www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อุตรดิตถ์ >> ประเพณีวันอัฐมีบูชา

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

 วันอัฐมีบูชา คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน) ถือเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6 ของไทย)

นอกจากนั้น วันนี้เป็นวันคล้ายวันที่พระนางสิริมหามายา องค์พระพุทธมารดาสิ้นพระชนม์ (หลังประสูติ) และเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสวยวิมุตติสุขตลอด 7 วัน (หลังตรัสรู้) อีกด้วย

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 7 วัน มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งเมืองกุสินารา

เป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมีนั้น เมื่อเวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วนได้ประกอบพิธีบูชาขึ้น มีการเวียนเทียนเป็นต้น แต่ไม่ทั่วไปทั่วราชอาณาจักร โดยจะประกอบพิธีในบางวัดเท่านั้นตามแต่ความศรัทธาของท้องถิ่น เช่น ประเพณีถวายพระเพลิงฯ จำลอง ที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมีขึ้นในวันที่ 8 หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละในราตรี 15 ค่ำ เดือน 6 โดยพวกเจ้ามัลลกษัตริย์จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ใน เมืองกุสินาราตลอด 7 วัน แล้วให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออก ของพระนคร เพื่อถวาย พระเพลิง พวกเจ้ามัลละถามถึงวิธีปฏิบัติพระสรีระกับพระอานนท์เถระ แล้วทำตามคำของพระเถระนั้นคือ ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด

จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ จึงสอบถามสาเหตุ พระอนุรุทธะ พระเถระ แจ้งว่า "เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้" ก็เทวดา เหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูปโดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด

หลังจากที่พระเพลิงเผาซึ่งเผาไหม้พระพุทธสรีระดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตรอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่างๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตนแต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน แต่ในสุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย เนื่องจากโทณพราหมณ์ได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยเสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งกษัตริย์แต่ละเมืองทรงสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามเมืองต่างๆ

ดังนี้ กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวสาลี

กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกบิลพัสดุ์

กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองอัลลกัปปะ

กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองรามคาม

มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวฏฐทีปกะ

กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองปาวา

พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองราชคฤห์

มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกุสินารา

กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร (อังคารสถูป) ที่เมืองปิปผลิวัน

โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ที่เมืองกุสินารา (ทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุแจก, คำว่า ตุมพะ แปลว่า ทะนาน, บางทีเรียกสถูปนี้ว่า ตุมพสถูป)

สำหรับกรณีของกษัตริย์เมืองโมริยะนั้น ได้ส่งผู้แทนมาหลังจากที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทั้ง 8 เมืองไปแล้วจึงได้อัญเชิญพระอังคารไปแทน ส่วนโทณพราหมณ์ ก็ได้สร้างสถูปบรรจุทะนานที่ใช้สำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุสำหรับตนเอง และผู้คนได้สักการะดังที่ได้กล่าวไป ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/วันอัฏฐมีบูชา

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานแพร่ 0 5452 1118-9, 0 5452 1127
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 9479

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
พระบรมธาตุทุ่งยั้ง

พระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตั้งอยู่ที่ทุ่งยั้ง อำเภอลับแล แต่อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์แค่นิดเดียวจนรู้สึกเหมือนกับว่าพระธาตุองค์นี้ยังอยู่ในเขตอำเภอเมือง การเดินทางจากตัวเมืองไปทางอำเภอลับแลเพียง 5 กิโลเมตร เท่านั้น ก่อนหน้านี้ผมเคยมาที่วัดพระบรมธาตุ(ทุ่งยั้ง) เพื่อเก็บภาพและรวบรวมข้อมูลเขียนรีวิวเรื่องวัดแห่งนี้ครั้งหนึ่ง ตอนนี้ก็เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งตั้งใจจะมาร่วมงานอัฐมีบูชาและชมการแสดงแสงสีเสียง พิธีถวายพระเพลิงพระสรีระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล ให้พุทธศาสนิกชนได้รำลึกถึงวันสำคัญทางศาสนาอีกวันหนึ่ง

