www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สมุทรสงคราม >> พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา

พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา

 แหล่งอนุรักษ์เรียนรู้และพัฒนาผู้ประกอบการ

 บริษัทอุตสาหกรรมขนมไทยจับมือ สสว. และเทศบาลตำบลอัมพวา จัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขนมไทยและศูนย์พัฒนาองค์ความรู้อัมพวา หวังให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ สืบสาน เรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนมไทย ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมขนมไทยในชุมชนอัมพวา ให้เป็นต้นแบบวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง เสริมสร้าง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

 ร้อยโทพัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา เปิดเผยว่า ชุมชนอัมพวานับเป็นชุมชนต้นแบบของขนมไทย เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณภาพ สามารถเป็นวัตถุดิบในการผลิตขนมไทยภายในชุมชนได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ เทศบาลตำบลอัมพวา จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท อุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินโครงการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ขนมไทยและศูนย์พัฒนาองค์ความรู้อัมพวาขึ้น ณ อาคารอเนกประสงค์ เทศบาลตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา มาเป็นประธานในพิธี

 โครงการดังกล่าวนี้ มีความสำคัญต่อชุมชนอัมพวาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้า และผลิตภัณฑ์ขนมไทย รวมทั้งพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ตราสินค้า เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเป็นการ สร้างเอกลักษณ์ให้กับขนมไทยของชุมชนอัมพวา ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และเป็นต้นแบบของวิสาหกิจชุมชนขนมไทย ขณะเดียวกันก็จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานสมุทรสงคราม โทร. 0 3475 2847-8
http://www.tourismthailand.org/samutsongkhram

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 66563

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา

พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา มีลักษณะเป็นห้องที่กว้างพอสมควร ในเรือนทรงไทยหลังหนึ่งในพื้นที่อุทยาน ร.๒ ในห้องที่กว้างต่อเนื่องกันแบ่งออกเป็นส่วนๆ แต่ละส่วนก็มีการจัดหมวดหมู่ของขนมและอาหารไทยๆ ซึ่งเป็นของจำลองหรือของปลอมนั่นเอง แต่การทำอาหารปลอมเหล่านี้มีฝีมือดีทีเดียว เรียกได้ว่ามองผิวเผินจะเหมือนของจริงมากจนอยากจะจับดูให้รู้ว่าของจริงหรือของปลอมกันแน่ด้วยซ้ำ แต่ก่อนที่จะได้เห็นภาพของคาวของหวานที่ว่าเหมือนจริงมากๆ นั้นขอเริ่มจากตรงนี้ซึ่งควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของการชมพิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา มีสำรับกับข้าวจัดไว้ 4 ชุด ซึ่งมีอาหารและของหวานชนิดต่างๆ ที่ปรากฏในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน สามารถเข้าไปนั่งประกอบกับฉากสวยๆ ได้มีเบาะรองนั่งจัดไว้ให้อย่างดีครับ

อาหารและของหวานในกาพย์เห่ชมเครื่องคาว-หวาน

อาหารและของหวานในกาพย์เห่ชมเครื่องคาว-หวาน ตรงนี้จะเป็นพื้นที่แสดงอาหารคาว หวาน ของไทย ในบทกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาว และกาพย์เห่เรือชมเครื่องหวาน กาพย์เห่เรือทั้ง 2 เป็นงานพระราชนิพนธ์ ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

กาพย์เห่ชมเครื่องคาว

แกงไก่มัสมั่นเนื้อ นพคุณ พี่เอย
หอมยี่หร่ารสฉุน เฉียบร้อน
ชายใดบริโภคภุญช์ พิศวาส หวังนา
แรงอยากยอหัตถ์ข้อน อกให้หวนแสวง

มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา
ยำใหญ่ใส่สารพัด วางจานจัดหลายเหลือตรา
รสดีด้วยน้ำปลา ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ

ตับเหล็กลวกหล่อนต้ม เจือน้ำส้มโรยพริกไทย
โอชาจะหาไหน ไม่มีเทียบเปรียบมือนาง
หมูแนมแหลมเลิศรส พร้อมพริกสดใบทองหลาง
พิศห่อเห็นรางชาง ห่างห่อหวนป่วนใจโหย

ก้อยกุ้งปรุงประทิ่น วางถึงลิ้นดิ้นแดโดย
รสทิพย์หยิบมาโปรย ฤๅจะเปรียบเทียบทันขวัญ
เทโพพื้นเนื้อท้อง เป็นมันย่องล่องลอยมัน
น่าซดรสครามครัน ของสวรรค์เสวยรมย์

ความรักยักเปลี่ยนท่า ทำน้ำยาอย่างแกงขม
กลอ่อมกล่อมเกลี้ยงกลม ชมไม่วายคล้ายคล้ายเห็น
ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ รสพิเศษใส่ลูกเอ็น
ใครหุงปรุงไม่เป็น เช่นเชิงมิตรประดิษฐ์ทำ

