www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เพชรบุรี >> อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)

  อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ ๓ ยอด ยอดที่สูงที่สุดสูง ๙๕ เมตร เดิมทีเดียวเขาวังมีชื่อว่า เขาคีรี ต่อมาสมัยกรุงศรี- อยุธยามีการสร้างวัดมหาสมณะตรงไหล่เขาด้านตะวันออก จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า "เขา มหาสมณะ" หรือ "เขาสมน" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้าง เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ.๒๔๐๒ ซึ่งภายหลังได้รับสถาปนาบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นบุคคลสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนายงานก่อสร้างคือ พระเพชรพิไสยศรีสวัสดิ์ (ท้วม บุนนาค) แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๔๐๕ เพื่อใช้เป็นที่แปรพระราชฐาน และพระราชทานนามว่า "พระราชวังพระนครคีรี" แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่าเขาวัง สืบมาจนบัดนี้ พระนครคีรีมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่างๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิค ผสมสถาปัตยกรรมจีน พระนครคีรี มีที่ให้เที่ยวชมมากกว่า ๓๐ จุด บนยอดเขาสามยอด ยอดกลางเป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมเพชร ยอดทางทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งวัดพระแก้ว และยอดทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งพระราชวังพระนครคีรี

 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดพระนครคีรีเป็นอย่างยิ่ง ได้เสด็จมาประทับอยู่หลายครั้ง แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเช่นกัน โดยได้ใช้เป็นที่ต้อนรับแขกเมืองและพระราชอาคันตุกะ ต่อมาภายหลัง พระนครคีรีได้ถูกปล่อยให้รกร้างและทรุดโทรมลง จนถึงปี พ.ศ.๒๔๗๘ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นต้นมา และได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี

 เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30–16.30 น. ค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 40 บาท
 นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง) ได้โดยการเดินขึ้นหรือโดยสารรถรางไฟฟ้า (ตั๋วไป-กลับ) เสียค่าบริการ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท
 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3242 5600

ข้อมูลเพิ่มเติม:โทร. 0 3242 5600

แก้ไขล่าสุด 2017-02-15 08:44:54 ผู้ชม 45774

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เดินทางขึ้นพระนครคีรีด้วยรถราง

เดินทางขึ้นพระนครคีรีด้วยรถราง การเดินทางมายังพระนครคีรีหรือเขาวังคงไม่ต้องบรรยายกันให้ยาวยืดเพราะเพียงแค่เข้าเขตเมืองเพชรบุรีก็เห็นยอดเขาวังเด่นสง่าแต่ไกล สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางขึ้นชมพระนครคีรีหรือเขาวังแห่งนี้ด้วยรถรางไฟฟ้าจะต้องมาด้านหลัง ส่วนด้านหน้าของเขาวังก็ยังมีบันไดสำหรับผู้ที่ต้องการเดินขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อชำระเงินค่ารถรางกันแล้วก็จะเข้าแถวยาวๆ จนกว่าคิวของเราจะได้ขึ้นรถเราจะเข้าไปอยู่ในโดมมีงานปูนปั้นลวดลายสวยงามไว้ต้อนรับ เมื่อรถรางเคลื่อนลงมาก็เป็นอันว่าเราจะได้ขึ้นไปบ้าง

