www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กรุงเทพมหานคร >> วัดเทพธิดาราม

วัดเทพธิดาราม

 วัดเทพธิดาราม อยู่ที่ถนนมหาไชย เดิมชื่อวัดบ้านพระยาไกรสวนหลวง วัดนี้เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อปี พ.ศ. 2379 เสร็จในปี พ.ศ. 2382 สถาปัตยกรรมที่สำคัญ คือ พระปรางค์ทิศทั้งสี่ เป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 บุษบกที่รองรับพระประธานภายในโบสถ์ประดิษฐ์อย่างสวยงาม และที่ผนังพระอุโบสถมีภาพเขียนเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์แบบอย่างในรัชกาลที่ 3

 นอกจากนี้ระหว่าง พ.ศ. 2383-2385 วัดนี้เคยเป็นที่พำนักของสุนทรภู่กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อคราวบวชเป็นพระภิกษุ ปัจจุบันยังมีกุฏิหลังหนึ่งเรียกว่า บ้านกวี เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ http://www.tourismthailand.org/bangkok

แก้ไขล่าสุด 2017-05-09 11:03:37 ผู้ชม 26422

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ศาลาการเปรียญ

ศาลาการเปรียญ เดินจากวัดราชนัดดาราม (สำหรับทริปเดินเที่ยวรอบกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่าที่จะขับรถไปตามสถานที่ต่างๆ) มายังวัดเทพธิดารามซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมากนักเข้าประตู ตรงกับศาลาการเปรียญวัดเทพธิดาราม ปัจจุบันเป็นสถานที่สำหรับบูรณะสิ่งต่างๆ ในวัดของช่างด้วย ศาลาการเปรียญอยู่ด้านข้างของพระอุโบสถ

พระปรางค์วัดเทพธิดาราม

พระปรางค์วัดเทพธิดาราม พระปรางค์ทิศทั้งสี่ของพระอุโบสถ เป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดเพทธิดารามแห่งนี้

ซุ้มประตู

ซุ้มประตู จากศาลาการเปรียญเดินผ่านซุ้มประตูตรงไปยังพระอุโบสถ

รูปปั้นศิลปะแบบจีน

รูปปั้นศิลปะแบบจีน หนึ่งในสิ่งสำคัญที่มีอายุเก่าแก่ของวัด

ซุ้มบานหน้าต่างพระอุโบสถ

ซุ้มบานหน้าต่างพระอุโบสถ

พระพุทธเทววิลาส (หลวงพ่อขาว)

พระพุทธเทววิลาส (หลวงพ่อขาว) พระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถวัดเทพธิดาราม วรวิหาร สลักด้วยศิลาขาวบริสุทธิ์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๕ นิ้ว สูง ๒๑ นิ้ว ชาวบ้านทั่วไปเรียกนามท่านว่า "หลวงพ่อขาว" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลปัจจุบัน ทรงถวายพระนามว่า "พระพุทธเทววิลาส" ตามหนังสือราชเลขาธิการที่ รล.๐๐๐๒/๒๕๒๒ ลงวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๔

พระพุทธเทววิลาส (หลวงพ่อขาว)

พระพุทธเทววิลาส (หลวงพ่อขาว) ประวัติการสร้างไม่ปรากฏ แต่หลักฐานว่า หลังจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาเจษฎาบดินทร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สถาปนาวัดเทพธิดาราม วรวิหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) พระปิยราชธิดา และสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๒ แล้วจึงได้อัญเชิญ พระพุทธเทววิลาส (หลวงพ่อขาว) มาจากพระบรมมหาราชวังประดิษฐานอยู่เหนือเวชยันต์บุษบก

พระบรมสาทิสลักษณ์

พระบรมสาทิสลักษณ์

เวชยันต์บุษบกหลวงพ่อขาว

เวชยันต์บุษบกหลวงพ่อขาว เวชยันต์บุษบก รอบๆ ประดับลายเป็นรูปเทพพนมและครุฑแบก หล่อด้วยดีบุกปิดทองประดับด้วยกระจกเรียบลวดลายประณีตละเอียดบรรจงมาก ผนังอุโบสถเขียนเป็นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ดอกพุดตาลเครือเถา แบบอย่างในรัชกาลที่ ๓

