ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานภูเก็ต 0 7621 1036 , 0 7621 2213
http://www.tourismthailand.org/phuket
การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก
ก้าวแรกสู่พิพิธภัณฑ์ไทยหัว การเดินทางเที่ยวพิพิธภัณฑ์ไทยหัวมาได้ทั้งทางรถโดยที่ทางพิพิธภัณฑ์มีลานจอดรถกว้างขวางด้านหน้า ตัวอาคารสร้างลึกเข้าไปจากถนนมาก หรือหากเดินชมเมืองเก่าภูเก็ตก็เดินมาได้ จากบ้านชินประชาจะไม่ไกลมาก ตัวอาคารของพิพิธภัณฑ์เองก็เป็นสถาปัตกรรมเก่าแก่ของเมืองภูเก็ตแบบชิโนโปรตุกีส สร้างในปีพ.ศ. 2477 ห้องจำหน่ายบัตรเข้าชมอยู่ด้านซ้ายมือ ค่าเข้าชม 50 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการถ่ายภาพภายในจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 200 บาทต่อกล้อง 1 ตัว
ภายในพิพิธภัณฑ์ไทยหัว ย่างก้าวเข้าประตูก้าวแรกจะเห็นห้องโถงกว้างขวางขนาดใหญ่อยู่ชั้นแรกในห้องนี้จะไม่มีนิทรรศการใดๆ มากนัก มีข้อมูลความเป็นมาในการสร้างพิพิธภัณฑ์ไทยหัวแห่งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ พิพิธภัณฑ์ไทยหัวจัดตั้งขึ้นเพื่อแสดงประวัติศาสตร์เรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานยังเกาะแห่งนี้มีเรื่องราวการก่อร่างสร้างตัว ประเพณีวิถีชน อาชีพและภูมิปัญญา โดยเฉพาะประวัติโรงเรียนจีนที่เก่าแก่ที่สุดของภูเก็ต ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการศึกษาและพัฒนาการของเมืองสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้อาคารโรงเรียนเก่าหลังนี้ดำรงความเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นรวมทั้งให้ชาวภูเก็ตได้ภาคภูมิใจและมีส่วนร่วมกันรักษาไว้เป็นสมบัติของส่วนรวมต่อไป ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ไทยหัว พ.ศ.2544 กรรมการมูลนิธิล้อกเซียนก๊ก มีมติให้ปรับปรุงอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์ ปี พ.ศ. 2547-2552 ได้รับงบประมาณหลักจากคุณสมบัติ อดิเศรษฐ์ ผ่านมูลนิธิล้อกเซียนก๊ก พัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ จนกระทั่งเป็นพิพิธภัณฑ์ ไทยหัวอย่างทุกวันนี้
ภาพสำคัญของพิพิธภัณฑ์ไทยหัว เป็นภาพที่แสดงไว้ในห้องโถงห้องแรก เกี่ยวกับวัฒนธรรมการแต่งกาย สถาปัตยกรรม การทำเหมืองแร่ดีบุก และวิถีชีวิต ในอดีต
วิดีทัศน์พิพิธภัณฑ์ไทยหัว ภาพเคลื่อนไหวประกอบกับฉากหลังขนาดใหญ่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต การทำเหมืองแร่แลละสถาปัตยกรรมในอดีตที่ยังคงเหลือไว้จนถึงปัจจุบัน ส่วนภาพล่างขวาเป็นวัตถุโบราณบางส่วนที่ถูกฝังอยู่ใต้ตัวอาคารหลังนี้ เป็นทางเดินเข้าห้องนิทรรศการการแต่งกายประจำท้องถิ่นและเอกลักษณ์ของวิถีชีวิต
ห้องแสดงการแต่งกาย เป็นห้องที่มีนิทรรศการการแต่งกายรวมทั้งการสร้างหุ่นแม่แต่งตัวให้ลูกตามแบบชาวจีน และข้อมูลด้านการแต่งกายที่ชาวจีนผสมผสานเข้ากับชาวท้องถิ่น
วิถีชีวิตชาวจีนในภูเก็ต ภาพบนซ้ายเป็นภาพ คุณดิโรจน์ เลิศเอกกุล : อาลักษณ์อ๊าม, การหมั่นฝึกฝนและสร้างเสริมประสบการณ์ทางภาษาจีนและวรรณคดีจีน จึงจะสรรค์สร้างคำภาษิต คำกลอนที่เป็นมงคลออกมาเป็นลายลักษณ์เพื่อประเทืองจิตและปัญญาได้
ภาพบนขวา คุณเทียนศักดิ์ องค์พฤกษา : ละครหุ่นชักจีน, เดิมชื่อถาว แซ่อ๋อง ชาวภูเก็ตผู้รับช่วงศิลปะการชักหุ่นจีนละครเล็ก "ก่าเหล้" เข้าสู่อาชีพการแสดงหุ่นจีนฉกเกี้ยนนี้เมื่อราวปี 2510 ในฐานะบุตรชายคนโตที่รับสืบทอดศิลปะการชักหุ่นต่อจากบิดา นายอิ๋น แซ่อ๋อง การแสดงศิลปะเก่าแก่นี้มักเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน วันสุดท้ายที่มีการประกอบพิธีไหว้เทวดา และยังตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งจะมีการตั้งโต๊ะบูชาอยู่หน้าบ้าน เป็นการอวยพรให้เจ้าของบ้านและสมาชิกในครอบครัวนอกจากนี้ยังมีงาน "วันเกิดพระ" ของศาลเจ้าต่างๆ ให้ไปชักหุ่นละครเพื่อความเป็นสิริมงคล
