www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

 สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง เรื่องกำเนิดของสถานีฯ แห่งนี้เป็นเกร็ดประวัติเล่ากันต่อมาว่าครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ผ่านยอดดอยแห่งนี้และทอดพระเนตรลงมาเห็นหลังคาบ้านคนอยู่กันเป็นหมู่บ้าน จึงมีพระดำรัสสั่งให้เครื่องลงจอด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาทอดพระเนตรเห็นทุ่งดอกฝิ่น และหมู่บ้านตรงนั้นก็คือหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ พระองค์มีพระราชดำรัสที่จะแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นแปลงเกษตร สถานีฯ จึงเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2512 มีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่จะหาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง

    พรรณไม้ที่ปลูก

    - ไม้ผล เช่น บ๊วย ท้อ พลัม แอปเปิล สาลี่ พลับ กีวี องุ่น ราสป์เบอร์รี กาแฟพันธุ์อาราบิกา นัตพันธุ์ต่างๆ

    - ไม้ดอก เช่น แกลดิโอลัส เยอบีราพันธุ์ยุโรป สแตติส ยิบโซฟิลลา คาร์เนชั่น อัลสโตรมีเรีย ลิลี ไอริส แดฟโฟดิล

    - ผัก เช่น ซูกินี เบบีแครอต กระเทียมต้น หอมญี่ปุ่น ผักกาดฝรั่ง แรดิช เฟนเนล มันฝรั่ง ถั่วแดงหลวง และถั่วพันธุ์อื่นๆ

    ในพื้นที่ดอยอ่างขางยังมีการฟื้นฟูสภาพป่าโดยตรง ด้วยการปลูกป่าด้วยพรรณไม้หลายชนิด ละการทิ้งพื้นที่แนวป่าให้พรรณไม้เกิดและเติบโตเองโดยธรรมชาติ มีทั้งพรรณไม้ท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ไม้ก่อ แอปเปิลป่า นางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระ และพรรณไม้โตเร็วจากไต้หวัน 5 ชนิด คือ กระถินดอย เมเปิลหอม การบูร จันทน์ทอง และเพาโลเนีย

    ที่สถานีฯ ยังเป็นแหล่งเที่ยวชมวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้านชาวไทยภูเขาต่างๆ ได้แก่ เผ่ามูเซอดำ ปะหล่อง และจีนฮ่อ รวมทั้งชมความงามตามธรรมชาติของผืนป่า กิจกรรมดูนกซึ่งมีนกทังนกประจำถิ่นและนกหายากต่างถิ่น พร้อมผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย งานส่งเสริมเกษตรกรจำหน่ายใต้ตราสินค้า "ดอยคำ" และที่พักทั้งในรูปแบบรีสอร์ท บ้านพักแบบกระท่อมและลานกางเต็นท์พร้อมอาหารและเครื่องดื่มบริการ

    สวนบอนไซ อยู่ในบริเวณสถานีฯ เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้เขตอบอุ่นและเขตหนาวทั้งในและต่างประเทศ ปลูก ดัด แต่ง โดยใช้เทคนิคบอนไซ สวยงามน่าชม และในบริเวณเดียวกันยังมีสวนสมุนไพร ฤดูท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม

ข้อมูลเพิ่มเติม:สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โทร. 0 5345 0107 - 9 หรือ www.angkhang.com
ททท.เชียงใหม่ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605

แก้ไขล่าสุด 2016-04-20 18:52:37 ผู้ชม 46307

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ทางเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

ทางเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ดอยอ่างขางเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น้อยคนจะไม่เคยได้ยินชื่อ แม้ว่าจะไม่เคยมาก็น่าจะได้ยินชื่อนี้อยู่บ้าง แต่ส่วนมากจะรู้จักในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศหนาวเย็นและมีดอกไม้สวยหลายชนิด แต่มีเพียงส่วนน้อยที่จะสนใจเข้ามาชมสถานีเกษตรหลวงที่ได้สร้างความเป็นอยู่ที่ดี เปลี่ยนชีวิตชาวเขาจากการเพาะปลูกฝิ่นมาเป็นพืชผักผลไม้และดอกไม้สวยๆ อย่างทุกวันนี้ เราเลยจะพามาชมสถานีเกษตรแห่งนี้ ในอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งเรียกว่าเดินตามรอยเสด็จว่าท่านทรงทำอะไรไปบ้างจึงสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ถึงเพียงนี้ 

