www.touronthai.com

หน้าหลัก >> พัทลุง >> วัดวิหารเบิก

วัดวิหารเบิก

 วัดวิหารเบิก ตั้งอยู่บนถนนอภัยบริรักษ์ ห่างจากตัวเมืองพัทลุงประมาณ 6 กิโลเมตร (ตรงข้ามวัดวัง) ในอดีตพื้นที่ตำบลลำปำ เป็นที่ตั้งของเมืองพัทลุงก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่คูหาสวรรค์ดังในปัจจุบัน ที่ตำบลลำปำนี้จึงมีวังเจ้าเมืองพัทลุง และวัตสำคัญของจังหวัดอย่างวัดวังตั้งอยู่ ประวัติศาสตร์ของตำบลลำปำมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตาก (ประมาณปี พ.ศ. 2311) วัดวิหารเบิกไม่มีหลักฐานการก่อสร้างชัดเจนนัก แต่เชื่อกันว่าสร้างมาในยุคเดียวกันกับวัดวัง เพราะวัดทั้งสองนั้นมีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่งานจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถของทั้งสองวัด ในจดหมายระยะทางไปตรวจราชการแหลมมลายู มีการระบุถึงวัดวังเอาไว้ว่า

 "...พระยาพัทลุง (ทับ) ได้นำช่างเขียนวัดพระแก้ว กรุงเทพฯ มาเขียนที่วัดวัง ด้วยท่านเองเคยรับราชการเป็นมหาเล็กอยู่เมืองหลวงสมัยรัชกาล ที่ ๒ และวงศ์ญาติของท่านก็ได้เคยอพยพมาอยู่กรุงเทพฯ ตอนที่พระยาอุทัยธรรมเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ซึ่งในครั้งนั้นคงได้เห็นแบบอย่างจิตรกรรมวัดพระแก้ว จึงได้นำช่างจากวัดพระแก้วมาเขียนที่วัดวัง..."

 แต่อีกนัยหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่าจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดวัง เขียนขึ้นโดยช่างพื้นเมืองชาวพัทลุงที่ชื่อสุ่่น เป็นผู้เขียนภาพภายในพระอุโบสถวัดวิหารเบิก ซึ่งช่างพื้นเมืองที่ชื่อสุ่นรับตำแหน่งหลวงเทพบัณฑิตประจำเมืองพัทลุง เคยไปหัดเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่กรุงเทพฯ โดยเคยเขียนแข่งขันกับอาจารย์แดง นอกจากนี้ยังเคยเขียนภาพภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 ส่วนหลักฐานพงศาวดารเมืองพัทลุง ก็กล่าวถึงไว้ดังนี้
 "...เมื่อปี พ.ศ. 2402 ปีมะแมเอกศก พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 4 พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสงขลาและปัตตานี ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังทรงพระเยาว์ ได้ตามเสด็จพระราชดำเนินออกมาด้วย พระยาพัทลุง (ทับ) กับพระวรนารถสัมพันธพงษ์ (น้อย) ได้ไปเฝ้าทุลละอองพระบาทที่เมืองสงขลา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคารพ โดยมีพระราชดำรัสว่าญาติกัน ได้พระราชทานเหรียญเฟื้องทองคำตราช้างแก่พระยาพัทลุง (ทับ) 100 เหรียญ และพระวรนารถสัมพันธพงษ์ (น้อย) 100 เหรียญ ต่อมาพระยาพัทลุง (ทับ) ให้หลวงยกกระบัตร (นิ่ม) ไปรื้อเอาปืนบาเหรี่ยมมาแต่เข้าชัยบุรีเมืองเก่าทั้ง 2 กระบอกมาไว้ที่กลางเมืองพัทลุง กับไปรื้อกำแพงเมืองที่เขาชัยบุรี มาปฏิสังขรณ์วัดวัง ซึ่งเป็นวัดของพระยาพัทลุง (ทองขาว) บิดา ขึ้นเป็นวัดถือน้ำไว้กลางเมืองพัทลุง ทั้งกุฎิ วิหาร อุโบสถ เจดียสถาน และวาดเขียนพร้อมเสร็จบริบูรณ์ได้มีงานฉลอง ปีวอก โทศก พ.ศ.2403..."

