www.touronthai.com

หน้าหลัก >> พระนครศรีอยุธยา >> ตันแลนด์

ตันแลนด์

 ตันแลนด์ ดินแดนแห่งความสมดุลย์ ตั้งอยู่ใน อิชิตัน กรีน แฟคทอรี หรือโรงงานผลิดชาเขียวอิชิตันนั่นเอง พอรู้แบบนี้แล้วยังสงสัยอยู่เลยว่าทำไมโรงงานผลิตชาเขียวจึงกลายมาเป็นที่เที่ยวไปได้ น่าจะเหมาะสำหรับคณะศึกษาดูงานมากกว่า แต่ที่นี่นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีความรู้หลากหลายแง่มุมผสมรวมกันอยู่ สมกับที่ชื่อว่าดินแดนแห่งความสมดุลย์ อย่างแรก แน่ๆ คือเทคโนโลยีการผลิตเครื่องดื่มชาเขียว อย่างที่สอง ความเข้าใจเรื่องวัฒนธรมการดื่มชา อย่างที่สาม เรื่องราวของสิ่งแวดล้อมและขยะ นอกจากนั้นยังเป็นที่เรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตของคุณตัน กว่าจะมาเป็นตัน อิชิตันได้อีกด้วย ทางเดินรอบโรงงานระยะทางประมาณ 400 เมตร แบ่งออกเป็นสองช่วงใหญ่ๆ คือ T of Life และ เรียนรู้อย่างอิชิตัน โรงงานอิชิตัน กรีน แฟคทอรี ตั้งอยู่เลขที่ 111/1 หมู่ 4 ตำบลอุทัย อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สอบถามและนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ 02-762-9999 หรือ www.facebook.com/tanland.ichitan

การเดินทาง เดินทางมาที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จากถนนสายเอเซียขึ้นสะพานโค้งที่หน้า Tesco Lotus ไปทางอำเภอวังน้อยเลี้ยวซ้ายที่ไฟแดงไปทางหลวงหมายเลข 3056 ไปทางอำเภออุทัย ถึงแยกทางเข้าอิชิตันจะมีป้ายบอกให้เลี้ยวขวาเข้าไปตามทางเลียบคลองประปา เลี้ยวขวาเข้าประตูโรจนะ G จากถนนพหลโยธิน เลี้ยวซ้ายที่ทางหลวงหมายเลข 309 (ถนนโรจนะ) ไปเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3056 (ทางไปอำเภออุทัย) ก็ได้เช่นกัน

ข้อมูลเพิ่มเติม:02-762-9999 หรือ https://www.facebook.com/tanland.ichitan

แก้ไขล่าสุด 2017-09-15 17:28:39 ผู้ชม 29617

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
สามแยกเข้าตันแลนด์

สามแยกเข้าตันแลนด์ การเดินทางให้มาตามที่ผมเขียนไว้แล้วด้านบน ก่อนจะมาถ้านัดหมายล่วงหน้าได้จะเป็นการดีครับ พอมาถึงทางเข้าตันแลนด์แล้วก็จะเห็นรูปการ์ตูนคุณตันยืนสวัสดีอยู่เกาะกลางถนนเลย เป็นอันว่ามาถูกทางแล้ว

เริ่มใหม่ได้...ถ้าหัวใจไม่ยอมแพ้

เริ่มใหม่ได้...ถ้าหัวใจไม่ยอมแพ้ คติของคุณตัน อิชิตัน ที่เขียนเป็นอักษรตัวใหญ่บนหลังคาโรงงานข้างๆ โลโก้ตัวทีใหญ่ๆ ของตันแลนด์ดินแดนแห่งความสมดุล เลยไปอีกนิดจะเป็นประตูหน้าโรงงานมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยรอรับเราอยู่แล้ว

โรงงานแห่งนี้เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เว้นวันจันทร์ เวลาเปิดคือ 10.00 - 16.00 น. นัดหมายล่วงหน้าที่ 02-762-9999 แล้วก็เอารถเข้าไปจอดหน้าตึกได้เลย แต่ส่วนใหญ่ไม่เข้าไปทันทีหรอกก็จะเดินมาถ่ายรูปหน้าโรงงานมุมประมาณนี้กันทั้งนั้นแหละครับ