    การมาที่สถานีฯ ต้องผ่านเส้นทางโค้งขึ้นเขาชันหลายช่วงเพื่อขึ้นมาบนดอยอ่างขาง หลังจากนั้นเราก็ไปเที่ยวทั่วบริเวณดอยอ่างขางซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายหลายแห่ง ได้แก่ พระธาตุดอยอ่างขาง จุดชมวิวขอบด้ง หมู่บ้านขอบด้ง หมู่บ้านนอแล ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล เรื่องราวที่เที่ยวดอยอ่างขางเราขอเขียนแยกเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะรวมกันแล้วยาวมาก คลิกอ่านได้ที่ ดอยอ่างขาง-นางพญาเสือโคร่ง หรืออีกเรื่องก็คือ ดอยอ่างขางหน้าฝนมนต์เสน่ห์แห่งสายหมอก แล้วค่อยมาสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เพราะที่ตั้งอยู่สุดเส้นทางดอยอ่างขาง ตรงทางเข้าเป็นที่ตั้งย่านการค้าใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยที่พัก ร้านอาหาร มากมาย ตรงลานจอดรถที่มีรถจอดอยู่หลายคัน มีทางแยกไปทางขวามือเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีด่านเก็บค่าเข้าชมคนละ 50 บาทค่ายานพาหนะคันละ 50 บาท

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการหลวง

ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการหลวง ตรงเข้ามาในช่วงแรกถ้าใครมาในช่วงไฮซีซันคือหน้าหนาว จะมีการสร้างโดมสำหรับแวะถ่ายรูปสวยๆ ในโดมมีดอกไม้เมืองหนาวมากมายหลายอย่าง มีมุมสวยๆ จัดไว้ให้ถ่ายรูปกันเยอะแยะ ตรงข้ามกับโดมดอกไม้จะมีโดมกุหลาบและศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงให้เลือกซื้อเลือกหากัน มีลานจอดรถไว้ให้หลายๆ คนจะไม่ค่อยแวะที่นี่ตอนขาเข้าส่วนมากตรงไปถ่ายรูปสวน 80 ก่อนแล้วขากลับค่อยมาแวะก็ตามแต่สะดวก แต่เราจะพาเข้าไปชมกันว่าข้างในมีอะไรบ้าง

โดมกุหลาบดอยอ่างขาง

โดมกุหลาบดอยอ่างขาง เป็นโดมที่อยู่ติดกับศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์โครงการหลวงมีทางเข้าออกเชื่อมถึงกัน กุหลาบที่เอามาเรียงไว้ในโดมนี้มีหลายสายพันธุ์ จะซื้อหามาปลูกที่บ้านก็ได้ หรือจะเดินถ่ายรูปเซลฟีสวยๆ กับดอกไม้ก็ดีตามอัธยาศัย ในหน้าฝนเจ้าหน้าที่จะเริ่มเอากุหลาบมาตั้ง ให้พอดีกับหน้าหนาวที่ดอกจะเบ่งบานสะพรั่งหลากสีให้เราได้ชม

ทุ่งดอกไม้

ทุ่งดอกไม้ อีกด้านหนึ่งของศูนย์ฯ จะมีแปลงดอกไม้กว้างขวาง มีซุ้มที่สร้างไว้เป็นจุดๆ สำหรับถ่ายรูปและหลบร้อน ทุ่งดอกไม้กับวิวด้านหลังที่เป็นภูเขาดึงดูดให้คนเข้ามาเดินถ่ายรูปอยู่ตลอดวัน

