www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สุพรรณบุรี >> อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

 อุทยานแห่งชาติพุเตย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าเขาห้วยพลู ในท้องที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเดิมเป็นวนอุทยานพุเตย วนอุทยานพุกระทิง วนอุทยานเตรียมการตะเพิ่นคี่และพื้นที่ป่าไม้ข้างเคียง ที่มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน สัตว์ป่าชุกชุม รวมไปถึงสภาพธรรมชาติที่โดดเด่น ประกอบด้วย น้ำตก ถ้ำและป่าสนสองใบ ที่สวยงาม เหมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ สมควรที่จะอนุรักษ์ไว้มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลง กรมป่าไม้จึงได้พิจารณาจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติพุเตย ได้รับประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ลำดับที่ 84 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2541 รวมเนื้อที่ 198,422 ไร่ หรือประมาณ 317 ตารางกิโลเมตร ใช้ชื่อว่า อุทยานแห่งชาติพุเตย

อาณาเขต : ที่ทำการอุทยานพุเตย ตั้งอยู่ที่ บ้านห้วยม่วงแป ตำบลวังยาว อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ใกล้สถานีวิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์สุพรรณบุรี และสถานีควบคุมไฟป่าสุพรรณบุรี ห่างจากอำเภอด่านช้าง ประมาณ 80 กิโลเมตร
 อาณาเขตทิศเหนือ ติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (มรดกโลก) อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
 อาณาเขตทิศใต้ ติดกับลำห้วยน้ำเขียว อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
 อาณาเขตทิศตะวันออก ติดห้วยปลาซับกัง ห้วยชะลอม ห้วยขมิ้น อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี
 อาณาเขตทิศตะวันตก ติดเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี

ลักษณะภูมิประเทศ สภาพทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงชัน ติดต่อกันสลับซับซ้อน มีจุดสูงสุด คือ ยอดเขาเทวดา มีระดับความสูง 1,123 เมตร อุทยานแห่งชาติพุเตย จึงเป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยตะเพิน ห้วยใหญ่ ห้วยองค์พระ ห้วยขนุน ห้วยชลอม ห้วยขมิ้น ซึ่งเป็นสายน้ำหลักของชาวสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ทั้งยังเป็นต้นน้ำเขื่อนกระเสียว อ่างเก็บน้ำลำตะเพิน

สภาพภูมิอากาศ มีมรสุมพัดผ่านตามฤดูกาล 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูร้อน

พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติพุเตย ประกอบด้วย ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าสนสองใบ กระจายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของอุทยานตามลักษณะภูมิประเทศ ที่เหมาะแก่การกระจายพันธุ์ของป่า ชนิดนั้นๆ โดยเฉลี่ยมีความหนาแน่นประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ พันธุ์ไม้เด่น ได้แก่ พระเจ้าห้าพระองค์ ต้นผึ้ง ยางนา ยางน่อง ประดู่ ประดู่ชิงชัน และพันธุ์ไม้สนสองใบ สัตว์ป่า ที่มีการกระจายพันธุ์ในพื้นที่อุทยาน ฯ เช่น หมูป่า เก้ง ลิง ชะมด อีเห็น เสือโคร่งเสือดาว เสือดำ ไก่ป่า นกเขาเขียว นกกางเขนดง แซงแซวหางม่วง เหยี่ยวรุ้ง นกเงือก ฯลฯ

บ้านห้วยหินดำจากที่ทำการอุทยาน 6 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปประมาณ 3 กิโลเมตร ในหมู่บ้านมีการผลิตผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ จากกลุ่มแม่บ้านห้วยหินดำ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม การท่องเที่ยวแบบธรรมยาตรา สำหรับผู้รักความสงบและรักธรรมชาติ เป็นการศึกษาธรรมชาติและธรรมะโดยการเดินทางดำรงชีวิตและพักแรมในป่า สามารถเลือกพักแรมเวลา 2 วัน 1 คืน หรือ 3 วัน 2 คืน รายได้ส่วนหนึ่งสมทบทุนกองทุนป่าชุมชนบ้านห้วยหินดำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเฝ้าระวังและเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของป่า สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติพุเตย โทร. 0 3544 6237, 08 1934 2240

