www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก

อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก

 อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เดิมชื่ออุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก และเปลี่ยนชื่อเป็นอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกในปัจจุบ้น มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 524 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนของทิวเขาผีปันน้ำ มีความสูงตั้งแต่ 400-2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล

    มีดอยสำคัญได้แก่ ดอยฟ้าห่มปก ดอยปู่หมื่น ดอยแหลม และดอยอ่างขาง สภาพป่าส่วนใหญ่ยังสมบูรณ์อยู่มาก ทั้งป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณในระดับเชิงเขา ป่าดิบแล้งบริเวณริมลำห้วยลำธาร ป่าสนเขาและป่าดิบเขาบนยอดเขาสูง ป่าผืนนี้เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำฝาง มีไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ตะเคียน มะไฟป่า ตะแบก สัก จำปีป่า ฯลฯ รวมทั้งพันธุ์ไม้ที่หายากของไทย เช่น เทียนหาง กุหลาบพันปี เป็นต้น ด้วยสภาพพื้นที่ที่ติดต่อกับป่าธรรมชาติในพม่า ทำให้มีสัตว์ป่าย้ายถิ่นเข้ามาอยู่เป็นประจำ ป่าแห่งนี้จึงชุกชุมด้วยสัตว์นานาชนิด เช่น เก้ง กวาง หมี หมูป่า เลียงผา ฯลฯ

    ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก คนไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

    การเดินทาง ไปอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จากเมืองเชียงใหม่ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 ถึงตัวเมืองฝางตรงไปจนพบสามแยกไฟแดงให้เลี้ยวซ้ายไป 9 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางชัดเจนตลอดทาง เป็นถนนลาดยาง จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติฯ

    มีรถประจำทางปรับอากาศของ บริษัทขนส่งจำกัด และบริษัทรถร่วมเอกชน ระหว่างกรุงเทพ-ฝาง, เชียงใหม่-ฝาง เมื่อถึง อ.ฝาง จะมีรถรับจ้างคอยบริการรับส่งสู่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก อีกประมาณ 10 กม.

สถานที่น่าสนใจในอุทยานฯ

    โป่งน้ำร้อนฝาง เกิดจากพลังงานความร้อนใต้ผิวโลก น้ำมีอุณหภูมิสูงถึง 90-130 องศาเซลเซียส มีน้ำแร่ทั้งปี บริเวณกว้างโปร่งตา โป่งน้ำร้อนฝางมีห้องบริการอาบน้ำแร่ ทั้งห้องอาบน้ำและอบไอน้ำ รวมทั้งบ่ออาบน้ำร้อนกลางแจ้ง

    เปิดให้บริการตั้งแต่ 08.00-20.00 น. โป่งน้ำร้อนอยู่ในบริเวณเดียวกับที่ทำการฯ นอกจากนี้จากที่ทำการอุทยานฯ ยังมีเส้นทางเดินขึ้นเขาผ่านป่าเบญจพรรณมาถึงโป่งน้ำร้อนระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร ห่างจากบ่อน้ำร้อนประมาณ 300 เมตรจะมี ห้วยแม่ใจ ซึ่งมีน้ำไหลมากตลอดปี

    น้ำตกโป่งน้ำดัง เป็นน้ำตกหินปูนขนาดเล็ก แต่มีเสน่ห์ไม่แพ้น้ำตกขนาดใหญ่ มีถ้ำเล็กๆ พอให้คนเข้าไปนั่งเล่นได้ 3-4 คน เพดานถ้ำมีน้ำหยดตลอดเวลาและเกิดเป็นหินงอกเล็กๆ ไปทั่ว การเดินทาง จากอ.ฝาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 (ฝาง-เชียงใหม่) ไปประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงวัดแม่สูนหลวงเลี้ยวขวาข้างวัดเข้าไปตามทางอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงหน่วยพิทักษ์ อุทยานแห่งชาติ มฝ. 3 จากนั้นต้องเดินตามเส้นทางป่าไปสู่น้ำตก ระยะทางไป-กลับประมาณ 1.5 กิโลเมตร ระหว่างทางผ่านป่าดิบแล้งที่ร่มครึ้มด้วยไม้ใหญ่ บางช่วงต้องเดินข้ามลำธารที่มีน้ำใสไหลเย็น

    ดอยฟ้าห่มปก มีความสูง 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเล จึงมีเมฆหมอกปกคลุมยอดดอยและมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ดอยฟ้าห่มปก คือหนึ่งในเทือกเขาแดนลาวที่ทอดตัวยาวตั้งแต่ทางตอนใต้ของยูนนานลงมาแบ่งชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่เชียงรายไปจนถึงแม่ฮ่องสอนจนไปจรดกับเทือกเขาถนนธงชัย

    บนดอยฟ้าห่มปกมีนก และผีเสื้อที่น่าสนใจ เช่น นกปีกแพรสีม่วง นกปรอดหัวโขนก้นเหลือง ผีเสื้อมรกตผ้าห่มปกซึ่งพบที่นี่แห่งเดียวเท่านั้นในประเทศไทย ผีเสื้อหางติ่งแววเลือน ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ เป็นต้น ในฤดูหนาวมีนกอพยพมาอาศัย เช่น นกเดินดงคอแดง นกเดินดงดำปีกเทา นกเดินดงสีน้ำตาลแดง เป็นต้น

