www.touronthai.com

หน้าหลัก >> นครปฐม >> วัดไร่ขิง

วัดไร่ขิง

 วัดไร่ขิง ตั้งอยู่ที่ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน บนฝั่งแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 32 กิโลเมตร วัดไร่ขิงนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ทรงพระราชทานนามว่า วัดมงคลจินดาราม (ไร่ขิง) แต่ชาวบ้านเรียกกันเต็ม ๆ ว่า วัดมงคลจินดารามไร่ขิง จนกระทั่งเหลือแต่ชื่อ วัดไร่ขิง อาณาเขตวัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เขตศาสนสถานและเขตสาธารณสถานซึ่งเป็นพื้นที่ของโรงเรียนและโรงพยาบาลมีถนนตัดผ่านกลาง วัดนี้เป็นวัดราษฎร์ ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด อาศัยจากคำบอกเล่าว่า สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2394 สมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์(พุก) รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา

เมื่อสร้างวัดเสร็จได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากวัดศาลาปูน (ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างสมัยไทยล้านนาและล้านช้าง ตามตำนานเล่าว่าลอยน้ำมาและอัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดศาลาปูน) ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยามาประดิษฐานไว้เป็นพระประธานวัด ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัยแบบประยุกต์ หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ ลักษณะผึ่งผายคล้ายสมัยเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามตามแบบสุโขทัย พระพักตร์ดูคล้ายรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานเหนือฐานชุกชี พระอุโบสถ เป็นทรงโรง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฝาผนังก่ออิฐถือปูนหน้าบันเป็นลายพุดตาล ติดช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสลับสี ซุ้มประตูเป็นลายปูนปั้นเครือเถา บานประตูด้านนอกเป็นลายรดน้ำรูปท้าวจัตุโลกบาล ด้านในเป็นภาพสีรูปอสูรยักษ์ เซี้ยวกาง บานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำรูปต้นไม้พร้อมด้วยสิงสาราสัตว์ ด้านในเป็นภาพเขียนสีรูปดอกไม้ ส่วนซุ้มหน้าต่างเป็นรูปปูนปั้นลายเครือเถา

 รอบพระอุโบสถมีวิหารประจำทิศต่างๆทั้งสี่ทิศ หน้าบันใช้ปูนปั้นเป็นลายเทพพนม ไม่มีซุ้มประตูหน้าต่าง ศาลาจตุรมุข ตั้งอยู่ด้านหน้าและด้านหลังของอุโบสถเป็นศาลาทรงไทย 4 มุข หน้าบันทั้งสี่ด้านมีภาพปูนปั้นเป็นเรื่องราวพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติจนถึงปรินิพพานและการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ขอบล่างเป็นรูปปั้นราหูอมจันทร์ ปลายเสาทุกต้นมีบัวหงาย มณฑปกลางสระน้ำ เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของอุโบสถ

 วัดไร่ขิงเป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนรู้จักกันดี นิยมเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงกันอยู่เสมอ ทุกวันศุกร์และเช้าอาทิตย์จะมีตลาดนัดอาหารและผลไม้จำหน่าย ที่บริเวณริมแม่น้ำหน้าวัดเป็นเขตอภัยทาน ร่มรื่น มีปลาสวายตัวโตนับพันอาศัยอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถซื้อขนมปังเลี้ยงอาหารปลาได้อีกด้วย สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 3431 1384, 0 3432 3056

การเดินทาง สามารถใช้เส้นทางได้ 2 เส้นทาง ได้แก่

รถยนต์ ใช้เส้นทางสายถนนเพชรเกษม ผ่านสวนสามพราน ก็จะพบป้ายของวัดไร่ขิงอยู่ทางขวามือ

รถโดยสารประจำทาง นั่งรถโดยสารประจำทางปรับอากาศชั้น 2 จากสถานีขนส่งสายใต้ สายเก่า (กรุงเทพฯ-อ้อมใหญ่-สามพราน-นครปฐม) กรุงเทพฯ-ราชบุรี กรุงเทพฯ-บางลี่ กรุงเทพฯ-สุพรรณบุรีลงปากทางเข้าวัดไร่ขิงแล้วต่อรถโดยสารประจำทางเข้าไปยังวัดไร่ขิง

