www.touronthai.com

หน้าหลัก >> แพร่ >> วัดจอมสวรรค์

วัดจอมสวรรค์

 วัดจอมสวรรค์ ตั้งอยู่บนถนนยันตรกิจโกศล ตำบลทุ่งกวาว ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร เป็นวัดไทยใหญ่ สร้างแบบสถาปัตยกรรมพม่า หลังคาซ้อนลดหลั่นเป็นชั้นประดับประดาลวดลายฉลุ อารามเป็นไม้สัก ใช้เป็นทั้งโบสถ์ วิหาร และกุฏิ ภายในอารามแสดงให้เห็นฝีมือการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง เพดาน และเสาฉลุไม้ประดับกระจกสีงดงาม โบราณวัตถุภายในวัด ได้แก่ หลวงพ่อสาน เป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นองค์ลงรักปิดทอง พระพุทธรูปงาช้าง ซึ่งเป็นศิลปะแบบพม่า คัมภีร์งาช้าง หรือคัมภีร์ปาติโมกข์ โดยนำงาช้างมาบดแล้วอัดเป็นแผ่นบาง ๆ เขียนลงรักแดง จารึกเป็นอักษรพม่า และยังมี บุษบก ลวดลายวิจิตรงดงามประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน วัดจอมสวรรค์นี้สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2437 โดยชาวเงี้ยว ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในพม่า และเดินทางมาค้าขายที่เมืองแพร่ เมื่อเกิดเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ วัดจึงถูกปล่อยให้ทรุดโทรม ต่อมาได้รับการบูรณะจากชาวไทยใหญ่

ข้อมูลเพิ่มเติม:ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 5567 1466
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 13306

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วัดจอมสวรรค์

เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองแพร่ ที่อยู่ไกลออกไปจากกลุ่มสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ของการเริ่มต้นเดินทางเที่ยวเมืองแพร่ ถ้ามองในแผนที่ดีๆ จะเห็นกลุ่มสถานที่สำคัญๆ ที่นักท่องเที่ยวน่าจะได้เข้าไปชม ไม่ว่าจะเป็นคุ้มเจ้าหลวง บ้านวงศ์บุรี บ้านประทับใจ วัดหลวง วัดพระนอน จะอยู่ใกล้ๆ กันหมด มีเฉพาะวัดจอมสวรรค์ที่อยู่ห่างออกไปตามเส้นทางไปทางบ้านทุ่งโฮ้ง หรือถนนยันตรกิจโกศล (ทางหลวง 101)

เพราะเหตุนี้พอเรามาเที่ยวแพร่ เราก็จะเที่ยวสถานที่ที่อยู่ใกล้กัน จนมาถึงวัดจอมสวรรค์เป็นวัดสุดท้าย เวลาก็ปาเข้าไปเกือบจะ 4 โมงเย็นแล้วครับ

การเดินทางมาวัดจอมสวรรค์สังเกตุง่าย เพราะวัดจอมสวรรค์อยู่ติดกับถนน ถ้ามาจากในเมืองวัดจะอยู่ขวามือ บริเวณหน้าวัดเป็นชมรมพระเครื่องวัดจอมสวรรค์ มีเซียนพระมาร่วมสมาคมนั่งส่องพระกันเยอะ ภายในวัดมีพื้นที่กว้างขวาง และเป็นที่จอดรถที่ดีสำหรับเซียนพระรวมทั้งชาวบ้านที่มาทำธุระในพื้นที่นี้

โบสถ์วิหารและกุฎิในหลังเดียว

โบสถ์วิหารและกุฎิในหลังเดียว เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัดจอมสวรรค์ ก็คือการสร้างอาคารเพียงหลังเดียวตรงกลางพื้นที่ของวัด แม้ว่าในวัดไทยเองก็มีให้เห็นอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก การได้มาเห็นวัดที่เป็นศิลปะพื้นบ้านแบบนี้ก็ยังสร้างความตื่นตาตื่นใจได้มาก เหมือนกับที่คนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางมาเห็นวัดไทยก็ประทับใจกลับไป

พื้นที่รอบวัดจอมสวรรค์เป็นรูปสี่เหลี่ยมเกือบจะเป็นจตุรัส ตรงกลางพื้นที่มีอาคารหลังใหญ่ โดยมีพื้นที่รอบๆ อาคารด้านละเท่าๆ กัน นอกเหนือจากอาคารหลังนี้ก็มีพระเจดีย์ที่มุมหนึ่งของวัด ส่วนห้องน้ำสร้างแยกไปทางด้านหลังสุดกำแพงวัด