    นักท่องเที่ยวตั้งแค้มป์พักแรมได้ตรงบริเวณกิ่วลม เนื่องจากทางอุทยานแห่งชาติไม่อนุญาตให้พักแรมบนยอดดอยฟ้าห่มปกซึ่งเป็นหน้าผาชันและอาจเกิดอันตรายได้ การเดินทางขึ้นยอดดอยฟ้าห่มปกต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน 1 คืน ก่อนเดินทางควรติดต่อขออนุญาต ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่ฝาง ค่าเช่ารถขึ้นจากอุทยานไปส่งที่ทางขึ้นดอยไปส่ง-รับประมาณ 1,800 บาท

    สอบถามรายละเอียดที่อุทยานฯ โทร. 0 5345 1441 ต่อ 302, 0 5345 3517-8

    การเดินทาง จาก อ.ฝาง ใช้ทาง รพช. สายฝาง-บ้านห้วยบอน ไปจนถึงบ้านห้วยบอน ให้ตรงไปตามทางลูกรังอีกประมาณ 5 กิโลเมตร มีทางแยกขวาขึ้นเขาชันไปประมาณ 13 กิโลเมตร จะพบหน่วยจัดการต้นน้ำดอยผาหลวง ตรงไปจนพบสามแยก ถ้าตรงไปอีกประมาณ 4 กิโลเมตร จะถึงหน่วยจัดการต้นน้ำแม่สาวถ้าไปทางแยกซ้ายประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงกิ่วลมซึ่งมีลักษณะเป็นเขาและมีลานสำหรับจอดรถได้ถ้าเดินทางต่อจากกิ่วลมไปอีก 5 กิโลเมตร จะถึงปางมงคล

    ผู้สนใจเดินทางขึ้นดอยฟ้าห่มปกต้องติดต่อที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติก่อนการจะเดินทางขึ้นสู่จุดยอดดอยฟ้าห่มปกนั้นต้องเตรียมตัวอย่างดีเพราะต้องเดินป่าปีนเขาอย่างสมบุกสมบันและที่นี่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ นักท่องเที่ยวต้องเตรียมไปเอง

    ถ้ำห้วยบอน เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ลึกประมาณ 300 เมตร ภายนอกถ้ำอาจดูไม่น่าสนใจนัก แต่เมื่อเข้าไปถึงประมาณกลางถ้ำ จะพบโถงถ้ำใหญ่ซึ่งจุคนได้ประมาณ 40-50 คน สภาพถ้ำเต็มไปด้วยเสาหินและหินงอกหินย้อยขนาดต่างๆซึ่งดูน่าตื่นตาตื่นใจมากถ้ำห้วยบอนเป็นถ้ำที่ยังมีการสะสมตัวของหินปูนสังเกตได้จากการมีน้ำหยดตามผนังถ้ำและหินงอกหินย้อยต่าง ๆ ตลอดเวลา การเดินทางใช้เส้นทางเดียวกับทางไปกิ่วลมเพื่อขึ้นดอยฟ้าห่มปก

    ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก ในอุทยานฯ ได้จัดเตรียมบ้านพัก ห้องอาบน้ำแร่ ห้องอบไอน้ำ ร้านอาหาร และ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก และลานกางเต็นท์ พร้อมเต็นท์และเครื่องนอนให้เช่าในราคา 250-800 บาท/คืน (พักได้ 2-6 คน) และมีบริการให้เช่าชุดเครื่องนอนประกอบด้วย หมอน ถุงนอน ที่รองนอนและชุดสนาม ในอัตรา 150 บาท/ชุด/คืน หรือชุดเครื่องนอนประกอบด้วยหมอนใหญ่ ที่นอน ผ้าห่มและชุดสนามในอัตรา 200 บาท/ชุด/คืน โดยติดต่อและชำระค่าธรรมเนียมได้ที่ที่ทำการอุทยานฯ

    สถานที่ติดต่อ อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก ตู้ปณ.39 ต.โป่งน้ำร้อน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 50110 โทร. 0 5345 3517-8 ต่อ 104
    หรือติดต่อกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760
    หรือสำรองที่พักด้วยตนเองที่ http://www.dnp.go.th

ก่อนการเข้าไปท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวควรมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ โดยดูได้จากเว็บไซต์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชhttp://www.dnp.go.th

    และแนะนำนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติที่มีการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวไว้ ให้ติดต่อสอบถามหรือสำรองการเข้าไปใช้บริการล่วงหน้าก่อนการเดินทางที่อุทยานแห่งชาติโดยตรงได้ที่ อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0 5345 3517-8 ตลอด 24

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.เชียงใหม่ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605
http://www.tourismthailand.org/chiangmai

