www.touronthai.com

หน้าหลัก >> ชลบุรี >> อุทยานสามก๊ก

อุทยานสามก๊ก

 อุทยานสามก๊ก เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่งดงามด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานไทย-จีน ในเนื้อที่ 36 ไร่ ซึ่งริเริ่มขึ้นจากแนวคิดของคุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง นักธุรกิจเชื้อสายจีนชั้นนำของไทย มีการวางรูปแบบตามศาสตร์ของฮวงจุ้ยจีน ประกอบด้วย อาคาร 5 ชั้น จัดแสดงภาพเขียนสีน้ำมันที่บันทึกเรื่องราวชีวิตของขงเบ้งและรูปปั้นกังไสตัวเอกจากพงศาวดารในวรรณกรรมสามก๊ก ชั้นบนสุดเป็นหอพระแก้วและจุดชมวิว มีอาคารประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์พระแม่กวนอิมสลักจากหินอ่อนสูง 4 เมตร รูปเทพเจ้ากวนอู และระเบียงจิตรกรรมซึ่งมีภาพวาดบนกระเบื้องเคลือบดินเผาบันทึกเรื่องราวตอนสำคัญของเรื่องสามก๊ก เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 10.00–17.00 น. ค่าเข้าชมผู้ใหญ่ 60 บาท เด็ก 30 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก 50 บาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 3842 1428-9 กรุงเทพฯ โทร. 0 2633 8114-5 website: www.3kingdomspark.com, E-mail: info@3kingdomspark.com

ข้อมูลเพิ่มเติม:Tel: 0 3842 1428-9
http://www.3kingdomspark.com/

แก้ไขล่าสุด 2017-05-09 09:14:05 ผู้ชม 26838

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
เดินทางสู่อุทยานสามก๊ก

เดินทางสู่อุทยานสามก๊ก เส้นทางการเดินทางไปยังอุทยานสามก๊กสามารถเข้าได้ทั้งจากถนนสุขุมวิทและทางหลวงหมายเลข 36 แต่โดยมากจะมาทางสุขุมวิทกันมากกว่าเนื่องจากมาเที่ยวสถานที่อื่นๆ ในพัทยาแล้วค่อยแวะมาที่อุทยานสามก๊ก จากสุขุวิทจะมีซอยหนึ่งชื่อพรประภานิมิตร ถ้ามาจากกรุงเทพฯ จุดสังเกตุอยู่ที่ด้านขวามือจะมีมัสยิดกับโบสถ์คริสต์อยู่ติดกัน อันเป็นเอกลักษณ์หาง่าย หากว่าเลี้ยวเข้าซอยไม่ทันไม่ต้องตกใจเดินหน้าไปอีกหน่อยเข้าซอยสุขุมวิท-พัทยา 53 ก็ได้เลี้ยวเข้าไปแล้วจะมีทางเชื่อมระหว่างซอยทั้ง 2 อยู่หลายแห่ง หรือเข้าซอยสุขุมวิท-พัทยา 53 แล้วจะตรงไปจนสุดที่วัดสุทธาวาสแล้วค่อยเลี้ยวขวามาบรรจบกับซอยพรประภานิมิตรก็ได้เหมือนกัน จากนั้นขับตามซอยพรประภานิมิตร ไปเรื่อยๆ ผ่านอ่างเก็บน้ำและย่านการค้า อาคารพาณิชย์หลายแห่งดูเป็นย่านที่ค่อนข้างเจริญ ลึกเข้าไปหน่อยข้ามทางรถไฟ จากนั้นทางจะค่อยๆ เล็กลง หมู่บ้านก็จะเริ่มห่างออกเรื่อยๆ เริ่มจะเป็นบรรยากาศที่มีสวน ไร่มันสำปะหลัง ขับไปตามป้ายบอกทางเรื่อยๆ จะเริ่มสงสัยว่าเป็นทางเข้าอุทยานสามก๊กจริงหรือเปล่าเพราะทั้งเล็กลงๆ และขรุขระมาก แต่ขอบอกว่าใช่ มาถูกทางแล้ว
ในที่สุดจะมาถึงวัดเขาโพธิ์ทอง จะมีทางแยกให้เลือกทางขวาเข้าไว้ในที่สุดก็จะมาถึงป้ายอุทยานสามก๊กตรงปากทางแยก และมองเห็นอาคารแบบจีนสูงเด่นตระหง่านท่ามกลางบริเวณปลูกมันสำปะหลัง ที่ตรงทางแยกจะมองเห็นรีสอร์ทที่ชื่อ The horseshoe point รีสอร์ทที่อยู่ใกล้อุทยานสามก๊กมากที่สุด ตรงเข้าไปตามทางก็จะเห็นกำแพงรอบนอกบริเวณอุทยานสามก๊กที่เด่นตระหง่านด้วยสถาปัตยกรรมจีน ทางเข้าตรงเข้าไปอีกหน่อยก็จะเห็น

