www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อุบลราชธานี >> วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง)

วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง)

 วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง)ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของศาลากลางจังหวัด ถนนอุปราช สร้างเมื่อ พ.ศ. 2398 วัดนี้มีพระอุโบสถที่สร้างตามแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพฯ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองคือ พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธปฏิมากรปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน แกะสลักจากแก้วบุศราคัม

ตามตำนานเล่ากันว่าพระวรราชภักดี(พระวอ) พร้อมด้วยบุตรหลานของพระตาคือ ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหมและท้าวก่ำ บรรพบุรุษผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี ได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) เดิมทีพระแก้วบุษราคัมประดิษฐานอยู่ที่บ้านดอนมดแดง และได้อัญเชิญมาประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุบลรัตนารามในเวลาต่อมา

 ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ทางราชการได้ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่วัดศรีอุบลรัตนาราม พร้อมทั้งได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมเป็นองค์ประธานในพิธี โดยถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสืบกันมาแต่โบราณกาล ปัจจุบันในเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ชาวอุบลราชธานีจะร่วมใจกันอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมแห่ไปรอบเมืองอุบลราชธานี เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการกราบไหว้และสรงน้ำกันโดยถ้วนหน้า

 นอกจากนี้ภายในวัดยังมี พิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม เป็นอาคาร 2 ชั้นขนาดใหญ่ เดิมทีเป็นศาลาหอแจก ซึ่งหมายถึงสถานที่ในการทำบุญทำทานของคนในสมัยก่อน

 ปัจจุบันได้มีการบูรณะขึ้นใหม่โดยใช้วัสดุและการตกแต่งแบบเดิม และได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2549 โดยชั้นบนของอาคารใช้เป็นที่เก็บและจัดแสดงวัตถุโบราณต่างๆ ซึ่งมีอายุนับร้อยปี ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น ตู้เก็บพระไตรปิฎก ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ตู้เก็บคำภีร์ไบลานถุงผ้าใหมสำหรับเก็บคัมภีร์ บาตรและเชิงบาตรสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมทั้งฮางฮด (รางน้ำทำจากไม้ แกะสลักเป็นรูปพญานาค) ที่ใช้ในการสรงน้ำพระแก้วบุษราคัมของวัดศรีอุบลรัตนาราม

พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชม ในวันพุธ-วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 09.00 น. – 16.00 น. โดยไม่คิดค่าบริการ

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0 4524 3770, 0 4525 0714
http://www.tourismthailand.org/ubonratchathani

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 20962

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ซุ้มประตูวัดศรีอุบลรัตนาราม

ซุ้มประตูวัดศรีอุบลรัตนาราม การเดินทางของผมในวันนี้เดินทางมาจากวัดสุปัฏนารามวรวิหาร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนศรีทอง(ชื่อเดิมของวัด) ตรงมาเรื่อยๆ ถึงซุ้มประตูวัดพอดีเลย แต่ตรงนี้เป็นสี่แยก ค่อยๆ ตรงข้ามถนนเข้าวัดมาดูซ้ายดูขวาให้ดีนะครับ

พระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม

พระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม เข้ามาในวัดแล้วจะมีพื้นที่กว้างขวางมากแต่จะมีที่จอดรถน้อยเพราะมีคนมาอาศัยที่วัดในการจอดรถแล้วไปทำธุระอย่างอื่นด้วย วัดศรีอุบลรัตนารามตั้งอยู่ในถนนสายหลักของอุบลราชธานีก็คงมีปัญหาเรื่องนี้กันบ้าง แต่ในที่สุดก็มีจอดรถ จากนั้นก็เดินสำรวจรอบๆ บริเวณวัดว่าเราจะเริ่มไหว้พระถ่ายรูปจากตรงไหน

พระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม

พระอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม เริ่มจากพระอุโบสถทรงจตุรมุขหลังใหญ่มากๆ นี้ก่อนละกันครับเพราะเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม พระคู่บ้านคู่เมือง เราลองมาดูประวัติของวัดอย่างละเอียดอีกทีกันครับ

