www.touronthai.com

หน้าหลัก >> แพร่ >> คุ้มเจ้าหลวง

คุ้มเจ้าหลวง

 คุ้มเจ้าหลวง เมืองแพร่ ถนนคุ้มเดิม ปัจจุบันคือจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2435 โดยเจ้าหลวงพิริยะชัยเทพวงศ์ คุ้มแห่งนี้เป็นอาคารโอ่โถง มีประตู หน้าต่างทั้งหมด 72 บาน งดงามด้วยลวดลายฉลุไม้อยู่ด้านบนปั้นลม และชายคาน้ำ รอบตัวอาคารประดับด้วยลวดลายไม้แกะฉลุ ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐถือปูนทั้ง 2 ชั้น ไม่มีการฝังเสาเข็มแต่ใช้ไม้ซุงท่อนเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้ประดู่รองรับฐานเสาทั้งหลัง ห้องกลางเป็นห้องทึบแสงสว่างส่องเข้าไปไม่ได้ ใช้เป็นที่คุมขังทาส บริวารที่ทำผิดร้ายแรง ส่วนห้องทางปีกซ้าย และขวามีช่องพอให้แสงส่องเข้าไปได้บ้าง ใช้เป็นที่คุมขังผู้มีความผิดขั้นลหุโทษ

    คุ้มเจ้าหลวงเคยใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อคราวที่เสด็จมาเยี่ยมเยียนราษฎรจังหวัดแพร่ ในระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2501 และได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีให้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารสถาบันและสาธารณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานจังหวัดแพร่ โทร 0 5451 1411

ข้อมูลเพิ่มเติม:ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 5567 1466
http://www.tourismthailand.org/phrae

แก้ไขล่าสุด 2016-12-28 12:42:18 ผู้ชม 12184

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ทางเข้าคุ้มเจ้าหลวง

ทางเข้าคุ้มเจ้าหลวง เช้าวันแรกของการเดินทางเข้าเมืองแพร่ ผมออกจาก อุตรดิตถ์ ตั้งแต่เช้า มาถึงแพร่ช่วงสายๆ หลายปีก่อนมาเที่ยวเมืองแพร่ไว้พระธาตุช่อแฮ กับเข้าไปชมบ้านประทับใจ ได้แค่ 2 ที่ จากนั้นก็ไปเที่ยวจังหวัดน่าน และพะเยา การเดินทางแบบนี้แหละที่เราก็จะเรียกจังหวัดแพร่ว่าเป็นเมืองทางผ่าน หลังจากนั้นผมก็เริ่มให้ความสนใจกับเมืองทางผ่านให้มากขึ้น วันนี้ผมเดินทางมาเที่ยวแพร่โดยเฉพาะและเก็บภาพสถานที่ท่องเที่ยวเกือบทั้งหมดของจังหวัดแพร่ (ถ่ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้แต่บางที่ก็ไม่ได้แวะเข้าไป) ผมเริ่มต้นจากใจกลางเมืองแพร่ มาที่ศาลหลักเมืองก่อน ถนนหนทางในเมืองแพร่ บอกตรงๆ เลยครับว่าวกวนสับสนมาก ถนนมีหลายสายมีแยกย่อยซอยเล็กๆ มากมายหลายซอย การมาเริ่มไหว้ศาลหลักเมืองแต่เช้าน่าจะดีแล้วจะไปไหนก็ค่อยๆ เลือกไปโดยไม่ให้มีการขับรถย้อนหรือวนกลับซ้ำทางเดิม

ออกจากศาลหลังเมืองไปทางขวา เรียกว่าถนน คุ้มเดิม ไม่กี่เมตรก็จะมาถึงหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ซึ่งเรียกกันว่าคุ้มเจ้าหลวง อาคารที่ยังเป็นสถาปัตยกรรมการก่อสร้างแบบดั้งเดิมมานาน หลังจากหมดยุคสมัยของการปกครองแบบเจ้าเมือง หรือเจ้าหลวง คุ้มเจ้าหลวงก็เลยกลายเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ สถานที่ในการบอกเล่าเรื่องราวในอดีตของชาวแพร่ ที่คงจะหาดูที่อืนได้ยาก

