www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กาญจนบุรี >> วัดวังก์วิเวการาม

วัดวังก์วิเวการาม

 วัดวังก์วิเวการาม อยู่เลยจากตัวอำเภอสังขละบุรีไปประมาณ 6 กิโลเมตร เป็นวัดจำพรรษาของ "หลวงพ่ออุตตมะ" ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวไทย ชาวมอญ รวมทั้งชาวกะเหรี่ยงและพม่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ภายในวิหารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงามชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อขาว จากวัดวังก์วิเวการามแยกไปอีก 1 กิโลเมตร จะเป็นที่ตั้งของเจดีย์แบบพุทธคยามีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็นกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวา ขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร บริเวณใกล้เจดีย์มีร้านจำหน่ายสินค้าจากพม่าหลายร้านจำพวกผ้า แป้งพม่า เครื่องไม้ ราคาย่อมเยา

 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี มีการจัดงานคล้ายวันเกิดหลวงพ่ออุตตมะ ในงานมีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วยพิธีกรรมทางศาสนา การแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงของชมรมวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่น การรำแบบมอญ การรำตงของชาวกะเหรี่ยง และในงานประชาชนจะพร้อมใจกันแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมของชาวไทยรามัญและจัดเตรียมสำรับอาหารทูนบนศีรษะไปถวายพระสงฆ์ที่วัด

ข้อมูลเพิ่มเติม:โทรศัพท์ 034595422

แก้ไขล่าสุด 2016-05-16 11:54:44 ผู้ชม 48586

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ทางแยกวัดวังก์วิเวการาม

ทางแยกวัดวังก์วิเวการาม หลังจากข้ามสะพานลำน้ำซองกาเลีย ซึ่งเป็นสะพานคอนกรีตขนานกับสะพานมอญเข้าหมู่บ้านอีกฟากหนึ่งของลำน้ำมาถึงเขตของวัดผ่านซุ้มประตูที่สร้างไว้มาจนถึงทางแยกในวัดป้ายบอกทางชี้ไปทางซ้ายและขวา ขวามือไปวัดวังก์วิเวการาม ส่วนด้านซ้ายไปเจดีย์พุทธคยา ระยะทางพอๆ กัน 350 กับ 300 เมตร ตามลำดับ เราจึงเลี้ยวขวาไปวัดก่อน

ศาลาวัดวังก์วิเวการาม

ศาลาวัดวังก์วิเวการาม เป็นเสนาสนะที่สร้างอย่างสวยงามมากหลังหนึ่งด้านหน้าเป็นลานกว้างมีเพียงหอกลองอยู่กลางลานกว้าง เราจึงใช้บริเวณลานนี้เป็นที่จอดรถ รอบๆ ลานกว้างมีเสนาสนะ อาคารของวัดรอบด้านทั้ง 4 ทิศ จากด้านหน้าจะเห็นศาลาหลังนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจมากที่สุดทำให้เราต้องใช้เวลาเก็บภาพกันนานที่สุด ภายในศาลาเป็นที่ตั้งของปราสาท 9 ยอด และรูปเหมือนหลวงพ่ออุตตมะ ปราสาท 9 ยอดนี้เองเป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อว่างดงามมากของวัด ก่อนที่จะเข้าไปชมภายในวัดจะกล่าวถึงประวัติของวัดแห่งนี้พอสังเขป