ประวัติวัดศรีอุบลรัตนาราม
ประวัติวัดศรีอุบลรัตนาราม เดิมชื่อวัดศรีทอง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2398 ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พื้นที่ตั้งวัดเดิมเป็นสวนของเจ้าอุปฮาดโท (ต้นตระกูล ณ อุบล) มีศรัทธาบริจาคที่ดินประมาณ 25 ไร่ สำหรับสร้างวัดของคณะสงฆ์ธรรมยุต ซึ่งเป็นคณะสงฆ์ใหม่ที่เพิ่งสถาปนาขึ้นในตอนปลายของรัชกาลที่ ๓ จึงให้มีการถวายที่ดินต่อหน้าคณะสงฆ์และคณะกรรมการเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้น ในยามราตรีกาลของวันนั้น เกิดนิมิตประหลาดคือมีแสงสว่างสีทองพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าภายในบริเวณสวนนั้น จึงได้ถือนิมิตอันเป็นมงคลนี้ตั้งชื่อวัดว่า "วัดศรีทอง"

เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศรีทองคือ พระเทวธัมมี (ม้าว) นิมนต์มาจากวัดสุปัฏนาราม ได้นำพาญาติโยมก่อสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุที่จำเป็นขึ้นในวัด ตามประวัติท่านเทวธัมมีรูปนี้ได้รับการศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพมหานคร และเป็นลัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งทรงผนวช ต่อมาได้ติดตามท่านพันธุโล (ดี) มาเมืองอุบลราชธานี เพื่อสร้างวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดของคณะสงฆ์ธรรมยุตแห่งแรกในภาคอีสาน โดยมีท่านพันธุโลเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ท่านเทวธัมมีเป็นที่ยอมรับนับถือว่าเป็นพระเถระที่มีอำนาจและเป็นที่เคารพยำเกรงของพระภิกษุสามเณรและข้าราชการตลอดจนประชาชนทั้งหลายในเมืองอุบลราชธานีสมัยนั้นเป็นอย่างมาก

วัดศรีอุบลรัตนาราม เป็นสถานที่บรรพชาอุปสมบทของอดีตบูรพาจารย์ทั้งฝ่ายคันถธุระ และฝ่ายวิปัสสนาธุระ ซึงมีพระอุบาลึคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ดิสโส อ้วน) หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นต้น

ต่อมาได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเก่าที่ทรุดโทรมโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธียกช่อฟ้า และตัดหวายลูกนิมิตพระอุโบสถในปี 2511 ท่านผู้หญิงตุ่น โกศัลวิตร ผู้เป็นเจ้าภาพใหญ่ ได้ทูลเกล้าถวายพระอุโบสถหลังนี้ให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนนามใหม่เป็น "วัดศรีอุบลรัตนาราม" ตามพระนามขององค์อุปถัมภ์ ตั้งแต่นั้นมา ในปี 2522 วัดศรีอุบลรัตนารามได้รับพระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ

และปัจจุบันวัดศรีอุบลรัตนารามได้ถูกจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานีแห่งหนึ่งในจำนวน 9 วัด ซึ่งเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญทั้งหลายได้เข้าทำบุญ และนมัสการพระแก้วบุษราคัมเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่ 8.00 น. - 16.00 น.

พระประธานในโบสถ์

พระประธานในโบสถ์ เมื่อเข้ามาด้านในเราจะเห็นพระประธานองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่สูงสุด จากนั้นจะมีโต๊ะหมู่บูชามีพระพุทธรูปบูชาปางต่างๆ ด้านหน้าพระประธานจะเห็นพระพุทธรูปใสสีเหลืองๆ ก็คือพระแก้วบุษราคัม พระพุทธรูปสำคัญของวัดศรีอุบลรัตนารามตอนที่ผมมาเป็นช่วงบุญกฐิน ภายในโบสถ์หลังใหญ่นี้ก็เลยเต็มไปด้วยเก้าอี้สำหรับทำพิธีกรรมทอดกฐิน โชคดีที่ทางวัดยังคงเปิดให้ผมเข้ามาไหว้พระ

พระแก้วบุษราคัม (จำลอง)

พระแก้วบุษราคัม (จำลอง) พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธรูปบูชาหน้าตักกว้าง 3 นิ้ว สูงประมาณ 5 นิ้ว แกะสลักด้วยแก้วบุษราคัม (แก้วมณีสีเหลือง) ทึบทั้งแท่ง พระเศียรหุ้มเป็นเม็ดพระศกทองคำ มีพระสังวาลประดับที่องค์พระ มีฐานหุ้มด้วยทองคำ เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสกุลเชียงแสนปางมารวิชัย

พระพุทธรุปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปโบราณมีอายุมากกว่าพันปีแล้ว ได้อัญเชิญมาจากกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) เดิมเป็นสมบัติของเจ้าปางคำ ซึ่งเป็นผู้มาสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลำภูในปัจจุบัน) เมื่อเจ้าปางคำถึงแก่อนิจกรรม เจ้าพระตาผู้เป็นบุตรก็ครองเมืองแทนพระบิดา ต่อมาในปี พ.ศ. 2314 เจ้าพระตาเสียเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ แก่พระเจ้าสิริบุญสารแห่งกรุงเวียงจันทน์ และถึงแก่อนิจกรรมในสนามรบ เจ้าพระวอผู้เป็นบุตรได้อพยพออกจากเมืองนครเขื่อนขันธ์ฯ ได้อัญเชิญพระแก้วองค์นี้มาด้วย มาสร้างบ้านสิงห์โคก, บ้านสิงห์ท่า (จังหวัดยโสธร) บ้านดอนมดแดง (จังหวัดอุบลราชธานี) บ้านดู้, บ้านแก (แขวงเมืองเก่าปากเซ ประเทศลาว) ต่อมาพระเจ้าสิริบุญสารสั่งให้พระยาสุโพนำทัพมาตีเจ้าพระวอออกรบ และเสียทีแก่ข้าศึก ถึงแก่อนิจกรรมในสนามรบ เจ้าคำผงผู้เป็นบุตรได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสืบต่อมา ภายหลังได้มาสร้างเมืองอุบลราชธานี และได้รับโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ ๑ ให้เป็นพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานี และได้สร้างวัดหลวงเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม

พระแก้วบุษราคัมประดิษฐานอยู่ในวัดหลวงจนสิ้นอายุขัยพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ต่อมาท้าวเพี้ยกรมการเมืองอุบลฯ เกรงว่าข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ที่จะมาตรวจราชการที่เมืองอุบลฯ จะขอเอาพระแก้วบุษราคัมไปถวายเจ้านายของตน จึงพยายามปกปิดและนำไปซุกซ่อนในที่แห่งหนึ่ง

ต่อมามีผู้หวังดีชาวเมืองอุบลฯ คิดได้ว่าพระเทวธัมมี (ม้าว) เจ้าอาวาสวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) ซึ่งเป็นสิทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ตอนเสด็จออกผนวช ท่านอาจจะเป็นที่เกรงขามของข้าหลวงจากกรุงเทพฯ ได้ ถ้าหากพวกเข้าเหล่านั้นจะออกปากขอพระแก้วบุษราคัมไป ดังนั้นจึงได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมจากที่ซุกซ่อนมาถวายให้อยู่ในความคุ้มครองของพระเทวธัมมี ที่วัดศรีทองเพราะมั่นใจว่ามีท่านผู้เดียวเท่านั้นที่จะรักษาพระแก้วบุษราคัมได้อย่างปลอดภัยที่สุด เพื่อจะรักษาไว้เป็นสมบัติของชาวเมืองอุบลราชธานีต่อไป

พระแก้วบุษราคัมจึงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดอุบลราชธานีองค์หนึ่งในสมัยมีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ใช้เป็นพระพุทธรูปในการประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา (พิธีดื่มน้ำสาบาน) ของบรรดาข้าราชการในสมัยนั้น ในเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายนของทุกปีชาวเมืองอุบลฯ จะจัดขบวนแห่พระแก้วบุษราคัมรอบเมืองอุบลฯ เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศได้นมัสการและสรงน้ำองค์พระแก้วบุษราคัมกันอย่างทั่วหน้า ซึ่งงานนี้ได้จัดให้มีไปจนถึงวันที่ 17 เมษายน ของทุกปี และเป็นการเปิดงานสงกรานต์ของชาวเมืองอุบลราชธานีด้วย

ปัจจุบันพระแก้วบุษราคัมประดิษฐานอยู่ในหอคำ (บุษบก) ภายในซุ้มคูหาที่ผนังพระอุโบสถด้านบนหลังพระประธาน ส่วนองค์ที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าพระประธานเป็นองค์จำลอง

พระอุโบสถด้านข้าง

พระอุโบสถด้านข้าง

วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง)

วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง)

หอแจก พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม

หอแจก พิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม ภายในมีโบราณวัตถุ และปูชนียวัตถุหลายอย่างของวัดเก็บรักษาไว้ โดยไม่ให้ถ่ายภาพ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ภาพจากภายในอาคาร เราลองดูความสวยงามจากภายนอกกันก่อนก็ได้ครับ
อาคารและส่วนประดับอาคาร
หอแจกวัดศรีอุบลรัตนาราม หรืออาคารศาลาการเปรียญ สร้างในสมัยพระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน) เป็นเจ้าอาวาส ในสมัยพระครูวิจิตรธรรมภาณี เป็นเจ้าอาวาสได้มีการรื้อถอนและประกอบใหม่ด้วยเหตุผลในการจัดวางตำแหน่งอาคารต่างๆ ใหม่ภายในวัด