คุ้มเจ้าหลวง

อนุสาวรีย์เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดร

อนุสาวรีย์เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดร เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดร เป็นเจ้าเมืองแพร่คนสุดท้าย และมีความสำคัญต่อชาวแพร่เป็นอย่างมาก เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดรเกิดเมื่อเดือน ก.พ. พ.ศ. 2379 เป็นบุตรของเจ้าหลวงพิมพิสารและแม่เจ้าธิดา ในช่วงที่เจ้าหลวงปกครองเมืองแพร่นั้น ได้ดูแลความทุกข์สุขของประชาชนชาวแพร่เป็นอย่างดี ผลงานของเจ้าหลวงได้ก่อประโยชน์แก่จังหวัดแพร่ จนถึงปัจจุบัน เช่น เป็นผู้ริเริ่มสร้างเค้าสนามหลวง หรือศาลากลางจังหวัดแพร่หลังแรกทางทิศเหนือของคุ้ม ในที่ดินของเจ้าหลวงโดยความร่วมมือของเชื้อสายเจ้าในเมืองแพร่ โดยไม่ใช้เงินจาทางราชการ เป็นผู้สร้างคุ้มเจ้าหลวงปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ด้านการศึกษาได้ตั้งโรงเรียนชื่อว่าโรงเรียนเทพวงศ์ สอนหนังสือไทยและความรู้สมัยใหม่ ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าโรงเรียนพิริยาลัย เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดแพร่มาจนถึงปัจจุบัน ด้านศาสนา ได้อุปถัมภ์วัดวาอารามต่างๆ ที่สำคัญในเมืองแพร่ เช่นวัดหลวง วัดพระบาทมิ่งเมือง วัดพระธาตุช่อแฮ และให้แม่เจ้าบัวไหลภรรยาของท่านจัดทำคัมภีร์ปักไหมที่มีความละเอียดประณีต ถือว่าเป็นเอกสารโบราณสำคัญฉบับหนึ่งของจังหวัดแพร่

หลังเกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ในปี พ.ศ. 2445 เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดรได้ไปพำนักที่หลวงพระบาง ประเทศลาว จนสิ้นอายุขัย ทางราชการจึงได้ยุบเลิกตำแหน่งเจ้าเมืองแพร่ และไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นเจ้าเมืองคนใหม่ เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดร จึงเป็นเจ้าเมืองแพร่องค์สุดท้าย

คุ้มเจ้าหลวง

ด้านหน้า มองเห็นประตูทางเข้าไปในคุ้มเจ้าหลวง 3 ช่องทาง ด้านข้างบันไดทางขึ้น 2 ข้างซ้ายและขวา มีช่องประตูเล็กๆ เป็นทางเข้าไปในคุกชั้นใต้ดิน แต่ก่อนที่จะพาเข้าไปชมคุก จะพาขึ้นไปข้างบนก่อนนะครับ

คุ้มเจ้าหลวง

ภายในเปิดให้เข้าชมมีพิพิธภัณฑ์ และสามารถเข้าไปเลือกมุมถ่ายรูปได้

สถาปัตยกรรมสวยๆ ของชั้นบน

สถาปัตยกรรมสวยๆ ของชั้นบน

ผังเมืองแพร่

ผังเมืองแพร่ พอเดินเข้ามาในคุ้มเจ้าหลวง ชั้นแรก ผมเข้าประตูกลาง สิ่งแรกที่ได้เห็นเรียกความสนใจผมได้ไม่น้อย นั่นก็คือโมเดลเล็กๆ แสดงผังเมืองสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองแพร่ ประกอบด้วยวัดวาอารามต่างๆ หลายแห่ง รวมทั้งสถาปัตยกรรมเก่าแก่ อย่างเช่น คุ้มวงศ์บุรี คุ้มเจ้าหลวง รวมอยู่ด้วย สำหรับคนที่เพิ่มมาเที่ยวเมืองแพร่ครั้งแรกๆ ลองเข้าไปดูว่ามีอะไรที่น่าสนใจอยู่ตรงไหนบ้างก่อนที่จะเดินทางจริงๆ จะได้ประหยัดเวลา

ระเบียงชั้นล่าง

ระเบียงชั้นล่าง สิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในคุ้มเจ้าหลวง นอกจากการได้ถ่ายรูปด้านนอกของอาคารหลังนี้แล้ว พอเข้ามาด้านในก็ไม่มีการห้ามถ่ายภาพ ก็สามารถที่จะเลือกมุมสวยๆ แสงดีๆ ตามที่เราต้องการได้ เพียงแต่อย่าไปนั่งโต๊ะเก้าอี้ในบ้านหลังนี้ เพราะเป็นของเก่ามากับตัวบ้าน ต้องอนุรักษ์ให้อยู่ต่อไปอีกนานๆ ตามจุดต่างๆ ทั้งในห้องนอกห้องรวมทั้งระเบียง จะมีการจัดตู้กระจกสำหรับวางวัตถุโบราณหลายอย่างมากมายให้เราได้ศึกษา