แก้ไขล่าสุด 2017-06-15 09:04:14 ผู้ชม 47407

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก

การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก ใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ทางแยกเข้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก อยู่ก่อนถึงตัวอำเภอฝาง แยกซ้ายมือมีป้ายบอกทาง ระหว่างทางสามารถแวะเที่ยวสถานที่ต่างๆ ที่น่าสนใจได้แก่ กาดเมืองผี ก่อนที่เราจะเดินทางไปอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก สิ่งที่จะต้องทำก็คือการติดต่ออุทยานแห่งชาติ เพื่อการกางเต็นท์ และรถสำหรับพาเราขึ้นไปยังลานกางเต็นท์ดอยผ้าห่มปก (สำหรับชื่อ ฟ้าห่มปก หรือ ผ้าห่มปก เป็นชื่อที่เรียกได้เหมือนกันทั้ง 2 ชื่อ แล้วแต่ความชอบครับ เพราะหลายคนก็เรียกดอยแห่งนี้ไม่เหมือนกัน ส่วนผมจะเรียกอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก แล้วเรียกชื่อยอดดอยว่าดอยผ้าห่มปก) เหตุที่ต้องการใช้บริการรถจากอุทยานก็เพราะว่ารถเราเป็นรถเก๋ง ไม่เหมาะกับเส้นทางขึ้นดอยผ้าห่มปก หรือแม้แต่รถกระบะบางทีก็แนะนำให้ใช้บริการของอุทยานดีกว่า เพราะก่อนหน้าที่เราจะเดินทางไปเพียง 3 วัน มีคนเอารถกระบะของตัวเองขับขึ้นไปเองแล้วตกผาขาหักไป 1 ราย ติดต่อเจ้าหน้าที่จองรถและลานกางเต็นท์เสร็จแล้วก็เดินทางไปได้เลย
ระหว่างทางจะมีเส้นทางโค้งคดเคี้ยวเป็นบางช่วง ก่อนจะถึงตัวอำเภอฝาง ชมทิวทัศน์ข้างทางดอกจานบานสะพรั่ง มีอยู่ประปรายให้สมาชิกของเราขอจอดถ่ายรูปเป็นระยะๆ เพราะความสวยงามของดอกไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีดอกสีส้มสดใสอยู่ข้างถนน กำหนดเวลานัดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นไปค้างแรมบนดอยผ้าห่มปก ควรจะเดินทางไปที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกเวลาไม่ช้ากว่าบ่าย 3 โมง ก่อนหน้านั้นเรามีเวลาในการขับรถกินลมชมวิวเลือกแวะตามที่ต่างๆ ได้ตามสบาย แต่ต้องไม่ลืมเข้าตัวอำเภอฝางเพื่อที่จะเตรียมเสบียงอาหารสำหรับกลางคืนและรุ่งเข้าของอีกวัน

ถึงแล้วอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก

ถึงแล้วอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก ก่อนที่จะเข้าไปก็ต้องมีประเพณีการถ่ายภาพหมู่ตรงป้ายทางเข้าอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกกันหน่อย (หรือจะมาถ่ายตอนขากลับก็แล้วแต่การวางแผนของแต่ละกลุ่ม ถ้าเรามาถึงช้าก็ควรรีบไปเปลี่ยนรถก่อน ภาพนี้ของเราก็ถ่ายตอนขากลับเหมือนกันครับ)

มุ่งหน้าพิชิตดอยผ้าห่มปก

มุ่งหน้าพิชิตดอยผ้าห่มปก เรามาถึงบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกเวลาบ่าย 3 กว่าๆ เพราะต้องเปลี่ยนรถขนของขึ้นรถที่ทางอุทยานจะเตรียมไว้ให้ (เราต้องจ่ายเงินบางส่วนล่วงหน้าที่ธนาคารกรุงไทยหลังจากที่เราเข้าไปจองทางอินเตอร์เน็ต) จากนั้นเดินทางจากที่ทำการอุทยานไปยังเส้นทางขึ้นดอยผ้าห่มปก เป็นทางเรียบลาดยางผ่านหมู่บ้านไปอีก 20 กิโลเมตรเห็นจะได้ จากนั้นก็ถึงด่านตรวจตรงจุดเริ่มต้นทางขึ้นเขาอันลาดชัน เจ้าหน้าที่ที่ด่านนี้จะทำหน้าที่สกัดรถที่ไม่สามารถขึ้นดอยผ้าห่มปกได้อย่างเช่นรถเก๋ง เผื่อว่ามีนักท่องเที่ยวที่ไม่รู้จะมีปัญหาระหว่างการเดินทางได้ เส้นทางตรงนี้ขึ้นไปยังยอดดอยเป็นทางลูกรัง ดินแดง สลับกับคอนกรีตเสริมเหล็กที่สร้างขึ้นมาเป็นช่วงๆ โดยจะเน้นสร้างถนนคอนกรีตในบริเวณที่เป็นทางลาดชันมาก เพื่อไม่ให้รถลื่นไถลลงเขา บางช่วงเป็นทรายหนารถลื่นไถลท้ายปัดน่าหวาดเสียว แต่พี่นะ ผู้เชี่ยวชาญเส้นทางดอกผ้าห่มปก ขับรถขึ้นลงดอยผ้าห่มปกมาประมาณ 15 ปี ผู้หญิงคนหนึ่งที่ดูท่าทีไม่น่าจะมาขับรถขึ้นลงเขาได้อย่างเชี่ยวชาญขนาดนี้ ครึ่งชั่วโมงกว่าโดยประมาณ เราก็มาถึงลานกางเต็นท์ของอุทยานได้อย่างปลอดภัย เราก็ไปติดต่อที่รองนอน เพราะเต็นท์เราจองเอาไว้แล้ว (ทริปนี้ไม่เอาเต็นท์มาครับเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ทีมงานทุกคนอยากมาถ่ายรูปอย่างเดียว ที่ต้องเตรียมมาก็เพียงเสบียงอาหารเพราะบนนี้ไม่มีร้านค้าครับ)

จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดอยผ้าห่มปก

จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกดอยผ้าห่มปก เอาละเรามาถึงก่อนเวลาพระอาทิตย์ตั้งเยอะ จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกสวยๆ ของดอยผ้าห่มปก มีอยู่หลักๆ 2 จุด จุดแรกเป็นศาลาอยู่หน้าลานกางเต็นท์ แต่เราไม่เลือกจุดนี้เพราะมีต้นสนมากมายขึ้นอยู่เรียงรายด้านหน้า กลัวว่าวิวที่ถ่ายออกมาจะรกรุงรังไปด้วยต้นสน
จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกอีกจุดหนึ่งอยู่ห่างจากลานกางเต็นท์เดินไปด้านข้างศูนย์บริการนักท่องเที่ยวดอยผ้าห่มปกประมาณ 100 เมตร เป็นทิวต้นสนมากมายเหมือนกันแต่ดูกิ่งก้านของสนจะสวยกว่าที่ศาลา
จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกจุดที่ 3 คือยอดดอยผ้าห่มปก แต่ไม่มีใครขึ้นไปเพราะเวลาขากลับต้องเดินกลับลานกางเต็นท์ท่ามกลางความมืดเจ้าหน้าที่ก็คงไม่อนุญาตให้เราไปด้วย

ปักหลักเตรียมเก็บภาพสวย

ปักหลักเตรียมเก็บภาพสวย เมื่อเวลาพระอาทิตย์ตกมาถึง ต่างคนต่างก็หามุมที่ตัวเองคิดว่าจะได้ภาพสวยๆ แยกย้ายกันไปคนละทางกางขาตั้งทำงานอย่างตั้งอกตั้งใจ สมาชิกของเราคนหนึ่งเดินทางมาเก็บภาพพระอาทิตย์ตกที่ดอยผ้าห่มปกแห่งนี้เป็นครั้งที่ 3 เหตุเพราะ 2 ครั้งแรกไม่เห็นดวงอาทิตย์เพราะฟ้าปิดมีหมอกปกคลุมทั่วทั้งดอย ในที่สุดความพยายามครั้งที่ 3 ก็ประสบความสำเร็จ

วิวพระอาทิตย์ตกดอยผ้าห่มปก

วิวพระอาทิตย์ตกดอยผ้าห่มปก เป็นภาพที่ได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกว่าสวยที่สุดในบรรดาหลายสิบภาพที่ผมถ่ายมาจากวิวพระอาทิตย์ตกดอยผ้าห่มปกไปวันนั้น ชั่วเวลาไม่ถึง 5 นาที พระอาทิตย์ดวงโตดวงนี้ก็จากเราลับหายไปบนขอบยอดของเทือกเขาในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

วิวพระอาทิตย์ตกดอยผ้าห่มปก

วิวพระอาทิตย์ตกดอยผ้าห่มปก ภาพสุดท้ายที่เราจะได้เห็นดวงอาทิตย์ ก่อนที่ลับหายไปจบกิจกรรมวันแรกของทริปฟ้าห่มปกของเรา เราเก็บอุปกรณ์เดินกลับไปที่ลานกางเต็นท์เตรียมอาหารกินกัน สำหรับมื้อเย็นของเราเรียบง่าย เราเตรียมข้าวกล่องมาจากตัวอำเภอฝาง ต่อด้วยเครื่องดื่ม ไมโล โอวัลติน ตามอัธยาศัย ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปทำใจ อาบน้ำที่หนาวเย็นกันแล้วเข้านอน

แสงสุดท้ายบนดอยผ้าห่มปก

แสงสุดท้ายบนดอยผ้าห่มปก ศาลาชมวิวพระอาทิตย์ตกหน้าลานกางเต็นท์กับต้นสนจำนวนมากที่ดูไม่เหมือนต้นอื่นๆ ตรงที่ไม่ค่อยมีกิ่งก้านมากมาย มีแต่ยอดสูงลิ่วขึ้นไปเป็นภาพสุดท้ายที่จะเก็บได้ในวันนี้ก่อนที่ทุกอย่างจะเข้าสู่ความมืด ต้องรีบเข้านอนเอาแรงไว้ให้มาก เราต้องเดินขึ้นยอดดอยผ้าห่มปกตอนตี 4 เพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้น เป็นกิจกรรมที่ทุกคนที่มาเที่ยวอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกจะต้องทำเหมือนๆ กัน หลังจากเที่ยวชมรอบๆ ยอดดอยแล้วก็เหลือเพียงการเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในกรณีที่มีเวลาเพียง 2 วัน คือเสาร์และอาทิตย์ แต่ก็มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มาเที่ยวทริปแบบนี้กันในช่วงฤดูหนาว

ม่อนวัดใจ

ม่อนวัดใจ การเริ่มต้นเดินทางขึ้นพิชิตยอดดอยผ้าห่มปก เราเริ่มต้นออกเดินกันตอนดี 4 ความจริงไม่มีการถ่ายรูปใดๆ ระหว่างทางที่เราเดิน มีเพียงการหยุดพักตามจุดพักต่างๆ ที่มีอยู่หลายแห่งระหว่างเส้นทาง 3.5 กิโลเมตร แต่ภาพที่ผมเอามาลงเรียงลำดับต่อจากนี้ไปเป็นภาพที่ถ่ายมาตอนขาลงจากยอดดอยให้เรื่องราวมันเป็นไปตามลำดับจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนของการเดินทาง ม่อนวัดใจแห่งนี้อยู่ห่างจากจุดเริ่มต้นลานกางเต็นท์ประมาณ 500 เมตร เป็นทางเดินขึ้นเนินแรกของเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยผ้าห่มปก เนินแห่งนี้ชันและยาว สมกับชื่อม่อนวัดใจ ในเวลากลางคืนเราเดินไม่ค่อยเห็นทาง เราจะไม่รู้ว่าทางชันแห่งนี้จะไปหยุดที่ไหน ความเหนื่อยระหว่างการเดินผ่านม่อนวัดใจแห่งนี้ก็ทำให้เรารู้ว่าทำไมต้องเรียกว่าม่อนวัดใจ ถ้าผ่านเนินนี้ไปไม่ได้ก็คงเดินไม่ถึงยอดดอยผ้าห่มปก