ตันแลนด์

เข้ามาในตึกมองไปรอบๆ เห็นเคาน์เตอร์เจ้าหน้าที่ ด้านซ้ายมีบันไดขึ้นชั้น 2 ข้างบันไดมีชั้นวางกระปุกออมสินรูปคุณตันยืนเรียงกันอยู่หลายตัวหลายสี ตอนนี้ก็ติดต่อเจ้าหน้าที่แล้วถ้าเรามาเป็นหมู่คณะจะมีไกด์นำทางพร้อมบรรยายให้ด้วย แต่ถึงมาเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบครอบครัวก็มีเหมือนกันนะแต่ไม่ต้องใช้ไมค์ในการบรรยาย

ตะลุยตันแลนด์กันเถอะ

ตะลุยตันแลนด์กันเถอะ พอขึ้นมาชั้น 2 สิ่งแรกที่เราจะเห็นคือภาพนี้ ป้ายขนาดใหญ่ โลโก้อิชิตัน รูปคุณตันยืนยิ้มทักทายเราอยู่ บอร์ดที่เห็นเป็นฉากใช้รูปแบบตัวต่อขวดชาหลายๆ ขวดมาต่อกันครับ

Welcome Zone

Welcome Zone เอาละได้เวลาเริ่มต้นสู่ดินแดนแห่งความสมดุลของคุณตันกันแล้ว ก่อนที่จะก้าวเข้าไปชมอะไรต่อจากนี้ไป ไกด์ก็เริ่มบรรยายให้เราฟัง เริ่มจากเรื่องคำว่า อิชิตัน ด้วยคำว่า อิชิ นั้นแปลว่า หนึ่ง แต่หนึ่งในความหมายของคุณตัน ไม่ใช่หมายถึงการได้เป็นที่หนึ่งของตลาด แต่หมายถึงการรวมเป็นหนึ่ง ระหว่างโรงงาน พนักงาน และลูกค้า แหมความหมายดีมากครับ เอามาต่อกับชื่อตัวเองเป็นแบรนด์ทางการตลาด

ในเวลคัมโซนจะมีรูปคุณตันอยู่หลายขนาดหลายแบบหลายสี ที่เยอะที่สุดคือกระปุกออมสินเรียงรายอยู่เต็มไปหมด พอไกด์ถามว่ามีตุ๊กตาในห้องนี้กี่ตัว คงเดากันไม่ยากใช่มั้ยครับ ทั้งหมด 1111 ตัว นั่นเอง จากห้องนี้มองผ่านกระจกใสๆ ออกไปจะเห็นเครื่องจักรต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม ชาเขียว รวมทั้งเย็นเย็น ด้วย

นับแต่นี้ไปเราจะได้เรียนรู้เรื่องราวของ T of Life ครับ

วัฒนธรรมการชงชาของญี่ปุ่น

วัฒนธรรมการชงชาของญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกจัดไว้ให้เราได้เรียนรู้ ว่าชาเข้ามาในไทยและเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วจากญี่ปุ่นได้อย่างไร แล้วที่ญี่ปุ่นชงชาดื่มกันแบบไหน การนั่งบนเสื่อทาทามิ ขั้นตอนการชงชาที่ถูกต้อง การดื่มชาที่ถูกต้องพร้อมกับอุปกรณ์ของจริง มีภาพการ์ตูนจากจอบนพื้นเสื่อให้เราดู พร้อมกับการบรรยายของเจ้าหน้าที่ เป็นสื่อการเรียนการสอนทันสมัยมากทีเดียว

ตันแลนด์

เรื่องราวของภาชนะที่เราไม่เคยรู้มาก่อนหาความรู้กันได้ที่ห้องถัดมา ห้องนี้ถูกกั้นด้วยม่านทึบแยกออกจากห้องก่อนหน้าที่ห้องถัดไป เราได้รู้ว่าขวดขึ้นรูปเย็นซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อิชิตันนำมาใช้ผลิตเครื่อมดื่มออกสู่ตลาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้มทั้งทางด้านการประหยัดพลังงานในการผลิตขวดการประหยัดวัตถุดิบในการผลิต ความสะอาดปลอดภัยที่นำไปบรรจุเครื่องดื่ม ปริมาณที่คนไทยและคนทั่วโลกดื่มชาเขียว เราจะได้เห็นภาพของพลาสติกที่ถูกใช้ไป ว่ามากมายขนาดไหน และขวดขึ้นรูปเย็นช่วยเราได้ยังไง เมื่อเทียบกับการใช้ขวดประเภทอื่นๆ มาบรรจุเครื่องดื่ม