อีกเส้นทางหนึ่งคือทางหลวงหมายเลข 36 จากชลบุรีมุ่งหน้าระยอง กลับรถเข้าทางไปนาเกลือ เส้นทางคดเคี้ยวริมอ่างเก็บน้ำมาบประชันไปบรรจบกับซอยพรประภานิมิตรที่วัดเขาโพธิ์ทองเลี้ยวซ้ายแล้วเลี้ยวขวา

ลานจอดรถอุทยานสามก๊ก

ลานจอดรถอุทยานสามก๊ก มาถึงลานจอดรถที่กว้างขวางเอามากๆ นอกกำแพง มีศาลาสำหรับชำระค่าผ่านประตู ผู้ใหญ่ 80 บาท (ชาวไทย) จากนั้นก็เข้าไปได้ ส่วนจะผ่านศาลาแห่งนี้เข้าไปหรือเข้าทางประตูที่กำแพงด้านขวามือก็ตามสะดวก ในกรณีที่นักท่องเที่ยวมากันมากก็อาจจะบังคับทางเข้าออกแต่ตอนนี้เข้าได้หมดทั้ง 2 ทาง ที่นี่มีบริการเครื่องดื่มบางชนิดเท่านั้นไม่มีอาหารขาย ควรคิดโปรแกรมเรื่องมื้ออาหารให้ดีถ้ามาใกล้เที่ยงโดยไม่กินอะไรมาก่อนจะหิวได้ นอกจากนั้นยังมีชุดชาวจีนให้เช่า ราคา 150 บาท ติดต่อเช่าชุดด้านในอาคารอยู่ซ้ายมือของรูปนี้ ถ้าตรงไปจะเป็นทางไปห้องน้ำ ด้านขวามือเป็นทางเข้าภายในอุทยานสามก๊ก

อาคารเจ้าแม่กวนอิม

อาคารเจ้าแม่กวนอิม เข้าประตูระหว่างกำแพงมาแล้วจะมองเห็นอาคารหลังหนึ่งด้านขวามือของเราได้ชัดกว่าใคร อาคารหลังนี้เป็นที่ประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิมหินอ่อนขาว รอบๆ บริเวณทั้งหมดเป็นสนามหญ้ากว้างใหญ่ การก่อสร้างอาคารที่นี่ใช้หลักฮวงจุ้ย เป็นศาสตร์ตามความเชื่อแบบจีน หากจะเดินเข้าไปชมภายในจะเดินตรงไปยังอาคารต่างๆ ตามทางเดินก็ได้หรือจะเดินเลียบกำแพงไปก็ได้ทั้งด้านซ้ายและขวา หากเดินตามกำแพงซึ่งมีหลังคาคลุมตลอดจะมีภาพจิตรกรรมบนกระเบื้องกังไสของจีนเรื่องสามก๊กทั้งหมด 56 ตอน นับเป็นภาพจิตรกรรมที่ยาวที่สุดในโลก

อุทยานสามก๊ก

อุทยานสามก๊ก อาคารหลังนี้โดดเด่นด้วยความสูงกว่าอาคารหลังอื่นๆ สร้างอยู่ตรงกลางระหว่างอาคารทั้ง 2 ด้าน เป็นจุดเด่นที่สุดในการมาอุทยานสามก๊ก ระหว่างทางเดินไปยังอาคารแต่ละหลัง 2 ข้างทางปลูกต้นมะขามเอาไว้เรียงเป็นแนวสวยงาม ทางเดินจากอาคารเล็กด้านข้างทั้ง 2 ข้าง จะมาบรรจบกับทางเดินไปยังอาคารใหญ่เป็นเหมือนเครื่องหมาย +

