www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> ดอยอ่างขาง-นางพญาเสือโคร่ง

ดอยอ่างขาง-นางพญาเสือโคร่ง

 ดอยอ่างขาง ตั้งอยู่ที่ตำบลอ่างขาง อำเภอฝาง ห่างจากเขตแดนไทยพม่าเพียง 5 กิโลเมตร การเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่ 137 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าบ้านยางที่ตลาดแม่ข่า เข้าไปอีกประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นทางลาดยาง สูงและคดเคี้ยว ต้องใช้รถสภาพดีและมีกำลังสูง คนขับชำนาญ หรือจะหาเช่ารถสองแถวได้ที่ตลาดแม่ข่า     อ่างขาง เป็นภาษาเหนือ หมายถึง อ่างสี่เหลี่ยม ซึ่งได้ชื่อมาจากลักษณะพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร ทำให้อากาศบนดอยหนาวเย็นตลอดปีโดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม อากาศเย็นจนน้ำค้างกลายเป็นน้ำค้างแข็ง นักท่องเที่ยวจึงควรเตรียมเครื่องกันหนาวมาให้พร้อม เช่น หมวก ถุงมือ ถุงเท้า เสื้อกันหนาว

สถานที่น่าสนใจบนดอยมีหลายแห่ง ได้แก่

    สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง เรื่องกำเนิดของสถานีฯ แห่งนี้เป็นเกร็ดประวัติเล่ากันต่อมาว่าครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ผ่านยอดดอยแห่งนี้และทอดพระเนตรลงมาเห็นหลังคาบ้านคนอยู่กันเป็นหมู่บ้าน จึงมีพระดำรัสสั่งให้เครื่องลงจอด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาทอดพระเนตรเห็นทุ่งดอกฝิ่น และหมู่บ้านตรงนั้นก็คือหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ พระองค์มีพระราชดำรัสที่จะแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นแปลงเกษตร สถานีฯ จึงเกิดขึ้นเมื่อพ.ศ. 2512 รายละเอียดของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางแยกไปเขียนไว้อีกหน้าหนึ่งที่ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

    สวนบอนไซ อยู่ในบริเวณสถานีฯ เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้เขตอบอุ่นและเขตหนาวทั้งในและต่างประเทศ ปลูก ดัด แต่ง โดยใช้เทคนิคบอนไซ สวยงามน่าชม     และในบริเวณเดียวกันยังมีสวนสมุนไพร ฤดูท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม

    หมู่บ้านคุ้ม ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีฯ เป็นชุมชนเล็ก ๆประกอบด้วยผู้อยู่อาศัยหลายเชื้อชาติอยู่รวมกัน อาทิชาวไทยใหญ่ ชาวพม่าและชาวจีนฮ่อ ซึ่งได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้และเปิดร้านค้าบริการแก่นักท่องเที่ยว

    จุดชมวิวกิ่วลม อยู่ทางด้านซ้ายมือก่อนถึงทางแยกซึ่งจะไปหมู่บ้านปะหล่องนอแลทางหนึ่ง และบ้านมูเซอขอบด้งทางหนึ่ง สามารถชมทะเลหมอกและวิวพระอาทิตย์ทั้งขึ้นและตก มองเห็นทิวเขารอบด้านและหากฟ้าเปิดจะมองเห็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขางด้วย

    หมู่บ้านนอแล ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-พม่า คนที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องเชื้อสายพม่า แต่เดิมคนกลุ่มนี้อยู่ในพม่าและพึ่งอพยพมา มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นับถือศาสนาพุทธ ทุกวันพระผู้คนที่นี่หยุดอยู่บ้านถือศีล จากหมู่บ้านนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามของธรรมชาติบริเวณพรมแดนไทย-พม่า

    หมู่บ้านขอบด้ง เป็นที่ที่ชาวเขาเผ่ามูเซอดำและเผ่ามูเซอแดงอาศัยอยู่ร่วมกัน คนที่นี่นับถือผี มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงในด้านการเกษตรและด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (เช่น อาบูแค เป็นกำไลถักด้วยหญ้าไข่เหามีสีสันและลวดลายในแบบของมูเซอ) บริเวณหน้าหมู่บ้านจะมีการจำลองบ้านและวิถีชีวิตของชาวมูเซอ โดยชาวบ้าน ครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งช่วยกันสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมของหมู่บ้านโดยที่ไม่เข้าไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของเขามากเกินไป และยังมีโครงการมัคคุเทศก์น้อยที่อบรมเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งเพื่อช่วยอธิบายวิถีชีวิตของพวกเขาให้ผู้มาเยือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและสร้างความรักในท้องถิ่นให้เด็ก ๆ ด้วย