ก้าวแรกของชาเขียวบรรจุขวด

ก้าวแรกของชาเขียวบรรจุขวด ที่เห็นอยู่นี่มันชาในถุงชัดๆ คิดแบบนี้หรือเปล่าละครับ กาลครั้งหนึ่งสมัยที่ผมอายุน้อยกว่านี้ ผมไปนั่งกิน สุกี้ชื่อดังของไทย สิ่งที่ประทับใจไม่ใช่อาหารในหม้อไฟฟ้า ผมประทับใจเครื่องดื่มที่เค้าเอามาเติมให้ไม่อั้นดื่มหมดก็มาเติมให้อีก ไม่คิดตังค์ด้วย ไม่ชอบแบบเย็นเค้ามีแบบร้อนมาเป็นกาให้ ว้าว ผมชอบจริงๆ อยากจะห่อน้ำนั้นแหละกลับบ้าน แต่ก็ดูกระไรอยู่ผมก็จะดื่มแต่ที่ร้านก็พอแล้ว

ทีนี้มาดูที่ญี่ปุ่น บ้านเค้าก็มีร้านอาหารเหมือนกัน และเครื่องดื่มที่เค้าจะให้ลูกค้าก็คือน้ำชา ชาแต่ละร้านมีรสไม่เหมือนกัน บางร้านน้ำชาสร้างความประทับใจให้ลูกค้าจนต้องกลับมากินที่ร้านนี้เป็นประจำ สุดท้ายก็มีการขอเอาชานั้นกลับบ้าน ทางร้านก็จนปัญญา เอาชาใส่ถุงให้ ต่อแต่นั้นมาชาก็เข้าไปอยู่ในขวด เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ใครเล่าจะคิดว่าการนำชาใส่ถุงกลับบ้านในปี 1999 จะกลายมาเป็นธุรกิจขนาด หมื่นล้าน คือชาบรรจุขวดอย่างทุกวันนี้ ตรงนี้คุณตันเรียกว่า Tansformer ตันฟอร์เมอร์ นี่แหละ กระบวนการบรรจุชาเข้าไปในขวดพัฒนามาหลายแบบ เช่นการพาสเจอร์ไรส์ การบรรจุร้อน จนที่สุดก็มาเป็นระบบบรรจุเย็นอย่างที่เราดื่มอยู่ทุกวันนี้และเราจะได้เห็นขั้นตอนต่างๆ ของการผลิต ในตันแลนด์แห่งนี้เอง

นอกเหนือจากนั้นเราก็จะได้ความรู้ใหม่ๆ กับเรื่องชามากขึ้นด้วยครับ อย่างเช่น น้ำ 18.4 ลิตรใช้เพื่อผลิตใบชาให้พอต่อการชงชา 1 ถ้วย แล้วน้ำที่เอามาชงชา 1 ถ้วย ก็ต้องใช้ ถึง 4.7 ถ้วย เฉพาะน้ำที่คนจีนใช้ชงชาแล้วดื่ม ห้าแสนห้าหมื่นล้านถ้วย มาใส่ลงในสระว่ายน้ำโอลิมปิค เอาสระมาเรียงต่อกันจะได้ยาวจากลอสแองเจลิสถึงฮ่องกง (2 แสนกว่าสระ) ข้อมูลมากมายเหล่านี้ยากจะบรรยายให้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็พอจะบอกให้รู้ว่ามาตันแลนด์ไม่ได้มาดูเครื่องกรอกชาใส่ขวดเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้ความรู้มากมายหลายอย่างเหลือเกิน

แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คุณตันก็เอาชามาใส่ขวดโฆษณาทีวีแล้วผลิตอย่างเป็นล่ำเป็นสันได้เลย คุณตันเล่าเป็นตัวหนังสือแปะข้างผนังทางเดินเอาไว้ว่า ก่อนจะมาเป็นอิชิตัน ได้เอาน้ำชาร้านอาหารญี่ปุ่นใส่ขวดที่ไปเจอที่ตลาดมหานาค ไปวางขายตามงานวัด ตลาดนัด คอนเสิร์ต เดินหาลูกค้าด้วยตัวเองมาแล้ว

