www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อุตรดิตถ์ >> วัดพระนอนพุทธไสยาสน์

วัดพระนอนพุทธไสยาสน์

  วัดพระนอนพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่บนเนินเขาเหมือนกับวัดพระยืนพุทธบาทยุคลและวัดพระแท่นศิลาอาสน์ แต่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับทั้งสองวัด มีถนนคั่นอยู่ตรงกลาง ทั้งสามวัดอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันในเขตอำเภอลับแล แต่ห่างจากตัวเมืองเพียง 6 กิโลเมตร สิ่งสำคัญในวัดพระนอนพุทธไสยาสน์คือ พระแท่นพระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ในมณฑปทรงจตุรมุข บานประตูไม้แกะสลักลงรักปิดทองสวยงามมาก มีตำนานเล่าว่า ชาวบ้านไปเลี้ยงวัวบนเนินเขานี้ พบแท่นศิลาใหญ่มีพระพุทธรูปทองคำนอนท่าพระพุทธไสยาสน์อยู่ จึงไปเรียกให้ชาวบ้านมาดู แต่ไม่พบพระพุทธรูปไสยาสน์ ชาวบ้านเห็นเป็นอัศจรรย์จึงสร้างมณฑปครอบ ภายหลังมีเสียงวิพากษ์ว่า แท่นพระนอนแต่ไม่มีพระนอน ชาวบ้านจึงช่วยกันสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นเจตนาจะอัญเชิญไปประดิษฐานอยู่บนพระแท่นในมณฑป แต่องค์พระที่สร้างมีขนาดใหญ่กว่าช่องประตู เข้ามณฑปไม่ได้จึงต้องสร้างศาลาไว้เพื่อประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์อีกหลังหนึ่ง

 จากคำบอกเล่าอีกกระแสหนึ่งจากผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าให้ฟังว่า วัดพระนอนพุทธไสยาสน์แห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับวัดพระแท่นศิลาอาสน์อยู่อย่างหนึ่ง ก็คือตามตำนานมีว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยชาติเป็นสัตว์ 5 ชนิด คือ ไก่ นาค เต่า วัว และราชสีห์ เคยมาประชุมจัดเรียงลำดับการเป็นพระพุทธเจ้าบนแท่นศิลาแห่งนี้ และเมื่อตรัสรู้แล้วทุกพระองค์จะมานั่งบำเพ็ญบารมีบนแท่นศิลานี้ตามพุทธวิสัย ก็มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จไสยาสน์ก็อาจจะมาบรรทมที่วัดพระนอนพุทธไสยาสน์ จึงได้มีการสร้างพระแท่นขึ้นมาโดยไม่มีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่บนพระแท่น ครั้นพุทธศาสนิกชนจะสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นไปประดิษฐานบนพระแท่นก็อาจจะเป็นการไม่บังควร จึงปล่อยให้พระแท่นว่างอยู่จนทุกวันนี้

ข้อมูลเพิ่มเติม:ติดต่อวัดพระนอนพุทธไสยาสน์ โทร. 055-453568

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 13137

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอน

พระพุทธไสยาสน์ หรือพระนอน วัดพระนอนพุทธไสยาสน์เป็นวัดลำดับที่ 3 ของการเดินทางเข้ามาไหว้พระเก็บข้อมูลท่องเที่ยวของผมในจังหวัดอุตรดิตถ์ วัดแรกคือวัดพระยืนพุทธบาทยุคล เพราะผมเดินทางเข้าอุตรดิตถ์แบบไม่เหมือนปกติทุกครั้งที่มักจะขึ้นมาทางพิษณุโลก แต่คราวนี้ผมขึ้นมาทางสุโขทัย ผ่านศรีสัชนาลัย แล้วเลี้ยวมาอุตรดิตถ์ มาถึงวัดพระแท่นศิลาอาสน์ก็สะดุดตากับความสวยงามที่เห็นจากด้านนอกของวัดก็เลยหาที่จอด กว่าจะเจอที่เหมาะก็เป็นลานจอดรถหน้าวัดพระยืนพุทธบาทยุคล ก็เลยไป 2 วัดแรกก่อนแล้วมาที่วัดพระนอน

หน้าวัดพระนอนมีบันไดนาคสูงจากบนเขายาวลงไปจนถึงริมถนน แต่ผมพยายามหาทางเอารถขึ้นมาถึงยอดเขาเพราะไม่อยากจะเดินโดยจอดรถเอาไว้ริมถนน มีป้ายเล็กๆ เขียนว่าทางขึ้นวัดพระนอน เลยหน้าวัดไปอีกประมาณ 50 เมตร ก็เลยขับขึ้นมาจอดข้างๆ ศาลาพระพุทธไสยาสน์

พระพุทธไสยาสน์เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาในยุคหลัง อันเนื่องมาจากพระแท่นและมณฑปนั้นสร้างขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2501 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2505 จากประวัติที่เล่าว่าพระแท่นในมณฑปนั้นควรจะเป็นพระแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ แต่กลับว่างเปล่ามานาน เจ้าอาวาสพร้อมด้วยชาวบ้านสร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นมาโดยวัดขนาดให้พอดีกับพระแท่น หวังจะได้นำไปประดิษฐานบนพระแท่น แต่ความกว้างของฐานพระใหญ่กว่าช่องประตูของมณฑป จึงได้สร้างศาลาประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์เป็นการชั่วคราว ผมก็ไปสอบถามชาวบ้านและพระภิกษุผู้ดูแลศาลาแห่งนี้ ก็มีคำบอกเล่าว่าพระแท่นนั้นเกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติ น่าจะเคยเป็นที่พระพุทธเจ้ามาประทับไสยาสน์ ณ ที่แห่งนี้มาก่อน ครั้นจะสร้างพระไปประดิษฐานบนพระแท่นอาจจะเป็นการไม่สมควร ปัจจุบันทางวัดกำลังรวบรวมกำลังศรัทธาสร้างวิหารขึ้นมาเพื่อประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์นี้เป็นการถาวร

