www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เพชรบุรี >> วัดใหญ่สุวรรณาราม

วัดใหญ่สุวรรณาราม

  วัดนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในวัดมีศาลาการเปรียญ เป็นพระตำหนักไม้สักทั้งหลังที่พระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชทานแด่พระสังฆราชชาวเพชรบุรี ศาลาการเปรียญนี้มีการแกะสลักไม้ที่สวยงาม โดยเฉพาะบานประตูสลักลายก้านขดปิดทอง และยังมีธรรมาสน์เทศน์ ซึ่งแกะสลักลงรักปิดทอง รูปทรงเป็นบุษบกที่งดงามและสมบูรณ์ บนผนังภายในพระอุโบสถ มีภาพเขียนเทพชุมนุม อายุกว่า 300 ปี สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมศิลปกรรมในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ ต้องไปติดต่อขอกุญแจที่เจ้าอาวาส

 ที่ตั้ง อยู่ที่ถนนพงษ์สุริยา อำเภอเมือง จ.เพชรบุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร

ข้อมูลเพิ่มเติม:ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี เพชรบุรี 76000
โทรศัพท์ 032412714

แก้ไขล่าสุด 2017-07-04 15:02:36 ผู้ชม 67209

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ


เดินทางมาถึงวัดใหญ่สุวรรณาราม

เดินทางมาถึงวัดใหญ่สุวรรณาราม การเดินทางของเราในวันนี้ในเส้นทางตัวเมืองเพชรบุรีจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าเข้าตัวเมืองเป้าหมายแรกของทริปคือวัดใหญ่สุวรรณารามถนนเพชรเกษมเบี่ยงขวาที่เชิงเขาวังจากนั้นเลี้ยวซ้ายถนนราชวิถี ข้ามสะพานตรงมาตามถนนเดโช บรรจบกับถนนพงษ์สุริยา ก็ถึงหน้าวัดใหญ่สุวรรณารามพอดีเลี้ยวขวาอีกหน่อยจะมาตรงทางเข้าประตูวัดเมื่อเข้ามาแล้วจะได้เห็นกุฎิเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ กุฎิเหล่านี้สร้างเป็นแบบเรือนไทยมีบันไดก่ออิฐถือปูนสีขาว จะเลือกจอดรถใกล้กับประตูทางเข้าออกนี้เลยหรือจะขับลึกเข้าไปอีกหน่อยในบริเวณวัดก็พอจะมีที่จอดรถและอยู่ใกล้กับศาลาการเปรียญก็ได้

หอไตรหลังใหม่

หอไตรหลังใหม่ อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วเรื่องที่จอดรถในวันนี้เราเลือกที่จะขับรถลึกเข้าไปในบริเวณวัดแทนที่จะจอดอยู่ข้างหมู่กุฎิสงฆ์ทรงไทยที่เรียกกันว่าหมู่กุฎิสงฆ์คณะล่าง เป็นหมู่กุฎิสงฆ์ที่สร้างขึ้นมาใหม่โดยยึดแบบตามหมู่กุฎิสงฆ์เดิมที่เรียกว่าหมู่กุฎิสงฆ์คณะเหนือ หอไตรหลังใหม่นี้แม้จะสร้างขึ้นภายหลังแต่ก็นับว่ามีอายุถึง 90 ปี แล้ว เป็นหอไตรสร้างด้วยไม้ 2 ชั้น มีระเบียงเดินได้โดยรอบ มีหลังคา 2 ชั้น ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาและหางหงส์ หนัาบันประกอบรูปลายก้านขดและเทพพนมอยู่แต่ละด้าน ใกล้กับหอไตรหลังใหม่เป็นหมู่กุฎิสงฆ์คณะเหนือเป็นกุฎิที่สร้างขึ้นมานานแล้วและอยู่ในระหว่างการบูรณะ

