ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท. สำนักงานภูเก็ต 0 7621 1036 , 0 7621 2213
http://www.tourismthailand.org/phuket
การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก
บ้านชินประชา เริ่มจากอาคารหลังหนึ่งบนถนนกระบี่ มีทางเข้าใกล้แยกถนนกระบี่ตัดกับถนนสตูล มีทางเข้าจากถนนสตูลแต่ปัจจุบันเปิดให้เข้าทางถนนกระบี่เป็นหลัก เป็นอาคารที่มีบริเวณกว้างขวางมาก บ้านชินประชาซึ่งเป็นของตระกูล ตัณฑวณิช เป็นบ้านเก่าแก่สไตล์ชิโน-โปรตุกีส ซึ่งสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของเกาะภูเก็ต มีอายุกว่า 100 ปี ภายหลังได้มีการแบ่งมรดกบ้านทั้งสอง หลังหนึ่งได้ทำการตกแต่งบูรณะและเปิดเป็นร้านอาหารภัตตาคารขนาดใหญ่ และทำให้สวยงาม อีกหลังหนึ่งเจ้าของอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สภาพเดิม ดังนั้นเมื่อเห็นภาพนี้แล้วบรรยายว่าเป็นบ้านชินประชาก็ไม่ต้องแปลกใจนะครับ เราจะพาไปชมกันทั้ง 2 หลังเลยครับ
ทางเข้าภัตตาคาร ภาพแรกคงได้เห็นกันแล้วว่าอาคารหลังนี้มีขนาดใหญ่มากเกินกว่าจะเรียกว่าบ้านด้วยซ้ำไป ปัจจุบันเปิดเป็นร้านอาหารมีทางขึ้นลงของตัวอาคาร 3 ทาง ซ้าย ขวา และตรงกลางเป็นอาคารที่สวยงามมากจริงๆ และคงไม่แปลกหากจะได้เห็นอาคารหลังนี้ในละครบ้างเป็นครั้งคราว
ภัตตาคารบ้านชินประชา ชื่อจริงของอาคารนี้เราไม่ได้สอบถามแน่ชัดนักแต่เรียกแบบนี้ตามสภาพที่เห็นก็คงไม่ผิดนัก สำหรับการมาเยี่ยมบ้านชินประชาของเราเป้าหมายหลักก็ไม่ใช่หลังนี้ครับ เป็นอีกหลังหนึ่งที่อนุรักษ์เครื่องใช้ เครื่องตกแต่งบ้านมาถึง 6 รุ่น
พิพิธภัณฑ์บ้านชินประชา เดิมทีอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับภัตตาคารในภาพบน ภายหลังมีรั้วกั้นมีทางเข้าแยกออกจากกันต่างหาก ความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งของบ้านทั้งสองหลังคือมีบริเวณหน้าบ้านค่อนข้างกว้างใหญ่ เดินจากถนนหลักเข้ามากันไกลมากจนถึงตัวบ้านบ้านชินประชาหลังนี้ยังคงสภาพเดิมอยู่อย่างมากทั้งภายนอกและภายใน
ชิโน-โปรตุกีสบ้านชินประชา Sino-Portuguese Architecture สถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส เป็นการผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบจีนและแบบโปรตุกีสเข้าด้วยกัน โปรตุกีสเป็นชนชาติยุโรปชาติแรกที่เดินทางมาภูเก็ตและได้นำรูปแบบสถาปัตยกรรมมาเผยแพร่เมืองต่างๆ ทั้งที่ปีนัง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก่อนที่ชาวยุโรปชาติอื่นจะเข้ามามีบทบาท มีการก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีสมากที่สุดระหว่างสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปลายรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2411- พ.ศ. 2468) เนื่องจากเป็นช่วงที่กิจการเหมืองแร่ดีบุกในภูเก็ตได้รับการพัฒนามากที่สุดและขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมาก ชาวจีนที่อพยพเข้ามาประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของเหมืองมากที่สุดในยุคนี้ ปัจจุบันตึกเหล่านี้สามารถพบเห็นได้บริเวณถนนพังงา ถนนถลาง ถนนเยาวราช ถนนดีบุก และถนนกระบี่
ภายในบ้านชินประชา นักท่องเที่ยวที่จะเข้าชมบ้านชินประชาจะต้องเสียค่าเข้าชมเพื่อการบำรุงสถานที่ สำหรับภายในบ้านชินประชาจะห้ามถ่ายภาพทั้งหมดยกเว้นผู้ที่ได้รับอนุญาตซึ่งจะสามารถถ่ายรูปได้ 5 จุดในตัวบ้านที่กำหนดไว้แล้วผมจึงนำภาพมาลงให้เห็นเป็นบางส่วนในตัวบ้านแต่ไม่มากนัก ภายในตัวบ้านชินประชายังมีข้าวของเครื่องใช้ซึ่งเป็นของเจ้าของบ้านที่ผ่านการใช้งานมาหลายยุคหลายสมัยเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี มีโต๊ะหมู่สำหรับไหว้บรรพบุรุษตามแบบชาวจีน
โต๊ะรับประทานอาหาร เป็นธรรมเนียมแบบชาวจีนซึ่งชาวไทยเชื้อสายจีนก็ยังคงรักษาธรรมเนียมนี้ไว้มาโดยตลอดนั่นก็คือการทานข้าวรวมกันพร้อมกันทั้งครอบครัวบนโต๊ะขนาดใหญ่
กลางบ้านชินประชา เป็นน้ำพุขนาดเล็กๆ แบ่งตัวบ้านออกเป็น 2 ด้านซ้ายและขวาของรูปซึ่งสร้างในแบบเดียวกัน จากนั้นจัดสรรพื้นที่ในตัวบ้านมีห้องนอน ห้องครัว ห้องรับแขก ห้องรับประทานอาหาร ฯลฯ
รถลากแบบจีน อย่างที่ได้เห็นกันในหนังการเดินทางของชาวจีนสมัยนั้นนิยมใช้รถลากโดยมีคนลากแล้ววิ่งไปตามถนน หากเป็นรถที่ใช้สำหรับเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะตกแต่งอย่างสวยงาม
สุดท้ายจากบ้านชินประชา หลังจากที่ได้เดินชมบริเวณห้องต่างๆ ในบ้านซึ่งส่วนใหญ่ห้ามถ่ายรูปครับได้เห็นข้าวของเครื่องใช้เครื่องแต่งกายเสื้อผ้า รองเท้าแบบคนจีนแท้ในสมัยก่อน ในห้องครัวก็มีอุปกรณ์ในการทำอาหารหลายอย่าง มีปิ่นโตหลายเถา มีหินโม่แป้ง กาน้ำร้อน เตา กระทะทองเหลือง ตะเกียงแบบโบราณ ห้องทำงานก็ยังมีพิมพ์ดีดเก่าๆ ข้าวของอื่นๆ อีกมากมาย คุ้มค่าสำหรับค่าเข้าชมคนละ 100 บาท ครับ
"นวนิยาย เรื่องมงกุฏดอกส้ม แล่นเข้ามาในภวังค์ทันที
อาคารชุดนี้ น่าจะมีเรื่องเล่าตามอายุแห่งกาลเวลา"
Ulisa Sagornwimon
2019-03-16 20:09:41
5/5 จาก 1 รีวิว |
*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