วันจัดงานเป็นวันแรม 8 ค่ำ หลังจากวันวิสาขบูชา ก็คือ 8 วันหลังจากวันวิสาขบูชานั่นเอง ชาวพุทธหลายคนก็คงไปร่วมพิธีทางศาสนาในวันพระใหญ่วันเพ็ญเดือนหกกันมาก พอถึงวันอัฐมีบูชา คนก็เลยค่อนข้างเบาบาง พอดีปีนี้จัดขึ้นตรงกับวันเสาร์ ผมก็เลยออกจากบ้านตี 3 กะว่าจะให้ถึงอุตรดิตถ์ประมาณ 5 โมงเย็น โดยหาที่แวะไหว้พระทำบุญระหว่างทาง ตามถนนสายเอเซีย ได้แก่ วัดม่วงอ่างทอง วัดต้นสน วัดอัมพวัน วัดพระนอนจักรสีห์ ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงพิษณุโลก ไหว้พระพุทธชินราช เที่ยวงานสี่แยกอินโดจีน ไปอุตรดิตถ์ มาถึงแบบเฉียดฉิวจริงๆ พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าพอดี เหลือแสงสวยๆ ด้านหลังพระธาตุให้เก็บภาพได้

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

เมื่อมาถึงวัดเราก็ปรี่เข้าไปที่องค์พระธาตุเพื่อเก็บภาพแสงสวยๆ ยามเย็นก่อนที่จะมืดลง จากนั้นก็เดินมาที่บริเวณงานประเพณีวันอัฐมีบูชา ซึ่งหมายถึงการแสดงแสงสีเสียงการถวายพระเพลิงจำลอง มีการเตรียมพระจิตกาธานจำลอง สร้างไว้ที่เบื้องหน้าพระพุทธรูปปางปรินิพพาน เป็นพื้นที่สำหรับการแสดงที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ภายในวัดวันนี้คึกคักมากพ่อค้าแม่ค้ามาเปิดร้านขายของตามลักษณะของงานวัดที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป รอบๆ พระจิตกาธานจำลองก็มีเก้าอี้จัดเตรียมไว้ให้ประชาชนได้นั่ง โซนหนึ่งทางด้านตะวันออกจัดไว้สำหรับนักปฏิบัติธรรมหรือผู้ถือศิลอุโบสถ แต่กายด้วยชุดขาว ส่วนด้านหนือส่วนหนึ่งสำหรับประธานพิธี และพระภิกษุ ที่เหลือเราก็เลือกนั่งได้เลยครับ ส่วนช่างภาพที่มาเก็บภาพงานในวันนี้ก็มากันเยอะทีเดียว ส่วนใหญ่จะเดินไปเดินมาย้ายมุมกล้องมากกว่าการปักหลักอยู่กับที่

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

งานเริ่มต้นขึ้นเวลาประมาณ 19.00 น. ประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน จากนั้นก็จะมีเรื่องราวปฐมบทของการจัดงานรวมทั้งพุทธประวัติตอนหลังวันปรินิพพาน ซึ่งส่วนใหญ่เราไม่ค่อยจะได้ยินที่ไหนบ่อยนัก การเรียนการสอนพระพุทธศาสนาก็มักจะกล่าวถึงวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน แต่เรื่องราวหลังจากนั้นจะหาอ่านหาศึกษายากสักหน่อย แม้ว่าจะอ่านตำรากันมาบ้างแล้วก็นึกภาพไม่ค่อยออก วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งจึงจัดงานวันอัฐมีบูชาขึ้นมา มีการแสดงเรื่องราวเหตุการณ์นั้นให้เราได้เห็นภาพ

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

เริ่มเรื่องราวการย้อนเวลาไปในสมัยพุทธกาล ไม่ใช่ 2600 ปี ที่ผ่านมา แต่เรื่องราวที่ถูกยกมาเป็นการแสดงแสงสีเสียงของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ย้อนเวลาถอยหลังไปถึงสมัยพระกุกกุสันโธพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าพระองค์แรก) ได้เสด็จอยู่ในเขาซอกนอกเมืองทุ่งยั้ง ทรงยกหัตถ์ลูบเศียรเกล้า พระเกศาหล่นลงมาเส้นหนึ่ง พระยาศรีโศกราชเจ้าบรรจุไว้ในถ้ำเมืองทุ่งยั้ง มีพยากรณ์ว่า ในกาลเบื้องหน้ามหากษัตริยาธิราชจักได้นำพระบรมธาตุแห่งพระพุทธกัสสปะ, พระโกนาคม, พระสมณโคดม และพระศรีอาริยะเมตไตย มาบรรจุไว้ดุจเดียวกัน สัมมาสัมพุทธัสสะ ในพุทธกาลแห่งสมณะโคดมพระศรีสุธรรมโศกราชเจ้าเสด็จมายังเมืองนี้ มีพระราชศรัทธาขุดแผ่นดินถ้ำเมืองทุ่งยั้งลึก 4 วา กว้าง 10 วา 3 ศอก บริจาคพระราชทรัพย์ หล่ออ่างทองบรรจุพระอุทกธาราใส ประดิษฐานสิงโตทองเด่นเป็นสง่า อัญเชิญพระนารายณ์รักษาพระบรมธาตุบรรจุในผอบแก้วใสในมณฑปทองคำ พระอิศวรถือจักรทองคำรักษาเบื้องหน้า พระวิรุฬหกถือพระขรรค์ทองคำรักษาดานทักษิณ

