www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ร้อยเอ็ด >> ย้อนรอยบั้งไฟล้านค่ายเทพพนม

ย้อนรอยบั้งไฟล้านค่ายเทพพนม

 ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวอีสานจัดขึ้นในหลายๆ พื้นที่ แทบทุกจังหวัดในภาคอีสาน จะมีเล็กบ้างใหญ่บ้าง ตามสมควรของแต่ละพื้นที่ ประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานจนยากจะประมาณอายุและข้อมูลเกี่ยวกับการริเริ่มจุดบั้งไฟ ปกติการจุดบั้งไฟจะจุดในช่วงปลายฤดูร้อน ต่อกับฤดูฝนเพื่อเป็นการขอฝนอีกอย่างหนึ่ง ตามความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับพญาแถน ผาแดง นางไอ่ นอกจากนั้น ในพื้นที่อำเภอพนมไพรยังมีความเชื่อว่า หากไปขอพรกับพระมหาธาตุวัดกลางอุดมเวทย์ เมื่อพรนั้นสำเร็จจะต้องถวายการจุดบั้งไฟ คล้ายกับการแก้บน จึงทำให้ประเพณีการจุดบั้งไฟ ของชาวพนมไพรสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระธาตุ คนมาจุดบั้งไฟถวายเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

    การจุดบั้งไฟในประเพณีของชาวพนมไพร จะจัดเป็นงานใหญ่ มีขบวนแห่บั้งไฟที่สวยงามยิ่งใหญ่ ยาวเกือบ 2 กิโลเมตร เหมือนที่ยโสธร จัดกันเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ในปี 2558 ตรงกับวันที่ 1 และ 2 มิถุนายน โดยวันแรกให้เป็นวันแห่ ส่วนวันที่ 2 จะเป็นการจุดบั้งไฟให้หมดในวันเดียว โดยทางการได้ทำเรื่องแจ้งไปยังพื้นที่ใกล้เคียงในวิถีของบั้งไฟ และสายการบิน เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีที่ยาวนานของชาวพนมไพร

 ข่าวความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหาธาตุวัดกลางอุดมเวทย์ยิ่งเวลาผ่านไปก็ยิ่งแพร่ออกไปไกลมากยิ่งขึ้น ชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงพอรู้ข่าวก็ลองมาบนมาไหว้ขอพร พอสมหวังก็หาบั้งไฟมาถวาย ในพื้นที่อำเภอพนมไพร ก็เลยมีโรงงานผลิตบั้งไฟเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่ต้องการถวายบั้งไฟอยู่หลายโรงงาน โดยเรียกกันว่า ค่ายบั้งไฟ เหมือนกับค่ายมวย เท่าที่สอบถามชาวบ้านเล่าว่าน่าจะมีอยู่ประมาณ 5-6 ค่าย ค่ายเทพพนมที่เปิดให้เราเข้ามาเก็บภาพศึกษาขั้นตอนการทำบั้งไฟขนาดต่างๆ เป็นค่ายที่มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัด

ข้อมูลเพิ่มเติม:ค่ายเทพพนม โทร. 089-5722401

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 12900

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ค่ายบั้งไฟเทพพนม

ค่ายบั้งไฟเทพพนม ลักษณะทั่วไปของค่ายบั้งไฟจะคล้ายๆ กัน คือมีเครื่อจักรรูปร่างคล้ายเครนหรือแท่นเจาะ หรือแท่นตอกเสาเข็ม มองเห็นได้โดดเด่นเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของค่าย ช่วงใกล้วันประเพณีบุญบั้งไฟ จะมีรถขนบั้งไฟเข้า-ออก ตลอดวัน คือการขนไปส่งลูกค้า หรือการขนกลับมาแก้ไขงานบางจุด รอบๆ ค่ายเป็นที่โล่งกว้างไม่ติดกับบ้านเรือนผู้คน เพื่อความปลอดภัย ภายในค่ายบั้งไฟห้ามก่อไฟ หรือสูบบุหรี่

ผสมดินปืนบั้งไฟ

ผสมดินปืนบั้งไฟ ไม่ว่าบั้งไฟจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ การทำบั้งไฟก็มีขั้นตอนเหมือนกันหมด เริ่มต้นจากการเอาตินประสิวมาบดให้ละเอียดต้องละเอียดมากๆ ไปผสมกับผงที่ใช้ถ่านหุงข้าวมาบดให้ละเอียดจนเหมือนผงแป้ง ผสมด้วยเครื่องผสมปูนเพื่อให้ได้จำนวนมากๆ อัตราส่วนของการผสมจะต้องเป็นไปตามสูตรที่กำหนดของแต่ละค่าย ได้ผงดินประสิวผสมผงถ่านจนเข้ากันดีแล้ว นี่ก็คือดินปืน จากนั้นก็นำดินปืนมาบรรจุใส่ลงไปในบั้งไฟ ซึ่งทำจากท่อ PVC ปิดด้านหัวบั้งไฟเอาไว้ การบรรจุจะใช้เครื่องอัดแรงดันสูงด้วยไฮดรอลิกเพื่อให้ดินปืนเข้าไปแน่นที่สุดค่อยๆ ใส่ดินปืนแล้วอัดทีละชั้นๆ ไปเรื่อยๆ จนเต็ม