สวน 80

สวน 80 จากทุ่งดอกไม้ถนนพาเราเข้ามาในส่วนลึกของโครงการเป็นที่ตั้งของที่ทำการสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง แวะถ่ายรูปดอกไม้จนพอใจกันแล้วขับรถเข้ามาตามถนนเรื่อยๆ ผ่านสวนท้อ สวนบ๊วย สวนสาลี่ ตอนนี้ยังขอไม่แวะก่อนเดี๋ยวจะหลุดประเด็น เพราะเราตั้งใจเข้ามาที่นี่เพื่อศึกษาเรียนรู้เรื่องราวของสถานีฯ ก่อนอื่นพอเข้ามาถึงสวน 80 ก็จอดรถตรงลานจอดรถ (ถ้ามาช่วงเทศกาลหน้าหนาวที่จอดหายากมาก) ทีนี้ก็เข้าไปที่สโมสรอ่างขาง สถานที่ที่จะมีเรื่องราวประวัติความเป็นมาของโครงการให้เราได้ชมกัน

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

ถ้าเดินมาถ่ายรูปในสวน 80 ลองมองไปฝั่งตรงข้ามว่าเราเห็นอะไรบ้าง ทางเดินตรงเข้าไปที่อาคารมีสโมสรอ่างขาง และร้านกาแฟสดเปิดให้บริการ มีโปสการ์ดสวยๆ เอาไว้ส่งหาคนพิเศษ มีชาวเขาเอาสินค้าเล็กๆ น้อยๆ มาวางขายให้นักท่องเที่ยว นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของเรา

สโมสรอ่างขาง

สโมสรอ่างขาง เดินเข้ามาที่ประตูนี้เลย จะมีเจ้าหน้าที่ของโครงการคอยต้อนรับเราอยู่แล้ว

ภาพประวัติศาสตร์เสด็จพระราชดำเนินดอยอ่างขาง

ภาพประวัติศาสตร์เสด็จพระราชดำเนินดอยอ่างขาง เจ้าหน้าที่เปิดวิดีทัศน์ประวัติของสถานีให้เราได้ชม จุดเริ่มต้นของการที่คนไทยทั้งหลายได้มีที่เที่ยวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศนั้นสืบเนื่องจาก ในปี พ.ศ.2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู้บ้านผักไผ่ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และได้เสด็จผ่านบริเวณดอยอ่างขาง ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ทำการปลูกฝิ่นแต่ยังยากจนทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธารที่เป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศน์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนอื่นของประเทศได้ จีงทรงมีพระราชดำริว่าพื้นที่นี้มีภูมิอากาศหนาวเย็น มีการปลูกฝิ่นมาก ไม่มีป่าไม้อยู่เลยและมีสภาพพื้นที่ไม่ลาดชันนัก ประกอบกับพระองค์ทราบว่าชาวเขาได้เงินจากฝิ่นเท่ากับที่ได้จากการปลูกท้อพื้นเมือง และทรงทราบว่าที่สถานีทดลองไม้ผลเมืองหนาวของมหาวิทยาลัยเกษตร ได้ทดลองวิธีติดตา ต่อกิ่งกับท้อฝรั่ง จึงสละราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. 2512 โดยทรงแต่ตั้งให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในตำแหน่งประธานมูลนิธิโครงการหลวง ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก ไม้ดอก เมืองหนาว เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนามว่า "สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง"

    หลังจากนั้นก็มีผู้ให้ความสนใจในโครงการดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ทั้งหน่วยงาน ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศก็พากันขึ้นมาเที่ยวชม เพราะนอกจากที่สถานีเกษตรหลวงแล้วยังมีเส้นทางต่อไปยังหมู่บ้านชาวเขาคือหมู่บ้านขอบดัง ระหว่างทางจะมีลานกว้างเหมาะสำหรับเป็นจุดชมวิว ทางสถานีเกษตรหลวงอ่างขางร่วมกับทางองค์การบริหารส่วนตำบลจึงไปปรับสถานที่สำหรับเป็นจุดชมวิวและเป็นสถานที่กางเต็นท์พักแรมของนักท่องเที่ยว 

