www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อุบลราชธานี >> วัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง)

วัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง)

 วัดปากน้ำ บุ่งสระพัง ตั้งอยู่ที่บ้านปากน้ำ หมู่ที่ 10 ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ทั้งหมด 33 ไร่ 23 ตาราวา วัดปากน้ำ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2320 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2523

 วัดปากน้ำ ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เมื่อ พ.ศ. 2493 และตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เมื่อ พ.ศ. 2529 จนถึงปัจจุบัน และ พ.ศ. 2549 ได้ตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา โดยขยายเป็นห้องเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาวัดหนองเป็ด

สิ่งที่น่าสนใจในวัดปากน้ำ

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานอุบลราชธานี โทร. 0 4524 3770, 0 4525 0714
http://www.tourismthailand.org/ubonratchathani

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 22778

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
วัดปากน้ำ

วัดปากน้ำ จากตัวเมืองอุบลราชธานีหลังจากชมงานแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานีที่สวยงามและยิ่งใหญ่แล้วก็เดินทางไปที่วัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง) ตำบลกุดลาด ระยะทางจากตัวเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร แต่เป็นถนนสายเล็กๆ ลัดเลาะผ่านหมู่บ้าน ตำบลปทุม และตำบลกุดลาด มาตัดกับถนนวงแหวนเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี (ทางหลวงหมายเลข 231) เนื่องมาจากงานประเพณีแห่เทียนพรรษา มีประชาชนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาชมอย่างคับคั่ง ถนนหลายสายในเมืองอุบลราชธานีรถติดนานมาก เลยเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอ้อม จากทุ่งศรีเมืองใช้ถนนพโลชัย เลี้ยวขวาที่ถนนชวาลานอก ตรงไปจนถึงถนนแจ้งสนิท เข้าวงเวียนไปทางขวาถนนราชธานี เลี้ยวซ้ายถนนชยางกูร (ทางหลวงหมายเลข 212) เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข 231 ซึ่งเป็นวงแหวนเลี่ยงเมืองไปตำบลกุดลาดแล้วเลี้ยวซ้ายไปจนถึงวัดปากน้ำ บุ่งสระพัง
เข้ามาภายในวัดมีพื้นที่กว้างขวาง หาที่จอดรถตามสะดวก จากนั้นเดินไปที่วิหารก่อน เพราะที่วิหารเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระอรหันตธาตุ ของพระอสีติมหาสาวก จาก 9 ประเทศ กว่า 1,000 พระองค์ ซึ่งได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้จนถึงปีใหม่ 2555 นี้เท่านั้นจึงขอเชิญชวนเพื่อนๆ ทุกคนได้เดินทางไปสักการะนมัสการเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตเพราะโอกาสนี้หายากยิ่ง ที่เห็นในภาพนี้คือพระอุโบสถมิตรภาพไทย-อเมริกัน ด้านซ้าย มีพิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ อยู่ใกล้ๆ กัน ด้านหลังพิพิธภัณฑ์มีพระธาตุพนมจำลอง ส่วนวิหารนั้นไม่ได้อยู่ในภาพเพราะตอนถ่ายยืนอยู่ที่วิหารครับ

ผ้าป่าจากศรัทธามหาชน

ผ้าป่าจากศรัทธามหาชน ในวันเข้าพรรษามีประชาชนที่ศรัทธาในวัดปากน้ำ บุ่งสระพังเดินทางมาทอดผ้าป่าเป็นจำนวนมากเงินทำบุญผ้าป่านำมาแขวนเป็นแถวยาวลงมาจากขื่อจนถึงพื้นอย่างที่เห็น

พระประธานในพระวิหาร

พระประธานในพระวิหาร พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ประดิษฐานอยู่ชิดผนังด้านหนึ่งของวิหาร เบื้องหน้าองค์พระพุทธรูปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุจำนวนมากมาย เรียงไว้อย่างสวยงาม

พระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุ ที่เห็นอยู่ภายในวิหารคงมีประมาณมากกว่า 200 ชุด แต่ละชุดจัดไว้อย่างสวยงามในตู้กระจกมองเห็นภายในได้ ซึ่งจะได้เห็นพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุมากมายหลายวรรณะ ทั้งนี้เพราะพระบรมสารีริกธาตุแต่ละส่วนของพระวรกายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีวรรณะแตกต่างกันไป เช่นมีสีแดงใสเหมือนทับทัม หรือสีขุ่นผิวมันวาวเหมือนมุก เป็นต้น
ภาพบนขวา เป็นพระบรมสารีริกธาตุส่วนเนื้อเยื่อพระหทัย (หัวใจ) ลักษณะเป็นผลึกสีแดงอมม่วงที่อัญเชิญมาจากประเทศเนปาล
ภาพบนซ้าย เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจาก 9 ประเทศ (ไทย, อินเดีย, เนปาล, ศรีลังกา, จีน, พม่า, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และลาว)
ภาพล่างซ้าย เป็นพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวา ผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านมีปัญญามาก
ภาพล่างขวา เป็นพระอรหันตธาตุ พระทัพพะมัลละบุตร พระเถระผู้เลิศด้านจัดแจงเสนาสนะ และพระสาคตะ ผู้เลิศด้านเตโชสมาบัติ การได้ทำบุญสักการะพระอรหันตธาตุนี้จะมีอานิสงส์ ไม่ลำบากด้านที่อยู่อาศัย และเป็นผู้ไม่มีความเดือดร้อน

พระอรหันตธาตุพระสีวลี

พระอรหันตธาตุพระสีวลี เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งที่รู้จักกันดี มีความเชื่อว่าหากได้สักการะบูชาพระสีวลีจะมีอานิสงส์เป็นผู้มีลาภมาก จึงมีการสร้างพระสีวลีไว้ในวัดต่างๆ จำนวนมากทั่วประเทศ คราวนี้ได้มาเห็นพระอรหันตธาตุของพระสีวลีกันเลยครับ