น้ำตกตะเพินคี่ใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นหมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพิ่นคี่ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย ประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งลำธารสายนี้เกิดจากผืนป่าตะเพิ่นคี่อันอุดมสมบูรณ์ นักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความเป็นธรรมชาติ ควรเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่เดือนกันยายน – เดือนธันวาคม

หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ ตั้งอยู่บนสันเขาสูงประมาณ 900 เมตร ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตยประมาณ 28 กิโลเมตร มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 4 องศาเซลเซียส หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ เป็นหมู่บ้านปลอดอบายมุข มีวิถีชีวิตตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ประกอบอาชีพ เกษตรเป็นหลัก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณหมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ เช่น ยอดเขาเทวดา ถ้ำตะเพินเงิน ถ้ำตะเพินทอง ถ้ำตะเพินเพชร และน้ำตกตะเพินคี่น้อย หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ เป็นกะเหรี่ยงด้ายเหลือง นับถือศาสนาพุทธ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีตลอด 3 วัน 3 คืน จะมีงานพิธีไหว้จุฬามณี ซึ่งนับถือกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำจากไม้ไผ่เหลาแหลมปักไว้ที่ลานหมู่บ้าน

น้ำตกตะเพินคี่น้อย ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพิ่นคี่ เป็นน้ำตกขนาดเล็กที่งดงาม สายน้ำไหลกระเซ็นเป็นละอองลงสู่โขดหินข้างล่าง น้ำตกแห่งนี้เป็นแหล่งรวมของเด็กๆ ชาวกะเหรี่ยงที่พามาเล่นน้ำ นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาที่หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ สามารถเที่ยวชมน้ำตกตะเพินคี่น้อยได้ตลอดเวลา

ยอดเขาเทวดา เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี มีความสูงถึง 1,123 เมตร จากระดับน้ำทะเล หากนักท่องเที่ยวต้องการสัมผัสธรรมชาติอันบริสุทธิ์บนยอดเขาคงจะต้องเหน็ดเหนื่อยไม่น้อยแต่คุ้มค่าเมื่อถึงยอดเขา สามารถมองเห็นทะเลหมอก ด้านและสภาพภูเขาที่สลับซับซ้อนไกลสุดสายตา และผืนป่าตะวันตกที่มีความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นเที่ยวชมจุดชมวิวบนยอดเขาเทวดาได้ทุกฤดูกาล มีการแข่งขันขึ้นยอดเขาเทวดา

ถ้ำตะเพินเงิน แฝงตัวอยู่ในภูเขาหินปูนใกล้หมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพิ่นคี่ มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเกิดจากหินงอกหินย้อยที่ปะปนด้วยสายแร่ซิลิก้า หรือ ที่เรียกว่า หินประกายเพชร ส่องประกายเป็นสีเงินระยิบระยับเมื่อต้องแสงไฟ นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล

ถ้ำตะเพินทอง ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพิ่นคี่ เป็นโถงถ้ำขนาดใหญ่ ชาวกะเหรี่ยงได้ช่วยกันสร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ภายในถ้ำเพื่อเป็นที่สักการบูชา และเป็นที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานของพระภิกษุสงฆ์ นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล ถ้ำตะเพินเพชร ซ่อนอยู่กลางภูเขาหินปูนปูนขนาดใหญ่ ทางเข้าค่อนข้างแคบ แต่ด้านในเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีหินงอกหินย้อยที่ปะปนด้วยสายแร่ซิลิก้าเข้มข้น จึงทำให้ส่องประกายระยิบระยับเหมือนดั่งประกายเพชร เมื่อต้องแสงไฟ นักท่องเที่ยวสามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล

น้ำตกพุกระทิงตั้งอยู่บริเวณบ้านคลองเหล็กไหล ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 2 (พุกระทิง) ประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีความงดงามมากอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเกิดจากผาหินที่มีความสูงถึง 30 เมตร บีบตัวเข้าหากันทำให้เกิดสายน้ำไหลผ่าน กระทบโขดหินลดหลั่นกระเซ็นเป็นละออง ลอดผ่านเกาะแก่งรวมเป็นสายธารลู่พื้นล่าง นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะสัมผัสความงดงามของน้ำตกพุกระทิงควรเดินทางท่องเที่ยวในช่วง เดือน กันยายน – พฤศจิกายน จะเหมาะสมกับการเที่ยวชมน้ำตกแห่งนี้

ศาลเลาด้าห์ อยู่บนเทือกเขาพุเตย เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงผู้เสียชีวิต จากเครื่องบินเลาดาห์แอร์ตก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิต 223 คน ห่างจากทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 1 (พุเตย) ประมาณ 12 กิโลเมตร

ต้นปรงยักษ์ อยู่บนเทือกเขาพุเตย เจริญเติบโตขึ้นผสมกับสนสองใบ อายุประมาณ 200–300 ปี สูง 6-8 เมตร

ป่าสนสองใบ ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ ประมาณ 9 กิโลเมตร เดินทางโดยรถขับเคลื่อนสี่ล้อ ไปทางหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตยที่ 1 (พุเตย) ประมาณ 5 กิโลเมตรจนถึงบริเวณศาลเลาด้าห์ มีทางแยกเข้าไปประมาณ 4 กิโลเมตร

กิจกรรมค่าย อุทยานแห่งชาติพุเตย เป็นอุทยานที่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไม่ไกลนัก มีสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน มีอากาศเย็นตลอดปีด้วยเหตุนี้ อุทยานแห่งชาติพุเตยจึงมีความเหมาะสมแก่การจัดกิจกรรมค่ายต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ทางอุทยานแห่งชาติพุเตย จึงเล็งเห็นว่าเพื่อเป็นการตอบสนองด้านการจัดกิจกรรมค่ายและเพื่อเป็นการส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน อุทยานฯ จึงได้จัดห้องเรียนธรรมชาติ สถานที่เรียนสื่อความหมายธรรมชาติและที่สำคัญทางอุทยานแห่งชาติ ได้จัดสร้างฐานผจญภัยพิสูจน์พลังใจตามแบบการฝึกของทหาร มาใช้ในการทำกิจกรรมด้วย ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติพุเตย ได้ดำเนินการจัดเตรียมพื้นที่ให้มีความเหมาะสม และพัฒนาศักยภาพบุคลากร ให้มีความพร้อมเพื่อตอบสนองต่อ กลุ่มโรงเรียน เยาวชน นิสิต และนักศึกษาที่เดินทางเข้ามาใช้สถานที่การทำกิจกรรม

 เส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ 2 เส้นทาง คือ สายศาลเลาด้าห์ – ป่าสนสองใบ มีระยะทาง 7 กิโลเมตรและสายน้ำตกพุกระทิง ระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็นได้ทั้งเส้นทางศึกษาธรรมชาติ และเส้นทางเดินทางไกล สำหรับนักท่องเที่ยว

 สิ่งอำนวยความสะดวก ลานกางเต็นท์ประจำหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ 1 พุเตย สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 – 200 คน มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำ พร้อมสถานที่ประกอบอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา Camping ลานกางเต็นท์แห่งนี้ ค่าใช้จ่ายประมาณ 250-500 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ทางอุทยานมีบ้านพักไว้รับรองเช่นกัน นักท่องเที่ยวจะได้ สัมผัสธรรมชาติที่แท้จริง ลักษณะภูมิประเทศเป็นช่องเขา จึงทำให้มีมวลอากาศเย็นเคลื่อนผ่านตลอดเวลา โดยช่วงเวลากลางวันกระแสลมจะพัดเข้าหาผืนป่า และในช่วงเวลากลางคืนกระแสลมจะพัดไอเย็นของผืนป่าออกมา ทำให้บริเวณลานกางเต็นท์ มีอากาศเย็นจัดในช่วงฤดูหนาวอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงฤดูหนาวประมาณ 8 องศาเซลเซียส