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานราชบุรี 032 919176-8

แก้ไขล่าสุด 2016-05-11 12:23:00 ผู้ชม 48794

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
การเดินทางสู่วัดไร่ขิงและดอนหวาย

การเดินทางสู่วัดไร่ขิงและดอนหวาย จากกรุงเทพฯหากใช้เส้นทางเพชรเกษม ผ่านไปทางนครปฐมเพื่อไปวัดไร่ขิง จะต้องกลับรถใต้สะพาน เพราะทางเข้าวัดไร่ขิงอยู่ขวามือ กลับรถมาแล้วก็เตรียมชิดทางซ้ายมือ จะมีป้ายบอกทางวัดไร่ขิง ถึงวัดไร่ขิงแล้วจากซุ้มประตูวัดจะมีลานจอดรถกว้างขวาง มีรถเข้าออกตลอดทั้งวัน มีรถหายเป็นประจำ ควรตรวจสอบตัวล็อคต่างๆ ให้ดี จากนั้นเดินตรงเข้ามาอุโบสถ

บริเวณหลังอุโบสถวัดไร่ขิง

บริเวณหลังอุโบสถวัดไร่ขิง จากลานจอดรถเดินเข้ามาจะถึงด้านหลังอุโบสถก่อน (ด้านหน้าหันไปทางแม่น้ำท่าจีน) บริเวณด้านในกำแพงอุโบสถจะมีพระพุทธรูปปางต่างๆ พระประจำวันเกิด รวมทั้งฤๅษี ที่เป็นที่ศรัทธาของประชาชนให้สักการะทำบุญ ฯลฯ
ภาพขวามือคือชีวกโกมารภัจจ์
ชีวกโกมารภัจจ์ เป็นแพทย์ประจำพุทธองค์ ตามตำนานกล่าวว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นบุตรของหญิงงามเมืองนามว่านางคณิกา ต่อมาชีวกโกมารภัจจ์ได้ศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักสิลา ก่อนสำเร็จหลักสูตรอาจารย์ของชีวกโกมารภัจจ์ได้ทดสอบความรู้โดยไปหาพืชที่มิใช่ยามารายงานให้ตนทราบ ชีวกโกมารภัจจ์ออกไปวิจัยพบว่าไม่มีพืชชนิดใดที่ไม่สามารถนำมาดัดแปลงเป็นยาไม่ได้จึงชี้แจงให้อาจารย์ทราบตามตรง อาจารย์จึงอนุมัติให้สำเร็จวิชาตามหลักสูตรในที่สุด นอกจากนี้ชีวกโกมารภัจจ์ยังเคยทำการรักษาพระเจ้าจัณฑปัชโชตผู้มีพระอัธยาศัยโหดร้าย โดยที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตมีข้อแม้ว่าห้ามใช้เนยในการรักษาเพราะเป็นสิ่งที่พระองค์เกลียด แต่ชีวกโกมารภัจจ์ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาดังกล่าว จึงแอบรักษาโดยใช้เนย แล้วใช้ไหวพริบเอาตัวรอดออกมา

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://th.wikipedia.org/wiki/ชีวกโกมารภัจจ์
คาถาบูชา มีดังนี้
ตั้งนะโม ๓ จบ
โอม นะโม ชีวะโก สิระลาอหัง กรุณิโก สัพพะ ลัตตานัง โอสะภะ ทิพพะมันตัง ประภาโส สุริยา จันทัง โกมาระวัตโต ประภาเสลิวันทามิ ปัณทิโส สุเมธะโส อะโรคา สุมะนาโหมิ

พระพุทธรูปปางประสูติ

พระพุทธรูปปางประสูติ ด้านหลังของอุโบสถ (เป็นด้านที่เดินถึงก่อนหากมาทางรถ) จะมีลานกว้างประมาณ 4x4 เมตร ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติ จากนั้นเป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิด ตั้งแต่วันอาทิตย์ ไปจนถึงวันเสาร์ แล้วมีหมอชีวกโกมารภัจจ์ อยู่ท้ายสุด ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้เป็นสิริมงคล