วัดวังก์วิเวการามเดิมสร้างอยู่บริเวณที่เรียกว่า สามประสบ เป็นจุดที่แม่น้ำสามสายไหลมาบรรจบกัน ได้แก่ บิคลี ซองกาเรีย และรันตี หลังการก่อสร้างเขื่อนวชิราลงกร์หรือเขื่อนเขาแหลมและทำการกักเก็บน้ำใน พ.ศ. 2521 จึงต้องทำการย้ายวัดวังก์วิเวการามขึ้นมาอยู่ในพื้นที่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจัดไว้ให้ อยู่บนเนินเขาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือในที่ตั้งปัจจุบัน วัดวังก์วิเวการามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ทั้งนี้แหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักกันทั่วไปคือ สะพานไม้อุตตมานุสรณ์ เจดีย์พุทธคยาจำลอง ชุมชนชาวมอญ และวัดวังก์วิเวการามซึ่งภายในวัดยังเป็นที่ตั้งประดิษฐานสังขารของพระราชอุดมมงคลฯ หลวงพ่ออุตตมะ บรรจุในปราสาทเก้ายอดรูปแบบสถาปัตยกรรมมอญ ไว้ให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนทั่วไปได้กราบไหว้สักการะเพื่อระลึกและสำนึกในพระคุณของหลวงพ่อ และบริเวณวัดปัจจุบันประกอบด้วย อาคารศาสนสถานที่สำคัญๆ ต่างๆ เช่นวิหารพระหินอ่อน อุโบสถ และเจดีย์พุทธคยาจำลอง

วิหารพระหินอ่อน

วิหารพระหินอ่อน อาคารหลังนี้สร้างเป็นตึกก่ออิฐถือปูนอยู่ทิศตรงข้ามกับศาลา มีทางเดินหลังคาคลุมเชื่อมต่อจากตัวอาคารออกไปอีกยาว แม้แต่บันไดทางขึ้นลงอาคารก็สร้างหลังคาแบบลดหลั่นกันลงไป เดินเข้าไปจะเห็นทางเดินไปยังวิหารพระหินอ่อน ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรรูปหินอ่อนสีขาวที่งดงามของวัดวังก์วิเวการาม และเป็นสถานที่แรกที่เราจะเข้าไปกัน อีก 2 ด้านรอบลานจอดรถ เป็นศาลาอยู่ซ้ายมือ กับพระอุโบสถอยู่ขวามือ ซึ่งเอาไว้ค่อยออกมาเก็บภาพทีหลัง

ทางเดินเข้าวิหารพระหินอ่อน

ทางเดินเข้าวิหารพระหินอ่อน เป็นทางเดินหลังคาคลุมโค้งไปตามพื้นที่ของวัดตรงเข้าประตู ด้านข้างวิหารพระหินอ่อนมีสระบัวขนาดไม่ใหญ่นัก

พระพุทธรูปหินอ่อน

พระพุทธรูปหินอ่อน ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในวิหาร แม้แต่องค์พระอัครสาวกก็สร้างจากหินอ่อนสีขาวอมเหลืองด้วยเหมือนกันฐานและด้านหลังขององค์พระพุทธรูปตกแต่งลวดลายที่งดงามมาก มีรูปเหมือนหลวงพ่ออุตตมะขนาดเท่าจริงนั่งอยู่บนธรรมาสน์ อยู่ด้านขวามือ ด้านหน้าสุดยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีเทาอีก 1 องค์

รอบวิหารพระหินอ่อน

รอบวิหารพระหินอ่อน หลังจากไหว้พระขอพรกันแล้วมาลองชมรอบๆ บริเวณวิหารหลังนี้กันครับ จุดสนใจก็มีประตูมีลวดลายประดับเหนือประตู ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังด้านในวิหารอยู่รอบด้านชิดขอบผนังด้านบนสุด เชิงเทียนขนาดใหญ่ตั้งอยู่นอกประตู (ไม่ให้เข้ามาจุดธูปเทียนในวิหาร) ด้านข้างฐานพระพุทธรูปด้านซ้ายมือของเราจะมีงาช้างแมมมอธ มีความยาวมากกว่าช้างทั่วไปตั้งแสดงไว้ให้ชมพร้อมป้ายบอกว่าห้ามจับ