พอขึ้นมาบนอาคารหลังนี้ (สดแท้แต่จะอยากเรียกว่าอะไรนะครับ โบสถ์ก็ได้ วิหารก็ได้) สิ่งที่สร้างความน่าประทับใจให้กับผู้พบเห็นคือศิลปะการประดับตกแต่งด้วยกระจกสี ที่มีอยู่บนเพดาน และเสาทุกต้น อาคารหลังนี้รวมทุกอย่าง ดังนั้นจึงมีขนาดใหญ่ ดูจากจำนวนเสาหลายต้นแบ่งออกเป็นห้องๆ ได้หลายห้อง วิหารหลักอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยส่วนที่ยื่นออกไปรอบๆ 2 ด้าน คือด้านหน้าและด้านขวาของอาคาร หลังคาจากวิหารหลักที่อยู่ตรงกลาง ลาดลงมาเชื่อมกับหลังคาของส่วนที่ยื่นออกมา มองจากด้านล่างที่เราอยู่มันก็ดูแปลกๆ ที่มีฝ้าเพดานหยักลงมา การเชื่อมต่อหลังคาแบบนี้ต้องมีการทำรางน้ำฝนที่ดีมากๆ ไม่งั้นคงมีน้ำหยดลงมาจนฝ้าเสียได้

มองลึกเข้าไปในวิหารที่อยู่ตรงกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระประธานของวัดเหมือนกับในโบสถ์ทั่วไป ปีกของอาคารยังแบ่งออกเป็นห้องย่อยๆ เป็นกุฏิสงฆ์ แต่ปัจจุบันวัดจอมสวรรค์เป็นวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ส่วนวิหารหลังนี้ก็กลายเป็นโบราณสถานที่เหมาะแก่การศึกษาหาความรู้ และมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย

ประวัติวัดจอมสวรรค์

ประวัติวัดจอมสวรรค์ ข้อมูลนี้ได้มาจากแผ่นจารึกที่อยู่หน้าวัดจอมสวรรค์ บางส่วนเริ่มเลือนลางไปบ้างแล้ว หากผิดพลาดประการใดก็ขออภัยด้วยนะครับ เพราะสระและวรรณยุกต์ บางส่วนต้องอาศัยการเดา

วัดจอมสวรรค์ ตั้งอยู่บนถนนยันตรกิจโกศล ห่างจากศาลากลางจังหวัดแพร่ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร มีพื้นที่ 9 ไร่ 74 ตารางวา เป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะแบบไทยใหญ่ (เงี้ยว) สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ตัวอารามเป็นทั้งโบสถ์ วิหาร และกุฎิ เบ็ดเสร็จ ตามเสาและเพดานตกแต่ด้วยกระจกสีต่างๆ ส่วนใหญ่จัดทำเป็นรูปสัตว์หิมพานต์นานาชนิด นัวเป็นศิลปะที่งดงามมลังเมลืองมาก

วัดจอมสวรรค์จัดสร้างขึ้นจากแรงศรัทธาของชาวไทยใหญ่ ซึ่งเดิมมีถิ่นฐานอยู่ในประเทศพม่า ได้เข้ามาทำการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าพื้นเมืองกับชาวท้องถิ่นจังหวัดแพร่ บางส่วนได้เข้าไปทำงานอยู่ในห้างอีสต์เอเซียติค ซึ่งเป็นบริษัทของชาวยุโรปที่ได้รับสัมปทานการทำไม้ในจังหวัดแพร่ จนมีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย ด้วยความเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา พ่อเฒ่าคำอ่อง (ชาวเงี้ยว) ได้ร่วมมือกับพ่อฮ่อยกันตี (ต้นตระกูลเจริญกุศล) สร้่างวัดจอมสวรรค์ขึ้นในปี พ.ศ.2437 ใช้เวลาสร้างประมาณ 5 ปี จึงแล้วเสร็จ หลังจากนั้น วัดจอมสวรรค์ถูกปล่อยปละละเลย เนื่องจากเหตุการณ์เงี้ยวปล้นเมืองแพร่ วัดจึงมีสภาพทรุดโทรม พ่อฮ่อยกันตี นายฮ่อยคำมาด และแม่เฒ่าหล้า เจริญกุศล ได้บูรณะซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีขึ้น ต่อมานายจอง นันตา (บิดาของแม่เตียว อักษรมินทร์) ซึ่งชาวอังกฤษเคยแต่งตั้งให้เป็น Headman มาก่อน เป็นชาวไทยใหญ่อีกคนหนึ่งที่ทำการค้าขายจนมีฐานะร่ำรวย ได้ร่วมมือกับแม่เฒ่ากุย ลูกสาวของพ่อฮ่อยกันตี ได้สร้างเสริมบูรณะเพิ่มเติม พร้อมกับได้สร้างเจดีย์ รูปแบบสถาปัตยกรรมพม่า ไว้ทางทิศตะวันออกของวัดด้วย

