ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานภูเก็ต 0 7621 1036 , 0 7621 2213
http://www.tourismthailand.org/phuket
การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก
เริ่มต้นการเดินทาง หากกล่าวถึงอาคารหรือตึกอันมีสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส ก็จะต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าตึกเหล่านี้สร้างขึ้นในสมัยที่มีชุมชนมาก่อตั้งรกรากบนเกาะภูเก็ตเพื่อการทำเหมืองแร่ใหม่ๆ นับเวลาย้อนหลังไปเกือบร้อยปี อาคารที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมเหล่านี้มีทั้งตึกแถว 2 ชั้นสำหรับเป็นบ้านที่อยู่อาศัย ไปจนถึงอาคารสำคัญๆ เช่น ธนาคาร สถานที่ราชการ เป็นต้น กระจัดกระจายอยู่ตามถนนสายต่างๆ ในเมืองภูเก็ตได้แก่ถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนกระบี่ ถนนพังงา ถนนเยาวราช ถนนกระ และซอยรมณีย์ การเดินชมอาคารเหล่านี้เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากแต่ต้องอาศัยความอดทนกันหน่อยเพราะถนนเหล่านี้ค่อนข้างยาวเหมือนกัน การเดินเที่ยวเมืองเก่าภูเก็ตสามารถทำได้ทั้งกลางวันและกลางคืนขึ้นอยู่กับว่านักท่องเที่ยวชอบแบบไหน กลางคืนอากาศไม่ร้อนแต่ถ่ายรูปก็จะลำบากหน่อยและต้องใช้ขาตั้งกล้อง ส่วนกลางวันภาพสวยแต่แดดอาจจะร้อนขึ้นอยู่กับสภาพอากาศของแต่ละวัน
สำหรับเราเองก็ต้องเก็บภาพมาทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหาจากที่พักใกล้โอเชี่ยนช้อปปิ้งมอลล์เราเดินตามซอยสุรินทร์ไม่นานก็ถึงวงเวียนหอนาฬิกาในเวลากลางคืนวงเวียนแห่งนี้เปิดไฟสวยงามมากครับจากนั้นเดินตรงไปตามถนนภูเก็ต
สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินี พุทธศักราช 2547 อยู่ถนนถนนถลาง ตลาดใหญ่ หลังจากที่เดินตรงมาตามถนนภูเก็ตเรื่อยๆ เข้าถนนเทพกระษัตรีถึงทางแยกถนนถลางเห็นมังกรอยู่กลางน้ำเปิดไฟสวยงามในสวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชินีก็แวะเข้าไปเก็บภาพระยะทางที่เราเดินมาตรงนี้นับจากจุดเริ่มต้นประมาณ 1 กิโลเมตรได้ครับ
สี่แยกแถวน้ำถนนถลาง หลังจากที่ได้เก็บภาพมังกรทองกลางน้ำได้แล้วเราก็เดินมาตามถนนถลางเรื่อยๆ จนถึงสี่แยกแห่งนี้ เราจะเริ่มเห็นตึกรามบ้านช่องเก่าๆ ตามที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ บรรยากาศของตึกต่างๆ นับแต่ตรงนี้ไปจะแตกต่างกับบริเวณอื่นๆ ของเมืองภูเก็ต
เอกลักษณ์ของชิโน-โปรตุกีส อาคารเก่าๆ เหล่านี้เป็นบ้านเรือนและร้านค้าเป็นส่วนใหญ่ เอกลักษณ์ของอาคารคือรูปแบบภายนอกเป็นแบบตะวันตกส่วนประตูและหน้าต่างเป็นแบบจีน ผสมผสานเข้ากันอย่างลงตัว เวลาประมาณ 2 ทุ่มบ้านเรือนละแวกนี้ก็จะปิดเงียบเหลือไว้เพียงแสงไฟส่องบางส่วนแต่ก็เพียงพอที่จะให้เราเก็บภาพสวยๆ ของบรรยากาศกลางคืนได้ความขึ้นชื่อของเมืองเก่าภูเก็ตก็มาจากการก่อสร้างอาคารเหล่านี้ยาวตลอดตามถนนสายต่างๆ และมีลักษณะแบบเดียวกันทั้งหมด ในปัจจุบันมีการซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงบานประตูหน้าต่างและลงสีอาคารให้ดูใหม่มีการเลือกใช้ลายบนบานประตูต่างกันเล็กน้อยแต่สวยงามเหมือนในอดีต