พระแก้วสารพัดนึก

พระแก้วสารพัดนึก พระพุทธรูปสีขาวขุ่น มีเปิดไฟส่องสว่างเข้าหาองค์พระทำให้ดูเจิดจรัสสวยงามประดิษฐานบนบุษบก สักการะพระแก้วสารพัดนึกจะทำให้เป็นผู้ได้สมปรารถนา

บรรยากาศวิหาร

บรรยากาศวิหาร อย่างที่ได้เห็นนี้พระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุจำนวนมากที่อัญเชิญมาให้ประชาชนได้มาสักการะบูชาจัดเรียงอยู่ในวิหารวัดปากน้ำเป็นแถวยาว ทางวัดจัดวางอย่างเป็นระเบียบหากประชาชนเดินทางมากันมากจะปิดกั้นช่องทางเดินบางส่วนกลายเป็นทางเดินเหมือนเข้าแถวตามกันไป ที่พื้นจะมีลูกศรติดไว้บอกทางในการเดินให้ตามลูกศร จากประตูทางเข้ากว่าจะถึงพระประธานในวิหารก็ได้เห็นพระอรหันตธาตุครบทั้งหมดพอดี

วิหารหลวงพ่อเงิน 700 ปี

วิหารหลวงพ่อเงิน 700 ปี เป็นวิหารหลังเล็กๆ อยู่ด้านหน้าวิหารหลังใหญ่ มีทางขึ้นไปสักการะหลวงพ่อเงินภายใน ประชาชนหลั่งไหลมากราบไหว้อย่างต่อเนื่องตลอดวัน องค์พระหลวงพ่อเงิน 700 ปี นั้นประดิษฐานอยู่บนฐานที่สร้างกระจกใสปิดด้านหน้าไว้

หลวงพ่อเงิน 700 ปี

หลวงพ่อเงิน 700 ปี ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่องิน ได้ขุดพบเมื่อ ปี พ.ศ. 2515 อันสืบเนื่องจาก เมื่อคราว พระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล)ได้ สร้างพระอุโบสถมิตรภาพไทย-อเมริกัน ขึ้น ท่านได้นิมิตถึงตาชีปะขาวมาบอกว่าที่ วัดป่าพิฆเณศวร์ ยังมีสมบัติอยู่มากแต่ไม่สามารถที่จะนำขึ้นมาได้พร้อมกับระบุตำแหน่งให้ทราบ ของบางอย่างเจ้าของเขาไม่ให้ ของบางอย่างนำขึ้นมาก็จะเกิดอันตรายแก่ผู้ครอบครองแต่ยังมีของสำคัญอยู่อย่างหนึ่งซึ่งไม่ควรที่จะอยู่ใต้แผ่นดิน อยากให้ไปเอาขึ้นมาเก็บรักษาไว้เพื่อเป็นสมบัติของพระศาสนา ให้ลูกหลานได้เคารพสักการบูชา ของสิ่งนั้น คือ “พระพุทธรูปเงิน” พร้อมกับกล่าวต่อไปว่ารุ่งขึ้นจะเกิดพายุในตอนบ่ายต้นตาลภายในวัดจะหักปลายตาลหักไปทางทิศไหนก็ให้ไปขุดตรงที่ปลายตาลที่ล้มลง ครั้นแล้วชายในชุดขาวก็หายไปเมื่อตื่นเช้าขึ้นมาพระมงคลธรรมวัฒน์เกิดความรู้สึกเป็นสุขเอิบอิ่มใจอย่างประหลาด ครั้นต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ดังนิมิต

ชาวบ้านได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า ปกติต้นตาลเป็นต้นไม้ที่มีความแข็งแรงแม้ถูกลมพัดก็ยากที่จะหักโค่นแต่วันนั้นต้นตาลในวัดร้างเมื่อถูกลมก็หักโค่นลงผิดปกติวิสัย สิ่งที่แปลกและน่าอัศจรรย์คือแทนที่ต้นตาลจะล้มไปตามแรงลมแต่ต้นตาลกลับทวนกระแสลมล้มลงทางทิศเหนือ พระมงคลธรรมวัฒน์ ได้นำชาวบ้านไปที่วัดป่าแล้วจุดธูปเทียนเครื่องสักการบูชาคุณพระรัตนตรัย คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ พร้อมกับอธิษฐานจิตอย่างแน่วแน่และมั่นคงว่า

“หากเป็นจริงดังนิมิต ท่านก็จะรักษาพระพุทธรูปไว้ให้เป็นที่เคารพสักการบูชาของลูกหลานและพุทธศาสนิกชนสืบไป ขออย่าได้มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวาง” ครั้นแล้วก็ขุดตรงที่ปลายต้นตาลหักลงตามนิมิต เมื่อขุดลงไปลึกประมาณชั่วคนยืนก็ได้พบแผ่นศิลา ๔ เหลี่ยมถูกจัดไว้ในลักษณะหีบ มีความสวยงาม อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ทุกประการถูกฝังอยู่ใต้ดิน ลักษณะของการฝังผู้ฝังมีการเตรียมการไว้อย่างดี เมื่อนำขึ้นมาเปิดฝาหีบออกก็ปรากฏว่า ภายในหีบศิลานั้นมีทรายเนื้อละเอียดสีขาวใสบริสุทธิ์เต็มหีบศิลานั้น เมื่อทรายต้องแสงอาทิตย์ก็ส่องประกายวาวระยิบระยับ เมื่อนำทรายออกมาก็เห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อเงินบริสุทธิ์ ประดิษฐานอยู่ภายในหีบศิลานั้น ดังนิมิต ท่านบอกว่า “เสียดายที่หลวงพ่อไม่ได้เก็บทรายนั้นไว้”

