www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อุทัยธานี >> ถ้ำพุหวาย

ถ้ำพุหวาย

 ถ้ำพุหวาย ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย สภาพโดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนสูงชันสลับซับซ้อน ถ้ำพุหวาย เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ภายในถ้ำกว้างขวาง มีหินงอกหินย้อย เช่น รูปเจดีย์ อ่างน้ำ ทางเข้าถ้ำอยู่บนไหล่เขาต้องเดินขึ้นไป อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีโพรงทะลุถึงด้านตรงข้ามของภูเขา มีค้างคาวอาศัยอยู่ 9 ชนิด

ถ้ำ
 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภูมิประเทศเขาหินปูน เกิดจากน้ำฝนตกลงบนภูเขาจะละลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ เมื่อไหลซึมผ่านดินที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากพืชและการผุพังของซากพืชจำนวนมาก ดินจะเป็นละลายคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากที่สุด เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกับไอออนของน้ำจะกลายเป็นกรดคาร์บอนิก ประกอบกับหินปูนเป็นหินที่มีรอยแยกเชื่อมต่อกัน ง่ายต่อการละลายจนเป็นโพรงและง่ายต่อการที่น้ำจะซึมผ่านรอยแยกแตกนี้ การละลายหินปูนนี้จึงทำให้เกิดภูมิประเทศแบบ คาร์ส (คือ เทือกเขาหินปูนที่เป็นภูมิประเทศที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ โดยมีหน้าผาสวยงาม และมีทางน้ำใต้ดินเฉพาะแบบ)
ถ้ำเกิดขึ้นได้ในภูเขาหินหลายชนิดได้แก่ หินทราย หินควอตไซต์ หินตะกอน แต่ในภูเขาหินที่พบถ้ำมากที่สุด คือ หินที่มีคาร์บอเนต ได้แก่ หินปูน หินอ่อน หินพวกซัลเฟต รูปร่างของถ้ำมีต่าง ๆ มากมายแต่ส่วนใหญ่มักเป็นรูปแนวราบ

การเกิดถ้ำพอจะแบ่งเป็นขั้นตอนใหญ่ ๆ ได้สองขั้น ดังนี้
 1. น้ำในสภาพกรดอ่อนจะซึมลงชั้นหินปูนผ่านรอยแตกเล็ก ๆ จนถึงระดับน้ำใต้ดินและละลายหินปูนออกไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นช่องหรือทางน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ขึ้น
 2. ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้น้ำใต้ดินลดระดับลง น้ำในทางน้ำจะลดลงตาม ทิ้งให้ทางน้ำใต้ดินเดิมกลายเป็นโพรงที่ว่างเปล่าซึ่งเรียกกันว่า ถ้ำนั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจภายในถ้ำ (ประติมากรรมถ้ำ) ได้แก่

หินงอก (Stalagmite) เกิดจากน้ำใต้ดินซึ่งกรดคาร์บอนิก ได้ละลายหินที่เป็นแคลไซต์ หรือแคลเซียมคาร์บอเนตมารวมกันเรียกว่า "แคลเซียมไบคาร์บอเนต" จากนั้นจะไหลไปตามเพดานถ้ำ แล้วหยดลงสู่พื้นถ้ำ และเมื่อน้ำระเหยไปก็จะคงเหลือผลึกแคลเซียมคาร์บอเนตจับตัวกันก่อเกิดทับถมจนมีลักษณะเป็นตะกอนหินปูน จับตัวกันเป็นแท่งขึ้นมาจากพื้นถ้ำรูปร่างกลมปลายมน

หลอดหินย้อยหรือท่อหินย้อย (Soda Straw) คือ สารหินปูนที่จับตัวเป็นหลอดหรือท่อย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-4 นิ้ว มีผนังบาง น้ำไหลไปตามรูตรงกลางเกิดเป็นวงแหวนของหินปูนที่ปลายของหลอดหรือท่อ แร่แคลไซต์ที่เกิดจะมีการเรียงตัวของผลึกในแนวยาวและย้อยลงมา ทำให้มีความยาวเพิ่มขึ้นทำให้ดูคล้ายหลอดกลวงที่มีน้ำหยดลงมา