 - ลานกางเต็นท์จุดที่ 2 ประจำที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย (เขาสน) เป็นลานกางเต็นท์ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 – 200 คน มีห้องน้ำและห้องอาบน้ำ พร้อมสถานที่ประกอบอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยวที่เดินทางมา Camping และบ้านพักรับรองไว้ต้อนรับส่วนหนึ่ง และลานกางเต็นท์แห่งนี้เป็นจุดศูนย์กลางที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของอุทยานแห่งชาติพุเตย ได้อย่างสะดวก

การเดินทาง

 ทางรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดสุพรรณบุรี ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 340 (บางบัวทอง– สุพรรณบุรี) ถึงจังหวัดสุพรรณบุรี ใช้เส้นทางสุพรรณบุรี– ดอนเจดีย์ – ด่านช้าง จากสี่แยกอำเภอด่านช้างสามารถเดินทางต่อไปได้ 2 เส้นทาง คือ

 1. เส้นทางลาดยางตลอดสายจนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย รวมระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร จากสี่แยกอำเภอด่านช้างไปตามทางหลวงหมายเลข 333 (ด่านช้าง-อู่ทอง) ไปทางอู่ทองประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 3086 เดินทางต่อไปอีกประมาณ 34 กิโลเมตร จนถึงสี่แยกบ้านปลักประดู่ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 3480 ไปอีกประมาณ 40 กิโลเมตร ถึงป้ายทางเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย เข้าไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย

 2. เส้นทางลาดยางและทางลูกรังขึ้นเขา จนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย รวมระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร จากสี่แยกอำเภอด่านช้างไปตามทางหลวงหมายเลข 333 (ด่านช้าง-บ้านวังคัน) ประมาณ 15 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 78 จะเห็นป้ายไปอุทยานแห่งชาติพุเตย เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 18 กิโลเมตร เส้นทางเป็นถนนลาดยาง จนถึงหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ 1 (พุเตย) จากนั้นเส้นทางต่อไปเป็นถนนลูกรังข้ามสันเขาไปจนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร (เส้นทางช่วงนี้ควรใช้รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ)

 ข้อแนะนำ การเดินทางควรใช้รถยนต์กระบะหรือรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ
 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติพุเตย อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี 72180 โทร. 0 3544 6237, 08 1934 2240 โทรสาร 0 3544 6237

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สุพรรณบุรี โทร.035 525 880
Facebook tat_suphanburi

แก้ไขล่าสุด 2016-04-24 16:38:03 ผู้ชม 25353

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
สวัสดีป่าผืนใหม่

สวัสดีป่าผืนใหม่ เริ่มต้นทักทายป่าอันอุดมสมบูรณ์ผืนใหญ่ในอุทยานแห่งชาติพุเตยกันหน่อย สำหรับนักผจญภัยเดินป่า ขึ้นเขา ลงห้วย ถ้าจะแบ่งให้เป็นกลุ่มๆ น่าจะมี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่ชอบเดินป่าใหม่ๆ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ กับกลุ่มที่ชอบเดินป่าผืนเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความชอบส่วนตัว ส่วนเราคือกลุ่มแรก เราไม่อยากจะเหนื่อยกับการเดินป่าเดิมๆ ซ้ำๆ เพราะชอบที่จะได้เห็นสิ่งแปลกใหม่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่พูดก็พูดเถอะ พุเตย ไม่ใช่ป่าที่อยู่ในความคิดของพวกเราเลย ถ้าให้จัดอันดับป่าที่อยากจะไป 10 อันดับแรกไม่มีพุเตยอยู่แน่ๆ เพราะไม่ค่อยจะได้ยินใครพูดถึงมากนัก แต่เมื่อได้มาสัมผัสกับตัวเองจึงได้เห็นว่าป่าผืนนี้มีดีไม่น้อยหน้าใคร

