www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สงขลา >> ประเพณีชักพระ หรือลากพระ

ประเพณีชักพระ หรือลากพระ

 คำว่า ลากพระเป็นภาษาถิ่นทางใต้ เมื่อออกเสียงตามภาษากลาง ทำให้มีความหมายเพี้ยนไป จึงได้มีการเรียกประเพณีนี้ว่าชักพระ เป็นประเพณีของการแห่พระด้วยขบวนแห่ที่ตกแต่งอย่างสวยงาม เดิมทีเดียวจะแห่พระทางน้ำ แล้วก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการแห่ทางบก การแห่พระในประเพณีลากพระหรือชักพระทางน้ำ จะไปชมกันได้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากประเพณีนี้ได้สืบทอดมาจากการชักพระทางเรือ เปลี่ยนมาเป็นทางบก การตกแต่งขบวนแห่พระจึงยังคงยึดรูปแบบของเรือเอาไว้มากที่สุด

 ชักพระเป็นพิธีบุญอย่างหนึ่งของชาวจังหวัดภาคใต้หรือชาวปักษ์ใต้ที่กระทำสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล จนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีหลายจังหวัดในภาคใต้ที่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ที่เคยได้ยินข่าวการจัดงานได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี เป็นต้น ถือว่า ประเพณีนี้มีความสำคัญและยิ่งใหญ่กว่าหลายๆ ประเพณี ที่จัดขึ้นในจังหวัด โดยเฉพาะที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จะมีชักพระบกและพระน้ำ กำหนดการชักพระ คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปีเป็นวันที่พระสงฆ์ ออกพรรษา หรือที่เรียกว่า "วันปวารณา"

 ก่อนการชักพระ ๑๐-๑๕ วัน ชาวบ้านและชาววัดจะช่วยกันจัดเตรียมทำเรือพระสำหรับที่จะลากกันอย่างหรูหรา ข้างบนทำเป็นบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ในช่วงเวลาก่อนถึงวันชักพระนี้จะมีการ "คุมโพน" หรือ "คุมพระ" คือการประโคม ฆ้อง กลอง ตะโพน เพื่อเป็นการซ้อมหรืออุ่นเครื่อง และเป็นการสร้างบรรยากาศอันคึกคักให้ชาวบ้านได้เตรียมตัวสำหรับกาลอันสำคัญนี้

 เรือพระบกแต่เดิมจะมีตัวไม้ใหญ่ ๒ อัน วางรองเป็นที่สร้างบุษบก การชักพระจึงเป็นการลากจริง ๆ ปัจจุบันใช้รถยนต์แทน การชักพระบกจะลากผ่านหมู่บ้าน จากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่ง หรือไปยังที่ชุมนุมเรือพระ ส่วนเรือพระน้ำจะทำเป็นแพโดยใช้เรือ ๑-๓ ลำ เป็นที่ตั้งของแพสำหรับลากไปในแม่น้ำลำคลองหรือทะเล

 ในวันชักพระ คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ตอนเช้าตรู่ชาวบ้านจะพากันไปทำบุญตักบาตรหน้าเรือพระเมื่อพระสงฆ์ฉันภัตตาหารแล้วจะเริ่มชักพระไปสู่ที่ชุมนุมเรือพระ ในอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีเรือพระจะมาชุมนุมกันที่ที่กำหนดไว้ อย่างเช่นที่สุราษฎร์ธานี จะทำที่ริมแม่น้ำตาปี บริเวณท่าเรือเกาะสมุย เมื่อพระสงฆ์ฉันเพลแล้วจะมีการ "ซัดต้ม" ซึ่งเป็นเกมการแข่งขันปากันด้วยต้ม นอกจากนั้นในจังหวัดนี้ยังมีการ "แข่งเรือ" ตามปกติเรือพระจะกลับวัดในตอนเย็นของวันชักพระ แต่สำหรับในจังหวัดสุราษฎร์ธานี หลังจากมีการสมโภช ๑ คืนแล้ว เรือพระจะยังคงอยู่เพื่อให้ชาวบ้านไปทำบุญ ๓-๔ วัน จึงจะกลับวัด

