www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สมุทรสาคร >> วัดนางสาว

วัดนางสาว

 วัดนางสาว ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าไม้ เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 3091 ประมาณ 5 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวเข้าซอยวัดนางสาว 2 ประมาณ 1 กิโลเมตร ประวัติความเป็นมาของวัดมีเรื่องเล่ากันว่า เมืองสาครบุรี คือ เมืองชายทะเลตอนใต้ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อเกิดสงครามในพม่าชาวไทยกลุ่มหนึ่งได้อพยพหนีมาตามริมแม่น้ำท่าจีน คนชราและผู้หญิงได้พากันไปหลบซ่อนในโบสถ์เก่า ต่อมาคนไทยได้ช่วยกันต่อสู้กับทหารพม่าจนได้รับชัยชนะ และผู้ที่อพยพมาได้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนั้น

 ในกลุ่มนี้มีสองพี่น้องที่เคยอาศัยโบสถ์หลบหนีภัย ทั้งสองมีความคิดที่จะบูรณะโบสถ์ใหม่ แต่พี่สาวเห็นว่าโบสถ์ทรุดโทรมมากจึงไปสร้างวัดใหม่แทน น้องสาวต้องการทำตามสัจจาธิษฐานของตนว่าถ้ารอดตายจะบูรณะซ่อมแซมโบสถ์ จึงดำเนินการบูรณะจนเสร็จและตั้งชื่อว่า วัดพรหมจารีย์ ต่อมาชาวบ้านเรียกว่า วัดน้องสาว จนปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น วัดนางสาว

โบราณสถานที่สำคัญของวัดนี้ คือ โบสถ์ที่มีฐานโค้งเป็นรูปเรือสำเภาก่ออิฐ มีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียวชาวบ้านเรียกว่า โบสถ์มหาอุด หลังคามุงกระเบื้องดินเผาแบบเก่า ขื่อข้างบนใช้ไม้ซุงทั้งต้น มีเสมาคู่เป็นหินทรายขนาดเล็กอยู่รอบๆ โบสถ์ นอกจากนี้บริเวณหน้าวัดซึ่งติดกับแม่น้ำท่าจีน ยังมีอุทยานมัจฉาประกอบด้วยฝูงปลาสวายจำนวนมากอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวนิยมมาให้อาหารแก่ฝูงปลาและเที่ยวชมอยู่เสมอ

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานสมุทรสงคราม โทร. 0 3475 2847-8
http://www.tourismthailand.org/samutsongkhram

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 70011

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เดินทางสู่วัดนางสาว

เดินทางสู่วัดนางสาว การเดินทางสู่วัดนางสาวหากมาจากกรุงเทพฯ ใช้ถนนเพชรเกษม แล้วต่อด้วยเส้นทางหลวงหมายเลข 3091 น่าจะสะดวกที่สุด แต่ทริปนี้เราเดินทางมาจากบ้านแพ้ว ผ่านเส้นทางที่เป็นนาข้าว นาเกลือ รวมทั้งสวนมะนาว สวนส้มโอมาเรื่อยๆ ระหว่างทางเห็นนกจำนวนนับร้อยมาหากิน เป็นเส้นทางสำหรับศึกษาธรรมชาติได้เป็นอย่างดีแม้ว่าจะอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร

วัดนางสาววัดพัฒนาตัวอย่าง

วัดนางสาววัดพัฒนาตัวอย่าง ขับรถเข้ามาถึงบริเวณวัดมีลานจอดรถกว้างขวางและจะมองเห็นป้ายวัดพัฒนาตัวอย่างที่สร้างไว้อย่างสวยงามได้อย่างชัดเจน จากภาพที่เห็นในครั้งแรกก็เข้าใจได้ถึงที่มาของป้ายวัดพัฒนาตัวอย่างได้ทันที เนื่องจากถนนหนทางที่เข้ามายังวัดเป็นซอกซอยเล็กๆ คับแคบ แต่เมื่อมาถึงวัดกลับมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ เมื่อย้อนคิดถึงกระแสศรัทธาในการที่จะเดินทางมาทำบุญที่วัด เข้าออกไม่ใช่ง่ายๆ เส้นทางไม่สะดวก ยังสามารถรวบรวมศรัทธาพุทธศาสนิกชนมาสร้างได้ยิ่งใหญ่เพียงนี้
เมื่อจอดรถแล้วก็เดินสำรวจบริเวณวัดว่าจะมีจุดสำหรับไหว้พระตรงไหนบ้าง จะเห็นอาคารอยู่หลังหนึ่งเป็นอาคารใหญ่ที่สุดในวัดนางสาว หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเพราะในสมัยก่อนถนนไม่ค่อยสะดวกเหมือนทุกวันนี้การเดินทางยังใช้เรือเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่ของวัดจึงมีลักษณะหันหน้าไปทางลำคลอง สองด้านของอาคารหลังนี้มีมณฑปหลวงพ่อดำและมณฑปหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ สร้างอย่างสวยงามทั้งสองด้าน มียักษ์ทวารบาลยืนประจำบันไดทางขึ้นมณฑปด้านละ 2 ตน รวมเป็น 4 ตน