สิ่งที่ต้องระวังในการชมพระนครคีรี

สิ่งที่ต้องระวังในการชมพระนครคีรี เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเรื่องกิติศัพท์ของเจ้าถิ่นแห่งเขาวังแห่งนี้ ก็ฝูงลิงที่อาศัยอยู่ที่นี่มานานมากเมื่อขึ้นรถรางถึงข้างบนแล้วต่อจากนี้ไปจะเป็นการเดินชมรอบๆ บริเวณซึ่งลิงจะมีนิสัยคอยจ้องจะแย่งชิงสิ่งของของเราตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอด คือหาของกิน แต่มันไม่รู้ว่าอันไหนกินได้อันไหนกินไม่ได้ มันจึงจ้องขโมยทุกสิ่งทุกอย่างที่มันสงสัยว่าข้างในจะมีอะไร ดังนั้นโปรดระวังทรัพย์สินของท่านให้ดี นอกเหนือจากนี้ยังมีข้อปฏิบัติของการชมพระนครคีรีดังนี้ -ห้ามให้อาหารลิงในเขตโบราณสถาน -ห้ามนำอาหาร-เครื่องดื่มและถุงพลาสติกที่ใส่สิ่งของเครื่องใช้ติดตัวขึ้นมาเพราะอาจถูกลิงแย่งชิง และทำอันตรายต่อตัวท่าน -ห้ามยั่วแหย่ กลั่นแกล้งหรือเข้าใกล้ลิงเป็นอันขาด เพราะอาจถูกลิงทำร้ายได้ -โปรดระวังเด็กๆ ที่มากับครอบครัว อย่าให้มีอาหาร เครื่องดื่ม ขวดนม ของเล่น ฯลฯ อยู่กับตัวเด็ก -ห้ามสบตา ท้าทาย ข่มขู่ หรือทำร้ายลิง เพราะนอกจากลิงจะไม่กลัวท่านแล้ว ยิ่งเป็นการยั่วยุ ให้ลิงพุ่งเข้ามาทำร้ายท่านทันที

ระเบียงชมวิวเป็นระยะๆ

ระเบียงชมวิวเป็นระยะๆ แม้ว่าพื้นที่บนยอดเขาเป็นพื้นราบเพียงไม่มากแต่ก็มีการสร้างระเบียงไว้หลายแห่งเพื่อทำให้มีพื้นที่ในการเชื่อมต่อไปยังทางเดินต่างบนยอดเขา ขึ้นบนระเบียงแต่ละชั้นๆ จะมีทิวทัศน์ที่สวยงามแตกต่างกันไป รอบๆ บริเวณเป็นสถานที่ปลูกลั่นทมหรือลีลาวดีไว้จำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ดอกลีลาวดีเหล่านี้บานสะพรั่งพร้อมกันแลดูสวยงามมาก เมื่อเดินจนถึงระเบียงด้านบนแล้วหมายความว่าเราได้ยืนอยู่บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นพระที่นั่งองค์ใหญ่ที่สุด ขององค์ประธานของหมู่พระที่นั่งต่างๆ ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรปผสมสถาปัตยศิลป์ไทยและจีน ในรัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้จัดเป็นที่รับรองแขกเมือง มีห้องเสวยพระกระยาหาร ห้องทรงพระสำราญ ห้องพระสุธารส ห้องบรรทม ห้องสรง และห้องแต่งพระองคภายในจัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องราชูปโภค เช่น พระแท่นบรรทม พระฉาย (กระจกเงา) บานใหญ่ เครื่องมุก เครื่องถ้วยชาม ตุ๊กตาโลหะ ฝีมือช่างยุโรป เป็นต้น กรมศิลปากรได้ใช้บางส่วนของพระราชวังบนยอดเขาด้านทิศตะวันตกนี้จัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปหล่อโลหะสำริดและทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่างๆ ในพระที่นั่ง และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ (ภายในอาคารห้ามถ่ายภาพ)

หอชัชวาลเวียงชัย

หอชัชวาลเวียงชัย ในระหว่างการเดินชมสถานที่ต่างๆ ของหมู่พระมหามณเฑียรอยู่นั้นก็จะได้เห็นหอชัชวาลเวียงชัยอยู่ไกลๆ หอชัชวาลเวียงชัยอยู่ถัดไปจากพระที่นั่งราชธรรมสภาในระดับเดียวกัน เป็นอาคารรูปโดม มีบันไดวนขึ้นชั้นบน มีระเบียงโดยรอบ ลูกกรงระเบียงทำด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียวจากประเทศจีน หลังคารูปโค้งมุงด้วยกระจกโค้ง ภายในห้อยโคมไฟ เนื่องจากอาคารอยู่บนยอดเขา และเพชรบุรีเป็นเมืองชายทะเล แสงโคมไฟจากหอชัชวาลเวียงชัยนี้ จึงเป็นเสมือนแสงไฟจากประภาคาร นำทางเรือของชาวประมงให้เข้าสู่อ่าวบ้านแหลมในยามกลางคืน
ปัจจุบันเป็นสถานที่สำหรับชมวิวที่ได้รับความนิยมสูงมากของประชาชนที่ได้เดินขึ้นไปเยือนยอดเขาวัง