ศรัทธาหลั่งไหล

ศรัทธาหลั่งไหล ในวันที่ไปเก็บภาพมีประชาชนจำนวนมากมายเดินทางมาทำบุญกันในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ซึ่งการจุดเทียบธูปบูชาพระจะทำในศาลาหน้าโบสถ์

ปางเลย์ไลก์

ปางเลย์ไลก์ พระพุทธรูปเก่าแก่ประดิษฐานด้านหน้าของอุโบสถมาช้านาน

หลวงพ่อวัดไร่ขิง

หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ไม่มีชื่อเรียกเฉพาะ ประชาชนทั่วไปมักเรียกว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง อนุโลมตามชื่อวัด ตามตำนานกล่าวว่าหลวงพ่อทำด้วยเนื้อสัมฤทธิ์ ประทับนั่งปางมารวิชัยหรือปางชำนะมารแบบประยุกต์ หลวงพ่อวัดไร่ขิงมีลักษณะผึ่งผายคล้ายเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามตามแบบสุโขทัย แต่พระพักตร์ดูคล้ายรัตน์โกสินทร์ ประดิษฐานเหนือฐานชุกชี มีขนาดกว้าง ๔ ศอก ๒ นิ้ว สูง ๔ ศอก ๑๖ นิ้ว
ประวัติ
หลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือกันอย่างมากองค์หนึ่งของผู้คนในจังหวัดนครปฐม และละแวกใกล้เคียง ความเป็นมาของหลวงพ่อนั้นมีเล่ากันเป็นหลายสำนวน ทีแพร่หลายที่สุดเห็นจะได้แก่เรื่องพ่อลอยน้ำมาปรากฏที่หน้าวัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๕ อันตรงกับวันพระและเป็นเทศกาลสงกรานต์ด้วยผู้คนที่ชุมนุมกันอยู่ที่วัดจึงช่วยกันอาราธนาหลวงพ่อขึ้นจากน้ำ ในขณะนั้นที่อาราธนานั้นเองแสงแดดกล้าที่อยู่ก็หลบลง เกิดเมฆทะทึน ลมพัดแรง ฝนตกโปรยปรายลงมาจนเย็นฉ่ำ ทั่วกัน
เรื่องราวของหลวงพ่อยังมีเล่ากันเป็นอื่นอีก ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์(พุก) ตั้งแต่ครั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศาลาปูนพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระพุฒาจารย์นั้นพื้นเพของท่านเป็นชาวนครชัยศรี เล่ากันเป็นสองนัยว่าท่านเป็นผู้สร้าง วัดไร่ขิง เมื่อปี ๒๓๙๔ แล้วอาราธนาพระพุทธรูปจากอยุธยามาเป็นพระประธานกับอีกความหนึ่งว่า วัดไร่ขิงเดิมมีพระประธานอยู่แล้วแต่องค์เล็ก สมเด็จพระพุฒาจารย์จึงบอกให้ไปนำพระพุทธรูปจากวัดของท่าน ซึ่งผู้คนจากวัดไร่ขิงก็พากันขึ้นไปรับ เชิญลงแพไม้ไผ่ล่องลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำท่าจีนจนถึงวัด