ข้อมูลเพิ่มเติม:สอบถามข้อมูล กำหนดจัดงานได้ที่ สายด่วน ททท. 1672

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 46685

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
การแสดงหรือละเล่นโนรา

การแสดงหรือละเล่นโนรา นี่นับว่าเป็นความโชคดีอย่างมากของผม ตั้งแต่เกิดมายอมรับว่าไม่เคยเห็นการแสดงโนราห์นอกจากในทีวี ที่วันนี้ได้เห็นเป็นเพราะความอยากที่จะได้มาชมประเพณีชักพระหรือจะเรียกกันว่าลากพระก็มีบ้าง แต่การออกเสียงว่าลากพระ ความหมายไม่ค่อยจะดี ต่อมาก็เรียกกันว่าชักพระไปเลยก็แล้วกัน ได้ยินชาวบ้านที่หาดใหญ่เล่าให้ฟังว่า งานชักพระสงขลาเป็นงานที่จัดอย่างยิ่งใหญ่สวยงามมาก สิ่งที่ผมจะต้องทำเป็นการด่วนก็คือขับรถจากหาดใหญ่เข้าเมืองสงขลา หาที่พักที่อยู่บริเวณอำเภอเมืองแต่ต้องไม่อยู่ในเมือง เหตุก็เพราะว่าผมสอบถามข้อมูลจากชาวบ้านในเมืองสงขลาได้ความว่า ขบวนแห่เรือพระจะยาวมาก ยาวหลายกิโลเมตร จะมีการปิดถนน ถ้านอนอยู่ในเมืองจะออกจากเมืองหลังจากชมงานชักพระจะลำบาก (งานชักพระจะตกแต่งรถให้เหมือนลำเรือประดิษฐานพระพุทธรูปมาบนเรือ เพราะแต่เดิมประเพณีชักพระเป็นการแห่ทางน้ำ ต่อมาได้เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย มาแห่บนบก ก็เลยตกแต่งรถให้เหมือนเรือแล้วเรียกว่าเรือพระ)

ผมได้ที่พักที่โรงแรมซิตี้โฮเทล ตรงข้ามกับโรงพยาบาลฐานทัพเรือ (เหลืออยู่ห้องเดียวเพราะไม่ได้จองล่วงหน้า) ทำเลตรงกับที่ผมต้องการมากๆ เพราะโรงแรมอยู่ไม่ไกลจากแยกสงขลา-หาดใหญ่ เมื่อผมจะกลับไปที่หาดใหญ่จะได้ไม่ลำบาก ส่วนวิธีการเข้าเมืองมาชมขบวนแห่พระจะใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง สะดวกที่สุด แต่คืนก่อนการแห่พระในเมืองสงขลาบริเวณแหลมสน แหลมสมิหลาจะมีการแสดงในตอนกลางคืน และคืนนี้ก็มีโนราให้ชม ผมประทับใจมากที่ได้มาอยู่ตรงนี้ในคืนนี้ การแสดงฟรีไม่เก็บตังค์ครับ หาลูกชิ้นมานั่งตามเก้าอี้ที่จัดไว้ให้ แล้วก็เอากล้องมาถ่ายรูปโนรา ไหนๆ ก็ได้ชมโนราแล้ว ผมขอพูดถึงประวัติของการแสดงชนิดนี้สักหน่อยดังนี้