ศาลาวัดนางสาว

ศาลาวัดนางสาว ตรงหน้าลานจอดรถมีอาคารขนาดใหญ่คงจะยาวประมาณ 40 เมตร ด้านซ้ายและขวาของอาคารหลังนี้มีการสร้างมณฑปที่มีลักษณะเหมือนกันไว้ข้างละ 1 หลัง เมื่อเข้ามายังวัดจะถึงมณฑปหลวงพ่อดำก่อน (ด้านขวาของภาพ) ส่วนมณฑปอีกด้านหนึ่งเป็นหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ ตรงกลางของอาคารมีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นบน มีพญานาคที่สร้างได้ปราณีตงดงามมากทั้งสองข้างของบันได

โบสถ์มหาอุตตม์วัดนางสาว

โบสถ์มหาอุตตม์วัดนางสาว ก่อนที่จะสักการะหลวงพ่อวัดป่าเลไลยก์ และหลวงพ่อดำที่มณฑป เราเลือกที่จะเดินมายังโบสถ์ของวัดนางสาวก่อน โบสถ์จะอยู่ใกล้กับท่าน้ำหน้าวัดซึ่งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน โบสถ์มหาอุตตม์หลังนี้เป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อของวัดนางสาว มียักษ์ทวารบาล 2 ตน นอกกำแพง

โบสถ์มหาอุตตม์

โบสถ์มหาอุตตม์ ประวัติความเป็นมาของชื่อวัดนางสาวนั้นได้เกิดขึ้น ณ พระอุโบสถมหาอุตตม์ เดิมทีเป็นวัดเก่าร้างมากจนไม่อาจทราบประวัติความเป็นมาที่แท้จริงได้ ว่าถูกสร้างขึ้นในสมัยใด เท่าที่มีประวัตินั้นเล่าไว้ว่า หญิงสาวพี่น้องคู่หนึ่งผู้รอดพ้นจากภัยสงครามในสมัยอยุธยา ได้ลี้ภัยสงคราวมเข้ามาหลบซ่อนตัวอยู่ภายในพระอุโบสถหลังนี้ และด้วยความกลัวจึงได้อธิษฐานขอพึ่งบารมีหลวงพ่อมหาอุตตม์ในพระอุโบสถขอให้พ้นภัย และเมื่อสิ้นคำอธิษฐานภัยสงครามก็สิ้นไป ด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อมหาอุตตม์หญิงสาวพี่น้องจึงตั้งจิตเจตนาที่จะบูรณะซ่อมแซมทำนุบำรุงวัดและพระอุโบสถหลังนี้ให้ดียิ่งขึ้นไป แต่หญิงสาวผู้พี่เห็นว่าวัดนี้เก่ามากเกินไปที่จะบูรณะซ่อมแซมให้ดีได้ หลังจากได้แต่งงานกับเศรษฐีผู้หนึ่งและได้ย้ายไปอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่งถัดไป หญิงสาวผู้พี่จึงได้คิดและสร้างวัดใหม่ขึ้น อยู่ทางเหนือจากวัดนี้ไปชื่อว่า วัดกกเตย ปัจจุบันได้ร้างไปนานแล้ว ส่วนหญิงสาวผู้น้องยังคงตั้งจิตเจตนามั่นที่จะบูรณะซ่อมแซมวัดต่อไปด้วยศรัทธาเลื่อมใสโดยไม่แต่งงาน และได้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดพรหมจารี แต่ชาวบ้านชอบเรียกอีกอย่างว่า วัดนางสาว ภายหลังได้เรียกติดปากกันมาว่า วัดนางสาว ในปัจจุบัน

