www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สมุทรสงคราม >> วัดเขายี่สาร

วัดเขายี่สาร

 เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สิ่งที่น่าสนใจได้แก่ พระวิหาร บนยอดเขามีลักษณะเป็นรูปเรือ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยซึ่งเป็นองค์ประธานของวัด พระมณฑปและบานประตูสลักไม้ศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายนับเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง พระอุโบสถบูรณะใหม่ประดิษฐ์ลวดลายปูนปั้นด้วยฝีมือช่างเมืองเพชร ภายในมีภาพจิตรกรรมฝีมือเดิม บานหน้าต่างเป็นรูปบุคคลในพงศาวดารจีน ถ้ำพระนอนประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ซึ่งมีนิ้วพระบาทเก้านิ้ว นอกจากนี้ด้างล่างยังมีศาลประดิษฐานหลวงพ่อปู่ศรีราชามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทั่วไป มีงานนมัสการหลวงพ่อปู่กลางเดือนอ้ายของทุกปี

 พิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเขายี่สาร โดยใช้อาคารศาลาการเปรียญของวัดเป็นพิพิธภัณฑ์ เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2539 ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวชุมชนยี่สารที่มีความสำนึกในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่น ชุมชนยี่สารเป็นชุมชนโบราณร่วมสมัยกับการเกิดกรุงศรีอยุธยา มีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง เรื่องราวเหล่านี้เป็นจนข้อมูลสำคัญที่น่าศึกษา หาค้นคว้าได้จากพิพิธภัณฑ์บ้านเขายี่สาร อาคารชั้นล่างจัดแสดงภูมิปัญญาบ้านเขายี่สาร ชีวิตวัฒนธรรมของผู้คน เครื่องมือผลิตยาสมุนไพร เครื่องใช้ไม้สอยของชาวบ้านในชุมชน ชั้นบนจัดแสดงภาชนะ เครื่องมือเครื่องใช้ของชาวชุมชนเขายี่สาร เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เวลา 09.00 – 15.00 น. ปิดวันเสาร์-อาทิตย์ในช่วงเข้าพรรษาที่ตรงกับวันธรรมสวนะ ส่วนวันจันทร์-ศุกร์เปิดให้เข้าชมเมื่อมีการติดต่อขอเข้าชมล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ ถ้าเข้าชมเป็นกลุ่ม (ไม่เกิน 20 คน) ค่าเข้าชม 200 บาท มีมัคคุเทศก์บริการนำเที่ยว

 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณสิริอาภา รัชตะหิรัญ โทร. 0 2433 1547, 08 1859 3195 องค์การบริหารส่วนตำบลเขายี่สาร โทร. 0 3476 3108 โทรสาร 0 2433 1547

การเดินทาง ไปตามถนนพระราม 2 ประมาณกิโลเมตรที่ 72 จะเห็นปั๊มน้ำมัน ปตท. ซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายตามป้ายบอกทางเข้าวัดเขายี่สาร ตรงเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานสมุทรสงคราม โทร. 0 3475 2847-8
http://www.tourismthailand.org/samutsongkhram

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 40718

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ทางเดินขึ้นเขายี่สาร

ทางเดินขึ้นเขายี่สาร นับตั้งแต่การทำเว็บทัวร์ออนไทยสมัยแรกๆ ผมได้มีโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเขายี่สาร และพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนที่มีพระบาท 9 นิ้ว ประมาณปี 2005 หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ไปอีกหลายครั้ง แต่ยังไม่มีโอกาสได้นำภาพใหม่ๆ มาอัพเดตให้ชมกันจนกระทั่งวันนี้ ในที่สุดเราก็ได้เอาภาพใหม่ๆ มาให้ชมกันซะที

พอเราเดินทางมาถึงวัดเขายี่สาร จะมีลานจอดรถอยู่ตีนเขา เขาลูกนี้เป็นเขาเพียงลูกเดียวในจังหวัดสมุทรสงครามและมีความสูงไม่มาก มีทางขึ้นลงวัดได้จริงๆ 3 ทาง คือทางถ้ำพระพุทธไสยาสน์ ทางขึ้นตรงถึงวิหาร และเดินขึ้นไปตามกุฎิพระ ซึ่งทางที่ 3 คงไม่ค่อยมีคนใช้เท่าไหร่ เรามาที่นี่หลายครั้งบางครั้งเราก็ขึ้นทางแรก บางทีก็ขึ้นทางที่สอง เหนื่อยไม่ต่างกัน บันไดทางเดินขึ้นวิหารมีซุ้มประตู ก่อนจะเดินขึ้นไปมีทางแยกออกไปกุฎิพระ กุฎิหลังแรกจะมีบ่อเลี้ยงเต่าอยู่ใต้ถุน ในบ่อมีรูปปั้นศาลเจ้าที่เก่าๆ โอ่งแตกก็มีแช่อยู่ในบ่อดูแปลกดี

