www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อุบลราชธานี >> วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

 วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ (วัดใต้เทิง) หรือวัดใต้ เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี มีเนื้อที่ตั้งวัด 9 ไร่ 40 – 3 – 10 วา อยู่ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำมูล ทางด้านทิศตะวันออก สถานที่ใกล้เคียง สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาค 2 อุบลราชธานี และโรงเรียนเทศบาลบูรพาอุบล
 ความหมายชื่อวัดใต้ (วัดใต้เทิง วัดใต้ท่า) เรื่องเดิมนั้นวัดใต้มีอยู่ 2 วัด คือวัดใต้ท่า (วัดร้าง) ตั้งอยู่ริมน้ำมูล หมายถึงวัดที่ตั้งอยู่ใกล้ติดกับแม่น้ำมูล ภาษาอีสานเรียกว่า “ท่าน้ำ” หมายถึงทางลงแม่น้ำ จึงรียกว่าวัดใต้ท่า คำว่า ใต้ท่า หมายถึง วัดที่ อยู่ใกล้ทางลงแม่น้ำมูล หรือข้างล่าง อยู่ทางทิศใต้ท่าน้ำ, (คำว่าเทิง เป็นสำเนียงภาษาพื้นบ้านทางภาคอีสาน โดยมีความหมายว่า ที่สูง ข้างบนหรืออยู่สูง อยู่เหนือขึ้นไป ดังนั้น วัดใต้เทิง จึงมีความหมายว่า วัดที่ตั้งอยู่เหนือขึ้นไป ถัดขึ้นไปจากวัดใต้ท่าที่อยู่ใกล้ริมแม่น้ำมูล เดิมทีเดียวคงจะชื่อวัดใต้เทิงเพียงสั้นๆ ต่อมาเพื่อให้สื่อความหมายถึงพระประธานในอุโบสถพระนามว่าพระเจ้าองค์ตื้อ จึงได้นำพระนามของพระพุทธรูปมาต่อกับชื่อวัด กลายเป็นวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

 วัดใต้เทิง ได้จดทะเบียนเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2322 และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2441 โดยมีท้าวสิทธิสาร กับ เพี้ยเมืองแสนและราษฎร ได้ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอเป็นวิสูงคามสีมา ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ 103/378 (ตราประทับอักษรขอม) ว่า ซึ่งมีพระบรมราชโองการ ประกาศไว้แก่คนทั้งปวงว่า “ที่เขตอุโบสถวัดใต้แขวงเมืองอุบลราชธานี โดยยาว 12 วา 1 ศอก กว้าง 7 วา 1 ศอก ท้าวสิทธิสารกับเพี้ยเมืองแสนและราษฎรได้ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอเป็นวิสุงคามสีมา พระเจ้าทรงยินดีอนุโมทนาอนุญาตแล้ว โปรดให้กรรมการปักคำกำหนดให้ตามประสงค์ ทรงพระราชอุทิศนั้นให้เป็นที่วิสุงคามสีมา ยกเป็นแผนกหนึ่งตากหาก จากพระราชอาณาเขต เป็นที่เศษสำหรับพระสงฆ์มาจากทิศทั้งสี่ ทำสังฆกรรม มีอุโบสถกรรม เป็นต้น ประกาศพระราชมานตั้งแต่ วันที่ 29 พฤศจิกายน รศ.117 พระพุทธศาสนกาล 2441 พรรษา เป็นวันที่ 10976 ในรัชกาลปัจจุบัน”

 เมื่อ พ.ศ.2509-2519 ได้ก่อสร้างโบสถ์และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา งวดที่ 5 ลำดับที่ 49 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอน 196 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2522 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2522 กำหนดเขตกว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร กองพุทธศาสนสถาน กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2522

