www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ลำปาง >> วัดม่อนพญาแช่

วัดม่อนพญาแช่

 วัดม่อนพญาแช่ หรือพระยาแช่ ตั้งอยู่ที่ตำบลพิชัย บนเส้นทางสายลำปาง-งาว ห่างจากตัวเมือง 5 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 และเลี้ยวขวาตรงหลักกิโลเมตรที่ 605 เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นปูชนียสถานเก่าแก่ของจังหวัดลำปาง แต่เดิมไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่ประจำ วัดนี้อยู่ในความอุปถัมป์ดูแลของท่าเจ้าคุณพระธรรมจินดา นายกวัดป่าตัวะ จนถึงปี พ.ศ. 2479 ท่านได้ชราภาพลง จึงได้มอบธุระให้ท่านเจ้าคุณพระอินทวิชยาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดลำปาง วัดคะตึกเชียงมั่นเป็นองค์อุปถัมป์ และเป็นประธานในการพัฒนา ภาระในหน้าที่ของอาจารย์ท่านมีมาก ท่าเจ้าคณะพระอินทวิชยาจารย์จึงได้แต่งตั้ง พระครูประโชติ คณารักษ์ เป็นเจ้าอาวาสวัดม่อนพระยาแช่ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2522

 พระครุประโชติ คณารักษ์ ได้ทำการพัฒนาตามที่ท่านได้ไปเห็นมาแล้ว กรมชลประทาน (ลำปาง) ได้สร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ และในปี พ.ศ. 2524 ดร. ชูวงศ์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดและสมาชิกสภาจังหวัดได้จัดสรรเงินงบประมาณสร้างถนนลาดยางตลอดสาย ระยะทาง 5 กิโลเมตร วัดแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ ทรงเสด็จนมัสการ พระธาตุม่อนพระยาแช่ ณ วัดม่อนพระยาแช่ ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2515 นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระเจดีย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้นมัสการ บริเวณโดยรอบมีบรรยากาศสงบร่มรื่นแบบธรรมชาติ เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ มีพระเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขาที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดลำปางได้อย่างชัดเจน ทางวัดได้พัฒนาเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและร่วมกับสำนักงานป่าไม้เขตลำปางจัดให้เป็น วนอุทยานม่อนพญาแช่ อยู่ก่อนถึงวัดม่อนพญาแช่ 1 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งที่ทำการวนอุทยานฯ เป็นจุดชมวิว และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางอุทยานได้จัดให้มี เส้นทางศึกษาธรรมชาติ บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้จัดเฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ระยะทาง 1 กิโลเมตร จะพบเฟิร์นชนิดต่าง ๆ และสามารถพักแรมได้ แต่ต้องไปเป็นหมู่คณะ โดยติดต่อล่วงหน้าที่ โทร. 0 5422 6828

ข้อมูลเพิ่มเติม:การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานลำปาง โทร. 054-222-214
https://www.facebook.com/lampang.tourism/

แก้ไขล่าสุด 2017-07-25 21:44:27 ผู้ชม 19229

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ซุ้มประตูวัดม่อนพระยาแช่

ซุ้มประตูวัดม่อนพระยาแช่ เส้นทางสู่วัดม่อนพระยาแช่ เข้าได้หลายเส้นทาง จากตัวเมืองลำปางมุ่งหน้าไปทางเหนือตามถนนพหลโยธิน มีป้ายชี้เข้าวัดนี้หลายจุด เส้นทางหนึ่งที่ค่อนข้างสะดวกก็คือข้างสนามกอล์ฟเขลางค์นคร ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ด้วยถนนลาดยางเรียบร้อย แทบไม่มีบ้านคนอยู่ในละแวกนี้เลย