ระหว่างทางเดินขึ้นบันไดก็จะมีเจดีย์เก่าๆ มากมาย บ้างก็ถล่มลงเนื่องจากการทรุดตัวของดิน เหลืออยู่ไม่มาก

ศาลาธรรม

ศาลาธรรม เป็นศาลาเก่ามากของวัดเขายี่สาร พอพ้นขั้นบันไดขึ้นมาเราจะเห็นศาลาหลังนี้อยู่กว้างลานกว้าง ด้านซ้ายเป็นหอระฆังที่สร้างขึ้นมาใหม่ไม่นาน ลานกว้างจะมีแนวก่ออิฐ 2 แนว ว่ากันว่าน่าจะเป็นแนวอิฐที่ก่อขึ้นสำหรับวางของใส่บาตร หรือการทำพิธีทางศาสนาแต่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด

วิหารพระพุทธบาท 4 รอย

วิหารพระพุทธบาท 4 รอย อีกด้านของศาลาเป็นเจดีย์เก่าๆ อยู่คู่กัน แล้วก็เป็นวิหารอยู่ถัดไป วิหารหลังนี้ได้รับการบูรณะมาอย่างต่อเนื่องจึงดูใหม่กว่าเสนาสนะอื่น

วัดเขายี่สาร

ด้านหน้าวิหารมีประตู 2 ช่อง ซ้ายกับขวา ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางห้ามญาติ หรือห้ามสมุทร

พระพุทธบาท 4 รอย

พระพุทธบาท 4 รอย เข้ามาในวิหาร สิ่งแรกที่เราจะเห็นคือรอยพระพุทธบาทที่อยู่กลางวิหาร ทางวัดสร้างขอบปูนเอาไว้สูงพอสมควร ด้านหนึ่งจะมีถ้วยเล็กๆ คว่ำไว้ มีป้ายเขียนว่าเป็นจุดที่สมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปิดทองรอยพระพุทธบาทวัดเขายี่สารเอาไว้ ทางวัดนำถ้วยมาครอบพร้อมเขียนป้ายเพื่อป้องกันชาวบ้านมาปิดทองทับ

วัดเขายี่สาร

หลังคาครอบรอยพระพุทธบาทสี่รอย เป็นหลังคาที่สร้างมานาน หน้าบันแกะสลักลวดลายสวยงาม มีช่อฟ้าเล็กๆ ด้วย ก่อนจะสร้างวิหารคลุมทั้งหมดอีกที

พระพุทธรูปปากแดง

พระพุทธรูปปากแดง พระพุทธรูปเก่าแก่ ประดิษฐานในวิหาร อยู่ด้านหลังพระพุทธบาทสี่รอย ชาวบ้านศรัทธามาก ปากพระพุทธรูปมีสีแดงอ่อนๆ แต่ก่อนสีแดงเข้มกว่านี้แล้วค่อยๆ จางลงตามกาลเวลา ไม่มีใครรู้ว่าทำไมช่างปั้นพระพุทธรูปจึงลงสีแดงที่ปาก มีเรื่องเล่าขานกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้กินเด็ก เด็กๆ ที่ขึ้นมาเล่นบนเขายี่สารตอนเย็นๆ ค่ำๆ จะหายไป เป็นเรื่องที่สร้างขึ้นมาหลอกให้เด็กๆ กลัวไม่กล้ามาเล่นบนเขาตอนเย็นๆ เพราะเด็กๆ ชอบวิ่งเล่นหรือเล่นซ่อนหา ชาวบ้านเกรงว่าจะเป็นอันตราย พลัดตกบันได หรืองูกัด เพราะสมัยนั้นงูบนเขายี่สารมีชุกชุมมาก

วัดเขายี่สารเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา มีเจ้าอาวาสปกครองมาหลายรุ่น มีอยู่รูปหนึ่งชื่อหลวงพ่อร้าย ตามประวัติหลวงพ่อร้ายกล่าวว่าเกิดในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ เกิดราวปี พ.ศ. ๒๓๘o โดยสันนิษฐานจากบันทึกของวัดเขายี่สารว่า คลองหน้าวัดได้ขุดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ในปลายรัชกาลที่ ๔ โดยท่านร้าย เจ้าอาวาส ร่วมกับราษฎรท้องถิ่น คาดคะเนอายุของหลวงพ่อร้ายในขณะขุดคลองนั้นน่าจะมีช่วงวัยประมาณ ๓o ปี และมรณภาพเมื่อ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ขณะมีอายุได้ ๗o ปี

