www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กระบี่ >> วัดแก้วโกรวาราม

วัดแก้วโกรวาราม

 ตั้งอยู่ในเมืองกระบี่ เมื่อเดินทางเข้าเมืองกระบี่ครั้งใดก็จะเห็นวัดแห่งนี้กับอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่สีขาวทั้งหลัง โดดเด่นเป็นสง่ายามขับรถผ่านไปมา จากตัวเมืองกระบี่จะไปหาดอ่าวนาง หาดนพรัตน์ธารา สุสานหอย ก็จะผ่านวัดแห่งนี้เป็นประจำ จนได้มากระบี่อีกครั้งหนึ่งและได้เห็นว่าอุโบสถที่เห็นอยู่หลายครั้ง บัดนี้สร้างเกือบเสร็จสมบูรณ์แล้วและเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะพระประธานในอุโบสถ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาถ่ายรูปวัดแห่งนี้เป็นที่ระลึก หลังจากที่ได้เดินชมเมืองกระบี่

ประวัติความเป็นมาวัดแก้วโกรวาราม

 เดิมทีเมื่อมีการย้ายเมืองกระบี่มาจากเมืองเก่าเมื่อง 2415 , 2415 ย้ายเมืองกระบี่มาตั้งขึ้นใหม่ที่บริเวณปากแม่น้ำกระบี่ เกิดชุมชนขึ้นที่บ้านปากน้ำ ชาวพุทธส่วนใหญ่เลยร่วมกันสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นมาตรงบริเวณที่ตั้งวัด เรียกว่า วัดปากน้ำกเรื่อยมา จนถึง พ.ศ. 2450 ทางรายการได้ย้ายพระแก้วโกลก ชื่มเดิมท่านมี ณ ถลาง ซึ่งต่อมาท่านก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นรองอำมาตย์เอกพระยา อิสราพิชัย ท่านก็เริ่มบูรณปฏิสังขรณ์วัดปากน้ำ และขอชื่อไปใหม่ไปยังเจ้าคณะมณฑลภูเก็ต พร้อมด้วยขอพระมาเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัด ทางเจ้าคณะมณฑลภูเก็ตร่วมกับพระยารัษฎานุประดิษฐ์จัดส่งพระครูธรรมมาวุฒิวิสิทธิ์ หลวงปู่กิม ชื่อกิม แสงแก้ว จากภูเก็ตมาอยู่ตั้งแต่ 2450 และท่านเริ่มบูรณะพัฒนาวัด และท่านได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดกระบี่รูปแรกตั้งแต่ 2450 แล้วทางการก็ประทานนามใหม่มาให้ว่าวัดแก้วโกรวาราม ใช้ชื่อพระแก้วโกลก แผลงทอเป็นวอ เป็นแก้วโกลก จากนั้นก็การพัฒนาบูรณะเรื่อยมา เนื่องจากพระครูธรรมาวุฒิท่านเข้มแข็งมาก เอาใจใส่มาก ท่านเลยจัดให้มีการศึกษาขึ้น มีการศึกษาธรรมบาลี แล้วทางราชการเข้ามาขอตั้งโรงเรียนมัธยมแห่งแรกในวัด ในบริเวณวัดเป็นโรงเรียนมัธยมโดยพระแก้วโกลกเป็นผู้จัดหาครู จัดหางบประมาณต่าง ๆ มาโรงเรียนประจำจังหวัด พระครูธรรมาวุฒิสนับสนุนและยังอนุญาตให้พระเณรเข้าเรียนในโรงเรียนประจำจังหวัดด้วยโรงเรียนมัธยมสอนแค่ ม.3

 จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2475 หลวงปู่กินหรือพระครูธรรมาวุฒิท่านได้ลาออกแต่ท่านลาออกแล้วท่านก็ไม่ได้ไปไหนหรอกคงอยู่ช่วยงานไปจนถึงมรณภาพ พ.ศ. 2484 ท่านมรภาพ เจ้าอาวาสองค์ถัดมาคือหลวงปู่พระราชสุตกวี สิงห์ เป็นศิษย์ของหลวงปู่กิมนั่นแหละ ท่านเป็นชาวกระบี่เหมือนกัน หลวงปู่กิมส่งไปเรียนที่กรุงเทพฯ จนได้เปรียญ 6 ประโยค กลับมาเป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดกระบี่รูปต่อ หลวงปู่สิงห์พระราชสุตกวี อยู่เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดจนถึง พ.ศ. 2527 และท่านก็มรณภาพด้วยอายุ 93 ปี แล้วต่อจากนั้นอาตมาก็รับหน้าที่ต่อมาจนถึง พ.ศ. 2540 เนื่องจากอาตมามีปัญหาสุขภาพเรื่องตา สายตาก็เลยลาออก ซึ่งบอกเนี่ยความเป็นมาเบื้องต้นของวัดแก้วโกรวาราม เป็นอย่างนี้

