www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เพชรบุรี >> วัดกำแพงแลง

วัดกำแพงแลง

 ตั้งอยู่ที่ถนนพระทรง อำเภอเมือง จ.เพชรบุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นเทวสถานในสมัยขอม สร้างตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่ออิทธิพลของศาสนาพุทธได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณนั้น จึงได้ดัดแปลงเทวสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน และหินยานตามลำดับ เทวสถานที่สร้างขึ้นเดิมมีปรางค์ 5 หลัง ทำด้วยศิลาแลง ปัจจุบันเหลือเพียง 4 หลัง สันนิษฐานว่าปรางค์แต่ละหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระนางอุมา เพราะเมื่อ พ.ศ. 2499 มีผู้ขุดพบรูปสลักของพระนางอุมาในปรางค์องค์หนึ่งที่พังลง วัดนี้เมื่อดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแล้วได้สร้างพระอุโบสถขึ้น โดยมิได้เปลี่ยนสภาพเดิมไปมากนัก จะเห็นได้ว่ารอบ ๆ วัด ยังมีกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่

ข้อมูลเพิ่มเติม:ถนนพระทรง ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี เพชรบุรี 76000
โทร. 032418207

แก้ไขล่าสุด 2017-06-10 15:23:54 ผู้ชม 24435

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
กำแพงวัดกำแพงแลง

กำแพงวัดกำแพงแลง การเดินทางสู่วัดกำแพงแลงหากมาจากกรุงเทพฯ ขับตามถนนเพชรเกษม เลยแยกเข้าเมืองเพชรบุรี ไปจนถึงแยกบันไดอิฐเลี้ยวซ้าย แล้วขับตรงมาเรื่อยๆ จนถึงสามแยกบันไดอิฐตัดกับถนนดำเนินเกษมให้เลี้ยวซ้ายแล้วเลี้ยวขวาเป็นวันเวย์ไปตามถนนพระทรงจนถึงวัดกำแพงแลง ที่นี่เราจะได้เห็นกำแพงที่สร้างด้วยศิลาแลงยาวตลอดแนว เป็นจุดเด่นของวัดกำแพงแลงแห่งนี้ กำแพงศิลาแลงนี้มีเค้าเดิมมาจากเมื่อเริ่มสร้างวัดในพุทธศตวรรษที่ 18 มีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่เศษ

ไหว้พระกลางวัดกำแพงแลง

ไหว้พระกลางวัดกำแพงแลง เลี้ยวเข้ามาในวัดจะมีลานจอดรถรอบๆ บริเวณลานกลางวัด มีต้นไม้ใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปรอบต้นไม้ พร้อมหลังคาเล็กๆ สำหรับให้เราเข้าไปนมัสการพระพุทธรูป