สรุปใจความประมาณได้ว่า พระบรมธาตุทุ่งยั้งไม่ใช่สถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันพระองค์เดียว แต่ยังมีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีต ก่อนหน้านี้มีลักษณะเป็นถ้ำก่อนที่จะถูกขุดออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นมา

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

ตำนานการสร้างพระเจดีย์ที่ทุ่งยั้ง เรื่องราวมาแต่กาลนานว่า ชายชาวไร่ไปไถไร่ทั้งในเพลาเช้า ถึงต้นเสิ่งเป็นกำหนดอัศจรรย์ พระบรมธาตุเปล่งรัศมีสีทองสว่าง จึงนำความไปบอกนายยอดทุ่งยั้งแห่งเมืองสังกะโลก

อคโขพระมหาเถลาทัยพร้อมชาวเมืองอธิษฐานแม้นเมื่อข้าพระพุทธเจ้าจักได้มีโอกาสอุปถัมภกยอยกพระศาสนาแล้วไซร้ ขอจงได้แสดงยมกปฏิหาริย์ด้วยเทอญ สิ้นคำอธิษฐาน พระบรมธาตุแตกเป็นพลุทั่วเท่าลูกมะพร้าวคนทั้งมวลได้ทำการสักการะนมัสการ ตัดเสียซึ่งต้นรังสร้างพระเจดีย์ครอบไว้เป็นสำคัญ

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

การแสดงยังคงดำเนินเรื่องราวสมัยพุทธกาลหลังจากที่ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของเมืองทุ่งยั้งที่มีความเกี่ยวข้องกับพระศาสนา ย้อนไปเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาละ วโนทยาน เมืองกุสินาราแคว้นมัลละ เมื่อปัจฉิมยาม ยามแห่งราตรีวิสาขบูชาขบูรณมี มหามงคลสมัย ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 โดยมีพระอานนท์ถวายการดูแลตามพระพุทธานมัติในพุทธฎีกาให้ปูพระแท่นประนิพพานไสยา ระหว่างต้นสาละทั้งคู่ พระพุทธองค์เสด็จไสยาสน์ตะแคงขวา หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ตั้งพระบาทเหลื่อมด้วยพระบาท ตั้งพระทัยดำรงพระสติสัมปชัญญะ ประทับท่าสีหไสยาสน์ พระราชปัจฉิมโอวาสแก่หมู่สาวกซึ่งชุมนุมอยู่ ณ ที่ที่นั้นหลายพันคนว่า

"...ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่ตถาคตพึงจะบอกแก่ท่านทั้งหลาย ตถาคตได้บอกหมดแล้ว สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ท่านทั้งหลายจงพยายามเพื่อความหลุดพ้น ด้วยความไม่ประมาทเถิด..."

แล้วพระองค์ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์ยิ่ง ต้นสาละทั้งคู่นั้นผลิดอกบานสะพรั่ง ทั้งมิใช่ฤดูกาลที่จะออกดอก แล้วปลิดร่วงกรูลงบูชาพระพุทธองค์ดงพรมดอกไม้ คลุมทั่วพระพุทธสรีระ ตลอดจนดอกมณฑารพ ดอกไม้ทิพย์จากสรวงสวรรค์ ก็โปรยปรายลงมาจากนภากาศ ดนตรีสวรรค์บรรเลงเพลงอย่างเพราะพริ้วแว่วหวานเป็นพุทธบูชา

