www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ตราด >> ชุมชนท่าระแนะ

ชุมชนท่าระแนะ

 นิเวศพิพิธภัณฑ์บ้านท่าระแนะ ต.หนองคันทรง อ.เมืองตราด เป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงนิเวศในรูปแบบใหม่ที่นำเอาระบบการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยหลักการเปลี่ยนนักท่องเที่ยวจากการเป็น ผู้รับ มาเป็น ผู้ให้ นักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวในบ้านท่าระแนะที่เข้ามาใช้ทรัพยากรต่างๆ ในหมู่บ้าน จะต้องได้รับภารกิจในการนำเอาทรัพยากรเหล่านั้นกลับคืนสู่ธรรมชาติในลักษณะของกิจกรรมต่างๆ ตามที่ชาวบ้านจะเป็นผู้กำหนด ยกตัวอย่างเช่น นักท่องเที่ยวเข้ามาพัก จิบชาร้อยรู สมุนไพรของหมู่บ้านก็จะต้องเป็นผู้นำเอาหัวร้อยรูไปปลูกคืนธรรมชาติด้วย หลักการนี้จะทำให้ธรรมชาติอยู่คู่กับชาวบ้านที่พื้นที่และเพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ มีใช้ไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน การนำเอาหลักการนิเวศพิพิธภัณฑ์ หรือในต่างประเทศจะใช้คำว่า Ecomuseum มาใช้ในชุมชนของจังหวัดตราดมีทั้งหมด 7 ชุมชน และกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาอีก 1 ชุมชน แต่ละชุมชนก็มีอัตลักษณ์แตกต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ ซึ่งอยู่กระจายกันตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำและท้องทะเล ทัวร์ออนไทยดอทคอมได้มีโอกาสไปสัมผัสมาแล้ว 5 ชุมชน ก็จะได้นำเอาเรื่องราวดีๆ เหล่านี้มาบอกเล่าสู่กันไปตามลำดับ

 ตามทฤษฎี นิเวศพิพิธภัณฑ์ หรือ Ecomuseum มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ แต่เราจะกล่าวถึงเฉพาะรูปแบบที่นำมาใช้ในจังหวัดตราดซึ่งอาจจะไม่ตรงกับแนวทฤษฎีเท่าใดนักเพราะต้องมีการดัดแปลงประยุกต์ตามความเหมาะสมของชุมชนในบ้านเรา เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าในเราจะเรียกคำว่า ธนาคารสีเขียว แทน เนื่องจากว่าชุมชนบ้านท่าระแนะเป็นชุมชนแรกที่ผมได้เขียนบทความในลักษณะเช่นนี้ อาจจะมีการกล่าวถึงทฤษฎีมากจนอาจจะทำให้บทความนี้ดูน่าเบื่อ แต่เมื่อคนมาอ่านและทำความเข้าใจกันดีแล้วเรื่องชุมชนต่อๆ ไปก็จะน่าติดตามมากกว่านี้แน่นอน

 จุดเด่นของ บ้านท่าระแนะ เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ริมคลอง เรียกกันว่าคลองเจ๊ก ตั้งแต่สมัยที่มีท่าน้ำสำคัญในการสัญจรของเรือใบระหว่างชาวจีนและชาวไทย เกิดการซื้อขายกันขึ้นเป็นเวลานาน จนเมื่อกาลเวลาผ่านไปบริเวณหมู่บ้านเส้นทางน้ำตื้นเขิน จากการตื่นพลอย ในช่วง พ.ศ.2511 - 2513 การทำเหมืองพลอยทำให้หน้าดินถูกชะไปทับถมที่ปากน้ำจนตื้นเขิน เรือใบเข้ามาเทียบท่าไม่ได้ และการคมนาคมเริ่มเปลี่ยนไปใช้ทางรถมากกว่าทางเรือ วิถีชีวิตของชาวบ้านก็เปลี่ยนแปลงไป แต่จากการเปลี่ยนแปลงหน้าดินไหลมาทับถมที่ปากน้ำทำให้หมู่บ้านแห่งนี้มีทรัพยากรเป็นป่าชายเลนขนาดใหญ่ประกอบด้วยพืชพรรณนานาชนิด ได้แก่ ต้นลำพู ป่าโกงกาง ต้นจาก และตะบูน เป็นต้น ต้นโกงกางและตะบูนจะมีกาฝากชนิดหนึ่งเรียกกันว่า ต้นร้อยรู อันมีสรรพคุณทางยามากมายหลายอย่าง บางคนกล่าวว่า กินร้อยรู อยู่ร้อยปี จนกลายเป็นพืชที่มีราคาสูงในท้องตลาดการนำเอาหัวร้อยรูออกไปขายก็ทำให้ร้อยรูลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนเกือบสูญพันธุ์หายไปจากชุมชน