เหลือรู้หมูป่าต้ม แกงคั่วส้มใส่ระกำ
รอยแจ้งแห่งความขำ ช้ำทรวงเศร้าเจ้าตรากตรอม
ช้าช้าพล่าเนื้อสด ฟุ้งปรากฏรสหื่นหอม
คิดความยามถนอม สนิทเนื้อเจือเสาวคนธ์

ล่าเตียงคิดเตียงน้อง นอนเตียงทองทำเมืองบน
ลดหลั่นชั้นชอบกล ยลอยากนิทรคิดแนบนอน
เห็นหรุ่มรุมทรวงเศร้า รุ่มรุ่มเร้าคือไฟฟอน
เจ็บไกลในอาวรณ์ ร้อนรุมรุ่มกลุ้มกลางทรวง

รังนกนึ่งน่าซด โอชารสกว่าทั้งปวง
นกพรากจากรังรวง เหมือนเรียมร้างห่างห้องหวน
ไตปลาเสแสร้งว่า ดุจวาจากระบิดกระบวน
ใบโศกบอกโศกครวญ ให้พี่เคร่าเจ้าดวงใจ

ผักโฉมชื่อเพราะพร้อง เป็นโฉมน้องฤๅโฉมไหน
ผักหวานซ่านทรวงใน ใคร่ครวญรักผักหวานนาง

กาพย์เห่ชมเครื่องหวาน

สังขยาหน้าไข่คุ้น เคยมี
แกมกับข้าวเหนียวสี โศกย้อม
เป็นนัยนำวาที สมรแม่ มาแม
แถลงว่าโศกเสมอพ้อม เพียบแอ้อกอร

สังขยาหน้าตั้งไข่ ข้าวเหนียวใส่สีโศกแสดง
เป็นนัยไม่เคลือบแคลง แจ้งว่าเจ้าเศร้าโศกเหลือ
ซ่าหริ่มลิ้มหวานล้ำ แทรกใส่น้ำกะทิเจือ
วิตกอกแห้งเครือ ได้เสพหริ่มพิมเสนโรย

ลำเจียกชื่อขนม นึกโฉมฉมหอมชวยโชย
ไกลกลิ่นดิ้นแดโดย โหยไห้หาบุหงางาม
มัศกอดกอดอย่างไร น่าสงสัยใคร่ขอถาม
กอดเคล้นจะเห็นความ ขนมนามนี้ยังแคลง

ลุดตี่นี้น่าชม แผ่แผ่นกลมเพียงแผ่นแผง
โอชาหน้าไก่แกง แคลงของแขกแปลกกลิ่นอาย
ขนมจีบเจ้าจีบห่อ งามสมส่อประพิมพ์ประพาย
นึกน้องนุ่งจีบกราย ชายพกจีบกลีบแนบเนียน

รสรักยักลำนำ ประดิษฐ์ทำขนมเทียน
คำนึงนิ้วนางเจียน เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลม
ทองหยิบทิพย์เทียมทัด สามหยิบชัดน่าเชยชม
หลงหยิบว่ายาดม ก้มหน้าเมินเขินขวยใจ

ขนมผิงผิงผ่าวร้อน เพียงไฟฟอนฟอกทรวงใน
ร้อนนักรักแรมไกล เมื่อไรเห็นจะเย็นทรวง
รังไรโรงด้วยแป้ง เหมือนนกแกล้วทำรังรวง
โอ้อกนกทั้งปวง ยังยินดีด้วยมีรัง

ทองหยอดทอดสนิท ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง แต่ลำพังสองต่อสอง
งามจริงจ่ามงกุฏ ใส่ชื่อดุจมงกุฏทอง
เรียมร่ำคำนึงปอง สะอิ้งน้องนั้นเคยยล

บัวลอยเล่ห์บัวงาม คิดบัวกามแก้วกับตน
ปลั่งเปล่งเคร่งยุคล สถนนุชดุจประทุม
ช่อม่วงเหมาะมีรส หอมปรากฏกลโกสุม
คิดสีสไลคลุม หุ้มห่อม่วงดวงพุดตาน

ฝอยทองเป็นยองใย เหมือนเส้นไหมไข่ของหวาน
คิดความยามเยาวมาลย์ เย็บชุนใช้ไหมทองจีน

อาหารและของหวานในกาพย์เห่ชมเครื่องคาว-หวาน

อาหารและของหวานในกาพย์เห่ชมเครื่องคาว-หวาน ถ้าหากดูของจำลองอาหารและของหวานชนิดต่างๆ ที่จัดไว้ในสำรับแล้วไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มีชื่อว่าอย่างไร มีอยู่ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาว และเครื่องหวาน ท่อนไหนก็มาดูที่ป้ายรวมภาพอาหารที่อยู่ใกล้ๆ สำรับที่จัดไว้ให้ครับ