 จากหลักฐานทางเอกสารและการจดบันทึก หากให้น้ำหนักความเชื่อว่าช่างสุ่นเป็นผู้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังของวัดวังและวัดวิหารเบิกนั้น จึงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดอายุของวัดวิหารเบิกได้ว่า น่าจะสร้างขึ้นก่อนวัดวัง หรือร่วมสมัยกับวัดวัง *

 *ที่มา งานค้นคว้าเรื่องภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดวิหารเบิก นางสาวอุไรรัตน์ โรจจ์นานนท์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2553

ข้อมูลเพิ่มเติม:ที่อยู่ 87 หมู่ 4 ตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง พัทลุง 93000
โทรศัพท์ 074634163

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 8817

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เจดีย์วัดวิหารเบิก

เจดีย์วัดวิหารเบิก เป็นเจดีย์ขนาดเล็กที่สร้าง ชิดกำแพงวัดด้านหน้า ดูจากตำแหน่งของการสร้างเจดีย์แล้วรู้สึกแปลกๆ ไม่เหมือนกับวัดอื่นๆ เจดีย์องค์นี้น่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับวัดวิหารเบิกแต่มีการชำรุดทรุดโทรม พระครูบวรกิจจานุยุต พร้อมด้วยศรัทธาจากประชาชน ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์องค์นี้ขึ้นใหม่ แต่ไม่มีบันทึกว่าได้ทำการบูรณะกันเมื่อปีใด

ลักษณะของตำแหน่งเจดีย์ที่อยู่ชิดกำแพงด้านหน้าที่ว่าแปลกนั้น ก็มีวัดที่สร้างเจดีย์ชิดกำแพงอีกวัดหนึ่งก็คือ วัดวัง ที่อยู่อีกด้านหนึ่งของถนนอภัยบริรักษ์ ที่เราเพิ่งจะเข้าไปชมเจดีย์และอุโบสถกันมาก่อนที่จะข้ามถนนมาที่วัดวิหารเบิก

อุโบสถวัดวิหารเบิก

อุโบสถวัดวิหารเบิก ข้อมูลเบื้องต้นจากผลงานการค้นคว้าของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างนั้นประวัติของวัดและการสร้างอุโบสถหลังนี้ยังไม่ชัดเจน ในตอนหลังก็มีการหาข้อมูลเพิ่มเติม สรุปประวัติของวัดวิหารเบิกโดยทางวัดได้จัดทำป้ายแสดงข้อมูลคร่าวๆ เอาไว้ดังนี้

วัดวิหารเบิกสร้างเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2353 ตั้งอยู่เลขที่ 611 หมู่ 4 ถนนอภัยบริรักษ์ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ส.ค. 1 เลขที่ 132 พื้นที่ 21 ไร่ 1 งาน 12 ตารางวา พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ 18 มิถุนายน 2452 สร้างอุโบสถพัทธสีมา เมื่อ 20 พฤษภาคม 2476

อุโบสถวัดวิหารเบิก

อุโบสถวัดวิหารเบิก จุดเด่นอันเป็นสิ่งสำคัญประจำวัดวิหารเบิก ก็คืองานจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่ในอุโบสถเก่าแก่หลังนี้ แต่ดูเหมือนวันนี้จังหวะไม่ค่อยดี หลวงพ่อติดกิจนิมนต์ไปนอกวัด กว่าจะกลับก็คงเย็นๆ เราก็เลยไม่ได้ชมภาพจิตรกรรมแล้วก็ไม่มีภาพมาให้ชมกัน แต่ข้อมูลของกรมศิลปากรที่ได้บันทึกลักษณะสถาปัตยกรรมสำคัญของอุโบสถหลังนี้ไว้ดังนี้ครับ