อุทยานแห่งชาติพุเตย

เริ่มมาจากชื่อ พุเตย เป็นชื่อที่ฟังดูแปลกและไม่มีความหมาย แต่ความจริงแล้วคำๆ นี้ มาจากสองคำรวมกัน คือ พุ หมายถึงป่าที่มีน้ำนองน้ำขัง ถ้าไปกระบี่สระมรกต จะเจอป้ายที่เขียนว่า ป่าพรุ นั้นแหละ แต่พุของที่นี่ไม่มี ร.เรือ ส่วนเตย มาจากต้นใบเตยที่ขึ้นอยู่มากในพื้นที่

กิจกรรมของอุทยานฯ มีหลายอย่าง เช่นการเที่ยวป่าสนสองใบ การพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดของสุพรรณบุรี ชื่อยอดเขาเทวดา การเดินศึกษาธรรมชาติ มีให้เลือกทั้งใกล้และไกล เส้นทางใกล้สุดคือ 5.5 กิโลเมตร เริ่มจากน้ำตกตะเพินคี่ใหญ่ เลาะลำธาร ไปน้ำตกตะเพินคี่น้อย กิจกรรมโรยตัวหน้าผาน้ำตกตะเพินคี่น้อย ก็ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และยังมีถ้ำ หมู่บ้านชนเผ่าที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอยู่อีกด้านหนึ่งของป่าแห่งนี้

ด้วยการเดินทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ อยู่บริเวณรอยต่อของสุพรรณบุรี กับอุทัยธานี เดินทางด้วยเส้นทาง สุพรรณบุรี– ดอนเจดีย์ – ด่านช้าง อุทยานฯ พุเตย ถนนราดยางตลอดสาย ป่าแห่งนี้จึงน่าจะเป็นป่าที่คนมาเที่ยวกันมาก แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น คนรู้จักที่นี่มีไม่มากนัก แต่ถ้าใครได้ลองเข้ามาอ่านเรื่องนี้แล้วเชื่อว่าจะต้องอยากมาที่นี่แน่ๆ

จากน้ำตกตะเพินคี่ใหญ่ เราต้องเดินตามลำธารซึ่งเป็นที่มาของชื่อ พุ อย่างที่บอก ดังนั้น จึงต้องเตรียมถุงกันน้ำ ไว้ใส่ของที่จำเป็น ต้องมีน้ำและข้าวห่อติดตัวไปด้วย ส่วนใหญ่จะเริ่มเดินประมาณ 10 โมง ใช้เวลา 2 - 3 ชั่วโมง ตามเส้นทางอันร่มรื่นของต้นไม้สูงใหญ่ในป่าแห่งนี้ รองเท้าควรต้องพร้อมที่จะเปียกและแห้งได้เร็วจึงจะดี

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

ป่าไม้สูงใหญ่มีใบมากที่พุเตย ทำให้มีแสงแดดส่องลงมาถึงพื้นได้ไม่มากนัก สภาพแบบนี้เราจะเห็นมอสขึ้นอยู่ทั่วไป และการเดินทางของเราก็จะเย็นสบาย อย่างน้อยก็ดีกว่าเส้นทางที่ต้องโดนแดดตลอดเวลา สำหรับการเดินทางถ่ายภาพอาจจะใช้เวลานานกว่าปกติ แต่ก็ไม่นานมากนักเป็นเพราะเส้นทางส่วนใหญ่ไม่ใช่เนินเขาชันๆ เหมือนตอนไปเดินภูเขาลูกอื่นๆ

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

และแล้วก็มาถึงน้ำตกตะเพินคี่น้อย ผาน้ำตกแห่งนี้ตั้งตรง 90 องศา กิจกรรมผจญภัยแบบที่ไม่เคยไปที่ไหนมาก่อนก็มาเจอที่นี่เป็นที่แรก คือการไต่หน้าผาขึ้นไป โดยอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด เพื่อความปลอดภัยที่สุดของนักท่องไพรมือใหม่อย่างเราๆ ทำให้ทุกคนในกลุ่มของเราขึ้นไปได้อย่างปลอดภัยแต่ตอนนี้ขอเก็บกล้องเข้าถุงกันน้ำก่อนนะ

