www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ชลบุรี >> อเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน)

อเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน)

 อเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน) ทางเข้าอยู่ก่อนถึงวัดวัดญาณสังวรารามเล็กน้อย มีทางแยกตรงสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำไปอีก 800 เมตร เป็นแหล่งรวมสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมชั้นสูงของจีน ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2530 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุ โบราณวัตถุอันมีค่า ได้แก่ เจ้าแม่กวนอิมหยกขาวองค์ใหญ่ รูปปั้นทหารและม้าจากสุสานจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ พระแท่นบัลลังก์ทองของจักรพรรดิ ภาพเขียนเก่า และเครื่องปั้นดินเผา เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 08.00–17.00 น. อัตราค่าเข้าชมคนละ 50 บาท โทร. 0 3823 8367

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. พัทยา โทร. 0 3842 7667, 0 3842 8750 Call Center 1337
http://www.tourismthailand.org/pattaya

แก้ไขล่าสุด 2017-06-09 23:24:39 ผู้ชม 34784

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ทางเข้าวิหารเซียน

ทางเข้าวิหารเซียน อเนกกุศลศาลาหรือวิหารเซียนตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดญาณสังวราราม เดินทางมาได้หลายทางเพียงสังเกตุป้ายวิหารเซียนหรือวัดญาณสังวรารามก็ได้ ตำแหน่งที่ตั้งของวิหารเซียนอยู่ที่ทางแยกพอดี ทางหนึ่งไปวัดญาณสังวราราม อีกทางหนึ่งไปพระพุทธรูปแกะสลักบนหน้าผาเขาชีจรรย์ อีกด้านหนึ่งมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม

แหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา

แหล่งเรียนรู้ทางพระพุทธศาสนา ที่อเนกกุศลศาลาหรือวิหารเซียนเป็นสถานที่รวมพระพุทธรูปทั้งแบบหินยานของไทยและแบบมหายาน รูปเทพเจ้าต่างๆ ที่เรียกว่าเซียนจำนวนมาก นอกจากเป็นสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวที่สนใจเดินทางมาเที่ยวชมวิหารเซียน ยังเป็นสถานที่สำหรับการทัศนศึกษาที่ดีของนักเรียน ภิกษุ-สามเณร เดินทางมาเยี่ยมชมเป็นประจำคณะภิกษุสามเณรในรูปนี้เดินทางมาจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนทีเดียวครับ

เข้าสู่ประตูวิหารเซียน

เข้าสู่ประตูวิหารเซียน การเข้าชมวิหารเซียนหรืออเนกกุศลศาลาเก็บค่าเข้าชมโดยชำระค่าเข้าชมที่หน้าประตูจากนั้นก็สามารถเดินชมรอบๆ บริเวณรวมทั้งด้านในได้ทั้งหมดการก่อสร้างวิหารเซียนทั้งหมดนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน เหนือซุ้มประตูด้านในมีป้ายภาษาจีนเขียนว่า "จู้ เหลิน วุ่ย เล่อ" (ภาษาจีนกลาง) มีความหมายเป็นอนุสติเตือนให้ระลึกว่า "การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นั้นย่อมเป็นสุข" ซึ่งอเนกกุศลศาลา หรือวิหารเซียนแห่งนี้ก็คือสัญลักษณ์ของความสุขจากการได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ให้ได้รับความปิติภาคภูมิใจในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมแห่งมนุษยชาติ ความสำคัญของป้ายเหนือซุ้มประตูคือเป็นป้ายที่เขียนด้วยลายมือของท่านซุนเคอ บุตรชาย ดร.ซุนยัดเซ็น ที่เขียนให้แก่อาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ โดยเฉพาะ

ศาลพระพรหมและเทพประจำ 12 ราศี

ศาลพระพรหมและเทพประจำ 12 ราศี เมื่อเข้าประตูมาได้แล้วจะเห็นศาลพระพรหมอยู่ด้านซ้ายมือ ถัดจากนั้นไปเลียบไปตามกำแพงมีเทพเจ้าประจำ 12 ราศีเพื่อให้บูชา