อาคารใหญ่อุทยานสามก๊ก

อาคารใหญ่อุทยานสามก๊ก ผ่านแนวต้นมะขามมาแล้วจะมองเห็นอาคารหลังนี้ได้ชัดมากขึ้น มีเครื่องหมายหยิน-หยาง ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงหน้าอาคาร

อาคารใหญ่อุทยานสามก๊ก

อาคารใหญ่อุทยานสามก๊ก เดินเข้ามาใกล้อีกหน่อยให้พ้นจากต้นไม้ที่อยู่รอบข้างจะมองเห็นอาคารหลังนี้รวมทั้งฐานของอาคาร 3 ชั้น มีบันไดทอดสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตรงกลางมีลายสลักมังกรตามแบบการสร้างอาคารแบบจีน อาคารหลังนี้ดูเข้มขรึมหลังคาสีน้ำเงิน มีเพียงเสาคู่หน้าที่เป็นสีแดงตัดกับตัวอาคาร ที่ฐานมีรูปสลักตกแต่งอยู่มากมายเรียงรายกันไป อาคารลักษณะแปดเหลี่ยมสูงใหญ่นี้เป็นสถานที่หลักในการศึกษาเรื่องราวของสามก๊ก

ฐานอาคารอุทยานสามก๊ก

ฐานอาคารอุทยานสามก๊ก

ฐานของอาคารใหญ่อุทยานสามก๊ก

ฐานของอาคารใหญ่อุทยานสามก๊ก หลังจากที่ได้ชมบริเวณรอบๆ และด้านนอกของอาคารแล้วคราวนี้เข้าไปด้านในกันครับ

อนุสรณ์คุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง

อนุสรณ์คุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ประตูเข้าออกของอาคารมีหลายด้าน ตามการสร้างอาคารทรงแปดเหลี่ยม ประตูเป็นบานกระจกจะปิดเข้าได้เองถ้ากางไม่ถึง 90 องศา แต่คงเป็นเพราะอาคารหลังนี้สร้างมานานแล้วเวลาบานประตูปิดเข้าจะมีเสียงดังมาก ควรเอามือรับไว้ไม่ให้บานประตูแกว่งไป-มา หรือถ้าจะเปิดให้กาง 90 องศาไว้ตลอดก็กลัวว่านกจะบินเข้ามาติดในอาคาร

เมื่อเข้ามาแล้วสิ่งที่จะเห็นเป็นสิ่งแรกคือ รูปเหมือนคุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ผู้ริเริ่มการสร้างอุทยานสามก๊ก

คุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง เป็นนักธุรกิจเชื้อสายจีนชั้นนำของประเทศไทย ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงลูกๆ เนื้อหาในจดหมายมีข้อความบางส่วนว่า

"...จงทำงานกับสิ่งที่ลูกมีอยู่ และเมื่อลูกทำได้เพียงพอแล้วจงตอบแทนให้กับสังคมและประเทศชาติ ซึ่งให้ทุกสิ่งกับลูก..."

ลูกๆ ของคุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้งจึงได้มีการสร้างอุทยานสามก๊ก ให้คุณพ่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ท่านได้ให้ไว้ก่อนลาจากไป คือการสร้างสถานที่นี้ให้เต็มไปด้วยคุณค่าของพุทธศาสนาที่ท่านเคารพ ศิลปะและวัฒนธรรมของไทยที่เป็นแผ่นเดินที่ท่านอาศัย และของจีนที่เป็นบ้านเกิด เป็นที่จุดประกายทางการศึกษาให้กับพงสาวดารจีนเรื่อง "สามก๊ก" ที่ท่านได้ใช้เป็นเสมือนคู่มือดำเนินชีวิต และที่สำคัญที่สุดสถานที่นี้จะเป็นที่หารายได้เพื่อที่จะนำกลับไปตอบแทนแก่สังคมและแผ่นดินไทย

เนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวนั้นได้จารึกไว้ด้านหลังอนุสรณ์คุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง โดยแปลเป็น 2 ภาษา

รูปตัวละครสามก๊ก

รูปตัวละครสามก๊ก เป็นจุดเด่นของอุทยานสามก๊กแห่งนี้ รูปเหล่านี้สร้างด้วยขนาดใกล้เคียงกับคน อยู่ชิดผนังมีกระจกล้อมรอบ บางส่วนตั้งไว้เด่นออกมามีตู้กระจก 3 ด้าน ส่วนด้านหลังเป็นข้อมูลของบุคคลในสามก๊กเหล่านี้ให้ศึกษา ตัวอย่างเช่น

ตั๋งโต๊ะ Dong Zhuo (Tang Tow) ขุนศึกบ้านนอกผู้โหดเหี้ยมกักขฬะ ทารุณหยาบช้า ทำการปราบกรามกบฏโพกผ้าเหลืองที่พ่ายแพ้แก่กบฏ แต่ใช้เงินสินบนให้ขันทีจึงไม่ได้รับโทษ ได้โอกาสตั้งตัวเป็นใหญ่ เพราะความโง่เขลาของโฮจิ๋น ผู้ออกคำสั่งเรียกกองทัพตั๋งโต๊ะเข้าราชธานีเพื่อกำจัดขันที กองทัพตั๋งโต๊ะถึงราชธานีพอดีกับเกิดการณ์วุ่นวาย ตั๋งโต๊ะได้ทีฉวยโอกาสยึดอำนาจตั้งตัวเป็นใหญ่ยิ่งเมื่อตั๋งโต๊ะได้ลิโป้ผู้เยี่ยมวรยุทธเป็นทหารเอก ก็เป็นดั่งพยัคฆ์ติดปีก เหิมเกริมอาละวาดก่อกรรมทำเข็ญหนักขึ้น พันธมิตรกองทัพหัวเมืองรวมตัวกันทำศึกกับตั๋งโต๊ะ ตั๋งโต๊ะเผาราชธานีทิ้ง หลบไปเสวยสุขที่อื่น ต่อมาอองอุ้นวางแผนอุบายหญิงงามให้นางเตียวเสียนยั่วให้ลิโป้กับตั๋งโต๊ะแตกกันตั๋งโต๊ะถูกลิโป้ฆ่าตาย

นางเตียวเสียน Diao Chan (Tiew Sian) สาวน้อยสคราญโฉม บุตรเลี้ยงของอองอุ้นเสนาบดีผู้ใหญ่ นางอาสาช่วยอองอุ้นกำจัดตั๋งโต๊ะผู้โฉดชั่ว เสี้ยมให้ลิโป้แค้นเคืองตั๋งโต๊ะ แล้วนางเตียวเสียนใช้มารยาหญิงยั่วยุให้ลิโป้เพิ่มเพลิงแค้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งตัดสินใจฆ่าตั๋งโต๊ะ หลังจากลิโป้ฆ่าตั๋งโต๊ะแล้ว ลิฉุยกุยกีลูกน้องตั๋งโต๊ะก่อศึกล้างแค้น ลิโป้พ่ายแพ้ นางเตียวเสียนผู้ตกเป็นภรรยาลิโป้แล้ว ต้องระหกระเหินติดตามลิโป้ไปกระทั่งลิโป้จบชีวิต

หมอฮัวโต๋ Dr.Hua Tuo หมอฮัวโต๋เป็นนักวิชาการแพทย์ผู้มีชื่อเสียงมากในยุคสามก๊ก จดหมายเหตุประวัติศาสตร์บันทึกว่า เป็นผู้ค้นพบการวางยาชายาสลบแล้วทำการผ่าตัดส่วนท้องรักษาโรคได้ และคิดค้นท่าออกกำลังฝึกฝนร่างกายโดยเลียนแบบจากท่วงท่าของสัตว์ต่างๆ เช่น เสือ กวาง หมี ลิง และ กา
นิยายสามก๊กดึงเอาหมอฮัวโต๋มาเป็นผู้รักษาบาดแผลเกาทัณฑ์ให้กวนอู ต่อมาโจโฉ ตามตัวไปรักษาโรคปวดหัว (เข้าใจว่าคือโรคไมเกรน) ของตน หมอฮัวโต๋เสนอว่าต้องผ่าตัดสมอง โจโฉไม่ไว้ใจจึงฆ่าหมอฮัวโต๋