พระพุทธรูปนั้นคงพุทธลักษณะที่มีความงดงาม แม้จะถูกฝังรักษาไว้ใต้พื้นดินก็ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ผิวเงินยังสวยงามโดยไม่ได้รับการกระทบกระเทือนใดๆ พระมงคลธรรมวัฒน์อัญเชิญหลวงพ่อเงินประดิษฐานไว้ แล้วน้อมลงกราบด้วยปีติและศรัทธาที่ตั้งมั่น จากนั้นท่านได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ วัดปากน้ำ และถวายนามว่า “หลวงพ่อเงิน” โดยกำชับชาวบ้านมิให้นำเรื่องนี้ไปบอกกล่าวให้ใครฟัง การที่ท่านกำชับไม่ให้ชาวบ้านนำเรื่องนี้ไปเล่าให้ใครฟัง เนื่องจากเกรงจะเกิดปัญหาและถูกยึดไปเป็นสมบัติของหลวงเหมือนเมื่อครั้งขุด พระพิฆเณศวร์ ได้ ส่วน หีบศิลาหินทราย ท่านให้นำไปวางไว้ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่ภายในบริเวณวัดป่าแห่งนี้ นัยว่าเพื่อเป็นการบูชาพระพุทธองค์ ต่อมาต้นโพธิ์ก็ได้ห่อหุ้มหีบศิลานั้นเอาไว้แล้วกลืนหายไปตามกาลเวลา พระมงคลธรรมวัฒน์ เล่าว่า เมื่อครั้งชาวบ้านขุดพบพระพิฆเณศวร์ที่บริเวณวัดป่าแห่งนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส ป.ธ. ๕ พุทธศักราช ๒๔๘๒-๒๔๙๙) ทราบข่าวท่านได้ออกมาตรวจสอบและขอไป ปัจจุบันพระพิฆเณศวร์ถูกนำไปเก็บไว้ที่วัดสุปัฏนาราม เมืองอุบลราชธานี เมื่อมีการขุดพบพระพุทธรูปตามที่ปรากฏในนิมิตของหลวงพ่อพระมงคลธรรมวัฒน์ ชาวบ้านทุกคนจึงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องรักษาหลวงพ่อเงินเทพนิมิตไว้เป็นมรดกของลูกหลานในหมู่บ้าน

เพราะความผูกพันที่มีต่อบ้านเกิด และต้องการให้ลูกหลานได้ศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน พระมงคลธรรมวัฒน์ ได้สร้างพิพิธภัณฑ์ประจำหมู่บ้านขึ้นมาหลังหนึ่งให้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ วิถีชีวิตชาวบ้านลุ่มน้ำบุ่งสระพัง” เพื่อใช้เป็นแหล่งเก็บรวบรวมโบราณวัตถุและประวัติความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้ จะได้เป็นแหล่งศึกษาของประชาชนต่อไป

หลวงพ่อเงินกับการสถาปนาเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย
หลวงพ่อเงิน พระชัยหลังช้างแห่งแผ่นดินอีสาน เป็นพระพุทธรูปเนื้อเงินปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนล้านช้าง ฝีมือตระกูลช่างชาวบ้าน อายุประมาณ ๗๐๐ ปี ขึ้นไป จากนิมิตของ หลวงพ่อพระมงคลธรรมวัฒน์ ทำให้ทราบว่า หลวงพ่อเงิน เป็นพระพุทธรูปที่มีความเกี่ยวข้องกับการสถาปนาเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำกองทัพ ของเจ้าปางคำ แห่งราชวงศ์เชียงรุ้ง แสนหวีฟ้า สิบสองปันนา ที่แตกหนีกองทัพจีนฮ่อมาสร้างนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หนองบัวลุ่มภู ในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ ในการนั้น เจ้าปางคำได้อัญเชิญหลวงพ่อเงินขึ้นเป็นพระพุทธรูปประจำทัพมาด้วย

ต่อมา ราวปีพุทธศักราช ๒๓๑๔ พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ได้ครองราชย์ เกิดหวาดระแวงเจ้าพระวอ เจ้าพระตาว่าจะเป็นกบฏ พระเจ้าสิริบุญสารจึงได้ยกทัพมาตี นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ทำให้เจ้าพระตาถึงแก่อสัญกรรม ในสนามรบ เจ้าพระวอ ผู้น้องขึ้นเป็นผู้นำกองทัพแทน และได้ย้ายบ้านเมืองจากนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน มาตั้งบ้านเมืองอยู่ที่บ้านดอนมดแดง อันเป็นบริเวณอำเภอดอนมดแดงตลอดลำน้ำมูลขึ้นมาจนถึงตำบลกุดลาด ไปจนถึงที่ตั้งเมืองอุบลราชธานี ในปัจจุบัน
ภายหลังเจ้าพระวอ ถูกทหารเวียงจันทน์โจมตี จนถึงแก่อสัญกรรมที่ค่ายบ้านดู่บ้านแก เขตนครจำปาศักดิ์ ต่อมาท้าวคำผง ผู้บุตรเจ้าพระตา ได้ขึ้นเป็นผู้นำกองทัพ และได้แต่งตั้งให้ทหารไปเฝ้าพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารสืบไป
หลวงพ่อเงิน จึงน่าจะเป็นพระพุทธรูปประจำเมืองที่มีความสำคัญ หรือพระพุทธรูปประจำค่ายบ้านดอนมดแดงของเจ้าพระวอ ถ้าจะเปรียบก็น่าจะอยู่ในระดับพระไชยหลังช้าง คือ เป็นพระพุทธรูปประจำทัพ เมื่อจะไปทัพที่ไหน เมื่อเกิดสงครามที่ไหนก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนหลังช้างไปกับกองทัพ เพื่อให้เป็นสิริมงคลและเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ

การขุดพบพระพุทธรูปเงินศิลปะเชียงแสนล้านช้าง บริเวณวัดป่าพิฆเณศวร์ บุ่งสระพัง จึงมีความเป็นไปได้ว่าบริเวณวัดป่าพิฆเณศวร์น่าจะเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญ ในการตั้งบ้านเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย ของกองทัพเจ้าพระวอ ภายหลังอพยพมาจากนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานสู่ลุ่มน้ำมูล

พิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ

พิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ รวบรวมจัดแสดงเครื่องไม้เครื่องมือในการประกอบอาชีพของชาวบ้านลุ่มน้ำบุ่งสระพังอย่างมากมาย เนื่องจากมีสายน้ำสายหนึ่งแยกตัวออกมาจากแม่น้ำมูล มีความยาวประมาณ ๓ กิโลเมตร ทอดตัวเข้ามาในบริเวณหมู่บ้าน เรียกว่า “บุ่งสระพัง” อุดมไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด ประชาชนในชุมชนใกล้เคียงได้อาศัยแม่น้ำมูลและบุ่งสระพัง ในการประกอบอาชีพมาตั้งแต่บรรพกาล