มัลลกษัตริย์ มีความเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยิ่งนัก ได้ทำการสักการะบูชาพระพุทธสรีระ ด้วยการให้ฟ้อนรำ ประโคมดนตรี ดาดเพดานด้วยพวงดอกไม้ ประดับมาลัยสุคนชาติเป็นเอนกประการ เพื่อกระทำพุทธบูชาพระสรีระ ด้วยมโหฬารสักการะ

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

จนล่วงเวลาไป 6 วัน วันที่ 7 ก็อัญเชิญพระพุทธสรีระไปประดิษฐานเพื่อถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกของพระนครกุสินารา โปรดให้ตกแต่งพระพุทธสรีระ ดังพระสรีระของจอมจักรพรรดิ โดยห่อยด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่แล้วซับ ใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์และของหอมทุกชนิด เพื่อเตรียมการถวายพระเพลิง ในวันแรม 7 ค่ำ เดือน 6

การแสดงที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งได้เตรียมมาเป็นอย่างดีก็คือจิตกาธานจำลอง พระพุทธสรีระจำลอง การอัญเชิญด้วยขบวนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมาสู่พระจิตกาธาน รอการถวายพระเพลิง มีเหล่าภิกษุ ประชาชนมากมายร่วมขบวน

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

ท้าวสหัมบดีมหาพรหม ผู้กล่าวอมตะวาจาในวันปรินิพพานว่า "สรรพสัตว์โลกย่อมต้องทอดทิ้งร่างกายทับถมแผ่นดิน แม้พระพุทธเจ้าผู้ซึ่งเป็นที่พึ่งของโลกยังต้องดับขันธ์ปรินิพพาน" ท้าวโกสีย์เทวราช ผู้กล่าวอมตะวาจาว่า "สังขารนี้ไม่จีรังยั่งยืนเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา การระงับสังขารได้เป็นความสุข"

ได้นำเทวดานางฟ้า คนธรรพ์ สาวสวรรค์ รุกขเทวดาและวัตถุเทวา จากทุกมณฑลในสากลจักรวาล พร้อมกันมาทำการสักการะบูชาพระพุทธสรีระ

พระภิกษุทั้งหลายอันเป็นสาวกแห่งพระพุทธองค์ ซึ่งแยกย้ายกันไปเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพุทธองค์ในแว่นแคว้นต่างๆ เมื่อทราบข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ต่างก็รีบมาเพื่อถวายความเคารพพระองค์เป็นครั้งสุดท้าย โดยกระทำอัญชลีและทักษิณาวัตร 1 รอบ แล้วจึงถวายอภิวาท ด้วยรำลึกถึงประโอวาทและพระปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์ที่ว่า "หันททานิ ภิกขเว อามันตยามิโว วยธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ อะยัง ตถาคตัสสะ ปัจฉิมา วาจะ"

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

ข่าวการเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ทราบไปถึงเมืองใด เหล่าฤๅษี ดาบส ผู้ทรงพรตและเหล่าพราหมณ์ ไปจนถึงอุบาสกอุบาสิกา ทั้งหลายก็ได้รอนแรมเดินทางมาให้ถึงโดยเร็ว เพื่อถวายเครื่องสักการะ น้อมรำลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า

แม้ว่าที่เห็นอยู่นี้จะเป็นการแสดง แต่ก็มีการนำเอาการบูชาเพื่อรำลึกถึงวันคล้ายวันอัฐมีบูชาในครั้งพุทธกาลเข้ามาด้วย เหล่าพระภิกษุและญาติธรรมผู้ถืออุโบสถศิล ประชาชนที่มาร่วมชมการแสดงทั้งหมดก็ได้นำเอาดอกไม้ธูปเทียนขึ้นไปสักการะพระพุทธสรีระจำลอง ผู้ชมจำนวนมากที่นั่งชมรอบบริเวณการแสดงก็ต่อคิวกันยาวเหยียดเดินขึ้นไปบนจิตกาธานแล้วก็ลงมาอีกด้านหนึ่งจนครบทุกคนแล้ว ก็วกกลับเข้ามาที่การแสดงต่อ

เมื่อครั้งพุทธกาล หลังจากที่ทุกผ่ายทุกคนที่เดินทางมาถวายสักการะพระพุทธสรีระแล้ว มัลลกษัตริย์และพระราชวงศ์ผู้จัดงานจนครบ 7 วัน แม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่ก็เต็มตื้นด้วยปิติศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จถวายเครื่องสักการะพระพุทธสรีระเป็นชุดสุดท้าย