    รอบๆ ห้องที่เรานั่งชมวิดีโอจะมีภาพเมื่อครั้งที่สองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินดอยอ่างขาง ทรงเข้าถึงชาวบ้านทุกเผ่า อย่างไม่ถือพระองค์ สำหรับเราที่เดินทางมาเที่ยวดอยอ่างขาง สมควรยิ่งแล้วที่จะได้มารู้มาเห็นเรื่องราวเหล่านี้ แล้วยกขึ้นเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม โชคดีที่ได้เกิดมาใต้ร่มพระบารมีของพระองค์โดยแท้

ไร่ฝิ่นดอยอ่างขาง

ไร่ฝิ่นดอยอ่างขาง ในปี พ.ศ.2512 และก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน ชาวเขาทำอาชีพปลูกฝิ่นส่งพ่อค้า เพราะพ่อค้าให้ราคาเท่ากับท้อที่ปลูกอยู่แล้ว ชาวเขาเร่งทำการถางป่าและเลิกปลูกท้อหันมาปลูกฝิ่นเพราะง่ายกว่าและไม่ต้องเอาไปขายมีคนมารับซื้อถึงที่ จากนั้นชาวเขาก็เริ่มสูบและติดฝิ่นซะเอง พอมีลูกก็ไม่ต้องไปโรงเรียนพอยกของได้หน่อยก็มาช่วยพ่อแม่ปลูกและขนฝิ่น เป็นปัญหาเรื้อรังมานานอย่างไม่น่าจะมีทางแก้ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและทรงห่วงใยในประชาราษฎร์ ที่ทรงริเริ่มโครงการเล็กๆ จนกระทั่งแก้ไขปัญหาการปลูกฝิ่นนี้จนหมดไป โดยที่ชาวบ้านที่เคยปลูกฝิ่นก็มีงานทำ มีพืชที่ปลูกแล้วรับซื้อโดยโครงการหลวงไม่ต้องเอาไปขายเองเพียงแต่ต้องปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี วิธีการปลูกทางสถานีเกษตรได้ค้นคว้าวิจัยให้ ทุกอย่างที่นำมาปลูกก็ล้วนได้ราคาดียิ่งกว่าฝิ่น ดอยอ่างขางจึงเต็มไปด้วยความสวยงามและปกติสุขของชาวบ้านในทุกหมู่บ้านทุกชนเผ่า แล้วยังทรงตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) ขึ้นมาเพื่อรับเอาผลผลิตจากชาวบ้านที่ส่งมาขายมาผลิตเป็นอาหารแปรรูปในชื่อ "ดอยคำ" ทำให้ลูกหลานของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงมีงานทำโดยไม่ต้องเดินทางเข้าไปในเมืองอีกด้วย สำหรับเรื่องราวของโรงงานหลวงเราจะเขียนรายละเอียดไว้อีกหน้าหนึ่ง

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

เมื่อได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางแล้ว เราจะพาไปชมพื้นที่รอบๆ ว่าที่นี่มีอะไรบ้าง ความรู้สึกในการมองทุกสิ่งทุกอย่างของเราก็จะเริ่มเปลี่ยนไป เดิมทีเรามาเที่ยวสวน 80 มาเสพความสวยงามของดอกไม้และธรรมชาติบางทีไม่ค่อยพอใจที่มีคนสวนนั่งทำงานอยู่ตรงที่เราจะถ่ายรูป แต่คนเหล่านี้คือคนที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง คือได้มีงานทำ การเป็นคนสวนที่นี่จะมีงานทำตลอดทั้งปีไม่ว่าฤดูไหน ปกติเรามาหน้าหนาวสวนแห่งนี้เต็มไปด้วยดอกไม้บานสะพรั่ง แต่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าก่อนจะถึงเวลานั้นจะต้องมีการปลูกดอกไม้ต้นใหม่ลงไปเพื่อให้ออกดอกบานทันเวลาที่ต้องการ ดอกไม้ในสวนแห่งนี้จึงไม่เคยซ้ำรูปแบบกันเลยในแต่ละปี ถ้าไม่มีคนเหล่านี้สวนดอกไม้แสนสวยที่เราตั้งใจจะมาชมก็คงจะไม่มีเหมือนกัน