ต่อมาได้เกิดการย้ายหมู่บ้านออกจากบริเวณบุ่งสระพัง เนื่องจากน่าจะเกิดจากการที่น้ำท่วมบ่อย ทำให้ชาวบ้านไม่สะดวกที่จะตั้งหมู่บ้านอยู่อาศัยในบริเวณริมน้ำ จึงอพยพออกจากที่ลุ่มหนีน้ำขึ้นสู่ที่ดอน อันเป็นสถานที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน การย้ายหมู่บ้านจากบุ่งสระพังมาตั้งอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน น่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับย้ายค่ายบ้านมดแดงไปตั้งมั่นที่ห้วยแจระแม ก่อนจะย้ายหนีน้ำอีกครั้งไปสร้างเมืองขึ้นที่ดงอู่ผึ้ง
นักโบราณคดีเชื่อว่า บริเวณบุ่งสระพัง แหล่งชุมชนโบราณซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่บ้านปากน้ำแต่เดิมนั้น เป็นที่ชุมนุมการคมนาคมอีกแห่งหนึ่งของผู้คนในภูมิภาคนี้ และน่าจะเป็นแหล่งที่เป็นศูนย์รวมของชุมชนหลากหลายเผ่าพันธุ์ ที่โยกย้ายถิ่นฐานเข้าอยู่อาศัย หมุนเวียนสลับกันไป มีความเจริญรุ่งเรืองสลับกับความถดถอย
หลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีที่บริเวณวัดป่าพิฆเณศวร์ ตลอดจนโบราณวัตถุที่จัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ สอดรับกับข้อมูลการสำรวจโบราณคดีตามโครงการเขื่อนปากมูล เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งได้พบหลักฐานสำคัญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ตามแหล่งต่างๆ รวมทั้งวัดในพระพุทธศาสนา และศาสนาอื่นตามลุ่มแม่น้ำมูล

หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่พบในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลจนถึงโขงเจียม ได้แก่ ขวานหินขัดแบบมีบ่า คณะผู้วิจัยกำหนดอายุขวานหินขัดดังกล่าว ราว ๓,๕๐๐ ปี มาแล้ว แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์บ้านก้านเหลือง อายุราว ๕๐๐–๘๐๐ ปีก่อน ค.ศ. แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์โนนเจ้าปู่บ้านบุ่งมะแลง อำเภอวารินชำราบ อายุ ราว ๕๐๐–๘๐๐ ปีก่อน ค.ศ. เป็นต้น
ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ จนถึงการตั้งเป็นชุมชนนั้น พบอยู่ทั่วไปตามลุ่มแม่น้ำมูลมีอายุราว ๑๒–๑๓ ศตวรรษขึ้นมา แหล่งโบราณคดียุคประวัติศาสตร์รุ่นเก่าที่สุดพบมากบริเวณวัดภูเขาแก้ว บ้านสะพือเหนือ ในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร
สำหรับหลักฐานที่แสดงว่าบ้านปากน้ำเป็นชุมชนโบราณบุ่งสระพัง เนื่องจากบริเวณวัดป่าพิฆเณศวร์ บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี มีรายการขุดพบพระพิฆเณศวร์ประติมากรรมหินทราย ศิลปะขอม ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ อายุประมาณ ๑,๓๐๐ ปี เครื่องปั้นดินเผา เสมาหินทราย พระพุทธรูปหินทราย ยุคทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อายุประมาณ ๑,๒๐๐ ปี เป็นต้น

จากหลักฐานข้างต้น นักโบราณคดีเชื่อว่า บริเวณดังกล่าวเป็นที่ชุมนุมการคนมาคมอีกแห่งหนึ่ง เป็นผลทำให้ศิลปวัฒนธรรมสมัยก่อนเมืองพระนคร และสมัยเริ่มแรกของเมืองพระนคร ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมาจนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ แพร่กระจายออกไปในภูมิภาคนี้ การอพยพผู้คนเข้ามาตั้งชุมชนอีสาน โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มน้ำมูล นักโบราณคดีเชื่อว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานขวานหินขัดแบบมีบ่า ซึ่งเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมยุคอาณาจักรเจนละ(ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑- ๑๒) ซึ่งเขมรสมัยก่อนเมืองยุคเมืองพระนคร กษัตริย์เขมรแยกตัวออกมาจากอาณาจักรฟูนัน สร้างเมืองขึ้น ซึ่งต่อมากษัตริย์เจนละก็สามารถยึดครองฟูนันได้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อิทธิพลของพราหมณ์ยุควัฒนธรรมเจนละนี้ เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นปกครอง แต่ไม่เป็นที่นิยมของหมู่ชนพื้นเมือง ในช่วงกษัตริย์ยุคเจนละมีอิทธิพลในอีสานที่สำคัญ คือ ศิลาจารึกสองหลักพบที่บริเวณบ้านคันเทวดา อำเภอโขงเจียม อุบลราชธานี ศิลาจารึกที่ปากโดมน้อย ศิลาจารึกที่ถ้ำภูหมาไน และศิลาจารึกที่วัดสุปัฏนาราม ระบุว่าจารึกขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นของเจ้าชายจิตเสนกุมาร กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรเจนละ พรรณนาถึงการปราบปรามหัวเมืองน้อยใหญ่ และเป็นการประกาศความยิ่งใหญ่เหนือดินแดนปากน้ำมูล ต่อมา อาณาจักรเจนละแตกออกเป็น ๒ สาขา คือ เจนละบกทางเหนือ และเจนละน้ำทางใต้ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ อิทธิพลของเจนละในอีสานจึงอ่อนกำลังลง และสิ้นอำนาจลงในที่สุด

ยุควัฒนธรรมทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕) ภายหลังอาณาจักรเจนละเสื่อมอำนาจลงวัฒนธรรมทวารวดีมีพื้นฐานพุทธศาสนาจากอินเดีย ซึ่งศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองอยู่ที่ภาคกลางของไทย เริ่มเข้ามามีอิทธิพล และได้รับความนิยมแพร่หลายเกือบทั่วทั้งอีสานอย่างรวดเร็ว สำหรับบริเวณวัดป่าพิฆเณศวร์มีการพบเสมาหินทราย อันเป็นศิลปะยุคทวารวดี และพบพระพุทธรูปหินทรายนาคปรก ศิลปะยุคทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ อายุประมาณ ๑,๒๐๐ ปี ภายหลังอาณาจักรเจนละเสื่อมอำนาจลง พระพุทธศาสนายุคทวารวดีก็เข้ามารุ่งเรืองแทนที่

วัฒนธรรมเขมรยุคเมืองพระนคร(ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕–๑๘) หลังจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงรวบรวมอาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔ แล้ว กษัตริย์เขมรอีกองค์หนึ่งได้สร้างเมืองพระนครขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๕ และตั้งแต่นั้นมาอำนาจเขมรเมืองพระนครก็ได้แผ่ปกคลุมไปทั่วอีสานอีกครั้ง หลักฐานโบราณวัตถุ บริเวณวัดป่าพระพิฆเณศวร์ เชื่อว่าน่าจะเป็นเทวสถานของศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรเจนละมาก่อน เพราะมีการขุดพบพระพิฆเณศวร์หินทราย อายุประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๓ ในบริเวณดังกล่าวด้วย นอกจากนั้น ยังพบบ่อน้ำผุดอยู่ในดงเจ้าปู่ ห่างจากบริเวณวัดป่าพระพิฆเณศวร์ไปราว ๑.๕ กิโลเมตร ซึ่งตรงกับหลักฐานการสร้างเทวสถานตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น ที่ปราสาทวัดภูในประเทศลาว และในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ยังมีรายงานการขุดพบโคอุสุภราชหินทราย ซึ่งเป็นวัวพาหนะของพระอิศวร ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ที่บริเวณข้างวัดป่าพระพิฆเณศวร์ ไปทางทิศตะวันออก (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ชาวบ้านรอบวัด) และได้มีการขายทอดตลาดไปยังนักเล่นของเก่าในจังหวัดอุบลราชธานี

ภายหลังสิ้นสุดเขมรยุคเมืองพระนคร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๓ เป็นต้นมา ได้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานของประชาชนเข้าสู่บริเวณลุ่มน้ำมูลอีกครั้ง การอพยพครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๒๓๑ เมื่อเวียงจันทน์เกิดจลาจล ท่านพระครูโพนสะเม็กผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวลาวได้อพยพผู้คนราว ๓,๐๐๐ คนพร้อมเจ้าหน่อกษัตริย์และพระมารดาผู้เป็นมเหสีของเจ้าเวียงจันทน์ที่ถึงแก่พิราลัยกลางจลาจลครั้งนั้น หนีภัยไปอยู่ในเขตเขมร ต่อมาย้ายมาที่จำปาศักดิ์และตั้งเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นเป็นเจ้าปกครอง มีเขตแดนตามลำน้ำมูลเชื่อมระหว่างอุบลราชธานีถึงศรีสะเกษ

การอพยพครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๑๓–๒๓๑๙ เมื่อประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง สืบเชื้อสายจากนครเชียงรุ้ง แสนหวีฟ้า ภายใต้การนำของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ ได้อพยพมาตั้งรกรากในเขตบ้านดอนมดแดง และตั้งเมืองอุบลราชธานีขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๓๒๐

การอพยพใหญ่ทั้งสองครั้ง ทำให้เกิดการผสมผสานระหว่างชนชาติในดินแดนอีสาน รวมไปถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี ศิลปวรรณคดีตามลุ่มแม่น้ำมูล บริเวณบ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง จึงเป็นแหล่งชุมชนแหล่งหนึ่งที่ประชาชนเข้ามาพักอาศัยตั้งแต่บรรพกาล เนื่องจากเป็นสถานที่เหมาะแก่การเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่อาศัย ต่อมา ได้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาคนี้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ราบลุ่มลงสู่แม่น้ำมูลจนถึงหาดทราย น้ำไม่ลึก เหมาะสำหรับลงสู่แม่น้ำได้สะดวก มีการคมนาคมเชื่อมต่อได้หลายด้าน ในขณะเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งของแม่น้ำก็มีแหล่งน้ำ แยกตัวออกจากแม่น้ำมูล ซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด เหมาะสำหรับทำการเกษตร พิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ จึงเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนเมื่ออดีตกาลที่สำคัญ อันแสดงให้เห็นถึงร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของอารยธรรมมนุษย์ในอดีต

บริเวณวัดปากน้ำ

บริเวณวัดปากน้ำ หลังจากที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ย้อนรอยอดีตชาวบุ่งสระพังกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วเดินออกมาด้านข้างมองลึกเข้าไปจะเห็นพระธาตุพนมจำลองอยู่ด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ถัดไปเป็นหลวงพ่อเงิน 700 ปี จำลองเด่นตระหง่านตั้งแต่เข้ามาภายในวัด

หลวงพ่อเงิน 700 ปี จำลอง

หลวงพ่อเงิน 700 ปี จำลอง ขนาดหน้าตัก 8 เมตร สูง 18 เมตร ณ วัดปากน้ำ บุ่งสระพัง โดย สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ กทม. ปฏิบัติหน้าที่แทน สมเด็จพระสังฆราชฯ ประทานฤกษ์ และยกฉัตรพร้อมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออำนวยศรัทธาพุทธศาสนิกชนได้สักการะ หลวงพ่อเงิน 700 ปี ด้วยความสะดวก และ เป็นสถานที่รวมจิตใจของพุทศาสนิกชนทั่วไป ตลอดการจัดงานสำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิเช่น งานสมโภชน์ เป็นต้น