อุปกรณ์และส่วนประกอบของขนมไทย

อุปกรณ์และส่วนประกอบของขนมไทย คำว่า "ขนม" เข้าใจว่ามาจากคำสองคำที่ผสมกันมาแล้ว คือ ข้าวหนม กับข้าวนม ข้าวหนมนั้นเข้าใจว่าเป็นข้าวผสมกับน้ำอ้อย น้ำตาล โดยคำว่า หนมแปลว่า หวาน อย่างข้าวหนมก็แปลว่า ข้าวหวาน เรียกสั้นๆ เร็วๆ จึงเพี้ยนเป็นขนมไป ส่วนที่มาจากข้าวนม (ข้าวเคล้านม) ออกจะดูเป็นแขกเพราะว่าอาหารของแขกบางชนิดใช้ข้าวมธุปายาสของแขกโบราณ (ดังที่นางสุชาดา ทำถวายพระพุทธเข้าเมื่อตอนตรัสรู้ก็ว่าเป็นข้าวหุงกับนม) และเช่นเดียวกันเมื่อพูดเร็วๆ จึงเพี้ยนภลายเป็นขนมแทน

คำว่าขนมมีใช้มานานหลายร้อยปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำผสมของอะไร จึงเป็นการยากที่จะสันนิษฐานให้แน่นอนได้ ของที่เรียกว่าขนมในสมัยโบราณ หรือในสมัยที่จะมีคำว่าขนมนั้นจะเป็นของที่เกิดจากข้าวตำป่น (แป้ง) แล้วผสมกับน้ำตาลเท่านั้น ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นขนมรุ่นแรก ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงขนมต้มไว้เหมือนกัน เดิมมีแป้งกับน้ำตาล ต่อมามีคนดัดแปลงสอดไส้เข้าไปอีก ถึงตอนนี้ยังมีมะพร้าวปนอยู่ด้วย ขนมไทยจึงมี มะพร้าว แป้ง และน้ำตาล ไม่พ้น ของทั้ง 3 เป็นของพื้นเมืองที่หาได้โดยทั่วไป

ที่พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา ก็ได้นำเอาของที่เป็นส่วนประกอบของขนมมาแสดงไว้ให้ดู ในรูปนี้ก็มีกระต่ายขูดมะพร้าวกับลูกมะพร้าวเท่านั้นที่เป็นของจริงครับ ส่วนกะลามะพร้าวที่จะขูดเอามาทำน้ำกะทิ กับน้ำตาลมะพร้าวเป็นของปลอมที่ทำได้เหมือนมาก

ที่มาของน้ำตาลมะพร้าว

ที่มาของน้ำตาลมะพร้าว อุปกรณ์ที่เป็นกระบอกไม้ไผ่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้กระป๋องพลาสติก หรือส่วนที่ตัดมาจากขวด หรือพระป๋องน้ำดื่มอลูมิเนียมอย่างที่เคยเห็นเมื่อหลายสิบปีก่อนผูกด้วยเชือกเอาไปผูกรองรับน้ำตาลบนต้นมะพร้าวที่จะหยดลงช้าๆ ทุกวันๆ จนได้ปริมาณมากพอแล้วเอาขึ้นมาเคี่ยวบนกะทะใบใหญ่ๆ มีไม้สำหรับกวนน้ำตาลระหว่างเคี่ยวป้องกันน้ำตาลไหม้ เคี่ยวจนเป็นปึกน้ำตาลข้นเหนียวเอามาหยอดเป็นรูปวงๆ แล้วปล่อยให้แข็งตัว

ยุคสมัยของขนมไทย

ยุคสมัยของขนมไทย
สมัยสุโขทัย
"ขนมต้ม" ขนมไทยที่มีความเก่าแก่ พบการกล่าวถึงขนมชนิดนี้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง เรียบเรียงเป็นภาษาไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.1888 ขนมต้มทำได้ง่ายโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ได้แก่แป้ง มะพร้าว น้ำตาล ขนมต้มมี 2 ชนิดคือ ขนมต้มขาวและขนมต้มแดง
"ขนมต้มขาว" ลักษณะเป็นแป้งลูกกลมๆ ข้างในใส่ไส้มะพร้าว เคี่ยวน้ำตาล ส่วน "ขนมต้มแดง" ไม่มีไส้ ทำเป็นแผ่นกลมขนาดเล็กต้มให้สุก คลุกน้ำตาลนับเป็นความอร่อยอย่างเรียบง่ายของคนไทยในยุคอดีตที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