ซากุระ สวน 80

ซากุระ สวน 80 นอกไปจากดอกไม้ต้นเล็กๆ ที่ปลูกอยู่ในสวน ดอกไม้ยอดนิยมต้นใหญ่ๆ ก็มีเหมือนกัน ทั้งพญาเสือโคร่ง ซากุระเมืองไทย กับซากุระจริงๆ ที่มาจากต้นกำเนิด มีปลูกไว้ให้เราชม ตอนเช้าๆ ถ้าใครพักในพื้นที่ของสถานี ลองมาเดินดูจะเห็นนกสวยๆ หลายสีมากินน้ำหวานในดอกซากุระ ภาพที่เห็นจะสวยยิ่งกว่านกเกาะอยู่บนต้นไม้อื่นแน่นอน

สวนหอม

สวนหอม เป็นชื่อของสวนดอกไม้ที่อยู่ตรงข้ามกับสวน 80 อ่านเผินๆ นึกว่าเป็นสวนปลูกต้นหอมหรือหอมหัวใหญ่ แต่ความจริงเป็นสวนสำหรับปลูกไม้กลิ่นหอมในช่วงหน้าหนาว เวลาเราไปเที่ยวเดินเข้ามาสวนนี้กลิ่นจะหอมรัญจวนไปทั่ว แต่สำหรับหน้าฝนจะปลูกดอกไม้อื่นๆ แทน แต่ความสวยงามไม่แพ้กันถ้าไปนั่งจิบกาแฟร้านกาแฟหน้าสโมสรอ่างขางมองลงมาวิวจะสวยมาก

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

จากสวนกุหลาบอังกฤษลองเดินข้ามถนนไปอีกฟากด้านนี้ปกติไม่ค่อยมีคนมาเท่าไหร่ เพราะเป็นโรงรับซื้อผลิตผลของชาวบ้าน เราจะเห็นชาวเขาที่มีพื้นที่เพาะปลูกเอาผักผลไม้มาส่งโครงการหลวง เจ้าหน้าที่จะคอยตรวจรับสินค้าจากนั้นแล้วเอาไปกระจายสู่ท้องตลาดและโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปเพื่อแปรรูปอีกต่อหนึ่ง

ห้องตัดกุหลาบ

ห้องตัดกุหลาบ อยู่ติดกับโรงรับซื้อผลผลิต เป็นห้องกระจกรอบด้านบุคคลภายนอกห้ามเข้า ในห้องนี้จะมีเจ้าหน้าที่ตัดแต่งกุหลาบที่ชาวบ้านนำมาส่งขายให้ กุหลาบจะถูกตัดอย่างถูกวิธีมีขั้นตอนและระเบียบติดไว้ที่กระจกด้านหน้า ทุกขั้นตอนทำงานอย่างมีระบบก่อนที่จะส่งออกสู่ท้องตลาด จึงมั่นใจได้ในคุณภาพของผลิตผลจากโครงการหลวง

ดอกกุหลาบ

ดอกกุหลาบ

สวนบ๊วย

สวนบ๊วย ออกจากห้องตัดกุหลาบ ต่อจากนี้ต้องขับรถไปเพราะอยู่ไกลกันและเป็นเส้นทางขากลับออกจากสถานี อยากแนะนำให้แวะสวนบ๊วยและท้อที่อยู่ระหว่างทางออก (เราเห็นตั้งแต่เข้ามาแต่เก็บไว้แวะทีหลัง) บ๊วยและท้อเป็นพืชที่ขึ้นอยู่บนที่สูงและอากาศหนาวเย็น หน้าฝนใบจะเยอะมีสีเขียวขจีทั้งต้นพอหน้าหนาวจะเริ่มทิ้งใบแล้วออกดอก ดอกของบ๊วยกับท้อเป็นดอกเล็กๆ แต่มีลักษณะคล้ายๆ พญาเสือโคร่ง ตอนที่ทิ้งใบหมดเหลือแต่ดอกบนต้นที่เรียงรายเป็นแถวก็เป็นมุมหนึ่งที่เราชอบไปถ่ายรูปกัน ทางสถานีปลูกเอาไว้เก็บผล แต่กลายเป็นว่าเป็นที่เที่ยวอีกจุดหนึ่งที่เราชอบแวะ ถึงแม้ว่าต้องจอดรถแล้วเดินไกลหน่อยก็ตาม รูปร่างของต้นแปลกดีด้วย 