พระธาตุพนมจำลอง

พระธาตุพนมจำลอง พระธาตุพนมจำลอง ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร สูง 25 เมตร ยอดพระธาตุ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปทองคำสัมฤทธิ์ ที่ได้มาจาก วัดป่าพระพิฆเณศวร์ ภายในพระธาตุพนมจำลอง อีกหนึ่งนัยยะพระมงคลธรรมวัฒน์ ได้สร้างพระธาตุพนมจำลอง เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงครูบาอาจารย์ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (หลวงปู่รอด นันตโร) บูรพาจารย์ ของ ท่าน

อัฐิธาตุสถานพระมงคลธรรมวัฒน์

อัฐิธาตุสถานพระมงคลธรรมวัฒน์ อัฐิธาตุสถานพระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จตฺตสลฺโล) ตั้งอยู่ด้านล่าง ของ พระธาตุพนม จำลองซึ่งสร้างเป็นห้องที่บรรจุพระอัฐิ ของพระมงคลธรรมวัฒน์ และ รูปภาพถ่ายเป็นภาพที่ถ่ายทอดและแสดงให้เห็นถึงเรื่องราว เหตุการณ์ ต่างๆ ที่ท่านได้สร้างตลอดถึงการพัฒนา ด้วยความวิริยะ อุสาหะ เพื่อให้ ชุมชน บ้านเมือง เจริญรุ่งเรือง ตั้งแต่อดีต

พระอุโบสถวัดปากน้ำ

พระอุโบสถวัดปากน้ำ อุโบสถมิตรภาพไทย-อเมริกัน เมื่อทหารหน่วยครีเอชั่น ของกองทัพสหรัฐอเมริกา เข้าประจำการที่ฐานบินอุบลราชธานี ในภารกิจซ่อมบำรุงบ้านเมืองที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากสงคราม ได้ให้ความช่วยเหลือในการสร้างอาคารเรียนคอนกรีตหลังแรกของหมู่บ้านจนเสร็จสมบูรณ์ ทหารสหรัฐอเมริกายังได้ช่วยเหลือในการสร้างอุโบสถอีกด้วย โดยให้อิฐ หิน ปูน ทราย ต่างๆ มา จนแล้วเสร็จเป็นรูปร่าง พระมงคลธรรมวัฒน์เล่าว่า “สิ่งที่เป็นความหวังของท่านซึ่งมีอยู่ตลอดมา คือ ต้องการสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้นใช้แทนหลังเดิมซึ่งทรุดโทรมมากแล้ว โดยอยากให้เป็นอุโบสถลงรักปิดทองอย่างวัดในกรุงเทพฯ”

ก่อนหน้านี้ท่านเคยลงไปกรุงเทพฯ หลายครั้ง ไปฝากลูกศิษย์เรียนหนังสือบ้าง ไปเยี่ยมลูกศิษย์บ้าง และชอบเดินดูอุโบสถตามวัดใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งล้วนแต่วิจิตรสวยงาม แล้วก็ตั้งความหวังว่า จะต้องสร้างโบสถ์อย่างนี้ให้ได้ แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ การหาทุนสร้างอุโบสถขณะที่บ้านเมืองเพิ่งพ้นจากภาวะสงครามใหม่ๆ เป็นสิ่งที่อยู่ไกลเกินความเป็นจริง

สิ่งที่ท่านคิดว่าเป็นเรื่องยากกลับกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมา เพราะก่อนที่หน่วยครีเอชั่นของทหารสหรัฐอเมริกาจะถอนกำลังออกจากฐานทัพอุบลราชธานี ได้เสนอที่จะให้ความช่วยเหลือท่านในการพัฒนาวัด พระมงคลธรรมวัฒน์ไม่รีรอในการตัดสินใจ ท่านเลือกที่จะสร้างอุโบสถ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านปรารถนา และเป็นสิ่งที่สร้างได้ยากมากในต่างจังหวัด และแล้วเหล็ก อิฐ หิน ปูน ทราย อันเป็นอุปกรณ์ในการสร้างโบสถ์ก็ถูกลำเลียงเข้าสู่หมู่บ้านแห่งนี้อีกครั้ง ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการสร้างโรงเรียน และเป็นภารกิจสุดท้ายในฐานทัพอุบลราชธานี ของทหารหน่วยครีเอชั่น หน่วยพัฒนาเคลื่อนที่และปฏิบัติการด้านจิตวิทยา ของกองทัพสหรัฐอเมริกา พระมงคลธรรมวัฒน์เลือกนายช่างที่มีฝีมือดีที่สุด ของจังหวัดอุบลราชธานี บรรจงออกแบบอุโบสถที่มีขนาดเล็กเหมาะแก่การประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ในต่างจังหวัด แต่คงความวิจิตรงดงามอ่อนช้อยประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ตามแบบอย่างอุโบสถกรุงเทพมหานคร ลวดลายที่สลักเสลาบานประตูและหน้าต่าง เลือกช่างหลวงจากเวียงจันทน์เป็นผู้ออกแบบและสับลาย ท่านเล่าถึงการออกแบบลายประตูหน้าต่างอุโบสถว่า ไม่มีวัดไหนเหมือนที่นี่ เพราะช่างที่ทำเป็นช่างหลวงจากเวียงจันทน์ ตอนแรกไปเจอลายที่หนองคาย นึกชอบอยากจะได้ลายอย่างนี้บ้างแต่ก็ไม่รู้ว่าช่างไหนเป็นคนทำ อยู่ต่อมาก็มีคนมาหาแล้วบอกว่ามีคนไปบอกให้มาทำประตูหน้าต่างให้หลวงพ่อ ปรากฏว่าเป็นช่างหลวงหนีข้ามมาอยู่ฝั่งไทยเพราะเวียงจันทน์แตก

อุโบสถหลังนี้จึงเกิดจากการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบกรุงเทพฯ อุบลราชธานีและเวียงจันทน์เข้าด้วยกัน มีความงดงามอย่างลงตัว อุโบสถสำเร็จเป็นรูปร่างในระยะเวลาอันสั้น พร้อมกับการถอนตัวออกจากฐานบินอุบลราชธานีของทหารหน่วยครีเอชั่น กองทัพสหรัฐอเมริกา แต่ความหวังของพระมงคลธรรมวัฒน์ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ตราบใดที่อุโบสถหลังนี้ ยังไม่ได้ลงรักปิดทองอย่างวัดในกรุงเทพฯ ตามความปรารถนา ชาวบ้านต่างเรียกร้องให้มีพิธีสมโภชอุโบสถ แต่ท่านก็ปล่อยอุโบสถหลังนี้ค้างไว้ เฝ้ารอความหวังครั้งใหม่อยู่อย่างเงียบๆ ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนางานด้านอื่นต่อไปไม่หยุดนิ่ง