หินย้อย (Stalactite) จะเกิดต่อเนื่องจากหินหลอดย้อย กล่าวคือ เมื่อภายในหลอดหรือท่อหินย้อยอุดตัน น้ำก็จะหยดไหลลงมาตามผิวนอกแทนการไหลมาตามรูภายในท่อ และเมื่อน้ำระเหยแห้งไปแล้ว แร่ธาตุที่ตกตะกอนอยู่ก็จะเคลือบหุ้มหลอดหรือท่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น รูปร่างกลมและปลายแหลม

เสาหิน (Columnar Pillar) ลักษณะของหินที่เป็นแท่งหรือเสา ยาวจากพื้นจรดเพดานถ้ำ เกิดจากหินย้อยยาวลงมาจรดพื้นหรือหินงอกยาวขึ้นไปถึงเพดานถ้ำ

ไข่มุกถ้ำ (Cave Pearl) คือ ตะกอนที่มีลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลม มีผิวภายนอกเรียบคล้ายไข่มุก มักเกิดบริเวณพื้นถ้ำที่เป็นแอ่งตื้นที่เกิดจากน้ำหยด เกิดจากหินปูนไปห่อหุ้มเม็ดทรายหรือตะกอนขนาดเล็กอื่นๆ ที่อยู่ในน้ำ และน้ำจะต้องมีการเคลื่อนไหลกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา จึงจะทำให้เกิดเม็ดหินกลมได้

เกลียวหินปูน (Helictite) คือตะกอนปูนที่มีลักษณะคล้ายหลอดที่บิดเกลียว เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการเติบโตของผลึกแร่แคลไซต์ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากลมที่พัดผ่าน

หินปูนฉาบ (Flow Stone) คือ ตะกอนที่เกิดจากน้ำที่มีสารคาร์บอเนตไหลเป็นแผ่นบาง ๆ บนพื้นผิวของพื้นถ้ำ เกิดเป็นแผ่นของหินปูนลักษณะเหมือนแผ่นที่มาฉาบหน้าอยู่

ม่านหินปูน (Drapery) หินที่มีลักษณะคล้ายม่าน เกิดจากน้ำที่มีสารคาร์บอเนตสูงที่ไหลตามผนังที่เอียง หยดน้ำทีละหยดที่ไหลผ่านไปตามแนวเดิม เมื่อน้ำเกิดสูญเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จึงทำให้เกิดการตกตะกอนของแร่แคลไซต์มีลักษณะเป็นแผ่นบาง และมักจะโปร่งแสงงอกยาวขึ้นเรื่อย ๆ

ม่านเบคอน (Bacon Formation) หินที่มีลักษณะเหมือนผ้าม่าน แต่จะมองเห็นแถบสีอ่อน สีแก่เป็นชั้น ๆ เนื่องจากความแตกต่างของส่วนประกอบของแร่ธาตุในหยดน้ำ บางแห่งจะมีสีน้ำตาลแดงสลับกับสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน

ทำนบหินปูน (Rimstone pool) คือ ตะกอนหินปูนที่ก่อตัวขึ้นแล้วมีลักษณะคล้ายเขื่อนหรือทำนบ หรือขั้นบันไดที่กั้นน้ำไว้ เกิดในบริเวณพื้นถ้ำหรือตามแนวทางน้ำไหล เมื่อน้ำไหลจะทิ้งตะกอนหินปูนเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ

ในถ้ำพุหวาย มีค้างคาวอาศัยอยู่ 9 ชนิด
 1. ค้างคาวชนิดใช้ฟันหน้ากินผลไม้
 2. ค้างคาวมงกุฎยอดสั้นเล็ก
 3. ค้างคาวหน้ายักษ์เล็ก
 4. ค้างคาวปีกถุงเคราดำ
 5. ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกรรณ
 6. ค้างคาวปีกพับดำใหญ่
 7. ค้างคาวมงกุฎจมูกใหญ่
 8. ค้างคาวยักษ์สามหลืบ
 9. ค้างคาวยอดปีกกล้วยไม้