ศาลาสำหรับบูชาปวงเทวะและพระพุทธเจ้า

ศาลาสำหรับบูชาปวงเทวะและพระพุทธเจ้า ตรงกลางของลานกว้างในบริเวณวิหารเซียนมีศาลาแบบเก๋งจีนสำหรับจุดธูปเทียนบูชาปวงเทวะและพระพุทธเจ้าในวิหารเซียนแห่งนี้ ความพิเศษของศาลาสักการะบูชานี้อยู่ที่กระถางธูปหนักประมาณ 1 ตัน ที่หล่อในรูปแบบที่ไม่เหมือนกระถางธูปทั่วๆ ไป โดยรูปแบบของกระถางธูปเป็นขอนไม้มีนกกระเรียนเกาะและมีต้นสนปกคลุมอยู่ด้านบน ซึ่งชาวจีนถือเป็นสัญลักษณ์มงคลแห่งการมีอายุยืนนอกจากนั้นยังมีกระถางเผากำยานรูปสิงโตที่งดงามอีก 1 คู่

แปดเซียนข้ามทะเล

แปดเซียนข้ามทะเล ก่อนที่จะเดินเข้าไปด้านในจะพาชมบริเวณรอบๆ ที่หน้าวิหารเซียนกันก่อน เริ่มจากจุดนี้ที่อยู่ตรงกันกับศาลาสำหรับบูชาปวงเทวะและพระพุทธเจ้า มีเทพหรือเซียนอยู่หลายองค์ ด้านข้างทั้งซ้ายและขวายังมีอีกหลายองค์ด้วย รูปหล่อโลหะแปดเซียนข้ามทะเลอาจจะเป็นรูปหล่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก รูปหล่อชุดนี้มีความยาวถึง 11 เมตร และสูง 4 เมตร ซึ่งเซียนทั้งแปดองค์นี้เป็นเซียนในลัทธิเต๋าที่ชาวจีนส่วนมากเคารพนับถือ รูปหล่อชุดนี้ประกอบด้วยเซียนแปดองค์ที่กำลังอยู่บนแพที่ทำขึ้นจากสิ่งวิเศษประจำตัวของแต่ละองค์ โดยแปดเซียนกำลังล่องแพข้ามมหาสมุทรเพื่อไปคารวะพระแม่สวรรค์ตะวันตก
แปดเซียนนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี เป็นบุคคลที่สำคัญในตำนานลัทธิเต๋าของจีนโดยถือเป็นศูนย์กลางแห่งตำนานลัทธิเต๋า ซึ่งทั้งแปดเซียนนี้ไม่ใช้เทพเจ้า ได้มีการกล่าวว่าทุกองค์บรรลุภาวะความเป็นอมตะ (เซียน) จากการฝึกฝนตามแนวทางของเต๋า นอกจากนั้นแล้วยังมีตำนานอีกมากมายเกี่ยวกับพลังศักดิ์สิทธิ์และเรื่องอภินิหารย์ของแปดเซียนนี้
เซียนทั้งแปดองค์นี้ ถือเป็นตัวอย่างแห่งการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อให้บุคคลธรรมดาทั่วไปสามารถบรรลุถึงความสำเร็จ หรือการเป็นอมตะ ซึ่งแต่ละองค์เกิดมาเป็นบุคคลธรรมดาและบรรลุถึงความเป็นอมตะโดยหลากหลายวิธี เช่นการมีใจดีมีเมตตาไม่เห็นแก่ตัว หรือการปฏิบัติตามคำสอนของอาจารย์ใหญ่ (เล่าจื้อ) เป็นต้น โดยรูปหล่อที่ยิ่งใหญ่ชุดนี้จัดทำขึ้นในประเทศไทย