ทางเดินระหว่างหมู่พระมหามณเฑียร

ทางเดินระหว่างหมู่พระมหามณเฑียร การจัดการทางเดินไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เดินอย่างเป็นระเบียบและชมสถานที่ต่างๆ ของพระนครคีรีได้อย่างทั่วถีง คือหลังจากที่ขึ้นมาที่ระเบียงหน้าพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ให้เดินตามทางเดินผ่านช่องประตูต่างๆ เพื่อไปยังพระที่นั่งราชธรรมสภา ออกจากประตูเพื่อเดินไปยังหอชัชวาลเวียงชัยและเดินต่อไปทางยอดเขาตะวันออก ในวันที่นักท่องเที่ยวมาชมพระนครคีรีจำนวนมากหากไม่เดินตามลูกศรที่ระบุไว้จะทำให้ออกันที่ช่องประตูต่างๆ ทำให้เสียเวลา แต่เหตุการณ์เหล่านั้นก็ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักยกเว้นช่วงที่เป็นวันจัดงานขึ้นเขาพระนครคีรี (ขึ้นเขาวัง) ของแต่ละปี
ลักษณะการก่อสร้างพระตำหนัก หรือพระราชวัง ในสมัยก่อนนอกเหนือจากการตั้งชื่ออาคารพระที่นั่งต่างๆ แล้วจะมีการตั้งชื่อทางเดิน บ่อน้ำ สระน้ำ สะพาน ประตู เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร โดยชื่อเหล่านี้มักจะคล้องจองกันเช่น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้สร้างพระจุฑาธุชราชฐาน บนเกาะสีชัง มีสะพานเชื่อมระหว่างทางเดินมากมาย จึงมีชื่อดังนี้ ...บันไดศิลาทอง บันไดผองผลึก บันไดบึกพระกาฬ บันไดปานแห่งหยก... จะเห็นว่าชื่อคล้องจองกัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสะพานและชื่อคล้องจองกันทั้งหมด สำหรับประตูที่พระนครคีรีแห่งนี้ ชื่อประตูดำเนินทางสวรรค์ อีกแห่งหนึ่งชื่อประตูจันทร์แจ่มจำรูญ เป็นต้น

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เดินตามทางเดินมาเรื่อยๆ จนถึงด้านในสุดทางเดินเห็นปราสาทหลังหนึ่ง อยู่ขวามือมีลักษณะงดงามที่สุดกว่าอาคารอื่นๆ เรียกว่าพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทเป็นปราสาทยอดปรางค์ขนาดย่อม สร้างตามคติที่ว่าการสร้างพระราชวังใหญ่จะต้องมีปราสาท ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์แบบที่เคยทรงในการเสด็จออกรับทูตานุทูต

    ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทจตุรมุข ยอดปรางค์ ๕ ยอด ตามพระราชนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มียอดปรางค์ใหญ่อยู่กลาง และปรางค์เล็กอยู่ ๔ มุม บนฐานสูงซ้อนกัน ๓ ชั้น มีระเบียงแก้วโดยรอบแต่ละชั้น ระเบียงชั้นบนสุดมีโดมโปร่งที่มุมทั้งสี่ ตัวปราสาทประดับลายปูนปั้น ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อด้วยสำริด ทรงฉลองพระองค์แบบตามพระราชนิยม ทรงพระมาลาสก๊อต พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายทรงสมุดหนังสือ ทรงยืนใต้นพปฎลเศวตฉัตร จากพระที่นั่งองค์นี้มีประตูออกไปสู่ พระที่นั่งราชธรรมสภา

    เข้าชมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระนครคีรีเปิดให้เข้าชมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทได้ แต่ภายในห้ามถ่ายภาพการเข้าชมภายในนี้ต้องปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพราะสถานที่แห่งนี้มีพื้นที่ไม่กว้างขวางมากนักหากมีนักท่องเที่ยวเข้าชมพร้อมกันจำนวนมากจะเดินลำบากมาก และอาคารต่างๆ มีอายุมากแล้วควรทะนุถนอมรักษาอย่างดี