ติดต่อคนนำทางได้บริเวณปากถ้ำใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง ทางด้านหลังของถ้ำพุหวาย คือ ถ้ำเทพมาลีหรือถ้ำพญานาค เป็นถ้ำขนาดเล็กค่อนข้างลึกมีความสวยงามตามธรรมชาติของหินงอกหินย้อย ยอดเขาพุหวาย สูง 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล สามารถมองเห็นทัศนียภาพที่กว้างไกลอย่างสวยงาม บนสันเขามีสภาพเป็นป่าเต็งรังที่ค่อนข้างสมบูรณ์

การเดินทาง จากทางหลวงหมายเลข 3011 แยกเข้าทางเดียวกับสวนห้วยป่าปกรีสอร์ท และวัดถ้ำเขาวง แต่ทางไปถ้ำจะอยู่เลยจากแยกเข้าวัดถ้ำเขาวงไปประมาณ 4 กิโลเมตร

ข้อมูลเพิ่มเติม:ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 5652 0826, 0 5651 1915
http://www.tourismthailand.org/uthaithani

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 32299

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
แผนผังถ้ำพุหวาย

แผนผังถ้ำพุหวาย ภาพชุดถ้ำพุหวายนี้เป็นชุดที่เขียนต่อจากวนอุทยานถ้ำเขาวง ตั้งแต่เริ่มเดินทางสู้วนอุทยานถ้ำเขาวง เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติจนมาถึง ณ จุดนี้ ซึ่งใกล้จะถึงปากถ้ำพุหวายให้คลิกไปอ่านได้ที่ วนอุทยานถ้ำเขาวง นะครับ สำหรับแผนผังถ้ำพุหวายเป็นแผนผังแสดงจุดที่น่าสนใจต่างๆ ภายในถ้ำ อันประกอบด้วย
1.หินดอกเห็ด 2.หินย้อย 3.เสาโรมัน 4.ดอกไม้หิน 5.หินรูปหัวปลาโลมา 6.หินรูปนกกระจอกเทศ 7.หินปะการัง 8.เสาหินเล็ก 9.เสาหินปูน 10.หินรูปม่าน 11.หินรูปฐานประทับเทพ 12.หินรูปกลด 13.หลุมยุบ 14.หินรูปบ่อน้ำ 15.ถ้ำพญานาค 16.เสาหินล้านปี 17.อ่างทิพย์ 18.ฟองหิน 19.น้ำตกหินปูน 20.หินเกร็ดเพชร 21.หินงอกดอกกุหลาบ

ยินดีต้อนรับสู่ถ้ำพุหวาย

ยินดีต้อนรับสู่ถ้ำพุหวาย เพียงไม่นานก็มาถึงปากทางเข้าถ้ำเพราะระยะทางเพียง 200 เมตร เอง ถึงแม้ว่าบางช่วงจะชันไปบ้างจนต้องออกอาการหอบแต่ก็ไม่เหนื่อยมาก

ศาลพระภูมิหน้าถ้ำ

ศาลพระภูมิหน้าถ้ำ เดิมทีถ้ำแห่งนี้เคยมีพระมาธุดงค์จำพรรษาอยู่ที่นี่ ชาวบ้านในละแวกนี้เกิดความศรัทธาได้นำเอาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ มาเก็บไว้และถวายพระ อย่างศาลพระภูมิเหล่านี้ ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน

ปากถ้ำพุหวาย

ปากถ้ำพุหวาย ปากทางเข้าถ้ำมีลักษณะค่อนข้างกว้างมากแต่ไม่สูงค่อยๆ ย่องก้มหัวลงไปตามทางเดินซึ่งหากช่วงที่ฝนตกน้ำไหลเข้าถ้ำจะลื่นมาก

ถ้ำพุหวาย

ถ้ำพุหวาย ภายในที่เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ก้าวแรกที่ผ่านปากถ้ำเข้ามานั่นก็คือรูปหลวงพ่อสดที่มีชาวบ้านนำมาไว้ที่ถ้ำแห่งนี้เมื่อครั้งที่ยังมีพระมาธุดงค์ตจำพรรษาอยู่

