www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สงขลา >> เขาตังกวน

เขาตังกวน

 เขาตังกวน เป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณปลายแหลมในตัวเมืองสงขลา ทางไปแหลมสนอ่อน บนยอดเขาตังกวนเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์พระธาตุคู่เมืองสงขลา ซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นศิลปะสมัยทวารวดี ในเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีพิธีห่มผ้าองค์เจดีย์ ประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว และยังสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองสงขลาและทิวทัศน์สองทะเล คือทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา และก่อนถึงยอดเขาตังกวนจะมีศาลาวิหารแดง (พลับพลาที่ประทับ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในสมัยนั้น สร้างพลับพลานี้ถวายตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2431 บริเวณด้านล่างเขาตังกวนมีลิงอาศัยอยู่จำนวนมาก

 เทศบาลนครสงขลา สร้างลิฟท์ขึ้นเขาตังกวน และเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2546 ค่าบริการผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 20 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถานีลิฟท์เขาตังกวน เทศบาลนครสงขลา โทร. 0 7431 6330

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานหาดใหญ่ 0 7423 1055, 0 7423 1055, 0 7423 8518
http://www.tourismthailand.org/hatyai

แก้ไขล่าสุด 2016-04-19 19:16:07 ผู้ชม 31498

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
สถานีลิฟท์เขาตังกวน

สถานีลิฟท์เขาตังกวน การเดินทางขึ้นชมเขาตังกวนขึ้นได้ 2 ทาง คือทางบันไดซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับสถานที่ต่างๆ บนยอดเขา บันไดจะขึ้นไปยังศาลาพระวิหารแดง อีกทางหนึ่งเป็นทางขึ้นด้วยลิฟท์ที่สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวจะตรงขึ้นไปยังพระเจดีย์หลวงยอดเขาตังกวนซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 105 เมตร เป็นทางที่นิยมกว่าเพราะประหยัดเวลาและกำลังกายด้วยครับ ที่หน้าสถานีลิฟท์เขาตังกวนมีลานจอดรถรองรับรถได้หลายคัน มีลิงอาศัยอยู่จำนวนมากเมื่อลงมาจากรถให้ระมัดระวังลิงแย่งชิงข้าวของ การเดินทางมาที่เขาตังกวนนั้นมาไม่ยากจากตัวเมืองสงขลามุ่งหน้ามาทางแยกสระบัวแหลมสมิหลาถนนสุขุม

ภายในสถานีลิฟท์เขาตังกวน

ภายในสถานีลิฟท์เขาตังกวน เมื่อเดินเข้ามาด้านในแล้วก็ซื้อบัตรสำหรับขึ้นลิฟท์โดยสาร บัตรราคา 30 บาทเราต้องเก็บไว้แสดงในตอนขาลง ผนังด้านในอาคารสถานีลิฟท์จะมีรูปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของสงขลาเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เลือกเดินทางไปชมในอันดับต่อไป นอกจากนี้ยังมีขนม ของฝาก ของที่ระลึกหลายอย่างขายที่นี่ให้เลือกซื้อระหว่างรอลิฟท์ที่จะเดินทางมาจากด้านบนยอดเขา

ลิฟท์ขึ้นเขาตังกวน

ลิฟท์ขึ้นเขาตังกวน ในที่สุดก็ถึงคิวของเราที่จะได้ขึ้นลิฟท์ ภายในลิฟท์มีพื้นที่ให้ยืนได้ประมาณ 10 คน มีกระจก 4 ด้านมองเห็นรางที่ลิฟท์กำลังเลือนขึ้นไปอย่างช้าๆ กับแสงสว่างที่ลอดเข้ามาจากด้านข้างรู้สึกเหมือนเดินทางข้ามมิติ

ก้าวแรกบนยอดเขาตังกวน

ก้าวแรกบนยอดเขาตังกวน ลงจากลิฟท์เรายังอยู่ในสถานีที่ล้อมด้วยกระจก มองเห็นวิวแต่ไม่ชัดเท่าไหร่ต้องออกไปนอกสถานีก่อน ที่สถานีลิฟท์ยอดเขามีแต่เครื่องดื่มบางชนิดให้เราเลือกซื้อสำหรับติดตัวไประหว่างเดินชมสถานที่ต่างๆ บนยอดเขาตังกวนแม้ว่าวิวที่เห็นจากในกระจกจะมองไม่ชัดมากแต่ก็กดไปหลายรูปโดยเฉพาะวิวที่มองเห็นเกาะหนูเกาะแมว หลังจากที่เดินออกมาจากสถานีอากาศร้อนมากเพราะเดินมาถึงเกือบเที่ยง เลยนั่งพักใกล้ๆ ประภาคารเห็นผีเสื้อหลายชนิดบินหากินบนเขาตังกวน เป็นผลพลอยได้ของเราที่มาศึกษาเขาตังกวนและได้เจอผีเสื้อมากกว่า 6 ชนิดด้วย