สวนท้อ ดอยอ่างขาง

สวนท้อ ดอยอ่างขาง ภาพนี้ถ่ายตอนหน้าหนาวช่วงพฤศจิกายน แต่ดอกท้อจะบานแบบนี้ไปจนถึงมกราคม เที่ยวได้เรื่อยๆ

ลูกท้อ

ลูกท้อ ใครมาหน้าหนาวลองเดินชมสวนบ๊วยกับสวนท้อดู จะเห็นความแตกต่างว่ามันต่างกันตรงไหน ถ้าดูแต่ต้นบางทีแยกกันยาก พอทิ้งใบหมดเหลือแต่ดอกเราจะเห็นว่ามันมีดอกคนละสี บางต้นมีลูกให้ดูด้วย ถึงได้รู้ว่าหน้าตาเค้าเป็นอย่างนี้นี่เอง

โดมผัก

โดมผัก อีกหนึ่งสถานที่ของสถานีฯ ที่เราอยากให้เข้ามาดู ในโดมนี้จะจัดตกแต่งช่วงหน้าฝนและจะสวยงามพอดีในช่วงหน้าหนาว อยู่ติดกับสวนท้อ เราต้องจอดรถหน้าโดมนี้แล้วเดินไปสวนท้อ ในโดมจะมีผักมากมายหลายชนิดของสถานีฯ ที่ได้ทำการทดลองและให้ชาวบ้านนำไปปลูก เราสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลของผักเหล่านี้ได้เผื่อใครสนใจจะลองมาปลูกดูบ้าง ผักหลายอย่างที่นี่ไม่ค่อยได้เห็นวางในท้องตลาดทั่วไป ส่วนมากจะเป็นผักต้นใหญ่ๆ อวบเขียวน่ากินและไม่เคยคิดมาก่อนว่าการปลูกผักก็สามารถทำเป็นสวนตกแต่งบ้านได้สวยไม่แพ้ไม้ประดับเลย

ไร่สตอเบอร์รี่

ไร่สตอเบอร์รี่ จากโดมผักขับตรงออกมาตามเส้นทางจะพาเรามาที่โดมกุหลาบที่เราแวะจุดแรก จากนั้นก็ขับออกจากสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ถ้ามีเวลาเหลือจะแนะนำว่าลองออกมาเที่ยวตามหมู่บ้าน และที่ไม่ควรพลาดคือไร่สตอเบอร์รี่แห่งนี้ แต่ถ้าจะมาควรจะมาหน้าหนาวถึงจะได้เห็นสตอเบอร์รี่เต็มไร่และออกลูกสีแดงๆ ให้ได้ชม ชาวบ้านปลูกสตอเบอร์รี่ไว้ขายแต่สำหรับสายตาคนมาเที่ยวอย่างเราย่อมเห็นเป็นที่สวยงามและอยากลงไปถ่ายรูป ชาวบ้านไม่ว่าถ้าจะลงไปถ่ายรูปแต่ขออย่าเด็ดลูกสตอเบอร์รี่ไม่ว่าจะสีแดงหรือสีชมพู เพราะจะทำให้เขาเสียรายได้ เขาลงทุนลงแรงมาเยอะย่อมต้องการผลจากความเหน็ดเหนื่อยยากเป็นธรรมดา ถ้าเรายังคงเด็ดเล่นหรือเด็ดกินต่อไปเขาก็คงไม่ให้เข้ามาถ่ายรูป ได้อดไปตามๆ กัน