หินย้อย

หินย้อย ตรงบริเวณนี้อยู่ปากถ้ำถือเป็นพนักงานต้อนรับของถ้ำพุหวายหน้าตาสวยงามตั้งแต่ก้าวแรกที่เดินเข้ามา ถ้ำพุหวายเป็นโถงขนาดใหญ่สูงหลายเมตร กว้างขวางมากๆ อากาศภายในถ้ำแทบไม่ได้กลิ่นอับชื้นเหมือนอย่างถ้ำอื่นๆ เพราะมีทางทะลุออกอีกด้านหนึ่ง

พระพุทธรูปในถ้ำพุหวาย

พระพุทธรูปในถ้ำพุหวาย เมื่อครั้งที่มีพระธุดงค์จำพรรษาอยู่ที่นี่ชาวบ้านมีจิตศรัทธามากขนาดไหนก็ดูจากการมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่นี่เอง

ถ้ำพุหวาย

ถ้ำพุหวาย ตรงบริเวณนี้ไม่ได้บรรจุอยู่ในสถานที่น่าสนใจของผังถ้ำพุหวายแต่เห็นความสวยงามของหินย้อยที่มีขนาดใหญ่โตยิ่งกว่าที่เห็นในถ้ำอื่นๆ และนี่ก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่อยู่ในโพรงถ้ำขนาดมหึมา

เสาหินแรกเกิด

เสาหินแรกเกิด ภายในถ้ำพุหวายมีลักษณะที่เรียกว่าถ้ำไม่สมบูรณ์ อันเนื่องมาจากน้ำที่หยดลงภายในถ้ำที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดหินงอกหินย้อยนั้นจะหยดลงมาเพียงช่วงฤดูฝนเท่านั้น และนั่นยิ่งเป็นเหตุน่าอัศจรรย์ว่าน้ำหยดลงมาเฉพาะฤดูฝน ยังสร้างหินงอดหินย้อยจำนวนมากมายและมีขนาดประมาณ ตึก 3 ชั้นนี้ได้ ต้องใช้เวลากันกี่ร้อยปี สำหรับเสาหินแรกเกิดเหมือนอย่างที่เห็นจะมีรั้วเล็กๆ กั้นไว้กันไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินเหยียบหรือจับต้องเพราะไขมันจากมือคนเป็นเหตุให้หินไม่สามารถเกาะตัวเจริญเติบโตได้ สำหรับนักท่องเที่ยวถ้ำมือใหม่ก็พึงรักษากฎข้อนี้ไว้อย่าจับหินงอกหินย้อยเพื่อให้หินเหล่านั้นได้เจริญเติบโตให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็น

หินรูปนกกระจอกเทศ

หินรูปนกกระจอกเทศ ลักษณะของหินงอกหินย้อยในถ้ำพุหวายหรือถ้ำอื่นๆ นั้นต้องใช้จินตนาการซึ่งแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไปหินรูปนกกระจอดเทศนี้ให้ดูภาพนี้แล้วมองเห็นเป็นขานกและส่วนหลังของนกที่กำลังหันหน้าเข้าหาผนังหิน เห็นส่วนคอเล็กน้อย

หินงอกหินย้อยถ้ำพุหวาย

หินงอกหินย้อยถ้ำพุหวาย ตรงนี้ไม่มีชื่อบรรจุลงในผังของถ้ำพุหวายอยู่ด้านซ้ายมือตรงจุดที่ยืนชมหินรูปนกกระจอดเทศ ระยะจากหินรูปนกกระจอดเทศมาถึงตรงนี้ก็ประมาณ 5-6 เมตร เห็นจะได้ เป็นแผ่นเดียวกันยาว อธิบายตรงนี้คงจะพอจินตนาการออกว่าภายในทั้งหมดกว้างใหญ่ขนาดไหน