เข้าชมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

เข้าชมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระนครคีรีเปิดให้เข้าชมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทได้ แต่ภายในห้ามถ่ายภาพการเข้าชมภายในนี้ต้องปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพราะสถานที่แห่งนี้มีพื้นที่ไม่กว้างขวางมากนักหากมีนักท่องเที่ยวเข้าชมพร้อมกันจำนวนมากจะเดินลำบากมาก และอาคารต่างๆ มีอายุมากแล้วควรทะนุถนอมรักษาอย่างดี

ระเบียงพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

ระเบียงพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ระหว่างที่รอเข้าชมภายในก็เก็บภาพรอบๆ บริเวณระเบียงมาให้ชมกัน

ภาพจากระเบียงพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

ภาพจากระเบียงพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท อีกภาพที่ทำให้เราได้เห็นว่าทิวทัศน์ที่เห็นรอบๆ พระที่นั่ง และได้เห็นว่าต้นลีลาวดีหรือต้นลั่นทมนั้นถูกปลูกเอาไว้มากมายขนาดไหน ในภาพยังมองเห็นพระที่นั่งราชธรรมสภา และหอชัชวาลเวียงชัย ไปจนถึงพระธาตุจอมเพชร

ช่องประตูพระนครคีรี

ช่องประตูพระนครคีรี นำเอาภาพช่องประตูทั้งสองช่องมาเปรียบเทียบกันอีกครั้งหนึ่งครับ หลังจากที่ได้เข้าชมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เรียบร้อยแล้วก็เดินออกช่องประตูจันทร์แจ่มจำรูญ (ภาพขวา) เพื่อเดินทางต่อไปส่วนภาพซ้ายคือประตูดำเนินทางสวรรค์ ที่เราผ่านมาในตอนแรกที่หน้าพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ (พิพิธภัณฑ์พระนครคีรี) หากนักท่องเที่ยวเดินทางมาพร้อมกันจำนวนมากต้องเดินตามที่ป้ายบอก โดยช่องประตูจันทร์แจ่มจำรูญ จะใช้เป็นทางออกจากพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทไปยังพระที่นั่งราชธรรมสภา และหอชัชวาลเวียงชัย จะเห็นป้ายเขียนบอกไว้จากด้านนอกว่าห้ามเข้าครับ

ทางเดินกลับ

ทางเดินกลับ ออกจากประตูจันทร์แจ่มจำรูญมาแล้วจะเห็นทางเดินด้านนอก ซึ่งเป็นทางสำหรับเดินขากลับที่บอกว่านักท่องเที่ยวจะได้ไม่ออกันโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าเดินตามความพอใจเข้าตรงไหนก็ได้ ออกตรงไหนก็ได้ ลองคิดดูว่าจำนวนคนมากๆ คงไม่สนุกแน่ๆ

ทางเดินหน้าพระที่นั่งราชธรรมสภา

ทางเดินหน้าพระที่นั่งราชธรรมสภา ออกเดินจากประตูออกมาได้ไม่กี่ก้าวก็หันไปมองด้านหลังแล้วก็อดไม่ได้ที่จะถ่ายภาพมาอีกภาพ เป็นช่องประตูจันทร์แจ่มจำรูญ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เป็นภาพที่สวยงามหลายๆ มุมที่ได้ชมบริเวณหมู่พระมหามณเฑียร

ทางเดินพระที่นั่งราชธรรมสภา

ทางเดินพระที่นั่งราชธรรมสภา อีกด้านหนึ่งของพระที่นั่งราชธรรมสภาที่สามารถเดินอ้อมมาได้เป็นมุมเดียวกันกับที่ได้เห็นจากบนระเบียงพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท
พระที่นั่งราชธรรมสภา เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว หลังคามุงด้วยกระเบื้องแบบจีน ส่วนประตูทำโค้งตกแต่งหัวเสาเป็นแบบศิลปะโรมัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้เป็นที่ประชุมสาธยายธรรม และพระราชพิธีสงฆ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดัดแปลงเป็นห้องเสวยและเป็นที่ประทับของพระบรมวงศ์ที่ตามเสด็จด้วย