รอบนอกอาคารวิหารเซียน

รอบนอกอาคารวิหารเซียน ประกอบด้วยรูปเทพาจารย์ ต่างๆ และเซียน ได้แก่เทพาจารย์ เตียว เฮี้ยง ท๊ง (นักพรตเมฆขาว) เทพาจารย์ เอี้ย อุ้ง ซ้ง เป็นต้น ภาพล่างขวาคือรูปหล่ออาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ โดยที่ฐานจะมีจารึกเกี่ยวกับประวัติอาจารย์สง่า ดังนี้อาจารย์เซียนสง่า กุลกอบเกียรติ เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2468 และได้เติบโตที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ท่านเป็นเชษฐบุรุษผู้อุทิศตนทำงานเผยแพร่วัฒนธรรมไทยจีน โดยมีส่วนสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งนี้ ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญชำนาญการทางด้านภูมิทัศน์ หรือศาสตร์ฮวงจุ้ยของจีนเป็นอย่างดียิ่ง จึงเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชนทุกชั้น ท่านเมตตาช่วยเหลือโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง จึงทำให้มีชื่อเสียงลือเลื่องไปไกลทั้งในและต่างประเทศ โดยต่างยกย่องนับถือในคุณวิเศษของท่านทั้งในด้านปรีชาญาณ และความเป็นผู้มีคุณธรรมโดยเพียบพร้อม นับเป็นแบบอย่างของผู้เสียสละประโยชน์ส่วนตนในการสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม เป็นการตอบแทนคุณประเทศชาติและมาตุภูมิ

ทั้งนี้ ท่านได้ฝากผลงานอันนับเป็นสมบัติล้ำค่าให้แก่แผ่นดินไทย-จีน อันได้แก่ "อเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน)" แห่งนี้ ซึ่งเป็นนฤมินกรรมที่รวมศิลปกรรมไทย-จีนที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ รวมทั้งได้เป็นผู้นำคนสำคัญในการก่อนสร้างวิหารเซียน ที่เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการเผยแพร่วัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ

อาจารย์เซียนสง่า กุลกอบเกียรติ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2546 เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณความดีที่ท่านบำเพ็ญไว้อย่างเป็นอเนกประการ บรรดาญาติมิตรและคณะศิษย์จึงได้สร้างรูปหล่อนี้ขึ้นเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณของท่านให้ปรากฏสืบนานไป

อเนกกุศลศาลาหรือวิหารเซียน

อเนกกุศลศาลาหรือวิหารเซียน ประวัติโดยสังเขป
ไทยและจีน เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กันมาเป็นเวลายาวนานในทางประวัติศาสตร์โดยที่กระแสธารแห่งวัฒนธรรมของชนชาติทั้งสองได้เชื่อมโยงต่อเนื่องกัน เป็นสายสัมพันธ์อันแนบแน่น ตั้งแต่ระดับรัฐสู่ระดับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวจีนที่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้า ซึ่งได้อาศัยอยู่ภายใต้ร่มแห่งพระบวรพุทธศาสนาในผืนแผ่นดินไทยก็ได้นำเอารากฐานศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของตน มาสู่สังคมสยาม จนหลอมรวมเป็นรูปแบบใหม่แห่งศิลปวัฒนธรรมไทย-จีนอย่างน่าสนใจ