ครั้นถวายเสร็จก็โปรดให้มัลละปาโมกข์ 4 องค์ นำเพลิงเข้าไปยังจิตกาธาน 4 ทิศ เพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ แม้จะพยายามจุดอยู่หลายครั้งเพลิงก็ไม่ติด มัลลกษัตริย์จึงได้ทูลถามพระอนุรุทธเถระเจ้า ซึ่งเป็นพระประธานฝ่ายบรรชิต ถึงเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว

พระอนุรุทธได้อรรถาธิบายว่า เหล่าเทวดาที่อยู่ ณ ที่แห่งนี้มีความประสงค์ หากพระมหากัสสปพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ 500 รูป ซึ่งกำลังเดินทางไกลจากเมืองปาวาย มาสู่เมืองกุสินารา ยังมาไม่ถึง เพลิงก็จะไม่สามารถติดขึ้นได้

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

พระมหากัสสปเถระ เดินทางมาถึงในยามบ่ายของวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ตรงไปยังมกุฏพันธนเจดีย์สถานที่ถวายพระเพลิง ก็วางเครื่องธุดงค์ลงในที่อันควร ดำเนินเข้าไปใกล้จิตกาธาน ทำอัญชลีนมัสการทำทักษิณาวัตรรอบจิตกาธาน แล้วถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรของตน พอพระมหากัสสปเถระเจ้า และหมู่สงฆ์ 500 รูปได้ถวายบังคมแล้ว พระบาทของพระพุทธสรีระก็ทะลุจากหีบ แล้วจิตกาธานแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ลุกโชติช่วงขึ้นเองดังเพลิงทิพย์ด้วยเทวาฤทธานุภาพ

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

พระเพลิงเผาผลาญพระบรมศพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ 7 วัน จนพระสรีระภายนอกอันตรธานเป็นอากาศธาตุไปสิ้น ไม่ปรากฏเถ้าหรือเขม่าแม้แต่น้อย ส่วนที่เหลือเป็นพระบรมสารีริกธาตุอันได้แก่ พระอัฐิ พระเกศา พระโลมา พระนขา และพระทันตะ กับผ้าขาวเป็นเครื่องห่อพระบรมสารีริกธาตุในจิตกาธาน

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

เมื่อพระสรีระแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าฌาปนกิจเสร็จแล้ว ก็บังเกิดอุทกธาราน้ำไหลหลั่งลงมาจากนภากาศ รวมทั้งชโลทกวารี พุพุ่งจากพฤกษาชาติ ดับจิตกาธาน ครั้นเสร็จแล้วจึงเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานในสัณฐาคารศาลาภายในกุสินรานคร ให้พิทักษ์ปกป้องด้วยผองทหารกล้า มิให้ผู้ใดเข้ามาแย่งชิงไป และทรงกระทำการสักการะบูชาด้วยฟ้อนรำดุริยะ สังคีตประโคมชัย ตกแต่งบุปผามาลัยสุคนธชาติเป็นอเนกนานาประการสมโภชเอิกเกริกจนสิ้นกาล 7 วัน

ประเพณีวันอัฐมีบูชา

การแสดงและการถวายสักการะบูชาในวันอัฐมีบูชาที่ได้มีการนำเอาดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาพระพุทธสรีระจำลอง จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก หรืออาจจะรู้จักบ้างแต่ไม่รู่ว่าสำคัญอย่างไร และอีกเหตุหนึ่งคือเป็นวันที่ห่างจากวันวิสาขบูชาเพียง 8 วัน สถานที่หรือวัดที่จัดงานอัฐมีบูชาก็ไม่มาก จึงไม่ค่อยจะได้เห็นงานแบบนี้บ่อยนัก เฉพาะที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นเสมือนการนำเอาประเพณีบูชาวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มาประกอบกับการแสดงให้เป็นเรื่องราวยาวต่อเนื่องกันไป ผู้มาชมก็เลยมีส่วนร่วมในการแสดงชุดนี้ไปด้วย แม้ว่าชาวพุทธในจังหวัดอื่นๆ จะไม่ค่อยมีโอกาส แต่ชาวอุตรดิตถ์จะมาร่วมงานนี้กันเป็นประจำทุกปี ได้ทั้งบุญ ทั้งยังได้ชมการแสดงที่สวยงามเช่นนี้แล้ว ปีหน้าอย่าลืมมาร่วมงานกันนะครับ