จุดชมวิวม่อนวัดใจ

จุดชมวิวม่อนวัดใจ หลังจากที่ได้พยายามเดินให้ผ่านเนินนั้นมาให้ได้ มีการพักระหว่างทางอยู่เป็นครั้งคราวเพื่อให้หายเหนื่อยก่อนที่จะเดินกันต่อไป ความเร่งรีบที่จะไปให้ทันพระอาทิตย์ขึ้นยิ่งทำให้เราเหนื่อยมากขึ้น สุดม่อนวัดใจจะมีหินกว้างประมาณ 2 เมตร ให้เราได้นั่งพักผ่อน ในกรณีที่เดินทางขึ้นไปชมพระอาทิตย์ขึ้นเราเดินตอนตี 4 ก็คงไม่เห็นวิวแบบนี้ ได้แต่นั่งพักอย่างเดียว

อาทิตย์เจิดจ้าระหว่างทาง

อาทิตย์เจิดจ้าระหว่างทาง ในระหว่างการเดินลงจากดอยเราไม่มีความจำเป็นที่จะรีบไปไหน เดินไปชมนกชมไม้ ถ่ายรูปไปเรื่อยๆก็จะเหนื่อยน้อยลงครับ ฤดูกาลที่เหมาะสมกับการเที่ยวดอยผ้าห่มปกก็ควรจะเป็นปลายฝนต้นหนาว มีดอกไม้ป่ามากมายหลายชนิดให้เราได้เพลิดเพลินกับการเก็บภาพ หลังจากเข้าฤดูหนาวช่วงมกราคม ความแห้งแล้งก็เข้ามาเยือน ดอกไม้ป่าไม่มีให้เราได้ชม ก็เหลือเพียงต้นไม้นานาพันธุ์คัดสรรเอามาประกอบภาพตามใจชอบ

บรรยากาศทางเดินพิชิตดอยผ้าห่มปก

บรรยากาศทางเดินพิชิตดอยผ้าห่มปก ป้ายบอกทางไปยังยอดดอยผ้าห่มปก มีตั้งไว้เป็นระยะๆ ห่างกัน 500 เมตร ก็มีป้ายบอกระยะทางคงเหลือ 2,000 เมตร มีที่นั่งพักซึ่งแน่นอนว่าเราก็เข้าพักที่นี่ด้วยตอนขึ้นมา แต่ละจุดที่เป็นที่พักดูเหมือนว่าเราจะพักไม่ต่ำกว่า 5 นาทีก่อนที่จะเดินต่อไปได้ไหว ระหว่างทางก็มีดอกไม้ป่าที่หลงเหลืออยู่ไม่กี่ชนิดให้เห็น ภาพล่างขวาเป็นป้ายบอกระยะทาง 1,500 เมตร เกือบๆ ครึ่งทางของเส้นทางการเดินพิชิตดอยผ้าห่มปก ด้านหลังป้ายเป็นวิวเทือกเขาที่รู้สึกว่ามันอยู่ขนานกับดอยผ้าห่มปกที่เราเดินอยู่เลย

บรรยากาศทางเดินพิชิตดอยผ้าห่มปก

บรรยากาศทางเดินพิชิตดอยผ้าห่มปก บางช่วงทางเดินมีเหวอยู่ข้างทางด้วยนะครับ ต้องระมัดระวังเพราะดินลื่นนิดหน่อย อย่างภาพซ้ายเรายืนอยู่ขอบเหวเลย แต่เส้นทางเดินมันเป็นแบบนั้นจริงๆ ตอนมากลางคืนจะมองไม่เห็นเหวแห่งนี้ครับเพราะมืดสนิท ในเวลาที่เดินลงแสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามาผ่านป่าที่เรียกกันว่าป่าเมฆ มีลักษณะของป่าที่มีความชื้นสูงตลอดปีมีมอสและเฟิร์นเกาะต้นไม้อยู่มากมายบางครั้งแรกว่าป่าดึกดำบรรพ์ คล้ายที่ดอยอินทนนท์ แสงแดดจะส่องลงยังพื้นได้น้อยครับทำให้เราเดินอย่างร่มรื่นเย็นสบาย

กิโลเมตรสุดท้าย

กิโลเมตรสุดท้าย เอาละในที่สุดมาถึงตรงนี้จนได้ ตามเส้นทาง 3.5 กิโลเมตร ผ่านเนินแรกที่ม่อนวัดใจ ก่อนจะมาถึงจุดนี้ ซึ่งเหลือระยะทางอีก 1,000 เมตร จะผ่านเนินที่ 2 ก่อน เป็นเนินที่ไม่ได้ตั้งชื่อเหมือนเนินแรก แต่ถ้าจะให้อธิบายละก็ มันเหนื่อยกว่าม่อนวัดใจเยอะ อาจจะเป็นเพราะเราหมดแรงไปตั้งแต่ม่อนวัดใจแล้วก็เป็นได้ พอมาเจอเนินที่ 2 ก็ยิ่งทำให้เราเดินกันช้าลง เราเริ่มเห็นแสงสีส้มลางๆ ตรงขอบฟ้าเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเวลาของเราเหลือน้อยเต็มทีแล้ว เราต้องเดินเร็วขึ้นไม่งั้นอาจจะพลาดภาพสวยๆ ของพระอาทิตย์ขึ้นก็เป็นได้ บริเวณนี้เราเห็นแสงไฟฉายของนักท่องเที่ยวกลุ่มหลังเริ่มไล่เรามาทันแล้ว (เพราะทุกคนก็ต้องเร่งเหมือนกันจะได้ทันเวลา แต่ดูท่าทางกลุ่มหลังคงเหนื่อยกว่าเรามากเพราะเดินเร่งมาก)