ในขณะที่อุโบสถหลังเก่าเริ่มผุพังลงตามกาลเวลา จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ อุโบสถหลังใหม่ที่ทหารอเมริกันให้ความช่วยเหลือ ในการสร้างก็ยังขาดทุนทรัพย์ ไม่สามารถดำเนินการสร้างต่อให้เสร็จสมบูรณ์ได้ ในภาวะจิตที่คิดจะหาทุนมาดำเนินการสร้างโบสถ์ต่อให้แล้วเสร็จ ค่ำคืนหนึ่งท่านเกิดนิมิตไปว่า มีชายคนหนึ่งใส่ชุดขาว เหมือนตาปะขาวถือพานดอกไม้ธูปเทียนเข้ามานั่งคุกเข่าตรงหน้าท่าน บอกว่าท่านเป็นเจ้าของสถานที่แห่งนี้ ตัวเขาจึงหมดภาระหน้าที่แล้วต้องการไปเกิด แต่ต้องอาศัยบุญที่ยิ่งใหญ่ถึงจะไปเกิดได้ จึงขอให้ท่านสร้างโบสถ์ต่อให้เสร็จและขอให้อุทิศส่วนกุศลให้ตัวเขาด้วย ในนิมิตพระมงคลธรรมวัฒน์ได้แย้งว่า ท่านไม่สามารถที่จะสร้างโบสถ์ให้เสร็จได้ในขณะนี้ เพราะยังไม่มีเงินซึ่งต้องใช้ปัจจัยอีกจำนวนมาก ตาปะขาวบอกท่านว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะช่วยเหลือ แต่ขอให้ท่านรับปากว่าจะสร้างโบสถ์ให้แล้วเสร็จ พระมงคลธรรมวัฒน์บอกว่า ท่านทำให้ได้แต่จะให้ท่านทำอย่างไร ตาปะขาวจึงบอกให้ไปขุดเอาของมีค่าที่วัดป่าพิฆเณศวร์ขึ้นมาเป็นทุนในการสร้างโบสถ์

เช้าวันนั้น พระมงคลธรรมวัฒน์ตื่นนอนด้วยความรู้สึกชุ่มชื่นเบิกบานใจ และเต็มไปด้วยความหวังอันงดงามว่า น่าจะเป็นนิมิตดีที่บ่งบอกว่าท่านจะสามารถสร้างอุโบสถหลังนี้ให้แล้วเสร็จได้ตามความประสงค์ แม้จะยังมองไม่เห็นหนทางว่าจะสำเร็จด้วยวิธีใด ท่านพยายามลำดับเหตุการณ์จากวันที่คิดจะสร้างอาคารเรียนให้กับโรงเรียนในหมู่บ้าน ตลอดจนสร้างอุโบสถหลังใหม่ในวัด สิ่งเหล่านี้ก็สำเร็จได้โดยไม่คาดฝัน แต่เพราะท่านเป็นคนเกรงใจ เห็นความทุกข์ยากลำบากของชาวบ้าน จึงไม่อยากรบกวนใครๆ แต่ก็มีเหตุการณ์บางอย่างชักนำให้เกิดสิ่งแปลกประหลาดขึ้น สามารถสร้างอาคารเรียนและอุโบสถหลังใหม่ขึ้นโดยที่แทบจะไม่ได้ใช้เงินเลย

พระมงคลธรรมวัฒน์เก็บนิมิตและความครุ่นคิดต่างๆ ไว้ในใจอย่างเงียบๆ วันหนึ่งท่านตัดสินใจไปพบครูบาอาจารย์ที่เคารพนับถือ และได้กราบเรียนให้ทราบถึงนิมิตเช่นนี้ ครูบาอาจารย์ก็ได้นำผู้ที่มีญาณมาตรวจดู ก็เห็นจริงตามนิมิต พระมงคลธรรมวัฒน์ตั้งเครื่องสักการบูชาน้อมระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย คุณครูบาอาจารย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย อธิษฐานจิตด้วยความสุจริตใจว่า “หากสิ่งของมีจริงตามนิมิตก็จะนำขึ้นมาเฉพาะเท่าที่ใช้ใน การดำเนินการสร้างอุโบสถให้แล้วเสร็จเท่านั้น มากกว่านี้ไม่ต้องการ”

อุโบสถวัดปากน้ำด้านหน้า

อุโบสถวัดปากน้ำด้านหน้า ประวัติการสร้าง (ต่อ)
ในที่สุด พระมงคลธรรมวัฒน์ได้นำชาวบ้านเข้าบูรณะวัดร้างแห่งนี้ และได้สิ่งของขึ้นมาตรงตามนิมิตทุกประการนอกจากสิ่งของมีค่าแล้วก็ยังพบข้าวของเครื่องใช้อีกหลายอย่าง พร้อมทั้งกระดูกของคนที่ถูกฝังอยู่ในผืนดินนั้นด้วย พระมงคลธรรมวัฒน์ได้สร้างพระพุทธรูปและนำสิ่งของบางอย่างบรรจุไว้ใต้ฐานพระพุทธรูป และได้สร้างเจดีย์สำหรับบรรจุกระดูกดังกล่าวไว้ที่วัดป่าพิฆเณศวร์นั้น พร้อมทั้งทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตามประเพณีนิยม ท่านสรุปเหตุการณ์ในช่วงนี้ว่า “ท่านมาเข้าฝันหลวงพ่อ หลวงพ่อชี้ให้ขุดตรงไหน ขุดลงไปก็เจอของตรงนั้น แสดงว่าท่านอยากให้”