สมัยอยุธยา
คนไทยสมัยโบราณจะได้กินขนมก็ต่อเมื่อมีงานนักขัตฤกษ์ หรืองานบุคคลสำคัญเท่านั้น ขนมไทยที่ใช้เลี้ยงแขกในงานขุดสระน้ำ เป็นขนมไทยที่กินกับน้ำกะทิ คือ "ขนมสี่ถ้วย" หมายถึง ไข่กบ (เม็ดแมงลัก) นกปล่อย (ลอดช่อง) บัวลอย (ข้าวตอก) และอ้ายตื้อ (ข้าวเหนียว) และได้กลายเป็นประเพณีเลี้ยงขนมชื่อว่า "ประเพณี 4 ถ้วย" นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

สมัยรัตนโกสินทร์
"กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน" สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ได้ทรงนิพนธ์ "กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน" เพื่อชมฝีมือการทำอาหารของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ผู้เป็นมเหสีอันเป็นที่รัก และมีฝีมือในการทำอาหารคาวหวานจนเป็นที่โปรดปรานและเพื่อใช้สำหรับเป็นบทเห่ในระหว่างการเดินทางทางชลมารค กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานได้บรรยายถึงอาหารคาวทั้ง 15 ชนิด และอาหารหวาน 15 ชนิด

ยุคทองของขนมไทย
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชถือได้ว่าเป็นยุคทองของการทำขนมไทย เมื่อสตรีชาวโปรตุเกสเชื้อสายญี่ปุ่นนามว่า "มารี กีมาร์" ผู้เป็นภรรยาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือบรรดาศักดิ์ว่า "ท้าวทองกีบม้า" เข้ารับราชการเป็นต้นเครื่องขนม ของหวานในวังท่านได้นำไข่ และน้ำตาลทราย มาเป็นส่วนผสมสำคัญในขนมไทย และท่านได้ดัดแปลงสูตรขนมต่างๆ เช่น ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมหม้อแกง ซึ่งได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบันนี้

ขนมมงคล 9 อย่าง

ขนมมงคล 9 อย่าง เป็นขนมไทยที่มีชื่อไพเราะเป็นมงคล โดยมากจะมีคำว่า ทอง อยู่ในชื่อของขนม แต่ก็มีขนมบางอย่างที่ไม่มีคำว่าทอง แล้วจะมีรายละเอียดให้อีกทีครับ
ขนมเหล่านี้จะพบได้ในงานมงคลทั่วไป ประชาชนมีความเชื่อว่าการจัดงานพิธีมงคลใดๆ ควรมีขนมเหล่านี้อยู่ด้วย

"ขนมไทย" เอกลักษณ์ของความเป็นไทย นอกจากจะมีความงดงามวิจิตร ละเอียดอ่อน พิถีพิถันในทุกขั้นตอนการทำแล้วยังมีรสชาตที่อร่อย หอมกลิ่นพืชพรรณจากธรรมชาติ และกลิ่นอบร่ำควันเทียน อีกทั้งขนมแต่ละชนิดยังมีชื่อเรียกที่บ่งบอกถึงคุณค่าและแฝงไปด้วยความหมายอันเป็นสิริมงคล
"มงคล" หมายถึง สิ่งที่นำมาซึ่งความดีงามและความเจริญรุ่งเรือง
"ขนมมงคล" หมายถึงขนมไทยที่นำไปใช้ประกอบเครื่องคาวหวานถวายพระ เลี้ยงแขก ในงานพิธีมงคลต่างๆ เช่น งานมงคลสมรส งานบวช หรืองานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น โดยจะต้องเลือกใช้เฉพาะขนมไทยที่มีชื่อไพเราะและเป็นสิริมงคลดังเช่น "ขนมมงคล 9 อย่าง"

ขนมมงคล 9 อย่าง

ขนมมงคล 9 อย่าง ในรูปที่เห็นนี้ก็เป็นขนมไทยที่สร้างแบบจำลองหรือของปลอม ที่ทำออกมาได้เหมือนมาก สวยงามและสีสันมีความฉ่ำบนผิวเหมือนกับของจริงมากๆ เห็นแล้วอยากหยิบใส่ปากจริงๆ ครับ
ขนมมงคล 9 อย่าง 4 อย่างในรูปนี้ก็ประกอบไปด้วย บนซ้ายเม็ดขนุน บนขวาทองหยอด ล่างซ้ายทองหยิบ ล่างขวาทองเอก

ขนมเม็ดขนุน เป็นขนมในตระกูลทอง เช่นกัน มีสีเหลืองทองรูปร่างลักษณะคล้ายกับเม็ดขนุน ข้างในมีไส้ทำด้วยถั่วเขียวบด มีความเชื่อกันว่าชื่อของขนมเม็ดขนุน จะเป็นสิริมงคล ช่วยให้มีคนสนับสนุนหนุนเนื่อง ในการดำเนินชีวิตและในหน้าที่การงานหรือกิจการต่างๆ ที่ได้กระทำอยู่