"...วัดวิหารเบิก ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่าวัดเบิก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเล่ากันสืบมาว่า สร้างขึ้นพร้อมกับวัดวังและวัดยางงาม เพื่อแข่งขันกันด้านฝีมือช่างว่าใครจะเหนือกว่ากัน
อุโบสถวัดวิหารเบิกมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงแก้วล้อมรอบ อุโบสถยกฐานสูงในลักษณะของฐานบัว ผนังอาคารส่วนในทึบ มีหน้าต่างด้านละ 3 บาน มีทางเข้า 1 ประตู เฉพาะด้านทิศตะวันออกและประตูหน้าต่างทุกบ้านประดับซุ้มปูนปั้นลวดลายพรรณพฤกษา ถัดออกมาเป็นระเบียงประกอบหลังคาพาไล มีเสานางเรียงรองรับ หัวเสานางเรียงทุกต้นประดับลายปูนปั้นรูปกลีบบัว หน้าบันด้านทิศตะวันออกตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยปูนปั้น ลงรักปิดทองและมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดย่อม ประดิษฐานทางด้านซ้ายและขวาด้านละองค์ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพจิตรกรรมรูปซุ้มเรือนแก้วมีเทวดาถือดอกบัว ยักษ์ถือกระบองอยู่ข้างซุ้มและเขียนภาพวิทยาธร ฤๅษี เหาะอยู่ด้านบน ผนังด้านข้างทั้งสองด้าน ตอนล่างเขียนถาพทศชาติชาดก เหนือหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม และแถวบนสุดเขียนภาพฤๅษี นักสัทธิ์ วิทยาธร เหาะ ผนังด้านตรงข้ามพระประธานเขียนภาพพระพุทธประวัติตอนมารผจญ เพดานเขียนลายดาวสีทองบนพื้นสีแดง หลวงบุรี (สว่าง ณ พัทลุง) กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เมื่อครั้งเสด็จวัดแห่งนี้ในปี 2445 ว่า หลวงเทพบัณฑิตย์ (สุ่น) เป็นผู้เขียนภาพจิตรกรรมชุดนี้

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดวิหารเบิก ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 หน้า 3694 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478 และประกาศกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 102 ตอนที่ 180 หน้า 150 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2528..."

กุฎิในวัดวิหารเบิก

กุฎิในวัดวิหารเบิก นอกเหนือจากอุโบสถเก่าแก่ที่เป็นโบราณสถานแล้ว ภายในบริเวณวัดก็มีหลายสิ่งที่น่าสนใจ อย่างหนึ่งที่เห็นแล้วอยากจะเก็บภาพมาให้ชมกันก็คือ กุฎิเก่าหลังนี้ ปัจจุบันยังคงใช้งานตามปกติ มีการทางสีให้ดูเป็นลายบนแผ่นไม้ที่ใช้เป็นผนัง สีสันที่ทาก็ดูน่ากินจริงๆ (เหมือนขนมหรือไอติม)

กุฎิในวัดวิหารเบิก

กุฎิในวัดวิหารเบิก ผมพยายามที่จะขออนุญาตจากหลวงพ่อในการที่จะเข้าไปชมภายในโบสถ์ ก็มาเดินตามหาท่านบนกุฎิ แล้วมีคนบอกว่าท่านไม่อยู่ไปธุระนอกวัด ภาพบนกุฎิหลังนี้ก็เลยเป็นภาพสุดท้ายของการสำรวจวัดวิหารเบิก แล้วมีโอกาสจะไปเก็บภาพจิตรกรรมฝาผนังมาให้ชมกันในโอกาสต่อไป แต่เนื่องจากข้อมูลหลักฐานที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือ กล่าวว่าผู้ที่เขียนภาพจิตรกรรมภายในโบสถ์วัดวิหารเบิก เป็นคนเดียวกันกับผู้ที่เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ของวัดวัง ดังนั้ถ้าอยากเห็นว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังมีลักษณะสวยงามขนาดไหน คลิกเข้าไปชมได้ที่หน้าวัดวัง

วัดวังและวัดวิหารเบิกอยู่ตรงข้ามคนละฟากของถนน หากใครมาเที่ยวชมวัดวัง ก็ควรจะข้ามฝั่งมาไหว้พระที่วัดวิหารเบิกด้วย หรือในทางกลับกันคนที่มาไหว้พระชมงานจิตกรรมวัดวิหารเบิกแล้ว ก็ไม่ควรพลาดที่จะเดินข้ามถนนไปชมงานจิตรกรรมที่วัดวัง ด้วย

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดวิหารเบิก พัทลุง
โรงแรมเมอร์เดอลอง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้าน แสน รัก อพาร์ตเมนต์ แอนด์ เอ็กซ์คลูซีฟ โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ รูม พัทลุง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเดอะเซ็นทริส พัทลุง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมซิตี้ปาร์ค เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรม ฮอลิเดย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมชัยคณาธานี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมแกรนด์ พีแอล วีล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศิวา รอยัล โฮเตล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.84 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมวี อาร์ แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.86 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com