ผมได้ถามความเป็นมาเกี่ยวกับพระนอนในศาลาว่าทำไมจึงไม่ประดิษฐานไว้ในมณฑป คำตอบที่ได้ก็อย่างที่เล่ามานั้นละครับ แต่ก็ยังสงสัยอยู่อีกข้อหนึ่งว่า คนที่มาวัดพระนอนจะมาไหว้พระนอนในศาลาหรือไปสักการะพระแท่นในมณฑป ก็ได้คำตอบว่ามีทั้ง 2 แบบ บางคนเดินทางมาเพื่อชมพระแท่น และก็มีหลายคนมาไหว้พระนอน แต่ไม่ว่าความตั้งใจจะเป็นอย่างไหน ก็ได้ไหว้ทั้ง 2 อย่างละครับ เพราะอยู่ใกล้ๆ กัน

วัดพระนอนพุทธไสยาสน์

มณฑปพระแท่นเป็นมณฑปทรงจตุรมุข ไม่มีหลักฐานการสร้างที่ละเอียดมากนัก มีเพียงจารึกที่ติดอยู่บนหน้าบันว่าสร้างพ.ศ. 2501 เสร็จ พ.ศ. 2505 มณฑปหลังนี้มีช่องประตูเปิดได้ทั้งสี่ด้าน มีลานประทักษินรอบๆ ล้อมด้วยกำแพง พื้นที่ที่สร้างมณฑปมีลักษณะเป็นเขาจึงต้องสร้างพื้นสูงขึ้นมาจากพื้นดินค่อนข้างมาก

วัดพระนอนพุทธไสยาสน์

ภายในมณฑปวัดพระนอนพุทธไสยาสน์

ภายในมณฑปวัดพระนอนพุทธไสยาสน์ ประตูของมณฑปทรงจตุรมุขเข้าได้ทั้ง 4 ทาง ผมเลือกเข้าทางด้านหน้าที่หันเข้าหาถนน ภายในมีโต๊ะหมู่บูชาพร้อมพระพุทธรูปหลายองค์ ด้านหลังโต๊ะหมู่ก็จะเห็นพระแท่นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ แต่ช่องประตูที่สร้างไว้มีขนาดเท่าประตูทั่วไป พระพุทธรูปองค์ใหญ่เลยเข้ามาไม่ได้ การที่มีพระแท่นที่ว่างเปล่าอยู่เช่นนี้ก็สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับผู้คนที่มาพบเห็นได้เหมือนกัน

วัดพระนอนพุทธไสยาสน์

สะพานลอยหน้าวัด

สะพานลอยหน้าวัด เป็นสะพานลอยข้ามถนนแต่ไม่ได้สร้างเพียงเพื่อข้ามถนนได้เท่านั้น แต่ยังสร้างเลยเข้ามาเชื่อมกับวัดพระนอนพุทธไสยาสน์ที่อยู่บนเนินเขาได้ด้วย นับเป็นสะพานลอยที่รูปร่างแปลกที่สุด และน่าจะยาวที่สุดในอุตรดิตถ์เลยทีเดียว อีกฝั่งของสะพานลอยก็คือวัดพระยืนพุทธบาทยุคลนั่นเอง

วัดพระนอนพุทธไสยาสน์

นี่ก็เป็นบันไดนาคหน้าวัด ถ้าไม่ได้ขับรถมาเองแล้วต้องเดินขึ้นมาละก็คงไม่เบาเหมือนกันนะครับเนี่ย จบการพาชมวัดพระนอนพุทธไสยาสน์จังหวัดอุตรดิตถ์ เท่านี้ครับผม

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดพระนอนพุทธไสยาสน์ อุตรดิตถ์
โรงแรมมาลาดี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมฟรายเดย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสีหราช เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.15 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุนี บูทีก โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
O.U.M.HOTEL เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
ล้อมรัก รีสอร์ต อุตรดิตถ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
Good Room เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
JUTHAMANSION HAPPINESS เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.99 km | แผนที่ | เส้นทาง
จงรักษ์พักดี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.09 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไลท์เฮาท์รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดพระนอนพุทธไสยาสน์ อุตรดิตถ์
วัดพระนอนพุทธไสยาสน์ อุตรดิตถ์
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระยืนพุทธบาทยุคล อุตรดิตถ์
  0.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระแท่นศิลาอาสน์ อุตรดิตถ์
  0.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อุตรดิตถ์
  1.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
ประเพณีวันอัฐมีบูชา อุตรดิตถ์
  1.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดกลาง อุตรดิตถ์
  8.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
หลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน อุตรดิตถ์
  9.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ อุตรดิตถ์
  9.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดเจดีย์คีรีวิหาร อุตรดิตถ์
  9.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
หอวัฒนธรรมวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์
  9.67 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com