พระพุทธรูปแปดกร

พระพุทธรูปแปดกร เป็นครั้งแรกที่ได้พบเห็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะแตกต่างจากพระพุทธรูปที่เคยเห็นที่อื่น เป็นพระพุทธรูปมีแปดกร ประทับยืน ประดิษฐานอยู่บนบุษบก พระหัตถ์ขององค์พระพุทธรูปคล้ายปางต่างๆ กันหลายปางรวมอยู่ในองค์เดียวกันได้แก่ ปางรำพึง ปางถวายเนตร ปางประทานพร ส่วนภาพขวาเป็นพระพุทธรูป พระนามว่า พระพุทธรัชมงคลอุบลบพิตร (พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคลผู้สร้างแห่งความเป็นพระราชา) พร้อมกับเอกสารการถวายนามพระพุทธรูป จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร ข้อความปรากฏบนเอกสาร ดังนี้

ขอถวายนามพระพุทธรูป ในวโรกาส ทูลกระหม่อมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา ขอพระพุทธรูปที่ถวายนามแล้วนี้ จงสถิตเป็นที่สักการะเจริญเป็นอุดมมงคล ให้เกิดความสวัสดีแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป ตลอดจิรกาล

พระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานบนบุษบกสีทองซึ่งตั้งซ้อนกันอยู่ 2 หลังข้างฐานพระหินอ่อน

ภาพจิตรกรรมวิหารพระหินอ่อน

ภาพจิตรกรรมวิหารพระหินอ่อน เป็นภาพจิตรกรรมขนาดไม่ใหญ่นัก เขียนบนฝาผนังของวิหาร ช่องละ 2 ภาพ ด้านล่างของภาพจิตรกรรมเหล่านี้สร้างให้เป็นช่องลึกเข้าไปในผนัง ตั้งพระองค์เล็กๆ ไว้หลายองค์จนเต็มช่อง หลายคนที่ได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยววัดในเขตลาวใต้ ก็จะพบเห็นการสร้างผนังเป็นช่องสำหรับตั้งพระจำนวนมากแบบนี้ได้หลายแห่ง

ระเบียงคด

ระเบียงคด ทางเดินที่เชื่อมต่อจากอาคารสีขาวซึ่งน่าจะเป็นกุฎิสงฆ์เป็นแนวยาวไปทางด้านหลังวิหารพระหินอ่อน

หอระฆังและแผนที่ประเทศไทย

หอระฆังและแผนที่ประเทศไทย ลักษณะการสร้างหอระฆังของวัดวังก์วิเวการาม ก็มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่อื่น ด้วยการสร้างบันไดวนรอบนอกของหอระฆัง ดูสวยงามแปลกตา ภาพขวาเป็นแผนที่ประเทศไทยสร้างโดยวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ (วัดพระพี่นาง) จังหวัดนครสวรรค์ มีเพียง 3 แห่งในประเทศไทย

พระอุโบสถวัดวังก์วิเวการาม

พระอุโบสถวัดวังก์วิเวการาม เป็นพระอุโบสถที่มีหลังคายอดซุ้ม 3 ยอด สวยงามตั้งอยู่บนเขา หากมองจากสะพานมอญอีกฝั่งหนึ่งของลำน้ำซองกาเรีย จะมองเห็นหลังคาพระอุโบสถหลังนี้ได้ เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้เราได้มาเห็นมาชมกัน ด้านหน้าพระอุโบสถมีสระน้ำพุรูปหัวช้างทั้ง 2 ข้าง ด้านซ้ายมือตรงซุ้มประตูมีพระพุทธรูปปางโปรดปัญจวัคคีทั้ง ๕ ด้านซ้ายเป็นทางเดินสร้างหลังคาคลุมเข้าไปจนถึงซุ้มประตู

พระพุทธรูปโปรดปัญจวัคคีทั้ง ๕

พระพุทธรูปโปรดปัญจวัคคีทั้ง ๕ ด้านหลังในซุ้มประตูกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างระเบียงคดรอบพระอุโบสถ แสดงให้เห็นถึงการทำนุบำรุง การซ่อมแซม ก่อสร้างเพิ่มเติมที่ยังมีอยู่อย่างไม่ขาดสาย แม้ว่าหลวงพ่ออุตตมะจะมรณภาพไปนานแล้ว แต่กระแสศรัทธาของชาวบ้านในละแวกนี้และทั่วประเทศก็ยังคงอยู่กับวัดวังก์วิเวการาม อย่างเหนียวแน่น