    หมู่บ้านหลวง ชาวหมู่บ้านหลวงเป็นชาวจีนยูนานที่อพยพมาจากประเทศจีนในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก อาทิ ปลูกผักผลไม้ เช่น พลัม ลูกท้อ และสาลี่

    กิจกรรมท่องเที่ยวบนดอยอ่างขาง มีหลายอย่างที่สามารถทำได้เช่น เดินเท้าศึกษาธรรมชาติ ขี่ล่อล่องไพร เป็นต้น

    ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โทร. 0 5345 0107 - 9 หรือ https://www.facebook.com/angkhangstation

ข้อมูลเพิ่มเติม:โทร. 0 5345 0107 - 9
https://www.facebook.com/angkhangstation

แก้ไขล่าสุด 2017-07-14 21:57:01 ผู้ชม 82659

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ขึ้นดอยอ่างขาง

ขึ้นดอยอ่างขาง ดอยอ่างขางแม้ว่าจะมียอดสูงไม่เท่าดอยอินทนนท์ แต่ความรู้สึกในการเดินทางเหมือนว่าถนนขึ้นดอยอ่างขางจะชันกว่าดอยอินทนนท์เสียอีก ทางขึ้นดอยอ่างขางนั้นสามารถขึ้นได้ 2 เส้นทาง ครั้งแรกที่ไปใช้เส้นทางตรงๆ ธรรมดาๆ คือทางหลวงหมายเลข 107 ผ่านปิงโค้ง - ไชยปราการ เลี้ยวซ้ายขึ้นดอยด้วยทางหลวงหมายเลข 1249 คราวนี้ลองมาเปลี่ยนเส้นทางลองขึ้นทางหลวงหมายเลข 1178 ซึ่งมีแยกให้เลี้ยวซ้ายที่เมืองงาย ก่อนถึงปิงโค้ง เส้นทางนี้คดเคี้ยวไปตามลักษณะของขุนเขาก็จริงแต่ความลาดชันน้อยกว่าเส้นทางแรกที่เคยไป ผ่านอ่างเก็บน้ำวิวสวยๆ ข้างทางอย่างที่เห็น

เส้นทางขึ้นดอยอ่างขาง

เส้นทางขึ้นดอยอ่างขาง ทางหลวงหมายเลข 1178 ที่เราเลือกใช้ในทริปที่ 2 นี้ผ่านชุมชนต่างๆ เป็นบางช่วง ส่วนใหญ่จะมีพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านมากกว่าที่จะเป็นบ้านคน ชุมชนที่เราผ่านไปนั้นก็มีวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อๆ กันมาเป็นยูนนาน ป้ายข้อความโฆษณาบางป้ายใช้ตัวอักษรจีนด้วย เมื่อถึงบริเวณเชิงดอยอ่างขางระหว่างทางรถขึ้นเขาไปเรื่อยๆ จะได้พบลานหินที่อยู่ตามพื้นที่ลาดของเทือกเขามีหินกระจัดกระจายอยู่มากมายในบริเวณสวยงามแปลกตา นอกจากนั้นยังผ่านอุทยานแห่งชาติผาแดง มีเทือกเขาที่มีหน้าผาเป็นดินสีแดงสดสวยงามแปลกตามาก

จุดชมวิวระหว่างทาง

จุดชมวิวระหว่างทาง เป็นจุดพักรถหลังจากที่ไต่เขามาอย่างหนักเป็นเวลาเกือบชั่วโมง จุดชมวิวจุดนี้ก็เป็นเสน่ห์ของเส้นทางสู่อ่างขาง มีห้องน้ำบริการ มีร้านค้าของที่ระลึกและเครื่องดื่มเติมความสดชื่นให้กับคณะทีมงานได้เป็นอย่างดี ท่ามกลางวิวขุนเขาที่สวยงามเบื้องหน้า มากี่ครั้งก็ต้องจอดจุดนี้เสมอ

พระธาตุดอยอ่างขาง

พระธาตุดอยอ่างขาง หลังจากที่ขับรถขึ้นเขามานานในที่สุดเราก็มาถึงดอยอ่างขาง เส้นทางบนดอยยังคงมีโค้งคดเคี้ยวไปมา แต่ความลาดชันลดลงไปมาก เรามาบรรจบกับเส้นทางขึ้นดอยอ่างขางอีกทางหนึ่งที่เราเคยใช้เมื่อหลายปีก่อนก็เลี้ยวซ้ายไปตามเส้นทางท่องเที่ยวดอยอ่างขางจะผ่านทางแยกแรกเป็นเส้นทางเข้าสักการะพระธาตุดอยอ่างขาง เป็นคนละแยกกันกับทางไปวัดพระธาตุดอยอ่างขางซึ่งจะถึงในอีกไม่ไกลนัก รอบๆ องค์พระธาตุมีต้นเมเปิลหลายต้นที่ยังไม่เปลี่ยนใบเป็นสีแดง นอกจากนั้นก็มีพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทยอยู่รอบๆ อีกเล็กน้อยซึ่งในช่วงปีใหม่จะบานสะพรั่งให้นักท่องเที่ยวได้ชมความสวยงามต้อนรับปีใหม่เป็นประจำ