ทองหยอด ใช้ประกอบในพิธีมงคลทั้งหลาย หรือมอบเป็นของขวัญในโอกาสสำคัญ แก่ผู้ใหญ่ที่เคารพรัก หรือญาติสนิทมิตรสหายแทนคำอวยพร ให้ร่ำรวยมีเงินมีทอง ใช้จ่ายอย่างไม่รู้หมดสิ้นประดุจให้ทองคำแก่กัน

ทองหยิบ เป็นขนมมงคลชนิดหนึ่ง มีลักษณะงดงามคล้ายดอกไม้สีทอง ต้องใช้ความสามารถและความพิถีพิถันเป็นอย่างมาก ในการประดิษฐ์ประดอย จับกลีบ ให้มีความงดงามเหมือนกลีบดอกไม้ ชื่อขนมทองหยิบ เป็นชื่อสิริมงคล เชื่อว่าหากนำไปใช้ประกอบพิธีมงคลต่างๆ หรือให้เป็นของขวัญแก่ใครแล้ว จะทำให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย หยิบจับงานสิ่งใดก็จะร่ำรวย มีเงินมีทองสมดังชื่อ "ทองหยิบ"

ขนมทองเอก เป็นขนมในตระกูลทองอีกชนิดหนึ่งที่ต้องใช้ความพิถีพิถันเป็นอย่างยิ่งในทุกขั้นตอนการทำ มีลักษณะที่สง่างาม โดดเด่นกว่าขนมตระกูลทองชนิดอื่นๆ ตรงที่มีทองคำเปลวติดไว้ที่ด้านบนของขนม คำว่า "เอก" หมายความถึง การเป็นที่หนึ่ง การใช้ขนมทองเอกประกอบพิธีมงคล สำคัญต่างๆ หรือใช้มอบเป็นของขวัญในงานฉลอง การเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง จึงเปรียบเสมือนคำอวยพรให้เป็นที่หนึ่งด้วย

ขนมมงคล 9 อย่าง

ขนมมงคล 9 อย่าง ต่ออีกรูปครับ บนซ้ายเป็นขนมฝอยทอง บนขวาเสน่ห์จันทร์ ล่างซ้ายขนมชั้น ล่างขวาขนมถ้วยฟู

ฝอยทอง เป็นขนมในตระกูลทองที่มีลักษณะเป็นเส้น นิยมใช้กันในงานมงคลสมรส ถือเคล็ดกันว่าห้ามตัดขนมให้สั้น ต้องปล่อยให้เป็นเส้นยาวๆ เพื่อที่คู่บ่าวสาวจะได้ครองชีวิตคู่ และรักกันได้อย่างยืนยาวตลอดไป

ขนมเสน่ห์จันทน์ "จันทน์" เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีผลสุก สีเหลือง เปล่งปลั่ง ทั้งสวยงามและมีกลิ่นหอม ชวนให้หลงใหล คนโบราณจึงนำความมีเสน่ห์ของผลจันทน์ มาประยุกต์ทำเป็นขนม และได้นำ "ผลจันทน์ป่น" มาเป็นส่วนผสมทำให้มีกลิ่นหอม เหมือนผลจันทน์ ให้ชื่อว่า "ขนมเสน่ห์จันทน์" โดยเชื่อว่า คำว่า เสน่ห์จันทน์เป็นคำที่มีสิริมงคล จะทำให้มีเสน่ห์ คนรักคนหลง ดังเสน่ห์ของผลจันทน์ ขนมเสน่ห์จันทน์ จึงถูกนำมาใช้ประกอบในงานพิธีมงคลสมรส

ขนมชั้น เป็นขนมไทยที่ถือเป็น ขนมมงคล และจะต้องหยอดขนมชั้นให้ได้ 9 ชั้น เพราะคนไทยมีความเชื่อว่าเลข 9 เป็นเลขสิริมงคล หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า และขนมชั้น ก็หมายถึงการได้เลื่อนชั้น เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ ให้สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป

ขนมถ้วยฟู ให้ความหมายอันเป็นสิริมงคล หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูนิยมใช้ประกอบในพิธีมงคลต่างๆ ทุกงาน เคล็ดลับของการทำขนมถ้วย ให้มีกลิ่นหอม น่ารับประทานนั้นคือการใช้น้ำดอกไม้สดเป็นส่วนผสม และการอบร่ำด้วยดอกมะลิสดในขั้นตอนสุดท้ายของการทำ

ขนมมงคล 9 อย่าง

ขนมมงคล 9 อย่าง ต่อด้วยอย่างสุดท้ายอย่างที่ 9 ขนมจ่ามงกุฎ เนื่องจากมีรูปร่างที่มีรายละเอียดเลยไม่อยากย่อรูปให้เล็กลงครับ สรุปว่าครบขนมมงคล 9 อย่าง