รอบพระอุโบสถ

รอบพระอุโบสถ มีคูน้ำเล็กๆ ล้อมรอบพระอุโบสถ มีสะพานข้ามไปยังกำแพงแก้ว นอกจากนี้ยังมีการสร้างระเบียงคดรอบพระอุโบสถซึ่งต่อไปน่าจะเดินได้โดยรอบ

หน้าบันพระอุโบสถ

หน้าบันพระอุโบสถ ลวดลายพระพุทธรูปอยู่ชั้นบนสุด ส่วนชั้นกลางเป็นปัญจวัคคี ที่บรรลุพระอรหันต์ ทั้งหมดประดับด้วยลวดลายที่สวยงามสีทองบนพื้นสีฟ้า เสาพระอุโบสถเป็นเงาสะท้อนแสงสวยงาม ซุ้มใบเสมาทั้ง 8 ก็สร้างได้สวยงามด้วยลวดลายที่กลมกลืนกันทั้งหมด พระอุโบสถไม่ได้เปิดให้เข้าชมครับ ส่วนใหญ่คนที่มาวัดวังก์วิเวการาม ก็จะสักการะพระพุทธรูปหินอ่อนในวิหาร

ศาลาที่ตั้งปราสาทหลวงพ่ออุตตมะ

ศาลาที่ตั้งปราสาทหลวงพ่ออุตตมะ คราวนี้ก็ได้เวลาเข้าไปชมในศาลาหลังนี้กันครับ ศาลาที่สวยงามนี้มียอดสีทองกลางศาลา 3 ยอดเป็นส่วนหน้ามุขที่ยื่นออกมาจากอาคารหลัก ลักษณะการสร้างยอดสีทองนี้ดูค่อนคล้ายไปทางศิลปะการสร้างเสนาสนะของทางเหนือ ได้แก่วัดจองคำ วัดจองกลาง ที่แม่ฮ่องสอน และวัดหลายแห่งที่เคยได้เห็นตอนข้ามพรมแดนไปฝั่งประเทศพม่า บนหลังคาอาหารหลักสร้างจั่ว 7 จั่ว อยู่ด้านซ้าย 3 จั่ว ด้านขวา 4 จั่ว ยอดจั่วเป็นหัวหงส์ดูสวยงาม ด้านข้างมีส่วนที่สร้างต่อออกมาเป็นบันไดขึ้นลงข้างอาคาร

หลวงพ่ออุตตมะ

หลวงพ่ออุตตมะ ภาพถ่ายและรูปเหมือนของหลวงพ่ออุตตมะ หลังจากที่ได้พบเห็นในวิหารพระหินอ่อนแล้วก็มาเห็นที่ด้านหน้าของศาลาหลังนี้อีก รูปเหมือนของหลวงพ่ออุตตมะมักจะสร้างนั่งอยู่บนธรรมาสที่สวยงามเสมอ ใกล้ๆ กับรูปเหมือนของหลวงพ่อที่หน้าศาลาหลังนี้มีรูปกิจกรรม ประเพณีของวัดพร้อมอธิบายความเป็นมาของประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านในละแวกนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับวัดวังก์วิเวการาม