โบราณวัตถุเมืองแพร่

โบราณวัตถุเมืองแพร่ เนื่องจากในคุ้มเจ้าหลวงมีของเก่าเก็บที่ผ่านการรักษาไว้เป็นอย่างดีมากมายหลายรายการ รวมทั้งมีคนนำเอาของเก่าๆ หาชมยากมามอบให้คุ้มเจ้าหลวงเป็นผู้ดูแลเก็บรักษาไว้ให้ลูกหลานอย่างเราๆ ได้มาชมกัน ผมจะนำเอาภาพเพียงส่วนหนึ่งมาให้ชมพอเป็นวิทยาทาน ไม่สามารถให้ชมได้ทั้งหมด เพราะเหตุผลทางด้านความปลอดภัยของสิ่งเหล่านั้นด้วย อย่างในภาพนี้ก็จะมีภาพแรกบนซ้าย คือ 1 ใน 2 ของภาพจิตรกรรมเวียงต้า เป็นงานเขียนด้วยสีฝุ่นบนแผงไม้กระดานหลายแผ่นต่อกันในกรอบขนาดใหญ่ จัดวางเป็นผืน เป็นตอน ช่างเขียนพยายามจัดภาพคนและสิ่งสำคัญอยู่ส่วนบนของแผ่นไม้ และกลบเกลื่อนรอยต่อของแผ่นกระดานด้วยภาพแนวตั้ง เช่น ต้นไม้ เสา แสดงถึงภูมิปัญญาของช่างพื้นบ้านผู้เขียนภาพนี้ได้เป็นอย่างดี สีที่ใช้คือ ฟ้า น้ำเงิน แดงชาด น้ำตาลอ่อน และดำเขียว ปิดทองในส่วนที่ต้องการให้เกิดสีเหลือง ใช้สีชมพู หรือ ขาวโพลน บนผิวพรรณของรูปคน จิตรกรรมเวียงต้าใช้เทคนิครูปแบบและอายุใกล้เคียงกับ จิตรกรรมที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน เนื้อเรื่องแบ่งเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ นิทานชาดก เรื่อง "เจ้าก่ำก๋าดำ" "แสงเมืองหลงถ้ำ" และภาพคน จิตรกรรมเวียงต้ามีคุณค่าอย่างยิ่ง สะท้อนให้เห็นถึงวิถึชีวิตของคนล้านนา ในเรื่องความเชื่อ และการดำรงชีวิต บ้านเรือน ปราสาทราชวัง พิธีกรรม การละเล่น การเดินทาง เครื่องแต่งกาย เช่น บ้านมีกาแล มีการแข่งขันเรือ มีภาพผู้หญิงนุ่งซิ่น ตีนจกลายโบราณ ทหารถือปืนไฟสวมหมวกฝรั่ง จิตรกรรมเวียงต้าชุดนี้ปัจจุบันนำไปไว้ที่หอคำ ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

ภาพบนขวาเป็นคัมภีร์โบราณภาษาล้านนา ทำจากพับกระดาษสา ภาพล่างขวาเป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้มีอยู่ด้วยกันหลายองค์ขนาดแตกต่างกันไป นอกจากนี้ก็ยังมีพระรอด และพระพุทธรูปบูชาที่สำคัญอีกหลายองค์

ห้องทำงาน

ห้องทำงาน ภายในคุ้มเจ้าหลวงก็จะมีการจัดห้องต่างๆ ประกอบไปด้วยห้องนอน 2 ห้องอยู่ที่ชั้นบน มีห้องทำงานอยู่ชั้นล่างทางขวามือ ส่วนทางซ้ายเป็นนิทรรศการ และพิพิธภัณฑ์ที่เก็บของโบราณไว้มากมายหลายอย่าง

พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่

พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่

ระเบียงคุ้มเจ้าหลวง

ระเบียงคุ้มเจ้าหลวง บันไดทางขึ้นชั้น 2 จะอยู่ทางด้านหลังของตัวบ้าน

ห้องโถงกลาง

ห้องโถงกลาง พอขึ้นมาชั้น 2 ก็จะเห็นการแบ่งห้องเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือกลางบ้านมีลักษณะเป็นโถง ส่วนปีกซ้ายและขวา จะเป็นห้องนอน

คุ้มเจ้าหลวง

ระเบียงชั้นบนคุ้มเจ้าหลวง

ระเบียงชั้นบนคุ้มเจ้าหลวง มีการจัดวางตู้เหมือนกับชั้นล่าง มีโบราณวัตถุหลายอย่างอยู่ในตู้กระจก