หอระฆัง

หอระฆัง มีขนาดไม่ใหญ่มากนักเป็นการสร้างแบบก่ออิฐถือปูนและคงสร้างขึ้นในภายหลัง

กระจังพรึง

กระจังพรึง จากที่ที่เราจอดรถเดินลึกเข้ามาในวัดไม่กี่ก้าวก็ถึงศาลาการเปรียญ อาคารไม้สักทั้งหลังที่มีความสวยงามและบ่งบอกอายุความเก่าแก่ออกมาได้เป็นอย่างดี กระจังพรึงเป็นส่วนประกอบหนึ่งของศาลาการเปรียญเก่าแก่ของวัดใหญ่สุวรรณาราม แกะสลักลวดลายสวยงามเป็นกระจังพรึงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คันทวยของศาลาการเปรียญเป็นทวยหน้าตั๊กแตนที่สวยงามมาก ศาลาการเปรียญหลังนี้มีทางขึ้นลงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยสร้างเป็นบันไดก่ออิฐถือปูนขึ้น-ลงได้ด้านละ 2 ข้าง เราจึงเลือกเดินไปขึ้นทางด้านตะวันออกของศาลา (ที่จอดรถอยู่ทางตะวันตก)

ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม

ศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม ภาพที่สวยงามของอาคารไม้สักขนาดใหญ่จากอีกด้านหนึ่งก่อนที่จะขึ้นไปชมภายใน ศาลาการเปรียญหลังนี้ ตามตำนานหลักฐานเดิมกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าเสือได้พระราชทานท้องพระโรงหลังหนึ่งเพื่อช่วยเหลือพระอาจารย์ คือสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) มาทำศาลาการเปรียญ เมื่อคราวบูรณะวัดใหญ่สุวรรณาราม เป็นศาลาการเปรียญทรงไทย สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ด้านทิศตะวันตกมีมุขประเจิด หลังคามุงกระเบื้องกาบู (กาบกล้วย) ประดับช่อฟ้าใบระกา ติดกระจกสีสวยงามมาก เป็นศาลาขนาดใหญ่ มีเสาแปดเหลี่ยม เขียนลายรดน้ำ เหมือนกันเป็นคู่ๆ ทุกคู่ลายไม่ซ้ำกัน ส่วนภายนอกเดิมฝาผนังเขียนเป็นลายทองทั้งหลัง

หน้าบันซุ้มประตูวิหารคด

หน้าบันซุ้มประตูวิหารคด หน้าบันของซุ้มประตูระเบียงคดทางเข้าพระอุโบสถ มีสี่ทิศ ประดับลวดลายและเลข ๕ ไทย ไว้เหมือนกันทั้งหมด 4 ด้าน มุมระเบียงคดที่มาบรรจบกันก็มีการสร้างเป็นซุ้มหลังคาคลุมและมีหน้าบันแบบเดียวกันทั้งหมด ยกเว้นซุ้มประตูด้านหน้าพระอุโบสถ รวมแล้วมีการประดับเลข ๕ ไทย 28 แห่ง มุมนี้เป็นภาพที่ถ่ายจากบนศาลาการเปรียญที่อยู่ชิดกับระเบียงคดจนทำให้ไม่สามารถเก็บภาพภายในระเบียงคดและอุโบสถได้

หน้าบันทิศตะวันตกของพระอุโบสถ

หน้าบันทิศตะวันตกของพระอุโบสถ เป็นรูปเทพยืนอยู่บนไหล่ยักษ์ที่นั่งอยู่บนฐานบัว

บานประตูศาลาการเปรียญ

บานประตูศาลาการเปรียญ เป็นบานประตูที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ มีชื่อเสียงและมีความงดงามเป็นเลิศ บานประตูช่องกลางด้านหน้าของศาลาการเปรียญทางทิศตะวันออก ทำด้วยไม้สัก จำหลักลวดลายกระหนกก้านขด 2 ชั้น ปิดทองประดับกระจก กรอบเช็ดหน้าบานประตูทำไว้สวยงาม จึงมีผู้นำเป็นต้นแบบไปสร้างเป็นซุ้มประตู และซุ้มเรือนแก้วพระพุทธรูป ตอนบนของบานประตูด้านซ้ายมีรอยแตก เล่าว่าเคยถูกพม่าฟันเพื่อเข้าไปจับคนด้านใน ปรากฏเป็นร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์มาจนทุกวันนี้

ธรรมาสน์เก่าแก่

ธรรมาสน์เก่าแก่ ในศาลาการเปรียญมีธรรมาสน์ฝีมืองดงามอยู่ 2 หลัง หลังเก่ามีมาพร้อมกับศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นไม้จำหลัก ทรงบุษบก รัชกาลที่ ๕ ทรงชมเชยว่างามนัก ฝาผนังด้านในมีลวดลายภาพเขียนที่เลือนลางหายไปมาก