เสาหินปูน

เสาหินปูน มีลักษณะที่ค่อนข้างแตกต่างจากหินงอกหินย้อยจุดอื่นๆ ของถ้ำพุหวายคือละค่อนข้างเรียบโค้งมนสูงขึ้นไปถึงเพดานถ้ำมองจากด้านนี้ไม่เห็นชัด ตรงส่วนที่เรียบจะเริ่มต้นจากจุดที่ชี้ไฟจุดล่าง เรื่อยไปจนเลยจุดที่ชี้ไฟจุดบนขึ้นไป

ถ้ำพุหวาย

ถ้ำพุหวาย เจ้าหน้าที่กับทีมงานของเราช่วยกันส่องไฟให้เห็นรายละเอียดของหินย้อยสวยงาม สำหรับบริเวณนี้ก็ไม่ได้บรรจุอยู่ในผังจุดที่น่าสนใจของถ้ำพุหวายเช่นกัน แต่มองดูเหมือนผ้าปูบนโต๊ะที่สูงมากๆ เพราะช่วงบนมีหน้าตัดเหมือนรูปสี่เหลี่ยมแล้วย้อยลงมารอบตัว

หลอดหินย้อยหรือท่อหินย้อย (Soda Straw)

หลอดหินย้อยหรือท่อหินย้อย (Soda Straw) สำหรับข้อมูลของหินย้อยที่มีลักษณะพิเศษมากๆ นี้ยังไม่ชัดเจนต้องหาข้อมูลเพิ่มอีกหน่อย จุดเด่นของมันก็คือขนาดที่เล็กเรียวลงมาอย่างเป็นเอกเทศไม่ยึดติดกับหินย้อยใกล้เคียง มองดูเหมือนหลอดกาแฟ เป็นจุดที่เปราะบางที่สุดของหินย้อย ปกติเจ้าหน้าที่จะย้ำกับนักท่องเที่ยวทุกคนว่าห้ามจับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดกาแฟนี้โดนนิดเดียวก็จะหักทันที มองในภาพหากหาหลอดกาแฟไม่เจอก็ให้มองตามหินย้อยขึ้นไปตรงบริเวณที่ชี้ไฟ อยู่ตรงกลางยอดของรูปสามเหลี่ยมหรือตัว A
หลอดหินย้อยหรือท่อหินย้อย (Soda Straw) คือ สารหินปูนที่จับตัวเป็นหลอดหรือท่อย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-4 นิ้ว มีผนังบาง น้ำไหลไปตามรูตรงกลางเกิดเป็นวงแหวนของหินปูนที่ปลายของหลอดหรือท่อ แร่แคลไซต์ที่เกิดจะมีการเรียงตัวของผลึกในแนวยาวและย้อยลงมา ทำให้มีความยาวเพิ่มขึ้นทำให้ดูคล้ายหลอดกลวงที่มีน้ำหยดลงมา

โถงถ้ำพุหวาย

โถงถ้ำพุหวาย ทั่วทั้งบริเวณนี้ไม่ได้บรรจุอยู่ในผังจุดที่น่าสนในของถ้ำพุหวายเฉพาะส่วนนี้มีความกว้างทั้งหมดประมาณ 7-8 เมตร ตรงขอบรูปด้านล่างมีรั้วของหินงอกแรกเกิดอยู่ 2 จุด

หินปะการัง

หินปะการัง เป็นหินที่อยู่ตรงโคนของหินเสาโรมัน เห็นเป็นลักษณะคล้ายกับปะการังในท้องทะเล ภาพนี้จะเหมือนถ่ายจากท้องทะเลลึกก็ว่าได้

หินรูปม่าน

หินรูปม่าน ตรงบริเวณนี้ต้องมองกว้างๆ จะเห็นแผ่นหินย้อยลงมามีริ้วคลื่น เหมือนกลีบของผ้าม่านผืนโตๆ
ม่านหินปูน (Drapery) หินที่มีลักษณะคล้ายม่าน เกิดจากน้ำที่มีสารคาร์บอเนตสูงที่ไหลตามผนังที่เอียง หยดน้ำทีละหยดที่ไหลผ่านไปตามแนวเดิม เมื่อน้ำเกิดสูญเสียก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จึงทำให้เกิดการตกตะกอนของแร่แคลไซต์มีลักษณะเป็นแผ่นบาง และมักจะโปร่งแสงงอกยาวขึ้นเรื่อย ๆ