ปรางค์ศิลาแลงวัดกำแพงแลง

ปรางค์ศิลาแลงวัดกำแพงแลง มองเข้าไปในวัดด้านพระอุโบสถ เราจะเห็นปรางค์หลายองค์เรียงรายกันอยู่ดูเหมือนกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ แต่ปรางค์เหล่านี้มีรูปแบบการสร้าง มีปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ล้อมด้วยปรางค์อีก 4 องค์ อยู่ประจำ 4 ทิศปรางค์เหล่านี้ทำให้เราได้เห็นความพิเศษของวัดกำแพงแลง ตรงที่เป็นวัดร่วมสมัย มีโบราณสถานซึ่งเป็นวัดเก่าแก่มาก ส่วนเสนาสนะอื่นๆ เป็นวัดสมัยใหม่ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดกำแพงแลงเป็นโบราณสถานของชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 78 วันที่ 8 มีนาคม 2478
ประวัติวัดกำแพงแลง บริเวณวัดกำแพงแลงมีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นปราสาทขอมเป็นวัดโบราณเก่าแก่มาก ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ศิลปะแบบบายน อายุไม่น้อยกว่า 800 ปี มาแล้ว วัดกำแพงแลงน่าจะเป็นวัดหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง แต่ต่อมาได้เสื่อมสภาพและชำรุดทรุดโทรมกลายเป็นวัดร้าง เช่นเดียวกับวัดร้างในจังหวัดเพชรบุรีที่อยู่ใกล้เคียง เช่นวัดไผ่ล้อม วัดกุฎีทอง วัดสัตตพันพาน วัดวิหารน้อย วัดวิหารโบสถ์พราหมณ์ เป็นต้น
พ.ศ. 2497 พระครูสุวรรณมุนี (ผัน สุวณฺโณ สมณศักดิ์ในสมัยนั้น) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ได้ส่งพระสงฆ์จากวัดให้มาปรับปรุงพัฒนาสถานที่แห่งนี้เพื่อใช้เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานต่อไป พระสงฆ์ รุ่นบุกเบิกมีหลายรูป จากนั้นจึงได้มีการก่อสร้างอาคารชั่วคราว และวิหารไว้ทางด้านทิศใต้ติดกำแพง ต่อมาด้านทิศตะวันออกของปรางค์มีการกำหนดจะสร้างอุโบสถ จึงมีการวางผังและตอกเสาเข็มให้เรียบร้อยแล้ว โครงการลงทุนไปราว 4 หมื่นบาท ต่อมาเมื่อกรมศิลปากรทราบเรื่อง จึงท้วงติงมาจึงทำให้มีการรื้อถอน เพราะเมื่อก่อสร้างเสร็จอุโบสถที่สร้างใหม่จะบดบังโบราณสถานของวัด นอกจากนี้เมื่อมีพระสงฆ์มาจำพรรษา ในช่วงเวลาแรกได้มีการใช้ชื่อวัดว่า "วัดเทพปราสาทศิลาแลง" มาใช้แทนชื่อวัดกำแพงแลงซึ่งเรียกขานกันมาแต่เดิม กรมศิลปากรก็ได้ทักท้วงมาอีก จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อเดิม
พ.ศ. 2497 พระสุวรรณมุนี (ผัน สุวณฺโณ) เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี ได้ส่งพระเถระผู้ใหญ่คือ พระมหานิตย์ จตุตาวิโล หรือปัจจุบันคือ ท่านเจ้าคุณพระมงคลวรญาณ เจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม และรองเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี มาเป็นเจ้าอาวาส
ที่วัดกำแพงแลงนี้เองท่านได้ก่อสร้างกุฎิกรรมฐานและได้สร้างอุโบสถทรงไทยขึ้นใหม่รูปทรงตรีมุขยกพื้นสูงมีชั้นล่างอยู่ใต้ฐาน พร้อมเสนาสนะให้เพียงพอเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์และสามเณร และมีการพัฒนาเป็นลำดับมา ทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง สวยงามดีทุกประการเทียบเท่าวัดที่มีศักยภาพสูง จากการที่ได้มีพระสงฆ์มาอยู่และปฏิบัติธรรมดังที่เห็นแล้วโดยเด่นชัดในปัจจุบัน
ปัจจุบัน พระอธิการศราวุธ สุทฺธสีโล เป็นเจ้าอาวาสวัดกำแพงแลง สืบต่อการจัดการบริหารการปกครองวัด้วยความวิริยะ อุตสาหะ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาวัดในทุกด้านให้เป็นวัดพัฒนาดีเด่นต่อไป เช่น เปิดฝึกสอนการปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนากรรมฐานแก่ประชาชน และนักศึกษาทุกวันตั้งแต่ 17.30-18.30 น. ทำให้โรงเรียนและสถาบันต่างๆ จัดส่งนักเรียน นักศึกษาเข้ามาเรียนและฝึกสมาธิทั้งวันปกติและวันหยุดราชการ มีจำนวนมากและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ปรางค์ทิศใต้

ปรางค์ทิศใต้ เป็นปรางค์องค์แรกที่อยู่ใกล้เราที่สุดเพราะเราเข้าประตูกำแพงวัดทางทิศใต้ เมื่อเดินเข้ามาในวัด กลุ่มปรางค์ทั้ง 5 องค์ที่อยู่หน้าอุโบสถ ประกอบด้วยปรางค์ประธาน และปรางค์ประจำทั้ง 4 ทิศ ทิศละ 1 องค์ รอบปรางค์ประธาน เป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างปราสาทสมัยขอม ปรางค์ทิศใต้เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มุขทางด้านทิศตะวันออกเป็นทางเข้า ด้านทิศตะวันตกเป็นซู้มประดิษฐานรูปเคารพ มุขทางด้านทิศเหนือและทิศใต้มีประติมากรรมปูนปั้นอยู่ภายใน ส่วนยอดก่อศิลาเรียงลดหลั่นกัน 5 ชั้น ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อเทพประสิทธิ์