น่าเสียดายว่าประวัติของท่านไม่มีใครจดบันทึกไว้เป็นเรื่องเป็นราว ล้วนแล้วแต่แกะรอยค้นหาอย่างละนิดละหน่อย มาปะติดปะต่อกัน แม้แต่ชื่อของท่าน “ร้าย” น่าจะเพื้ยนมาจาก “ไล้” แล้วยังสันนิษฐานกันต่อว่า ท่านอาจจะมีเชื้อสายจีน หรือแม้กระทั่งเชื้อสายมอญ เหตุเพราะขณะนั้นมีครัวพญามอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารกันมาก นามของบิดาและมารดาก็หาทราบไม่ หลวงพ่อร้ายเกิดที่หมู่บ้านยี่สารตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จะอุปสมบทเมื่อใด มีใครเป็นพระอุปัชฌาย์ ไม่มีหลักฐานบ่งบอกถึง

หลวงพ่อร้าย วัดเขายี่สาร ได้ชื่อว่า “วาจาสิทธิ์” บนเขายี่สารอันเป็นสถานที่ตั้งวัด สมัยก่อนมีงูเห่าชุกชุมเป็นอย่างมาก ผู้คนที่มาทำบุญมักถูกงูเห่ากัดกันอยู่บ่อยๆ เมื่อโดนกัดก็พาไปหาหลวงพ่อร้ายให้ท่านฝนยาให้กิน และพอกแผล ซึ่งรอดชีวิตจากพิษงู ครั้นเมื่อหลวงพ่อร้ายถามว่าไปถูกงูกัดทีไหน คนถูกงูกัดก็บอกบนเขายี่สารนี่เอง ท่านก็ตอบกลับ “งูเห่าบนเขายี่สารนี่มันกัดคนไม่ตายหรอก” แต่นั้นมางูเห่าบนเขายี่สารก็ไม่มีพิษสงอีกบางตัวถูกคนเหยียบตายไปก็มี

บานประตูวิหาร

บานประตูวิหาร ที่น่าแปลกของการสร้างวัดในสมัยนั้นคือลวดลายแกะสลักบานประตูไม้ ที่ 2 ด้านเป็นคนละลายกัน ด้านหนึ่งเป็นลายสาน อีกด้านเป็นลายก้านขด แต่ก็เป็นฝีมือการแกะสลักที่สวยงามปราณีตทั้งคู่

วัดเขายี่สาร

จากวิหารเราเดินลงบันไดข้างมีทางเดินต่อไปด้านหลังเป็นเส้นทางไปอุโบสถของวัด ระหว่างทางจะมีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ว่ากันว่าต้นไม้ต้นนี้ประหลาด ถ้าเอาหูไปแนบจะได้ยินเหมือนเสียงน้ำไหลอยู่ข้างใน แต่อันนี้ต้องลองพิสูจน์กันด้วยตัวเอง

อุโบสถวัดเขายี่สาร

อุโบสถวัดเขายี่สาร เป็นโบสถ์เก่าตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นฝีมือช่างเพชรบุรี ซึ่งชื่อว่าเป็นช่างปูนปั้นที่สวยงามที่สุดของไทย โบสถ์ล้อมด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตู 2 ด้าน คือด้านหน้าและด้านข้าง ประตูด้านข้างเชื่อมกับบันไดเดินลงไปที่ลานจอดรถได้ และเป็นทางไปถ้ำพระพุทธไสยาสน์ พระบาท 9 นิ้วด้วย

พระประธานในอุโบสถ

พระประธานในอุโบสถ

บานประตูอุโบสถ

บานประตูอุโบสถ เป็นบานประตูที่แตกต่างกับประตูวิหาร คือใช้ภาพจิตรกรรมอยู่ด้านใน เป็นพงศาวดารจีน ส่วนด้านนอกเป็นลายรดน้ำปิดทอง วรรณคดีไทย สวยงามมาก

วัดเขายี่สาร

รอบๆ อุโบสถวัดเขายี่สาร จุดเด่นได้แก่ เสมาคู่บนฐานตกแต่งด้วยงานปูนปั้นเพชรบุรี รวมไปถึงรอบซุ้มประตู หน้าต่าง ก็มีลวดลายที่สวยงาม สำหรับเสมาคู่ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงพระมหากษัตริย์เป็นองค์อุปถัมภ์วัด แต่หลักฐานไม่ได้กล่าวว่าเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใด

พระพุทธไสยาสน์ พระบาท 9 นิ้ว

พระพุทธไสยาสน์ พระบาท 9 นิ้ว พอลงมาจากโบสถ์ ใช้บันไดด้านข้างคนละด้านกับที่เราขึ้นไปตอนแรก ระหว่างทางเดินตามบันไดลงมาจะมีถ้ำเล็กๆ อยู่ถ้ำหนึ่ง ในถ้ำจะมีพระนอนให้แวะเข้าไปสักการะ พระนอนองค์นี้พิเศษที่มีนิ้วพระบาท 9 นิ้ว ว่ากันว่าอีกนิ้วหนึ่งไปฝากไว้ที่พระพุทธรูปวัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี ชาวบ้านบางคนเล่าว่าตอนช่างสร้างพระนอนองค์นี้ช่างทำนิ้วพระบาท 9 นิ้ว พอช่างคนเดียวกันไปสร้างพระที่วัดใหญ่สุวรรณาราม ก็เลยสร้างเพิ่มให้เกินมาเป็น 11 นิ้ว แต่เหตุผลที่แท้จริงเป็นยังไงนั้นยากที่จะรู้ได้

นิ้วพระบาท 9 นิ้ว

นิ้วพระบาท 9 นิ้ว ทุกวันนี้พระทั้งสององค์ คือพระวัดเขายี่สาร และวัดใหญ่สุวรรณาราม ก็มีนิ้วพระบาท 9 นิ้ว และ 11 นิ้ว อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ศาลหลวงพ่อปู่เขายี่สาร

ศาลหลวงพ่อปู่เขายี่สาร พอลงมาถึงลานจอดรถ จะเห็นศาลาหลังหนึ่งเห็นตั้งแต่ตอนเข้ามาในเขตวัด ศาลหลวงพ่อปู่เขายี่สาร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านเคารพศรัทธา ตามตำนานเล่าขานว่า คุณปู่เขายี่สารคือพี่น้องชาวจีนที่นั่งสำเภามาชนเขายี่สาร เรือแตกจมลง จึงได้ขึ้นมาอาศัยอยู่บนเขายี่สาร คนหนึ่งชื่อปูศรีราชา อีกคนหนึ่งชื่อปู่หนุมาน ชาวบ้านนับถือว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านเขายี่สาร จึงสร้างศาลเอาไว้ 2 แห่ง แห่งหนึ่งอยู่หน้าวัดเป็นของปู่ศรีราชา อีกแห่งห่างออกไป 1 กิโลเมตร ทางปากคลองบ้านใน สมัยนั้นตั้งศาลโดยใช้ไม้เจว็ดมาตั้งแล้วปิดทอง ต่อมีกระทำพิธีบวชคุณปู่เป็นพระ จึงได้ประดิษฐานพระพุทธรูปดังที่เห็นแต่ไม้เจว็ดปิดทองก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะทำพิธีกรรมใดๆ หรือมีเรื่องทุกข์ไข้ได้ป่วย ชาวบ้านละแวกนี้จะมาขอพร บอกกล่าวพ่อปู่เขายี่สารเสมอ มีงานสมโภชปิดทองคุณปู่ทุกวันขึ้น 14-15 ค่ำเดือนอ้าย และงานเวียนเทียนเซ่นไหว้ในวันสุดท้ายของวันสงกรานต์ เป็นประจำ ชาวบ้านจะเรียกพ่อปู่เขายี่สาร หมายถึง ปู่ศรีราชา และปู่หนุมาน โดยไม่แยกจากกัน

รูปพ่อปู่เขายี่สาร

รูปพ่อปู่เขายี่สาร ครั้งหนึ่งมีคนฝันเห็นพ่อปู่เขายี่สาร จึงได้ให้ช่างมาวาดภาพนำมาติดในศาล

วัดเขายี่สาร

พระพุทธรูปและไม้เจว็ดแทนพ่อปู่เขายี่สาร

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดเขายี่สาร สมุทรสงคราม
บ้านไม้ชายเลน รีสอร์ท สมุทรสงคราม
  8.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนไทยอัมพวารีสอร์ท
  9.67 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนสบาย เพลินพรรณไม้ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.69 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านครูต้อยโฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
Sampaongern Home Stay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  10.14 km | แผนที่ | เส้นทาง
สตูดิโอ 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 25 ตร.ม. – ปากท่อ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนอัมพวันรีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
กาลา คาแนล รีสอร์ท อัมพวา
  17.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวนลีลาวดี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านเจ้านายเรือนอิศเรศ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.96 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com