ปราสาทเก้ายอด

ปราสาทเก้ายอด เมื่อเข้ามาภายในศาลาหลังนี้จะได้เห็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของวัดวังก์วิเวการาม นั่นก็คือปราสาทเก้ายอด โดดเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงกลางโดยมีรูปเหมือนของหลวงพ่ออุตตมะนุ่งห่มจีวร ดูเหมือนยังมีชีวิตอยู่ ด้านหน้ามีปราสาทองค์เล็กมี 5 ยอด คล้ายบุษบก 2 หลัง มีรูปของหลวงพ่ออุตตมะอยู่ภายใน ดอกไม้สดที่ศิษยานุศิษย์นำมาเปลี่ยนทุกวันในช่วงเทศกาลต่างๆ ของวัด เช่น การทอดกฐิน ผ้าป่า ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาอย่างมากที่มีต่อหลวงพ่ออุตตมะ ปราสาทหลวงพ่ออุตตมะทั้งหมดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากงานศิลปะ วัฒนธรรมและความเชื่อของชาวมอญหลายกลุ่มที่แยกย้ายกระจายกันอยู่ในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย หลอมรวมเป็นโอฬาริกบูชา แด่หลวงพ่อผู้เป็นที่เคารพสักการะของศิษยานุศิษย์ หงส์ทองคู่เป็นสัญญลักษณ์ของชาวมอญที่มีมาแต่โบราณกาล ภายในปราสาทเก้ายอดเป็นที่เก็บสังขารหลวงพ่ออุตตมะ ไว้เป็นที่สักการะของศิษย์และประชาชนทั่วไป

ปราสาทเก้ายอดวัดวังก์วิเวการาม

ปราสาทเก้ายอดวัดวังก์วิเวการาม ขยับใกล้เข้ามาอีกหน่อยครับจะได้เห็นรายละเอียดต่างๆ กันแบบชัดๆ นักท่องเที่ยวที่มากราบไหว้หลวงพ่ออุตตมะ ก็จะมานั่งถ่ายรูปกับปราสาทเก้ายอดนี้กันอย่างต่อเนื่อง

ปราสาทองค์เล็ก

ปราสาทองค์เล็ก ด้านซ้ายจะเห็นมีการนำพานพุ่มดอกไม้ มาเป็นเครื่องสักการะรูปหลวงพ่ออุตตมะ ส่วนภาพขวาจะเป็นพานธูปเทียน ทั้งหมดล้อมรอบด้วยดอกไม้สด ประดับอย่างสวยงาม

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ

สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ภายในศาลาหลังนี้ยังมีสิ่งที่สะดุดตาเราอยู่ คือหงส์ที่ประดิษฐ์อย่างสวยงามมองดูคล้ายการพับจีบใบตองประกอบกันเป็นรูปหงส์ อยู่ในตู้กระจกข้างปราสาทเก้ายอด ส่วนพื้นที่กว้างกลางศาลา มีผ้าป่าที่ทำเป็นรูปหงส์อีกเช่นกัน ตั้งไว้เราสามารถร่วมทำบุญนี้ได้

บานประตูภาพพระพุทธประวัติ

บานประตูภาพพระพุทธประวัติ ออกจากศาลาที่ตั้งปราสาทเก้ายอดจะมีศาลาอีกหลังหนึ่งสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน ด้านหลังศาลาหลังนี้มีห้องน้ำสำหรับประชาชนทั่วไป ด้านหน้าของศาลามีประตูทางเข้าอยู่ซ้ายมือของอาคาร บานประตู 3 ช่องเรียงกันขนาดเท่ากันทั้ง 6 บาน เป็นที่สนใจแก่ผู้พบเห็น ลวดลายบนบานประตูทั้ง 6 เป็นภาพพระพุทธประวัติ ตั้งแต่การประสูติ การพบเห็นอนิจจัง การออกผนวช การบำเพ็ญทุกรกริยา การตรัสรู้ การโปรดปัญจวัคคีทั้ง 5

พระพุทธรูปไม้แกะสลัก

พระพุทธรูปไม้แกะสลัก วันนี้ที่เราได้เดินทางมายังวัดวังก์วิเวการาม ได้เห็นการสร้างพระพุทธรูปไม้แกะสลัก แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าจะนำไปประดิษฐานที่ไหน แต่เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลักที่งดงาม พระพักตร์เปี่ยมด้วยเมตตา แย้มพระโอษฐ์เล็กน้อย ลายจีวรพลิ้วไหว เป็นงานแกะสลักที่ละเอียดมากองค์หนึ่งครับ