ขนมจ่ามงกุฎ เป็นขนมที่ทำยาก มีขั้นตอนในการทำสลับซับซ้อน นิยมทำกันเพื่อใช้ประกอบพิธีการที่สำคัญจริงๆ คำว่า "จ่ามงกุฎ" หมายถึงการเป็นหัวหน้าสูงสุดแสดงถึงความมีเกียรติยศสูงส่ง นิยมใช้เป็นของขวัญในงานเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง ถือเป็นการแสดงความยินดีและอวยพรให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานยิ่งๆ ขึ้นไป

ขนมไทยในโหล

ขนมไทยในโหล เป็นขนมไทยที่มีวิธีการผลิตไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน เช่น ทอด กวน อบ ส่วนวัตถุดิบจะหาได้จากท้องถิ่นและนำมาจำหน่ายใส่โหลแก้ววางเรียงราย ในร้านค้าต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า เช่นอาลัว ถั่วทอด กล้วยฉาบ ขนมหน้านวล กล้วยกวน และมะพร้าวแก้ว

มาดูกันว่าพิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวาเอาอะไรมาจำลองใส่โหลกันบ้าง แต่ละชิ้นที่เห็นอยู่ในโหลสามารถหยิบขึ้นมาจากโหลได้เป็นชิ้นๆ เหมือนของจริงเลยนะครับ
เริ่มจากภาพบนขวา ขนมดอกจอก เป็นขนมจำพวกทอดครับ นอกจากนี้ก็ยังมีขนมวง เป็นลักษณะโดนัทโรยด้วยน้ำตาล ไม่ได้ถ่ายรูปมาเพราะหาดูได้ง่าย ถัดมาล่างซ้ายเป็นข้าวตูขนมชนิดนี้บรรยายไม่ถูกเพราะไม่เคยกิน ส่วนอีกภาพเป็นถั่วกวนของโปรดที่หาซื้อได้ง่ายทั่วไป

ขนมไทยในโหล

ขนมไทยในโหล ต่อกันอีก 4 ชนิดคือขนมข้าวตอกตั้ง ทองพับ กรอบเค็ม ใน 4 อย่างนี้มีขนมกรอบเค็มเป็นที่โปรดปรานที่สุดส่วนอีก 3 อย่างนั้นยังไม่เคยกินเลยครับ

ขนมไทยในโหล

ขนมไทยในโหล แถมอีก 2 โหลครับ ได้แก่ อาลัว กับมะตูมเชื่อม สำหรับอาลัวนั้นยังพอที่จะหาซื้อได้ไม่ยากนัก

ขนมน้ำแข็งไส

ขนมน้ำแข็งไส ที่พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวาจำลองร้านขายขนมน้ำแข็งไสได้สมจริงมาก มีก้อนใสๆ เหมือนน้ำแข็ง เสน่ห์ของขนมชนิดนี้คือใส่ถ้วยใสๆ ทำให้มองเห็นสีสันของขนมในถ้วยได้รอบทิศ มีน้ำเชื่อมน้ำกะทิ โปะด้วยน้ำแข็งที่ไสกันออกมาเดี๋ยวนั้น เป็นขนมที่สั่งได้ตามใจชอบเพราะมีเครื่องประกอบมากมายหลายอย่างแล้วแต่ว่าจะเอาอย่างไหน แต่ส่วนมากจะสั่งได้ไม่เกิน 4 อย่าง ต่อ 1 ถ้วย (มากกว่านั้นแม่ค้าจะขาดทุนได้)

ส่วนประกอบของขนมน้ำแข็งไส

ส่วนประกอบของขนมน้ำแข็งไส น้ำแข็งเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้มีโรงน้ำแข็งเกิดขึ้นแห่งแรกในประเทศไทย ต่อมาได้มีการดัดแปลงนำน้ำแข็งมาผสมกับขนมหลายชนิดเกิดเป็นขนมน้ำแข็งไส เช่น ลอดช่อง แตงไทย เผือก ลูกชิด ซ่าหริ่ม ทับทิมกรอบ นิยมโรยดอกมะลิในน้ำกะทิและชิ้นขนุนในน้ำเชื่อมให้ความหอมหวานอร่อยและชื่นใจไปพร้อมๆ กัน

สิ่งที่จะนำมาใส่ในขนมน้ำแข็งไสให้เลือกกันได้แก่ ลอดช่อง แตงไทย เผือก ลูกชิด ซ่าหริ่ม ทับทิมกรอบ ถั่วแดง มันเชื่อม เฉาก๊วย รากบัวเชื่อม สาคู ข้าวเหนียวดำ แห้ว ข้าวต้มน้ำวุ้น วุ้นมะพร้าว ข้าวโพด ลูกตาลเชื่อม สับปะรดเชื่อม เผือก ลูกบัว เป็นต้น