 ภูมิปัญญาชาวบ้านหลากหลายสืบทอดกันมาอีกอย่างก็คือสปา ที่เรียกกันว่า สปาเจ๊ก และการนำเอาใบคันทรงมาทำเป็นใบของเรือใบเพราะความเหนียวและแข็งแรง

การเดินทางมาบ้านท่าระแนะ จากตัวเมืองตราดใช้ทางหลวงหมายเลข 3148 (ทางไปแหลมงอบ) ประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3155 ประมาณ 6.5 กิโลเมตร เลี้ยวซ้าย (สังเกตุป้ายหนองคันทรง ท่าระแนะ หรือป้ายบ้านปูรีสอร์ท) อีก 1 กิโลเมตรเศษๆ ก็จะถึงกลุ่มจักสานบ้านท่าระแนะ

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานตราด โทร.039-597-259-60, 039- 597-255

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 20180

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ยินดีต้อนรับสู่บ้านท่าระแนะ

ยินดีต้อนรับสู่บ้านท่าระแนะ สำหรับคนที่ไม่เคยมายังหมู่บ้านนี้มาก่อน การเดินทางเข้ามาถึงเป็นครั้งแรกอาจจะไม่รู้ว่าควรไปเริ่มต้นที่ไหนดี ถนนเข้าบ้านท่าระแนะเป็นถนนสายเล็กๆ มีการปลูกพืชสวนครัวริมถนน มองหาเพิ่งหลังนี้ให้เจอแล้วจะมีชาวบ้านออกมาต้อนรับ จุดนี้เรียกว่าศาลากลางของหมู่บ้านก็ว่าได้ ภายในเพิงเล็กๆ หลังนี้จะมีโต๊ะตัวหนึ่งตั้งอยู่ด้านหน้า บนโต๊ะจะต้องมี ชาร้อยรู ของขึ้นชื่อประจำหมู่บ้าน และสมุนไพรหลายชนิดเรียงรายอยู่ด้านข้าง เป็นสมุนไพรที่ใช้ในการอบสปาเจ๊ก และสำหรับการขัดผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสวยงาม คนที่รู้สรรพคุณของชาร้อยรูเดินทางมาเพื่อซื้อชาบรรจุขวดก็มี แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวเป็นหมู่คณะจะได้เรียนรู้การทำชาร้อยรู การหาหัวร้อยรู การปลูกหัวร้อยรู และแน่นอนว่าจะทดลองทำสปาก็ย่อมทำได้

ชาวบ้านพาเด็กๆ ออกมาต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งนี้เด็กๆ เหล่านี้จะได้เรียนรู้วิธีการทำสปาเจ๊ก โดยมีนักท่องเที่ยวร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน คือการสอนด้วยการปฏิบัติจริง ความรู้เหล่านี้ก็จะถูกถ่ายทอดไปยังอนาคตของหมู่บ้านตัวน้อยๆ เหล่านี้ไม่ให้สูญหายไป