อุทยานแห่งชาติพุเตย

พ้นจากเส้นทางเดินในป่า เราโผล่ออกมาเหมือนออกมาอีกโลกหนึ่ง บริเวณนี้เป็นพื้นที่ทำกินของชาวนาชาวไร่ มีให้เห็นทั้งข้าวและข้าวโพด ตอนนี้ข้าวกำลังออกรวงเป็นสีทองบนเนินเขากว้างสุดลูกหูลูกตา ท้องฟ้าสีสดใส แดดจัด ส่องลงมาที่พื้นโลกเต็มที่ ผิดกับตอนที่อยู่ในป่าลิบลับ มันช่างเป็นภาพที่สวยเกินจะบรรยายเลยจริงๆ

อุทยานแห่งชาติพุเตย

เส้นทางที่เราจะต้องเดินไปที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติพุเตย เป็นเส้นทางที่ใช้สัญจรด้วยการเดินเท่านั้น จึงเกิดเป็นร่องแคบๆ ยาวไปข้างหน้า ทีมเราทุกคนต้องเดินเรียงแถวตอนกันไปเรื่อยๆ อย่างเป็นระเบียบ ชาวบ้านตะเพินคี่ เป็นชาวเผ่าที่อยู่อาศัยกันมาแต่ก่อนที่จะมีอุทยานฯ ขึ้นมา หลังจากตั้งอุทยานแห่งชาติ ก็มีการควบคุมการเพาะปลูก การทำไร่ทำนา ไม่ให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติม ไม่งั้นแล้วเราคงเสียป่าผืนนี้ไปอีกมาก คิดถึงพื้นที่ตรงนี้กับป่าเขียวๆ ที่เราเพิ่งเดินผ่านมามันช่างแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวเลย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

สายรุ้งเหนือยอดเขา

สายรุ้งเหนือยอดเขา พอเดินพ้นแนวทุ่งนาและข้าวโพดมาได้หน่อยเดียว ท้องฟ้าที่ครึ้มเหมือนฝนจะตกใส่พวกเราก็สว่างขึ้นมาอีก แต่คราวนี้เหลือสายรุ้งจางๆ เอาไว้ให้เราได้หันไปชมกัน

อุทยานแห่งชาติพุเตย

เฮ้อ! ถึงซะที ลานกางเต็นท์ ที่นี่คือหน่วยพิทักษ์อุทยานที่ 3 ตะเพินคี่ มีพื้นที่กางเต็นท์ 1 ใน 3 แห่ง ของอุทยานฯ ห้องน้ำห้องท่าสะดวกสบายพร้อมไฟฟ้าให้ตอนกลางคืน สำหรับผู้รักกิจกรรมตั้งแคมป์ สามารถเอาอาหารมาทำกินกันได้ แต่ถ้าไม่อยากทำ ต้องติดต่อทางอุทยานฯ เพื่อจะได้เตรียมอาหารไว้ให้ เหมาะสำหรับการมาเป็นกลุ่มใหญ่ ช่วงนี้เป็นช่วงที่จะเข้าฤดูหนาวโดยสมบูรณ์แล้ว ท้องฟ้าค่อนข้างแจ่มใส คืนนี้คงจะได้ภาพดาวสวยๆ กันแน่ๆ แต่ตอนนี้คงต้องขอไปอาบน้ำก่อนแล้ว เดี๋ยวจะหนาวจนไม่อยากโดนน้ำ

อาหารง่ายๆ ที่พุเตย

อาหารง่ายๆ ที่พุเตย มื้ออาหารมื้อนี้ตระเตรียมโดยเจ้าหน้าที่อุทยาน เป็นอาหารแบบง่ายๆ สำหรับการมาอยู่ในป่า แต่ถ้าไม่ได้ติดต่อให้เตรียมไว้ให้ เราก็ต้องมานั่งหุงหาอีกนานกว่าจะได้กิน หรืออย่างมากก็จบที่มาม่า ปลากระป๋องตามสูตรเป็นแน่แท้