จุดชมวิวขอบด้ง

จุดชมวิวขอบด้ง บริเวณจุดชมวิวบ้านขอบด้ง หมู่ที่ 14 ตำบลม่อนเปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1400 เมตร มีพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรในงานวิจัยประมาณ 1811 ไร่ มีหมู่บ้านชาวเขาที่ทางสถานีฯ ให้การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพรวม 9 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหลวง บ้านคุ้ม บ้านนอแล บ้านปางม้า บ้านป่าคา บ้านขอบด้ง บ้านผาแดง บ้านสินชัย และบ้านถ้ำง๊อบ ซึ่งประกอบด้วยประชากรจำนวน 4 เผ่า ได้แก่ ไทยใหญ่ มูเซอดำ ปะหล่อง และจีนยูนนาน จุดชมวิวนี้จะเป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวบนดอยอ่างขาง มารอชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นรับวันใหม่บนยอดดอยอ่างขางกันเป็นจำนวนมาก ปกติที่มามักจะพบว่ามีหมอกลงหนาในช่วงเช้ามืดและไม่ค่อยได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นเลยสักครั้ง (แล้วแต่ดวงของแต่ละคน) บรรยากาศในลานชมวิวจะเป็นที่ขายของของชาวบ้านที่พื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นผักสดและของที่ระลึก นอกจากนั้นยังมีร้านอาหารสำหรับมื้อเช้าบริการนักท่องเที่ยวอยู่หลายร้าน อาหารส่วนใหญ่จะเป็นโจ๊กเห็ดหอม กาแฟ โอวัลติน ปาท่องโก๋ ระยะหลังๆ ล่าสุดที่เราไปมามีร้านอาหารตามสั่ง บรรยากาศก็เปลี่ยนไปมากมีโต๊ะและเก้าอี้รองรับนักท่องเที่ยวมากมาย ร้านค้าที่เคยเป็นโต๊ะพับได้ตัวเดียวก็กลายมาเป็นซุ้มร้านกึ่งถาวร มีร่มสีแดงสดให้บังแดดในช่วงกลางวัน (ภาพล่างขวา) ซึ่งเดิมทีร้านค้าเหล่านี้จะเปิดให้บริการเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น ปัจจุบันมีเปิดให้ถึงบ่ายๆ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา นอกจากนั้นบริเวณโดยรอบก็กลายเป็นลานกางเต็นท์ของนักท่องเที่ยวที่ขึ้นมาบนดอยอ่างขางจำนวนมากอีกด้วย ภาพบนซ้าย : กิจกรรมอย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากที่นี่คือการตักบาตรดอยอ่างขาง ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 ขึ้นจุดชมวิวขอบด้ง ดอยอ่างขาง รอชมพระอาทิตย์ขึ้นซึ่งก็ผิดหวังเหมือนกับทุกครั้งที่ส่วนใหญ่ชาวทัวร์ออนจะพลาดวิวอาทิตย์ขึ้นอาทิตย์ตกอยู่เป็นประจำ วันนี้ฟ้าปิด หมอกลงจัดมาก นอกจากการชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นแล้วที่จุดชมวิวขอบด้งยังมีอาหารขาย และมีพระภิกษุสามเณรมารอบิณฑบาตรที่นี่ด้วย ภาพล่างซ้าย : เด็กดอยกับสินค้า กำไลสีสันต่างๆ รวมทั้งกำไลที่มองดูเหมือนเงินมีวางขายอย่างเป็นระเบียบบนเสื่อ ราคาก็มีตั้งแต่ 1 บาท 20 บาท 30 บาท 50 บาท แล้วแต่แบบและขนาด และร้านน้องคนนี้เป็นร้านที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ เนื่องจากแม่ค้าตัวน้อยสร้างความทึ่งให้กับผู้พบเห็นที่เด็กน้อยๆ คนนี้มาขายของบนดอยแบบเปิดร้านคนเดียวด้วย ฝีมือการคิดเลขของน้องเค้าไม่ธรรมดาเลย มีลูกค้าซื้อกำไลจำนวนมากๆ ต่างราคากัน แบบละ 1 ชิ้นบ้าง 3 ชิ้นบ้าง แต่ไม่ถึงนาทีน้องเค้าก็คิดราคารวมทั้งหมดเสร็จอย่างรวดเร็ว