ตามตำนานกล่าวถึงการได้มาซึ่งหลวงพ่อวัดไร่ขิงว่าได้ถูกอัญเชิญมากจากกรุงเก่า (พระนครศรีอยุธยา) เป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนนับถือมาก ในวันที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากท่าน้ำที่หน้าวัดไร่ขิงตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันสงกรานต์ มีประชาชนมาชุมนุมกันมาก ในขณะที่อัญเชิญหลวงพ่อวัดไร่ขิงขึ้นจากน้ำสู่ประรำพิธี เกิดความมหัศจรรย์ แสงแดดที่แผดจ้ากลับพลันหายไป ความร้อนระดุในวันสงกรานต์กลางเดือนห้า บังเกิดมีเมฆดำทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองก้องในนภากาศ บันดาลให้ฝนโปรยลงมา ยังความเย็นฉ่ำใจทั่วหน้าทุกคนในที่นั้นเกิดความยินดี พากันอธิษฐานจิต “ขอหลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลทำให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร” และในบัดนี้ก็ปรากฏเป็นความจริงแจ้งประจักษ์ ว่าหลวงพ่อได้ดลบันดาลให้เกิดสภาพการณ์อย่างนั้นแก่ทุกคนที่ประพฤติธรรม
เรื่องราวความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิงดูเหมือนจะเกี่ยวข้องกับน้ำอยู่ตามสมควร ในประวัติพระพุทธรูปหลายสำวนก็นับท่านรวมอยู่ในพระพุทธรูปห้าองค์พี่น้องที่ลอยน้ำมาจากทาเหนือ และขึ้นประดิษฐาน ณ ที่ต่างๆ กันด้วยหลวงพ่อประดิษฐานเป็นที่เคารพกราบไหว้อยู่ ณ วัดไร่ขิงมาเป็นเวลานานเป็นที่รู้จักเรียกขานในนามหลวงพ่อวัดไร่ขิง คนในท้องถิ่นต่างเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์และมักกราบไหว้บนบานเมื่อมีทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ สิ่งของที่นิยมนำมาถวายหลวงพ่อ นอกจากดอกไม้ ธูปเทียน ทองคำเปลวแล้ว ยังมีตุ๊กตาช้างม้า ว่าว ประทัด และละครรำ เป็นอาทิ

พุทธลักษณะ ศิลปะผสม องค์พระแบบเชียงแสนพระพักตร์แบบรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาด หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๒ นิ้ว วัสดุ สำริดลงรักปิดทอง
คาถาบูชาหลวงพ่อวัดไร่ขิง
(ตั้งนะโม 3 จบ)
กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา มะเหสักขายะ เทวะตายะ อะธิปาถิตัง อิทธิปาฏิหาริกัง มังคะละจินตารามพุทธะปะฏิมากะรัง ปูชามิหัง ยาวะชีวัญจะ สุกัมมิโก สุขะปัตถิตายะ

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/หลวงพ่อวัดไร่ขิง
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=prapathep&date=21-07-2007&group=4&gblog=7

ประชาชนกราบไหว้หลวงพ่อวัดไร่ขิง

ประชาชนกราบไหว้หลวงพ่อวัดไร่ขิง ภายอุโบสถมีคนอยู่แน่นขนัดที่เข้ามากราบขอพรหลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นสิริมงคล ทำให้มีคนอีกจำนวนมากยืนรออยู่ตรงประตูเพื่อที่เข้ามาภายใน

ไร้เดียงสา

ไร้เดียงสา เห็นกล้องตัวใหญ่อยู่บนขาตั้ง เด็กคนนี้ก็เอาแต่จ้องว่ามาทำอะไรกัน เลยใช้คอมแพคเก็บภาพมา ก็เบลอกันตามระเบียบ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดไร่ขิง

ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดไร่ขิง ภายในอุโบสถวัดไร่ขิงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามทั่วผนังตามแบบการสร้างอุโบสถทั่วไป ในภาพนี้เข้าใจว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับองค์ปฐมเจดีย์ซึ่งเป็นภาพแรกๆ ใกล้ประตูด้านซ้าย (หันหน้าเข้าหาโบสถ์) ถัดไปจากนี้ไม่สามารถเก็บภาพได้แล้วเพราะคนเยอะมาก

มองหลวงพ่อวัดไร่ขิงผ่านประตูโบสถ์

มองหลวงพ่อวัดไร่ขิงผ่านประตูโบสถ์

จุดเทียนบูชาพระ

จุดเทียนบูชาพระ ในศาลาหน้าอุโบสถมีเชิงเทียนสูงเกือบเท่าคนตั้งไว้ใกล้กัน เป็นคู่ มีคนมาจุดเทียนตั้งไว้ที่เชิงเทียนนี้จำนวนมาก