 นั้นเนื่องจากความเข้มแข็ง ความขยันของหลวงปู่กิมหรือพระครูธรรมาวุฒิเนี่ย ท่านก็เลยบุกเบิกจับจองที่ที่รกร้างว่างเปล่าได้กว่า 300 ไร่ แต่ว่าพอออกโฉนดอะไร ๆ ก็ตัดไปบ้างให้ชาวบ้านไปบ้าง ปัจจุบันเหลืออยู่ 202 ไร่ แล้วก็ป่าไม้นี่ที่เห็นอยู่นี่เป็นป่าไม้ของวัด เป็นป่าไม้ธรรมชาติที่ทางเทศบาล คนในเทศบาลเขาขอร้องไว้ว่าให้ไว้ อนุรักษ์ไว้เป็นปอดของคนเมืองกระบี่เพราะมัรนอยู่กลางเมืองรอบๆ วัดเอง บ้าน ตลาด

 ปัจจุบันปีปัจจุบันเราจะเอาเกี่ยวกับโบราณสถาน พระอุโบสถหลังเก่า แม้ว่าจะเป็นพระอุโบสถไม้แต่ก็สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาบำเพ็ญกุศลวิสาขบูชาเมื่อ พ.ศ. 2513 และก็ปลายปีสมเด็จย่าก็เสด็จมาประชุม พอ.สว. ด้วยที่โบสถ์เก่านี่ และปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แล้วมีทางราชการได้สร้างหอแสดงภาพหรือโบราณวัตถุต่าง ๆ อยู่ใกล้เคียงกัน อันนั้นเป็นเกี่ยวกับเรื่องโบราณวัตถุสถานต่าง ๆ ในวัดก็ตั้งแสดงอยู่ที่นั่น เช่น เครื่องใช้ของพระราชสุตกวี หรือของหลวงปู่กิมในอดีต

 สืบเนื่องมาจากว่า โบสถ์หลังเก่านี่เป็นอุโบสถไม้ อาตมาเองก็ปรารภกันมาตั้งแต่สมัยหลวงปู่องค์ก่อนพระราชสุตกวี แต่ก็ตอนนั้นยังไม่มีกำลังเงินพอก็เลยมาถึงยุคอาตมา อาตมาก็ระดมทุนได้บางส่วน แล้วก็ปรึกษากับนายชวน ภูเกล้าล้วน เป็นประธานกรรมการวัด ให้ท่านเป็นผู้หาแบบ บังเอิญท่านคุณชวนมีความคุ้นเคยวิสาสะกับครอบครัว ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ก็เลยขอให้ช่วยออกแบบให้ ออกแบบแล้วก็ลงมือสร้างเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงขณะนี้ก็เสร็จไปแล้วประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโบสถ์เก่านั้นก็ไม่ได้รื้อออก คุณชวน ภูเก้าล้วน รับจะไปบูรณปฏิสังขรณ์และจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา เพราะว่ามีของเก่าอยู่ภายในหลายชิ้น

http://www.stou.ac.th/study/sumrit/7-54/page4-7-54.html

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานจังหวัดกระบี่ โทร. 0 7562 2163
http://www.tourismthailand.org/krabi

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 39434

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
บันไดขึ้นพระอุโบสถวัดแก้วโกรวาราม