การแสดงต้อนรับ

การแสดงต้อนรับ อย่างที่บอก พื้นที่บริเวณนี้มีชาวเขาเผ่าเล็กๆ อาศัยอยู่ เป็นชาวกะเหรี่ยงโปว์ เด็กๆ จะมีการแสดงเพื่อต้อนรับอาคันตุกะอย่างเรา ด้วยการละเล่น "รำตง" หรือ ที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกกันว่า "เทอลีโตว" ซึ่งก็คือการ รำ และ ร้องเพลง พอดีไม่ได้ถ่ายคลิปมาให้ชม เลยขอนำคลิปจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีมาให้ชมว่าการรำตง เป็นอย่างไร

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

ช่วงเวลาหลังจากมื้ออาหารอันเอร็ดอร่อย ด้วยความเหนื่อยที่เรามีในตอนกลางวัน เราก็เขานอนกันอย่างเร็ว อากาศเย็นๆ ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาเมื่อแสงอาทิตย์ลับดับไป ช่วงหัวค่ำ แสงจันทร์ยังคงรบกวนท้องฟ้าจนมองไม่ค่อยเห็นดาว แต่ถ้าเป็นช่วง ขึ้น 10 ค่ำ - ขึ้น 13 ค่ำ ลองสังเกตุดูว่าพระจันทร์จะลับขอบฟ้าไปก่อนที่ฟ้าจะสาง คือประมาณ ตี 3 - ตี 5 เป็นเวลาที่หลายๆ คนเลือกที่จะถ่ายดาวแต่ต้องอาศัยทั้งความอดทนและความขยัน เอาชนะความขี้เกียจในถุงนอนออกมาให้ได้ แล้วจะได้ภาพสวยเป็นรางวัล

อุทยานแห่งชาติพุเตย

ทางช้างเผือก

ทางช้างเผือก กิจกรรมดีๆ ของคนชอบถ่ายภาพโดยเฉพาะภาพดาว คงหนีไม่พ้นการถ่ายภาพทางช้างเผือก ถ้ามองไม่เห็นต้วยตาเปล่าก็ใช้แอพในมือถือ อย่าง sky safari หรือ star walk ในการหาว่าทางช้างเผือกอยู่ทิศไหน ทำมุมแบบไหนกับเส้นขอบฟ้า แต่ถ้ามองเห็นด้วยตาเปล่าเวลาถ่ายออกมาด้วยกล้องคุณภาพสูงจะเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจสุดๆ เมื่อเราอยู่ในที่ที่ไม่มีแสงไฟรบกวนอย่างบนยอดเขากลางป่าแบบนี้

ยอดเขาเทวดา

ยอดเขาเทวดา อีกหนึ่งสถานที่ที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเที่ยวอุทยานแห่งชาติพุเตย เพราะที่นี่ถือว่าเป็นหลังคาของสุพรรณบุรี เป็นยอดเขาสูงที่สุดของจังหวัด หันไปด้านทิศตะวันออกเหมาะสำหรับการชมพระอาทิตย์ขึ้น ถ้าใครตื่นมาถ่ายดาวตอนตี 3 ถ่ายไปจนถึงตี 5 จากนั้นก็ออกเดินทางด้วยรถของอุทยานฯ แล้วเดินเท้าต่ออีกสัก 40 นาทีกว่าๆ ถึงยอดเขาเทวดา ทันชมพระอาทิตย์ขึ้นแน่ๆ เทือกเขาสลับซับซ้อนกับอากาศเย็นๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ แค่ไม่กี่ชั่วโมง โดยไม่ต้องเดินทางไปถึงภาคเหนือ เป็นภาพที่ออกจะเหลือเชื่อว่ามันคือภาคกลางของเรานี่เอง

ทะเลหมอกสุพรรณบุรี

ทะเลหมอกสุพรรณบุรี นอกเหนือจากการชมพระอาทิตย์ขึ้น ในช่วงฤดูกาลนี้เรายังมีโอกาสได้เห็นทะเลหมอกแถมด้วย พอบอกว่าภาพนี้ถ่ายจากสุพรรณบุรี คนดูก็คงยิ่งงงยิ่งสงสัยว่ามันมีด้วยหรือ