นางรำ

นางรำ เป็นคณะบุตรแม่ทองเจือรุ่งเกษม เป็นนักเรียน ซึ่งคณะนี้จะแสดงอยู่ภายนอกกำแพงโบสถ์ด้านหน้า มีศาลาใกล้สวนหย่อมของวัดไร่ขิง
ภาพล่างซ้ายเป็นนางรำในคณะที่มีอายุน้อยที่สุดครับ มีความกล้าแสดงออกอย่างมากเลย

บุตรแม่ทองเจือรุ่งเกษม

บุตรแม่ทองเจือรุ่งเกษม

สวนหย่อมวัดไร่ขิง

สวนหย่อมวัดไร่ขิง เป็นบริเวณที่ค่อนข้างร่มรื่นหากเปรียบเทียบกับส่วนอื่นๆ ของวัด (ไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่ครับ) ศาลาภาพบนขวาเป็นจุดที่จะมีการแสดงฟ้อนรำตามความประสงค์ของประชาชน (อาจจะมีการแก้บนรวมอยู่ด้วย)
ส่วนภาพขวาเป็นศาลาท่าน้ำหน้าวัดไร่ขิง สำหรับเดินทางทางเรือ และเป็นจุดซื้อบัตรขึ้นเรือสำหรับเดินทางไปตลาดน้ำดอนหวายได้ด้วย

รูปปูนปั้นเทพบนหลังคา

รูปปูนปั้นเทพบนหลังคา เป็นมุมของศาลาหน้าอุโบสถวัดไร่ขิง เห็นมีลักษณะโดดเด่นกว่าหลังคาของศาลาอื่นๆ เพราะมีเทพ หรือเทวดาประจำทั้งสี่มุม

กุฎิไม้แกะสลัก

กุฎิไม้แกะสลัก เป็นกุฎิสงฆ์ที่มีความสวยงามมากหลังหนึ่งเพราะทำจากไม้มีลวดลายแกะสลักโดยตลอด

หอระฆังและมณฑปวัดไร่ขิง

หอระฆังและมณฑปวัดไร่ขิง เป็นหอระฆังที่สร้างได้สวยงาม อยู่ข้างพระมณฑป มุมกล้องหลอกตานิดหน่อยเหมือนจะเอียงแต่เป็นเพราะเลนส์มุมกว้างครับ ท้องฟ้าแจ่มใสอากาศร้อนมาก ลานตรงนี้ตามปกติเป็นลานจอดรถเมื่อคนเดินทางกลับในช่วงบ่ายแก่ๆ ลานนี้จะว่าง
มีพิราบอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ปกติมีคนเอาข้าวแห้งมาโปรย แล้วนกจะบินลงมา รวมทั้งหมาก็มาด้วย

ยักษ์ทวารบาลประตูพระมณฑป มีอยู่ประตูละ 2 ตน ทั้งสี่ทิศรอบพระมณฑป รวมเป็น 8 ตน

ท่าน้ำวัดไร่ขิง

ท่าน้ำวัดไร่ขิง ภาพหลังจากที่เดินออกมาที่ท่าน้ำบริเวณนี้เป็นที่สำหรับเลี้ยงอาหารปลา มีปลาขนาดใหญ่แหวกว่ายอยู่ชุกชุม ประชาชนจะมาเลี้ยงอาหารปลาโดยพาเด็กๆ มาด้วย เด็กจะชอบการเลี้ยงปลากันมาก ตลอดแนวของสะพานท่าเรือที่สร้างไว้มีคนอยู่เต็มไปหมด

นอกจากการเลี้ยงอาหารปลาแล้วยังมีเรือบริการนำเที่ยวแม่น้ำนครชัยศรี เส้นทางที่นักท่องเที่ยวนิยมมากคือล่องเรือไปยังตลาดน้ำดอนหวาย โดยไม่ต้องเดินทางไปทางรถยนต์เพราะจะหาที่จอดได้ยากกว่าในวัดไร่ขิง

เรือข้ามฟาก

เรือข้ามฟาก อีกกิจกรรมหนึ่งของการมาเที่ยวที่วัดไร่ขิงที่ได้รับความนิยมมากคือการนั่งเรือข้ามฟากไปร้านอาหารบนแพฝั่งตรงข้าม ก๋วยเตี๋ยวร้านนี้อร่อยเป็นที่รู้จักกันดี อิ่มแล้วมีเรือบริการข้ามฟากกลับมายังวัดไร่ขิง