การขุดพบสิ่งของดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาขึ้นว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งของดังกล่าว ท่านจึงได้แจ้งไปยังอำเภอเจ้าหน้าที่ของอำเภอและฝ่ายการศึกษาก็มาหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุป ในที่สุดทางอำเภอได้เสนอว่า ควรให้มีการดำเนินการไปตามที่ท่านนิมิต คือ ให้นำไปใช้ในการดำเนินการสร้างอุโบสถต่อไป โดยเขียนรายงานบันทึกไว้เป็นหลักฐานส่งไปยังอำเภอว่า ได้มีการบูรณะวัดร้างแห่งหนึ่งและขุดค้นพบสิ่งของเหล่านี้โดยอยู่ในความดูแลของทางวัด ซึ่งท่านก็ได้ปฏิบัติตามนิมิตทุกประการ ในขณะเดียวกันก็มีเจ้าหน้าที่บางคนแอบขโมยเอาของบางอย่างไปแต่ยังไม่ทันข้ามคืนก็ต้องเอากลับมาคืน ในที่สุดพระมงคลธรรมวัฒน์ก็ได้ดำเนินการสร้างอุโบสถต่อ และสามารถสร้างอุโบสถลงรักปิดทองได้แล้วเสร็จดังความตั้งใจ

หลวงพ่อนาคปรก

หลวงพ่อนาคปรก (เบื้องหน้าพระประธานในพระอุโบสถ) เป็นพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย ศิลปะยุคทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕ อายุประมาณ ๑,๓๐๐ ปี เป็น พระพุทธรูปนาคปรกที่แปลกไปจากที่พบในประเทศไทยทั้งหมด เนื่องจากพระพุทธรูปางนาคปรกโดยทั่วไปมักจะมีพญานาคตัวเดียวขนดเป็นฐานชุกชี แล้วแผ่พังพานออกเป็น ๗ หัว เหนือพระเศียรพระพุทธรูป สำหรับพระพุทธรูปนาคปรก วัดปากน้ำ มีพญานาค ๗ ตัว ทอดขนดกอดเกี้ยวรวมเป็นหนึ่ง แล้วแผ่พังพาน ๗ หัว เหนือพระเศียรพระพุทธ
ปฏิมากร เรียกว่า พญานาค ๗ ตัว ๗ เศียร แผ่พังพานเป็นกำบังพระพุทธเจ้าหลวงพ่อนาคปรก เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดป่าพระพิฆเณศวร์ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ชาวบ้านจึงย้ายหมู่บ้านหนีน้ำไปสร้างหมู่บ้านแห่งใหม่ขึ้น ซึ่งก็คือบ้านปากน้ำในปัจจุบัน และได้อัญเชิญหลวงพ่อนาคปรกขึ้นมาด้วย

การพบพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย ศิลปะยุคทวารวดี บริเวณวัดป่าพิฆเณศวร์ บ้านปากน้ำ สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ตามลุ่มแม่น้ำมูล ที่มีอายุราว ๑๒–๑๓ ศตวรรษขึ้นมา แหล่งโบราณคดียุคประวัติศาสตร์รุ่นเก่าที่สุดพบมากบริเวณวัดภูเขาแก้ว บ้านสะพือเหนือ ในเขตอำเภอพิบูลมังสาหาร จากหลักฐานข้างต้น เชื่อได้ว่า บริเวณชุมชนโบราณบุ่งสระพัง เป็นที่ชุมนุมการคนมาคมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอีสาน เป็นผลทำให้ศิลปวัฒนธรรมสมัยก่อนเมืองพระนคร และสมัยเริ่มแรกเมืองพระนคร ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ลงมาจนถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๕ แพร่กระจายออกไปในภูมิภาคนี้ ซึ่งการอพยพผู้คนเข้ามาตั้งชุมชนอีสาน โดยเฉพาะบริเวณที่ราบลุ่มน้ำมูล เริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยพบหลักฐานขวานหินขัดแบบมีบ่า ซึ่งเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์

สำหรับวัฒนธรรมยุคทวารวดี มีพื้นฐานพุทธศาสนาจากอินเดีย มีศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองอยู่ที่ภาคกลางของไทย เริ่มเข้ามามีความสำคัญในอีสาน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๕ ก่อตัวขึ้นภายหลังอาณาจักรเจนละเสื่อมอำนาจลง และต่อมาพระพุทธศาสนายุคทวารวดีก็ได้รับความนิยมแพร่หลายเกือบทั่วทั้งอีสานอย่างรวดเร็ว

จบการนำเที่ยววัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง) ของเราในทริปนี้ครับ หวังว่าภาพและข้อมูลเหล่านี้คงเป็นประโยชน์ต่อคนที่เข้ามาอ่าน และขอเชิญชวนทุกคนอีกครั้งหนึ่งให้ไปสักการะพระบรมสารีริกธาตุกันให้ได้ ทางวัดอัญเชิญมาประดิษฐานให้สักการะกันจาก 9 ประเทศ จนถึงสิ้นปีนี้ครับ ขอบคุณข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับวัดปากน้ำจาก http://www.paknamubonclub.com/

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง) อุบลราชธานี
เดอะ มูน รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
TheMoonResortUbon เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
Thai เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
บัวแก้ว รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุ่นเรือน เรสซิเดนซ์ แอนด์ เรสเทอรองต์
  13.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ ลากูนา เรสต์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.84 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านสวน เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  13.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุวิ โคโค บูทิก รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  14.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุบล น้ำซับ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
อพาร์ตเมนต์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 16 ตร.ม. – ตัวเมืองอุบลราชธานี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  15.95 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดปากน้ำ(บุ่งสระพัง) อุบลราชธานี
วัดสระประสานสุข (วัดบ้านนาเมือง)
  17.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดบูรพาราม อุบลราชธานี
  19.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑ์เปิดบ้านก้านเหลือง อุบลราชธานี
  20.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดมหาวนาราม อุบลราชธานี
  20.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ อุบลราชธานี
  20.89 km | แผนที่ | เส้นทาง
หาดวัดใต้ อุบลราชธานี
  21.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดแจ้ง อุบลราชธานี
  21.09 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
  21.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทุ่งศรีเมือง อุบลราชธานี
  22.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
  22.16 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com