ปรางค์ประธาน

ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างปรางค์ 4 ทิศ ปรางค์ประธาน เรียงอยู่ในแนวเดียวกันกับปรางค์ทิศใต้และปรางค์ทิศเหนือเป็นเส้นตรง ปรางค์ประธานวัดกำแพงแลงเป็นปรางค์ย่อมุมมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน เหนือประตูเป็นซุ้มโค้ง ทับหลังและหน้าบันสูญหายทั้งหมด สันนิษฐานว่าคงมีมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน องค์ปรางค์ประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุและส่วนยอดฐานสร้างซ้อนกัน 3 ชั้น เรือนธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมรับกับฐาน ด้านใต้และต้านตะวันตกยังคงปรากฏลวดลายปูนปั้นเหลืออยู่บ้าง ส่วนยอดพังทลายแต่พอที่จะเห็นได้ว่าก่อศิลาเรียงลดหลั่นกัน 5 ชั้น ยอดสุดเป็นรูปดอกบัว ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดกำแพงแลง

หลวงพ่อเพชรวัดกำแพงแลง

หลวงพ่อเพชรวัดกำแพงแลง ภายในปรางค์ประธานที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปหินทรายแเดงสมัยอยุธยา ซึ่งอันเชิญมาจากวัดกุฎีทอง อำเภอเมืองเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2498 ส่วนปรางค์ทิศใต้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์และพระพุทธรูปอื่นๆ

ปรางค์ทิศเหนือ

ปรางค์ทิศเหนือ เป็นปรางค์องค์ที่อยู่ใกล้กับอุโบสถที่สุด สร้างลักษณะเดียวกับปรางค์ทิศใต้ ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ซุ้มและเรือนธาตุทางทิศตะวันออกตั้งแต่ยอดพังทลายลงมาทั้งแถบ แต่ยังคงเหลือส่วนอื่นให้เห็นทรวดทรงของปรางค์ที่พอมีรูปทรงเดิมอยู่บ้างทางทิศเหนือ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อทอง ทางวัดได้สร้างหลังคายื่นออกมาคล้ายมุขด้านตะวันออก

ปรางค์ทิศตะวันตก

ปรางค์ทิศตะวันตก ตั้งอยู่ด้านหลังปรางค์ประธานในแนวเดียวกับปรางค์ทิศตะวันออก ขณะนี้เหลือเฉพาะส่วนฐานและเรือนธาตุบางส่วน แต่เดิมคงมีรูปทรงแผนผังเช่นเดียวกับปรางค์ทิศเหนือและใต้ จากการขุดแต่งโดยกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2530 พบประติมากรรมรูปเคารพหินทรายได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี (พบเฉพาะส่วนเศียรเนื้อหินทรายสีเขียวอ่อน) พระชัยพุทธมหานาถ (พระพุทธรูปนาคปรก) พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรปัจจุบันเก็บรักษาไใที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรีและนางปรัชญาปารมิตาลักษณะศิลปะแบบบายน อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18

ปรางค์ทิศตะวันออก

ปรางค์ทิศตะวันออก เป็นปรางค์เพียงองค์เดียวที่ถูกแบ่งออกจากปรางค์ทั้ง 5 ด้วยถนนหน้าอุโบสถ แต่ความเป็นจริงปรางค์ทั้ง 5 องค์สร้างเป็นกลุ่มเดียวกัน ปรางค์ทิศตะวันออกดูเหมือนจะเป็นปรางค์ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาปรางค์ทั้ง 5 องค์ของวัดกำแพงแลง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีซุ้มยื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ 2 ชั้น ซุ้มแต่ละซุ้มด้านข้างมีหน้าต่างหลอกเป็นลูกกรงแบบลูกมะหวด ที่ส่วนผนังด้านข้างก่อทึบครึ่งหนึ่งให้เห็นลูกกรงมะหวดเพียงครึ่งเดียว (ลักษณะศิละแบบบายน) มีประตูทางเข้า-ออก เฉพาะทางทิศตะวันออกและตะวันตก ด้านหนือและด้านใต้เป็นประตูหลอก ส่วนบนหลังคามีบราลีรูปแท่งทรงสามเหลี่ยมทำด้วยศิลาแลงปักเรียงรายอยู่