บันไดขึ้นพระอุโบสถวัดแก้วโกรวาราม เริ่มการเดินทางเข้าวัดแก้วโกรวารามแห่งนี้ด้วยการเดินกันนี่แหละครับ เพื่อให้เข้าใจกันง่ายขึ้นภาพที่เห็นนี้ถ่ายจากถนนมหาราช ผมจอดรถไว้ในตลาดแล้วเดินข้ามถนนมาครับ การเดินทางมาที่กระบี่ผมมาหลายครั้งหลายปีแต่ละครั้งก็ห่างกันหลายเดือนครับ เมื่อก่อนจะไม่มีบันไดสีขาวนี้ทอดยาวไปสู่พระอุโบสถวัดแก้วโกรวารามอย่างที่เห็น เคยเห็นว่ามีการก่อสร้างพระอุโบสถสีขาวหลังใหญ่ทุกๆ ครั้งที่ผมขับรถไปตามถนนมหาราชพอสุดทางแล้วผมจะเลี้ยวขวาเป็นทางขึ้นเนินที่ไม่ชันมากเป็นทางโค้ง จะเห็นโบสถ์สีขาวสวยงามมากอยู่ขวามือแต่ตอนนี้ยังสร้างไม่เสร็จเลยไม่ได้แวะเข้าไปชม ถัดจากอุโบสถไปจะเห็นพิพิธภัณฑ์วัดแก้วโกรวาราม อยู่ซ้ายมือคู่กับอุโบสถเก่า กลับมาที่บันไดแห่งนี้กันต่อบันไดนี้เองก็เพิ่งสร้างเสร็จได้ไม่นานและยังกำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงตกแต่งบริเวณรอบๆ อีกหลายอย่าง แต่เท่าที่ได้เห็นในวันนี้ก็นับว่าสวยงามมากแล้วครับ

ทางเดินบนบันไดช่วงที่ 2

ทางเดินบนบันไดช่วงที่ 2 เห็นจากริมถนนมหาราชมองดูเหมือนไม่ไกลแต่พอมาเดินจริงๆ ก็ไกลเหมือนกันนะครับเนี่ย ตรงนี้เป็นช่วงที่ 2 ของบันไดเป็นลานเรียบๆ ก่อนที่จะขึ้นบันไดช่วงสุดท้ายที่เริ่มจะเพิ่มระดับความชันตามสภาพภูมิประเทศภาพที่เห็นในตอนนี้เป็นภาพที่สวยงามมากครับ หากว่าการปรับปรุงบริเวณรอบๆ หลังงานก่อสร้างเสร็จสิ้นลงคงจะสวยกว่านี้มากแน่นอน เสาโคมไฟรอบทางเดินก็สวยลงตัวกับแบบของอุโบสถ

บันไดนาค

บันไดนาค ช่วงสุดท้ายของการเดินขึ้นบันไดไปอุโบสถมีบันไดนาคที่แตกต่างจากที่เคยเห็นมาคือบันไดนาคไม่ได้สร้างให้นาคยาวตลอดบันไดทั้งหมด แต่แบ่งออกเป็นช่วงๆ 3 ช่วงด้วยกันครับ

ลวดลายพญานาค

ลวดลายพญานาค ด้วยความสวยงามของบันไดนาคทั้ง 2 ข้างของบันไดเลยเก็บภาพส่วนหัวมาให้ชมกันให้เห็นรายละเอียดของการสร้างงานบันไดนาคที่ละเอียดอ่อน

พระอุโบสถและศาลาราย

พระอุโบสถและศาลาราย ทั้งหมดสร้างบนลานทักษินมีบริเวณรอบกว้างขวางไม่มีกำแพงแก้ว ทางเดินขึ้นลงทั้งด้านหน้าและดานข้างสร้างประตูเปิดปิดได้ ศาลารายแต่ละหลังสร้างสีขาวทั้งหลังอย่างกลมกลืนกันกับพระอุโบสถที่อยู่ตรงกลางหากได้เดินทางมาช่วงเช้าแสงพอเหมาะและท้องฟ้าเปิดจะได้ภาพสวยสดใสตั้งแต่ภายนอกวันนี้ก็นับว่าเป็นวันที่ท้องฟ้าเข้าข้างเลยถ่ายภาพพระอุโบสถใหม่แห่งนี้มาหลายๆ มุม

วัดแก้วโกรวาราม

วัดแก้วโกรวาราม อุโบสถทางด้านหน้า มีเสมาอยู่บนฐานสีขาวเฉพาะใบเสมาทาด้วยสีทอง จุดเด่นของอุโบสถอยู่ที่เสา เสาทุกต้นของอุโบสถและเสานางแนบด้านข้างทั้ง 2 ข้างที่ดูใหญ่กว่าปกติเมื่อเทียบกับขนาดของอุโบสถจนแปลกตา