เนินสุดท้ายพิฃิตผ้าห่มปก

เนินสุดท้ายพิฃิตผ้าห่มปก นี่ก็เป็นช่วงเนินที่ 3 จากตรงนี้เราเห็นยอดดอยผ้าห่มปกอยู่ตรงหน้า ในภาพเป็นขาลงครับก็เลยดูกลับกันนิดหน่อย แม้ว่าจะเห็นยอดดอยอยู่อีกไม่กี่ร้อยเมตรตรงหน้าแล้วแต่เราก็เหนื่อยเกินกว่าจะที่รีบเดินให้เร็วกว่านี้ได้ เราก็เดินไปเรื่อยๆ ขอบฟ้าสีส้มแม้จะบอกว่าใกล้ได้เวลาพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว แต่ยังพอที่จะให้เราเดินไปถึงยอดดอยก่อน

วิวสวยแห่งดอยผ้าห่มปก

วิวสวยแห่งดอยผ้าห่มปก ก่อนถึงยอดดอยประมาณ 20 เมตร มองกลับมาด้านหลังที่เราเดินขึ้นมา พระอาทิตย์จะขึ้นอยู่ด้านซ้ายของภาพนี้ เทือกเขาทอดยาวตั้งแต่ทิศใต้ไปจนถึงทิศตะวันตก เป็นทิวทัศน์ที่สวยงามของดอยผ้าห่มปก หลังจากเลือกจุดเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้นได้แล้ว ยังมีเวลาเหลืออยู่มากพอที่จะเก็บภาพวิวด้านอื่นๆ เจ้าหน้าที่นำทางของอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เมื่อส่งเราถึงยอดดอยพี่ๆ เหล่านี้จะหลบไปอยู่อีกด้านหนึ่งเพื่อที่จะได้ไม่เกะกะในเวลาที่เราถ่ายรูปแต่ก็ไม่พ้นที่ผมจะเอามาประกอบวิวสวยจนได้

วิวพระอาทิตย์ขึ้นดอยผ้าห่มปก

วิวพระอาทิตย์ขึ้นดอยผ้าห่มปก

วิวพระอาทิตย์ขึ้นดอยผ้าห่มปก

วิวพระอาทิตย์ขึ้นดอยผ้าห่มปก

เหมยขาบหรือแม่คะนิ้ง

เหมยขาบหรือแม่คะนิ้ง เป็นความพยายามค้นหาเหมยขาบหรือแม่คะนิ้ง "เหมยขาบ" เป็นภาษาเหนือ ส่วน "แม่คะนิ้ง" เป็นภาษาอิสาน สองสิ่งนี้คือสิ่งเดียวกัน แต่เวลาเรียกเราก็จะเรียกตามสถานที่ที่ค้นพบ อย่างถ้าเห็นบนดอยอินทนนท์สมควรเรียกว่า เหมยขาบ ถ้าเจอที่ภูเรือก็น่าจะเรียกว่า แม่คะนิ้ง อย่างนี้เป็นต้น อากาศที่หนาวเย็นจะทำให้น้ำค้างที่เกาะอยู่บนต้นไม้หรือใบหญ้าแข็งตัว เพราะปริมาณหยดน้ำมีปริมาณน้อย จะสามารถแข้งตัวได้ง่ายกว่าน้ำปริมาณมาก (เหมือนเวลาเราทำน้ำแข็งในตู้เย็น) พืชบางชนิดที่มีเส้นขนเล็กๆ บนใบมีปริมาณน้ำค้างจากไอหมอกมาเกาะได้น้อยมาก จะแข็งตัวได้ง่ายกว่าหยดน้ำใหญ่ๆ ในวันที่เราเดินทางไปยอดดอยผ้าห่มปกอากาศไม่เย็นพอที่จะทำให้น้ำค้างหยดใหญ่ๆ แข็งตัวได้ แต่ถ้าหากมันเป็นฝอยน้ำเล็กๆ ก็แข็งได้บ้างเหมือนกันเพียงแต่มันไม่ขาวโพลนเหมือนที่เป็นข่าวครับ

ดอยผ้าห่มปก

ดอยผ้าห่มปก เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นสูงแล้วก็ไม่สามารถถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นได้อีก เวลาหลังจากนี้เราจะตื่นตาตื่นใจกับวิวที่สวยงามล้อมรอบตัวเรา เป็นเทือกเขายาวๆ แต่ก่อนหน้านั้นต้องเก็บภาพป้ายยอดดอยผ้าห่มปก ความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,285 เมตร สูงกว่าดอยหลวงเชียงดาว 60 เมตร แต่ดูเหมือนว่าดอยผ้าห่มปกที่สูงเป็นอันดับ 2 ของไทยรองจากยอดดอยอินทนนท์ เดินทางมาง่ายกว่ายอดดอยหลวงเชียงดาวที่สูงเป็นอันดับ 3 แบบง่ายกว่ามากๆ ตอนไปดอยหลวงเชียงดาวเดินตั้งแต่เที่ยงถึงหัวค่ำเลยทีเดียว ความรู้สึกของยอดดอยที่สูงเป็นอันดับ 2 เลยไม่ลึกซึ้งเท่าที่ควร