สำหรับเรื่องราวในพระพุทธประวัติเกี่ยวกับวันอัฐมีบูชา จะมีรายละเอียดมากกว่าที่ผมเล่ามานี้อีกมาก ที่ผมต้องขอตัดเอาบางส่วนออกไปเพื่อไม่ให้เนื้อหายาวเกินไป เอาเป็นว่าพอสังเขปครับ ถ้าสนใจลองค้นหาข้อมูลโดยละเอียดได้จาก Google นะครับ

วัดพระบรมธาตุ(ทุ่งยั้ง)

วัดพระบรมธาตุ(ทุ่งยั้ง) นี่เป็นภาพพระวิหารหลวง ที่ประดิษฐานหลวงพ่อหลักเมือง องค์พระประธานประดิษฐานในพระวิหารหลวง สร้างใน พ.ศ. 2283 พระเจ้าบรมโกศทรงให้สร้างในคราวที่ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดบรมธาตุเมืองทุ่งยั้ง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะแบบอู่ทองหน้าตักกว้าง 2 วา 11 นิ้ว สูง 3 วา 10 นิ้ว ชาวบ้านนิยมเรียกชื่อหลวงพ่อหลักเมืองว่าหลวงพ่อประธานเฒ่า หลวงพ่อหลักเมืองประธานเฒ่า และหลวงพ่อโต เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะของประชาชน เพราะได้รับสิ่งพึงปรารถนาตามอธิษฐาน

ส่วนด้านหลังของพระวิหารหลวงก็คือพระธาตุเจดีย์ ที่เรียกกันว่าพระธาตุทุ่งยั้ง หลังจากเสร็จสิ้นการแสดงแสงสีเสียง วันอัฐมีบูชา เราก็เดินมาที่วิหารเพื่อเก็บภาพกลางคืนที่เปิดไฟสวยๆ หาดูได้ยากครับ

วิหารหลวงวัดพระธาตุทุ่งยั้ง

วิหารหลวงวัดพระธาตุทุ่งยั้ง ยืนอยู่ด้านหน้าของพระวิหารหลวง ก็มองเห็นหลวงพ่อหลักเมืององค์ใหญ่อยู่ด้านใน 

ก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านกัน นักท่องเที่ยวก็จะมากราบไหว้หลวงพ่อขอพรกันเยอะครับ

พระบรมธาตุทุ่งยั้ง

พระบรมธาตุทุ่งยั้ง จบการเดินทางร่วมบุญงานอัฐมีบูชาครั้งแรกในชีวิตเอาไว้เท่านี้ครับ มีข่าวคราวอัพเดตอะไรก็จะมาบอกเล่ากันในโอกาสหน้า แต่ขอบอกว่าเราชาวพุทธควรได้ร่วมงานนี้สักครั้ง เพราะไม่ได้มีจัดกันทั่วไป อย่างน้อย แรม 8 ค่ำ เดือน 6 คราวหน้า ออกมาไหว้พระ ตักบาตร ทำบุญกัน ครับ เพราะเป็นวันสำคัญทางศาสนาอีกวันหนึ่งเหมือนกัน

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ประเพณีวันอัฐมีบูชา อุตรดิตถ์
โรงแรมมาลาดี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมฟรายเดย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  6.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสีหราช เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  6.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุนี บูทีก โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  6.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
O.U.M.HOTEL เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
ล้อมรัก รีสอร์ต อุตรดิตถ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
Good Room เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
จงรักษ์พักดี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.84 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไลท์เฮาท์รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
JUTHAMANSION HAPPINESS เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ประเพณีวันอัฐมีบูชา อุตรดิตถ์
ประเพณีวันอัฐมีบูชา อุตรดิตถ์
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อุตรดิตถ์
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระนอนพุทธไสยาสน์ อุตรดิตถ์
  1.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระยืนพุทธบาทยุคล อุตรดิตถ์
  1.67 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระแท่นศิลาอาสน์ อุตรดิตถ์
  2.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดกลาง อุตรดิตถ์
  6.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
หลวงพ่อเพชร วัดท่าถนน อุตรดิตถ์
  8.09 km | แผนที่ | เส้นทาง
หอวัฒนธรรมวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์
  8.56 km | แผนที่ | เส้นทาง
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก อุตรดิตถ์
  9.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดธรรมาธิปไตย อุตรดิตถ์
  9.75 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com