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

พระพุทธรูปและเจดีย์ยอดเขาเทวดา

พระพุทธรูปและเจดีย์ยอดเขาเทวดา เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นสูงแล้ว เราก็จะเห็นบริเวณโดยรอบได้ชัด บนยอดเขาแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป แล้วก็มีเจดีย์องค์เล็กๆ ตั้งอยู่ด้านหลัง

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

แล้วพอเดินลงเนินเขาหลังเจดีย์ เราจะได้เห็นแสงสีสองเรืองรองส่องลงมาได้มุม เกิดเป็นภาพที่สวยงามน่าอัศจรรย์เหมือนแสงสีทองนี้ส่องออกมาจากเจดีย์องค์นี้เลย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อุทยานแห่งชาติพุเตย

บัวตองสุพรรณบุรี

บัวตองสุพรรณบุรี อีกหนึ่งสิ่งมหัศจรรย์เมืองสุพรรณ คือดอกบัวตองที่ขึ้นอยู่บนเขาที่ไม่ได้สูงอะไรมากมายอย่างที่พุเตย ก็มีให้เห็นด้วย เดือนพฤศจิกายน บัวตองที่แม่ฮ่องสอนบาน ที่สุพรรณก็บานเหมือนกัน

อุทยานแห่งชาติพุเตย

อำลาพุเตย

อำลาพุเตย จบการเดินทางผจญภัยช่วงสั้นในวันหยุดของเราแบบง่ายๆ ความสุขที่หาได้ใช่อื่นไกลแค่สุพรรณบุรี ถ้ามีเวลามากกว่านี้เราจะพาไปชมแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในอุทยานแห่งชาติพุเตยให้เต็มที่ แต่ทริปนี้เอาไว้แค่นี้ก่อน ติดตามได้ในตอนต่อไป

ขอขอบคุณ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุพรรณบุรี และ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคกลาง สำหรับการสนับสนุนการเดินทางและข้อมูล
อุทยานแห่งชาติพุเตย ที่อำนวยความสะดวก และเจ้าหน้าที่ดูแลตลอดการเดินทาง

เที่ยวเมืองไทย เที่ยวภาคกลาง ที่สวยๆ ยังมีอีกเยอะ ... ตกหลุมรักเที่ยวภาคกลาง

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานแห่งชาติพุเตย สุพรรณบุรี
โรงแรมอวตาร มิราเคิลส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
ปลายฟ้า รีสอร์ท แอนด์ โฮเต็ล แอท บ้านไร่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  30.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
แพและลานกางเต็นท์ปางอุ๋งสุพรรณ
  35.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
มารวยรีสอร์ท อุทัยธานี
  37.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
แพ กิ่งกาญจน์ฟิชชิ่ง แอนด์ โฮมสเตย์
  40.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
ห้วยขาแข้ง คันทรีโฮม
  51.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
หนองปรือ โฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  60.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูฟ้า อิงน้ำ เลค รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  71.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
3 ห้องนอน 3 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 380 ตร.ม. – เดิมบางนางบวช เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  75.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านภูผา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  85.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ อุทยานแห่งชาติพุเตย สุพรรณบุรี
ถ้ำพุหวาย อุทัยธานี
  12.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
วนอุทยานถ้ำเขาวง อุทัยธานี
  12.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดถ้ำเขาวง อุทัยธานี
  16.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดเขาตะเภาทอง สุพรรณบุรี
  24.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำตกผาร่มเย็น อุทัยธานี
  29.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านนาตาโพ อุทัยธานี
  30.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์แสดงและสาธิตการทอผ้าพื้นเมือง(กลุ่มทอผ้าไพจิตต์) อุทัยธานี
  30.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กาญจนบุรี
  32.53 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์วัฒนธรรมชาวเขาบ้านอีมาด-อีทราย อุทัยธานี
  32.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดหนองยาว สุพรรณบุรี
  34.22 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (а№ѓаёЄа№Ђ @)
www.touronthai.com