ภายในวัดม่อนพระยาแช่

ภายในวัดม่อนพระยาแช่ ระหว่างเดินทางมาที่วัด จะผ่านวนอุทยานม่อนพระยาแช่ เป็นสวนป่าขนาดใหญ่บรรยากาศร่มรื่น เรื่องบ้านคนก็ยังคงไม่ค่อยมีให้เห็นตลอดทาง สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือหมาจรจัดจำนวนมาก คาดว่าจะถูกนำมาปล่อยแล้วก็ออกลูกออกหลานมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วนอุทยาน มาจนถึงวัด หมาแมวเหล่านี้แทบจะหาอาหารไม่ได้เลย เพราะบ้านเรือนคนมีน้อย มันก็จะเข้ามาหาเศษอาหารในวัด สร้างความเดือดร้อนให้กับพระภิกษุสามเณร จนทางวัดต้องติดป้ายว่า หมาแมววัดมีเยอะแล้วไม่ต้องนำมาถวายอีก เป็นที่น่าสังเวชใจ ขับรถมาตามทางนี้ต้องระวังลูกหมาให้มากๆ เพราะมีวัยกำลังซนอยู่ด้วย

พระพุทธชินราช

พระพุทธชินราช

พระพุทธคันธราราช

พระพุทธคันธราราช เป็นพระพุทธรูปปางขอฝน เป็นนิมิตหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร ประดิษฐานอยู่ข้างวิหารพระพุทธชินราช ถัดไปเป็นศาลพระโพธิสัตว์กวนอิม และศาลาเอนกประสงค์

ทางเดินขึ้นพระธาตุม่อนพระยาแช่

ทางเดินขึ้นพระธาตุม่อนพระยาแช่ การมาที่วัดม่อนพระยาแช่ สิ่งแรกที่ต้องนึกถึงคือการเดินขึ้นไปนมัสการพระธาตุบนยอดเขา ก่อนที่จะเดินขึ้นมาให้เดินไปที่ศาลาเอนกประสงค์หลังเล็กๆ หยิบน้ำไปด้วยสักขวดเผื่อว่าระหว่างทางจะเกิดหิวน้ำขึ้นมา ส่วนค่าน้ำก็ทำบุญตามศรัทธา

บันไดวัดม่อนพระยาแช่

บันไดวัดม่อนพระยาแช่ ทางเดินขึ้นนมัสการองค์พระธาตุ เป็นบันได 3 ช่วง ช่วงแรกเป็นบันไดนาค จำนวน 182 ขั้น ช่วงที่สองเป็นบันได 64 ขั้น มีศาลาพักร้อน มีทางเดินแยกออกไปเดินศึกษาธรรมชาติรอบอ่างเก็บน้ำ

ศาลาพักร้อน

ศาลาพักร้อน

บันไดช่วงที่ 3

บันไดช่วงที่ 3 เป็นช่วงที่ยาวที่สุดมีบันได 339 ขั้น รวมทั้งหมด 585 ขั้น ปกคลุมด้วยต้นไม้เป็นระยะๆ พอได้หลบร้อน

วัดม่อนพญาแช่

สุดปลายบันได เราจะมายืนอยู่เบื้องหน้าพระธาตุม่อนพระยาแช่ ด้านขวามือมีวิหารหลวงแต่ระยะหลังไม่ได้เปิดให้เข้าสักการะองค์พระประทาน คงมีเพียงพระธาตุเจดีย์สีขาวเด่นตระหง่าน รอบล้อมไปด้วยต้นไม้ มีลมพัดเย็นสบาย มีมุมให้เราเดินไปชมวิวเบื้องล่างได้บ้าง

ตำนานม่อนพระยาแช่

ตำนานม่อนพระยาแช่ หลักฐานจากจารึกใบลานเกี่ยวกับพระธาตุม่อนพระยาแช่และวัดมีดังนี้

ในกาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเทศนาสั่งสอนสัตว์โลก ลุมาถึง กุกกุตตะนครในเมืองเวียงดิน พร้อมด้วยพระฤๅษี 5 องค์ ได้ติดตามอุปฐากพระองค์มาแต่ลังกาทวีป พระองค์ทรงฉันภัตตาหาร ณ ที่นั้น เมื่อทรงฉันแล้ว ก็ทรงบ้วนพระโอษฐ์ พระฤๅษีทั้ง 5 ได้เอาภาชนะแก้วผลึกมารองรับ ในทันใดนั้นเอง น้ำบ้วนพระโอษฐ์ ก็เกิดกระด้างกลายเป็นพระธาตุแข็งขึ้นมา พระฤๅษีทั้ง 5 เห็นดังนั้น ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่งนัก เกิดความเลื่อมใสและมีความปีติยิ่ง ทูลถามพระพุทธองค์ว่า