ผังกระบวนการผลิตอิชิตัน

ผังกระบวนการผลิตอิชิตัน เอาละมาถึงแล้วผังอธิบายขั้นตอนกระบวนการผลิตเครื่องดื่มของ อิชิตัน กรีน แฟคทอรี ดูเผินๆ เป็นผังธรรมดาๆ แต่พอเปิดสวิตซ์ผังนี้ขยับได้ครับ ไกด์จะบรรยายเครื่องต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการเก็บใบชาโน่นเลย จนออกมาอยู่ในขวดส่งเข้าตลาดมาอยู่ในตู้แช่เครื่องดื่มในร้านใกล้บ้านเรา โรงงานแห่งนี้ใช้ระบบอัตโนมัติเป็นส่วนใหญ่ อย่างเช่น ออโต้แวร์เฮาส์ เพียงกดปุ่มเข้าไปที่คอมพิวเตอร์ชิ้นส่วนที่ต้องการเบิกใช้ก็จะถูกส่งมาให้โดยหุ่นยนต์ที่วิ่งอยู่บนรางอย่างถูกต้องแม่นยำ

การออกแบบขวดอิชิตัน

การออกแบบขวดอิชิตัน เป็นเรื่องราวของการได้มาซึ่งรูปทรงของขวดที่ไม่ใช่ว่าแต่ละส่วนจะไม่มีที่มาที่ไปและไร้ความหมาย ส่วนโค้งส่วนเว้าของขวดมีวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น จากผังกระบวนการผลิตมาถึงตรงนี้ผมข้ามอะไรมามากมายหลายอย่าง เพราะกล่าวถึงทั้งหมดคงยาวเหยียด สิ่งหนึ่งที่ผมข้ามมาคือ การใช้ขวดบรรจุเย็น สามารถลดพลังงานลงได้เท่ากับน้ำมันเติมรถให้วิ่งได้ 1 ปี เป็นจำนวน 6800 คัน เลย พลาสติกที่ลดลงจากการใช้ขวดแบบอื่นเอามาทำเป็นตัวต่อต่อเป็นตึกใบหยก 2 ได้ 4 ตึก ลดพื้นที่หลุมขยะฝังกลบขวดได้เท่ากับสนามฟุตบอล 14 สนามลึก 100 เมตร

เป็นไงละครับ ข้อมูลดีๆ แบบนี้ก็มีให้อ่านอีกเยอะ สถิติเหล่านี้คำนวณจากยอดจำหน่ายชาเขียวในขวดบรรจุร้อนในปี 2554 650 ล้านขวดนะครับ

นอกจากนี้พลังงานจากการต้มชาได้มาจากบ่อบำบัดน้ำเสียสุญญากาศ ลดการทำลายชั้นโอโซน กากชาที่เหลือจากการต้มนำไปทำปุ๋ย และ Eco Board ทำโต๊ะตู้ ฝาผนัง ฯลฯ

ตันแลนด์

50000 ครอบครัวที่ดอยตุงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการทำการตลาดชาออร์แกนิคของคุณตัน ห้องนี้ทำภาพชาวเชาขนาดเท่าคนจริงจนทีแรกเดินเข้ามาตกใจนิดๆ เลย หลักการทำชาปลอดสารเพื่อสุขภาพของผู้บริโภคที่กำลังเป็นที่นิยมจากชาวไทยกำลังจะได้รับการขยายฐานการผลิตในโรงงานอิชิตัน เฟส 2 ในอีกไม่ช้า

เหตุการณ์น้ำท่วมและมูลนิธิตันปัน

เหตุการณ์น้ำท่วมและมูลนิธิตันปัน เป็นข่าวอันโด่งดังที่รู้กันทั่วประเทศในเหตุการณ์มหาอุทกภัย 2554 ในปีนั้นโรงงานของคุณตันสร้างใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และกำลังเดินเครื่องสายงานการผลิต เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายให้กับโรงงานอิชิตัน กรีน แฟคทอรี และชาวไทยไม่น้อยเลย แต่คุณตันก็ยังได้ให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัย มีมูลนิธิตันปัน ที่ได้ดำเนินงานจากผลกำไรของการขายชาและเครื่องดื่มในเครือ นับแต่จุดนี้ไปเราจะได้ย่างก้าวเข้าสู่พิพิธภัณฑ์แห่งการสูญเสีย

