www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สงขลา >> พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ตั้งอยู่ที่ถนนวิเชียรชม เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน อายุกว่า 100 ปี เดิมเป็นบ้านพักส่วนตัวของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2421 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2437 จึงใช้เป็นที่พำนักและว่าราชการของพระวิจิตรวรศาสตร์ ข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) หลังจากนั้นใช้เป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชและเป็นศาลากลางจังหวัดจนถึงปี พ.ศ. 2496

 ในปี พ.ศ. 2516 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารนี้เป็นโบราณสถานและปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2525 ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง อาทิ บานประตูไม้เดิมของจวน เป็นศิลปะพุทธศตวรรษที่ 24 ทำด้วยไม้จำหลักเขียนสีและประดับมุกฝีมือช่างชาวจีนชั้นครู แสดงออกถึงคตินิยมในธรรมเนียมประเพณี วรรณคดี ศาสนาตามแบบจีนที่วิจิตรงดงามยังความสมบูรณ์อยู่มากโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์แหล่งโบราณคดีจากบ้านเชียงและกาญจนบุรี

เวลาเปิด-ปิด: เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-16.00น.
อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท
 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 7431 1728

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานหาดใหญ่ 0 7423 1055, 0 7423 1055, 0 7423 8518
http://www.tourismthailand.org/hatyai

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 12349

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

ด้านหน้าทางเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา เห็นแบบนี้แล้วคงพอจะเข้าใจแล้วว่าทำไมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา จึงเป็นสถานที่ที่มีการถ่ายภาพอาคารไปทำเป็นโปสการ์ดที่ระลึกของจังหวัดสงขลา การเข้าชมพิพิธพัณฑ์มีกฎเหล็กอยู่ข้อหนึ่งเหมือนกันทุกแห่งคือการห้ามถ่ายภาพภายในพิพิธภัณฑ์ แต่สำหรับที่นี่ อนุญาตให้ถ่ายภาพได้แต่ห้ามใช้แฟลช ซึ่งก่อนที่จะเข้าไปถ่ายรูปอะไรควรบอกเจ้าหน้าที่ก่อนนะครับ

ถ้าหากอยากจะมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องมาวันพุธ-วันอาทิตย์ และไม่เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เท่านั้นนะครับ วันจันทร์-วันอังคาร เป็นวันหยุดครับ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

พอเข้ามาด้านใน เราก็มาเจอประตูอีกชั้นหนึ่ง ปกติถ้าไม่ใช่ วันจันทร์กับอังคาร ประตูจะเปิดครับ แต่เราปิดไว้เพื่อถ่ายรูปเท่านั้น ซุ้มประตูขนาดใหญ่สไตล์จีนๆ บ่งบอกว่าภายในจะต้องมีอาคารในลักษณะเดียวกัน เพราะในสมัยก่อนสงขลามีชาวจีนเข้ามาติดต่อซื้อขาย และตั้งรกรากอยู่ที่นี่จำนวนมาก ในตลาดโบราณก็ยังคงมีบ้านเรือนที่เป็นทรงไทยผสมจีน และตึกชิโนโปรตุกีสให้เห็นอยู่

ทำไมพอเข้าซุ้มประตูมาแล้วยังมีกำแพงอีกชั้นหนึ่ง สงสัยมั้ยครับ ทีแรกก็งงเหมือนกัน ตอนหลังมารู้ว่าอาคารทั้งหมดนี้เคยเป็นคฤหาสน์ที่อยู่อาศัยของ เจ้าพระยาสุนทรานุรักษ์ นั่นเอง

พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองสงขลา มาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ได้สร้างคฤหาสน์ขึ้นในราวปี พ.ศ.2421 ลักษณะอาคารเป็นตึก 2 ชั้น ก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคาทรงเก๋ง มุงด้วยกระเบื้องลอนแบบจีน แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและแบ่งออกเป็นสองส่วน ด้านหน้าเป็นสนามและมีอาคารโถงชั้นเดียวขนาบอยู่ทางด้านซ้ายขวา ที่สร้างขึ้นต่อเติมภายหลัง และมีซุ้มประตูโค้งแบบตะวันตก และบันไดทางขึ้นไปยังอาคารด้านในอยู่ตรงกลางระหว่างส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนหน้าและส่วนใน อาคารด้านในเป็นอาคาร 2 ชั้น ปลูกเป็นเรือนหมู่ 4 หลัง เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงทางเดิน มีบันไดขึ้นที่ส่วนบ้านส่วนในที่เปิดโล่ง ภายในอาคารชั้นบนมีการตกแต่งด้วยศิลปกรรมแบบจีน ได้แก่ ประตูบานเฟี้ยมที่แกะสลักเป็นลวดลายแบบจีน รวมทั้งเครื่องประกอบเครื่องบนหลังคา เช่น หัวเสาและหน้าจั่วตกแต่งด้วยลายจิตรกรรมแบบจีนทั้งสิ้น