พระธาตุจอมเพชร

พระธาตุจอมเพชร ตั้งอยู่ที่ยอดเขาลูกกลาง เป็นเจดีย์สีขาวที่มองเห็นเด่นแต่ไกล ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งของวัดอินทคีรี มีเจดีย์เก่าทรุดโทรมมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะเจดีย์เก่าที่มีอยู่ก่อน มีความสูง ๔๐ เมตร แล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ และพระราชทานนามว่า พระธาตุจอมเพชร หากขึ้นไปที่ฐานลานทักษินรอบองค์พระธาตุสามารถมองเห็นพระที่นั่งต่างๆ บนยอดเขาอีก ๒ ยอด รวมทั้งทิวทัศน์ของตัวเมืองเพชรบุรีได้อีกด้วย

หอชัชวาลเวียงชัย

หอชัชวาลเวียงชัย ลักษณะการก่อสร้างหอชัชวาลเวียงชัยแห่งนี้ได้กล่าวไปบ้างแล้ว คราวนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของหอชัชวาลเวียงชัยกันบ้าง
หอชัชวาลเวียงชัยนี้ นับได้ว่ามีความสำคัญระดับประวัติศาสตร์ของชาติด้วย เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นนักดาราศาสตร์มีชื่อเสียงระดับโลก ประวัติศาสตร์ของโลกด้านดาราศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า พระองค์ได้ทรงคำนวณอย่างแม่นยำไว้ล่วงหน้าว่า วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๑๑ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๕ นาฬิกา จนถึง ๑๓ นาฬิกา ๓๗ นาที ๔๕ วินาที เป็นเวลาที่จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตั้งค่ายหลวงที่ตำบลหว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคา พร้อมด้วยนักดาราศาสตร์ ผู้มีชื่อเสียงชาวฝรั่งเศส (เซอร์แฮริออด) ซึ่งคำนวณสุริยุปราคาผิดพลาดไป ๒ นาที พระเกียรติคุณของพระองค์จึงขจรขจายไปทั่วโลก วงการวิทยาศาสตร์ไทยได้พร้อมใจกันถวายพระสมัญญาเฉลิมพระเกียรติว่า พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย และกำหนดให้วันที่ทรงคำนวณสุริยุปราคาแม่นยำ ๑๘ สิงหาคมของทุกปี เป็นวันนักวิทยาศาสตร์ไทย เพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์นักวิทยาศาสตร์ ผู้ทรงบุกเบิกนำความรู้ความสนใจด้านวิทยาศาสตร์มาสู่ประเทศไทย

มีการจัดงานวันวิทยาศาสตร์เป็นประจำทุกปีในปัจจุบัน และมีสิ่งอนุรักษ์เฉลิมพระเกียรติถาวร คืออุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ ที่ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะดาราศาสตร์ และพระราชประวัติของพระองค์ ซึ่งเปิดให้บริการเข้าชมศึกษาหาความรู้ได้โดยไม่คิดมูลค่า พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดังกล่าวมาข้างต้นนี้ หอชัชวาลเวียงชัย ที่พระนครคีรี มีบทบาทสำคัญส่วนหนึ่งเนื่องด้วยเป็นสถานที่ที่พระองค์ใช้ส่องกล้อง ทอดพระเนตรศึกษาดวงดาวต่างๆบนท้องฟ้า จึงเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงสั่งสมพระราชประสบการณ์ด้านดาราศาสตร์และโหราศาสตร์

ในวันงานเขาวังที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในเดือนเมษายน จะมีนักศึกษานำกล้องดูดาวมาบริการประชาชนที่เดินทางมาร่วมในงาน โดยในปี 2553 ที่ผ่านมาผมได้ลองส่องกล้องดูดาวที่นี่จนได้เห็นดาวเสาร์และวงแหวนล้อมรอบดาวเสาร์ของจริงเป็นครั้งแรกในชีวิตเลยครับ

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท หลังจากที่ได้รอคิวอยู่สักพักผมก็ได้ขึ้นมาบนหอชัชวาลเวียงชัย และได้เดินชมวิวไปรอบๆ บริเวณพระนครคีรีหรือเขาวัง สิ่งหนึ่งที่ได้เห็นคือพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ที่มองจากด้านบนแล้วสวยงามยิ่งกว่าที่ได้เห็นที่ด้านหน้าใกล้ๆ เสียอีก เพราะบนนี้มองเห็นบริเวณรอบๆ พระที่นั่งได้ชัดเจนมากจนถึงยอดปราสาทเลยทีเดียว