โคนเสาหินปูน

โคนเสาหินปูน มีน้ำไหลลงมาตามหินทำให้ผิวของหินตรงบริเวณโคนเสาหินปูนสะท้อนกับแสงไฟของไฟฉายหรือตะเกียงสวยงาม

หินรูปกลด

หินรูปกลด บางคนว่าหินนี้มองเหมือนเห็ดขนาดยักษ์ ส่วนบนของหินรูปกลดเป็นสีอมแดงส่วนล่างลงมาเป็นสีขาวนวลดูแปลกตาขนาดความสูงของหินรูปกลดนี้ประมาณ 3-4 เมตร

หินฐานประทับเทพ

หินฐานประทับเทพ ตรงจุดนี้เป็นจุดที่แปลกมากหลายคนเข้าไปมองเห็นเป็นฐานที่ประทับของเทพบางคนบอกว่าเหมือนเจ้าแม่กวนอิมอยู่ชั้นบนสุดที่เห็นเป็นประกายแสงเจิดจ้าอยู่ส่วนบนนี้เองยิ่งสร้างความประหลาดใจให้กับเราเป็นอย่างมาก คงเป็นสารบางอย่างตรงจุดที่น้ำไหลลงมาจากเพดานของถ้ำไปเคลือบอยู่ตรงส่วนนั้น แล้วก็เหลือเพียงน้ำกับเนื้อหินบางส่วนไหลต่อลงมาจนเหมือนเป็นฐาน เฉพาะส่วนบนยื่นออกมาจากผนังถ้ำใหญ่มากเหมือนหิ้งพระติดบนผนัง มองเรื่อยลงมาส่วนล่างจะเห็นว่าไม่ได้เชื่อมต่อกัน

แมงป่องแส้

แมงป่องแส้ แมงป่องแส้ (Whip scorpion) มีอีกชื่อหนึ่งว่าแมงมุมถ้ำ จากข้อมูลบอกว่าเจ้าสัตว์ชนิดนี้มักจะไม่มีพิษร้ายแรงอะไรกินจิ้งหรีดถ้ำเป็นอาหาร

จิ้งหรีดถ้ำ (Cave cricket)

จิ้งหรีดถ้ำ (Cave cricket) เสียดายเป็นอย่างยิ่งในการสำรวจถ้ำครั้งนี้ไม่นึกว่าจะได้เจอเหล่าสัตว์เจ้าถิ่นภายในถ้ำแถมยังอุตส่าห์เต๊ะท่าอยู่ได้ตั้งนาน ปกติจิ้งหรีดถ้ำจะค่อนข้างสัมผัสไวและจะหนีหายไปทุกครั้งเมื่อถูกพบเห็น แต่วันนี้มันหยุดอยู่อย่างนั้นเหมือนรู้ว่าเรากำลังถ่ายรูปมันอยู่ยังไงยังงั้น เจ้าจิ้งหรีดถ้ำที่พบนี้มี 2 ตัว ตัวหนึ่งหนีไปแล้วส่วนตัวนี้อยู่ห่างจากแมงป่องแส้เพียงไม่ถึงเมตร แต่แมงป่องแส้อยู่บนหินงอก ส่วนจิ้งหรีดถ้ำอยู่ตามพื้น สัตว์สองชนิดนี้มีฐานะเป็นผู้ล่ากับเหยื่อในถ้ำ

หินรูปเห็ด

หินรูปเห็ด ลักษณะของหินกลุ่มนี้เหมือนเห็ดที่ขึ้นตามป่าเป็นกลุ่มใหญ่หนาแน่นเบียดเสียดกันหลายต้น

หินเสาโรมัน

หินเสาโรมัน อยู่ส่วนบนของหินปะการังเห็นเป็นลำต้นของเสาขนาดเล็กๆ สูงขึ้นไปจนเกือบถึงเพดานถ้ำไปเชื่อมต่อกันกับหินย้อยอีกเล็กน้อย

