www.touronthai.com

หน้าหลัก >> กรุงเทพมหานคร >> วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

 สถานที่ตั้ง วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เลขที่ 34 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ

ประวัติความเป็นมา
 วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเรียกว่า "วัดมะกอก" ตามชื่อตำบลบางมะกอกซึ่งเป็นตำบลที่ตั้งวัด ภายหลังเปลี่ยนเป็น "วัดมะกอกนอก" เพราะมีวัดสร้างขึ้นใหม่ในตำบลเดียวกันแต่อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ชื่อ "วัดมะกอกใน" ต่อมาใน พ.ศ. 2310 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีพระราชประสงค์จะย้ายราชธานีมาตั้ง ณ กรุงธนบุรีจึงเสด็จกรีฑาทัพล่องลงมาทางชลมารคถึงหน้าวัดมะกอกนอกนี้เมื่อเวลารุ่งอรุณพอดี จึงทรงเปลี่ยนชื่อวัดมะกอกนอกเป็น "วัดแจ้ง" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งนิมิตที่ได้เสด็จมาถึงวัดนี้เมื่อเวลาอรุณรุ่ง เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาตั้ง ณ กรุงธนบุรีและได้ทรงสร้างพระราชวังใหม่ มีการขยายเขตพระราชฐาน เป็นเหตุให้วัดแจ้งตั้งอยู่กลางพระราชวังจึงไม่โปรดให้มีพระสงฆ์จำพรรษา นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานี ถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เนื่องจากเป็นวัดที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบาง ซึ่งสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์นี้มาจากลาวในคราวที่เสด็จตีเมืองเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ. 2322 โดยโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางขึ้นประดิษฐานไว้ในมณฑป และมีการสมโภชใหญ่ 7 คืน 7 วัน (ในปี พ.ศ. 2327 พระแก้วมรกตได้ย้ายมาประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมหาราชวัง ส่วนพระบางนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดพระราชทานคืนไปนครเวียงจันทน์)

 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ ได้โปรดให้สร้างพระนครใหม่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และรื้อกำแพงพระราชวังกรุงธนบุรีออก วัดแจ้งจึงไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังอีกต่อไป พระองค์จึงโปรดให้วัดแจ้งเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นพระองค์ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 2) เป็นผู้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดแจ้งแต่สำเร็จเพียงแค่กุฎีสงฆ์ก็สิ้นรัชกาลที่ 1 ใน พ.ศ. 2352 เสียก่อน ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงดำเนินการปฏิสังขรณ์ต่อจนเสร็จ ทั้งได้ทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูปด้วยฝีพระหัตถ์ และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และโปรดให้มีมหรสพสมโภชฉลองวัดในปี พ.ศ. 2363 แล้วโปรดพระราชทานพระนามวัดว่า "วัดอรุณราชธาราม"

 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ใหม่หมดทั้งวัด พร้อมทั้งโปรดให้ลงมือก่อสร้างพระปรางค์ตามแบบที่ทรงคิดขึ้น จนสำเร็จเป็นพระเจดีย์สูง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ กับ 1 นิ้ว ฐานกลมวัดโดยรอบได้ 5 เส้น 37 วา และให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดต่อบนยอดนภศูลซึ่งการก่อสร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ภายในวัดอรุณฯ นี้สำเร็จลงแล้ว แต่ยังไม่ทันมีงานฉลองก็สิ้นรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2394

 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติ พระองค์ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมอีกหลายอย่าง ทั้งยังได้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์ของพระประธานในพระอุโบสถที่พระองค์ทรงพระราชทานนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" และเมื่อได้ทรงปฏิสังขรณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า"วัดอรุณราชวราราม" ดังที่เรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน

 ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดเพลิงไหม้พระอุโบสถ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถใหม่เกือบทั้งหมด โดยได้โปรดให้กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองในการบูรณะ และโปรดเกล้าฯให้นำเงินที่เหลือจากการบริจาคของพระบรมวงศานุวงศ์ไปสร้างโรงเรียนตรงบริเวณกุฎีเก่าด้านเหนือ ซึ่งชำรุดไม่มีพระสงฆ์อยู่เป็นตึกใหญ่แล้วพระราชทานนามว่า "โรงเรียนทวีธาภิเศก" นอกจากนั้นยังได้โปรดให้พระยาราชสงครามเป็นนายงานอำนวยการปฏิสังขรณ์พระปรางค์องค์ใหญ่ และเมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงโปรดให้มีการฉลองใหญ่รวม 3 งานพร้อมกันเป็นเวลา 9 วัน คือ งานฉลองพระไชยนวรัฐ งานบำเพ็ญพระราชกุศลพระชนมายุสมมงคล คือ มีพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ งานฉลองพระปรางค์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นการใหญ่มีการประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์ในวันพุธที่ 27 ธันวาคม 2510 และการบูรณะก็สำเร็จด้วยดีดังเห็นเป็นสง่างามอยู่จนทุกวันนี้

การเดินทางมายังวัดอรุณฯ

 ทางเรือ ขึ้นเรือข้ามฟากจากฝั่งพระนครที่ท่าเตียน ราคาค่าโดยสาร 3.5 บาท

 รถยนต์ส่วนตัว หากมาจากถนนปิ่นเกล้า ข้ามสะพานอรุณอมรินทร ผ่านโรงพยาบาลศิริราช กรมอู่ทหารเรือ วัดเครือวัลย์ กรมสารวัตรทหารเรือ โดยวัดอรุณฯ อยู่ทางฝั่งซ้ายมือ