วัดพระแก้วยอดเขาพระนครคีรีตะวันออก

วัดพระแก้วยอดเขาพระนครคีรีตะวันออก วิวอีกวิวหนึ่งที่ไม่มีใครจะไม่ถ่ายรูปเก็บไว้ เป็นทัศนียภาพที่งดงามของวัดพระแก้วที่มองเห็นจากหอชัชวาลเวียงชัย มองลงไปด้านล่างมีลานทางเดินทางเราเพิ่งจะเดินผ่านมา พื้นที่ด้านล่างก็เห็นทิวทัศน์ที่สวยงามแต่หากได้ขึ้นบันไดวนของหอชัชวาลเวียงชัยขึ้นมาบนนี้จะได้เห็นทิวทัศน์ที่ไม่มีใบไม้กิ่งไม้มาบดบัง เป็นเขาวังภาพที่สวยงามมาก ลำดับจากขวาไปซ้ายในภาพนี้ พระสุทธเสลเจดีย์ เจดีย์ทรงกลมสร้างบนฐานยกสูงจากพื้นอยู่ด้านหลังอุโบสถ พระอุโบสถ ขนาดไม่ใหญ่มากนักเหมาะสมกับพื้นที่ที่มีอย่างจำกัดบนยอดเขา หอระฆัง ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก อยู่ด้านหน้าอุโบสถตรงข้างบันไดทางขึ้น ศาลาราย มีอยู่หลายหลังสร้างแบบเดียวกันหมด และ พระปรางค์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นปรางค์จตุรมุข ทาสีแดงทั้งองค์ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า เจดีย์แดง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)

ในที่สุดเราก็เดินมาถึงกลางวัดพระแก้ว ตรงนี้เป็นลานกว้างมีศาลารายจำนวนหลายหลัง เป็นสถานที่พักหลบแดดได้เป็นอย่างดี สำหรับพระอุโบสถและพระสุทธเสลเจดีย์ อยู่บนลานชั้นบนสุดต้องขึ้นบันไดขึ้นไปอีก ระหว่างนั้นจะมีหอระฆังอยู่ข้างบันไดทางเดิน อุโบสถวัดพระแก้ว ประดับด้วยหินอ่อน หลังคามุงกระเบื้องสี ใบระกาช่อฟ้า บราลีประดับกระจกฝีมือช่างหลวง หน้าบันปูนปั้นเป็นตราพระมหาพิชัยมงกุฏ ซึ่งเป็นตราประจำรัชกาลที่ ๔

    เจดีย์แดง เป็นพระปรางค์องค์หนึ่งในวัดพระแก้วอยู่เกือบตรงกันกับด้านหน้าของพระอุโบสถ บนลานทักษินสร้างระเบียงล้อมรอบ เป็นจุดที่สามารถชมทิวทัศน์ของเมืองเพชรบุรีได้สวยงามมาก มีลมพัดเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อนก่อนที่จะเดินทางกลับไปลงรถรางไฟฟ้าที่ยอดเขาตะวันตก

วิวสวยๆ อีกมุมจากยอดเขาวัง

วิวสวยๆ อีกมุมจากยอดเขาวัง

หมู่พระมหามณเฑียร

หมู่พระมหามณเฑียร   จากวัดพระแก้วจะเป็นจุดที่มองเห็นหมู่พระที่นั่งและอาคารหลายหลังบนยอดเขาตะวันตกของพระนครคีรีได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกันกับเมื่ออยู่บนหอชัชวาลเวียงชัยจะมองเห็นวัดพระแก้วและพระธาตุจอมเพชรนั่นเอง