เสาหินล้านปี

เสาหินล้านปี ที่มาของชื่อก็คือการประมาณระยะเวลาในการก่อตัวของเสาหินนี้ เพราะจากการสำรวจพบว่าน้ำที่หยดลงมาในถ้ำพุหวายจะหยดลงมาเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น แต่ละปีหินงอกจะเติบโตได้เพียง 7-8 มิลลิเมตรเท่านั้น ส่วนเสาหินล้านปีนี้มีขนาดสูงใหญ่มากและมีฐานที่กว้างมาก ต้องใช้เวลานานมากๆ ในการเติบโตได้ขนาดนี้ จึงเรียกกันว่าเสาหินล้านปี

น้ำตกหินปูน

น้ำตกหินปูน เป็นจุดเด่นของถ้ำอีกจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวที่มาถ้ำพุหวายไม่อยากจะพลาดการถ่ายภาพตรงบริเวณนี้ เนื่องจากหินย้อยบริเวณนี้ได้มีลักษณะลดหลั่นกันลงมามองดูเหมือนชั้นของน้ำตกนั่นเอง ที่ที่ทำการวนอุทยานถ้ำเขาวงก็จะมีรูปวาดของน้ำตกหินปูนนี้ไว้เหมือนกัน

เสาหินล้านปี

เสาหินล้านปี ภาพนี้เป็นอีกด้านหนึ่งของเสาหินอันยิ่งใหญ่ ตรงจุดที่ยืนอยู่นี้จะอยู่ตรงหน้าน้ำตกหินปูนพอดี

เสาหินเล็ก

เสาหินเล็ก เหตุที่ได้ชื่อเสาหินเล็กก็เพราะว่ามีขนาดเล็กกว่าเสาหินล้านปีเท่านั้นเองครับแต่หากดูจากขนาดจะเรียกเสาหินแสนปีก็คงได้

อ่างน้ำทิพย์

อ่างน้ำทิพย์ มีลักษณะเป็นอ่างน้ำเหมือนอ่างล้างหน้า ในอ่างน้ำทิพย์มีน้ำใสๆ อยู่เต็มและจะเอ่อล้นลงจากขอบอ่างตลอดเวลา ในระยะแรกของการสำรวจถ้ำ เจ้าหน้าที่บอกว่ามีเหรียญอยู่ในอ่างเป็นจำนวนมาก เพราะนักท่องเที่ยวหลายคนมีความเชื่อกันว่าน้ำที่พบในถ้ำ หรือตามธรรมชาติแบบนี้มีความศักดิ์สิทธิ์

ฟองหิน

ฟองหิน จุดที่เรียกว่าฟองหินคือกลุ่มหินมนๆ ข้างล่างนะครับแต่เห็นส่วนบนสวยดีก็เลยถ่ายมาแบบเต็ม ลักษณะของฟองหินนั้นก็เหมือนกับฟองของน้ำที่จับอยู่บนผิวน้ำเป็นกลุ่มๆ

น้ำตกหินปูน

น้ำตกหินปูน มองมุมนี้รู้สึกว่ารูปร่างจะคล้ายหมาพันธุ์หนึ่ง มีขนเรียบตรงยาวๆ ยิ่งตรงหูขนจะยาวมากจนเกือบถึงดิน เห็นในรูปบ่อยๆ แต่นึกไม่ออกว่าพันธุ์อะไร งานนี้แล้วแต่จินตนาการครับ

หินเกร็ดเพชร

หินเกร็ดเพชร อยู่ใกล้ปากทางออกของถ้ำถ้ามาถึงจุดนี้แล้วก็จะไม่ค่อมีอะไรให้ศึกษาเพราะเดี๋ยวก็จะออกจากปากถ้ำแล้วนั่นเอง ที่เรียกว่าหินเกร็ดเพชรนั้นก็เพราะว่าแนวหินบริเวณนี้มีแร่บางชนิดที่สะท้อนแสงแวววาวกว่าจุดอื่นๆ ของถ้ำ