ตันแลนด์

เส้นทางเดินในโรงงานหรือสถานที่อาคารอื่นๆ เราย่อมต้องเห็นทางหนีไฟที่จำเป็นต้องมีไว้เผื่อฉุกเฉิน แต่ที่ตันแลนด์มีทางหนีน้ำ เป็นไอเดียตลกที่ใช้กลบเกลื่อนเบื้องหลังความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่คงมีไม่กี่คนที่ทำแบบนี้ได้ ถุงที่เห็นตั้งเรียงรายซ้อนกันหลายชั้นเป็นถุงปูนจริงๆ ที่ซื้อมาใช้ในการก่อสร้างโรงงาน แต่พอน้ำท่วมปูนในถุงก็จับตัวแข็งจนเรียงกันเป็นทางเดินได้ ภาพกราฟฟิครูปจรเข้ว่ายน้ำอยู่ข้างทางเดินของโรงงานชั้นบนที่เราต้องเดินผ่านเข้าไปพร้อมทั้งขยะลอยละล่องเหมือนอยู่ในเหตุการณ์ตอนนั้นจริงๆ

สภาพโรงงานที่เสียหายจากน้ำท่วม

สภาพโรงงานที่เสียหายจากน้ำท่วม เป็นภาพหนึ่งในหลายๆ ภาพที่ตันแลนด์เอามาติดไว้ให้ชมกัน

เครื่องจักรที่เสียเพราะจมน้ำ

เครื่องจักรที่เสียเพราะจมน้ำ นี่เป็นของจริง ที่เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนั้นจริงๆ เครื่องจักรนี้ไม่ต้องบอกก็รู้ว่ามีราคา 7 หลักเป็นอย่างน้อย เมื่อน้ำท่วมแล้วเอามาซ่อมๆ ล้างๆ ก็ทำงานได้ต่อ แต่คุณตันให้เอามาตั้งโชว์ไว้เฉยๆ เพื่อความเชื่อมั่นว่าในโรงงานนี้ผลิตสินค้าด้วยความสะอาดปลอดภัย โดยเครื่องจักรสะอาด ทันสมัย ในระบบปิด

ระบบหุ้มฉลากและตรวจสอบความเร็วสูง

ระบบหุ้มฉลากและตรวจสอบความเร็วสูง การเดินชมส่วนต่างๆ ของโรงงานไปพร้อมกับความรู้ที่คุณตันจัดเรียงเอาไว้รอบๆ ทางเดิน ดูโรงงานไปก็อ่านได้ความรู้เกี่ยวกับชาและพลังงานไปด้วย จนที่สุดมาถึงท้ายไลน์การผลิต เป็นการหุ้มฉลากด้วยความร้อนแล้วผ่านเครื่องตรวจสอบความเร็วสูงหาสิ่งปลอมปน ก่อนส่งบรรจุในลังแล้วย้ายไปเก็บในออโต้แวร์เฮาส์ แบบอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา ชาเขียวหรือเครื่องดื่มบรรจุขวดอื่นๆ จะถูกผลิตขึ้นมา 600 ขวดต่อนาทีต่อสายการผลิต เท่ากับ 1800 ขวดต่อนาทีใน 3 สายการผลิตที่มีอยู่ เดินเครื่องต่อเนื่อง 120 ชั่วโมงแล้วจะมีการหยุดเพื่อตรวจสอบและทำความสะอาดทั้งระบบ สามารถผลิตชาเขียวออกมาได้ 600 ล้านขวดต่อปี และ 2 สายการผลิตสำหรับเครื่องดื่มบรรจุกล่อง UHT ในปี 2014 นี้จะมีกำลังการผลิตมากขึ้นจากโรงงานเฟส 2 เป็น 1000 ล้านขวดต่อปี

อ้อ มิน่าละ ส่งรหัสไปเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ถูก เพราะคนส่งมากขนาดนี้นี่เอง ฮาาา

พิพิธภัณฑ์แห่งการสาบสูญ

พิพิธภัณฑ์แห่งการสาบสูญ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มากมายเกิดขึ้นบนโลกใบนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์และถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าอยู่ทุกยุคทุกสมัย ปัจจุบันนี้เราคงจะหาไม้ขีดไฟได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนโทรศัพท์ก็เล็กลงเรื่อยๆ จนตอนนี้มีนาฬิกาโทรได้มาแล้ว ก็ต้องดูกันไปว่าอะไรบ้างที่จะหายสาบสูญหรือสูญพันธุ์ไปจากโลกของเรา สัตว์ก็เช่นกันมากมายหลายชนิดที่จากมนุษย์โลกเราไปแล้ว ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันก็คงจะมีสัตว์สูญพันธุ์ไปอีกเรื่อยๆ