 พระพุทธประธานในพระอุโบสถนามว่า พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 85 นิ้ว (รวมฐาน) ได้รับการยกย่องมาว่า เป็นพระพุทธรูป ที่งดงามในประเทศไทยและภาคอีสานเป็นพระประธานองค์ศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ตามประวัติในประเทศไทย มีอยู่ 5 องค์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ครองนครเวียงจันทร์ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เดิมประดิษฐานอยู่บนแท่นพระอุโบสถหลังเก่า ฐานรองรับสูง 70 เซนติเมตร สร้างแบบง่ายๆ ภายหลังอุโบสถหลังเก่าทรุดโทรม พระเจ้าองค์ตื้อจึงอยู่กลางแจ้ง ตากแดด ตากฝน เป็นเวลานานทำให้องค์พระพุทธรูปองค์ตื้อมีรอยแตก เป็นสะเก็ดออกมา ผู้เฒ่าผู้แก่ สมัยปู่ย่าตาทวดได้บอกเล่าสืบต่อกันมาว่า "... พระพุทธรูปองค์ตื้อนี้ได้ถูกหุ้มห่อทาปอมพอกเอาไว้พอกด้วยเปลือกไม้ ยางบด ผสมผงอิฐเจ และทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ เงิน รางกาชาดซะพอก ให้น้ำเกลี้ยง น้ำชาดผสมทาปอมพอก แล้วลงรักปิดทองที่เข้าเมืองอุบลราชธานี และเถราจารย์ในสมัยนั้น เพราะเป็นสมบัติล้ำค่าที่ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ ซึ่งองค์พระพุทธรูปเป็นทองแท้สัมฤทธิ์กลัวว่าจะถูกข้าศึกศัตรูขนเอาไป จึงได้ทาปอมพอกปิดเอาไว้ และปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างนานถึง 200 ปี..."

 ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2507-2508 ครั้งนั้นพระภิกษุสวัสดิ์ ทสฺสนีโย ปัจจุบัน เป็นราชาคณะชั้นราช ที่พระราชธรรมโกศล เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ รูปที่ 13 ปัจจุบันและเป็นเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (ธ) ได้ทำการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น นำพระภิกษุ-สามเณร ทายก-ทายิกา และชาวบ้านชุมชนใกล้กวัด ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2519 เมื่อสร้างฐานแท่นพระพุทธรูปพระประธานเสร็จจึงได้ยกพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อขึ้นประดิษฐานที่แท่นจนถึงปัจจุบันนี้ รวมอายุองค์พระประมาณ 225 ปี

 หมายเหตุ ความหมายคำว่า “ตื้อ” เป็นจำนวนนับของชาวล้านนา หรือภาคอีสาน เช่น หลักหน่วย-สิบ-ร้อย-พัน-หมื่น-แสน-ล้าน-โกฏิ-ตื้อ-อสงไขย นับไปไม่ได้ชาวพุทธได้นำทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ จำนวนมากหล่อเป็นพระพุทธรูปที่งดงาม จนหาค่าประมาณมิได้ องค์พระหนักเก้าแสนบาทบนจึงได้ชื่อว่า “พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ” หรือ (พระเจ้าแสนตื้อ)

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0 4524 3770, 0 4525 0714
http://www.tourismthailand.org/ubonratchathani

แก้ไขล่าสุด 2017-06-09 19:29:26 ผู้ชม 31718

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ด้านหน้าอุโบสถ

ด้านหน้าอุโบสถ การเดินทางมายังวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อในวันนี้ยอมรับตรงๆ เลยว่ามันเป็นความบังเอิญล้วนๆ การเดินทางของผมมีจุดหมายอยู่ที่วัดบูรพา แต่ในระหว่างการเดินทางก็มีการเลี้ยววกไปวกมาจนมาเห็นวัดแห่งนี้เข้าจากภายนอก บอกได้เลยว่า เมื่อแรกเห็นก็รู้สึกว่าที่นี่มีความพิเศษอยู่มาก พระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่บนฐานสูงเด่นตระหง่านเหนือกำแพงวัดจนมองเห็นจากด้านนอก พระพุทธรูปองค์หนึ่งสีทองอีกองค์หนึ่งสีขาว รายละเอียดของรูปปั้นปูนหลายชิ้นที่พอจะเห็นแว่บๆ ตอนที่ขับรถผ่านจนต้องเลี้ยวเข้ามาในวัดพอดีมีที่จอดอยู่ด้านข้างแล้วเดินเข้ามาชมวัดขอเริ่มจากด้านหน้าอุโบสถ มีทางเดินตรงเข้าไปโดยมีพญานาคเลื้อยยาว 2 ข้าง แล้วยังมีกิเลนและสัตว์หิมพานต์หลายชนิดเรียงรายอยู่อย่างเป็นระเบียบ ตกแต่งด้วยเสาโคมไฟเข้าไปอีก พื้นที่ของวัดที่น่าจะดูกว้างขวางเมื่อวางรูปปั้นหลายอย่างเข้าไปรอบๆ หลายคนบอกว่าเหมือนเขาวงกตที่หาทางออกได้ยาก บรรยายกันยาวไปก็คงไม่เหมือนดูรูปกันหรอกนะครับเดี๋ยวพาเดินชมให้รอบวัดกันเลยดีกว่า