หอไตร

หอไตร หลังจากที่ได้เข้าไปชมศาลาการเปรียญแล้วคราวนี้เดินไปเข้าพระอุโบสถต่อ ก่อนที่จะเลี้ยวเข้าระเบียงคดรอบพระอุโบสถ ซึ่งจะเปิดประตูให้เข้าเฉพาะด้านทิศใต้จะเห็นสระน้ำและหอไตรหลังเก่าอยู่กลางน้ำ เห็นเสาเรียงกัน 3 ต้น และสะพานที่ทอดไปถึงหอไตร รูปทรงเรือนไทยโบราณชั้นเดียว 2 ห้อง บริเวณนี้และภายในพระอุโบสถเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์เรื่อง "สุริโยทัย" ฉากในการเดินทางทางเรือเสมือนว่ามีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านวัด หากแต่เป็นเพียงสระที่อยู่ด้านข้างพระอุโบสถ

ปรางค์และเจดีย์ด้านหน้า

ปรางค์และเจดีย์ด้านหน้า ก่อนที่จะเข้าประตูระเบียงคดเดินอ้อมไปทางด้านหน้าทิศตะวันออก จะเห็นปรางค์ที่รายล้อมด้วยสถูปเจดีย์มากมายอยู่บริเวณนอกทางเดินรอบพระอุโบสถ เป็นลักษณะการสร้างแบบย่อมุมไม้สิบสอง และมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง

ลักษณะปรางค์หน้าอุโบสถ

ลักษณะปรางค์หน้าอุโบสถ ส่วนฐานเป็นรูปปูนปั้นปู่ฤๅษี ทั้งสี่ด้าน ส่วนบนเป็นพระพุทธรูปในซุ้มทั้งสี่ด้านเหมือนกัน

บริเวณพระอุโบสถ

บริเวณพระอุโบสถ เฉพาะด้านทิศตะวันออกจะมีแนวกำแพงแก้วยาวออกมาต่อจากแนวระเบียงคด มีเจดีย์ 2 องค์

หน้าบันซุ้มประตูหน้า

หน้าบันซุ้มประตูหน้า เฉพาะซุ้มประตูด้านหน้าทิศตะวันออกทั้งด้านนอกและด้านในมีลวดลายที่แตกต่างจากซุ้มอื่นๆ ภาพซ้ายเป็นหน้าบันของพระอุโบสถรูปครุฑ ภาพขวาหน้าบันของซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกซึ่งต้องเข้ามาในพระอุโบสถและมองลอดหน้าต่างออกไปจึงจะเห็น ส่วนหน้าบันซุ้มประตูด้านนอกภาพลวดลายไม้ได้หลุดหายไป หรืออาจจะถูกเก็บรักษาไว้เพื่อนำมาบูรณะติดเข้าไปใหม่คงเหลือแต่ลายก้านขดมองดูชิ้นส่วนที่เหลืออยู่มีลักษณะคล้ายจะเป็นหิ้งพระและเป็นไปได้ว่าจะเป็นลายไม้แกะสลักพระพุทธรูปที่หลุดออกไป

พระจุฬามณีเจดีย์

พระจุฬามณีเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่อยู่บนสวรรค์ ปัจจุบันมีการสร้างพระจุฬามณีเจดีย์ให้ปรากฏเห็นหลายแห่ง เช่นที่นครสวรรค์ วัดคีรีวงศ์ พระจุฬามณีเจดีย์อยู่ที่ด้านหน้าพระอุโบสถภายในระเบียงคดซึ่งตรงกับประตูทางเข้า-ออก จึงทำให้ประตูนี้ต้องปิดไว้ตลอด

พระพุทธรูปที่ระเบียงคด

พระพุทธรูปที่ระเบียงคด เป็นพระพุทธรูปที่มีผู้นำมาถวาย พระพุทธรูปหลายองค์จะมีลักษณะพิเศษคือมีจีวรลายพิกุล (ภาพขวา) ได้แก่พระมาลัย และพระพุทธรูปปางมารวิชัยรวม 6 องค์ (เดิมทีมีมากกว่านี้แต่ได้ถูกลักขโมยออกไปจนเหลือ 6 องค์) พระพุทธรูปจีวรลายพิกุลเป็นพระพุทธรูปที่หาชมได้ยากในปัจจุบันเพราะการขึ้นลายพิกุลที่ปราณีตต้องใช้วัสดุที่มีส่วนผสมของทองคำสูงไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเข้าพิมพ์ลายพิกุลที่ละเอียดอ่อนได้ พระมาลัยที่อยู่ที่นี่ก็ยังมีร่องรอยของการถากเอาเนื้อส่วนจีวรที่บริเวณเอวขององค์พระไปตรวจสอบเนื้อทองปรากฏให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้

ภายในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม

ภายในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม ในที่สุดผมก็เดินมาถึงประตูพระอุโบสถทันทีที่เข้าไปกราบพระและเก็บภาพ มีพระภิกษุรูปหนึ่งที่ผมขอเรียกแทนท่านว่าหลวงพ่อ เพราะท่านไม่ประสงค์จะเอ่ยนาม รายละเอียดและข้อมูลหลายอย่างจากท่านทำให้ผมได้มาบรรยายลงในหน้าเว็บนี้เพื่อเป็นวิทยาทานสืบต่อไป ไม่เช่นนั้นก็คงขาดตกไปหลายประการ

พระประธานวัดใหญ่สุวรรณาราม

พระประธานวัดใหญ่สุวรรณาราม พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย พุทธลักษณะสมส่วนสวยงาม มีฐานพระตกแต่งลวดลายปูนปั้นและปิดทองประดับกระจกสีสวยงามมาก เด่นตระหง่านอยู่ตรงกลางโดยมีพระพุทธรูปที่งดงามอีกหลายองค์ประดิษฐานบนฐานชั้นล่าง

รูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม)

รูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) (ภาพซ้าย) ผู้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดใหญ่สุวรรณารามครั้งสำคัญ ส่วนภาพขวานั้นเป็นรูปหล่อพระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม ก่อนที่จะเล่ากันต่อไปขออธิบายประวัติของวัดใหญ่สุวรรณารามก่อน

ประวัติของวัดใหญ่สุวรรณาราม
วัดใหญ่สุวรรณาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "วัดใหญ่" เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร เดิมชื่อว่า "วัดน้อยปักษ์ใต้" สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ดังจะเห็นได้จากหลักฐานตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ทรงไว้ว่า "ภาพและลายในพระอุโบสถนี้คงเขียนมาก่อน 300 ปี ขึ้นไป..." (นับถึงปัจจุบันคงต้องเป็น 400 ปี) สำหรับชื่อวัดนั้นที่ชือว่า "วัดใหญ่" เข้าใจว่าเพราะมีเนื้อที่ถึง 20 ไร่เศษ ส่วนคำว่า "สุวรรณ" นั้นน่าจะได้จากพระนามของสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ซึ่งเดิมท่านชื่อ ทอง หรือจะเป็นนามฉายาของท่านว่า สุวณฺณ ด้วยก็เป็นได้ เพราะท่านได้มาปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญให้วัดนี้ อันเป็นสถานมูลศึกษาเดิมของท่าน วัดนี้จึงมีชื่อว่า วัดใหญ่สุวรรณาราม ตั้งแต่นั้นสืบมา
วัดใหญ่สุวรรณารามเป็นพระอารามหลวงในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ดังพระราชหัตถเลขาของพระองค์ตอนหนึ่งความว่า
"วันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2452 เสก็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระนครคีรีโปรดฯ ให้พระสงฆ์ผู้ใหญ่บางวัดเข้าเฝ้า โปรดฯ ให้พระครูมหาวิหาราภิรักษ์เจ้าอาวาสวัดใหญ่ เข้าเฝ้า พระราชทานพัดยศ และโปรดฯ ให้ยกวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นวัดหลวงอีกวัดหนึ่ง"
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจากราชกิจจานุเบกษา เรื่อง "ยกวัดใหญ่เป็นพระอารามหลวง"
วัดใหญ่สุวรรณาราม ได้มีการปฏิสังขรณ์อยู่หลายครั้ง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้ปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญคือ สมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) เป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างเสนาสนะอย่างอื่นอีกมาก เช่นสร้างพระระเบียงหรือพระวิหารคดรอบพระอุโบสถ สร้างหอสวดมนต์ ปรับปรุงกุฎิสงฆ์ ศาลาคู่ หอระฆัง และสร้างกำแพงรอบวัด พร้อมซุ้มประตู สระน้ำ ซึ่งมีให้เห็นจนทุกวันนี้