ชาร้อยรูและการขัดผิวด้วยสมุนไพร

ชาร้อยรูและการขัดผิวด้วยสมุนไพร เมื่อเข้ามาถึงหมู่บ้านท่าระแนะแล้ว เราก็จะได้รู้เรื่องราวของสมุนไพรโบราณประจำหมู่บ้านอย่างหนึ่งก็คือหัวร้อยรู หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กระเช้าผีมด ด้วยลักษณะของต้นไม้ชนิดนี้เหมือนกระเช้า และมดชอบมาอยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก เมื่อออกดอกมีหัวขึ้นมาในหัวร้อยรูจะมีรูอยู่จำนวนมาก

ส่วนการขัดผิวพรรณก็จะใช้สมุนไพร ได้แก่ อบเชย ขมิ้น นมสด ฯลฯ มาผสมจนเข้ากันขัดบำรุงผิวพรรณ เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาช้านาน

สปาเจ๊กหรือสปาปิ่นโต

สปาเจ๊กหรือสปาปิ่นโต เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาแต่อดีต ลักษณะการสานห้องสปารูปร่างเหมือนปิ่นโต มีประตูด้านหน้าปิดด้วยผ้าสีดำ คนที่จะทำสปาให้เข้าไปนั่งด้านในพร้อมกับเตาถ่ายมีหม้อต้มสมุนไพร ภายในหม้อประกอบด้วยสมุนไพร 32 ชนิด ในระยะหลังสมุนไพรเริ่มสูญหายไปจากหมู่บ้านเพราะมีการส่งเสริมการปลูกยางพารา เมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตราดเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูเอาภูมิปัญญาเหล่านี้มาเปิดให้บริการนักท่องเที่ยว จึงได้ขอสมุนไพรบางชนิดที่ขาดหายไปจากตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์

การทำสปาแบบนี้จะทำให้ร่างกายร้อนขึ้นรูขุมขนเปิดมีเหงื่อออก ทำให้รู้สึกสบายตัว สำหรับผู้หญิงหลังคลอด ช่วยขับน้ำคาวปลา มดลูกเข้าอู่ รักษาอาการปวดเมื่อย ตัวยาหลายตัวมีสรรพคุณช่วยระบบการหายใจ โล่งจมูก ละลายเสมหะ และอีกหลายตัวช่วยรักษาโรคแตกต่างกันไป โดยมากก็จะเกี่ยวกับโรคผิวหนัง ผดผื่นคัน กลากเกลื้อน แก้โรคเหน็บชาปลายนิ้ว แขน ขา

เรือใบคันทรง

เรือใบคันทรง ภูมิปัญญาชาวบ้านอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบ้านหนองคันทรง และเป็นที่มาของชื่อตำบลหนองคันทรง ก็คือการนำเอาใบคันทรงมาทำเป็นใบของเรือใบ ด้วยคุณสมบัติที่เหนียวทนทาน แต่ปัจจุบันต้นคันทรงหายากขึ้นทุกวัน และเรือใบไม่เป็นที่นิยมใช้กันเพราะมีเทคโนโลยีเข้ามาแทนเรือใบคันทรงก็ยังคงอยู่เพียงเป็นนิเวศพิพิธภัณฑ์ที่ชาวบ้านจะอนุรักษ์ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาหาความรู้ เรือใบคันทรงที่เห็นและแพที่จอดอยู่ข้างหลักกิโลเมตรใหญ่ นั่งออกไปตามไม่น้ำได้จริงเป็นกิจกรรมที่คนมาเที่ยวจะได้ลองสัมผัส

แต่สำหรับวันนี้เราจะพาเข้าไปชมป่าชายเลนกันก่อน จะได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของท่าระแนะ