หลวงพ่อมหาอุตตม์

หลวงพ่อมหาอุตตม์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านใกล้เคียงที่ประชาชนทั่วไปที่เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธรูป หลวงพ่อมหาอุตตม์ มีความศรัทธาเดินทางเข้ามาสักาาระกราบไหว้ไม่ได้ขาด เนื่องจากลักษณะการสร้างโบสถ์มหาอุตตม์ที่จะต้องมีช่องทางเข้าออกได้ทางเดียวเท่านั้น ทำให้มีแสงลอดเข้ามาได้จากทางประตูโบสถ์เท่านั้น หากมีคนยืนอยู่ที่ประตูจะทำให้แสงที่ส่องเข้ามากระทบพระพุทธรูปเพียงบางส่วนอย่างที่เห็น แต่ก็ทำให้ได้ภาพที่สวยแปลกตาออกไปอีกแบบ

ลวดลายฝาผนังโบสถ์มหาอุตตม์

ลวดลายฝาผนังโบสถ์มหาอุตตม์ โบสถ์มหาอุตตม์ พระอุโบสถหลังนี้มีชื่อว่า โบสถ์มหาอุตตม์ เรื่องจากเรียกตามลักษณะที่พิเศษกว่าโบสถ์ลักษณะอื่น ที่ว่า มีทางเข้าออกเพียงด้านเดียวและไม่มีหน้าต่าง สาเหตุที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะพิเศษเช่นนี้ อาจจะเนื่องมาจากพระอุโบสถลักษณะนี้นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีการสร้างจิตรกรรมฝาผนังภายในเต็มไปทั้งผืน การเปิดช่องหน้าต่างมากอาจทำให้ความต่อเนื่งของภาพนั้นสะดุดลงก็เป็นได้ หรืออีกความเห็นหนึ่งอธิบายว่า เนื่องเพราะต้องการจะใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ในการลงอาคมของขลัง การทำเป็นอาคารทึบก็เพื่อให้อาคมคงอยู่และมีพลังความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น จะอย่างไรก็ดี พระอุโบสถมหาอุตตม์ นี้ คงเหลืออยู่น้อยมากภายในประเทศไทย อาจเหลืออยู่เพียง 3-4 แห่งเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นศาสนโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ยิ่ง

ด้าานข้างโบสถ์มหาอุตตม์

ด้าานข้างโบสถ์มหาอุตตม์ เป็นอิฐลวดลายนูนต่ำประกอบเป็นภาพเรื่องราวได้พอดีกับขนาดของโบสถ์ ทำให้ด้านนอกของโบสถ์ดูสวยงามยิ่งขึ้น

ระเบียงคดวัดนางสาว

ระเบียงคดวัดนางสาว เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ จากผู้มีจิตศรัทธาสร้างถวายวัด เป็นทางเดินทอดยาวเข้าไปอีกไกลจากอุโบสถ ระเบียงคดวัดนางสาวสร้างเลียบริมแม่น้ำท่าจีน มีศาลาพักผ่อนให้ประชาชนมานั่งพักเป็นระยะๆ เวลาในช่วงเย็นจะเห็นพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม

พระพุทธรูปบนระเบียงคด

พระพุทธรูปบนระเบียงคด เป็นภาพพระพุทธรูปบางองค์ที่ยกมาเป็นตัวอย่างเท่านั้น แต่ตลอดแนวระเบียงคดมีอีกหลายองค์เป็นปางต่างๆ กันไป เบื้องหลังขององค์พระพุทธรูป (ผนังระเบียงคดด้านใน) มีภาพจิตรกรรมสวยงามตลอดแนว

บันไดขึ้นศาลาวัดนางสาว

บันไดขึ้นศาลาวัดนางสาว หลังจากที่ได้ชมบริเวณโดยรอบของโบสถ์มหาอุตตม์ที่หาดูได้ยากมากแล้ว ก็ย้อนกลับมาเก็บภาพวัดนางสาวตรงศาลาหลังใหญ่กันต่อ บันไดทางเดินขึ้นลงอาคารหลังใหญ่กลางวัดนางสาวมีการสร้างพญานาคเลื้อย เหมือนกับวัดทั่วไป พอดีวันนี้ท้องฟ้าแจ่มใสเห็นเมฆขาวบนท้องฟ้าสีฟ้าเข้มเป็นริ้วสวย เลยหามุมที่จะทำให้เหมือนพญานาคพ่นน้ำ หรือพ่นไฟ

มณฑปหลวงพ่อป่าเลไลยก์วัดนางสาว

มณฑปหลวงพ่อป่าเลไลยก์วัดนางสาว เดินเข้ายังสุดศาลาด้านขวาเป็นมณฑปหลวงพ่อป่าเลไลยก์ มียักษ์ทวารบาล 2 ตน ข้างบันไดทางขึ้นมณฑปลักษณะภายนอกและภายในของมณฑปสร้างได้สวยงามประดับด้วยกระจกสีอย่างปราณีต