คฤหาสน์พระยาสุนทรานุรักษ์เป็นตัวอย่างของอาคารที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและศิลปะตะวันตกได้อย่างงดงามและลงตัว

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

ทีนี้พอผ่านประตูชั้นในเข้ามา เราจะเห็นอาคาร 2 ชั้นที่สวยงามรายละเอียดการก่อสร้างที่ได้เล่าไปแล้ว มีบันไดขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านในอาคาร แลดูแปลกตาไม่เหมือนอาคารไหนๆ ด้วยการผสมผสานของ จีน และตะวันตก อาคารเปิดโล่งซ้ายและขวา มีมุมถ่ายรูปหลายมุม ทั้งรถไฟ รถสามล้อ จักรยาน ฯลฯ

โซนศาสนา

โซนศาสนา เดินเข้ามาในอาคารชั้นล่าง มีอาคารให้เลือกด้านซ้ายและขวา เลยเลือกไปทางซ้ายก่อน ห้องแรกจัดเป็นโซนที่แสดงเรื่องราวของศาสนาในสงขลา มีพระพุทธรูปพร้อมคำบรรยายให้เสร็จสรรพ นอกเหนือจากข้อมูลของศิลปะวัตถุ โบราณวัตถุ ในห้องยังมีเรื่องราวประวัติการของการเปลี่ยนแปลงศาสนาในสงขลาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มให้ด้วย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แน่นไปด้วยความรู้จริงๆ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

เครื่องปั้นดินเผาปะโอ

เครื่องปั้นดินเผาปะโอ เดินมาเรื่อยๆ เราก็จะมาเห็นโซนนี้ อยู่ติดๆ กันกับเรื่องราวของศาสนา ในโซนนี้เราจะได้เรียนรู้เรื่องราวความเป็นมาของชุมชนต่างๆ ที่อยู่อาศัยในพื้นที่สงขลามาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ สักประมาณ พุทธศตวรรษที่ 12-13 หรือประมาณ 1300 ปี ก่อนนั่นเอง

ชุมชนโบราณในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ

คาบสมุทรสทิงพระ ตั้งแยู่บนคาบสมุทรมลายูซึ่งอยู่บนเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างอู่อารยธรรมสำคัญของเอเซีย คือ จีนทางตะวันออก อินเดีย และเปอร์เซียทางตะวันตก ซึ่งความรู้เรื่องการเดินเรือในสมัยโบราณที่มีข้อจำกัด นักเดินเรือต้องอาศัยทิศทางลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อเดินทางจากอินเดียและอาศัยลมมรสุมจากทางตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเดินทางจากจีนไปยังอินเดีย ทำให้พ่อค้าต้องแวะหาที่กำบังลมเพื่อซ่อมแซมเรือ เติมน้ำจืดและอาหาร รวมถึงขนถ่ายและแลกเปลี่ยนสินค้าบนคาบสมุทรภาคใต้ของไทย ทำให้เกิดเมืองท่าการค้าที่พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนที่เจริญขึ้นในเวลาต่อมา หลักฐานการเป็นชุมชนเมืองท่าชายทะเลที่เก่าแก่ของสงขลากระจายตัวอยู่ตามสันทรายตั้งแต่เขตอำเภอระโนดผ่านอำเภอสทิงพระมาจนถึงหัวเขาแดงในเขตอำเภอสิงหนครที่เรียกว่า แผ่นดินบก ในเขตอำเภอสทิงพระ คือ เมืองสทิงพระด้านที่ติดทะเลด้านนอกที่อ่าวไทย และวัดพะโคะที่อยู่บนเขาเตี้ยๆ ที่ค่อนมาทางริมฝั่งทะเลสาบสงขลา โดยพบหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับชุมชนภายนอกที่ย้อนไปได้ถึงราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 เป็นชุมชนโบราณได้แก่

