www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ยะลา >> อุโมงค์ปิยะมิตร

อุโมงค์ปิยะมิตร

 อุโมงค์ปิยะมิตร อยู่ที่บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ ใช้เส้นทางเดียวกับบ่อน้ำร้อนและน้ำตกอินทสร แต่อยู่เลยบ่อน้ำร้อนไปอีก 4 กิโลเมตร บริเวณนี้เป็นหมู่บ้านของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เดิมเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (เขต 2) อุโมงค์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 เป็นอุโมงค์คดเคี้ยวเข้าไปในภูเขายาวประมาณ 1 กิโลเมตร ความกว้างประมาณ 5-6 ฟุต ใช้เวลาในการขุด 3 เดือน มีทางเข้าออกหลายทาง ใช้เป็นที่หลบภัยทางอากาศและสะสมเสบียง บริเวณนี้จัดให้มีนิทรรศการแสดงภาพประวัติศาสตร์ รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตภายในป่า ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากอีกแห่งหนึ่งของเบตง

อุโมงค์ปิยะมิตรเปิดให้เข้าชมเวลา 8.00 น-16.30 น. ค่าเข้าคนไทย 10 บาท

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานนราธิวาส 0 7352 2411
http://www.tourismthailand.org/narathiwat

แก้ไขล่าสุด 2017-09-15 19:50:02 ผู้ชม 10219

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ


อุโมงค์ปิยะมิตร

ถึงแล้วด้านหน้าของอุโมงค์ปิยะมิตร หลังจากที่เดินทางจากตัวเมืองเบตงระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร เส้นทางสายนี้ผ่านแนวเขาพอสมควรใช้เวลาเดินทางเกินครึ่งชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทริปนี้เราไม่ได้มุ่งหน้ามาที่อุโมงค์แห่งนี้โดยตรงไปแวะที่สวนไม้ดอกเมืองหนาวเที่ยวชมดอกไม้งามๆ อีกเกือบชั่วโมง เลยมาถึงที่นี่เกือบ 11 โมงเหมือนกัน ที่นี่เป็นที่เที่ยวที่คนไทยไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่แต่คนต่างชาติโดยเฉพาะมาเลเซียเดินทางมาเที่ยวเยอะทีเดียว ลานจอดรถไม่ได้เตรียมไว้กว้างขวางอะไรมากมายคนมาเที่ยวไม่นานก็กลับอาศัยคอยหาที่ว่างที่พอจะจอดได้ก็จอดๆ กันไป

ซุ้มประตูอุโมงปิยะมิตร

ซุ้มประตูอุโมงปิยะมิตร

พระโพธิสัตว์กวนอิม

พระโพธิสัตว์กวนอิม จากซุ้มประตูเป็นทางเดินขึ้นเนินมาเรื่อยๆ ก่อนจะถึงจุดเริ่มต้นการเดินเข้าไปชมอุโมงค์ในประวัติศาสตร์จะเห็นเจ้าแม่กวนอิมองค์สีขาวยืนอยู่ทางขวามีสะพานให้เดินเข้าไปไหว้ใกล้ๆ ได้

เห็ดหลินจือยักษ์

เห็ดหลินจือยักษ์ หลังจากเดินมาถึงจุดเริ่มต้นของการเดินชมอุโมงค์ปิยะมิตรจะมีเจ้าหน้าที่มายืนรอรับ (ในกรณีที่เราเดินทางมาเป็นกลุ่ม) เจ้าหน้าที่เป็นคนที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มคอมมิวนิสต์ในอดีตทำให้มีความรู้เรื่องราวอุโมงค์ปิยะมิตรและการดำรงชีวิตระหว่างการต่อสู้กับรัฐบาลได้เป็นอย่างดี (ทุกวันนี้คนที่อยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์บางคนยังมีชีวิตอยู่) เจ้าหน้าที่จะบรรยายจุดสำคัญต่างๆ ตั้งแต่เริ่มทางเดินไปจนสุดอุโมงค์ ไม่พลาดแม้แต่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคนที่ไม่เคยมาอุโมงค์ปิยะมิตรพอรู้ว่าเป็นที่ซ่อนของพรรคคอมมิวนิสต์อาจจะคิดว่าไม่มีอะไรน่าสนใจแต่สำหรับเราแล้วรู้สึกว่ามันทำให้เราได้ความรู้อะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมายจริงๆ อย่างเช่นเห็ดหลินจือยักษ์ที่เราเห็นอยู่นี้มันมีอายุตั้ง 20 กว่าปีมาแล้ว ถึงมันจะมีขนาดใหญ่มากๆ แต่ก็ไม่มีใครสนใจเอาไปขาย เพราะเห็ดหลินจือจริงๆ แล้วมันมี 2 ชนิด อย่างหนึ่งที่ราคาแพงลิบลิ่วกับอีกอย่างที่ขึ้นอยู่ตามต้นไม้แบบนี้ไม่มีราคามันเลยไม่มีใครเก็บ เรื่องอื่นๆ ที่น่ารู้และไม่เคยรู้มาก่อนเดี๋ยวจะเล่ารายละเอียดต่อไปครับ