ก่าเหล้นั้นจะใช้หุ่น 3 ตัวได้แก่ เส้งก่างเอี๋ย (เตี่ยนฮู้หง่วนโส่ย) หรือหุ่นหน้าแดง จอหงวน และฮูหยิน ดนตรีบรรเลงประกอบได้แก่ ล่อโก๊ะ ฆ้อง และปี่จีน เป็นเหตุการณ์ที่บัณฑิตหนุ่มผู้สอบได้จอหงวนเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านหลังจากการสอบทราบผล ได้มาชักชวนชาวบ้านร่วมพิธีขอบคุณสวรรค์
ภาพล่างซ้าย "โพท้อง" แปลว่ารถธรรมดา เป็นรถสองแถวโดยสารที่อยู่คู่เมืองภูเก็ตมานานไม่น้อยกว่าหกสิบปี ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีการทำเหมืองแร่และสวนยาง รถบรรทุกจึงมีความสำคัญในการอาชีพ เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีรถบรรทุกเล็ก คนภูเก็ตจึงสร้างยานพาหนะสำหรับขนส่งสินค้าและบรรทุกผู้คนให้ได้จำนวนมากกว่ารถเก๋ง โดยนำรถเก๋งจากปีนังมาดัดแปลง ใช้ช่างไม้พื้นบ้าน ตัดตัวถังรถเก๋งออกคงเหลือแต่ช่วงหน้าของรถและโครงช่วงล่าง แล้วต่อตัวถังขึ้นใหม่โดยใช้ไม้ทั้งคัน มีหลังคาสำหรับบรรทุกสิ่งของ ภายในตัวถังรถมีเก้าอี้สองแถวยาวขนานกับตัวรถ เรียกรถบรรทุกนี้ว่า เฉี่ยถ้าง รถเก๋งที่นิยมใช้ดัดแปลงเป็นรถโพท้องในยุคแรกจะเป็นรถยุโรป สั้งซื้อจากปีนัง อู่ต่อรถโพท้องแรกสุดของภูเก็ตคือ อู่แป๊ะกาว ที่ถนนดีบุก ต่อมามีเพิ่มขึ้นอีกหลายอู่เช่น อู่มนัส อู่รวมพงศ์ ฯลฯ รถโพท้องที่ต่อจากอู่ในภูเก็ตมีใช้งานอยู่ในจังหวัดพังงา ระนอง และกระบี่ด้วย
เหมืองหาบ เป็นภาพในห้องแสดงนิทรรศการการทำเหมืองแร่ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของชาวภูเก็ตตั้งแต่อดีต ข้อมูลการทำเหมืองแร่และรูปภาพจำนวนมากที่นำมาแสดงมีหลายภาพ ในภาพนี้เป็นภาพการทำเหมืองหาบ ที่ใช้แรงงานคนในการหาบนำแร่ที่ขุดได้ไปผ่านกระบวนการถลุงซึ่งนับว่าเป็นงานที่หนักมาก
อาคารสำคัญในภูเก็ต เมื่อเดินออกมาอีกด้านหนึ่งของพิพิธภัณฑ์จะเป็นห้องแสดงอาคารแบบชิโน-โปรตุกีสที่สวยงามที่มีอยู่ในเมืองภูเก็ตรวมทั้งแผนที่ในการเที่ยวชมอาคารต่างๆ เหล่านี้แสดงไว้
ประเพณีและวัฒนธรรม จัดแสดงไว้อีกห้องหนึ่ง เป็นเรื่องราวประเพณีต่างๆ ของชาวจีนเช่นการไหว้บรรพบุรุษ การไหว้พระจันทร์ การบวงสรวงเทวดา ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งแสดงภาพและข้อมูลอาหารจีน ร้านอาหารจีนเก่าแก่ในภูเก็ตเช่น หมี่อ่าวเก โลบะเบ่งสอง ขนมจีนแม่ติ่ง ขนมอาตั๊กแก ข้าวแกงโกน้อง ฯลฯ ร้านหมี่อ่าวเกเปิดร้านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 เป็นต้น ส่วนชั้นสองแสดงนิทรรศการของบุคคลสำคัญ หลายๆ คนในภูเก็ตที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาภูเก็ตในช่วงแรกๆ มีห้องเรียนที่เหมือนกับห้องเรียนของโรงเรียนไทยหัวในอดีต
ประเพณีและวัฒนธรรม
ห้องแสดงนิทรรศการ เมื่อเดินชมชั้น 2 ของอาคารพิพิธภัณฑ์ไทยหัวแล้วก็เดินลงบันไดมาจะเห็นห้องนิทรรศการจากมุมสูงและเห็นได้ทั่วห้อง การจัดแสดงนิทรรศการข้อมูลต่างๆ นั้นยังคงมีอีกมาในพิพิธภัณฑ์ไทยหัวแห่งนี้ซึ่งไม่อาจจะรวบรวมมาเขียนไว้ในหน้านี้ได้ทั้งหมด อยากรู้เพิ่มเติมต้องไปที่นี่เลยครับ รู้เรื่องเมืองภูเก็ตขึ้นอีกเยอะ
ห้องพิพิธภัณฑ์ไทยหัว ภาพห้องโถงเมื่อมองออกมาข้างนอก เป็นภาพสุดท้ายของการนำเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ไทยหัว ของเราครับ
0/0 จาก 0 รีวิว |
*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