"ภันเต ภควา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ภาชนะแก้วผลึกที่เต็มไปด้วยพระธาตุนี้ จะให้พวกข้าพระองค์นำไปประดิษฐาน ณ ที่ตรงไหน จึงสมควร"

พระพุทธองค์จึงทรงพิจารณาส่องญาณ เล็งเห็นว่าต่อไปข้างหน้าสถานที่นี้จะเป็นบ้านเมืองมีผู้คนมากมาย พระพุทธองค์ทรงใคร่ครวญ ที่จะให้เป็นประโยชน์และเป็นที่พึงแก่คนทั้งปวง จึงตรัสแก่พระฤๅษีทั้ง 5 ว่า ทางทิศตะวันออกของตัวเมืองนี้มีภูเขาอยู่ลูกหนึ่งชื่อว่าเขลางค์บรรพต สมควรที่ท่านทั้งหลายจะเอาพระธาตุนี้ไปบรรจุไว้ ณ ที่นั่น ครั้นแล้วพระองค์ทรงอธิษฐานถอดเอาพระนขา (เล็บ) และพระเกศา (ผม) ให้แก่พระฤๅษีทั้ง 5 เพื่อเอาไปบรรจุไว้ด้วยกัน และเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้คนซึ่งมีความเลื่อมใส ได้สักการะบูชาต่อไป เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเช่นนั้นแล้ว พระฤๅษีทั้ง 5 พร้อมด้วยพระอินทร์ ก็รับเอาพระธาตุจากพระหัตถ์พระพุทธองค์แล้วก็ทูลลา มุ่งหน้าไปสู่เขลางค์บรรพต ม่อนพระยาแช่ ส่วนพระฤๅษีทั้ง 5 ก็ผลัดเปลี่ยนกันอุปฐากรักษาพระเจดีย์ในที่ต่างๆ ดังนี้

ฤๅษีองค์ที่ 1 รักษายังต้นศรีมหาโพธิ์ วัดศรีล้อม
ฤๅษีองค์ที่ 2 ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า วัดม่อนคีรีชัย
ฤๅษีองค์ที่ 3 ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า วัดพระธาตุดอยแล
ฤๅษีองค์ที่ 4 ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า วัดพระธาตุดอยสุเทพ
ฤๅษีองค์ที่ 5 ให้รักษายังพระมหาชินะธาตุเจ้า ดอยยัสสะกิตติ (เขลาค์บรรพต วัดม่อนพระยาแช่)

ฤๅษีองค์ที่ 5 ผู้เป็นน้องสุดท้อง เป็นผู้มีวิชา ปัญญาเฉลียวฉลาดยี่งนัก มีความสามารถทำทองได้ และรู้วิธีผสมยาสามารถชุบคนแก่ให้กลายเป็นคนหนุ่มได้

ที่มาของชื่อม่อนพระยาแช่
ในขณะนั้น ยังมีพระยาลัวะคนหนึ่งซึ่งพระยาวุฑโฒ มีอายุได้ 100 ปี อยู่ขุนแม่ระมิงค์เชียงใหม่ได้ทราบข่าวจากพรานป่าว่า พระฤๅษีน้องสุดท้องมีความสามารถชุบคนแก่ให้กลายเป็นคนหนุ่มได้ พระยาวุฑโฒก็มีใจอยากจะเป็นหนุ่ม จึงสั่งให้เตรียมไพร่พลโยธาและให้พรานป่าเป็นผู้นำทาง ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งเดือนจึงเดินทางมาถึงวัดม่อนพระยาแช่ พอมาถึงพระฤๅษีจึงถามว่า "พระองค์เสด็จมาที่นี้ด้วยมีธุระประสงค์สิ่งใด" พระวุฑโฒตอบว่า "ข้าพเจ้าทราบว่าท่านสามารถชุบคนแก่ให้กลายเป็นหนุ่มได้" วันรุ่งขึ้นพระฤๅษีก็จัดแจงผสมยาขนานต่างๆ รวมได้ 4 ขนาน ใส่หม้อดินต้มทิ้งไว้ให้เย็น แล้วพระฤๅษีจึงบอกให้พระยาวุฑโฒลงไปนอนในอ่างยา พระยาวุฑโฒเห็นดังนั้นก็เกิดความกลัวไม่ยอมลง ขอให้พระฤๅษีทดลองให้ดูก่อน ก่อนจะลงท่านพระฤๅษีก็ได้อธิบายให้พระยาวุฑโฒให้รู้จักวิธีผสมยาจนเป็นที่เข้าใจ โดยให้ใส่ยาเป็นระยะดังนี้