ขงเบ้ง (จูกัดเหลียง) Khong Ming (Cho-ko Liang) เป็นผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร มังกรหลับแห่งเขาโงสังกั๋ง บุคคลผู้ซึ่งเล่าปี่ต้องดั้นด้นติดตามหาตัวมาเพื่อจะขอให้เป็นนายทัพ (กุนซือ) ใหญ่ ถึงสามครั้งสามคราจึงสำเร็จ ขงเบ้งเลือกเฟ้น "นาย" ที่ตนจะยอมเป็น "บ่าว" เล่าเปียวแม้จะเป็นผู้ปกครองเกงจิ๋ว แต่ขงเบ้งไม่เลือกเล่าเปียวเป็นนายกลับเลือกเล่าปี่
ขงเบ้งเข้ารับราชการกับเล่าปี่เมื่ออายุเพียง 27 ปี ชีวิตอีก 27 ปีที่เหลือของขงเบ้ง ช่วยให้เล่าปี่ได้ครอบครองแผ่นดินหนึ่งในสามส่วน และขึ้นสู่บัลลังก์ฮ่องเต้ของแคว้นจ๊กก๊ก
ขงเบ้งชอบสวมอาภรณ์นักพรต ถือพัดขนนก นั่งบัญชาการบนรถเข็นกลางสมรภูมิ เป็นผู้คิดค้นค่ายกลกระบวนยุทธ เขียนตำราพิชัยสงครามคิดประดิษฐ์ศัตราวุธพิเศษพิสดาร ประดิษฐ์โคยนต์ม้ายนต์ เครื่องกลสำหรับขนลำเลียงในพื้นที่ภูดอย
ขงเบ้งกำหราบปราบปรามชนพื้นเมืองในยูนนาน สร้างความมั่นคงให้จีนได้ครอบครองยูนนานมาตราบเท่าทุกวันนี้ ขงเบ้งมุ่งมั่นที่จะยกทัพรุกแดนตงง้วนของวุยก๊กเพื่อฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นได้นำทัพด้วยตนเองบุกไปหลายครั้ง กระทั่งป่วยสิ้นชีวิตในยุทธภูมิ

ภายในอาคารอุทยานสามก๊ก

ภายในอาคารอุทยานสามก๊ก ผนังอาคารด้านหน้าของรูปเหมือนคุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง มีชีวประวัติให้ศึกษา ปณิธานในการดำเนินชีวิตที่ว่า ชีวิตมีวิธีที่จะเปลี่ยนความทุกข์ทรมานให้เป็นโชคลาภ เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจครับ

สิ่งที่น่าสนใจในอุทยานสามก๊ก

สิ่งที่น่าสนใจในอุทยานสามก๊ก เรื่องราวของแนวคิดในการออกแบบและการสร้างอาคาร การวางผังต่างๆ ในอุทยานสามก๊ก มีเขียนบอกไว้ให้ได้ศึกษาหาความรู้เช่น