เจาะรูบั้งไฟ

เจาะรูบั้งไฟ เมื่อใส่ดินปืนเข้าไปจนเต็มแน่นได้ที่ ต้องเอามาเจาะรูตรงกลาง ขนาดของรูคล้ายจะเป็นเคล็ดลับที่ทำให้เกิดแรงดันสูง บั้งไฟใหญ่รูก็ต้องใหญ่ตามไปด้วย บั้งไฟเล็กหรือที่เรียกกันว่า บั้งไฟหมื่น สามารถเจาะด้วยคนๆ เดียวได้ คือการยกบั้งไฟเอาส่วนท้ายตั้งบนเหล็กปล้องอ้อย ฐานเครื่องจะหมุนเหล็กปล้องอ้อยไปช้าๆ เหมือนดอกสว่านที่ยาวมากๆ ออกแรงกดเบาๆ ให้เหล็กทะลุเข้าไปในดินปืนที่อัดแน่นในบั้งไฟจนเป็นรู ทำจากขนาดเล็กไปใหญ่จนกว่าจะได้ขนาดรูที่ต้องการ

ประกอบหางบั้งไฟ

ประกอบหางบั้งไฟ หางบั้งไฟประกอบด้วยชิ้นส่วนหลักๆ 2 ชิ้น คือลำไม้ไผ่ที่เป็นหางความยาวของลำไม้ไผ่ขึ้นอยู่กับขนาดของบั้งไฟ จะต้องมีความสมดุลกัน กับไม้อีกชิ้นหนึ่ง เรียกตามภาษาชาวบ้านว่าไม้ดามเลา เป็นไม้ไผ่ที่จะต้องยึดเข้ากับบั้งไฟมัดด้วยลวดให้แข็งแรง ไม้ดามเลา เป็นส่วนที่จะยึดหางบั้งไฟเข้ากับบั้งไฟอีกที เพียงเท่านี้บั้งไฟก็พร้อมที่จะนำไปจุด ในวันงานประเพณี

พันหางบั้งไฟ

พันหางบั้งไฟ สำหรับบั้งไฟขนาดใหญ่ ตั้งแต่บั้งไฟ 5 หมื่น บั้งไฟแสน และบั้งไฟล้าน กระบวนการขั้นตอนการทำบั้งไฟ เหมือนบั้งไฟหมื่น หรือบั้งไฟเล็กตามที่เล่ามา แต่ก็มีบางอย่างเพิ่มขึ้นมา เช่น หางบั้งไฟ ใช้ไม้ไผ่ลำใหญ่และยาวมาก จะต้องพันด้วยเทปสีน้ำตาล เพื่อกันน้ำหรือฝนที่อาจจะตกลงมาก่อนจะถึงวันจุด เทปนี้จะป้องกันน้ำทำให้เนื้อไม่ไผ่ไม่เปียกชื้น ไม่ขึ้นรา และป้องกันไม่ไผ่แตกได้ด้วย การพันหางบั้งไฟ จะพันหยาบ 1 รอบ มีระยะห่างของเทปประมาณ 1 นิ้ว จากนั้นจะพันถี่จนมองไม่เห็นเนื้อไม้ไผ่ ก่อนที่จะนำไปประกอบเข้ากับตัวบั้งไฟ

วัดไม้ดามเลา

วัดไม้ดามเลา บั้งไฟทุกชิ้นที่ผลิตโดยค่ายเทพพนม จะมีขั้นตอนที่ละเอียด แม้ไม้ดามเลาจะเป็นเพียงไม้สำหรับยึดระหว่างบั้งไฟกับหางบั้งไฟ แต่จะไม่มีการตัดไม้ไว้ก่อน ทุกชิ้นต้องทำการวัดกับหางและตัวบั้งไฟเสมอ