พญาเสือโคร่ง

พญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาบนดอยอ่างขางอันห่างไกลนี้ได้เป็นจำนวนมาก พญาเสือโคร่งบนดอยอ่างขางมักจะบานสะพรั่งสวยงามในช่วงวันปีใหม่ เส้นทางท่องเที่ยวบนดอยอ่างขางนั้นมีพญาเสือโคร่งขึ้นอยู่มากมาย 2 ข้างทาง มีให้ขมหลายช่วงแล้วแต่ว่าจะหาที่จอดเหมาะๆ และปลอดภัยได้แค่ไหน อย่างเช่นทางโค้งบริวเณที่เห็นในภาพก็เป็นจุดสำหรับถ่ายรูปและปรากฏบนหนังสือท่องเที่ยวหลายเล่มด้วยกัน

ชมพญาเสือโคร่งบนดอยอ่างขาง

ชมพญาเสือโคร่งบนดอยอ่างขาง ปีใหม่ที่ผ่านมา (2555) พญาเสือโคร่งที่บริเวณทางโค้งนี้บานมากที่สุด ส่วนบริเวณอื่นๆ ก็มีทั้งบานแบบประปราย และยังไม่บานก็มี ไหนๆ ก็ดั้นด้นมาถึงแล้วเลยเอามาให้ชมกันทั้งแนวตั้งและแนวนอน

ทางแยกบ้านขอบด้ง

ทางแยกบ้านขอบด้ง กิจกรรมท่องเที่ยวบนดอยอ่างขางอีกอย่างหนึ่งคือการเยี่ยมชมแปลงเกษตรของชาวบ้านที่มีภูมิลำเนาอยู่บนดอยอ่างขางมาหลายชั่วอายุคน ปกติเราจะไปชม 2 หมู่บ้านได้แก่ บ้านขอบด้ง และ บ้านนอแล ทางแยกเข้าหมู่บ้านขอบด้งถึงก่อนก็เลยเลี้ยวเข้าไปก่อน จากถนนหลักจะสังเกตุเห็นทางเข้าหมู่บ้านได้จากป้ายโรงเรียนบ้านขอบด้งนี้เอง ตามเส้นทางเข้าไปในหมู่บ้านเห็นมีต้นเมเปิลขึ้นสองข้างทางเป็นแนวยาวเข้าไป หากถึงฤดูที่เมเปิลเปลี่ยนเป็นสีแดงคงจะสวยงามมาก สำหรับผู้ที่ชื่นชอบเมเปิลแต่ไม่อยากเดินป่าก็ลองขับรถมาที่นี่คงไม่ผิดหวังแน่เพราะมีเมเปิลเป็นร้อยต้นตลอดเส้นทาง

เกษตรขั้นบันได

เกษตรขั้นบันได ลักษณะคล้ายกับการทำนาขั้นบันไดเพียงแต่พืชที่ปลูกไม่ใช่ข้าว และขั้นบันไดแต่ละขั้นมีขนาดเล็กกว่านาข้าว เกิดเป็นวิวที่สวยงามสำหรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านมาตามเส้นทางนี้ จุดที่จะมองเห็นแปลงเกษตรขั้นบันไดนี้อยู่ก่อนที่จะเข้าตัวหมู่บ้านขอบด้งไม่ไกล

บ้านขอบด้ง

บ้านขอบด้ง หมู่บ้านขอบด้ง หมู่ที่ 14 ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เป็นที่ที่ชาวเขาเผ่ามูเซอดำและเผ่ามูเซอแดงอาศัยอยู่ร่วมกัน คนที่นี่นับถือผี มีวัฒนธรรมและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย หมู่บ้านแห่งนี้ได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงในด้านการเกษตรและด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (เช่น อาบูแค เป็นกำไลถักด้วยหญ้าไข่เหามีสีสันและลวดลายในแบบของมูเซอ) บริเวณหน้าหมู่บ้านจะมีการจำลองบ้านและวิถีชีวิตของชาวมูเซอ โดยชาวบ้าน ครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งช่วยกันสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้มีโอกาสเรียนรู้และศึกษาวัฒนธรรมของหมู่บ้านโดยที่ไม่เข้าไปรบกวนความเป็นส่วนตัวของเขามากเกินไป และยังมีโครงการมัคคุเทศก์น้อยที่อบรมเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านขอบด้งเพื่อช่วยอธิบายวิถีชีวิตของพวกเขาให้ผู้มาเยือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกและสร้างความรักในท้องถิ่นให้เด็กๆ ด้วย เกษตรกรรมขั้นบันได การเพาะปลูกพืชเป็นอาชีพหลักของชาวเขาขอบด้งวิธีการปลูกก็เป็นรูปแบบขั้นบันไดไล่ลงมาตามความลาดของเขากินพื้นที่หลายไร่ แต่ก็มีพื้นที่หลายส่วนที่ห้ามบุกรุกทำให้เห็นต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาบนสันเขาเป็นวิวที่สวยงาม เป็นหนึ่งใน 5 จุดตามโปรแกรมท่องเที่ยวดอยอ่างขางที่ไกด์ท้องถิ่นบอกไว้เมื่อคืนนี้ จากจุดชมวิวขอบด้งขับรถตรงตามทางมาเรื่อยๆ (อย่าย้อนกลับทางเก่าเดี๋ยวลงไปที่พัก) ก็จะเห็นหมู่บ้านที่ปลูกบ้านตามแนวไหล่เขาลาดเอียงเรียงกันลงมา วิวที่หมู่บ้านนี้ดูสวยงามตามแนวเทือกเขายาวแต่ในภาพใช้เทเลเจาะเอามาบางส่วนให้เห็นตัวบ้านกันชัดๆ ช่วงเช้ายังมีสายหมอกในหมู่บ้าน