และในปี พ.ศ. 2545 พระวินัยโกศล เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ให้บูรณะอาคารหลังนี้โดยให้ยกให้สูงขึ้น 1.5 เมตร เลื่อนอาคารชั้นบนออกไปจากจุดเดิมด้านข้าง 5 เมตร ด้านหลัง 7 เมตร ทำฐานรากอาคารและก่อสร้างชั้นล่างใหม่ เป็นคอนกรีต ประดับบัวปูนปั้น โดยทุนริเริ่มจากรายได้ของงานนิทรรศการบ้านคำปุน จัดตั้งเป็นกองทุนบูรณะหอแจกวัดศรีอุบลรัตนาราม

คุณค่าทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม ของอาคารหลังนี้ เห็นได้จากเครื่องประดับอาคารต่างๆ เช่น

โหง่ (ช่อฟ้า) รวยระกา หางหงส์รูปนาค เดิมลงรักปิดทอง ประดับกระจก ศิลปะท้องถิ่นอุบลราชธานี งานแกะสลักรูปนาคมีหงอนสะบัดพลิ้วงดงาม แสดงถึงฝีมือเชิงช่างที่มีเอกลักษณ์ อายุกว่า 100 ปี
นอกจากนี้ยังมีไม้แกะสลักประดับมุมเสา และหย่องหน้าต่างแข้งสิงห์มุมค้างคาว ล้วนแล้วแต่มีความงดงามหาชมได้ยากในปัจจุบัน

ภายในหอแจกมีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่
พระประธานในหอแจก สร้างขึ้นในสมัยพระเทวธัมมี (ม้าว) เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยนั่งขัดสมาธิเพชร แกะสลักจากไม้กันเกรา (ภาษาอีสานเรียกไม้มันปลา) หน้าตักกว้าง 1.3 เมตร สูง 1.4 เมตร ลงรักทาชาดสีแดงปิดทองคำเปลวทั้งองค์ ประดิษฐานในบุษบกไม้ทั้งหลัง ที่สร้างขึ้นพร้อมพระพุทธรูปไม้แกะสลักองค์นี้และมีบุษบกไม้ชนิดเดียวกันมีขนาดลดหลั่นลงมา กระหนาบอยู่ทั้งสองข้างและภายในบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง 2 บุษบก

พระพุทธรูปสำริด (เบื้องขวาของพระประธาน) นามพระสิริสักยะมุนี สร้างเมื่อศักราชได้ 18 ตัวปีเบิกยี่ เดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ

ตู้หนังสือเป็นศิลปะฝีมือช่างท้องถิ่นที่สะท้อนศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์และฝีมือช่างของชาวอุบลราชธานีอย่างแท้จริง ทั้งเทคนิคแกะสลัก ลายรดน้ำ และลายกระแหนะรักปั้นลงรักปิดทอง ด้านหลังมีลายรูปรามสูรย์ และจารึกประวัติการสร้างตู้หลังนี้

รีวิว วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) อุบลราชธานี


 "พระแก้วบุษราคัมเป็นพระพุทธรูปสกุลช่างเชียงแสนที่นำมาจากนครเชียงรุ้ง โดยเจ้าปางคำ ราชวงศ์เชียงรุ้งแสนหวีฟ้า และเป็นมรดกตกทอดมาสู่เจ้าราชวงศ์เชียงรุ้งโดยลำดับคือเจ้าพระตา เจ้าพระวอ พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ โดยลำดับ มิได้อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์แต่อย่างใด"

ธรามิล พลเขต
2018-05-28 20:27:07


3/5 จาก 1 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) อุบลราชธานี
โรงแรมอุบล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเดอะราชธานี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมศรีอิสาณ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
28 ราชบุตร โฮสเทล
  0.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมบัว บูติค เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมอีโค่ อินน์ อุบลราชธานี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฉัตรสุรีย์ แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.23 km | แผนที่ | เส้นทาง
แผ่นดินทอง อพาร์ตเมนท์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฟิวเจอร์ เพลส แมนชั่น อุบล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
ที3 เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) อุบลราชธานี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
  0.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
ประเพณีแห่เทียนพรรษา อุบลราชธานี
  0.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
  0.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อุบลราชธานี
  0.56 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดไชยมงคล อุบลราชธานี
  0.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
  0.99 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อุบลราชธานี
  1.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดแจ้ง อุบลราชธานี
  1.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดมหาวนาราม อุบลราชธานี
  1.85 km | แผนที่ | เส้นทาง
หาดวัดใต้ อุบลราชธานี
  1.94 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com