นอกจากปรางค์ทั้ง 5 องค์ วัดกำแพงแลงยังพบกำแพงศิลาแลงสร้างในสมัยเดียวกันจากการขุดแต่งของกรมศิลปากร (ไม่ใช่กำแพงศิลาแลงที่อยู่รอบนอกของวัด) กำแพงศิลาแลงโบราณสร้างด้วยการเรียงซ้อนกันสูงขนาดเท่าตัวคนยืน ล้อมรอบโบราณสถานทั้งสี่ด้าน เป็นผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลักษณะของกำแพงเป็นฐานบัวหงายบัวคว่ำ เส้นลวด ท้องไม้ เส้นลวดฐานบัวหงาย และฐานบัวคว่ำ มาประกอบเป็นสันกำแพงอีกที นอกจากนี้ยังมีทางเดินเชื่อมระหว่างปรางค์ประธานกับปรางค์ทิศตะวันออก พบจากการขุดแต่ง ซึ่งสันนิษฐานว่าแต่เดิมทางด้านอื่นๆ ก็อาจมีทางเดินเชื่อมถึงกันด้วย

อุโบสถวัดกำแพงแลง

อุโบสถวัดกำแพงแลง สร้างแบบตรีมุขทางเข้าออก 3 ด้าน คือด้านทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือและทิศใต้ซึ่งเป็นด้านข้าง

งานปูนปั้นฐานใบเสมา

งานปูนปั้นฐานใบเสมา จุดเด่นอย่างหนึ่งที่เราได้พบเห็นในวัดกำแพงแลงคือการสร้างฐานใบเสมาประดับด้วยปูนปั้นลักษณะคล้ายหนุมานแบกแท่น แต่ประกอบด้วยทั้งลิง และยักษ์ รวมทั้งเทวดา และมนุษย์ 2 ชั้น ล้อมรอบฐานใบเสมา

เก็บตกจากวัดกำแพงแลง

เก็บตกจากวัดกำแพงแลง กำแพงด้านทิศใต้ของวัดมีประตูเข้า-ออก มีลักษณะเป็นทางโค้ง ทำให้มองไม่เห็นรถที่แล่นไปมาบนถนนพระทรง จึงมีกระจกวงกลมบานใหญ่อยู่ตรงข้ามประตูวัด

กำแพงศิลาแลงด้านใน

กำแพงศิลาแลงด้านใน จบการแนะนำศาลนสถานสำคัญแห่งหนึ่งของเพชรบุรี วัดกำแพงแลงไว้เท่านี้ครับ มีโอกาสผ่านไปลองแวะเข้าไปชมวัดร่วมสมัยแห่งนี้กันครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดกำแพงแลง เพชรบุรี
Baan thew thalay aquamarine Cha am Hua hin เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.09 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไวท์ มังกี เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
เจเจ โฮม เพชรบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
เจดีย์ วิว โฮสเทล แอนด์ รูฟท็อป บาร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวีท ดรีม เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
Thanyachatra Boutique. เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฟิร์นกัลลี โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
Core Khiri Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทิพนลิน อพาร์ตเมนต์ เพชรบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสวิสพาลาซโซ่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดกำแพงแลง เพชรบุรี
วัดใหญ่สุวรรณาราม เพชรบุรี
  0.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระทรง เพชรบุรี
  1.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดมหาธาตุวรวิหาร เพชรบุรี
  1.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
ขนมอาลัวบ้านครูปราณี
  1.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระพุทธไสยาสน์ (วัดพระนอน) เพชรบุรี
  2.63 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระรามราชนิเวศน์ (พระราชวังบ้านปืน) เพชรบุรี
  2.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดข่อย เพชรบุรี
  2.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพชรบุรี
  3.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี
  3.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระนครคีรี (เขาวัง) เพชรบุรี
  3.51 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com