ตึกชิโน-โปรตุกีส บ้านเรือนหลายหลังได้ทำการเปลี่ยนแปลงประตูชั้นล่างเป็นแบบใหม่แต่เอกลักษณ์ของอาคารบนชั้นสองก็ยังอยู่ครบถ้วน
ซอยรมณีย์ เป็นซอยที่ได้รับการกล่าวถึงจากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองเก่าภูเก็ตและชมอาคารชิโน-โปรตุกีส กันเป็นอย่างมาก เพราะในซอยนี้มีอาคารหลายหลังที่ได้ทำการตกแต่งด้วยสีสันสวยงามและยังใช้ประโยชน์จากอาคารเหล่านั้นเช่นการเปิดเป็นโรงแรมเล็กๆ ที่คงบรรยากาศชิโน-โปรตุกีสไว้ทั้งหมดด้วยของตกแต่งแบบจีนอยู่ภายใน
ไชน่า อินน์ China Inn cafe&restaurant เป็นอีกหนึ่งคูหาของตึกแถวแบบชิโน-โปรตุกีสที่ยังมีชีวิต โดยการเปิดเป็นร้านเล็กๆ สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเดินอยู่บริเวณนี้ได้พักหาอาหารกินระหว่างการเดินที่ยาวนาน
ภูเก็ตโฮมแอนด์แกลเลอรี Phuket Home & Gallery ก็เป็นโรงแรมเล็กๆ ในตึกชิโน-โปรตุกีส มีห้องพักไม่มากนัก ภายในตกแต่งด้วยภาพศิลปะ และข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นสไตล์จีน ห้องพักจัดแบบเรียบง่ายใช้ห้องน้ำรวมเหมือนอยู่อาศัยรวมในบ้านเดียวกัน โรงแรมแห่งนี้อยู่ในซอยรมณีย์และเป็นโรงแรมที่เราเลือกพักในคืนที่สองหลังจากที่ได้พบเอกลักษณ์ที่สวยงามน่าอยู่ท่ามกลางตึกเก่าที่เราอยากชมให้ได้นานที่สุด
ชิโน-โปรตุกีสในซอยรมณีย์ อาคารหลังนี้เป็นอาคารที่อยู่ตรงข้ามกับโรงแรมภูเก็ตโฮมแอนด์แกลเลอรี่ ในยามเช้าแสงแดดจะส่องด้านหน้าตึกที่ทาชั้นบนด้วยสีฟ้า ประตูหน้าต่างของชั้นล่างก็ยังคงเอกลักษณ์แบบชิโน-โปรตุกีสเอาไว้
ซอยรมณีย์ในยามเช้า ในวันนี้เป็นวันที่เราต้องเช็คเอาท์ออกจากโรงแรมในซอยรมณีย์เราฝากสัมภาระไว้ทั้งหมด คงถือเพียงกระเป๋ากล้องออกเดินทางท่องเที่ยวในถนนสายต่างๆ ที่มีอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส ภาพซอยรมณีย์ในยามเช้าจะเห็นได้ว่าอาคารต่างๆ ที่สร้างเรียงกันเป็นตึกแถวทางสีแตกต่างกันแต่กลมกลืนและลงตัว เป็นสาเหตุให้ในซอยรมณีย์แห่งนี้กลายเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจะไม่ยอดพลาดหากได้มาเที่ยวในเมืองภูเก็ตทุกๆ วันจะได้เห็นนักท่องเที่ยวเดินเข้ามาถ่ายรูปตามมุมต่างๆ ในซอยสามารถเลือกสีของตึกที่จะใช้เป็นฉากหลังได้แล้วจากนั้นก็เดินต่อไปยังซอยอื่นๆ
สองสีที่ลงตัว อาคารชิโน-โปรตุกีส 2 คูหาสร้างติดกันในปัจจุบันตกแต่งด้วยการเลือกสีโทนอ่อนสองสี ลวดลายปูนปั้นบนอาคารชั้น 2 และประตูหน้าต่างที่ชั้นล่างยังคงรักษาไว้ตามเดิม
เสื้อผ้าหน้าประตู ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามภาพที่เราได้เห็นที่นี่นับว่าสร้างความประหลาดใจให้เราเป็นอย่างมากคงจะเหมือนกับทุกๆ คนที่ได้เปิดมาเห็นรูปนี้ เสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋าเดินทางที่วางอยู่หน้าตึกนี้แต่ไม่มีเจ้าของให้เราได้ถามว่าเหตุใดข้าวของเหล่านี้จึงได้มากระจัดกระจายกันอยู่ที่หน้าประตู ???