ตะเข็บถ้ำ

ตะเข็บถ้ำ ความรู้ใหม่วันนี้ตะเข็บถ้ำมองดูคล้ายตะเข็บของผ้าเกิดจากน้ำหยดลงมาจากเพดานถ้ำแล้วไม่หยดลงพื้นทันทีแต่จะไหลไปตามแนวลาดเอียงของเพดานถ้ำแล้วค่อยหยดลงมา แนวการไหลของน้ำจะเพิ่มขึ้นทีละปุ่มๆ มองดูเหมือนฟันปลาซี่ถี่ๆ สวยงามมาก

กำเนิดตะเข็บถ้ำ

กำเนิดตะเข็บถ้ำ แนวของน้ำที่ไหลลงมาแล้วไหลไปรวมกันตรงจุดสุดท้ายของแนวตะเข็บอยู่เสมอเกิดไปตะเข็บอันต่อไปหรือจะเรียกว่าเกิดเป็นฟันซี่ต่อไปก็ได้ แล้วค่อยหยดลงสู่พื้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนได้ความยาวของตะเข็บเพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ

หินโคมไฟ

หินโคมไฟ ตรงนี้ไม่มีการตั้งชื่อและบรรจุอยู่ในผังจุดน่าสนใจของถ้ำพุหวายเราเห็นว่าเมื่อส่องไฟเข้าไปจะมีลักษณะเหมือนโคมไฟจึงตั้งชื่อขึ้นมาเอง

ทางออกถ้ำพุหวาย

ทางออกถ้ำพุหวาย ตรงบริเวณทางออกพอดีเห็นหินอยู่ก้อนหนึ่งมีริ้วรอยของน้ำไหลลงมาตามหินเกิดเป็นสีม่วงสีเขียวตามธรรมชาติ เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ได้มีคนมาทาสี มองดูสวยดี

ที่จำพรรษาของพระธุดงค์

ที่จำพรรษาของพระธุดงค์ อาจารย์สุรศักดิ์ โพธิสารี เป็นพระธุดงค์ที่ได้มาจำศีลและปฏิบัติธรรมอยู่ในถ้ำนี้ไม่มีใครทราบภูมิลำเนาเดิมของท่าน ท่านจะออกบิณฑบาตรในหมู่บ้านพุเตยประจำ ชาวบ้านพุเตยเคยรับจ้างท่านทำความสะอาดที่พัก โดยได้รับค่าจ้างเป็นเงิน สิ่งของ ระหว่างท่านจำศีลอยู่ในถ้ำนี้ได้ให้โชคลาภญาติโยมที่มาจากต่างจังหวัด ภายหลังถูกยิงมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2532

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ถ้ำพุหวาย อุทัยธานี
โรงแรมอวตาร มิราเคิลส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
ปลายฟ้า รีสอร์ท แอนด์ โฮเต็ล แอท บ้านไร่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.21 km | แผนที่ | เส้นทาง
มารวยรีสอร์ท อุทัยธานี
  24.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
ห้วยขาแข้ง คันทรีโฮม
  39.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
แพและลานกางเต็นท์ปางอุ๋งสุพรรณ
  43.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
แพ กิ่งกาญจน์ฟิชชิ่ง แอนด์ โฮมสเตย์
  43.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
หนองปรือ โฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  71.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านภูผา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  72.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
หุบป่าตาด โฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  73.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan Chai Khao เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  74.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ถ้ำพุหวาย อุทัยธานี
วนอุทยานถ้ำเขาวง อุทัยธานี
  0.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดถ้ำเขาวง อุทัยธานี
  4.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติพุเตย สุพรรณบุรี
  12.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำตกผาร่มเย็น อุทัยธานี
  18.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์แสดงและสาธิตการทอผ้าพื้นเมือง(กลุ่มทอผ้าไพจิตต์) อุทัยธานี
  18.96 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านนาตาโพ อุทัยธานี
  19.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์ผ้าทอโบราณ บ้านผาทั่ง
  23.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาบ้านอีมาด-อีทราย อุทัยธานี
  23.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
หลวงพ่อโตวัดผาทั่ง อุทัยธานี
  23.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำตกตาดดาว อุทัยธานี
  28.73 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com