โนรา หรือ มโนห์รา (เขียนเป็น มโนรา หรือ มโนราห์ ก็ได้) เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบ ทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลายใน ภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่อง และบางโอกาสมีบางส่วน แสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม
โนรา เป็นศิลปะพื้นเมืองภาคใต้เรียกว่า โนรา แต่ คำว่า มโนราห์ หรือ มโนห์รา นั้น เป็นคำที่เกิด ขึ้นมาเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการนำเอา เรื่อง พระสุธน-มโนราห์ มาแสดงเป็นละครชาตรี จึงมีคำเรียกว่า มโนราห์ ส่วนกำเนิดของโนรานั้น สันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลจากการ ร่ายรำของอินเดียโบราณก่อนสมัยศรีวิชัย ที่มา จากพ่อค้าชาวอินเดีย สังเกตได้จากเครื่องดนตรีที่ เรียกว่า เบ็ญจสังคีตซึ่งประกอบโหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ ใน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโนรา และท่ารำของโนรา อีกหลายท่าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการร่ายรำของ ทางอินเดีย และเริ่มมีโนราเป็นกิจลักษณะขึ้นเมื่อ ประมาณปี พุทธศักราชที่ ๑๘๒๐ ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยตอนต้น
เชื่อกันว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่ หัวเมืองพัทลุง ปัจจุบันคือ ตำบล บางแก้ว จังหวัด พัทลุง แล้ว แพร่ขยายไปยังหัวเมืองอื่นๆของภาคใต้ จน ไปถึงภาคกลาง และกลายเป็นละครชาตรี และจังหวะ ตะลุง ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ โนรา เกิดขึ้นในราชสำนักของพัทลุงซึ่งมีตำนานเล่า กันมาว่า เจ้าเมืองพัทลุง มีชื่อว่า พระยา สายฟ้าฟาด มีลูกสาวที่ชื่อ ศรีมาลา ซึ่ง มีความสามารถในการร่ายรำมาก ได้เกิดตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน เชื่อกันว่า เป็นท้องกับเทวดา พระยาสายฟ้าฟาดเห็นดัง นั้นก็โกรธมาก สั่งให้นำนางศรีมาลาไป ลอยแพในทะเล ( คือ ทะเลสาปสงขลา) และ แพได้ไปติดที่เกาะใหญ่ นางศรีมาลาก็ ได้ให้กำเนิดลูกชาย โดยตั้งชื่อว่า เทพสิงหล ซึ่งมีนัยความว่า ลูกของเทวดา นางศรีมาลา ได้ฝึกให้เทพสิงหลฝึกร่ายรำ ซึ่งเทพสิงหล ก็สามารถร่ายรำได้สวยงามมาก และร่ายรำ มีชื่อเสียงมากที่เกาะใหญ่ จนรู้ไปถึง หูพระยาสายฟ้าฟาด ซึ่งพระยาสายฟ้า ฟาดก็ยังไม่รู้ว่าหลานตัวเอง ก็ได้ เชิญไปรำในราชสำนัก ฝ่ายนางศรีมาลานั้น ก็น้อยเนื้อต่ำใจเมื่อครั้งที่ถูกลอยแพ ก็บอกกับคนที่มาติดต่อว่า โนราคณะ นี้จะไปรำได้ แต่ต้องปูผ้าขาวตั้ง แต่ริมฝั่งที่ลงจากเรือจนไปถึงตำหนัก พระยาสายฟ้าฟาดก็ตอบตกลง ดังนั้น เทพสิงหลจึงไปรำในราชสำนัก เทพสิงหลรำ ได้สวยงามมาก จนพระยาสายฟ้าฟาดก็ ตกตะลึงในความสวยงาม จึงถอดเครื่องทรงที่ ทรงอยู่ให้กับเทพสิงหล แล้วบอกว่า "เครื่อง แต่งกายกษัตริย์ชุดนี้มอบให้เป็นเครื่องแต่งกาย ของโนรานับแต่นี้เป็นต้นไป" เทพสิงหลจึง บอกว่าแท้จริงแล้วเป็นหลานของพระยาสาย ฟ้าฟาด พระยาสายฟ้าฟาดจึงรับโนราไว้ ในราชสำนักและให้สิทธิแต่งกายเหมือนกษัตริย์ทุก ประการ