ชุมชนโบราณปะโอ
ชุมชนโบราณสทิงพระ
ชุมชนโบราณสีหยัง
ชุมชนโบราณเขาคูหา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

พุทธศาสนาในคาบสมุทรสทิงพระ

พุทธศาสนาในคาบสมุทรสทิงพระ แว่บไปห้องเครื่องปั้นดินเผามาหน่อยกลับมาที่โซนของศาสนากันอีกครั้ง การเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ทำให้เรารู้เรื่องราวต่างๆ มากมาย ยิ่งเราเข้าพิพิธภัณฑ์หลายๆ จังหวัด เราจะเห็นว่าในสมัยก่อนนั้น บรรพบุรุษของเราเค้าอยู่กันอย่างไร ศาสนาต่างๆ เข้ามาในเมืองไทยเมื่อใดและอย่างไรด้วย ดูเรื่องพุทธศาสนาในสงขลามีความเป็นมาน่าสนใจดังนี้

พุทธศาสนา ได้เข้ามาสู่คาบสมุทรสทิงพระในช่วงเวลาเดียวกับศาสนาพราหมณ์ คือในราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยมีหลักฐานพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิ ทำจากหินทราย พบที่บ้านพังแฟบ ตำบลสทิงพระ มีพุทธลักษระคล้ายคลึงกับพระพุทธรูปในศิลปะฟูนัน และทวารวดี นอกจากนี้ยังปรากฏอิทธิบลพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาสภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์โจฟะ (พุทธศตวรรษที่ 14-16) ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนาคปตัม คือพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ พบที่อำเภอสทิงพระ มีอายุอยู่ในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 15

ส่วนพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ที่เผยแพร่เข้ามาในช่วงเวลาเดียวกันกับฝ่ายเถรวาท คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ก็มีการพบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสำริด 2 กร ที่มีรูปแบบเหมือนศิลปะจีน สมัยราชวงศ์ถัง และอีกองค์พบที่อำเภอสทิงพระ ซึ่งมีขนาดเล็กและอาจนำเข้ามาจากประเทศจีนในช่วงเวลานั้น และพุทธศาสนานิกายตันตระสกุลวัชระยาน ซึ่งเจริญอยู่ในอินเดียภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์ปาละ (พุทธศตวรรษที่ 13-15) โดยมีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่มีเมืองนาลันทา โดยพบว่าประติมากรรมสำริดขนาดเล็กในนิกายวัชระยานนี้มีการนำเข้าโดยตรงจากอินเดีย และแบบที่ผลิดขึ้นเองในท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพิมพ์ และยังพบรูปพระโพธิสัตว์สำริดหลายองค์ที่มีรูปแบบใกล้เคียงกับศิลปะชวาภาคกลาง ซึ่งในภาคใต้พบเฉพาะบริเวณคาบสมุทรสทิงพระเท่านั้น

ศาสนาฮินดูในสงขลา

ศาสนาฮินดูในสงขลา ในโซนศาสนา ไม่ได้แสดงแต่เรื่องราวของศาสนาพุทธเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวของศาสนาฮินดูที่สำคัญมากด้วย เพราะมีหลักฐานว่าศาสนาฮินดูก็เข้ามาสู่ประเทศไทย ในช่วงเวลาไม่ห่างกันมากนักกับศาสนาพุทธทั้ง เถรวาท และมหายาน หลักฐานนั้นก็คือ..