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

มณฑปเพชรเจ็ดแสงพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

มณฑปเพชรเจ็ดแสงพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ตอนนี้เดินตามทางเดินด้านหน้ามุ่งตรงเข้ามาที่อุโบสถ ภายในกำแพงแก้วที่ล้อมรอบอุโบสถสิ่งแรกที่เราจะได้เห็นคือพระสิวลีอยู่ตรงกลางด้านหน้าสุดหลังพระสิวลีมีใบเสมาหินทราย เทพพนมนั่งพนมมือหันหน้าเข้าหาใบเสมา ถัดจากนั้นเป็นมณฑปเพชรเจ็ดแสงพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ซึ่งถ้าจะเข้าภายในอุโบสถต้องเดินอ้อมมณฑปนี้ไป

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

มณฑปเพชรเจ็ดแสงและอุโบสถ

มณฑปเพชรเจ็ดแสงและอุโบสถ ที่มุมด้านข้างของพระอุโบสถเราก็จะเห็นองค์ประกอบหลายๆ อย่างได้แก่รูปปูนปั้น มียักษ์ยืนอยู่ 2 ข้าง มีท้าวจตุคาม-รามเทพ ภายในมณฑปมีพระอุปคุต คนที่มาไหว้พระที่วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อจะจุดธูปเทียนกันที่มณฑป ส่วนภายในอุโบสถก็จะมีไหว้พระเท่านั้นไม่ให้จุดธูปเทียนภายใน มณฑปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสหน้าอุโบสถตกแต่งลวดลายสวยงามทุกส่วนทั้งเสา และหน้าบันไปจนถึงส่วนยอด ความรู้สึกของคนที่ได้มายืนในสถานที่จริงจะประทับใจและทึ่งกับความสวยงามที่เห็นอยู่เบื้องหน้า นี่จึงเป็นเสน่ห์อันโดดเด่นกว่าวัดหลายๆ แห่งที่อยู่ในเมืองอุบลราชธานี ดึงดูดผู้คนทั้งใกล้และไกลให้ได้เข้ามาไหว้พระทำบุญกันที่วัดนี้มิได้ขาด ส่วนอุโบสถมีการตกแต่งซุ้มขอบประตูหน้าต่างด้วยสีทอง แต่คงไว้ด้วยความเรียบของผนังด้านนอก ทั้งสองข้างของอุโบสถมีหลักศิลาจารึกเป็นหินทราย แต่ละหลักศิลาจารึกมีข้อมูลต่างกัน อย่างเช่นหลักศิลาจารึกที่ 2 อบ. 14 วัดใต้ "เทิง" มีข้อมูลที่ฐานบันทึกบอกไว้ว่า "...เป็นอักษรธรรมอีสาน วัตถุจารึกศิลาประเภทหินทรายสีแดง ลักษณะรูปใบเสมา กว้าง 67 ซม. สูง 82 ซม. หนา 7 ซม. มีจารึก 1 ด้าน 19 บรรทัด ในราวพุทธศตวรรษที่ 19-24 พุทธศักราช 2377 รัชกาลที่ 3 ปีที่ 11 ปีมะเมีย ร.ศ.53 ค.ศ. 1834-5 ปีกาบสง้า วันพฤหัสบดีแรม 1 ค่ำ เดือน 3 มีสมเด็จฯ อรรควรราชครูปุสสีตธรรมวงศาเจ้า สมเด็จเจ้าพระพรหมมวรราชวงศาภูมินทร์ เจ้าแผ่นดินในเมืองอุบลราชธานี เป็นประธาน นิพฺพาน ปจฺจโยโหตุ นิจฺจํ ทุวํ ทุวํ ท่านเจ้าครูแก้วกับเณรพุทธา เป็นผู้เขียน แลฯ..."

ท้าวจตุคาม-รามเทพ

ท้าวจตุคาม-รามเทพ ด้านหน้าของมณฑปเพชรเจ็ดแสงพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

กำแพงแก้วอุโบสถ

กำแพงแก้วอุโบสถ เป็นลักษณะของสถูปเจดีย์และซุ้มที่สร้างแบบเดียวกันทั้งหมด ประชาชนจะนำเอาอัฐิของญาติผู้ล่วงลับไปแล้วมาบรรจุเอาไว้เหมือนกับวัดอื่นๆ แต่เมื่อสร้างให้เหมือนกันทั้งหมดจึงดูสวยงามเป็นระเบียบกว่า ระหว่างสถูปเจดีย์ที่เรียงรายอยู่รอบกำแพงแก้วจะมีรูปปั้นเทพพนมนั่งอยู่ เมื่อมองในภาพรวมทุกสิ่งทุกอย่างในบริเวณวัดจึงดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด ทั้งบริเวณอุโบสถ และบริเวณอื่นๆ ของวัด