พระวิหารวัดเทพธิดาราม

พระวิหารวัดเทพธิดาราม ปูชนียสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของวัดเทพธิดาราม อยู่ห่างจากพระอุโบสถเล็กน้อย มีพระเจดีย์ราย ทั้งสี่ด้าน สิ่งสำคัญในพระวิหารแห่งนี้คือ รูปหมู่พระภิกษุณี ๕๒ องค์ ซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ และอาจจะเป็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้สร้างพระภิกษุณี พระภิกษุณีเป็นส่วนสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาช้านาน และสูญสิ้นไป

รูปหมู่พระภิกษุณี

รูปหมู่พระภิกษุณี ในพระวิหารมีพระพุทธปฏิมาประธาน เป็นปางมารวิชัย ด้านหน้ามีแท่นหินอ่อนกว้าง ประดิษฐานรูปพระภิกษุณี โดยมีองค์หนึ่งสันนิษฐานว่า พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา
ภิกษุณี ความหมาย คือ หญิงที่ได้อุปสมบทแล้ว , พระผู้หญิงในพระพุทธศาสนา
ความเป็นมา เกิดขึ้นในพรรษาที่ ๕ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้า โดยมีพระนางมหาปชาบดีโคตมี พระมาตุจฉา (พระน้านาง) ซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยงของเจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระภิกษุณีรูปแรก ดังเรื่องปรากฎในภิกษุณีขันธกะและอรรถกถา สรุปได้ความว่า
วันหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นิโครธารามในเมืองกบิลพัสดุ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมี เสด็จเข้าไปเฝ้าแล้วทูลขออนุญาตให้สตรีสละเรือนออกบวชในพระธรรมวินัย แต่การณ์นั้นมิใช่ง่าย พระพุทธเจ้าตรัสห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง
ต่อมา พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองเวสาลีประทับที่กูฎาคารศาลาในป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมี ไม่ละความพยายามถึงกับปลงผมนุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาดเอง ออกเดินทางพร้อมด้วยเจ้าหญิงศากยะ จำนวน ๕๐๐ นาง ไปยังเมืองเวสาลี และได้มายืนกรรแสงอยู่ที่ซุ้มประตูนอกกูฎาคารศาลา พระบาทบวมพระวรกายเปรอะเปื้อนธุลี ทรงมีความทุกข์โศกเศร้าเสียพระทัยยิ่งนัก พระอานนท์มาพบเข้า สอบถามทราบความแล้วก็รีบช่วยไปกราบทูลขออนุญาตให้ แต่ก็ถูกพระพุทธเจ้าตรัสห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง
ในที่สุดพระอานนท์เปลี่ยนวิธีใหม่โดยกราบทูลถามว่า "สตรีออกบวชในพระธรรมวินัยแล้วจะสามารถบรรลุโสดาปัตติผลจนถึงอรหันต์ได้หรือไม่" พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าได้ พระอานนท์จึงอ้างเหตุผลนั้น พร้อมทั้งการที่พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระมาตุจฉา และเป็นพระมารดาเลี้ยงมีอุปการะมากต่อพระองค์ แล้วขอให้อนุญาตให้สตรีออกบวช
พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยมีเงื่อนไขว่า พระนางจะต้องรับปฏิบัติตาม "ครุธรรม ๘ ประการ" พระนางยอมรับตามพุทธานุญาตที่ให้ ถือว่าการรับครุธรรมนั้นเป็นการอุปสมบทของพระนาง ส่วนเจ้าหญิงศากยะที่ตามมาทั้งหมด พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์อุปสมบทให้

พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี

พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ความเป็นมา (ต่อ)เมื่อภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นแล้ว สตรีที่จะบวชต่อมาต้องเป็นสิกขมานา รักษาศีล ๖ (คือ ๖ ข้อแรกของศีล ๑๐) ไม่ให้ขาดตลอด ๒ ปี จึงขออุปสมบทได้ และต้องรับการอุปสมบทโดยสงฆ์สองฝ่ายคือ บวชโดยภิกษุณีสงฆ์แล้ว ต้องบวชโดยภิกษุสงฆ์อีกชั้นหนึ่ง เมื่อเป็นภิกษุณีแล้ว ต้องรักษาศีล ๓๑๑ ข้อ ภิกษุณีสงฆ์เจริญแพร่หลายในชมพูทวีปอยู่ช้านาน เป็นแหล่งให้การศึกษาแหล่งใหญ่แก่สตรีทั้งหลาย
ภิกษุณีสงฆ์ประดิษฐานในลังกาทวีป ในรัชกาลของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ โดยพระสังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางจากชมพูทวีปมาประกอบอุปสมบทกรรมแก่นางอนุฬาเทวี ชายาของพระเจ้ามหานาค อนุชาของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะพร้อมด้วยสตรีอื่นอีก ๑,๐๐๐ คน
ภิกษุณีสงฆ์เจริญรุ่งเรืองในลังกาทวีปยาวนานไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ปีแต่ในที่สุดได้สูญสิ้นไปด้วยเหตุใดและกาลใดไม่ปรากฎชัด ส่วนในประเทศไทยไม่ปรากฎหลักฐานว่าได้เคยมีการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์
พระภิกษุณี จึงเป็นตำนานเล่าขานให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา จะอย่างไรก็ดี พระภิกษุณีในอดีตก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ปัจจุบันก็เหลือเพียงรูปเคารพของพระภิกษุณีให้สาธุชนได้ทำการกราบไหว้บูชา สามารถน้อมนำไปเป็นคติในการดำเนินชีวิตได้ แม้ว่าจะไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ ก็เป็นเหตุให้ถึงความเจริญไพบูลย์ตามหลักของพระพุทธศาสนา และเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อตนเองทั้งในภพนี้และภพต่อๆ ไป

รูปหมู่พระภิกษุณี

รูปหมู่พระภิกษุณี ความเป็นมา (ต่อ)พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรูปหมู่พระภิกษุณีไว้เมื่อครั้งสถาปนาวัดเทพธิดาราม ในปี พ.ศ. ๒๓๗๙ เป็นศิลปกรรมในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนหน้าพระพุทธปฏิมาประธานในพระวิหาร เป็นรูปหล่อด้วยดีบุกทั้งองค์ หน้าตักกว้าง ๑๑ นิ้ว สูง ๒๑ นิ้ว จำนวน ๕๒ องค์ (นั่ง ๔๙ องค์ ยืน ๓ องค์) อยู่ในอิริยาบถต่างๆ หลากหลายท่า มีทั้งท่านั่งปฏิบัติธรรม ฟังธรรม เสวนา ฉันหมาก สูบยา ยืนไหว้ ฯลฯ ปัจจุบันได้ลงรักปิดทองกันชำรุด องค์หนึ่งมีลักษณะท่านั่งคล้ายสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปางมารวิชัย สันนิษฐานว่า คือพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่ายผู้รัตตัญญู คือผู้รู้ราตรีนาน มีประสบการณ์มาก
การสร้างพระภิกษุณี น่าจะเป็นข้อสันนิษฐานว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะนำพุทธบริษัทอันปรากฎอยู่ในพุทธประวัติมาแสดงไว้เป็นหลักฐาน และการประดิษฐานไว้ที่พระอารามแห่งนี้ ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ เกียรติประวัติแก่พระองค์เจ้าหญิงวิลาส พระปิยราชธิดาในพระองค์ ซึ่งยกย่องเปรียบประดุจว่า นางเทพธิดา

วัดเทพธิดาราม

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร
ทิม เฮ้าส์
  0.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
เซน รูม มหาไชย ข้าวสาร เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
นิราศบางกอกโฮสเทล
  0.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทิม เฮ้าส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทิมแมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
Once Again Hostel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.21 km | แผนที่ | เส้นทาง
โกลเด้น เมาน์เท่น โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
ZEN Rooms Siripong Road เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมศรีกรุงเทพ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
ราชนัดดา โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร
วัดราชนัดดาราม กรุงเทพมหานคร
  0.24 km | แผนที่ | เส้นทาง
โลหะปราสาท
  0.28 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชุมชนบ้านบาตร
  0.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กรุงเทพมหานคร
  0.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
พลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
  0.39 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดสระเกศ (ภูเขาทอง) กรุงเทพมหานคร
  0.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
ป้อมมหากาฬ กรุงเทพมหานคร
  0.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลาว่าการกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร
  0.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
  0.56 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
  0.61 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com