ผลไม้แปรรูป

ผลไม้แปรรูป ผลไม้ไทยมีมากมายหลายชนิดให้กินตามฤดูกาลที่เหมาะสมของแต่ละชนิด แต่ก็มีบางทีที่อยากกินผลไม้นอกฤดูกาล และยังมีเรื่องของผลผลิตที่มีออกมามากจนเกินไป ต้องมีการแปรรูปเพื่อเก็บรักษาให้ยาวนาน รวมทั้งมีรสชาตที่อร่อยแปลกออกไปจากผลไม้สด ได้แก่ภาพบนขวา มะกอกทรงเครื่อง กระท้อนดอง มะม่วงดอง ตามลำดับ สำหรับการจำลองผลไม้เหล่านี้สีสันและรูปร่างชวนน้ำลายสอ ดูไปก็กลืนน้ำลายไปครับ

ผลไม้แปรรูป

ผลไม้แปรรูป ต่อกันอีกภาพครับ มีมะดันดอง มะขามดอง (ของโปรด) สาเกเชื่อม และผลไม้แช่อิ่ม ภาชนะที่ใช้ยังเป็นถาดหรือชามแบบเดิมๆ ที่เคยเห็นกันเมื่อก่อนอีกด้วย

ขนมไทยในรถเข็น

ขนมไทยในรถเข็น คงเคยเห็นกันมาบ้าง ปัจจุบันมีจำนวนลดน้อยถอยลงอย่างมาก อาจจะเป็นเพราะส่วนประกอบในการทำขนมไทยมีราคาสูงขึ้น การทำก็ยุ่งยากหลายขั้นตอน คนซื้อก็ลดลง เลยไม่ค่อยได้เห็นการเอาขนมไทยใส่รถเข็นหรือจักรยานพ่วงมาขายเหมือนเมื่อก่อน ในรถเข็นก็มีขนมไทยหลายชนิด มีขนมตระกูลทองหรือขนมเครื่องไข่ (มีไข่เป็นส่วนประกอบ) ที่หาได้ง่าย ขนมนึ่ง ได้แก่ ขนมชั้น ขนมถ้วย ขนมกล้วย ขนมตาล สังขยาฟักทอง ข้าวเหนียวแดง หม้อแกง วุ้น ขนมเปียกปูน ฯลฯ

ส่วนภาพสุดท้ายล่างขวาเป็นรถขายผลไม้สด ซึ่งจำลองผลไม้แต่ละชนิดเหมือนอย่าบอกใครเชียว ทุกอย่างในพิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวานั้นน่ากินกว่าของจริงก็มีครับ

กลุ่มขนมหม้อดิน

กลุ่มขนมหม้อดิน คราวนี้มาดูร้านขนมหม้อดินกันบ้าง ก็จะประกอบด้วยขนมนานาชนิดใส่ในหม้อดินตั้งเรียงราย หน้าร้านมีม้านั่งยาวๆ สั่งปุ๊บกินปั๊บ หรือใส่ถุงกลับบ้านก็ว่ากันไป

หม้อดินเป็นภาชนะใช้ในการประกอบอาหารที่คนไทยโบราณคุ้นเคย หม้อดินสามารถเก็บความร้อนได้นานและทำให้อาหารขนมมีกลิ่นหอมเฉพาะ ขนมหม้อดิน โดยส่วนใหญ่แบ่งเป็น
ประเภทขนมน้ำ เช่น ขนมแกงบวดฟักทอง เผือกบวด มันบวด
ประเภทเปียก เช่น ข้าวเหนียวเปียกถั่วดำ ข้าวเหนียวเปียกสาคู
ประเภทต้ม เช่นบัวลอย ครองแครง ปากริม ไข่เต่า
ประเภทต้มน้ำตาล เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล มันต้มขิง

อย่างในรูปนี้ 3 อย่างได้แก่ข้าวเหนียวเปียกลำใย สาคูเปียก ข้าวเหนียวเปียกข้าวโพด

ขนมหม้อดินชุดที่ 2

ขนมหม้อดินชุดที่ 2 มาแล้วครับปลากริมกับไข่เต่า บางทีก็จะได้เห็นคนหาบขนม 2 ชนิดนี้มาขาย พอสั่งเอาปลากริมมาผสมไข่เต่าก็อร่อยไปอีกแบบ ส่วนภาพล่างซ้ายคือบัวลอย ขนมที่ยังขายดิบขายดีอยู่ในตลาดหลายๆ แห่งในปัจจุบัน โดยมีการเพิ่มไข่หวานได้ด้วย สุดท้ายเป็นขนมครองแครงครับ เห็นแล้วเป็นไงบ้าง เหมือนจริงมากใช่มั้ย เห็นแล้วอยากกินจริงๆ (หน้าพิพิธภัณฑ์น่าจะมีของจริงขายท่าทางจะขายดี)