ของดีในวัดจอมสวรรค์มีหลายอย่าง นอกจากความงดงามของศิลปะการประดับตกแต่งกระจกตามเสาและเพดานแล้ว ยังมีคัมภีร์งาช้าง ซึ่งจารด้วยอักษรฝักขาม มีเนื้อความเกี่ยวกับกรรมวาจาจารย์ สำหรับพระบวชใหม่ ตัวคัมภีร์ทำงานจากงาช้างที่นำไปบดจนเป็นผงละเอียดผสมกับยางไม้ แล้วนำมารีดเป็นแผ่นผึ่งให้แห้งเสร็จแล้วจึงนำไปจารด้วยสีที่ได้จากยางไม้อีกครั้งหนึ่ง นับเป็นศิลปะวัตถุที่มีคุณค่ายิ่ง นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปที่สานด้วยไม้ไผ่ (หลวงพ่อสาน) ซึ่งมีหน้าตักกว้าง 54 เซนติเมตร สูง 80 เซนติเมตร ปางสะดุ้งมาร ประดิษฐานอยู่ ณ อารามแห่งนี้ด้วย

วัดจอมสวรรค์

ลวดลายฝ้าเพดาน

ลวดลายฝ้าเพดาน หลังจากที่เดินชมรอบๆ ตัวอาคารแล้ว ตอนนี้ผมให้ความสนใจกับลวดลายประดับที่อยู่บนฝ้า ในแต่ละห้องระหว่างช่องเสา จะมีฝ้า 1 แผ่น แต่ละแผ่นมีลวดลายประดับกระจกสีแตกต่างกันไป แต่ละช่องจะมีลวดลายพื้นคล้ายๆ กัน แต่จะมีรูปเทวดา และสัตว์หิมพานต์ที่อยู่ตรงกลางมีลักษณะไม่เหมือนกัน น่าจะเป็นเทพตามความเชื่อของชาวไทยใหญ่ ลวดลายเหล่านี้เป็นงานทำมือ จึงมีรูปร่างไม่แน่นอน อาจจะบิดเบี้ยวไปบ้าง และแต่ละชิ้นจะมีขนาดไม่เท่ากันเหมือนกับการใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ แต่การนำเอาชิ้นงานเหล่านี้มาปะติดปะต่อกันได้พอดีก็เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความอุตสาหะเป็นอย่างมาก และถือเป็นงานศิลปะอย่างแท้จริงที่มากคุณค่าขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป

วัดจอมสวรรค์

วัดจอมสวรรค์

ลวดลายเสาวัดจอมสวรรค์

ลวดลายเสาวัดจอมสวรรค์ เสาทุกต้นในวิหารหลังนี้ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ แบบแรกคือเสาสี่เหลี่ยมประดับกระจกสี จะใช้กับส่วนที่ต่อจากวิหารหลัก ส่วนเสาอีกแบบหนึ่งคือเสากลมลวดลายสีทอง จะอยู่ในวิหารหลักทั้งหมด

วัดจอมสวรรค์

ด้านหลังและด้านข้างของโบสถ์ และวิหารหลังนี้ มีส่วนที่ต่อออกมาจากอาคารหลังใหญ่ เป็นส่วนเล็กๆ ที่เป็นกุฏิที่พักสงฆ์ ด้านหลังมีบันไดเล็กๆ สำหรับขึ้นลงจากวิหารได้ เพื่อที่จะเดินไปยังห้องน้ำที่อยู่แยกออกไปทางด้านหลัง

เจดีย์วัดจอมสวรรค์

เจดีย์วัดจอมสวรรค์ เป็นเจดีย์ที่คล้ายกับเจดีย์ชเวดากอง มีเจดีย์ประธานอยู่ตรงกลาง และมีเจดีย์รายอยู่รอบๆ หลายองค์ เจดีย์องค์นี้ ตั้งอยู่มุมด้านหนึ่งของวัด ในเวลากลางวันจะมีคนเอารถมาจอดในวัดรวมทั้งรถของนักท่องเที่ยวที่มาวัดจอมสวรรค์มาจอดบัง บางทีถ้าไม่สังเกตุก็คงไม่เห็นเจดีย์องค์นี้ จึงนับเป็นเรื่องน่าแปลกที่วัดจอมสวรรค์มีพื้นที่รอบๆ โบสถ์ ทุกด้าน ด้านละหลายเมตร แต่กลับเลือกสร้างเจดีย์ไว้ที่มุมสุดของวัดจนแทบมองไม่เห็น

รีวิว วัดจอมสวรรค์ แพร่


 "สายหมอกจางจาง ที่วัดจอมสวรรค์เช้านี้ฟินที่เมืองแพร่"

Akkasid Tom Wisesklin
2017-11-20 10:06:22

วัดจอมสวรรค์ แพร่


4/5 จาก 1 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดจอมสวรรค์ แพร่
i-Sabai@JomSwan hostel Phrae เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
เฮือนนานา จอมสวรรค์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมแม่ยมพาเลส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมภราดร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
นานา อพาร์ทเมนท์
  0.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมฮัก อินน์ แพร่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
จิงเจอร์เบรด เฮาส์ บีแอนด์บี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
ธารีส อาร์ตโฮเทล แพร่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.30 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรม Mee Bed and Breakfast แพร่
  2.42 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้าน ไอ อินสปาย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.48 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com