ความเป็นมาด้านการออกแบบ
จากแนวความคิดดั้งเดิมของคุณเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ที่มีความประสงค์จะก่อสร้างเจดีย์ตามแบบศิลปะจีนหรือสถาปัตยกรรมแบบจีนขึ้นไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานสืบไปนั้น ยังคงเป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบของโครงการในภาพรวม โดยมีการผสมผสานกับเอกลักษณ์ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยเชิงประยุกต์ เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงความผูกพันระหว่างแผ่นดินจีนอันเป็นถิ่นเกิดและแผ่นดินไทยอันเป็นที่สถิตย์มั่นของครอบครัว "ศรีเฟื่องฟุ้ง" ทั้งนี้ได้กำหนดให้มีรูปแบบของความสมถะ (Simplicity) กับความเป็นสมัยนิยม (Modern) เพื่อแสดงออกถึงความเรียบง่ายและความเป็นปัจจุบันของยุคสมัยที่ได้ทำการก่อสร้าง
แนวความคิดในการวางผังบริเวณ
จากลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ลาดต่ำลงไปทางทิศใต้ โดยมีภูเขาขนาดย่อมทอดตัวอยู่ทางทิศเหนือ จึงได้กำหนดตำแหน่งอาคารประธานไว้ทางทิศเหนือซึ่งมีระดับสูงกว่าและหันหน้าไปทางทิศใต้ อันทำให้ภูเขาขนาดย่อมลูกดังกล่าวกลายเป็นฉากหลังของอาคารประธานตามหลักการวางผังบริเวณที่เป็นมงคลมาแต่โบราณทั้งของไทยและจีน จากนั้นได้กำหนดแนวแกนหลักตามทิศเหนือ-ใต้ โดยมีซุ้มประตูทางเข้าวางเป็นตัวกั้นแบ่งพื้นที่ส่วนอนุสรณ์สถาน (Memorial Area) ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือกับส่วนบริการ (Service Area) ทางทิศใต้ และได้วางแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก เพื่อเป็นที่ตั้งของอาคารศาลเจ้าแม่กวนอิมกับอาคารเอนกประสงค์ของครอบครัว โดยมีระเบียงโค้งจันทร์เสี้ยวเป็นตัวเชื่อมต่อและโอบล้อมอาคารทั้ง 3 หลังอย่างอบอุ่นนุ่มนวลและเป็นหนึ่งเดียว
แนวความคิดในการวางผังภูมิสถาปัตยกรรม
สืบเนื่องจากการกำหนดภูมิจักรวาล ที่ได้วางตำแหน่งอาคารประธานไว้บนจุดที่สูงสุดของพื้นที่โครงการ จึงส่งผลต่อการวางผังภูมิสถาปัตยกรรมในด้านบวก โดยเฉพาะการกำหนดระดับของการเข้าถึงตัวอาคารประธานจะมีลักษณะของการยกระดับขึ้นไปเป็นระยะๆ จนเชื่อมต่อกับบันไดทางขึ้น บริเวณโดยรอบมีการวางผังแบบรูปทรงเรขาคณิต (Geometrical Form) มีลักษณะของการยกระดับขึ้นไปเป็นชั้นๆ เน้นให้เกิดความรู้สึกในการจัดลำดับในการเข้าถึงอาคาร (Sequence of Accessibility)
แนวความคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรม
รูปลักษณะของสถาปัตยกรรมจีน เป็นภาพรวมของกลุ่มอาคารทั้งหมดในโครงการ โดยมีการผสมผสานกับความเป็นปัจจุบันในสัดส่วนที่เหมาะสม ดังเช่นการใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และการใช้วัสดุสมัยใหม่ เพื่อให้สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นมานี้ สามารถเป็นตัวแทนของยุคสมัยที่ก่อสร้างได้อย่างชัดเจน

จากชั้นแรกมีบันไดทางเดินขึ้นไปยังชั้นที่ 4 ยอดของอาคาร บันไดสร้างเป็นบันไดวนเล็กๆ จากชั้นแรกขึ้นไปบนชั้นที่ 2 จะรู้สึกเหมือนเดินขึ้นมาแล้ว 3 ชั้น เพราะบันไดที่วนไปวนมา โดยระหว่างทางที่เดินขึ้นบันไดก็จะได้เห็นภาพที่ประดับไว้ที่ผนัง (ภาพบนขวา) จากนั้นเมื่อถึงชั้น 2 จะมีภาพเขียนเรื่องราวชีวิตของขงเบ้ง จำนวน 16 ตอน (ภาพล่างซ้าย) เมื่อเดินขึ้นมาชั้น 3 จะเห็นเครื่องลายครามและเก้าอี้แบบโบราณตั้งเรียงรายอยู่ทั้ง 8 ด้าน

บริเวณชั้น 2 อุทยานสามก๊ก

บริเวณชั้น 2 อุทยานสามก๊ก อาคารรูปทรงแปดเหลี่ยมมีทางเดินได้รอบมีเครื่องลายคราม เก้าอี้แบบจีน วางชิดผนังของอาคาร แต่ละด้าน ส่วนตรงกลางเป็นที่ว่างมองทะลุลงมาถึงชั้นล่างได้