พระประธานในอุโบสถวัดแก้วโกรวาราม

พระประธานในอุโบสถวัดแก้วโกรวาราม

จิตรกรรมฝาผนังวัดแก้วโกรวาราม

จิตรกรรมฝาผนังวัดแก้วโกรวาราม ฝาผนังด้านในอุโบสถวัดแก้วโกรวารามมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบด้าน ประกอบไปด้วยภาพสำคัญ ๆ ดังนี้ พระแม่ธรณีบีบมวยผม, พระศาสดาประสูติ, พระโพธิสัตว์ประทับเสวยรมย์ อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต ก่อนเสด็จลงมาเป็นพระพุทธเจ้า

อุโบสถวัดแก้วโกรวาราม

อุโบสถวัดแก้วโกรวาราม ภาพมุมกว้างด้านในพระอุโบสถ จิตรกรรมฝาผนังเหนือจากกรอบหน้าต่างขึ้นไปเป็นเทพพนมหันหน้าไปทางพระพุทธรูป เบื้องขวาของพระพุทธรูปมีอาสนสำหรับสงฆ์ ภายในกว้างขวาง

เซี่ยวกาง

เซี่ยวกาง เป็นทวารบาลที่นิยมใช้บนบานประตูพระอุโบสถหลายๆ แห่ง สำหรับที่วัดแก้วโกรวารามมีช่องประตูอุโบสถด้านหน้า 1 ช่อง หลัง 2 ช่อง บานด้านหน้าเป็นรูปเซี่ยวกาง ด้านหลังเป็นลายไทย ทั้งหมดบุด้วยแผ่นท่องไม่ใช่การเขียนหรือวาด แผ่นทองที่ใช้เป็นแผ่นทองหนา 5 มิลลิเมตร

วัดแก้วโกรวาราม

ขยับออกมาหามุมเฉียงเล็กน้อยเพื่อให้เห็นด้านข้างเพิ่มอีกหน่อย เพราะวันนี้ท้องฟ้าสดใสสวยงามทำให้ถ่ายภาพเพลินๆ ได้หลายมุมครับ

บันไดด้านหน้า

บันไดด้านหน้า เมื่อเก็บภาพบริเวณรอบๆ ลานทักษินของพระอุโบสถแล้วตอนนี้ก็จะเดินชมรอบๆ กันบ้างครับ ต้องลงมาจากลานทักษินซึ่งมีบันไดทั้งด้านหน้าและด้านข้างแต่ผมเลือกเดินลงทางด้านหน้าเหมือนเดิมแล้วจากนั้นเดินเวียนขวาไปรอบๆ อุโบสถ

บริเวณรอบนอกพระอุโบสถ

บริเวณรอบนอกพระอุโบสถ ต้องเดินออกมาไกลหน่อยเพื่อที่จะเก็บภาพบริเวณทั้งหมดของพระอุโบสถขนาดใหญ่หลังนี้รวมทั้งศาลารายด้วยครับ ศาลารายมี 4 หลัง ประจำอยู่ทั้ง 4 มุมรอบลานทักษินเป็นลักษณะทรงไทยประยุกต์ประดับลวดลายปูนปั้นสวยงามมาก