มณฑปหลวงพ่อป่าเลไลยก์

มณฑปหลวงพ่อป่าเลไลยก์ ด้านหน้าตรงทางขึ้นมองเห็นหลวงพ่อป่าเลไลยก์ประดิษฐานอยู่ตรงกลางพอดี ในแต่ละวันมีประชาชนมากราบไหว้พระในวัดนางสาวอย่างต่อเนื่อง จะได้จังหวะดีๆ กดชัตเตอร์รูปนี้ต้องรอกันนานหน่อย แต่ภาพที่ออกมาก็สวยงามคุ้มค่า ความงดงามในการก่อสร้างเหมือนพระอารามหลวงในกรุงเทพฯ มาก เมื่อได้ภาพแล้วก็เดินขึ้นไปไหว้พระหลวงพ่อป่าเลไลยก์

มณฑปหลวงพ่อป่าเลไลยก์

มณฑปหลวงพ่อป่าเลไลยก์ ความงดงามปราณีตของมณฑปจะเห็นได้จากภาพนี้ที่พยายามถ่ายบริเวณด้านหน้าออกมาให้เห็นรายละเอียดมากที่สุด ภายในของมณฑปก็สวยงามเหมือนกับภายนอก มณฑปหลวงพ่อดำอีกด้านหนึ่งก็มีลักษณะการสร้างที่งดงามปราณีตแบบเดียวกันครับ

มณฑปหลวงพ่อดำ

มณฑปหลวงพ่อดำ หลังจากไหว้หลวงพ่อป่าเลไลยก์แล้วก็เดินมายังมณฑปอีกด้านหนึ่งของอาคาร เนื่องจากเราเดินทางมาในช่วงเย็น เวลาจึงมีน้อยไปหน่อยที่จะเก็บภาพส่วนอื่นๆ ของวัดนางสาวมาให้อย่างละเอียด แต่สภาพแสงในยามเย็นก็ทำให้ได้ภาพที่สวยๆ มาหลายภาพ หากมาในตอนเช้าการถ่ายภาพจะลำบากกว่านี้เพราะเป็นทางย้อนแสง

หลวงพ่อดำวัดนางสาว

หลวงพ่อดำวัดนางสาว เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ชาวบ้านเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก แต่ละวันมีคนมากราบไหว้จำนวนมาก ความสวยงามของมณฑปก็สวยเหมือนกับมณฑปหลวงพ่อป่าเลไลยก์ เพียงแต่ว่าผมเดินมาถึงตรงนี้ก็ค่ำแล้วแล้วไม่ค่อยเห็นรายละเอียดมากนัก

ท่าน้ำวัดนางสาว

ท่าน้ำวัดนางสาว วัดนางสาวนอกจากจะมีประชาชนที่ศรัทธาหลวงพ่อมหาอุตตม์ โบสถ์มหาอุตตม์ เดินทางมาทำบุญแล้ว ยังมีประชาชนชาวบ้านใกล้เคียงเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจในวัด ท่าน้ำหน้าวัดนางสาวมีปลาขนาดใหญ่ชุกชุม นักท่องเที่ยวสามารถซื้ออาหารปลามาเลี้ยงปลาหน้าวัด หลายคนใช้เป็นที่ออกกำลังกายเดิน-วิ่ง ในวัดนางสาวในเวลาเย็นๆ พระอาทิตย์ตกที่นี่แม้ไม่สวยเหมือนจุดชมวิวบนยอดเขาแต่ก็สวยไม่น้อยเลยสำหรับวันนี้

พระอาทิตย์ตกหน้าวัดนางสาว

พระอาทิตย์ตกหน้าวัดนางสาว ฝากอีกภาพหนึ่งก่อนที่จะเดินทางกลับเพราะแสงสุดท้ายของวันนี้ได้หมดลงหลังจากที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าท่าน้ำหน้าวัดนางสาวไปนานแล้ว และคงจะถ่ายรูปอะไรไม่ได้อีกแล้ว หากยังไม่เคยไปวัดนางสาว หรือยังไม่เคยเห็นโบสถ์มหาอุตตม์ ต้องลองไปให้ได้สักครั้งครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดนางสาว สมุทรสาคร
TS Home Building Apartment เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
จอลลี่ สวีท แอนด์ สปา เพชรเกษม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
สามพราน ริเวอร์ไซด์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านนพเก้า เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
แสนรัก รีสอร์ท
  13.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
ซีน บูติก อพาร์ตเมนท์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
Studio 41 Salaya-Sai4 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านนกเอี้ยง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan Thew Talay BLU by PN เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
BKK Grand 7BR Villa and private pool เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.60 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com