ท่าน้ำหน้าวัดไร่ขิง

ท่าน้ำหน้าวัดไร่ขิง อีกภาพหนึ่งที่ถ่ายจากอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำ วิวที่ท่าน้ำวัดไร่ขิงที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวซึ่งมีทั้งคนที่มาเลี้ยงอาหารปลา และคนที่เตรียมจะขึ้นเรือไปเส้นทางตลาดดอนหวาย

หน้าต่างอุโบสถวัดไร่ขิง

หน้าต่างอุโบสถวัดไร่ขิง จากด้านข้างของอุโบสถมองเห็นหลวงพ่อวัดไร่ขิงได้ชัดเจน สำหรับบานหน้าต่างมีเหล็กดัดลวดลายงดงามเหมือนกันทุกบาน ทั้งสองด้านของอุโบสถ

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ในวัดไร่ขิงหลักๆ แล้วคนที่เดินทางมาก็เพื่อให้ได้สักการะหลวงพ่อวัดไร่ขิงอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนจำนวนมาก นอกจากนี้ข้างๆ อุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อวัดไร่ขิงแล้วด้านข้างก็มีพื้นที่สำหรับถวายสังฆทาน รองรับประชาชนได้พร้อมกันจำนวนมาก
ถัดออกไปนอกกำแพงพระอุโบสถมีศาลาขนาดใหญ่ ตั้งหุ่นศิลปิน ยอดรักสลักใจ เพื่อเป็นอนุสรณ์รูปปั้นนี้ตั้งอยู่ในวัดไร่ขิงด้านข้างของอุโบสถ มีประวัติของยอดรัก ตั้งแสดงอยู่ให้ศึกษา และยังมีรูปปั้นศิลปินอมตะอย่างล้อต๊อกอีกด้วย
สำหรับภาพซ้ายล่าง เป็นจังหวะบังเอิญระหว่างเดินทางกลับที่ได้เห็นชายร่างพิการกับลูกหมาตัวน้อยนั่งหันหน้าเข้าหากันอย่างพอดี เป็นภาพที่น่าเวทนาแต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้หลายคนอมยิ้มกับท่าทางไม่รู้เรื่องของเจ้าลูกหมาน้อย

รีวิว วัดไร่ขิง นครปฐม


 "ต.ไร่ขิง อ.สามพรานจ.นครปฐม"

Aggie Suphan
2017-10-18 17:10:13

วัดไร่ขิง นครปฐม


 "งานมหกรรมกล้วยไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับ นครปฐม จัดถึง 1 มกราคม 2560"

Akkasid Tom Wisesklin
2016-12-26 08:35:11

วัดไร่ขิง นครปฐม


0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดไร่ขิง นครปฐม
สามพราน ริเวอร์ไซด์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
ปานเทวี ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท แอนด์ สปา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.46 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านนกเอี้ยง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
Plernplace เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  6.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
Earth Mansion Sai 5 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
TS Home Building Apartment เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Pride เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
อาร์เค ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ต แอนด์ สปา (เรือนเครือวัลย์) เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.03 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 20 ตร.ม. – สามพราน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
Papasstar Residence Deluxe 2 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดไร่ขิง นครปฐม
ตลาดสุขใจสวนสามพราน นครปฐม
  2.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดท่าพูด นครปฐม
  3.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
ลานแสดงช้างและฟาร์มจระเข้สามพราน
  3.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
ปฐม ออร์แกนิก ฟาร์ม
  4.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
สักการสถาน บุญราศีนิโคลาส นครปฐม
  6.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดดอนหวาย นครปฐม
  6.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
งานเทศกาลกล้วยไม้บาน และงานไม้ดอกไม้ประดับ สามพราน นครปฐม
  7.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดสามพราน
  7.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
มานะ ออร์คิด นครปฐม
  9.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย นครปฐม
  10.39 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com