กระท่อมเนินเขา

กระท่อมเนินเขา เกษตรกรชาวเขาที่บ้านขอบด้งจะมีกระท่อมปลูกไว้ใกล้ๆ กับแปลงเกษตรของพวกเขาเพื่อเฝ้าดูแลและนั่งพัก กระท่อมหลังเล็กบนไหล่เขาสูงใหญ่เป็นภาพวิถีชีวิตที่สวยงาม บ้านขอบด้งเป็นหมู่บ้านในโครงการพัฒนากลไลกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพแบบองค์กรรวมของชาวไทยภูเขาในพื้นที่ดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง สนับสนุนงบประมาณโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ชาวบ้านขอบด้ง

ชาวบ้านขอบด้ง ลักษณะการแต่งกายตามแบบชาวเขาที่เราเห็นแม้ว่าเรายังไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการในวันนี้มายืนยันว่าทั้งหมู่บ้านขอบด้งจะแต่งกายด้วยสีเข้ม หรือ ดำ จริงหรือไม่แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างชาวขอบด้งกับชาวนอแลเพราะในหมู่บ้านนอแลกลับสวมใส่เสื้อผ้ามีสีสันแดงน้ำเงินเป็นส่วนใหญ่ แล้วทัวร์ออนไทยก็จะต้องเอาเรื่องนี้ไปทำต่อเป็นการบ้านมาฝาก

สถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่(ดอยอ่างขาง)

สถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่(ดอยอ่างขาง) ในยามที่ดูข่าวพยากรณ์อากาศบางทีก็สงสัยเหมือนกันว่าเวลารายงานสภาพอากาศมีขั้นตอนอะไรอย่างไร สถานีรายงานตั้งอยู่ที่ไหนเพราะส่วนมากที่เห็นกันเป็นประจำสำหรับคนกรุงเทพฯ ก็มีอยู่แถวๆ บางนา สำหรับที่อ่างขางก็อยู่บนดอยอ่างขางมีทางเข้าเล็กๆ แบบที่เห็นนี้ ส่วนที่ดอยอินทนนท์ก็อยู่ใกล้ๆ ยอดดอย

เส้นทางสู่บ้านนอแล

เส้นทางสู่บ้านนอแล จากหมู่บ้านขอบด้งก็เดินทางสู่หมู่บ้านนอแลซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ หนึ่งใน 5 สถานที่ท่องเที่ยวดอยอ่างขาง ทิวทัศน์ระหว่างทางของ 2 หมู่บ้านสวยงามไปด้วยสายหมอกที่ไล่ทอดเอียงลงตามแนวของเขาจากขอบด้งไปนอแลระยะทางไม่กี่กิโลเมตรแต่มีจุดที่ทำให้เราต้องจอดแวะหลายจุดเพราะความสวยงามของธรรมชาติ

ชาวบ้านนอแล

ชาวบ้านนอแล หมู่บ้านในโครงการความร่วมมือไทย-พม่า โดย ชป.รพช.ที่13 ปี 2548 เพียงไม่นานก็มาถึงบ้านนอแล ด้านหน้าเรามีรถสองแถว กับรถกระบะที่เข้ามาขายสินค้าต่างๆ แม้ว่าชานเมืองใหญ่ๆ ก็มีรถกระบะบรรทุกเอาสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันมาขายอยู่เป็นประจำ แต่การที่ได้มาเห็นการขายในลักษณะเดียวกันที่บนยอดดอยกับเป็นเรื่องประหลาดเพราะนึกไม่ถึงว่าจะมีการซื้อขายในลักษณะนี้ให้เราเห็น ชาวบ้านนอแล การแต่งกายของชาวบ้านนอแลเมื่อเปรียบเทียบกับบ้านขอบด้งที่เพิ่งผ่านมาแล้ว ที่เห็นแว่บแรกก็รู้สึกถึงความแตกต่างของสีสันที่เลือกใช้ในการสวมใส่ ทั้งนี้เพราะเห็นเพียงไม่กี่คนในหมู่บ้านจึงไม่สามารถพูดได้ว่า ทั้งสองหมู่บ้านจะแต่งกายต่างกัน การแต่งกายแบบชาวเขาท้องถิ่นนี้จะมีให้เห็นไม่มากนัก ส่วนมากเป็นผู้หญิงส่วนผู้ชายจะแต่งกายเหมือนคนเมืองทั่วไป คนที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าปะหล่องเชื้อสายพม่า แต่เดิมคนกลุ่มนี้อยู่ในพม่าและพึ่งอพยพมา มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง นับถือศาสนาพุทธ ทุกวันพระผู้คนที่นี่หยุดอยู่บ้านถือศีล จากหมู่บ้านนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามของธรรมชาติบริเวณพรมแดนไทย-พม่า

ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล

ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล จุดชมวิวชายแดนไทย-พม่า เลยหมู่บ้านนอแลมาอีกนิดก็เห็นทหารยืนประจำการกับเหล็กกั้นซึ่งเป็นทางผ่านขึ้นไปยังจุดชมวิวชายแดนของประเทศไทยมีรถเข้าออกตลอดเวลา ถนนที่สร้างมาเป็นคอนกรีตแต่ไม่กว้างมากนัก การขับรถสวนกันต้องระวังเป็นพิเศษเพราะหลุดจากขอบถนนก็จะลึกเหมือนกัน เห็นมีร่องรอยการหลบหลีกจนล้อตกลงไปข้างหนึ่งหลายคัน ขับตามถนนคอนกรีตขึ้นมาได้สักพักคงประมาณ 100 เมตรถึงประตูฐานปฏิบัติการบ้านนอแล ในบริวเณนี้มีรถจอดอยู่หลายคันบนนี้มีลักษณะเป็นลานกว้างมากๆ เดินชมวิวได้รอบๆ ทิวทัศน์ที่เห็นก็จะเป็นภูเขารอบตัวกับสายหมอกขาวตลอดแนวเขา บ้านพักที่ฐานบ้านนอแล รอบๆ บริเวณฐานปฏิบัติการบ้านนอแลมีบ้านหลังเล็กๆ รายล้อมฐานบนไหล่เขา ทุกหลังมีลักษณะคล้ายๆ กับที่เห็นอยู่ สร้างอยู่ห่างกันเป็นระยะๆ ไปโดยรอบเหมือนเป็นวงกลม

ที่ประทับ

ที่ประทับ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเยี่ยมฐานปฏิบัติการนอแลเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2536 บนฐานปฏิบัติการนอแล กว้างขวางมีวงสัญลักษณ์สำหรับจอดเฮลิคอปเตอร์

จุดชมวิวนอแล

จุดชมวิวนอแล ด้านนี้ในวันนี้เป็นด้านที่เห็นทิวทัศน์ได้สวยงามที่สุด สำหรับด้านอื่นๆ หมอกลงหนาจนมองไม่เห็นอะไรเลยนอกจากต้นไม้ไม่กี่ต้น

บรรยากาศบนดอยอ่างขาง

บรรยากาศบนดอยอ่างขาง ภาพบรรยากาศบางส่วนบนดอยอ่างขางซึ่งในแต่ละวันอาจจะมีสภาพอากาศแปรปรวน เปลี่ยนจากฟ้าเปิดสว่างสดใสเป็นเมฆหมอกลงหนาจัดจนทัศนวิสัยไม่ดีต้องเปิดไฟตัดหมอกด้วยเวลาขับรถบนดอยอ่างขาง บริเวณที่เห็นอยู่ในภาพเป็นลานกางเต็นท์อีกแห่งหนึ่งบนดอยอ่างขางที่มีนักท่องเที่ยวนิยมมากางเต็นท์พักแรมกันที่นี่มานานมากแล้ว จุดเด่นของพื้นที่บริเวณนี้คือสวนสนซึ่งมีต้นสนจำนวนมากขึ้นอยู่เป็นแถวเรียงแนวสวยงาม นอกเหนือจากช่วงเทศกาลบริเวณนี้จะเป็นลานกางเต็นท์ที่สงบระดับหนึ่ง เฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดอย่างเช่นปีใหม่จะมีนักท่องเที่ยวมากางเต็นท์กันเป็นจำนวนมาก มีห้องน้ำให้บริการ มีร้านค้าเล็กๆ บริการน้ำร้อนและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กาแฟพร้อมชง ฯลฯ จากตรงนี้ไปยังย่านการค้าดอยอ่างขางและทางเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขางเพียงไม่กี่กิโลเมตร