อาคารหลังใหญ่ที่สุดด้านขวามือในภาพนี้ก็คือพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นพระที่นั่งองค์ประธาน สร้างเป็นสถานปัตยกรรมแบบยุโรปประยุกต์กับสถาปัตยกรรมไทยและจีน ประกอบด้วยท้องพระโรง ด้านหน้าจัดเป็นห้องเสวย ด้านหลังเป็นห้องบรรทม มุขด้านตะวันออกจัดเป็นห้องสรงและห้องบังคล แต่ละห้องตกแต่งด้วยเครื่องเรือนและเครื่องราชูปโภคอย่างสวยงาน ด้วยศิลปะยุโรป ศิลปะจีน ศิลปะญี่ปุ่น และศิลปะเปอร์เซีย



    ในปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินชมบริเวณพระนครคีรีหลังจากที่รถรางไฟฟ้าพาเราขึ้นมาถึงยอดเขาแล้ว สำหรับสถานที่ที่น่าสนใจอื่นๆ ของเขาวังยังมีอีกมาก เช่น

    พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ เป็นพระวิมานที่บรรทมของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระที่นั่งสองชั้นแบบเก๋งจีน เชื่อมต่อกับพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ทางด้านใต้ ชั้นบนแบ่งเป็นห้องๆ ด้านใต้ประดิษฐานแท่นพระบรรทมแกะสลักเป็นลวดลายดอกไม้ ห้องด้านเหนือเป็นห้องทรงพระอักษร 

และอาคารอื่นๆ อีกมากที่ยังไม่ได้กล่าวถึงทั้งหมดในที่นี้

งานพระนครคีรี - เมืองเพชร

งานพระนครคีรี - เมืองเพชร ภาพนี้เป็นภาพงานพระนครคีรี - เมืองเพชร ครั้งที่ 24 ปี 2553 มีการจุดพลุเทิดพระเกียรติในงานทำให้ทั่วทั้งบริเวณเขาวังสว่างไสวสวยงาม จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ระหว่างวันที่ 1-10 เมษายน ภายในงานมีการประกวดภาพถ่ายกันด้วยครับ

งานพระนครคีรี - เมืองเพชร

งานพระนครคีรี - เมืองเพชร อีกภาพหนึ่งบริเวณพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท ที่เปิดไฟสวยงามเฉพาะในงานนี้เท่านั้นที่จะได้ชมความงดงามของพระนครคีรีในเวลากลางคืน

การแสดงในงานพระนครคีรี - เมืองเพชร

การแสดงในงานพระนครคีรี - เมืองเพชร นอกเหนือจากการชมพลุและบริเวณต่างๆ บนเขาวังแล้วในวันงานยังมีการแสดงให้ชมกัน มีผู้ชมจำนวนมากที่เดินทางมาชมในงานนี้

รีวิว พระนครคีรี (เขาวัง) เพชรบุรี


 "งานพระนครคีรีปีนี้งดจุดพลุแต่มีโคมไฟติดทั่วงาน ปีนี้รณรงค์แต่งชุดไทยมาเดินเที่ยว บรรยากาศสุดฟิน มาเที่ยวกันนะครับ ถึง 19 กุมภาพันธ์ นี้ ภาพ: ๑ ในไทยแลนด์เวิลด์"

Akkasid Tom Wisesklin
2017-02-15 08:44:54

พระนครคีรี (เขาวัง) เพชรบุรี


0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พระนครคีรี (เขาวัง) เพชรบุรี
โรงแรมซัน เพชรบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
Core Khiri Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฟิร์นกัลลี โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ คีรี เรสซิเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
เซฟโซน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.69 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสวิสพาลาซโซ่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.69 km | แผนที่ | เส้นทาง
คีรีบูติค โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.72 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมรอยัลไดมอนด์ เพชรบุรี
  0.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมรอยัล ไดมอนด์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเพชรเกษม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ พระนครคีรี (เขาวัง) เพชรบุรี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
  0.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
นั่งรถรางเที่ยวเมืองเพชร (City Tour)
  0.34 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดข่อย เพชรบุรี
  0.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพชรบุรี
  0.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน) เพชรบุรี
  0.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดมหาธาตุวรวิหาร เพชรบุรี
  1.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดเขาบันไดอิฐ เพชรบุรี
  2.07 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระทรง เพชรบุรี
  2.53 km | แผนที่ | เส้นทาง
จุดถ่ายพลุเขาวังแห่งใหม่
  2.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี
  2.79 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com