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ประดิษฐานเป็นพระประธานของวัดใต้เทิง หรือวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อแห่งนี้ พระนามเต็มว่า "พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เมตตรัยสัทโธ" พระพุทธรูปที่สร้างประมาณปี 2337 คู่บ้านคู่เมืองเป็นศูนย์รวมศรัทธาชาวอุบลฯ และประชาชนทั่วไปมายาวนาน พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อประดิษฐานบนฐานชุกชีสูงรายล้อมด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายภาพจนเด็มผนังอุโบสถทุกด้านภาพจิตรกรรมฝาผนังด้านหลังองค์พระเป็นภาพพระศรีมหาโพธิ์ แลดูคล้ายพระพุทธเจ้าประทับใต้ต้นโพธิ์ใหญ่

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

วิหารเฉลิมพระเกียรติ

วิหารเฉลิมพระเกียรติ หลังจากนมัสการพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อแล้ว ก็เดินออกมาชมบริเวณรอบๆ วัดซึ่งมีอยู่หลายอย่างที่น่าสนใจ สิ่งหนึ่งก็คือวิหารขนาดสูงใหญ่ ตกแต่งด้านหน้าด้วยงาช้างคู่เป็นปูน อยู่ด้านขวาของอุโบสถ

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

พระพุทธรูปใหญ่หน้าอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานบนฐานสูงจนมองเห็นได้จากนอกวัด เป็นสิ่งแรกๆ ที่เราจะได้เห็นเมื่อเดินทางผ่านถนนรอบวัดใต้เทิง พระพุทธรูปอีกหลายองค์อยู่ระหว่างการสร้าง ถึงอย่างงั้นเมื่อมองรวมๆ แล้วก็มีความงดงาม ด้วยเหตุที่ท่านเจ้าอาวาสเป็นพระนักพัฒนาใครไปใครมาผ่านวัดก็จะเห็นสิ่งก่อสร้างที่มีเพิ่มขึ้นทุกวันๆ นอกจากนั้นก็ยังมีประชาชนหลายคนนำเอารูปปูนปั้นต่างๆ มาถวาย จัดวางในวัดอย่างลงตัว

บริเวณวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

บริเวณวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ต่อจากนี้ไปเป็นส่วนต่างๆ ในวัดที่น่าสนใจก็เลยเก็บภาพมาให้ชมกันครับ

มณฑปเจดีย์พระยอดธงองค์ตื้อ

มณฑปเจดีย์พระยอดธงองค์ตื้อ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ประจำวันเกิดครับให้คนได้เข้ามาสักการะทำบุญสร้างเสริมบารมีกัน ส่วนหลังคาสร้างเป็นยอดซุ้มสวยงาม เช่นเดียวกันกับกองอำนวยการวัดที่อยู่ใกล้ๆ กัน เป็นที่บูชาวัตถุมงคลของวัด

ทางเดินในวัด

ทางเดินในวัด ปิดท้ายด้วยรูปนี้เลยครับ นอกเหนือจากที่ถ่ายมาในวันนั้นก็ยังมีอีกมากมายที่เดินไม่ทั่วถึง ลองเข้าไปชมกันดูด้วยตัวเองจะรู้ว่าวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อทั้งสวยทั้งสงบและยังมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมานานได้ไหว้พระทำบุญที่นี่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อุบลราชธานี
โรงแรมอีโค่ อินน์ อุบลราชธานี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุบล เบสท์ เพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทวีสุข แกรนด์ แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
ล็อกอินน์ โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมลายทอง เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมยูโฮเทล อุบลราชธานี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.20 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเดอะราชธานี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้าน 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 20 ตร.ม. – วารินชำราบ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมศรีอิสาณ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
28 ราชบุตร โฮสเทล
  1.34 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อุบลราชธานี
หาดวัดใต้ อุบลราชธานี
  0.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
  1.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดมหาวนาราม อุบลราชธานี
  1.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
  1.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
  1.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดบูรพาราม อุบลราชธานี
  1.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
ประเพณีแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี
  1.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) อุบลราชธานี
  1.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดแจ้ง อุบลราชธานี
  2.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดไชยมงคล อุบลราชธานี
  2.08 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com