ตกแต่งเรือพระ

ตกแต่งเรือพระ หลังจากชมโนราเป็นที่พอใจแล้ว ผมต้องรีบกลับโรงแรมเพราะโรงแรมอยู่ห่างจากแหลมสมิหลามาก (ประมาณ 6 กิโลเมตร) เดี๋ยวดึกเกินไปแล้วต้องตื่นแต่เช้า ระหว่างการเดินทางกลับโรงแรม ผมเห็นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังตกแต่งเรือพระเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะนำเรือพระลำนี้ไปร่วมขบวนแห่และประกวด การประกวดเรือพระมีหลายประเภท มีตั้งแต่ขนาดใหญ่มากๆ ขนาดกลางและขนาดเล็ก วัสดุในการตกแต่งเรือพระมีหลายอย่างแล้วแต่ชุมชนไหนจะเลือกใช้อะไร สำหรับเรือพระขนาดใหญ่จะใช้โฟม ตกแต่งด้วยสีสันที่สดใสสวยงาม สะดุดตามากๆ เวลาที่ได้เห็นในตอนกลางวัน ส่วนประเภทที่ใช้วัสดุธรรมชาติ หรือรีไซเคิลก็มีความคิดสร้างสรร ใช้ของเหลือใช้นำกลับมาทำประโยชน์ได้ใหม่ แต่คืนนี้เห็นอยู่ลำเดียว ส่วนเรือพระลำอื่นๆ ก็คงจะตกแต่งอยู่ตามชุมชนต่างๆ ที่อยู่นอกเมืองออกไป

ตักบาตรข้ามต้มมัด-ขนมเทียน

ตักบาตรข้ามต้มมัด-ขนมเทียน ในประเพณีชักพระแต่โบราณ ชาวบ้านจะมารอขบวนเรือพระที่ล่องมาทางน้ำ และตักบาตรกันด้วยขนมเทียน เรือพระแต่ละลำจึงมีขนมแขวนอยู่ตามลำเรือเต็มไปหมด ปัจจุบันแม้ว่าจะเปลี่ยนมาเป็นการแห่พระทางบก ก็มีชาวบ้านรุ่นคุณป้าที่ยังคงเตรียมขนมเทียนมาตักบาตร ที่หน้าโรงแรมมีอยู่หลายคนที่ลงมารอตักบาตรเรือพระที่จะวิ่งผ่านเข้าตัวเมืองไปร่วมขบวนแห่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นรถขนาดเล็กๆ ส่วนเรือขนาดใหญ่ที่ตกแต่งมาอย่างสวยงามนั้นจะเข้าไปถึงในงานบ้างแล้วเป็นบางส่วน เพราะใช้ความเร็วมากเหมือนรถเล็กไม่ได้

หลังจากที่ผมได้ตักบาตรพระบนเรือพระ (ซึ่งก็คือรถนั่นแหละครับไม่ต้องสับสน) เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผมก็ขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้างมุ่งหน้าไปยังแหลมสมิหลาเพื่อชมขบวนแห่เรือพระ

ทัวร์ออนไทยแวนซ์นิวส์รีพอร์ท

ทัวร์ออนไทยแวนซ์นิวส์รีพอร์ท ตั้งชื่อหรูๆ เท่ห์ๆ ไปงั้นเองละครับ ตอนที่นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากโรงแรมเข้าเมือง จะเห็นเรือพระมากมายทั้งขนาดเล็กขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดใหญ่ซึ่งมีความสวยงามมาก เคลื่อนเข้าไปที่บริเวณจุดเริ่มต้นขบวนแห่ ก็คือบริเวณแหลมสนอ่อน คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างพาผมมุ่งหน้าผ่านย่านเมืองเก่า ตลาด เรียกว่าตรงอย่างเดียว ส่วนผมที่นั่งอยู่ข้างหลังก็หาจังหวะจับภาพเหมาะๆ ของเรือพระที่มุ่งหน้าไปทางเดียวกัน ตอนนี้ผมจะต้องไปอยู่ที่หัวขบวนแล้วก็จะได้ถ่ายรูปเรือพระทั้งหมด โดยเดินเท้าไปทางหางขบวน

ชาวสงขลาร่วมขบวนชักเรือพระ

ชาวสงขลาร่วมขบวนชักเรือพระ ชาวสงขลาจำนวนมากจะมาตลาดแต่เช้า เพื่อเตรียมซื้อหาข้าวของที่จะตักบาตร บางคนก็มาเพื่อที่จะได้ชักพระ หรือลากพระโดยการจับเชือกหน้าเรือพระเดินไปตามตลาด สัก 100 เมตรก็จะหยุด ถือว่าเป็นสิริมงคล แล้วคนอื่นๆ ที่ยืนรออยู่ข้างถนนก็จะเข้ามาชักพระต่อไปเรื่อยๆ