นอกจากนี้ยังมีรูปหล่อตาแป๊ะผู้หล่อรูปสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) อยู่ในวัดเพียงแต่วันที่ไปเก็บภาพนั้นไม่เห็นรูปตาแป๊ะไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด สำหรับรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) นั้นเดิมทีมีบาตรและฝาบาตรประดับด้วยมุกที่สวยงามแต่ตอนนี้คงเหลือไว้เพียงรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) เท่านั้น คิดว่าบาตรและฝาบาตรคงได้เก็บรักษาไว้ ณ สถานที่อื่น

พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระบาทขวามี 6 นิ้ว

พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระบาทขวามี 6 นิ้ว นับเป็นเรื่องแปลกที่เล่าสืบกันมาว่าพระพุทธรูปองค์นี้ช่างตั้งใจที่จะสร้างให้มี 6 นิ้ว (มองเห็นเฉพาะพระบาทขวา ส่วนพระบาทซ้ายเป็นท่าขัดสมาธิอยู่ใต้พระชานุ) อันเนื่องมาจากพระพุทธรูปในวัดเขายี่สาร มีนิ้วพระบาทรวมกันได้ 9 นิ้ว เมื่อมีการสร้างพระพุทธรูปที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ช่างจึงได้สร้างให้มีนิ้วพระบาทเกินมา 1 นิ้ว ตำนานเรื่องนี้ไม่มีข้อพิสูจน์ แต่ถ้าเกิดจากความบังเอิญนับว่าเป็นความบังเอิญที่ประจวบเหมาะกันมาก เพราะวัดเขายี่สารอยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามซึ่งอยู่ติดกับจังหวัดเพชรบุรี ทั้ง 2 วัดห่างกันประมาณ 28.5 กิโลเมตร โดยมีอำเภอบ้านแหลมคั่นอยู่

พระบาทขวา 6 นิ้ว

พระบาทขวา 6 นิ้ว เป็นภาพเฉพาะส่วนพระบาทขวาครับ พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์นี้ประดิษฐานอยู่ด้านหลังขององค์พระประธานซึ่งถ้ามองจากด้านหน้าจะมองไม่เห็นต้องเดินอ้อมมาทางด้านข้างของฐานพระประธานจะมีบันไดให้เดินขึ้นมาสักการะพระพุทธรูปองค์นี้ได้

พระพุทธรูปเชียงแสน

พระพุทธรูปเชียงแสน พระพุทธรูปสำคัญภายในวัดใหญ่สุวรรณาราม ได้แก่พระพุทธรูปเชียงแสน 2 องค์ ภาพซ้ายคือ พระพุทธรูปเชียงแสนขนมต้ม ลักษณะนิ้วพระหัตถ์ซ้ายเรียวยาวกว่าแบบอื่น ส่วนภาพขวาเป็นพระเชียงแสน สิงห์ ๑ พระพุทธรูปสำคัญคู่กับวัดใหญ่สุวรรณารามมานาน ภาพที่เห็นเป็นองค์จำลองที่สร้างขึ้นมาแทนองค์จริงแต่มีความงดงามคล้ายคลึงกันมาก พระเชียงแสนขนมต้มประดิษฐานอยู่ด้านหลังองค์พระประธาน ส่วนพระเชียงแสน สิงห์ ๑ ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าเบื้องขวา เหตุที่ต้องนำองค์จำลองมาประดิษฐานแทนองค์จริงนั้นก็เพราะว่ามีโจรเคยเข้ามาขโมยพระเชียงแสน สิงห์ ๑ องค์นี้ ผ่านไปหลายวันก็ได้นำพระพุทธรูปกลับมาวางไว้ที่เดิม แต่ที่พระกร (ต้นแขน) ได้ถูกโจรเฉือนเอาเนื้อลึกลงไปมากเพื่อพิสูจน์เนื้อทอง เกิดเป็นรอยเสียหายทางวัดจึงนำพระเชียงแสน สิงห์ ๑ ไปเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัยกว่า แล้วสร้างองค์จำลองมาประดิษฐานไว้แทน หลวงพ่อเล่าว่าแม้แต่องค์จำลองก็ยังต้องเขียนปีกำกับไว้ที่ฐาน ว่าสร้าง พ.ศ.2553 เพราะมีความคล้ายคลึงกันมากเกรงว่าโจรจะเข้าใจว่าเป็นองค์จริง