ทิวทัศน์ผ้าห่มปก

ทิวทัศน์ผ้าห่มปก เดินชมวิวรอบๆ บริเวณยอดดอยซึ่งก็จะมองเห็นดอยอื่นๆ ในพื้นที่เดียวกัน ส่วนที่อยู่ทางใต้ลงไปเห็นยอดเพียงลิบๆ เป็นยอดดอยหลวงเชียงดาว อำเภอเชียงดาว ห่างจากอำเภอฝางเกือบ 100 กิโลเมตร ระหว่างนี้เราก็จิบกาแฟร้อนๆ ขนมปังทาแยม (พกแกสแบบกระป๋องกับเตาเล็กๆ ขึ้นมาด้วยครับ) ทำเอากลุ่มอื่นๆ อิจฉาเลยทีเดียว ขากลับเอาขยะกลับลงมาทุกชิ้นครับ เที่ยวหัวใจใหม่เมืองไทยยั่งยืน ไม่ทิ้งอะไรไว้นอกจากรอยเท้า

ชมวิวผ้าห่มปก

ชมวิวผ้าห่มปก

ยอดดอยหลวงเชียงดาว

ยอดดอยหลวงเชียงดาว เห็นอยู่ในภาพลิบๆ กว้างประมาณ 1 ซม. (ดูดีๆ นะครับเป็นเขาที่อยู่ไกลสุดในรูปครับ) ก็คือดอยหลวงเชียงดาว เวลาขึ้นไปนั่งบนยอดกิ่วลม จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นบนดอยหลวงเชียงดาว เราจะเห็นยอดดอยผ้าห่มปกด้วยเหมือนกันครับขนาดเล็กๆ ไกลลิบๆ เหมือนกันเลย

อำลาผ้าห่มปก

อำลาผ้าห่มปก เอาละหลังจากชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นบนยอดดอยกันแล้วเราก็เดินลงมาที่ลานกางเต็นท์ ซึ่งภาพระหว่างเดินผมก็เอามาสลับกลับให้เป็นภาพขาขึ้นหมดแล้ว ลงมาถึงข้างล่างเราก็เข้าอาบน้ำอาบท่า ทำกับข้าวกินซึ่งก็เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เตรียมมาเป็นอาหารมื้อเช้าแบบเรียบง่าย มีไก่ทอดหมูทอด เป็นเครื่องเคียง อิ่มเรียบร้อย เก็บขยะและข้าวของใส่ถุงขยะ (สัมภาระของเราเองก็ต้องใส่ถุงขยะเพื่อให้ง่ายในการขน แต่แยกถุงกัน) เอาขึ้นรถคันเดิมที่เรานั่งขึ้นมาเพราะพี่นะคนขับก็นอนอยู่ที่ลานกางเต็นท์นี้เหมือนกันแต่ไม่รู้ว่าไปนอนที่ไหน พอเราพร้อมที่จะเดินทางกลับก็เห็นพี่แกรออยู่ที่รถแล้ว

น้ำพุร้อนฝาง

น้ำพุร้อนฝาง สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เมื่อเราเดินทางเข้ามาที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เราจะเห็นน้ำพุร้อนแห่งนี้พุ่งสูงขึ้นเป็นระยะๆ สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยว มีหลายคนที่มายืนรอถ่ายรูปจังหวะที่น้ำพุร้อนพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าสูงหลายเมตรเลยทีเดียวครับ เราเห็นน้ำพุร้อนแห่งนี้ตั้งแต่เราเข้ามาแต่ด้วยความรีบเดินทางไปชมพระอาทิตย์ตกที่ยอดดอยเลยไม่ได้ถ่ายรูปน้ำพุร้อน พอลงมาจากดอยผ้าห่มปก ก็มาตระเวนถ่ายรูปรอบๆ พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก

น้ำพุร้อนฝาง

น้ำพุร้อนฝาง ขยับเข้ามาใกล้ๆ น้ำพุกอีกนิด รอบๆ น้ำพุร้อนแห่งนี้มีธารน้ำร้อนเล็กๆ หลายสาย และมีการสร้างเป็นบ่อเก็บน้ำร้อนเล็กๆ หลายแห่งมีกิจกรรมต้มไข่ที่เราจะพาไปชมให้ทั่วๆ