เรียนรู้การมัดปูดำ

เรียนรู้การมัดปูดำ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในหมู่บ้านท่าระแนะ เป็นผลให้ในพื้นที่มีปูดำอาศัยอยู่มากมาย จนเป็นอาชีพหลักอย่างหนึ่งของชาวบ้าน แต่การจับปูดำออกมาจากธรรมชาติเพื่อขายทำให้จำนวนของปูลดลงอย่างรวดเร็ว ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลและความมุ่งมั่นที่จะสร้างความความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ชาวบ้าน นายวรนิติ์ กายราศ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยยแห่งประเทศไทย สำนักงานตราด จึงได้ลงพื้นที่ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างระบบ นิเวศพิพิธภัณฑ์ หรืออีโคมิวเซียม ด้วยหลักการธนาคารสีเขียวขึ้น โดยการปล่อยปูดำขนาดเล็กคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่ห้ามจับปูดำ เพื่อให้มันมีโอกาสได้ขยายพันธุ์และเจริญเติบโต นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่จะได้กินปูดำ แต่ก็ต้องนำปูดำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติรวมทั้งได้ลองเรียนรู้การมัดปู โดยมีชาวบ้านเป็นผู้นำในการทำกิจกรรม

จอมยุทธมือเดียว

จอมยุทธมือเดียว โชว์การมัดปูโดยชาวบ้านที่เรียกกันว่าจอมยุทธ ด้วยความสามารถในการมัดปูถึงแม้จะมีแขนเหลือเพียงข้างเดียวก็ยังสามารถจับปูมามัดอย่างรวดเร็วชนิดที่คนมี 2 มือ ยังสู้ไม่ได้

ปล่อยปูคืนสู่ธรรมชาติ

ปล่อยปูคืนสู่ธรรมชาติ ชาวบ้านจับปูด้วยวิธีการวางลอบ บางคนวางลอบดักปูถึง 100 จุด จับปูได้ครึ่งตะกร้า แต่ก็มีหลายตัวที่มีขนาดเล็ก ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะนำเอาปูขนาดเล็กปล่อยคืนสู่ธรรมชาติตามหลักการธนาคารสีเขียว เมื่อโตได้ขนาดจึงไปจับมาขาย แต่ผู้ปล่อยปูก็คือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวในหมู่บ้าน กิจกรรมเหล่านี้ก็คือหลักการที่เรียกว่า เปลี่ยนนักท่องเที่ยว จากผู้รับการบริการจากชาวบ้านและจ่ายเงิน มาเป็นผู้ให้คืนกลับสู่ธรรมชาติ สร้างความมั่นคงยั่งยืนของระบบนิเวศ ก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะหายไปจากหมู่บ้านอย่างยากที่นำกลับมาได้อีก

ชุมชนท่าระแนะ

มหัศจรรย์ป่าชายเลนบ้านท่าระแนะ

มหัศจรรย์ป่าชายเลนบ้านท่าระแนะ หลังจากกิจกรรมปล่อยปูตรงทางเข้าป่าชายเลนเสร็จเรียบร้อยแล้วเราก็จะเดินเข้าไปชมป่าชายเลนของหมู่บ้าน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากการชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าชายเลนตามสายตาของผมก็คือการได้เห็นสัตว์ต่างๆ ตัวเล็กตัวน้อย ไปจนถึงตัวใหญ่เดินไปเดินมาอยู่ในพื้นที่ของป่า แล้วก็ได้เห็นต้นไม้หลากหลายชนิดเติบโตอยู่ในพื้นที่ ทางเดินชมป่าชายเลนสร้างเป็นคอนกรีตตลอดทางลึกเข้าไปหลายร้อยเมตร มีศาลาพักอยู่ระหว่างทาง 2 หลัง การเดินชมป่าชายเลนบ้านท่าระแนะรู้สึกดีที่ไม่เห็นขยะอยู่ตามข้างทางเดินเลย

แสม 100 ปี

แสม 100 ปี เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าถึงจิตอนุรักษ์ของชุมชนป่าแห่งนี้จึงได้คงอยู่คู่หมู่บ้านมานาน โดยดูจากต้นแสมอายุ 100 ปีต้นนี้