ด้านข้างพระอุโบสถ

ด้านข้างพระอุโบสถ เดินมาทางด้านข้างจึงจะเห็นว่ามีบันไดทางลงไปใต้พระอุโบสถ จากข้อมูลของ http://www.stou.ac.th/study/sumrit/7-54/page4-7-54.html โดย... พระปัญญาวุธธรรมคณี และนายชวน ภูเก้าล้วน เจ้าอาวาสวัดแก้วโกรวาราม อ.เมือง จ.กระบี่ และ คหบดีของ จ.กระบี่ (เรียบเรียงเนื้อหาจากบทวิทยุกระจายเสียง ปี 2551)
"...สำหรับโบสถ์ใหม่นี่สร้างขึ้นแล้วชั้นล่างมีพื้นที่การใช้งานประมาณ 1,400 ตารางเมตร จะเป็นที่เป็นห้องประชุมมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเช่น แอร์หรือห้องสุขาซึ่งภายนอกอาคาร ไม่ได้อยู่ในอาคารแต่ว่าอยู่ใกล้มองผิวเผินก็ไม่เห็นจะใช้เป็นห้องประชุมเอนกประสงค์แต่ว่าหลัก ๆ จริงนั่นเพื่อรองรับโครงการอนาคตของวัด คือต่อไปวัดนี่จะเปิดศูนย์พุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับผู้ใหญ่ โรงเรียนวัดอาทิตย์สำหรับเด็กเปิดอยู่แล้ว แต่ว่าสำหรับผู้ใหญ่นี่จะให้คนมาฟังเทศก์ฟังธรรมโดยใช้ห้องประชุมชั้นล่างของโบสถ์นี้ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็ต้องการจะให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม อย่างปัจจุบันนี่ก็ออกพรรษาแล้วก็ยังมีพระภิกษุอยู่ประจำนะ ก็ประมาณ 30 สามเณรก็ประมาณ 50 หรือ 60 รูปเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่โน่นแหละ ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 นั่นแหละ

งบประมาณที่ได้มาอาตมาเริ่มระดมทุนมาตั้งแต่ปี ตั้งแต่เข้ามาเป็นเจ้าอาวาส สมัยหลวงปู่พระราชสุตกวีท่านก็สะสมไว้บ้าง ก็ได้ไม่กี่แสนประมาณ 5 แสน มายุคอาตมานี่ก็บอกบุญประชาชนช่วยกันก็ได้ร่วม ๆ ประมาณ 15 ล้านบาท แล้วก็ต่อมาก็เป็นเงินผลประโยชน์คือค่าเช่าอาคารพาณิชย์ ค่าเช่าอาคารพาณิชย์เพราะตลาดส่วนล่างของวัดในพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ เป็นอาคารพาณิชย์เสียประมาณครึ่งหนึ่งคือ 30 กว่าไร่ รายได้จากอาคารพาณิชย์ประมาณ 500 ห้อง ก็เดือนหนึ่งก็ตกประมาณ 2 แสนกว่าบาท ก็เก็บสะสมเรื่อยมาจนพอมีเงินก้อนพอจะดำเนินการสร้างได้แล้วก็เลยลงมือสร้างจนถึงขณะนี้ใช้เงินไปแล้วไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาท และยังต้องใช้อีกประมาณ 10 ล้านแล้วถึงจะสมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้ตกแต่งภูมิทัศน์อะไร ภูมิทัศน์ทำสวนหย่อมปลูกต้นไม้เพิ่มเติมยังคงต้องทำอีก..."

พิพิธภัณฑ์วัดแก้วโกรวาราม

พิพิธภัณฑ์วัดแก้วโกรวาราม หลังจากชมโบสถ์แล้วก็เดินตามถนนต่อไปอีกหน่อยจะเห็นอาคารหลังหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ อยู่ข้างกับอาคารไม้หลังหนึ่งซึ่งดูเก่าแก่มาก ลักษณะของอาคารทั้งสองหลังคล้ายกันมากเพราะตั้งใจให้เป็นแบบนั้น อาคารไม้ด้านข้างเป็นอุโบสถหลังเก่าของวัดแก้วโกรวาราม ปัจจุบันปิดตายเอาไว้ ส่วนโบราณวัตถุต่างๆ ที่เคยอยู่ในอุโบสถเก่าได้นำออกมาแสดงในอาคารหลังใหม่

โพธิ์ พระยาคงคา ต้นที่ 2

โพธิ์ พระยาคงคา ต้นที่ 2 ต้นโพธิ์ต้นหนึ่งที่อยู่หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์วัดแก้วโกรวารามและอุโบสถหลังเก่า ผ่านไปผ่านมาหลายรอบก็คิดว่าเป็นโพธิ์ธรรมดาแต่ต้นโพธิ์นี้มีประวัติความเป็นมาดังนี้ครับ
"...ราวปีพ.ศ. 2447-2449 พระยาคงคาธาราธิบดี (พลอง ณ นคร) ได้นำกิ่งโพธิ์ลังกา จากวัดพระมหาธาตุฯ นครศรีธรรมราช มาปลูกลงตรงจุดที่มีต้นสมออยู่ปัจจุบันหรือห่างไปทางตะวันตกจากต้นโพธิ์นี้ประมาณ 10 วา (อยู่ภายในกำแพงวัด) โพธิ์ต้นแรกอยู่ได้กว่า 50 ปี มีลำต้นขนาด 5 คนโอบ แผ่กิ่งก้านสาขาครอบคลุมพื้นที่เกือบ 2 ไร่ (ปลายกิ่งตะวันออกยาวถึงต้นโพธิ์นี้) รอบๆ ต้นห่างไป 10-20 วา มีหน่อโพธิ์งอกขึ้นจากรากหลายหน่อ หน่อที่ใกล้ชิดอุโบสถถูกนำออกไป ส่วนหน่อต้นนี้ขณะนั้น (2502) สูงประมาณ 2-3 วา พระสุตาวุธกวี (สิงห์) ให้เว้นไว้

