตามอินเตอร์เน็ตเลย ส่วนหางของมันสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์จำแนกสายพันธุ์ของมันได้ สำหรับการตั้งชื่อวาฬบรูด้า เท่าที่ได้ยินก็มีข้าวเหนียว ข้าวนึ่งด้วย อันนี้ไม่รู้ว่าลุงแกแซวเล่นหรือว่าชื่อนี้กันจริงๆ และเนื่องจากว่าทริปเราโชคดีมากนับจำนวนวาฬได้ถึง 8 ตัว ภาพที่ถ่ายมาเยอะๆ นี้ก็ไม่รู้ว่าตัวไหนเป็นตัวไหนละครับ เอามาให้ชมกันแบบเต็มๆ เลย

วาฬบรูด้า บางตะบูน

หลังจากพ่นน้ำแล้วมันก็จะค่อยๆ ดำน้ำลงไป ส่วนหัวลงน้ำไปก่อนตอนนี้ก็เป็นส่วนครีบที่ค่อนไปทางหาง แล้วก็หายไปเลยไม่มีโอกาสได้เห็นหางของมัน

วาฬบรูด้า บางตะบูน

วาฬบรูด้า บางตะบูน

วาฬบรูด้า บางตะบูน

วาฬบรูด้า บางตะบูน

บางทีหลังจากงับปากเข้าแล้วมันก็ดิ่งลงน้ำแบบตรงๆ แบบนี้ก็มีครับ แต่ดูเหมือนว่าวันนี้มันจะมีความสุขกับการกินซะจริงๆ ไม่ต่างอะไรกับพวกเราที่มีความสุขกับการเก็บภาพเหล่านี้ พร้อมทั้งส่งเสียงเชียร์กันต่างๆ นานา ยังกับเชียร์มวย ให้มันแสดงท่ายากให้เราถ่ายรูปกันสวยๆ หน่อย

วาฬบรูด้า บางตะบูน

เพดานปากวาฬบรูด้าเป็นภาพบังเอิญพอดีที่มันโผล่ขึ้นมาเอาด้านท้องเข้าหาเรือ พออ้าปากกว้างๆ เห็นข้างในหมดเลย รู้สึกว่าเราเป็นหมอฟันวาฬไปซะแล้ว วาฬบรูด้ามีลักษณะคล้ายกันหลายอย่าง แม้ว่าจะมีสีต่างกันบ้าง บางตัวปากและคางมีสีชมพูบางตัวไม่ค่อยชมพู ก็พอจะแยกกันออกได้บ้าง แต่หลายตัวสีชมพูเข้มเหมือนกัน ก็ต้องดูว่าปลายปากมีจุดหรือไม่มีจุด เป็นการแบ่งแยก ชาวเรือจะรู้ว่าตัวไหนชื่ออะไร แต่อย่างเราก็จำไม่ได้ ได้แต่ถ่ายรูปด้วยความตื่นเต้นดีใจ พอถึงเวลาแจกข้าวกล่องตอนเที่ยงจำได้ว่าหลายคนไม่กิน เพราะกลัวพลาดช่วงเวลาสำคัญ ก็แน่ละ ใครจะอยากวางกล้องลงละ ขนาดฝนตกๆ ยังไปนั่งหัวเรือตากฝนถ่ายรูปกันเลยนี่

วาฬบรูด้า บางตะบูน

วาฬบรูด้า บางตะบูน

  กลีบดอกไม้บานกลางทะเล

กลีบดอกไม้บานกลางทะเล เป็นคำเปรียบเปรยกับปากของวาฬบรูด้าที่โผล่ขึ้นมาแล้วกางอยู่แบบนี้ ลืมเล่าไปเลยว่าการอ้าปากของวาฬแต่ละตัวก็ต่างกัน บางตัวอ้าปากแล้วก็งับลง บางตัวอ้าปากแล้วเขย่าๆ อยู่หลายวินาทีก่อนที่จะงับแล้วดำน้ำลงไป ทุกๆ ครั้งที่วาฬโผล่ขึ้นมาแทบเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะมีคนถ่ายรูปไม่ทัน ตอนแรกทุกคนคิดว่าจะไม่ได้เจอวาฬซะแล้วในวันนี้ก็เริ่มจะนอนหลับกันบนเรือ พอวาฬมาก็ถ่ายรูปกันทุกตัวๆ ไม่ว่าจะใกล้หรือจะไกล เห็นครีบลิบๆ ก็ถ่าย พอตอนหลังช่วงบ่ายวาฬขึ้นถี่มาก หลายคนก็เริ่มเลือกแล้วว่าตัวไหนถ่ายตัวไหนไม่ถ่าย ตัวไหนโผล่มาไกลเกินระยะที่เลนส์จะถ่ายได้เต็มๆ เฟรมก็ไม่ถ่าย ยิ่งวาฬโผล่มาท่าเดิมๆ ก็เริ่มวางกล้องหยิบข้าวกล่องมากินก็มี แต่ก็ไม่เสมอไป บางเที่ยวเรือออกไปเจอวาฬแค่สองตัวก็มีเหมือนกัน