ถ้ำคูหา ศาสนาฮินดูในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์

ถ้ำคูหาถือเป็นหลักฐานสำคัญทางศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดของการตั้งชุมชนแรกเริ่มประวัติศาสตร์บนคาบสมุทรสทิงพระ ที่เหลือหลักฐานถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่บ้านชุมพล ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ มีถ้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น 2 แห่ง อยู่ห่างกันประมาณ 10 เมตร สร้างโดยเจาะเนินเขาเป็นถ้ำกว้างและลึกราว 3.5 x 4.5 เมตร ถ้ำทิศใต้สกัดผนังถ้ำภายในเป็นแท่นวางรูปเคารพ เพดานถ้ำเหนือแท่นวางรูปเคารพมีภาพเขียนสีแดงเป็นสัญลักษณ์ คำว่า โอม ที่มาจากอักขระ 3 ตัว คือ อุ อ ม (อ่านว่า อุ อะ มะ) ซึ่ง อุ หมายถึง พระวิษณุ อ หมายถึงพระศิวะ และ ม หมายถึงพระพรหม รวมกันแล้วคือ ตรีมูรติ หรือเทพเจ้าที่สำคัญ 3 องค์ ในศาสนาฮินดู ถ้ำทิศเหนือ มีการสกัดผนังด้านข้างเป็นรางน้ำมนต์ที่เจาะทะลุออกมานอกถ้ำ ภายในพบแท่นประดิษฐานรูปเคารพ ทางตะวันออกของเขามีคูหามีสระน้ำขนาดใหญ่ 300 x 300 เมตร เรียกว่า พังพระ ซึ่งเคยพบประติมากรรมพระอคัสตยะ หรือพระศิวะในปางมหาโยคี

จากหลักฐานภาพเขียนสีสัญลักษณ์คำว่า โอม ประติมากรรมพระวิษณุที่พบจากการขุดค้นด้านหน้าถ้ำ ชิ้นส่วนศิวลึงค์และฐานโยนิหิน สันนิษฐานได้ว่าเทวาลัย ณ เขาคูหาแห่งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12-14 โดยได้รับคติการสร้างวิหารถ้ำมาจากอินเดีย

ศิวลึงค์

ศิวลึงค์ เมื่อพูดถึงศาสนาฮินดู ก็ต้องมีเรื่องของรูปเคารพและศิวลึงค์เป็นอันดับแรก เพราะถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราจะเห็นอยู่ในปราสาทขอมเก่าแก่โบราณหลายแห่ง

รูปแบบและความเชื่อเกี่ยวกับศิวลึงค์

ศิวลึงค์เป็นรูปเคารพที่เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะเป็นรูปอวัยวะเพศชาย ได้รับอิทธิพลจากอินเดียสมัยราชวงศ์คุปตะ พุทธศตวรรษที่ 12-13 แกะสลักจากหินที่มีขนาดใหญ่ในยุคแรกจะมีลักษณะเหมือนจริง ต่อมานิยมทำให้มีส่วนประกอบ 3 ส่วนคือ ส่วนล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่าพรหมภาค หมายถึง พระพรหม ส่วนกลางเป็นทรงแปดเหลี่ยม เรียกว่า วิษณุภาค หมายถึงพระวิษณุ ส่วนบนเป็นรูปทรงกลมเรียกว่า รุทรภาค หมายถึงพระศิวะ ประดิษฐานอยู่บนฐานโยนีสัญลักษณ์เพศหญิง มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีร่องตรงกลาง เมื่อเวลาที่พราหมณ์ทำพิธีอภิเษกสรงน้ำศิวลึงค์ น้ำจะไหลลงร่องบนฐานโยนีออกไปตามรางยาว กลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ และตามคติความเชื่อแล้วการที่ศิวลึงค์ได้อยู่คู่กับโยนี จะก่อให้เกิดพลังแห่งการสร้างสรรค์และความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ปืนใหญ่

ปืนใหญ่ จากโซนศาสนา เดินมาอีกนิดเดียวเราก็จะเห็นปืนใหญ่หลายกระบอก แล้วก็ยังมีอาวุธชนิดต่างๆ ที่เคยใช้สู้รบกันจริงๆ ในสมัยก่อน เมืองสงขลาเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน ปัจจุบันยังคงมีป้อมปืนใหญ่หลงเหลือให้เห็นอยู่ในสงขลา ได้แก่ ป้อมปากน้ำแหลมทราย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

อาคารบ้านเรือนในอดีต

อาคารบ้านเรือนในอดีต ข้ามมาอีกด้านของอาคารเรื่องราวของบ้านเรือนในสมัยก่อนของสงขลา ที่ปัจจุบันยังเหลืออยู่เพียงบางส่วนให้พอได้เห็น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