อเนกกุศลศาลา หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "วิหารเซียน" และมีชื่อในภาษาจีนว่า "ต้า ผู้ อี่" (จีนแต้จิ๋ว) หรือ "ต้าน ฝู เยวี้ยน" (จีนกลาง) ซึ่งมีความหมายว่า "สถานที่ที่มีบรรยากาศดั่งสรวงสวรรค์" เป็นแหล่งรวมงานศิลปะไทย-จีน ชั้นสูงที่สำคัญยิ่งในประเทศไทยแห่งหนึ่ง โดยสถานที่แห่งนี้ได้ก่อกำเนิดจากแรงบันดาลใจของ อาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ ในการที่จะแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และความกตัญญูกตเวทีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่มีต่อประเทศชาติ พระราชวงศ์ และองค์พระมหากษัตราธิราชเจ้า โดยอาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ เป็นผู้ริเริ่มในการก่อสร้างออกแบบและดูแลการก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้ก่อสร้างบนที่ดินบริเวณโครงการพัฒนาพื้นที่วัดญาณสังวรารามอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 7 ไร่ ที่ได้รับพระราชทานเมื่อปีพุทธศักราช 2530 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานฤกษ์ในการก่อสร้างเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2531 เวลา 09.19 น. และพระราชทานนามอาคารนี้ว่า "อเนกกุศลศาลา"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอเนกกุศลศาลา เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2536 โดยอาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ พร้อมด้วยคณะชาวไทยเชื้อสายจีน ได้พร้อมใจน้อมเกล้าฯ ถวายอเนกกุศลศาลา พร้อมด้วยโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

การตกแต่งและการจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุนั้น ก็ได้ผสมผสานศิลปะและวัฒนธรรมไทย-จีน ให้เข้ากันได้อย่างกลมกลืน และยังมีศิลปวัตถุอันมีค่ายิ่งที่รัฐบาลประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มอบให้จำนวนมากเพื่อจัดแสดงเป็นการถาวร นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นสถานที่รวบรวมลัทธิศาสนาของจีนได้แก่ ศาสนาพุทธ และลัทธิขงจื้อ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งมรดกทางวัฒนธรรมของจีนไว้ด้วยกัน

รูปแกะสลักจากหินแกรนิตจากประเทศจีน

รูปแกะสลักจากหินแกรนิตจากประเทศจีน ภาพซ้ายคือหินแกรนิตแกะสลักจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีจำนวนมากที่บริเวณลานด้านหน้าอาคาร มาจากมณฑลกวางตุ้ง โดยทั้งหมดจำนวนมากกว่า 60 ชิ้น ซึ่งแกะสลักมาจากหินแกรนิตสีแดง สีเขียว สีเทา และสีทอง ทั้งในรูปสัตว์ประจำราศีของทางจีนที่มีตัวเป็นคน ศรีษะเป็นสัตว์ รูปกิเลน สิงโตปักกิ่ง สิงโตแต้จิ๋ว สัตว์หลายชนิด รูปเด็กๆ และรูปเทพเจ้าจีนเป็นต้น แต่ชิ้นที่น่าสนใจสุดเห็นจะได้แก่ หินแกรนิตแกะสลักรูปสิงโตปักกิ่งคู่ ที่ตั้งอยู่หน้าประตูทางเข้าอาคาร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดสูงถึง 3.5 เมตร และมีน้ำหนักรวมทั้งสิ้น 44 ตัน

พระพุทธรูปแกะสลัก

พระพุทธรูปแกะสลัก หลังจากที่เดินชมรอบๆ บริเวณด้านหน้าแล้วก็ได้เวลาเดินเข้าในอาคารด้านหน้าข้างๆ ประตูทางเข้าด้านขวามือมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีขาวหลายองค์

มังกรคู่เหนือประตู

มังกรคู่เหนือประตู ทางเข้าอาคารวิหารเซียนประดับด้วยมังกรคู่สีสันสวยงามเหนือขอบประตูมีป้ายอักษรจีนเป็นลายมือพระอนุชาของพระจักรพรรดิองค์สุดท้าย ลายมือภูกันของท่านฝูเจ่ พระอนุชาของจักรพรรดิฟูยี จักรพรรดิ์องค์สุดท้ายของประเทศจีน (ราชวงศ์เช็ง) ซึ่งท่านได้เขียนตัวหนังสือชุดนี้ได้แก่อาจารย์สง่า กุลกอบเกียรติ เมื่อท่านอายุได้ 90 ปี ตัวหนังสือ 3 ตัวนี้เป็นชื่อภาษาจีนของ อเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน) แห่งนี้ อ่านว่า "ต้าน ฝู เยวี้ยน" (ภาษาจีนกลาง) ที่มีความหมายว่า "สถานที่ที่มีบรรยากาศดั่งสรวงสวรรค์ หรือ วิหารเซียน" ซึ่งลายมือที่งดงามแบบนี้ใช้เฉพาะในราชสำนักเท่านั้น ด้วยความงดงามของมังกรคู่นี้ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่จะต้องหยุดถ่ายรูปที่ระลึกกันแทบทุกคน ก่อนที่จะเดินเข้าไปในอาคาร