ใกล้ไปแล้วเฮีย

ใกล้ไปแล้วเฮีย อีกช็อตเด็ดๆ ของวาฬบรูด้าที่โผล่ขึ้นมาข้างลำเรือห่างจากกราบขวาของเรือแค่ไม่กี่เมตร สมาชิกในเรือหลายคนมีเลนส์ยาวไม่เท่ากัน ก็มีการคุยกันว่าจะเข้าไปใกล้แค่ไหนดีจะได้ภาพสวยๆ ส่วนใหญ่จะมีเลนส์ที่ 200mm กับ 300mm (ไม่นับคนที่เอา 500 มานะ) พอดีมีวาฬตัวนึงโผล่ขึ้นมาซะใกล้จนคนที่ใช้เลนส์ 70-200 กับ 70-300 หมุนซุมกลับไม่ทันซะเลยถ่ายติดมาครึ่งปากก็มี แถมยังมีคนแซวกันด้วยว่าเอามือถือถ่ายยังได้เลย ก็คงจะเป็นอย่างงั้น ภาพนี้ซูมกลับมาที่ช่วงร้อยกว่าๆ ในจังหวะที่มันงับปากเข้าแล้วและกำลังจะดำน้ำลงไป

ฝูงนางนวล

ฝูงนางนวล หลังจากทีวาฬดำน้ำลงไปทั้งตัวแล้ว นกนางนวลตาดียังคงมองเห็นวาฬใต้น้ำแล้วบินตามวาฬไปเรื่อยๆ เป็นเครื่องนำทางให้กับคนขับเรือชมวาฬอย่างลุงจำรูญได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีหลายครั้งที่วาฬดำลงไปลึกจนขนาดนางนวลเองก็ยังมองไม่เห็น บางครั้งตอนวาฬโผล่ขึ้นมาก็ไม่มีนกนางนวลบินวนรอบๆ เลยสักตัวก็มีเหมือนกัน

วาฬบรูด้า บางตะบูน

วาฬบรูด้า บางตะบูน

เริงร่าประสาวาฬ

เริงร่าประสาวาฬ หลังจากจบทริปเดินทางกลับถึงบ้านแล้ว ก็เอาเมมเสียบเข้าไปในเครื่องคอม กล้องที่ใช้มี slot สำหรับ SD 2 ช่อง ปรากฎว่าเป็นทริปแรกที่ใช้เมมเต็มจนต้องไปต่อ slot 2 นำภาพใส่เข้าคอมรวมกันแล้วได้ 700 กว่าภาพ แน่นอนว่าเป็นการกดชัตเตอร์แบบภาพต่อเนื่องแล้วเอามาเลือกทีหลัง เป็นวิธีที่ใช้กันเกือบจะทุกคน หลังจากคัดเลือกแล้วก็มีภาพเกือบ 30 ภาพมาให้ชมกันนี่ละครับ ดูเหมือนว่ามันจะมีความสุขจริงๆ ที่ได้ปลาเข้ามาอยู่เต็มกระพุ้งแก้ม ก่อนที่จะดำน้ำลงไป

สันหลังมหึมา

สันหลังมหึมา อีกภาพอันน่าตื่นตาของเจ้ายักษ์ใหญ่หลายๆ ภาพที่เราเก็บมาได้เป็นภาพด้านข้าง แต่สันหลังแบบตรงๆ แบบนี้ในระยะที่ไม่ไกลมากนัก มองผ่านช่องมองภาพของเลนส์ 300mm ในใจตื่นเต้นระทึกมากเหมือนมันมาอยู่ใกล้ๆ ชนิดที่เอื้อมมือไปลูบหลังได้ยังไงยังงั้น

วาฬบรูด้า บางตะบูน

อ้าาาาาาา

อ้าาาาาาา เป็นภาพที่ดูเหมือนวาฬบรูด้าจะงับเอาเจ้านกนางนวลตาดีที่เห็นว่าวาฬจะโผล่ตรงนี้ ส่วนนกอีกหลายสิบตัวมาไม่ทัน ช็อตนี้เจ้าวาฬบรูด้าโผล่ขึ้นมาใกล้พอสมควรทีเดียวเลยได้เห็นแผ่นกรองอาหารในปากของมันชัดทุกซี่เลย

วาฬบรูด้า บางตะบูน

หัวเรือ หัวเรือ!!