ระยะที่ 1 พอนอนลงไปในอ่างยาแล้วเนื้อตัวจะสลายละลายไปแล้วให้เอายาขนานที่ 1 ใส่ลงไป เนื้อตัวจะกลายเป็นน้ำขุ่นข้นขึ้นมาเหมือนกับข้าวยาคู
ระยะที่ 2 ให้เอายาขนานที่ 2 ใส่ลงไปก็จะเป็นตัวไหวดิ้นขึ้นมาได้
ระยะที่ 3 ให้เอายาขนานที่ 3 ใส่ลงไป พอใส่ยาแล้วจะมีชีวิตชีวาขึ้นมาได้อย่างเก่า
ระยะที่ 4 ให้เอายาขนานที่ 4 ใส่ลงไป พอใส่ยาแล้วจะรู้จักพูดจาได้และกลับกลายเป็นหนุ่มขึ้นมาเลย

พระฤๅษีได้อธิบายให้พระยาวุฑโฒถึง 2-3 ครั้งจนเข้าใจแล้ว พระฤๅษีก็ลงนอนในอ่างยาแล้วสลายกลายเป็นน้ำไป พระยาวุฑโฒก็เอายาขนานที่ 1 ใส่ลงไป น้ำก็ขุ่นข้นเหมือนข้าวยาคู แล้วก็เอายาขนานที่ 2 ใส่ลงไป พระฤๅษีก็ไหวตัวดิ้นเป็นเกลียวเหมือนงูเกี้ยวกัน ชูคอขึ้นมาเหมือนงูเห่า พระยาวุฑโฒเห็นดังนั้นก็ตกใจกลัวตัวสั่นเกิดความประหม่า เลยหยิบเอายาผิดหยิบยาขนานที่ 4 ใส่ลงไป เนื้อตัวพระฤๅษีก็เกิดกระด้างไปเลย ไม่ไหวติงกาย พระยาวุฑโฒก็เอายาขนานที่ 3 ใส่ลงไปอีก พระฤๅษีก็แน่นิ่งไปไม่ไหวติงกายแต่ประการใด เป็นอันว่าพระฤๅษีสิ้นใจตายอยู่ ณ ที่นั้น พระยาวุฑโฒก็เสียใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกลับไปถึงบ้านแล้วก็เกิดโรคาพาธมีอาการกระวนกระวาย จิตใจก็ระลึกถึงแต่เหตุการณ์ที่ได้กระทำมานั้น จิตใจคิดอยากกลับมายังที่อยู่ของฤๅษีตลอดเวลา ในที่สุดก็เดินทางกลับมายังดอยยัสสะกิตติ (เขลางค์บรรพต) เมื่อมาถึงล้วก็ให้คนตักน้ำใส่อ่างยา แล้วตนเองก็นอนเช่ ก็รู้สึกว่าสบาย พอลุกขึ้นมาจากอ่างยา ก็ร้อนกระสับกระส่าย ทำอยู่อย่างนี้หลายครั้งจนทนไม่ไหว ก็บอกเสนาว่า เราเห็นจะมีชีวิตอยู่ไม่รอดแล้ว เวลาเราตายไปแล้วขอให้เอาศพไปเผาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ครั้งสั่งเสร็จแล้วก็สิ้นใจตาย สถานที่ที่พระวุฑโฒนอนแช่ตายอยู่นั้น จึงเรียกว่า "ม่อนพระยาแช่" มาจนถึงทุกวันนี้

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดม่อนพญาแช่ ลำปาง
Gemtree Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  6.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
ณ บ้านแม่ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านบล้านนา เซอร์วิซ อพาร์ตเมนต์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรม สิริ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
เอ็มเอส หลุยส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเดอะ โคโคนัท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
YA NA HOME เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
Regent Lodge Lampang เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
SULADA HOME เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.21 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมลคอร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.50 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com