วิวทะเลสาบสงขลา

วิวทะเลสาบสงขลา ด้านหนึ่งจัดเป็นมุมมีม้านั่งให้เป็นจุดที่มองเห็นวิวเบื้องล่างของสงขลาได้สวยงาม ด้านนี้เป็นด้านที่มองเห็นทะเลสาบสงขลาที่ครั้งหนึ่งเคยได้ไปถ่ายรูปที่สวนสองทะเลที่มีหัวพญานาคพ่นน้ำสวยมากๆ

ประภาคาร

ประภาคาร เป็นอาคารที่สำคัญอย่างหนึ่งของเขาตังกวนสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.2439 ครั้งพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา โดยสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดให้กรมทหารเรือทำเครื่องหมายประดับประกอบตัวโคมและส่งแบบฐานปูนให้ข้าหลวงออกมาจัดการก่อสร้างประภาคารตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบริเวณที่พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) และพระยาชลยุทธโยธิน เป็นผู้เลือกสถานที่ ประภาคารนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2440

พระเจดีย์หลวง

พระเจดีย์หลวง พระเจดีย์หลวงเป็นอีกหนึ่งในโบราณสถานที่สำคัญของเขาตังกวน พระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงระฆัง สันนิษฐานว่าเป็นพระเจดีย์โบราณที่มีมานาน แต่ไม่ปรากฎหลักฐานความเป็นมาที่ชัดเจน จนต่อมาในปี พ.ศ.2402 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองสงขลา หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2409 จึงได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินหลวง 37 ชั่ง ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่กว่าของเก่า และในครั้งนั้น เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ได้สร้างคฤห์ไว้ที่ฐานพระเจดีย์ และต่อเติมเก๋งที่มุมกำแพง พระเจดีย์หลวงเป็นพระเจดีย์คู่บ้านคู่เมืองของสงขลาจึงมีการบูรณะซ่อมแซมมาโดยตลอด ในปีพ.ศ. 2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และเครื่องสักการะบูชาประดิษฐานไว้ ณ พระเจดีย์หลวง เพื่อไว้เป็นที่สักการะบูชาของชาวเมืองสงขลาสืบต่อไป หลักฐานที่พบในแผ่นศิลาจารึกในคฤห์ทางด้านทิศใต้ขององค์พระเจดีย์หลวงมีข้อความว่า "...ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินหลวงให้พระยาวิเชียรคีรีฯ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาที่ห้า ปุนะปฏิสังขรณ์ขึ้นให้สูงใหญ่กว่าของเก่า สิ้นเงินหลวงสามสิบเจดชั่งสี่ตำมลึง แต่คฤห์สองคฤห์กับเก๋งสี่มุมกำแพงแก้วเป็นของพระวิเชียรคีรีฯ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ทำทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเข้าในพระเจดีย์หลวงคิดเป็นเงินสิบเอ็ดชั่งสามตำมลึง รวมทั้งเงินหลวงทำพระเจดีย์และเงินทำคฤห์ทำเก๋งเป็นเงินสี่สิบแปดชั่ง เจ็ดตำมลึง การทั้งนี้สำเร็จในปีขาน อัฐสกจุลศักราช พันสองร้อยยี่สิบแปดนี้..." ปัจจุบันแผ่นศิลาจารึกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา

พระสยามเทวาธิราชและพระพรหม

พระสยามเทวาธิราชและพระพรหม การสักการะบูชาพระเจดีย์หลวงจะมีลำดับให้ประชาชนทราบโดยติดหมายเลขไว้ที่เก๋งทั้งสี่ทิศของพระเจดีย์หลวง เริ่มจากการสักการะพระสยามเทวาธิราชเป็นอันดับแรก พระพรหมเป็นลำดับที่ 2 ทั้งหมดมี 6 จุด แต่ละจุดให้บูชาธูป 3 ดอก ส่วนเทียนให้บูชา ณ จุดใดก็ได้ตามศรัทธา รอบๆ พระเจดีย์หลวงมีตะเกียง 8 ดวง สำหรับให้จุดธูปเทียน

หลวงปู่ทวดและสมเด็จฯ โต

หลวงปู่ทวดและสมเด็จฯ โต เป็นลำดับการบูชาที่ 3 และ 4 ตามลำดับการบูชาพระเจดีย์หลวง เลขหมายที่ปรากฎอยู่ที่เก๋งจะเป็นการนำทางให้เดินลักษณะเวียนขวารอบพระเจดีย์หลวงส่วนจะเดินจนครบ 3 รอบหรือไม่ขึ้นอยู่กับเราไม่ได้กำหนด