หัวเรือ หัวเรือ!! เสียงร้องตะโกนของสมาชิกในเรือเพื่อบอกให้เพื่อนหันไปทางเดียวกัน ทันทีที่เห็นเจ้าวาฬบรูด้าโผล่ขึ้นมาตรงหน้าเรือ สังเกตุว่าภาพนี้เราจงใจให้ติดดอกไม้แม่ย่านางเรือมาด้วยนิดนึง เป็นเครื่องยืนยันว่าวาฬเหล่านี้โผล่มาโชว์ตัวแบบใกล้เสียจนหวาดเสียวในบางครั้ง แต่พวกมันไม่เคยทำอันตรายมนุษย์ แม้ว่าการจะทำแบบนั้นมันเป็นเรื่องง่ายแสนง่ายสำหรับพวกมัน การหากินแบบสังเกตุได้ล่วงหน้าว่าจะโผล่ขึ้นมาตรงไหน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกมันถูกล่าไปอย่างง่ายดายในหมู่นักล่าวาฬ ปัจจุบันเราอนุรักษ์วาฬเหล่านี้ และนั่นก็เป็นสิ่งดีที่เราจะได้มีสัตว์ขนาดใหญ่แบบนี้อยู่คู่ทะเล ไว้ให้ลูกหลานได้ออกเรือไปสัมผัสกับความตื่นตาแบบนี้ได้ในอนาคต

วาฬแม่ลูก

วาฬแม่ลูก ปิดท้ายอำลากันด้วยภาพนี้ครับ หลังจากดูนาฬิกาแล้วเป็นเวลาบ่ายสามโมง ทั้งป๋าณุและลุงจำรูญ ต่างก็ประกาศให้สมาชิกทราบว่าเป็นเวลาที่สมควรแล้วที่จะกลับ แถมยังมีเมฆฝนเห็นมาแต่ไกลทำท่าว่าจะหนัก นักเดินเรือมืออาชีพอธิบายว่าฟ้าที่เราเห็นมีสีอมเหลืองจะเป็นท้องฟ้าที่เวลาฝนตกจะตกหนักมากๆ เราก็เลยตกลงเลือกมุ่งหน้าหันเข้าหาฝั่งบางตะบูนโดยตกลงกันว่าจะถ่ายวาฬที่เห็นครั้งล่าสุดเป็นตัวสุดท้าย แล้วก็เดินหน้าเต็มตัวเข้าหาฝั่ง วาฬนั้นเราจะไม่เรียกว่าเป็นปลานะครับ เพราะเค้าเลี้ยงลูกด้วยนม เวลาออกหากินวาฬแม่ลูกว่ายน้ำคู่กันน่ารักน่าชังทีเดียว น่าเสียดายจริงๆ ที่วันนี้ไม่มีโอกาสได้เห็นวาฬโผล่ขึ้นมาพร้อมกัน 2 ตัว ป๋าณุเล่าว่าเคยถ่ายรูปได้ด้วย 2 ตัวอ้าปากดูเหมือนกับดอกบัวเลยละ

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็นความรู้สึกประทับใจที่เอามาแบ่งปันกันอ่าน ถ้าสนใจเรื่องราวของวาฬจริงๆ จังๆ รวมทั้งการเตรียมตัวเพื่อออกเดินทางไปเยี่ยมเจ้าวาฬยักษ์ แนะนำให้หาข้อมูลจากเว็บไซต์นี้เลย ไม่มีเว็บไหนเขียนเรื่องวาฬได้ดีเท่านี้แล้วละ http://www.thaiwhales.org/

แล้วเว็บนี้เค้าก็มีเฟสบุคด้วยนะ https://www.facebook.com/thaiwhales

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วาฬบรูด้า บางตะบูน เพชรบุรี
Sampaongern Home Stay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.72 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านไม้ชายเลน รีสอร์ท สมุทรสงคราม
  8.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนไทยอัมพวารีสอร์ท
  16.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนสบาย เพลินพรรณไม้ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านครูต้อยโฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
แหลมใหญ่รีสอร์ท&ฟิชชิ่ง
  19.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนอัมพวันรีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
เลอเม เรสซิเดนซ์
  21.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
เทพนิมิตร รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.53 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านบุญท้วม ตะโหงกรีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  22.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วาฬบรูด้า บางตะบูน เพชรบุรี
วาฬบรูด้า บางตะบูน เพชรบุรี
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
สะพานบางตะบูน
  0.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์อนุรักษ์และศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน บางตะบูนวิทยา
  1.53 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดปากลัด เพชรบุรี
  2.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
วิหารเจ้าแม่กวนอิม วัดเพชรสุวรรณ
  4.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดเขาตะเครา เพชรบุรี
  8.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
กิจกรรมการปลูกป่าชายเลน สมุทรสงคราม
  8.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
โฮมกระเตงคลองโคน สมุทรสงคราม
  8.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
ปลูกป่าชายเลน คลองโคน สมุทรสงคราม
  9.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดเขายี่สาร สมุทรสงคราม
  9.41 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com