รถติดบนดอยอ่างขาง

รถติดบนดอยอ่างขาง หลังจากที่ได้เที่ยวชมบริเวณรอบดอยอ่างขางซึ่งเป็นเส้นทางบนสันเขาแล้ว ส่วนมากนักท่องเที่ยวจะมุ่งหน้าไปยังย่านการค้าดอยอ่างขางและทางเข้าสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เส้นทางช่วงนี้เป็นทางลงและขันพอสมควรต้องระวังไปชนท้ายรถคันหน้า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ รถจะติดที่บริเวณนี้เป็นเวลานานมาก กว่าจะไปถึงพื้นราบด้านล่างอาจจะใช้เวลานับชัวโมง ในระหว่างที่เราขับรถเที่ยวบนดอยอ่างขางอยู่นั้นก็มีรถเก๋ง 2 คัน เกิดปัญหาเรื่องความร้อนของเครื่องยนต์ คือหม้อน้ำแห้งจนเราต้องเอาน้ำดื่มไปให้เติมหม้อน้ำ รถคันแรกอายุเกิน 9 ปี ก็ไม่แปลกที่อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ ส่วนอีกคันเพิ่งจะใหม่ๆ ไม่น่าเกิน 4 ปี ดังนั้นถ้าคิดจะเที่ยวอ่างขางต้องคำนึงถึงเรื่องสมรรถนะเครื่องยนต์ด้วยนะครับ

ย่านการค้าดอยอ่างขาง

ย่านการค้าดอยอ่างขาง บนดอยอ่างขางบริเวณนี้เป็นชุมชนเดียวที่จะหาที่พักได้สะดวกหน่อยแต่ในฤดูหนาวคงต้องอาศัยการจองล่วงหน้า ราคาต่อรองกันได้ สำหรับเราเราเลือกบ้านพักหลังเล็กๆ ที่นอนรวมกันได้หลายๆ คนเพราะว่ามาด้วยกันจะสะดวกกว่าที่จะพักเป็นห้องๆ แยกกัน

ดอยอ่างขาง-นางพญาเสือโคร่ง

หา...นาหา มาถึงตรงนี้ก็มีลานจอดรถที่รองรับรถได้จำนวนไม่ได้มากมาย พอลงจากรถจะมีไกด์ท้องถิ่นมานำเสนอบริการนำเที่ยวดอยอ่างขาง ในราคาแล้วแต่จะให้ หากนักท่องเที่ยวประสงค์จะเดินทางด้วยรถบริการก็มีไว้ให้ เหมาะกับคนที่ไม่ชอบขับรถบนเขา รายละเอียดของบริการก็มาสอบถามที่นี่ได้ แต่โปรแกรมที่ค่อนข้างเป็นมาตรฐานคือ ออกเดินทางประมาณ 6.00 กลับประมาณ 8.30 ในกรณีที่เอารถไปเองต้องให้ไกด์ท้องถิ่นนั่งไปด้วย เป็นโปรแกรมที่ไม่จำกัดเวลา สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนดอยอ่างขางทั้งหมดได้แก่ จุดชมวิวขอบด้ง ชมวิวหมู่บ้านขอบด้ง วิถีชีวิตหมู่บ้านนอแล ฐานปฏิบัติการบ้านนอแล พระธาตุดอยอ่างขาง เนื่องจากเราได้จองที่พักไว้ที่บ้านนาหา เราก็เลยได้ย้ายรถจากลานจอดรวมไปจอดหลังที่พักได้ไม่งั้นก็คงต้องขนกันไกลหน่อย บ้านพักนาหา เมื่อจอดรถหลังที่พักก็ขนของเดินขึ้นบันไดไม่สูงมากนักเพราะบ้านพักอยู่บนเขาเตี้ยๆ วิวยามกลางคืนก็อย่างที่เห็นตรงนี้ไม่มีอาคารมากมายนัก เวลากลางคืนมอาหารให้เพียงแต่ไม่ได้เปิดจนดึกดื่น นักท่องเที่ยวที่มาที่นี่ส่วนใหญ่ต้องการพักผ่อน บรรยากาศบริเวณนี้เลยค่อนข้างเงียบสงบ