ต้นไม้ทำดินระเบิด

ต้นไม้ทำดินระเบิด สำหรับต้นไม้ที่เห็นอยู่กลางภาพสูงกว่าต้นกล้วยหน่อยๆ มีใบเป็นแฉกๆ ไม่รู้ว่าชื่อต้นไม้อะไร แต่ที่สำคัญคือมันเอามาเผาแล้วเอาผงถ่านไปทำเป็นดินระเบิดได้ ซึ่งก็หมายถึงทำได้ทั้งระเบิดและก็กระสุน พรรคคอมมิวนิสต์ต่อสู้กับรัฐบาลไทยในสมัยนั้นต้องผลิตอาวุธขึ้นใช้เอง ได้ยินแล้วอึ้งเค้าทำกระสุนเลียนแบบกระสุนที่ยิงใส่เค้าได้ด้วยเครื่องจักรขนาดเล็กที่เอาไปไว้ในอุโมงค์ได้ มันยิ่งกว่าเหลือเชื่อซะอีก

สถานที่น่าสนใจรอบอุโมงค์ปิยะมิตร

สถานที่น่าสนใจรอบอุโมงค์ปิยะมิตร นอกเหนือจากที่เราจะเดินเข้าไปในอุโมงค์กว้าง 6 ฟุต หรือกว้างกว่าตัวคนนิดหน่อย ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วยังมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจรอบๆ อุโมงค์แห่งนี้ ได้แก่ เตาเผาถ่าน เตาขงเบ้ง (ไร้ควัน) พิพิธภัณฑ์ ศาลเจ้าแป๊ะกง หอแต่งงาน ต้นไทรพันปี และอีกมากมายหลายอย่าง เส้นทางเดินไปยังปากอุโมงค์จินตนาการว่าน่าจะอยู่เชิงเขาแต่เปล่าเลยอุโมงค์นี้มีทางเข้า-ออก 9 ทาง และขุดจากส่วนยอดเขาลงมา ไม่เหมือนอุโมงค์รถไฟ หรือรถยนต์ที่ขุดตรงเชิงเขา

เตาดิน

เตาดิน เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวคอมมิวนิสต์ เตาใช้ทำหน้าที่หลายอย่างทั้งหุงหาอาหาร เผาเอาถ่านไปใช้ และใช้สำหรับอบผ้าให้แห้งอย่างรวดเร็วเพื่อประหยัดเวลาในการตากผ้าซึงจะทำให้ทหารสังเกตุเห็นตำแหน่งที่อยู่ได้ง่าย เรื่องราวของเตาที่นี่ไม่ธรรมดามีการฝึกอบรมการทำเตาและการใช้เตาที่ทำให้ไม่มีควันออกมาให้สังเกตุเห็นได้ กลุ่มควันในการหุงหาอาหารจะสลายรวมไปกับกลุ่มหมอกบนยอดเขา เทคนิคการทำเตานี้เค้าเรียกว่าเตาขงเบ้งถ้าใครไปที่อุโมงค์แห่งนี้จะได้เรียนรู้อย่างละเอียดเป็นแน่แท้หรือลองคลิกเข้าไปดูคลิปเรื่องเตาขงเบ้งห้ามควัน ได้จากยูทูปของทัวร์ออนไทย

ถังเก็บอาหารคอมมิวนิสต์

ถังเก็บอาหารคอมมิวนิสต์ หลังจากที่เราได้นั่งฟังบรรยายเรื่องราวต่างๆ มากมายจากเจ้าหน้าที่แล้ว ต่อจากนั้นเราก็เดินเข้าอุโมงค์ก่อนจะเข้าไปจะมีห้องเก็บบัตรเข้าชมอยู่ตรงทางเข้า อุโมงค์ปิยะมิตรเป็นอุโมงค์ที่ยาวประมาณ 1 กิโลเมตร ข้างในสามารถจุคนได้เกือบ 200 คน มีทางเข้าออกทั้งหมด 9 ทาง ขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2519 เพื่อใช้หลบการโจมตีทางอากาศและสะสมเสบียง เส้นทางในอุโมงค์เชื่อมต่อถึงกันหมด ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของเบตง ทางเข้าออกคงเหลือไว้ 6 ทาง แต่ละเส้นทางยาวแตกต่างกันไป คนมาเที่ยวสามารถเลือกเดินได้ว่าจะไปออกเส้นทางไหน โดยต้องมีเจ้าหน้าที่คอยบรรยายหรือติดตามไปตลอดการเดิน ภายในมีสถานีวิทยุของ จคม. ห้องนอน ห้องเก็บเสบียง มีซอกมีมุมให้เลี้ยวลัดเลาะ ด้านบนเป็นป่ารกมีต้นไม้ใหญ่มากมายปกคลุม ยากแก่การค้นหาและถูกค้นพบโดยทหารฝ่ายรัฐบาล