บรรจุดินปืนบั้งไฟล้าน

บรรจุดินปืนบั้งไฟล้าน บั้งไฟขนาดใหญ่ คือ บั้งไฟ 5 หมื่น บั้งไฟแสน และบั้งไฟล้าน จะบรรจุดินปืนลงไปด้วยเครื่องจักรขนาดใหญ่มาก เหมือนแท่นตอกเสาเข็ม อย่างที่บอกไปแล้ว ที่ค่ายบั้งไฟจะทำบั้งไฟเพื่อจำหน่ายให้กับคนที่นำบั้งไฟไปถวาย จากการสอบถามชาวบ้านที่มาเลือกซื้อบั้งไฟ บางคนเล่าว่า ไปบนพระธาตุที่วัดกลางอุดมเวทย์ ที่อยู่ไม่ไกลจากค่ายบั้งไฟเท่าไหร่ บนทุกปีก็สำเร็จทุกปี ถ้าบนขอลาภของโชคเป็นล้าน แล้วสำเร็จก็ถวายบั้งไฟล้าน ถ้าขอกันหลักแสน ก็ถวายบั้งไฟแสน ถวายมาเป็นปีที่ 9 ต่อเนื่องเพราะไม่มีปีไหนไม่สำเร็จตามคำขอ คนได้ยินก็มาขอบ้าง ก็สำเร็จกันไป ความต้องการบั้งไฟก็มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ค่ายบั้งไฟต้องผลิตบั้งไฟออกมาให้ได้ทันตามความต้องการ อย่างค่ายเทพพนม ต้องผลิตบั้งไฟแสนและล้าน จำนวนกว่า 200 ลำ เป็นประจำทุกปี ใช้เวลา 2 วัน ต่อ 1 ลำ จุดที่ใช้เวลามากที่สุดจุดหนึ่งคือการอัดดินปืนเข้าไปในบั้งไฟ เครื่องอัดดินปืนก็เลยมีหลายเครื่องอย่างที่เห็น ส่วนการเจาะรูบั้งไฟก็ต้องใช้คน 3 คนเป็นอย่างน้อย ในการเอาบั้งไฟขึ้นไป การใส่เหล็กปล้องอ้อยที่ทำหน้าที่ดอกสว่าน และการเจาะที่ต้องค่อยๆ หย่อนบั้งไฟลงมาช้าๆ ในขณะที่เหล็กปล้องอ้อยหมุนอยู่ข้างล่าง

ต่อหางและคว้านรูบั้งไฟ

ต่อหางและคว้านรูบั้งไฟ อีกหนึ่งขั้นตอนที่ใช้คนเยอะมาก บั้งไฟที่เจาะรูแล้วจะเอามาต่อกับส่วนหางด้วยลวดและตะปู แต่ถ้าพบว่าบั้งไฟลำไหนรูยังไม่ใหญ่พอ จะต้องคว้านด้วยมือ ใช้คนหมุนเหล็กปล้องอ้อยที่ทำหัวใหญ่ ค่อยๆ หมุนคว้านเข้าไปจนสุด แต่ละคนจะหมุนได้ไม่กี่รอบต้องผลัดให้คนอื่นหมุนต่อ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้แรงมาก

    บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน เป็นคำเปรียบเทียบขนาดของบั้งไฟ ไม่ใช่ราคาของบั้งไฟแต่ละบั้ง บั้งไฟแสนเมื่อทำเสร็จแล้ว สนนราคาจำหน่ายกันที่ 15,000 บาท ส่วนบั้งไฟหมื่นราคาหลักพัน รวมประกันภัย ประกันอุบัติเหตุ ต่างๆ ความแตกต่างของบั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน ดูไม่ยาก เพราะความยาวที่ต่างกันพอสมควร นำหนักดินปืนที่อัดเข้าไปหนักถึง 15 กิโลกรัม เพื่อที่จะสร้างแรงดันดันให้บั้งไฟพุ่งขึ้นฟ้าได้

ฐานจุดบั้งไฟพนมไพร

ฐานจุดบั้งไฟพนมไพร หลังจากที่ชมกระบวนการทำบั้งไฟที่ขึ้นชื่อของชาวพนมไพรแล้ว ก็ออกมาชมฐานจุดบั้งไฟ ที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่โล่งกว้าง มีคันดินสูงเรียกว่าบังเกอร์ สำหรับเป็นที่หลบเมื่อทำการจุดบั้งไฟให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่บริเวณฐานบั้งไฟ รอบนอกพื้นที่มีการกั้นรั้วลวดหนาม กว้างประมาณ 100x100 เมตร เป็นพื้นที่สีแดง ไม่อนุญาตให้คนมาดูบั้งไฟในเขตนี้ จึงนับว่า งานบั้งไฟมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ สำหรับงานประเพณีบุญบั้งไฟของชาวพนมไพร บั้งไฟที่เข้ามาร่วมจุดจะต้องเสียค่าธรรมเนียมฐานจุด ลำละ 500 บาท ส่วนผู้ที่ลักลอบจุดบั้งไฟนอกฐานจุดที่จัดไว้ให้ ถือว่ามีความผิด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากบั้งไฟที่ตกใส่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย เพราะฐานจุดได้คำนวณวิถีบั้งไฟเอาไว้ให้ตกลงในพื้นที่ทุกนาโล่งกว้างเท่านั้น และทำการประสานไปยังสายการบิน ให้งดเที่ยวบินในวันดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยด้วย