เรือพระขบวนเล็ก

เรือพระขบวนเล็ก พอมาถึงที่แหลมสนอ่อน บริเวณท้องพญานาค ถนนราชดำเนินทั้งสายใช้เป็นพื้นที่สำหรับจอดเรือพระที่เข้าร่วมงานประเพณีชักพระประจำปี ซึ่งขอบอกว่าจำนวนทั้งหมดเฉพาะเรือเล็ก (รถกระบะพร้อมพระนั่งด้านหลังไม่ตกแต่งมาก) ก็น่าจะร่วม 50 คันได้ เมื่อจอดเรียงกันยาวเป็นแถว 2 แถว เว้นช่องว่างตรงกลางระหว่างแถวให้ชาวบ้านเดินทำบุญในเรือลำต่างๆ ก็ยาวเกือบถึงวงเวียนแหลมสมิหลาเลยทีเดียว ชาวบ้านที่มาร่วมทำบุญตักบาตรในงานนี้มักจะทำบุญกับเรือพระให้มากที่สุด เพราะถือว่าได้ทำบุญครั้งใหญ่ ทำบุญวันเดียวก็จะได้ทำบุญกับวัดต่างๆ ได้ไม่ต่ำกว่า 50 วัดเลยทีเดียว

ประเพณีชักพระสงขลา

ประเพณีชักพระสงขลา พอเดินสำรวจดูขบวนแห่พระ ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เรือพระลำใหญ่ๆ ตกแต่งสวยๆ ไปอยู่ที่ไหนหมด ตอนที่ขี่มอเตอร์ไซค์มาก็มาทางเดียวกันนี่นา จากบริเวณแหลมสนอ่อนผมเดินย้อนออกมาทางเขาตังกวน คิดว่าถ้าขบวนผ่านมาอีกอย่างน้อยก็จะได้รูปสวยๆ ที่ไหนได้มันเป็นทางที่ผิดถนัดเพราะไม่เห็นเรือพระขนาดใหญ่ผ่านมาเลยสักขบวน ผมก็เลยเดินไปตามถนนสะเดา (ทางลงหาดชลาทัศน์) จนมาบรรจบกับถนนราชดำเนินอีกที คราวนี้ถึงบางอ้อเลย ขบวนเรือใหญ่อันสวยงามตระการตาของงานชักพระหรือลากพระสงขลา มาจอดเรียงรายอยู่ที่นี่โดยหันหน้าขบวนไปทางแหลมสมิหลาเหมือนกันหมด ขบวนแห่ทั้งหมดมาถึงที่นี่กันตั้งแต่เช้า ผู้ร่วมงานประเพณีก็จะแต่งตัวสวยๆ งามๆ มาร่วมชักพระเป็นแถวยาวๆ เครื่องแต่กายของผู้ร่วมประเพณีก็มีส่วนในการตัดสินการประกวดเรือพระของแต่ละชุมชนที่ส่งเข้าประกวดด้วย

ตระการตาเรือพระสงขลา

ตระการตาเรือพระสงขลา ความสวยงามของขบวนเรือ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวสงขลา ชาวภาคใต้จังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่อยู่ห่างไกลให้มาชม ตอนนั้นผมคิดว่าขอแค่ให้ได้เห็นเพียงสักครั้งก็พอใจแล้ว นอกจากจะมีชาวไทยทั้งใกล้และไกลเดินทางมาชมงานนี้แล้ว ชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยก็เดินทางมาที่สงขลาร่วมชมงานชักพระที่งดงามนี้เหมือนกัน

เรือชักพระจำลอง

เรือชักพระจำลอง ความคิดสร้างสรรค์ของเจ้าของผลงานที่นำขบวนเรือพระเข้าร่วมประกวด แต่ไม่ได้สร้างเรือลำใหญ่โตมโหฬารเหมือนลำอื่นๆ แต่จำลองให้เล็กลงมาเหลือความยาวแค่ 2 ไม้บรรทัดแบบนี้ แต่ยังคงความสวยงามทั้งหมดของเรือพระไว้ เป็นไงละครับขนาดย่อเล็กแล้วยังสวยเลย จากลำแรกที่ผมเดินมาตรงหัวขบวนมีเรือพระสวยๆ ใหญ่ๆ จอดเรียงกันเป็นแถวยาวต่อเนื่อง แต่ผมคงไม่เอารูปมาลงทั้งหมด เพราะมีจำนวนเยอะมากๆ ถ้าอยากรู้ว่าเยอะขนาดไหนลองนึกภาพครับว่า ถนนราชดำเนินตั้งแต่วงเวียนแหลมสมิหลา ไปจนถึงองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สี่แยกถนนปละท่า จากนั้นท้ายขบวนมีเรือพระขนาดกลางและเล็กต่อท้าย ตามถนนปละท่ายาวมาจนถึงตลาด ประมาณ 2 กิโลเมตร เลยทีเดียวครับ แล้วจำนวนเรือพระจะมากมายขนาดไหน