ชั้น 4 อาคารใหญ่อุทยานสามก๊ก

ชั้น 4 อาคารใหญ่อุทยานสามก๊ก เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป พระสังกัจจายน์ ให้สักการะบูชา นอกจากนี้ยังเปิดประตูกระจกออกไปชมทิวทัศน์รอบบริเวณอุทยานสามก๊กที่สวยงามได้

พระบรมสารีริกธาตุอุทยานสามก๊ก

พระบรมสารีริกธาตุอุทยานสามก๊ก เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พบในถ้ำแห่งหนึ่ง ในจังหวัดลำพูน ดร.วรภัทร ภู่เจริญ เป็นผู้มอบให้อุทยานฯ เพื่อให้ประชาชนได้มาสักการะบูชา

ทิวทัศน์รอบอุทยานสามก๊ก

ทิวทัศน์รอบอุทยานสามก๊ก ที่อยู่ติดกันนี้ก็เป็น The Horseshoe point resort

วิวสวยของอุทยานสามก๊ก

วิวสวยของอุทยานสามก๊ก อาคารอีก 2 หลังที่สร้างเหมือนกันทุกประการเล็กกว่าอาคารประธานอยู่ทั้งด้านซ้ายและด้านขวาของอาคารประธานโดยมีทางเดินโค้งพระจันทร์เชื่อมถึงกัน สำหรับหลังที่อยู่ด้านขวาของอาคารประธานที่เห็นอยู่นี้เป็นอาคารเอนกประสงค์

วิวสวยด้านหน้าอุทยานสามก๊ก

วิวสวยด้านหน้าอุทยานสามก๊ก เบื้องล่างที่เดินผ่านต้นมะขามที่ปลูกเป็นคู่ๆ ข้างทางเดินรูปเครื่องหมาย + ไปยังอาคารต่างๆ ที่เดินผ่านมาในตอนขาเข้า วิวด้านหน้ามองได้ไกลจนถึงกำแพงภาพจิตรกรรมที่ยาวที่สุดในโลก ภาพพงศาวดารจีน "สามก๊ก" 56 ตอน บนกระเบื้องกังไสของจีน

ศาลเจ้าแม่กวนอิม

ศาลเจ้าแม่กวนอิม เป็นอาคารด้านซ้ายของอาคารประธานในอุทยานสามก๊ก เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินโค้งพระจันทร์เหมือนกัน

ทางเดินโค้งพระจันทร์

ทางเดินโค้งพระจันทร์ ออกจากอาคารใหญ่หรืออาคารประธานของอุทยานสามก๊กก็จะไปอาคารถัดไปคือศาลเจ้าแม่กวนอิมอาคารที่อยู่ด้านซ้ายมือ โดยผ่านทางเดินรูปโค้งพระจันทร์มีหลังคาคลุมตลอดทาง

อาคารศาลเจ้าแม่กวนอิม

อาคารศาลเจ้าแม่กวนอิม ลักษณะการก่อสร้างกลมกลืนคล้ายกันกับอาคารประธานหลังใหญ่เพียงแต่สร้างให้เล็กลงมาเท่านั้น ฐานอาคารชั้นเดียวตกแต่งแบบเดียวกันกับอาคารใหญ่ หากเดินตามทางเดินตรงกลางอุทยานสามก๊กจะมองเห็นแนวต้นมะขามทั้ง 2 ข้างของทางเดินเหมือนกับตอนที่เดินไปยังอาคารใหญ่

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือเจ้าแม่กวนอิม ในอุทยานสามก๊กเป็นเจ้าแม่กวนอิมแกะสลักหินอ่อนขาวประทับนั่งบนฐานดอกบัวองค์เจ้าแม่กวนอิมขนาด 405 x 127 เซนติเมตร

เทพเจ้าทั้ง 8 (โป๊ยเซียน)