    ห้องเก็บเสบียงเป็นห้องที่สำคัญที่สุดของอุโมงค์ปิยะมิตรในสมัยนั้นมีเพียง 2 คนที่รู้เส้นทางเข้าไปยังห้องเสบียงเพื่อความปลอดภัยของอาหารสำหรับส่วนรวม เวลาปกติชาว จคม. จะใช้ชีวิตอยู่บนอุโมงค์ เฉพาะเวลาที่มีการค้นหาหรือโจมตีทางอากาศเท่านั้นที่ทุกคนจะเข้าไปหลบในอุโมงค์นี้ ตามทางเดินเจาะเซาะเป็นช่องต่างๆ สำหรับใช้เป็นกรณีไป อย่างกล่องหรือหีบเก็บอาหารจะเป็นเหล็ก เอาอาหารใส่ถุงปิดปากถุงให้ดีใส่ไว้ในกล่องเหล็กนี้จะทำหน้าที่เหมือนเป็นตู้เย็นทำให้อาหารอยู่ได้นานขึ้น

อุโมงค์ปิยะมิตร

อุโมงค์ปิยะมิตร ภายในทางเดินมีทางแยกให้เลี้ยวได้หลายจุดแต่ละแยกก็จะมุ่งไปยังเส้นทางต่างๆ กันไป สำหรับกลุ่มเราใช้เส้นทางที่มีระยะทางเดินน้อยที่สุดเพราะต้องการประหยัดเวลา ในอุโมงค์นี้มืดสนิทต้องมีไฟฉายสำหรับการถ่ายรูปถ้าเดินเที่ยวชมธรรมดาไม่ต้องมีไฟฉายก็ได้เพราะในอุโมงค์ติดหลอดไฟให้แสงสว่างอยู่เป็นระยะๆ แปลกที่อุโมงค์แห่งนี้มีความลึกหลายสิบฟุตแต่กลับมีอากาศให้หายใจโล่งสบายไม่อึดอัด (การขุดอุโมงค์ต้องคำนวณความลึกเพื่อความปลอดภัยหากมีการทิ้งระเบิดเพื่อป้องกันอุโมงค์ยุบ เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากและไม่เคยรู้ที่ไหนมาก่อน)  

ทางเข้า-ออกอุโมงค์ปิยะมิตร

ทางเข้า-ออกอุโมงค์ปิยะมิตร เดินตามเส้นทางสั้นสุด เราจะถึงทางออกในเวลาไม่กี่นาที หลังจากที่เปิดเป็นที่เที่ยวตรงปากทางหลายทางก็มีการปรับปรุงเป็นขั้นบันไดทำให้เดินได้ง่ายขึ้น

ต้นไม้พันปี

ต้นไม้พันปี เป็นต้นไทรขนาดใหญ่มากจนคนเรียกว่าต้นไม้พันปีอยู่ตรงทางเดินกลับมายังทางเข้าที่ลานจอดรถ ก่อนที่จะถึงต้นไม้พันปีต้นนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างได้แก่พิพิธภัณฑ์ที่จะทำให้เราได้เห็นอาวุธที่ใช้ต่อสู้ เครื่องมือเครื่องไม้ที่ใช้ในการผลิตอาวุธขึ้นมาเองด้วยการก๊อปปี้อาวุธจริงอย่างไม่น่าเชื่อ รูปภาพประวัติศาสตร์ต่างๆ จนกระทั่งฝ่ายรัฐบาลยอมเจรจากับพรรคคอมมิวนิสต์ และในที่สุดทุกคนก็ได้รับสัญชาติไทยมีบัตรประชาชนคนไทยเป็นที่เรียบร้อย จุดที่เป็นที่ประชุมทางการทหาร ศาลเจ้า ฯลฯ

    อุโมงค์ปิยะมิตรมีร้านค้า อาหาร เครื่องดื่ม ของฝาก บริการ หลังจากเดินชมอุโมงค์แล้วกินข้าวในร้านอาหารช้อปของฝากก่อนที่จะเดินทางไปเที่ยวจุดอื่นๆ กันต่อ โดยเฉพาะเมื่อมาที่นี่แล้วอย่าลืมสั่งไก่เบตงเป็นอันขาดเดี๋ยวจะกลายเป็นว่ามาไม่ถึงเบตงนะครับ

ปิดท้ายจบการพาเที่ยวอุโมงค์ปิยะมิตรไว้เพียงเท่านี้ สนใจรายละเอียดคลิกชมคลิปได้ในยูทูปคลิปอุโมงค์ปิยะมิตรของเรา ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิภาคภาคใต้ มา ณ โอกาสนี้ครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุโมงค์ปิยะมิตร ยะลา
Betong Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  19.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
Butterfly Princess Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.34 km | แผนที่ | เส้นทาง
3667 BEST VILLAGE HOUSE เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  36.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
คูล แคมปิ้ง รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  39.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
จังเกิ้ลรีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  47.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
เบลุม เรนฟอร์เรสท์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  81.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
Harris Homestay Gerik Walking Distance to Town เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  83.21 km | แผนที่ | เส้นทาง
Bella Vista Water Front เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  92.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านเดี่ยว 4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 2700 ตร.ม. – เปนดัง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  95.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
Homestay Murah & Mewah Alor Setar เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  95.78 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com