กระเช้าผีมด

กระเช้าผีมด ชื่อนี้ผมกล่าวไปแล้วตอนต้น คือชื่อของกาฝากชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ในป่าชายเลน เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า หัวร้อยรู เป็นสมุนไพรมีสรรพคุณหลายอย่าง หัวมีขนาดใหญ่ฝานบางๆ ตากแห้ง เอาไปชงเป็นชา สรรพคุณของหัวร้อยรูเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วจนมีความต้องการสูงในตลาด บางครั้งให้ราคาสูงถึงหัวละ 800 บาท ชาวบ้านจึงได้นำเอาไปขายจนใกล้สูญพันธุ์ไปจากหมู่บ้าน หัวร้อยรูพบเห็นได้ยากขึ้นทุกวัน ผู้ใหญ่บ้านจึงได้ร่วมมือกับ ททท. ตราด ในการสร้างนิเวศพิพิธภัณฑ์ นำเอาหัวร้อยรูที่พบเห็นตามแหล่งต่างๆ ที่เสี่ยงจะโดนตัดไป เอามาปลูกรวมกันไว้ในเส้นทางเดินชมป่าชายเลนของหมู่บ้าน เพราะดูแลได้ง่าย จุดนี้เป็นจุดสิ้นสุดทางเดิน ถ้ามาร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวของหมู่บ้านตั้งแต่กิจกรรมแรก จะเดินมาถึงจุดนี้ตอนประมาณเที่ยงพอดี ชาวบ้านจัดเอาอาหารพื้นบ้านหลายอย่างมารอ อย่างหนึ่งที่เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรกก็คือ หอยฟันกระต่าย ซึ่งต้องกินกับข้าวมันเหมือนกับข้าวมันไก่ อร่อยเด็ดอย่าบอกใคร

ปลูกหัวร้อยรู

ปลูกหัวร้อยรู กิจกรรมตามหลักการธนาคารสีเขียวของเราก็ยังดำเนินกันต่อไป ทุกคนจะได้รับหัวร้อยรูคนละหัวพร้อมกับเชือกคนละเส้น เพื่อไปผูกกับต้นไม้ในป่าชายเลน เมื่อถึงฤดูฝนรากของหัวร้อยรูก็จะเกาะต้นไม้เองตามธรรมชาติ เพราะร้อยรูเป็นกาฝากชนิดหนึ่ง นับจากนี้ไปยิ่งมีคนมาเที่ยวบ้านท่าระแนะมากเท่าไหร่ หัวร้อยรูและปูดำก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ตอนนี้เริ่มเข้าใจระบบนิเวศพิพิธภัณฑ์แล้วหรือยังครับ ^-^

หอชมวิว

หอชมวิว เป็นหอสูง 4 ชั้นสูงพอดีกับความสูงของต้นไม้ในป่าเมื่อเดินขึ้นไปยืนข้างบนจะมองเห็นวิวป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์สุดสายตา นี่ก็เป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าด้วยการมองตาเปล่า

ชุมชนท่าระแนะ

มหัศจรรย์ป่าชายเลนบ้านท่าระแนะยังไม่หมดเพียงเท่านี้ กิจกรรมต่อมาจากศาลาปลายทางเดินมีคลองขอนเป็นคลองสาขาจากคลองเจ๊ก พาเราเข้าไปยังแดนมหัศจรรย์พรรณไม้อย่างที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน จากป่าโกงกางรากยาวไปต่อที่ป่าจากใบยาวๆ จากนั้นก็จะเป็นพื้นที่ของป่าตะบูนรากของตะบูนไม่หยั่งลึกลงในดินแต่มีโครงข่ายรากอยู่เหนือผิวดินลักษณะรูปร่างของต้นตะบูนก็ดูสวยงามอย่างมหัศจรรย์