เทพเจ้าทั้ง 8 (โป๊ยเซียน) อยู่ประจำด้านข้างของประตูในอาคารแปดเหลี่ยม บานกระจกใสทั้ง 8 ด้านรวมทั้งบานประตูทำให้มองเห็นทิวทัศน์รอบๆ อุทยานสามก๊กได้จากภายใน

อุทยานสามก๊ก

อุทยานสามก๊ก เป็นภาพจากศาลเจ้าแม่กวนอิม กับทางเดินโค้งพระจันทร์ที่เชื่อมต่อระหว่างอาคาร อาคารประธานขนาดใหญ่โดดเด่นอยู่กลางสนามหญ้าสีเขียวผืนใหญ่ หากวันที่เดินทางมีท้องฟ้าแจ่มใสจะเป็นภาพที่สวยงามมากแต่วันนี้ฟ้าครึ้มตลอดวันก็มีข้อดีที่อากาศไม่ร้อน

18 อรหันต์

18 อรหันต์ อยู่ในอาคารเอนกประสงค์ที่สร้างเหมือนกันกับศาลเจ้าแม่กวนอิม รูปอรหันต์ตามความเชื่อแบบมหายาน เรียงรายอยู่ตรงบันไดวนกลางอาคาร

บานประตูกระจกอุทยานสามก๊ก

บานประตูกระจกอุทยานสามก๊ก เป็นบานประตูแบบเดียวกันหมดทุกอาคาร มองจากด้านนอกจะเป็นภาพที่มีลวดลายสีทอง มองจากด้านในจะเป็นสีขาว บานประตูนี้อย่างที่ได้บอกไว้แล้วว่าหากกางไม่ถึง 90 องศา บานประตูจะปิดเข้าได้เองแต่จะมีเสียงดังและแกว่งไปแกว่งมา ก่อนจะหยุดนิ่ง หากเปิดเข้าไปควรรอรับบานประตูด้วยจะได้ไม่เสียงดังครับ (กลัวประตูพังด้วย)

ซุ้มประตูอุทยานสามก๊ก

ซุ้มประตูอุทยานสามก๊ก ตอนแรกเข้าเข้าทางประตูที่อยู่ตรงกำแพง เลยไม่ผ่านซุ้มประตูนี้ จากแนวการสร้างซุ้มประตูจะตรงกับอาคารใหญ่โดยมีแนวต้นไม้เป็นพุ่ม 2 ข้างทางเดินตรงไปจนถึงอาคาร

สระมังกร

สระมังกร เป็นสระบัวน้ำใสๆ ขนาดเล็ก มีรูปมังกรอยู่กลางสระ ขวามือของรูปมีทางเดินไปยังห้องน้ำ ด้านซ้ายเป็นทางเข้าออกและซื้อบัตรเข้าชม อาคารที่เห็นอยู่ตรงหน้าเป็นที่สำหรับเช่าชุดจีนมาใส่สำหรับถ่ายรูปที่ระลึกสวยๆ กันครับ

ปิดท้ายอุทยานสามก๊ก

ปิดท้ายอุทยานสามก๊ก จบการนำเที่ยวอุทยานสามก๊กด้วยภาพกว้างๆ ตรงซุ้มประตูและเสา 2 ต้นที่อยู่ด้านข้าง ไว้วันไหนท้องฟ้าสดใสจะกลับมาเก็บภาพสวยๆ ใหม่อีกรอบ...

ผู้ที่ชื่นชอบนิยายสามก๊กไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง หากมาพัทยาก็ลองแวะเข้ามาดูกันครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานสามก๊ก ชลบุรี
ฮอร์สชู พอยท์ รีสอร์ท แอนด์ คันทรี คลับ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
4 ห้องนอน 4 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 400 ตร.ม. – มาบประชันเรเซอเวอร์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
Siam Country Resort Pattaya เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
Santa Maria 5 Bed Pool Villa in East Pattaya เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ แม็กโนเลียส์ พัทยา บูทิก รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
อีสต์ ชอร์ พัทยา รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.15 km | แผนที่ | เส้นทาง
Tree Tops Condo Sea View Studio in 13th floor เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  3.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
รองเดวู รีสอร์ท พัทยา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
เลควิลล่า รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านซันเซ็ต รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.76 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com