เจดีย์พุทธคยา

เจดีย์พุทธคยา หลวงพ่ออุตตมะ เป็นผู้คิดริเริ่มสร้างขึ้น ปี พ.ศ. 2521 โดยจำลองมาจากเจดีย์พุทธคยาประเทศอินเดีย งบประมาณมาจากผู้มีจิตศรัทธา ร่วมกันบริจาคเป็นเงินสด ทองคำ และวัสดุ ใช้แรงงาน ชาย หญิง ในหมู่บ้านประมาณ 400 คน ปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างและเผาอิฐมอญขนาดกว้าง 4 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว หนา 3 นิ้ว จำนวน 360,000 ก้อน พ.ศ. 2525 เริ่มสร้างเจดีย์เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาว 42 เมตร สูง 59 เมตร เสาเหล็กสี่ทิศ จำนวน 16 ต้น ในปี พ.ศ. 2532 พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนนิ้วหัวแม่มือขวา 2 องค์ ขนาดเมล็ดข้าวสาร มีสีขาวอมเหลืองเป็นเงา บรรจุในผอบ 3 ชั้น ซึ่งหลวงพ่ออัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา และฉัตรทองคำหนัก 400 บาท ขึ้นไปประดิษฐานอยู่บนยอดเจดีย์

รอบเจดีย์พุทธคยา

รอบเจดีย์พุทธคยา ทางเดินที่สร้างหลังคาคลุม โดยการลดหลั่นกันลงมาตามแนวบันไดตั้งแต่กำแพงด้านหน้าซึ่งมีสิงห์คู่ขนาดใหญ่มากนั่งอยู่ เดินเข้ามาแล้วจะได้เห็นรอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งประชาชนนิยมมาเสี่ยงตั้งเหรียญ เห็นเหรียญหลายอันมีทั้งตั้งอยู่และล้มลงไปแล้ว เดินสูงขึ้นไปจนถึงฐานเจดีย์พุทธคยาชั้นบนจะมีพระพุทธรูปเป็นพระพุทธชินราชจำลอง จากนั้นรอบลานประทักษินเป็นเทพประจำวันเกิด และรูปเหมือนพระอริยสงฆ์ พระบูรพาจารย์ หลายรูปที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงปู่ทวด เป็นต้น อยู่บนฐานโดยรอบ จากลานประทักษินของฐาน มีบันไดเดินขึ้นไปยังลานประทักษินอีกชั้นหนึ่งซึ่งเป็นลานรอบองค์เจดีย์พุทธคยาสีทอง เหลือมอร่ามโดดเด่นอยู่ท่ามกลางหมู่บ้าน

ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม

ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม ด้านข้างของบันไดทางเดินขึ้นสู่เจดีย์พุทธคยา สร้างศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผมสีแดง ถัดเข้าไปเป็นวิหารพระนอนหลังเล็กๆ อยู่ชิดกับบันได

พระนอน

พระนอน เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะแปลกอีกองค์หนึ่ง ลักษณะคล้ายพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอน เพียงแต่ส่วนพระองค์ ดูเหมือนตั้งตรงขึ้น

ภาพปิดท้ายของวัดวังก์วิเวการาม

ภาพปิดท้ายของวัดวังก์วิเวการาม สิงห์คู่ขนาดใหญ่สูงเด่นหน้าทางเข้าเจดีย์พุทธคยา พระพุทธรูปองค์ใหญ่ด้านหน้าเจดีย์ มีพระพุทธรูปโปรดองค์คุลีมาร สองภาพด้านล่างเป็นซุ้มประตูของวัดในช่วงขากลับ จบการเดินทางชมวัดไว้เพียงเท่านี้ครับ เพื่อให้รู้จักวิถีชีวิตชาวมอญ ซึ่งเป็นชาวบ้านที่อยู่ละแวกวัดวังก์วิเวการามกันมากขึ้น ขอแนะนำประเพณีของคนที่นี่ให้รู้จักครับ เผื่อว่าจะได้เดินทางมาเที่ยวชมกัน