    พระบรมรูป เป็นจุดบูชาลำดับที่ 5

    บูชาพระธาตุเจดีย์หลวง มีพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานอยู่ ให้ว่าตามคำบูชาพระธาตุที่เขียนบอกไว้ให้ เป็นอันสิ้นสุดการบูชาพระเจดีย์หลวง ครบทั้ง 6 จุดตามลำดับที่บอกไว้ตรงทางเข้า

วิวสวยเมืองสงขลา

วิวสวยเมืองสงขลา ลานชมวิวหน้าพระเจดีย์หลวง ด้านหนึ่งของพระเจดีย์หลวงสร้างเป็นลานกว้างยื่นออกไปยาวมาก เดินไปสุดลานนี้จะมีม้านั่งให้นั่งชมวิว แต่ถ้ามากันตอนกลางวันเที่ยงๆ ไม่แนะนำให้นั่งตรงนี้ครับแดดแรงมากความจริงคนที่ขึ้นมาบนนี้ก็ไม่ค่อยเดินบนลานนี้กันเท่าไหร่ นอกจากเวลาช่วงเช้าหรือเย็นเท่านั้น ลานชมวิวแห่งนี้มีรูปหลวงปู่ทวดอยู่กลางลานบนฐานที่ยกสูงขึ้นไป ลานชมวิวหน้าพระเจดีย์หลวงจะมองเห็นตัวเมืองสงขลาได้กว้างไกลมากๆ โดยด้านขวามือและซ้ายมือเป็นน้ำทะเลสาบและทะเลขนาบสองข้าง พอดีเลนส์กว้างไม่พอเลยเห็นน้ำเพียงด้านเดียว

ศาลาพระวิหารแดง

ศาลาพระวิหารแดง จากลานพระเจดีย์หลวงมีทางเดินลงบันไดมายังศาลาพระวิหารแดง ซึ่งหากเดินทางขึ้นเขาตังกวนด้วยบันไดจะถึงศาลาพระวิหารแดงก่อน แล้วจากนั้นค่อยเดินขึ้นบันไดไปยังพระเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นทางที่ผมเดินลงมา บันไดขึ้นลงระหว่างศาลาพระวิหารแดงกับพระเจดีย์หลวงแยกออกเป็น 2 ทาง มีพญานาคเลื้อยราวบันได เฉพาะช่วงระหว่างพระเจดีย์หลวงลงมายังศาลาพระวิหารแดงก็ไกลพอสมควรแล้วครับ หากเดินตลอดทางไปถึงเชิงเขาตังกวนคงเหนื่อยไม่น้อย

ประวัติการก่อสร้างศาลาพระวิหารแดง

ประวัติการก่อสร้างศาลาพระวิหารแดง  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างพลับพลาที่ประทับนี้แต่ยังคงสร้างค้างอยู่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายูถึงเมืองสงขลา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นนมัสการพระเจดีย์บนยอดเขาตังกวน มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลาพระวิหารจนสำเร็จในเวลาต่อมา แล้วยังทรงพระราชดำริให้สร้างบันไดนาคขึ้นจากพลับพลา สำเร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2440

วิวสวยหน้าศาลาพระวิหารแดง

วิวสวยหน้าศาลาพระวิหารแดง พลับพลาที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หันหน้าพลับพลาไปด้านเชิงเขาด้านหนึ่งของเขาตังกวน เป็นบริเวณที่วิวเปิดเห็นทิวทัศน์ได้ไกล และสวยงามมากครับ

วิวเกาะหนูเกาะแมว

วิวเกาะหนูเกาะแมว หลังจากพยายามเก็บภาพวิวรอบๆ ยอดเขาตังกวนจนเป็นที่พอใจแล้วก็กลับไปที่สถานีลิฟท์เขาตังกวนเพื่อรอให้ลิฟท์พาคนขึ้นมาเราจะได้เดินทางลง

บันไดทางขึ้นเขาตังกวน

บันไดทางขึ้นเขาตังกวน อยู่ด้านตรงข้ามกับลิฟท์เขาตังกวน (คล้ายๆ เขาวังหรือพระนครคีรีที่เพชรบุรี) ภาพนี้ได้จากการขับรถวนมาถ่ายครับ ไม่ได้ลองเดินขึ้นเขาตังกวนทางบันไดเลยบอกไม่ได้ว่าเหนื่อยแค่ไหน จบการนำเที่ยวชมเขาตังกวนไว้เท่านี้ครับ ว่างๆ ลองไปศึกษาโบราณสถานทรงคุณค่าของเราชาวไทยที่เขาตังกวน สงขลา

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ เขาตังกวน สงขลา
Montana Songkla เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.88 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ ลักชัวรี เรสซิเดนซ์ สงขลา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.88 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Singora Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
บีพี สมิหลา บีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
พาวีเลี่ยน โฮเต็ล สงขลา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
Bedroom for 2 person at Duangthida Apartment เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
สมิหลา แคมปิ้ง แอนด์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเลค อินน์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
ซัน ซิตี้ แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมราชมังคลาเมอเมด
  3.49 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com