อาคารชิโน-โปรตุกีสแยกดีบุก-เยาวราช หลังจากที่ได้เดินชมอาคารต่างๆ บนถนนถลางแล้วถึงแยกถนนเยาวราชเราเลือกที่จะเลี้ยวขวามุ่งหน้าไปถนนดีบุกถึงสี่แยกไฟแดงหน้าร้านลกเที้ยน เราสั่งบะหมี่ซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองเก่าแก่ของภูเก็ตได้แก่ ฮกเกี้ยนหมี่หุ้น หมี่ฮกเกี้ยนเส้นเหลือง หมี่หุ้นกระดูกหมู เพื่อเป็นอาหารเช้าก่อนที่จะเดินเที่ยวกันต่อ ระหว่างรอบะหมี่ก็ยังเก็บภาพอาคารชิโน-โปรตุกีสหลังนี้อยู่ตรงสี่แยกไฟแดงก่อสร้างเป็นรูปโค้งตรงหัวมุมตึก
ตึกเก่าๆ ตรงสี่แยก อีกตึกหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับตึกข้างบนและหน้าร้านลกเที้ยนพอดี
ชิโน-โปรตุกีสถนนดีบุก แนวของตึกแถว 2 ชั้นแบบชิโน-โปรตุกีสจำนวนมากมายหลายคูหาเรียงกันตลอดถนนดีบุกซึ่งเป็นเส้นทางมุ่งหน้าไปยังบ้านชินประชา
สุดถนนดีบุก อาคารห้องหนึ่งที่ได้เปลี่ยนเป็นโรงงานบางอย่างมีประตูเหล็กแข็งแรงแน่นหนาดูน่าเกรงขาม
มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต Phukat Rajabhat Business Incubator อาคารหลังหนึ่งที่ยังคงสภาพอยู่เป็นอย่างดีให้เราเห็นอยู่ไกลๆ จากหน้าประตู สุดเส้นทางถนนดีบุกมีร้านสะดวกซื้ออยู่บนถนนสตูล (สุดถนนดีบุกเลี้ยวขวา) ทำให้เราได้น้ำดื่มระหว่างการเดินทางไกลของวันนี้ ซื้อเครื่องดื่มแล้วเดินกันต่อตามถนนสตูล เลี้ยวขวาที่ถนนกระบี่เพื่อไปบ้านชินประชา
ป้ายแผนที่ตึกชิโน-โปรตุกีส ประมาณ 1 กิโลเมตรครึ่งของการเดินทางจากโรงแรมภูเก็ตโฮมแอนด์แกลเลอรี่ซอยรมณีย์ - ถนนถลาง - ถนนเยาวราช - ถนนดีบุก - ถนนสตูล - ถนนกระบี่ แล้วเดินตรงตามถนนกระบี่กลับโรงแรม ก่อนที่จะกลับมาถึงจุดนี้ซึ่งเป็นป้ายแผนที่ของตึกชิโน-โปรตุกีสที่สำคัญๆ ในพื้นที่เราแวะบ้านชินประชา และพิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว ซึ่งทั้งสองแห่งก็เป็นอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส เช่นเดียวกัน แต่เพื่อความเหมาะสมของเนื้อหาจึงแยกออกไปไว้อีกหน้าหนึ่งคลิกอ่านได้ที่ลิงค์สีชมพูเลยครับ จบการเดินเที่ยวเมืองเก่าภูเก็ตแบบสมบูรณ์แบบทั่วทุกถนนสายสำคัญไว้เท่านี้ครับ
0/0 จาก 0 รีวิว |
*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