ประเพณีตำข้าวเม่า จัดขึ้นในเดือนอ้าย (ประมาณธันวาคม) ข้าวใหม่เริ่มออกรวงเป็นน้ำนมข้าว ส่วนข้าวเหนียวเริ่มเป็นเมล็ดข้าวอ่อนๆ เหมาะสำหรับตำข้าวเม่า เมื่อทำเสร็จจะแบ่งส่วนแรกไว้ตักบาตร หรือถวายพระในวันรุ่งขึ้น อีกส่วนก็จะนำไปใส่น้ำกะทิ น้ำตาล เกลือ ปรุงรสกลมกล่อมรับประทานกัน ข้าวเม่าที่เหลือก็จะเก็บไว้แห้งๆ อย่างนั้น เพื่อเก็บไว้รับประทานในวันต่อๆ ไป การเก็บไว้แห้งๆ โดยยังไม่คลุกอะไรเลยจะเก็บได้นาน
ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวและลงแขกกวัดข้าว เดือนยี่ (ประมาณมกราคม) ในช่วงเดือนยี่นี้เป็นฤดูเก็บเกี่ยวหลังจากเกี่ยวและเก็บข้าวเข้าลานเสร็จก็จะเป็นการนวดข้าวในลานข้าว หลังจากนั้นจะดอการกวัดข้าวเพื่อเอาพวกเศษฟาง และข้าวลีบออก ชาวบ้านใกล้เคียงรวมทั้งญาติพี่น้องคนรู้จักก็จะมารวมตัวกันตั้งแต่เช้าตรู่ แค่ครั้งวันก็กวัดข้าวเสร็จ หลังจากนั้นก็จะบรรทุกใส่เกวียนนำกลับบ้านใส่ยุ้งฉาง
ประเพณีทำข้าวยาคู เดือน 3 (กุมภาพันธ์) ในช่วงเดือนสามนี้ พืชผลของชาวบ้านเก็บเกี่ยวเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกข้าว งา ถั่ว ล้วนแต่เป็นของใหม่ที่เพิ่งได้จากฤดูการเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะพากันทำข้าวยาคูในวันพระใหญ่ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (วันมาฆบูชา) และเก็บไว้ใส่บาตรตอนเช้า
ประเพณีบูชาสักการะพระเจดีย์ เดือน 4 ตรงกับเดือนมีนาคม ช่วงนี้ชาวบ้านมอญจะหาเวลาไปแสวงบุญกันด้วยการเดินทางไปไหว้สักการะบูชาพระเจดีย์ หรือสถานที่พุทธสถานทั้งใกล้และไกล ในเดือนสี่นี้จะมีงานประจำปีพระเจดีย์พุทธคยา จะมีการสวดมนต์ตลอด 7 คืน บ้าง 9 คืน บ้าง
ประเพณีมหาสงกรานต์ เดือน 5 (เมษายน) วันสงกรานต์ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวรามัญ ลูกหลานจะต้องกลับมาเปลี่ยนผ้านุ่งใหม่ ที่นอนใหม่ ให้กับพ่อแม่ ก่อพระเจดีย์ทรายสรงน้ำพระ และกรวดน้ำสงกรานต์ ในตอนเช้าจะมีการแห่ผ้าป่าสงกรานต์ขึ้นวัด อันดับสุดท้ายจะมีการโปรยฝนรัตนะ เป็นเสร็จประเพณีสงกรานต์ประจำปี
ประเพณีสรงน้ำต้นโพธิ์ เดือน 6 (พฤษภาคม) การสรงน้ำต้นโพธิ์เพื่อรักษาต้นโพธิ์ เนื่องจากเชื่อกันว่า ต้นโพธิ์ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับ และช่วงกลางเดือนสอง จะค้ำต้นโพธิ์ในกิ่งที่ห้อยมากเพื่อเป็นการรักษากิ่งให้กับต้นโพธิ์
ประเพณีขอขมาพระอุปัชฌาย์ ประเพณีบรรพชาอุปสมบท เดือน 7 ตรงกับเดือนมิถุนายน เป็นช่วงก่อนเข้าพรรษาหนึ่งเดือน คนมอญนิยมบรรพชา อุปสมบท บุตรหลาน เมื่อถึงวัน 15 ค่ำ เดือน 7 พระภิกษุสงฆ์ที่เคยได้เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อที่อยู่ในที่ต่างๆ ห่างไกล จะมารวมกันพร้อมกันที่วัดวังก์วิเวกาาม เพื่อขอขมาพระเถระผู้ใหญ่