ต่อมาพ.ศ. 2503 เนื่องในการจัดงานฉลองสมนศักดิ์พระสุตกวี เทศบาลได้ขุดดินขยายถนนอิศราและถนนเข้ามาฌาปนสถาน รากใหญ่ๆ ของโพธิ์ด้านตะวันออกด้านเหนือถูกขุดออกไปเกือบหมด ดังนั้นเมื่อเกิดมหาวาตภัย 2505 โพธิ์พระยาคงคงต้นแรกก็ถึงกาลอวสาน คือล้มลงแต่ก็มีต้นนี้ขึ้นมาแทนให้พวกเราได้คะนึงถึง โพธิคุณและพระยาคงคาต่อไปอีกชั่วกาลนาน..."

อุโบสถเก่าวัดแก้วโกรวาราม

อุโบสถเก่าวัดแก้วโกรวาราม ความสำคัญของอุโบสถหลังนี้คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญกุศล วิสาขบูชา (เวียนเทียน) ณ อุโบสถนี้เมื่อ 19 พฤษภาคม 2513 อุโบสถนี้สร้างตามแบบอุโบสถทั่วไปในจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันตก เช่นพังงา ระนอง ภูเก็ต พระครูธรรมาวุธวิศิษฐ์ (กิ่ม) เป็นผู้ออกแบบดำเนินการสามเณรวัดแก้วฯ และขุนวิจาร พัศดี ได้ให้ผู้ต้องขังเรือนจำกระบี่มาช่วยพระวินัยธรชุ่มเป็นช่างก่อสร้างด้วยตนเอง ไม้ที่ใช้สร้างอุโบสถทั้งหมด นายนาค อารามิกชน อาสาสมัครตัดโค่น แปรรูป ไม้เนื้อแข็ง เช่น หลุมพอ, ตะเคียน, เคี่ยม
ในการผูกพัทธสีมา 9 มีนาคม 2467 มีผู้นำเครื่องทอง เพชรนิล เช่นสร้อยคอ, กำไลมือ, ต่างหู, เข็มขัดทอง บรรจุลงหลุมลูกนิมิตกลางอุโบสถ
ข้อมูลจากนายมนูญ กัณหกุล (ครูแม้ว) ท่านผู้นี้อายุ 81 ปี (ในปีพ.ศ. 2536) อยู่เป็นศิษย์วัดนี้เมื่อพ.ศ. 2457 - พ.ศ.2468 และบวชเป็นพระภิกษุอยู่วัดนี้เมื่ออายุ 20 ปี
อุโบสถหลังเก่านี้หยุดใช้ทำสังฆกรรมเมื่อต้นปี 2552 แต่วัดยังคงรักษาไว้เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยนายชวน ภูเก้าล้วน รับเป็นเจ้าภาพบูรณะให้คงสภาพเดิมไว้ ปูชนียวัตถุของมีค่า จะเก็บรักษาไว้ในอาหารหลังใหม่ และเปิดให้เข้าชมปี 2553

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดแก้วโกรวาราม กระบี่
บ้านปุณมนัส เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.33 km | แผนที่ | เส้นทาง
เอสพี เกสท์เฮาส์ แอนด์ ทัวร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan Nuanchan เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
Krabi Bed Sleep Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฮ็อป อินน์ กระบี่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.43 km | แผนที่ | เส้นทาง
สนูซ เฮ้าส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
KingKong Hostel@Krabi เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
แอเรีย 51 เกสท์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
กระบี่ ซิตี้ โดรม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Guest Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.45 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com