ชุมชนท่าระแนะ

การเดินทางสู่ลานตะบูนของวันนี้เราออกเดินทางช้าไปหน่อยทำให้ระดับน้ำลดลงมากเรือเข้ามาเกือบไม่ถึงคนพายเรือต้องลงไปเข็นเรือในตอนท้ายๆ ทำให้เราเข้าไปไม่ถึงพื้นที่ดงเป้ง และต้นลำแพนอายุ 100 ปีที่อยู่ลึกเข้าไปอีกได้ พอเรือถึงลานตะบูนเราก็เดินลึกเข้าไปในป่า เดินบนรากของตะบูนที่คดเคี้ยวไปเรื่อยๆ ชาวบ้านสร้างเป็นพื้นที่พักผ่อนด้วยกีฬาเรียบง่ายที่เรียกว่าโบว์ลิ่งตะบูน มีกระดานสี่แผ่นปูพื้นยาวๆ เอาไม้ตะบูนมาเหลาเป็นพินโบว์ลิ่ง และใช้ลูกกลมๆ ของมันเอามาเป็นลูกโบว์ลิ่ง เล่นกันสนุกสนานเพราะไม่สามารถกำหนดทิศทางการกลิ้งที่แน่นอนได้

โบว์ลิ่งตะบูน

โบว์ลิ่งตะบูน

ต้นตะบูน

ต้นตะบูน

ชุมชนท่าระแนะ

ความมหัศจรรย์ของรากตะบูนในป่าชายเลน

ชุมชนท่าระแนะ

ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนที่นี่ทำให้เราได้เห็นหอยพอก อันเป็นหอยที่พบมากในป่าตะบูน ผู้ใหญ่บ้านเล่าว่าชาวบ้านไม่ค่อยชอบกินหอยชนิดนี้เพราะพบเห็นได้ง่ายเกินไป หอยพอกจึงเติบโตมีขนาดใหญ่มาก และมีจำนวนมากในป่าแห่งนี้ ส่วนในป่าจากก็มีจากอยู่มากมายอยู่กันจนแก่ มีเพียงคนนอกพื้นที่เข้ามาขโมยตัดเอาไปขายเต็มลำเรือ แต่หลังจากมีการสร้างนิเวศพิพิธภัณฑ์ชาวบ้านเข้ามาดูแลทรัพยากรเหล่านี้กันอย่างเข้มแข็งเก็บไว้ให้ลูกหลาน เราจึงได้เห็นสิ่งเหล่านี้อยู่มากมาย สุดท้ายก่อนจากออกมาก็ได้เห็นเจ้าลิงเจ้าถิ่นที่นี่ออกมาหากินตามธรรมชาติอย่างไม่เกรงกลัวคน

การท่องเที่ยวในลักษณะนี้จะพบเห็นได้มากขึ้นต่อไปในอนาคตเพราะคนเริ่มเห็นความสำคัญของธรรมชาติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตราดจึงเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงด้วยการเตรียมชุมชนแบบนี้ให้เราได้เข้าไปสัมผัสมากถึง 7 ชุมชน และกำลังสร้างเพิ่มขึ้นเป็นชุมชนที่ 8 ทัวร์ออนไทยก็อยากจะให้ทุกคนได้ลองเข้าไปสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ที่จะมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย แล้วจะได้รู้ว่าเมืองไทยมีความหลากหลาย สวยงามและน่าอยู่กว่าที่คิดอีกเยอะ

สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ททท. สำนักงานตราด โทร.039-597-259-60, 039- 597-255

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ชุมชนท่าระแนะ ตราด
บ้านปู รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
ป๊อป ริเวอร์ไซด์ โฮมสเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมทอสคานา ตราด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  11.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านริมน้ำ รีสอร์ต โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรสวิแดง เกทเฮ้าท์
  12.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
บาซาร์ เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.48 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตราด สวีท ฟีล แอท โฮม เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
อาร์ตทิสท์ เพลส ตราด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
ริมคลอง บูติค โฮเทล ตราด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
Sangjun Guesthouse เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.67 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com