ประเพณีเข้าพรรษา เดือน 8 ตรงกับเดือนกรกฎาคม วันพระใหญ่ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (วันอาสาฬหบูชา) ชาวบ้านมอญวังกะจะถือดอกไม้ผ้าอาบ เทินเครื่องไทยธรรม พากันขึ้นวัด ช่วงบ่ายพระภิกษุจะเดินเป็นแถวตามวิหารคดลงโบสถ์ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนถวายพระ พอถึงช่วงค่ำชาวบ้านจะพากันฟังพระธรรมเทศนา
ประเพณีบุญหม้อนิธิ เดือน 9 ตรงกับสิงหาคม เป็นเดือนแห่งการเก็บทรัพย์ มีประเพณีบุญหม้อนิธิ (นิธิ แปลว่า ขุมทรัพย์) จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะทำบุญด้วยการถวายหม้อนิธิ คือ บรรจุวัตถุทาน ตามแต่ต้องการจะถวายพระลงในหม้อ เพื่อเป็นการฝังขุมทรัพย์คือบุญนี้ไว้เพื่อตนจะได้ใช้ในสัมปรายภพ ผลบุญที่ทำไว้นี้จะส่งผลให้ได้ความสุขกาย สุขใจ
ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เดือน 10 ตรงกับเดือนกันยายน มีประเพณีที่ทำกันอยู่ 2 อย่างคือ ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ เป็นการบูชาพระรัตนตรัย และเหล่าเทพเทวดา ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีที่ชาวบ้านต้องการถวายเภสัช 5 ชนิด ได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยใส เนยข้น น้ำมันงา ให้แด่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษา ก่อนออกพรรษา 1 เดือน
ประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ เดือน 11 ตรงกับเดือนตุลาคม มีประเพณีตักบาตรเทโวโรหนะ เป็นงานบุญฉลองวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากโปรดพุทธมารดาที่เทวโลกดาวดึงส์ 1 พรรษา ซึ่งจัดขึ้นในวันออกพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี) ชาวบ้านเตรียมของแห้งสำหรับตักบาตรแต่งกายงดงามสะอาดสอ้าน มารวมในสถานที่ที่จัดไว้
ประเพณีทอดกฐิน เดือน 12 ตรงกับเดือนพฤศจิกายน มีประเพณีทอดกฐิน ซึ่งนิยมกำหนดวันทอดกฐินให้อยู่ในส่วนข้างขึ้นของเดือน 12 เมื่อทราบกำหนดวันทอดกฐินแล้ว ชาวบ้านจะรวมตัวกันจัดตั้งต้นผ้าป่า และร่วมกันตัดเย็บจีวร อังสะ สบง และผ้าผืนยาว สำหรับห่มเจดีย์พุทธคยา

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี
Somchai Guest house @ Sangkhaburi เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
แคท แอนด์ ออยล์ โฮม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
Wangka Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
ซองกาเลีย รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
เลิฟ บริดจ์ เฮาส์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
แพเคียงหมอก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนแมกไม้ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
พรไพลิน ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนสมบูรณ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
สามประสบ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.27 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com