ขนมหม้อดินชุดที่ 3

ขนมหม้อดินชุดที่ 3 เป็นขนมที่ไม่ค่อยได้กินบ่อยๆ นานๆ ทีก็พอได้ครับ ยกเว้นเต้าส่วนครับเห็นที่ไหนเป็นต้องซื้อ ในกลุ่มนี้ได้แก่ ฟักทองแกงบวด กล้วยบวชชี เต้าส่วน น้ำกะทิถั่วดำ

ขนมถ้วย-ข้าวเหนียวสังขยา

ขนมถ้วย-ข้าวเหนียวสังขยา ทางพิพิธภัณฑ์ได้นำขนมมาจัดเรียงกันในหาบลักษณะเหมือนแม่ค้าที่หาบขนม 2 ชนิดนี้ขายไปเรื่อยๆ ปัจจุบันคงไม่ต้องไปหาที่ไหน คงไม่มีใครหาบขายอย่างสมัยก่อน นักท่องเที่ยวเข้าไปก็จะใส่งอบ กับหาบไม้คานถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน เนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้จำลองของหวานหรือขนมชนิดต่างๆ ได้เหมือนมาก พร้อมทั้งให้ถ่ายรูปได้ตามสบาย ที่นี่จึงกลายเป็นที่เที่ยวแหล่งใหม่ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทุกวัยเลยทีเดียว

อื่นๆ ในพิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา

อื่นๆ ในพิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ตลาดน้ำจำลองที่ได้นำเอาของที่ขายในเรือที่เราจะพบเห็นกันได้ที่ตลาดน้ำอัมพวา ได้แก่ก๋วยเตี๋ยว หมึกย่าง กุ้งเผา ขนมหม้อดิน และขนมไทยอื่นๆ มาจัดเรียงบนเรือลำเล็กๆ จอดเรียงรายกันหลายลำ นักท่องเที่ยวก็จะลงไปในเรือถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันอย่างสนุกสนาน

ทำอะไรบ้างเมื่อมาพิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา

ทำอะไรบ้างเมื่อมาพิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา ภาพตัวอย่างของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยว ซึ่งสามารถจะถ่ายรูปคู่กับอะไรก็ได้ที่เราชอบ ขนมในโหลที่เห็นเรียงรายกันนั้นจำลองให้เป็นชิ้นๆ สามารถหยิบแยกออกมาได้อย่างเหมือนจริง

พายเรือเล่นในพิพิธภัณฑ์

พายเรือเล่นในพิพิธภัณฑ์ แม้ว่าจะเป็นเรือจำลองลำเล็กๆ แต่ก็ประกอบไปด้วยขนมและอาหารชนิดต่างๆ ที่จำลองเหมือนจริงมากๆ ให้ถ่ายรูปได้ตามสบายอย่างที่เห็น

พ่อค้าวัยเยาว์

พ่อค้าวัยเยาว์ หลานชายตัวน้อยของทีมงานก็ได้ลงไปนั่งเป็นพ่อค้าหมึกย่างกุ้งเผาในเรือด้วยครับ

จบการนำเที่ยวพิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวาไว้เพียงเท่านี้ ขอบคุณนางแบบทั้ง 2 ท่านที่พบกันโดยบังเอิญ ไปเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา อย่าลืมแวะไปให้จงได้ จะได้ความรู้เกี่ยวกับขนมและอาหารแบบไทยๆ มากมายหลายชนิด แล้วจะพบว่าของปลอมก็น่ากินยิ่งกว่าของจริงเสียอีก....

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา สมุทรสงคราม
มีพวา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
ริมระเบียง อัมพวา คาเฟ่ แอนด์ สวีท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.46 km | แผนที่ | เส้นทาง
อัมพวาน่านอน โฮเต็ล แอนด์ สปา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.47 km | แผนที่ | เส้นทาง
Baan Benjathip เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.52 km | แผนที่ | เส้นทาง
อาร์เดีย รีสอร์ต พูล วิลลา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.53 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านน่าพัก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
ปานวิมาน อัมพวา การ์เด้น รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
กำปั่นเฮาส์
  0.66 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือน อัมพวา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.74 km | แผนที่ | เส้นทาง
วรากรบ้านสวน อัมพวา เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา สมุทรสงคราม
พิพิธภัณฑ์ขนมไทยอัมพวา สมุทรสงคราม
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยาน ร.๒ สมุทรสงคราม
  0.13 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดอัมพวันเจติยาราม สมุทรสงคราม
  0.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดน้ำอัมพวา สมุทรสงคราม
  0.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ สมุทรสงคราม
  0.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดบางนางลี่ใหญ่
  0.63 km | แผนที่ | เส้นทาง
เรือนไม้ชายน้ำโชติกา
  1.11 km | แผนที่ | เส้นทาง
ลอยกระทงกาบกล้วย สมุทรสงคราม
  1.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดท้องคุ้ง สมุทรสงคราม
  1.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์อนุรักษ์แมวไทย สมุทรสงคราม
  1.26 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com