ประเพณีชักพระ หรือลากพระ

ประเพณีชักพระ หรือลากพระ

เรือพระรีไซเคิล

เรือพระรีไซเคิล เป็นการประกวดในประเภทความคิดสร้างสรรค์ และการอนุรักษ์ธรรมชาติ มีการนำเอาวัสดุเหลือใช้หลายอย่างมาตกแต่งขบวนเรือ ลำนี้ใช้แผ่นซีดีเก่าเหลือใช้ หรือใช้การไม่ได้แล้ว มาเรียงกันเป็นเกล็ดพญานาคจำนวนนับพันแผ่น นอกเหนือจากการนำของเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง ยังคงความสวยงามของเรือพระไว้ได้เป็นอย่างดี เรือพระลำนี้สะท้อนแสงแดดแวววับจับตาเพราะแผ่นซีดีจำนวนนับไม่ถ้วนนี้เอง

เรือพระไม้

เรือพระไม้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งในหลายๆ แบบของเรือพระที่สร้างขึ้นมาเพื่อร่วมงานประเพณีชักพระ การใช้ไม้แกะสลักลวดลายสวยงามแบบนี้ก็เป็นที่นิยมมากในอดีต สำหรับเรือพระไม้ที่สุราษฎร์ธานีดูจะมีเยอะกว่าที่สงขลา

ประเพณีชักพระ หรือลากพระ

ประเพณีชักพระ หรือลากพระ

ประเพณีชักพระ หรือลากพระ

เรือพระหยวกกล้วย

เรือพระหยวกกล้วย เป็นลำสุดท้ายที่จะนำเสนอในวันนี้ เพราะรูปที่เราใช้มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก เพื่อไม่ให้โหลดหน้านี้ช้าเกินไปก็เลยจำกัดจำนวนรูปให้น้อยลง นอกเหนือจากที่นำมาให้ชมนี้ยังมีอีกมากมายจริงๆ ครับ เรือพระแต่ละลำสวยๆ ทั้งนั้น สร้างด้วยวัสดุที่แตกต่างกันไปตามแต่ประเภทที่ส่งเข้าประกวดแต่แน่นอนว่า เรือพระขนาดใหญ่ประเภทสวยงาม จะมีคนนิยมไปดูมากที่สุด สรุปแล้วตั้งแต่แหลมสนอ่อน เดินย้อนมาที่แหลมสมิหลา หัวขบวนเรือพระ เดินย้อนกลับไปทางตลาดตามถนนปละท่า เช้านี้ผมเดิน 4 กิโลเมตร ถ่ายรูปจุใจ กลับไปโรงแรมอาบน้ำไปทำงานต่อที่หาดใหญ่

เฮ้อ อิ่มบุญ อิ่มตา สวยจริงๆ ปีนี้ใกล้แล้วอย่าพลาดนะครับ มีจัดงานหลายจังหวัด ได้แก่ สงขลา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี ฯลฯ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ประเพณีชักพระ (ลากพระ) สงขลา
Montana Songkla เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Singora Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ ลักชัวรี เรสซิเดนซ์ สงขลา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
บีพี สมิหลา บีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.99 km | แผนที่ | เส้นทาง
พาวีเลี่ยน โฮเต็ล สงขลา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
Bedroom for 2 person at Duangthida Apartment เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.07 km | แผนที่ | เส้นทาง
สมิหลา แคมปิ้ง แอนด์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมราชมังคลาเมอเมด
  3.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
ซัน ซิตี้ แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเลค อินน์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.36 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com