กองอำนวยการฐานจุดบั้งไฟ

กองอำนวยการฐานจุดบั้งไฟ จากฐานจุดบั้งไฟมีบังเกอร์คันดินห่างออกมาประมาณ 20 เมตร จากบังเกอร์ไปยังกองอำนวยการอีกประมาณเท่าตัว มีการวางท่อคอนกรีตไปแนวเอาไว้ แสดงให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมสำหรับเหตุผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนมาดูบั้งไฟจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในเขตรั้วลวดหนามที่ห่างจากกองอำนวยการออกไปอีกเยอะ

ศาลเจ้าพ่อฟ้างืม

ศาลเจ้าพ่อฟ้างืม เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือ ตั้งอยู่ใกล้ๆ กองอำนวยการ คนที่มาเก็บภาพการจุดบั้งไฟที่พนมไพร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนจะมาไหว้ศาลเพื่อเป็นสิริมงคล ขอพรให้เจ้าพ่อฟ้างืมป้องกันอันตราย และไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นในงาน

ถวายบั้งไฟพระมหาธาตุวัดกลางอุดมเวทย์

ถวายบั้งไฟพระมหาธาตุวัดกลางอุดมเวทย์ นี่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการจุดบั้งไฟ ที่สำคัญเทียบเท่ากับการจุดขอฝนตามประเพณี ชาวบ้านที่มาบนบานศาลเกล่า ที่มาขอพรใดๆ ไว้ เมื่อสำเร็จสมความปรารถนา จะนำบั้งไฟมาถวาย และบั้งไฟเหล่านี้จะทำการจุดพร้อมกันในวันงานประเพณีบุญบั้งไฟ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของอำเภอพนมไพร รวมทั้งชาวบ้านในจังหวัดใกล้เคียงที่ได้มาขอพรเอาไว้ เจ้าของบั้งไฟไปทำการเลือกบั้งไฟที่ค่ายบั้งไฟ จะนำบั้งไฟของตัวเองขนมาถวายที่พระธาตุวัดกลางอุดมเวทย์ พร้อมดอกไม้ธูปเทียน โดยมีพระสงฆ์นำกล่าวถวาย นี่คือความเชื่อและประเพณี ที่สืบทอดกันมายาวนานยากจะแยกจากชาวพนมไพรได้ เมื่อสมความปรารถนาหลักล้านก็ถวายบั้งไฟล้าน หลักแสนก็ถวายบั้งไฟแสน หลักหมื่นก็ถวายบั้งไฟหมื่น ความศรัทธาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือและได้สำเร็จสำความตั้งใจก็ไปหาบั้งไฟมาถวายจนในปี 2558 มีคนถวายบั้งไฟหมื่นนับไม่ถ้วน บั้งไฟแสน กว่า 700 ลำ และบั้งไฟล้านกว่า 200 ลำ และยังคงมากขึ้นทุกปี

เครื่องสักการะถวายบั้งไฟ

เครื่องสักการะถวายบั้งไฟ สำหรับความเป็นมาเรื่องราวของการจุดบั้งไฟที่หลายๆ คนยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ เราได้ลงพื้นที่เข้าไปเสาะแสวงหาข้อมูลมาให้พอสมควร และหวังว่า คนภายนอกจะเข้าใจประเพณีการจุดบั้งไฟของชาวพนมไพรกันมากขึ้น ส่วนเรื่องการเล่นการพนันที่ฐานจุดบั้งไฟพนมไพร งดการประกวดบั้งไฟ งดการแข่งขัน การจับเวลาของบั้งไฟ เพื่อป้องกันนักพนันมาเล่นพนันกับบั้งไฟที่เกิดจากความศรัทธาของชาวบ้าน รวมทั้งเข้มงวดกวดขันจับกุมนักพนันที่เข้ามาเล่นพนันอย่างจริงจัง และหวังว่าในอนาคต จะเป็นประเพณีที่สวยงามสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานกันต่อไป

ท้ายนี้ ขอขอบคุณ คุณสมฤดี ชาญชัย ผู้อำนวยการภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายนพรัตน์ กอกหวาน ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานขอนแก่น มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ย้อนรอยบั้งไฟล้านค่ายเทพพนม ร้อยเอ็ด
โรงแรมอาร์พี ซิตี้ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเจพี เอมเมอรัลด์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  22.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
ซิกแซก รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.75 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมไอยรา สปา รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  33.72 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Green Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  60.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
THE CHIC 101 HOTEL เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  65.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 21 ห้องนอน 21 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 3200 ตร.ม. – เสลภูมิ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  69.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านดี รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  85.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมระเมียรดาวบูติคเพลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  90.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมฝ้ายขิด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  92.93 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com