ด้านหลังคุ้มเจ้าหลวง

ด้านหลังคุ้มเจ้าหลวง หลังจากที่เดินชมส่วนต่างๆ ภายในกันแล้ว ก็เดินอ้อมมาทางด้านหลัง มีมุมที่โดนเงาของบ้านทำให้เป็นพื้นที่ที่ช่างภาพเรียกกันว่าแสงนุ่ม เหมาะสำหรับการถ่ายภาพบุคคล แล้วใช้คุ้มเจ้าหลวงเป็นฉากในบางส่วน ได้แก่บันได้ทางขึ้นที่มี 3 ทางเหมือนกับด้านหน้า แต่ปกติจะเปิดให้เข้าได้ทางเดียว บรรยากาศด้านหลังจะมีต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่นกว่าด้านหน้า ที่โดนแสงแดดตั้งแต่เช้า ตามหลักการออกแบบบ้านของคนไทยที่จะหันไปทางตะวันออก หรือทางทิศเหนือ

คุกใต้ดิน

คุกใต้ดิน พาเดินรอบบ้านคุ้มเจ้าหลวงทั้งด้านในและด้านนอกแล้ว เห็นมีช่องเล็กๆ อยู่สูงกว่าพื้นแค่นิดหน่อย คงจะสงสัยกันบ้างละว่าเป็นช่องอะไร ที่จริงแล้วก็คือช่องหน้าต่างของคุกคุ้มเจ้าหลวงที่อยู่ใต้ดินของบ้านหลังนี้ ทางเข้าคุกใต้ดินอยู่ด้านหน้า เป็นช่องประตูเล็กๆ 2 ด้านของตัวบ้าน เดินเข้ามาชมคุกแห่งนี้ให้เดินถอยหลังเข้า เป็นการถือเคล็ดว่าจะได้ไม่ต้องติดคุกจริงๆ พอเดินเข้ามาในประตุจะเห็นทางเดินยาวตลอดตัวบ้าน เป็นทางเดินที่ไม่กว้างมาก และค่อนข้างต่ำ สำหรับคนตัวสูงคงต้องเพิ่มความระมันระวังในการเดินสักหน่อย เข้ามาในประตูคุกแล้วมองไปตามแนวของทางเดิน จะมีแสงเข้ามาในคุกแห่งนี้ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ด้านข้างผนังทางเดินจะมีรูปเครื่องจองจำ และเครื่องทรมานนักโทษแบบต่างๆ ของไทยในอดีต ซึ่งปัจจุบันคงจะหาดูยากมาก

คุกใต้ดิน

คุกใต้ดิน จากทางเดินเข้ามาจะมีประตูแยกย่อยคุกใต้ดินแห่งนี้ออกเป็นห้องขังที่มีความกว้างพอสมควร สำหรับขังนักโทษรวมกัน ช่องสี่เหลี่ยมที่เราเห็นด้านนอกรอบตัวบ้าน ก็คือหน้าต่างที่เป็นทางเข้าของแสงเพียงเล็กน้อยที่จะส่องเข้ามาในคุกแห่งนี้ได้ความสูงที่เรียกว่าแทบไม่พ้นหัว ทำให้รู้สึกอึดอัดเป็นอย่างมาก

การจองจำและทรมานนักโทษ

การจองจำและทรมานนักโทษ ภาพเล็กๆ ที่ติดอยู่ที่ผนังของคุกใต้ดินของคุ้มเจ้าหลวง เป็นรูปจำลองการจับ การขัง การตรึงแขน ขา การทรมานต่างๆ หลายแบบ ที่ใช้จริงในอดีต และยกเลิกไปหมดแล้วในปัจจุบัน หลากหลายเรื่องราวความรู้ที่หาได้จากในภาพเหล่านี้ จะมีอยู่เพียงในคุกใต้ดินเท่านั้น สิ่งที่ดูน่ากลัวและไม่น่าเชื่อว่าจะใช้กับนักโทษได้แก่เบ็ดเหล็กที่ใช้เกี่ยวใต้คางของนักโทษแล้วขึงให้ขาลอยจากพื้น เป็นต้น

คุ้มเจ้าหลวง

จบการเที่ยวชมคุ้มเจ้าหลวงแบบทุกซอกทุกมุมไว้เพียงเท่านี้นะครับ มีโอกาสคงได้มาหาความรู้เพิ่มเติมกันอีก เพราะตอนนี้คุ้มเจ้าหลวงมีโครงการปรับปรุง ห้องสำหรับแสดงทุกห้อง คงมีอะไรเพิ่มขึ้นอีกมากมายในอนาคตอันใกล้

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ คุ้มเจ้าหลวง แพร่
SA-DUE-MUENG Homestay เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
จิงเจอร์เบรด เฮาส์ บีแอนด์บี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมฮัก อินน์ แพร่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
ธารีส อาร์ตโฮเทล แพร่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมเฮือนเชตวัน เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
Come Moon Loft Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
Mustcome Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.43 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรม Mee Bed and Breakfast แพร่
  1.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมแพร่ นครา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรม อมรรักษ์โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  1.69 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com