ภาพจิตรกรรมบานหน้าต่าง

ภาพจิตรกรรมบานหน้าต่าง เทพทวารบาลที่เขียนบนบานหน้าต่างซึ่งมีอยู่ช่องเดียว เป็นความแปลกของการสร้างพระอุโบสถหลังนี้มาก บานหน้าต่างทั้ง 2 มีขนาดใหญ่กว่าบานประตู อยู่ตรงกลางระหว่างบานประตูหน้าของพระอุโบสถ ลวดลายทวารบาลงดงามและยังคงสมบูรณ์อยู่มาก

ภาพจิตรกรรมเหนือบานหน้าต่าง

ภาพจิตรกรรมเหนือบานหน้าต่าง เป็นภาพพระพุทธเจ้า ถัดลงมาเป็นภัตตาหารที่นำมาถวายคล้ายวางอยู่บนผืนเสื่อ หรือโต๊ะ (กรอบนูนสีแดง) ถัดลงมาเบื้องล่างเป็นภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผม และเป็นภาพจิตรกรรมพระแม่ธรณีที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา ยังคงความสมบูรณ์ชัดเจนและงดงามมาก

ภาพจิตรกรรมพระแม่ธรณีบีบมวยผม

ภาพจิตรกรรมพระแม่ธรณีบีบมวยผม เนื่องจากเป็นภาพที่หาดูได้ยากยิ่งในปัจจุบันผมจึงขอขยายให้เห็นกันได้ชัดมากขึ้น

ภาพจิตรกรรมเทพชุมนุม

ภาพจิตรกรรมเทพชุมนุม ภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้ง 2 ด้านของพระอุโบสถ เป็นภาพเทพชุมนุมเรียงกัน 5 ชั้น ลักษณะเด่นของภาพเทพชุมนุมนี้คือ การชุมนุมของเทพหลายแบบแตกต่างกัน ได้แก่ พระพรหม (มีสี่หน้า) ยักษ์ ครุฑ ฤๅษี เทวดา ไม่ซ้ำแบบกันคั่นกลางองค์เทพด้วยลายดอกไม้ แต่จะมีอยู่ภาพเดียวเท่านั้นที่ใช้นกกระเรียนแทนดอกไม้ (ให้สังเกตุในภาพนี้ให้ดีครับ)

ภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับยักษ์

ภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับยักษ์ ภาพนี้นำมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า การเขียนภาพเทพชุมนุมในพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม มีการใช้ลักษณะของเทพที่ต่างกัน ภาพยักษ์นั้นหลวงพ่อเล่าว่า มีทั้งยักษ์ใจดี และยักษ์ที่ดุร้าย โดยให้สังเกตุที่ดวงตาในภาพเขียน ยักษ์นั้นจะมีทั้งตากลมสีขาว และตาสีดำทึบ ซึ่งตาสีดำนี้เป็นยักษ์ที่ดุร้าย ส่วนภาพขวาสุดนั้นเป็นพระพรหมสี่หน้า

ภาพเขียนฝรั่งบนบานประตู

ภาพเขียนฝรั่งบนบานประตู จุดที่น่าสังเกตุและศึกษาไว้เป็นความรู้อย่างหนึ่งก็คือภาพจิตรกรรมที่เขียนลงบานประตูนั้น ปกติจะเป็นเทพทวารบาลแบบไทย หรือไม่ก็เป็นแบบจีนที่เรียกว่า เซี่ยวกาง แต่บานประตูด้านหลังของพระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม ทั้ง 2 ช่อง มีภาพฝรั่งอยู่ด้านบนซึ่งน่าจะเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยนั้น

ภาพพระเชียงแสน สิงห์ ๑

ภาพพระเชียงแสน สิงห์ ๑ เป็นภาพที่ถ่ายจากองค์จริงซึ่งทางวัดนำมาติดไว้ให้ได้ชมกันเพราะพระพุทธรูปล้ำค่าองค์นี้เคยถูกขโมยไป แล้วยังเฉือนเอาเนื้อส่วนพระกร เพื่อพิสูจน์เนื้องทองคำ รอยเฉือนนั้นกินลึกเข้าไปมาก หลังจากนั้นไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น พระพุทธรูปองค์นี้ถูกนำกลับมาประดิษฐานไว้ที่เดิม เชื่อกันว่าโจรคงพบกับอาถรรณ์ จนต้องนำพระกลับมาคืนไว้ดังเดิม ทางวัดจึงนำไปเก็บรักษาไว้ในที่ปลอดภัย และคงจะไม่ได้เห็นพระพุทธรูปองค์นี้กันอีกนาน

พระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม

พระอุโบสถวัดใหญ่สุวรรณาราม ภาพนี้ถ่ายจากด้านหลังภายในพระระเบียงคด พระอุโบสถลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยสมัยอยุธยา ก่ออิฐถือปูน มีหน้าบันประดับกระจกสีประกอบลวดลายปูนปั้นสวยงามมาก ที่ผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมเป็นภาพเทพชุมนุม 5 ชั้น ที่มีความงดงามและทรงคุณค่าทางศิลปะ ที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ด้านหน้าและด้านหลังผนังหุ้มกลองของพระอุโบสถ มีบานประตูด้านละ 2 ช่อง โดยเฉพาะด้านหน้าเจาะช่องหน้าต่างไว้อยู่ระหว่างกึ่งกลางของบานประตู แต่มีขนาดใหญ่กว่าบานประตู พระอุโบสถหลังนี้จึงแปลกกว่าที่อื่นๆ เพราะมีหน้าต่างเพียงหน้าต่างเดียวส่วนด้านหลังของบานประตูและหน้าต่า มีภาพเขียนทวารบาลรูปทรงสวยงามมาก จุดสังเกตุใบเสมาคู่ เป็นลักษณะการสร้างพระอารามหลวง

ซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศเหนือ

ซุ้มประตูระเบียงคดด้านทิศเหนือ สมควรแก่เวลาเราได้กราบลาพระพุทธรูป และหลวงพ่อผู้ให้ข้อมูลอย่างดีแก่เราจากนั้นก็ออกมาชมซุ้มประตูด้านทิศเหนือซึ่งหลวงพ่อท่านให้ข้อมูลมาว่า เฉพาะหน้าบันทางทิศเหนือเท่านั้นจะติดเลข ๕ ไทยกลับด้าน

เลข ๕ กลับด้าน

เลข ๕ กลับด้าน และที่เราได้เห็นอยู่ก็เป็นจริงดังที่หลวงพ่อท่านบอก มีหน้าบันของซุ้มประตูด้านทิศเหนือซึ่งหันออกนอกกำแพงวัดสามารถมองเห็นได้จากถนนที่ผ่านด้านหน้าวัด เพียงด้านเดียวเท่านั้นที่ติดเลข ๕ กลับด้าน หลวงพ่อท่านเล่าว่าเป็นความตั้งใจในระหว่างการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหญ่สุวรรณาราม เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จสวรรคตลง สมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ได้สั่งให้ทำการติดเลข ๕ กลับด้าน ด้วยความหมายว่า รัชกาลที่ ๕ ผู้โปรดฯ ให้ยกวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นพระอารามหลวงนั้น คงไม่ได้เสด็จมายังวัดแห่งนี้อีกแล้ว

รีวิว วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี


 "ได้ตามรอยทัวร์ออนไทยไปเยี่ยมชมวัดใหญ่สุวรรณาราม..ต่ะสวยงามและทรงคุณค่ามากๆภาพในเวปสวยชัดแจ่มแจ๋วสุดยอด
"

Kanyanat Techatunyakul
2018-05-02 11:02:17


5/5 จาก 1 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี
Baan thew thalay aquamarine Cha am Hua hin เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
เจเจ โฮม เพชรบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไวท์ มังกี เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวีท ดรีม เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
เจดีย์ วิว โฮสเทล แอนด์ รูฟท็อป บาร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
Thanyachatra Boutique. เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฟิร์นกัลลี โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
Core Khiri Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสวิสพาลาซโซ่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านเคนภู รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี
วัดพระทรง เพชรบุรี
  0.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดกำแพงแลง เพชรบุรี
  0.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดมหาธาตุวรวิหาร เพชรบุรี
  1.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
ขนมอาลัวบ้านครูปราณี
  1.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดข่อย เพชรบุรี
  2.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน) เพชรบุรี
  2.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพชรบุรี
  2.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
  2.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระนครคีรี (เขาวัง) เพชรบุรี
  2.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระรามราชนิเวศน์ (พระราชวังบ้านปืน) เพชรบุรี
  2.96 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com