เก้ามังกรบังคมจอมจักรพรรดิราช

เก้ามังกรบังคมจอมจักรพรรดิราช งานปูนปั้นอลังการบนฝาผนังด้านในเป็นรูปเก้ามังกรห้าเล็บเหิรบินเหนือก้อนเมฆ คารวะจอมจักรพรรดิราช งานปั้นมังกรชุดนี้ใช้เวลาในการสร้างเกือบหนึ่งปี โดยมังกรทั้งหมดนี้ถูกปิดด้วยแผ่นทองคำแท้ ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้เวลานานก็เพื่อกำจัดความเค็มในปูนซีเมนต์จะได้ป้องกันไม่ให้แผ่นทองแตกกระเทาะหรือเป็นรอยแตกร้าว ในประเทศจีนนั้น มังกรถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ และบ่อยครั้งที่มังกรถูกนำมาเกี่ยวข้องกับจักรพรรดิของประเทศจีน มังกรจะถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี และเป็นส่วนสำคัญในการฉลองเทศกาลปีใหม่ของชาวจีน นอกจากนี้ยังใช้เป็นตัวแทนของผู้ฉลาด และในปากของมังกรยังมี "ไข่มุกของความฉลาด" นักปราชญ์และผู้รอบรู้ถูกเรียกเป็นมนุษย์มังกร

งานปูนปั้นมังกรนี้ถูกทำขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนในการกราบบังคมองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมังกรนี้ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตรีย์ในความเชื่อของชาวจีน และตัวเลข 9 นี้ถือเป็นตัวเลขมงคลของชาวจีน เช่นเดียวกับคนไทย นอกจากนั้นแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี

สำหรับประตูกระจกทางเข้าอาคารนั้น ได้มีการแกะสลักรูปของเทพพิทักษ์ประตู 2 องค์ ลงบนประตูกระจกอย่างสวยงาม เทพพิทักษ์ประตูนี้เป็นเทพเจ้าคู่หนึ่งที่มีหน้าที่ในการคอยดูแลปกป้องทางเข้าอาคารหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในความเชื่อของชาวจีนนั้น เทพเจ้าพิทักษ์ประตู 2 องค์นี้ จะคอยดูแลปกป้องวิญญาณ ภูติผีปีศาจ และสิ่งไม่ดีต่างๆ ไม่ให้เข้าไปในอาคารได้

ภายในวิหารเซียน

ภายในวิหารเซียน ตั้งแต่เริ่มเข้ามาในบริเวณของอเนกกุศลศาลาจะเห็นได้ว่าการสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่างในบริเวณอาคารวิหารเซียนแห่งนี้มีความหมายลึกซึ้งตามหลักความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีนไว้หลายอย่าง เมื่อเข้ามาในอาคารชั้นแรกจะมีรูปหล่อโลหะเทพเจ้า พระพุทธเจ้า องค์ต่างๆ จำนวนมากจนไม่อาจะบรรยายให้ครบทุกองค์ได้ แต่สิ่งสำคัญหลักๆ ที่จะนำมาเขียนในหน้านี้ได้แก่

พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์
ทรงเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) แต่ท่านมิได้เป็นเพียงสาวกธรรมดาของพระพุทธองค์ องค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้พบกับทานที่สววรค์ชั้นดุสิต และได้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้สืบทอด ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป ในอีก 5,000 ปีข้างหน้า หลังจากช่วงพุทธศาสนาของพระองค์ท่าน พระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ยังรู้จักกันในนามของ "พระยิ้ม" ซึ่งในพุทธลักษณ์แบบจีนของท่านนั้นจะมีรูปลักษณะอ้วนท้วนสมบูรณ์ และมีรอยยิ้มกว้าง โดยมือหนึ่งถือถุงย่าม และอีกมือถือลูกประคำ ผู้คนเชื่อว่าท่านสามารถพยากรณ์อากาศได้ และชีวิตของท่านนั้นเต็มไปด้วยเหตุการณ์มหัศจรรย์ โดยวัดจีนส่วนใหญ่นั้นมักจะมีรูปหล่อของพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์สำหรับให้ผู้คนได้สักการะบูชา และผู้คนมักจะขอพรจากท่านให้มีสุขภาพแข็งแรงและร่ำรวยทรัพย์

รูปจำลองตอนหนึ่งของกำแพงเมืองจีน
รูปจำลองตอนหนึ่งของกำแพงเมืองจีนที่เห็นอยู่ในวิหารเซียนเป็นช่วงปาต๋าหลิง กำแพงเมืองจีนเริ่มสร้างเมื่อประมาณ 700 ปีก่อนคริสตกาล ได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติม และซ่อมแซมเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยของจิ๋นซีฮ่องเต้ รวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ ได้สำเร็จ เป็นแนวกำแพงยาวจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก ประมาณ 6,700 กิโลเมตร เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งของโลก

พระพุทธรูปสำริดโบราณสมัยราชวงศ์ถัง

พระพุทธรูปสำริดโบราณสมัยราชวงศ์ถัง โบราณวัตถุและศิลปวัตถุหลายชิ้นที่ถูกนำมารวบรวมแสดงไว้ที่นี่เป็นการถาวรหลายชิ้นได้รับมาจากประเทศจีน สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นท่ามกลางรูปหล่อโลหะเซียนองค์ต่างๆ ในห้องนี้ก็คือพระพุทธรูปพระศากยมนีพุทธเจ้าที่หล่อขึ้นช่วงสมัยราชวงศ์ถัง

งานดินเผาชุด 18 อรหันต์

งานดินเผาชุด 18 อรหันต์ ภาพซ้ายมือเป็นงานดินเผา 18 อรหันต์ ตั้งแสดงอยู่ในตู้กระจกใส มีทั้งหมดครบ 18 ชิ้น ขนาดค่อนข้างใหญ่แต่ละชิ้นจะมีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอรหันต์นั้นๆ ประกอบให้อ่านหาความรู้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากอย่างหนึ่ง พระอรหันต์ เป็นศิษย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยท่านได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์และบรรลุถึงนิพพาน ซึ่งพระอรหันต์ทั้ง 18 องค์นี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวจีนที่นับถือพุทธศาสนา ดังนั้นรูปปั้นหรือรูปหล่อของ 18 อรหันต์จึงมักจะพบในเกือบทุกวัดในศาสนาพุทธประดิษฐานพร้อมกับพระพุทธรูป

งานดินเผาชุด 18 อรหันต์ชุดนี้ เป็นงานปั้นมือระดับปรมาจารย์ ที่จัดทำโดยช่างระดับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการปั้นรูป 18 อรหันต์ โดยงานชุดนี้ถือเป็นชุด 18 อรหันต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ผู้ปั้นเคยทำมา ซึ่งงานปั้นชุดนี้ได้แสดงรายละเอียดของงานปั้นพระอรหันต์แต่ละองค์อย่างงดงามทั้งกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และการแสดงออกทางอารมณ์และสีหน้า โดยรูปแบบกริยาท่าทางของพระอรหันต์แต่ละองค์นั้นจะแสดงรหัสนัยในทางธรรม ที่รอให้ผู้คนค้นหาความหมายที่ลึกซึ้ง