ไร่สตอเบอร์รี่ดอยอ่างขาง

ไร่สตอเบอร์รี่ดอยอ่างขาง ผลพวงของโครงการจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ มีอาชีพสุจริต มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีแหล่งท่องเที่ยวสวยๆ เกิดขึ้น และอีกมากมายนานับประการ ถ้าเทียบภาพนี้กับภาพที่ชาวเขาปลูกฝิ่น ลองนึกดูว่าถ้าไม่มีโครงการหลวง ไม่มีสถานีเกษตรหลวง เราชาวไทยจะอยู่กันยังไงยาเสพติดคงเต็มไปหมดแน่ๆ

เรือนเพาะชำดอกไม้

เรือนเพาะชำดอกไม้ อยู่ใกล้ๆ กับไร่สตอเบอร์รี่ ข้างในมีดอกไม้ปลูกอยู่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือกุหลาบ ออกดอกมาก็ส่งขายให้สถานีฯ แล้วออกสู่ตลาดต่อไป

บ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

บ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง นอกเหนือจากการเที่ยวชมโครงการซึ่งความจริงแล้วที่เราเอาภาพมาให้ชมกันนี้ก็เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในทั้งหมดของโครงการ จะเอาจริงๆ เที่ยววันเดียวคงไม่หมด ส่วนจะเที่ยวหลายวันก็จำเป็นต้องมีที่พัก หากเป็นไปได้นอนในโครงการเลยก็สะดวกดีเหมือนกัน นอนตื่นเช้าๆ เข้าไปถ่ายรูปในสวนดอกไม้ยังไม่มีคนมาเหมือนเป็นสวนของเราเลย บ้านพักในสถานีฯ มีนักท่องเที่ยวจองล่วงหน้ากันนานหลายวัน เพื่อให้ได้พักท่ามกลางโครงการดีๆ มีที่สวยๆ ให้ชมได้ตลอดทั้งวัน ดังนั้นถ้าอยากพักที่นี่ก็ต้องคุ้นเคยกับการจองล่วงหน้านานๆ หน่อยนะครับ 

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเปิดจองบ้านพักในสถานีฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ในช่วงปลายปีบ้านพักจะเต็มค่อนข้างเร็ว การมาเที่ยวหน้าฝน หรือวันธรรมดาจะช่วยได้มากเลย 

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โทร. 0 5345 0107 - 9 หรือ https://www.facebook.com/angkhangstation

จบการนำเที่ยวสถานีเกษตรหลวงอ่างขางในอีกมุมที่เราอาจจะลืมเลือนกันไป เอาไว้ไปอีกคราวหน้าเราจะมีเรื่องราวที่ละเอียดเพิ่มมากขึ้นกว่านี้มาให้ ติดตามกันนะครับ

ขอขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภูมิภาคภาคเหนือ มา ณ โอกาสนี้ครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เชียงใหม่
อ่างขาง เนเจอร์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านพักนาหา เชียงใหม่
  1.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
AumHum Homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.15 km | แผนที่ | เส้นทาง
Ton Fang Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  25.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมฝาง โมเดิร์น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมชญาภา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.15 km | แผนที่ | เส้นทาง
กษริน คอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.46 km | แผนที่ | เส้นทาง
Sleeping Tree Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
โอเอซิส รีสอร์ท ฝาง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
ขุนยูว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เชียงใหม่
สวน 80 ดอยอ่างขาง
  0.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดอยอ่างขาง เชียงใหม่
  1.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระธาตุดอยอ่างขาง เชียงใหม่
  1.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไร่ชา 2000 ดอยอ่างขาง
  1.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำพุร้อนฝาง เชียงใหม่
  21.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) เชียงใหม่
  21.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เชียงใหม่
  22.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดอยปู่หมื่น เชียงใหม่
  30.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยฟ้าห่มปก
  36.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดถ้ำตับเตา เชียงใหม่
  46.07 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com