ทางเดินชมน้ำพุร้อนฝาง

ทางเดินชมน้ำพุร้อนฝาง จากจุดที่เห็นน้ำพุพุ่งขึ้นสูงๆ มีสะพานไม้ทอดยาวไปตามที่ราบมองดูเหมือนสนามหญ้ากว้างๆ มีแอ่งน้ำขังอยู่กระจัดกระจายไปทั่ว แต่ที่ต้องสร้างสะพานไม้ให้เดินก็เพราะว่าแอ่งน้ำที่ขังอยู่รอบๆ บริเวณนี้เป็นน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงถึงกว่า 80 องศาเซลเซียส สามารถต้มไข่ได้ มีป้ายปักไว้ให้ระวังบุตรหลานที่คิดว่าเป็นน้ำธรรมดาเอามือเอาเท้าลงน้ำไปจะได้รับบาดเจ็บได้ ตามสะพานทางเดินนี้จะมีบ่อน้ำร้อนที่เตรียมไว้ให้สำหรับกิจกรรมต้นไข่ให้เอาไข่ใส่ถุงผูกเชือกกับไม้ที่พาดไว้บนบ่อน้ำร้อนติดอยู่กับสะพานทางเดิน ครบ 10-20 นาที (แล้วแต่ว่าจะเอาสุกขนาดไหน) ก็เอาไข่ขึ้นมาได้ สะพานทางเดินไม้ที่สร้างทอดยาวท่ามกลางบ่อน้ำร้อนน้อยใหญ่จะพาเราไปสู่ห้องอาบน้ำแร่แช่น้ำร้อน เป็นกิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับผู้ที่เดินทางมายังอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกแห่งนี้

ห้องแช่ส่วนตัว

ห้องแช่ส่วนตัว ในพื้นที่สำหรับกิจกรรมอาบน้ำแร่ แช่น้ำร้อนแบ่งออกเป็นห้องแช่ส่วนตัวเรียงรายกันอยู่หลายห้องห่างกันพอประมาณ และยังมีบ่อสำหรับลงแช่เป็นกลุ่มๆ ได้หลายคนสร้างแบบรั้วรอบขอบชิดพอประมาณ มีกฏในการลงแช่บ่อน้ำร้อนดังนี้
เปลี่ยนเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับการอาบ-อบไอน้ำแร่ (ผ้าขาวม้า-ผ้าถุง)
ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เข้าอบน้ำแร่
อาบน้ำชำระร่างกายก่อนลงอ่าง
ห้ามใช้สบู่ แชมพู ในอ่าง
ห้ามสูบบุหรี่
ถอดเครื่องประดับเงินก่อนลงอ่าง
ห้ามนำอาหารเข้าไปทานบริเวณห้องอาบ-อบไอน้ำแร่
ห้ามเปิดวาล์วน้ำร้อนเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
ห้ามบุคคลที่เป็นโรคประจำตัวเช่น หอบหืด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต เข้าอบไอน้ำแร่
ห้ามออกกำลังกายก่อนเข้าอาบ-อบไอน้ำแร่ หากรู้สึกเพลียให้ออกมาพักผ่อนก่อน
ห้ามสตรีมีครรภ์และประจำเดือนใช้บริการอาบ-อบน้ำแร่
อาบได้ไม่เกิน 20 นาที

ห้องอาบ-อบไอน้ำแร่ เปิด 7.30 - 19.30 น. ค่าบริการ เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท (อบไอน้ำแร่ 30 บาท) ทางอุทยานมีบริการผ้าขาวม้า ผ้าถุงให้เปลี่ยน ผืนละ 10 บาท ผ้าขนหนู 15 บาท
ห้องแช่น้ำแร่ส่วนตัวคนละ 50 บาท (2 คนขึ้นไปต่อห้อง) ราคาเหมาห้อง 150 บาท (ไม่เกิน 5 คน)
ห้องแช่ราคาเหมาแบบใช้บริการคนเดียว 100 บาท
ทุกห้องใช้บริการได้ไม่เกิน 30 นาที

บ่ออาบน้ำแร่แบบรวม

บ่ออาบน้ำแร่แบบรวม ถ้าไม่เข้าแบบส่วนตัวก็จะมีห้องแบบรวมแบบนี้ให้บริการครับ ลงแช่ได้แบบกฏเดียวกันและต้องไม่เกิน 20 นาทีด้วย หลังจากการเดินลงจากยอดดอยผ้าห่มปก มาชำระล้างเหงื่อเสร็จแล้วลงแช่น้ำแร่ สบายตัวสุดๆ ก่อนที่จะเดินทางกลับกรุงเทพฯ

ห้วยแม่ใจ

ห้วยแม่ใจ ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกประมาณ 700 เมตร เป็นลำธารสายเล็กๆ ไหลลงมาจากน้ำตกบนเขา สถานที่โดยรอบร่มรื่นมีร้านขายอาหารเครื่องดื่มบริการให้ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนจำนวนมากที่ชอบการปิคนิคริมลำธาร เด็กๆ เล่นน้ำได้ เพราะเป็นน้ำเย็น เป็นสถานที่สุดท้ายที่จะแนะนำในอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปกสำหรับทริปนี้ ถ้าได้ไปอีกมีรูปเพิ่มเติมมาอีกก็จะกลับมาอัพเดตกันใหม่ครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เชียงใหม่
AumHum Homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
Wring Sri tong เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
โอเอซิส รีสอร์ท ฝาง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
เวียงแก้ว รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูมณี โฮม โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.82 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงเรมพี.เอ็น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.84 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรม พีเอ็น 2018 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.84 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเวียงแก้ว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
ณชารีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.96 km | แผนที่ | เส้นทาง
สมฤดี เพลส
  17.99 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เชียงใหม่
อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เชียงใหม่
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำพุร้อนฝาง เชียงใหม่
  5.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดอยปู่หมื่น เชียงใหม่
  7.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยฟ้าห่มปก
  14.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไร่ชา 2000 ดอยอ่างขาง
  22.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เชียงใหม่
  22.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวน 80 ดอยอ่างขาง
  22.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระธาตุดอยอ่างขาง เชียงใหม่
  23.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดอยอ่างขาง เชียงใหม่
  24.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) เชียงใหม่
  35.86 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com