ขยะเงิน ขยะทอง

ขยะเงิน ขยะทอง เป็นชื่อของโซนเรียนรู้โซนนี้ เราจะได้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เราไม่ต้องการที่เรียกว่า ขยะ ได้มากมาย อย่างน้อยๆ เราก็จะได้รู้ว่าขยะชนิดไหนแลกเป็นเงิน หรือขายได้ อย่างไหนขายไม่ได้ ความรู้นี้ช่วยอะไรเราได้บ้าง ก็ช่วยให้เรารู้ว่าขยะชนิดไหนรีไซเคิลได้ไงครับ อันไหนรีไซเคิลได้ก็ขายได้ นั่นเอง อันไหนขายไม่ได้ เราก็ควรจะใช้มันให้น้อยลง เพราะนั่นเป็นขยะที่จะเพิ่มพูนขึ้นทำลายยาก ทำลายสิ่งแวดล้อม ฝังกลบก็จะไม่มีที่ให้ฝังกันอยู่แล้วครับ

ตันแลนด์

สายการผลิตที่กำลังผลิตเย็นเย็น

สายการผลิตที่กำลังผลิตเย็นเย็น

ห้องของน้ำ

ห้องของน้ำ ในห้องที่ล้อมไปด้วยถังน้ำสีขาว เปิดไฟส่องให้สว่าง มีน้ำไหลลงมากลางห้อง เราจะได้ความรู้เกี่ยวกับน้ำในห้องนี้เป็นอย่างมาก อย่างน้อยๆ เราก็มองเห็นภาพว่า น้ำบนโลกนี้ถ้าเทียบว่ามี 1 แกลลอน เรารู้มั้ยครับว่ามันเป็นน้ำที่มนุษย์ดื่มได้แค่ 5 หยด เท่านั้นเอง การรักษาน้ำเอาไว้จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับลูกหลานของเราเอง

ตันแลนด์

ตันแลนด์

จบการเดินทางผ่านดินแดนแห่งความสมดุล

จบการเดินทางผ่านดินแดนแห่งความสมดุล เอาละ หมดแล้วครับเรื่องราวของตันแลนด์ที่ผมสามารถเอามาบอกเล่าสู่กันได้ ส่วนอีกมากมายเหลือเกินที่ไม่ได้กล่าวถึงคงต้องมาสัมผัสเอาด้วยตัวเอง ท้ายที่สุดผมก็ลงมาจากชั้นบนมาที่เคาน์เตอร์พนักงานต้อนรับตรงนี้มีของที่ระลึกขายด้วย เยอะแยะมากมายหลายอย่างลองไปเลือกชมกันครับ ถ้าจะดื่มชาเขียวก็เดินไปหยิบเอาที่ตู้ซ้ายมือ ว่างๆ ลองไปชมกันความคิดเกี่ยวกับชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคุณอาจจะเปลี่ยนไปเยอะเลยละ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ตันแลนด์ พระนครศรีอยุธยา
ไทยเอเซีย โกลเด้นซี รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  8.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
สไมล์ แมนชั่น 1 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมทีเอ็ม แลนด์ เซอร์วิส เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
กรีน แมนชั่น แอนด์ เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.46 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ โซไซตี้ อยุธยา รีสอร์ต
  9.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ โซไซตี้ อยุธยา รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมแอท อยุธยา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.12 km | แผนที่ | เส้นทาง
แอมโป เรสซิเดนซ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
อยุธยา แกรนด์ โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
แคนทารี โฮเทล อยุธยา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ตันแลนด์ พระนครศรีอยุธยา
วัดประดู่ทรงธรรม พระนครศรีอยุธยา
  12.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระญาติการาม พระนครศรีอยุธยา
  13.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา
  14.84 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา
  14.94 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดน้ำอโยธยา พระนครศรีอยุธยา
  15.01 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดนานาชาติอโยเดีย
  15.06 km | แผนที่ | เส้นทาง
อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี (ทุ่งหันตรา)
  15.10 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดสมณโกฏฐาราม พระนครศรีอยุธยา
  15.56 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดกุฎีดาว พระนครศรีอยุธยา
  15.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดอโยธยา พระนครศรีอยุธยา
  15.93 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com