สวน 80

สวน 80 ท้ายที่สุดของการเที่ยวดอยอ่างขางของเราก็จะมาจบกันที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง เรื่องกำเนิดของสถานีฯ แห่งนี้เป็นเกร็ดประวัติเล่ากันต่อมาว่าครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จทางเฮลิคอปเตอร์ผ่านยอดดอยแห่งนี้และทอดพระเนตรลงมาเห็นหลังคาบ้านคนอยู่กันเป็นหมู่บ้าน จึงมีพระดำรัสสั่งให้เครื่องลงจอด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินลงมาทอดพระเนตรเห็นทุ่งดอกฝิ่น และหมู่บ้านตรงนั้นก็คือหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ามูเซอซึ่งในสมัยนั้นยังไว้แกละถักเปียยาว แต่งกายสีดำ สะพายดาบ พระองค์มีพระราชดำรัสที่จะแปลงทุ่งฝิ่นให้เป็นแปลงเกษตร สถานีฯ จึงเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2512 มีโครงการวิจัยผลไม้ ไม้ดอกเมืองหนาว งานสาธิตพืชไร่ พืชน้ำมัน โดยมุ่งที่จะหาผลิตผลที่มีคุณค่าพอที่จะทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวเขา และทำการส่งเสริมพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมแก่ชาวเขาในบริเวณใกล้เคียง ในโครงการมีการปลูกพืชมากมายหลายชนิดแบ่งออกเป็นสัดส่วนแยกจากกัน เสียค่าเข้าชมคนไทย 50 บาท ค่ารถอีก 50 บาท มีลานจอดรถทางซ้ายมือตั้งแต่ตอนเข้าไป แต่ส่วนใหญ่ก็จะขับเข้าไปชมสิ่งที่เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของที่นี่ก็คือสวน 80 ระหว่างทางจะผ่านโรงเรือนไม้ดอก บอนไซ สวนท้อ เป็นต้น สำหรับสวน 80 เองก็เป็นสถานที่ที่มีดอกไม้ให้ชมหลายอย่างมากมายล้วนแล้วแต่สวยงามมากทั้งสิ้น ครั้นจะเอารูปดอกไม้ในโครงการมาลงต่อเนื่องไปในหน้านี้ก็คงไม่เพียงพอ เลยขออนุญาตแยกออกไปเขียนเป็นอีกหน้าหนึ่งจะดีกว่าจะได้ชมความสวยงามกันแบบเต็มอิ่มจุใจอีกหน้าหนึ่งเลยดีกว่า

ซากุระ

ซากุระ ตัวอย่างดอกไม้สวยๆ จากสวน 80 บางส่วนก็คือดอกซากุระ ที่เราเคยพูดถึงดอกซากุระเมืองไทย ซึ่งหมายถึงดอกพญาเสือโคร่ง อันมีลักษณะของกลีบดอกและเกสรคล้ายซากุระของญี่ปุ่น คราวนี้เลยเอารูปซากุระซึ่งหมายถึงซากุระจริงๆ ไม่ใช่พญาเสือโคร่งมาให้ชมกันแล้วลองดูว่าคุณดูออกหรือเปล่าว่าต่างกันตรงไหน 

กุหลาบ

กุหลาบ ดอกกุหลาบสวยๆ จากสวนกุหลาบอังกฤษส่วนหนึ่งของสวน 80 ในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ในสวนนี้จะมีกุหลาบมากมายหลายสายพันธุ์หลากสี กลีบมากกลีบน้อยเลือกชมกันแบบจุใจสาวๆ เลยทีเดียว

บ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

บ้านพักสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ในโครงการมีบ้านพักรองรับนักท่องเที่ยวมากมายหลายหลัง มีหลายขนาดหลายแบบ แต่แน่นอนว่าจะไปทีไรต้องจองล่วงหน้าไว้บ้างไม่งั้นเต็มยาวแน่ๆ จะหาว่าเราไม่เตือน

    ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โทร. 0 5345 0107 - 9 หรือ https://www.facebook.com/angkhangstation จบการนำเที่ยวดอยอ่างขางไว้เท่านี้ละครับอย่าลืมคลิกไปชม ความสำคัญและความเป็นมาของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง นะครับ

รีวิว ดอยอ่างขาง เชียงใหม่


 "เช้าที่ผ่านมานี้มีใครบางคนได้เจอกับภาพสวยๆ ที่อ่างขาง ส่วนใครหลายคนที่ยังไม่เจออาจจะต้องวางแผนเที่ยวดอยกันบ้างได้แล้ว
ภาพ Banchop Chaochoanchom "

Akkasid Tom Wisesklin
2017-12-15 18:15:23

ดอยอ่างขาง เชียงใหม่


 "รู้มั้ยว่าเมื่อคืนอ่างขาง 5 องศาเอ๊งงงงง "

Akkasid Tom Wisesklin
2017-12-05 18:19:48

ดอยอ่างขาง เชียงใหม่


10/10 จาก 2 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ดอยอ่างขาง เชียงใหม่
บ้านพักนาหา เชียงใหม่
  0.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
อ่างขาง เนเจอร์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
AumHum Homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
Ton Fang Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  25.43 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมฝาง โมเดิร์น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมชญาภา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
กษริน คอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
Sleeping Tree Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
โอเอซิส รีสอร์ท ฝาง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
ขุนยูว เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ดอยอ่างขาง เชียงใหม่
พระธาตุดอยอ่างขาง เชียงใหม่
  1.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวน 80 ดอยอ่างขาง
  1.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เชียงใหม่
  1.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไร่ชา 2000 ดอยอ่างขาง
  3.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) เชียงใหม่
  19.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำพุร้อนฝาง เชียงใหม่
  22.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เชียงใหม่
  24.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
ดอยปู่หมื่น เชียงใหม่
  32.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ดอยฟ้าห่มปก
  38.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดถ้ำตับเตา เชียงใหม่
  44.59 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com