ทางขึ้นชั้น 2

ทางขึ้นชั้น 2 เดินๆ ชมชั้นล่างกันครบทุกโซนแล้ว คราวนี้ลองไปดูกันบ้างว่าชั้นบนมีอะไรใช้บันไดด้านในกลุ่มอาคาร ที่สร้างอย่างไม่เหมือนใคร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

บนชั้น 2 จะเป็นเรื่องราวความเป็นมาของความสัมพันธ์ การติดต่อการค้าขาย ระหว่าง ไทย กับจีน จนเกิดความผสมผสานของวัฒนธรรมเข้าด้วยกันอย่างลงตัว อย่างที่เห็นคืออาคารพิพิธภัณฑ์หลังนี้ก็เป็นอีกหนึ่งของการผสมผสาน ลักษณะของสถาปัตยกรรม การสร้างบ้านเรือน เดิมทีข้าวของหลายชิ้นก็เคยตั้งอยู่ในคฤหาสน์หลังนี้ แล้วเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อเวลาผ่านไปนานนับร้อยปี

ประตูหน้าต่างแกะสลักลายมังกร

ประตูหน้าต่างแกะสลักลายมังกร อาคารพิพิธภัณฑ์ เคยเป็นคฤหาสน์ของพระยาสุนทรานุรักษ์ เมื่อนานมาแล้ว ในสมัยนั้นการสร้างบ้านเรือนมีทั้ง จีน ไทย ฝรั่ง รวมๆ กันอยู่ในหลังเดียว คฤหาสน์หลังนี้ก็เหมือนกัน โดยเฉพาะการตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก มักจะเป็นศิลปะลวดลายของจีน เช่นมังกรอย่างที่เห็น มีเก็บรักษาไว้ แล้วนำของใหม่มาแทนของเดิม

ธรรมาสน์และบุษบก

ธรรมาสน์และบุษบก ส่วนอีกห้องหนึ่งของชั้น 2 เราก็จะได้เห็น ธรรมาสน์ และบุษบก เก่าแก่และมีลวดลายสวยงามอย่างที่เห็น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

เสากระโดงเรือ

เสากระโดงเรือ จากด้านนอกพิพิธภัณฑ์ตอนที่เรายังไม่เข้ามาก็เห็นเสานี้ตั้งตระหง่านแต่ไกล ทีแรกเข้าใจว่าเสาธง แต่พอมาด้านในเราก็ได้เห็นชัดขึ้นว่ามันน่าจะเป็นกระโดงเรือที่ใช้เดินทางติดต่อซื้อขายกันระหว่างประเทศในสมัยอดีต รวมทั้งสมอเก่าๆ เรียงรายอยู่ใกล้กัน

ร้านพิพิธภัณฑ์

ร้านพิพิธภัณฑ์ ปิดท้ายการเดินชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา หลังจากที่ได้ความรู้มาเพียบอย่างไม่คาดคิด หากมีเวลาคงได้ดูอะไรๆ แบบละเอียดเพลินไปเลย เหมือนเดินย้อนอดีตไปในสมัย ปู่ของปู่ของปู่ อีกที พอลงมาชั้นล่างจะมีทางเดินให้ออกทางด้านหลังของอาคาร โดยผ่านร้านพิพิธภัณฑ์ มีของที่ระลึกให้เลือกซื้อ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

จากนั้นเราก็ออกมาทางด้านหลังของอาคาร และจะได้เห็นรูปแบบของอาคารหลังใหญ่จากด้านหลัง อาคารหลังนี้เราจะเห็นในโปสการ์ดที่ระลึกตามร้านต่างๆ ในสงขลา ยามเช้าและเย็นจะมีคนมาถ่ายรูปกันเพราะเป็นอาคารที่สวย ว่างๆ มาเที่ยวสงขลา ลองเดินเข้ามาชมกัน ความรู้ดีๆ เหล่านี้ รอให้คนมาหาอยู่ทุกวัน

ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำหรับทริปนี้ด้วยครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา
เดอะ ลักชัวรี เรสซิเดนซ์ สงขลา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.82 km | แผนที่ | เส้นทาง
พาวีเลี่ยน โฮเต็ล สงขลา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Singora Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
Montana Songkla เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเลค อินน์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
Bedroom for 2 person at Duangthida Apartment เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
ซัน ซิตี้ แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
บีพี สมิหลา บีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
วี เพลส เรสซิเดนซ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมวีว่า สงขลา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.64 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com