รัฐบาลกวางโจว ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นโฝวซาน ได้มอบชุด 18 อรหันต์ดินเผาชุดนี้ให้แก่ทาง อเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน) โดยงานดินเผาชุดนี้ทำจากดินที่พิเศษ เป็นดินที่ละเอียดและเผาออกมาแล้วมีสีน้ำตาลที่สวยงาม ไม่ต้องทำการระบายสี งานชุดนี้ใช้เวลาในการจัดทำถึงประมาณ 2 ปี

ชุดพระอรหันต์เหล่านี้มักจะถูกประดิษฐานอยู่ด้านข้างของโบสถ์ในวัด โดยทั่วไปจะมีทั้งหมด 18 องค์ อาจจะเป็นชุดที่มีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ได้ แต่ก็มีบางวัดที่ประดิษฐานพระอรหันต์ถึง 500 องค์ ซึ่งแต่ละองค์จะถูกจัดทำในรูปแบบที่เหมือนคนจริง

ชั้น 2 ของวิหารเซียน

ชั้น 2 ของวิหารเซียน หลังจากที่เดินศึกษาหาความรู้และชมโบราณวัตถุหายากในชั้นแรกแล้ว เราสามารถเดินขึ้นมาชมชั้นบนๆ อย่างชั้น 2 และ 3 ได้ด้วยครับ บนชั้นสองมีเทพเจ้าเพียงองค์เดียวหันหน้าออกไปทางลานกว้างด้านหน้าของอาคาร ซึ่งมีทางเดินลงไปชมรอบบริเวณได้

อาคารวิหารเซียน

อาคารวิหารเซียน จากลานกว้างๆ ด้านหน้าของอาคารวิหารเซียนชั้น 2 จะมองเห็นอาคารที่สร้างอย่างสวยงามได้ชัดๆ ตั้งแต่ชั้น 2 ไปถึง ชั้น 3 ทั้ง 2 ข้างสร้างเป็นอาคารห้องเล็กๆ ยื่นออกมา ด้านซ้ายของรูปนี้เป็นห้องแสดงศิลปกรรมไทย ส่วนด้านขวาเป็นส่วนแสดงรูปหล่อโลหะที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวจีน

ลานชุมนุมเทพเจ้า

ลานชุมนุมเทพเจ้า ถัดออกมาตรงกลางลานกว้างหน้าอาคารเป็นลานชุมนุมเทพเจ้า มีรูปหล่อโลหะเทพเจ้าองค์ต่างๆ มากมายยืนเรียงกันคล้ายมาประชุมกันเป็นบรรยากาศที่เหมือนดังสรวงสวรรค์ บริเวณนี้ทั้งหมดต้องถอดรองเท้าเพื่อเข้ามาชมครับ

ลานชุมนุมเทพเจ้า

ลานชุมนุมเทพเจ้า บรรยากาศการชุมนุมกันของเหล่าเทพเจ้ารอบๆ ลานกว้างหน้าวิหารเซียนชั้น 2

เทพเจ้ากวนอู

เทพเจ้ากวนอู อยู่ในศาลาแยกออกไปทางด้านขวามือ เทพเจ้ากวนอูเป็นสีทองอยู่ตรงกลางมีรูปหล่อโลหะแม่ทัพจิวชังซึ่งเป็นขุนพลคู่ใจของท่านกวนอูอยู่ด้านขวา ส่วนด้านซ้ายของท่านกวนอู คือยุพราชกวงเพ้ง เป็นบุตรบุญธรรมของท่านกวนอู

ห้องศิลปกรรมไทย

ห้องศิลปกรรมไทย อยู่ใกล้ๆ กับศาลาเทพเจ้ากวนอู เป็นห้องแสดงชิ้นงานศิลปะหลายอย่างรวมทั้งวิถีชีวิตแบบไทยๆ

เรือพระที่นั่งจำลอง

เรือพระที่นั่งจำลอง เป็นหนึ่งในเรือพระที่นั่งจำลองหลายๆ ลำที่อยู่ในห้องศิลปกรรมไทยห้องนี้ ได้แก่เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ เรือพระที่นั่งอานันตนาคราช และเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นต้น

ห้องแสดงศิลปวัตถุไทย

ห้องแสดงศิลปวัตถุไทย เดินเข้ามาอีกห้องซึ่งอยู่ติดกัน เป็นห้องแสดงพระพุทธรูปประจำวันเกิด พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปปางนาคปรก บนผนังห้องมีรูปเทพประจำทิศต่างๆ ได้แก่ เทพประจำทิศอาคเนย์ เทพประจำทิศหรดี เทพประจำทิศทักษิน เป็นต้น บ้านจำลองของชาวไทยภาคต่างๆ และศิลปวัตถุอื่นๆ อีกหลายอย่าง

วิหารเซียนชั้น 3

วิหารเซียนชั้น 3 บนชั้น 3 ของวิหารเซียนซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของอาคาร ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองพร้อมพระอัครสาวก ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ ผนังรอบๆ ห้องติดภาพจิตรกรรมพระพุทธประวัติ กระจกตกแต่งด้วยลวดลายเทพพนม

วิวบนวิหารเซียนชั้น 3

วิวบนวิหารเซียนชั้น 3 จากบนชั้นสูงสุดของอาคารมองลงมาเห็นลานชุมนุมเทพที่อยู่ที่ชั้น 2 และวิวกว้างๆ รอบๆ บริเวณ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำที่อยู่ใกล้ๆ กับวิหารเซียนเป็นวิวที่สวยมากครับ

พระพุทธรูปหายาก

พระพุทธรูปหายาก ศิลปวัตถุหายากอื่นๆ ในวิหารเซียน อยู่ที่ชั้น 1 ที่มีรูปหล่อโลหะเทพเจ้าต่างๆ มากมาย ศิลปวัตถุเหล่านี้หลายชิ้นหาชมได้ยากยิ่งอยู่ในตู้กระจก

ชิ้นงานแกะสลักจากงาช้าง

ชิ้นงานแกะสลักจากงาช้าง เป็นชิ้นงานที่แกะสลักได้อย่างปราณีตมีอายุเก่าแก่ หาได้ยากนอกเหนือจากชิ้นนี้แล้วยังมีอีกมากมายเรียงรายในตู้เดียวกัน วิหารเซียนนอกจากจะเป็นสถานที่รวบรวมรูปเทพเจ้ามากมายหลายองค์ตามความเชื่อมหายาน รวมทั้งพระพุทธรูปแบบไทยแล้ว จึงเป็นสถานที่รวบรวมศิลปวัตถุ และโบราณวัตถุมากมายหลายชิ้นอันประเมินค่ามิได้ ควรค่าแก่การศึกษาหาความรู้สำหรับทุกคน

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อเนกกุศลศาลา (วิหารเซียน) ชลบุรี
บุษบา 3 เบดรูม วิลลา บาย พีท เซอร์วิส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านพิคตอรี่ การ์เดน รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
ยูนิค พาราไดซ์ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
Stars Bistro and Bungalows เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.46 km | แผนที่ | เส้นทาง
3 ห้องนอน 4 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 343 ตร.ม. – บางสเหร่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.52 km | แผนที่ | เส้นทาง
Villa Ozone Pattaya Baan 24(3Bedroom+Private pool) เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
Villa Ozone Pattaya Baan 28(3Bedroom+Private pool) เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
Villa Ozone Pattaya Baan 32(3Bedroom+Private pool) เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
Villa Ozone Pattaya Baan 38(3Bedroom+Private pool) เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
Villa Ozone Pattaya Baan 39(3Bedroom+Private pool) เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.78 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com