 รถประจำทาง : รถประจำทางที่ผ่านวัดอรุณฯ ได้แก่ สาย 19, 57 และ 83

 เว็บแนะนำสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม http://www.watarun.org/index.html

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ http://www.tourismthailand.org/bangkok

แก้ไขล่าสุด 2017-07-27 00:45:02 ผู้ชม 96471

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ท่าน้ำหน้าวัดอรุณราชวราราม

ท่าน้ำหน้าวัดอรุณราชวราราม การเดินทางสู่วัดอรุณนั้นทำได้ทั้งทางรถและทางเรือ ซึ่งทางเรือน่าจะเป็นทางที่นิยมกันมากกว่า ระหว่างเดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจากท่าเตียนจะมองเห็นทิวทัศน์หน้าวัดสวยงามมาก และเวลากลางคืนทางวัดจะเปิดไฟส่องพระปรางค์ มีเรือนำเที่ยวหลายรายที่แล่นผ่านหน้าวัดชมวัดอรุณราชวรารามเวลากลางคืน

เจดีย์รายรอบพระปรางค์วัดอรุณ

เจดีย์รายรอบพระปรางค์วัดอรุณ นอกจากพระปรางค์ประธานแล้วยังมีเจดีย์องค์เล็กอยู่ที่มุมทั้งสี่ ทั้งหมดสร้างลักษณะเดียวกัน ประดับลวดลายตลอดทั้งองค์ พระปรางค์ของวัดอรุณราชวราราม แห่งนี้เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน โดยสามารถเดินขึ้นไปจนเกือบถึงส่วนยอด (ที่เห็นจุดสิ้นสุดบันไดด้านบน)

ศิลปะการก่อสร้างพระปรางค์วัดอรุณ

ศิลปะการก่อสร้างพระปรางค์วัดอรุณ ช่วงหนึ่งของส่วนฐานพระปรางค์สร้างเป็นยักษ์ลักษณะแบกฐานพระปรางค์อยู่โดยรอบ

ส่วนยอดของพระปรางค์

ส่วนยอดของพระปรางค์ มีลักษณะคล้ายจตุรมุขยื่นออกมาเป็นซุ้มมีพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ (ช้างสามเศียร) ทั้งสี่ด้าน ยอดพระปรางค์วัดอรุณ  ประดิษฐานมงกุฏที่สร้างขึ้นสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่ (พระประธานวัดนางนอง) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำมงกุฏนี้ประดิษฐานขึ้น ณ ส่วนยอดนภศูล โดยไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัดว่าพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ใด

พระพุทธรูปในวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระพุทธรูปในวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วิหารนี้สร้างเป็น 2 หลัง ลักษณะรูปแบบการก่อสร้างเหมือนกัน อยู่ตรงทางเข้าพระปรางค์ด้านทิศตะวันออก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปแบ่งด้วยฉากกั้น

พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร

พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร ปูชนียสถานสำคัญของวัดอรุณราชวรารามอีกหลังหนึ่งคือพระวิหาร เป็นอาคารยกพื้นสูงเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หลังคาลด ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันมีรูปเทวดาถือพระขรรค์ยืนอยู่บนแท่น ประดับด้วยลายกระหนกลงรักปิดทองประดับกระจก มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้ามีประตูเข้า ๓ ประตู ด้านหลังมี ๒ ประตู ผนังด้านนอกประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายก้านแย่งกระบวนไทย เป็นกระเบื้องที่รัชกาลที่ ๓ ทรงสั่งมาจากเมืองจีน ปัจจุบันได้ใช้พระวิหารนี้เป็นการเปรียญของวัดด้วย พระประธานในพระวิหาร คือ พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตรเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๖ ศอก หล่อด้วยทองแดงปิดทองพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หล่อขึ้นพร้อมกับพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ ทางวัดได้พบพระบรมธาตุ ๔ องค์ บรรจุอยู่ในโกศ ๓ ชั้น อยู่ในพระเศียร ที่ฐานชุกชีด้านหน้าพระชุมภูนุท มีพระอรุณหรือพระแจ้งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์พระและผ้าทรงครองหล่อด้วยทองต่างสีกัน หน้าตักกว้าง ๕๐ เซนติเมตร มีประวัติว่าได้อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และมีพระราชดำริว่านามพระพุทธรูปพ้องกันกับวัดอรุณ จึงโปรดให้อัญเชิญมา ณ วิหารนี้ และที่แท่นหน้าพระอรุณในพระวิหาร มีพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๗๐ เซนติเมตร มีพุทธลักษณะงดงามยิ่ง ประดิษฐานอยู่ เดิมพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่ศาลาการเปรียญที่รื้อไปแล้ว มีปูนพอกทั้งองค์โดยไม่มีใครทราบ ภายหลังปูนกระเทาะตัวออกจึงเห็นองค์พระเป็นสำริดสมัยสุโขทัย ทางวัดจึงอัญเชิญมาประดิษฐานในวัดแห่งนี้ หากเดินทางโดยเรือเดินเข้าประตูวัดพระวิหารจะอยู่ด้านซ้ายมือหลังพระปรางค์

มลฑปพระพุทธบาทจำลอง

มลฑปพระพุทธบาทจำลอง เป็นพระเจดีย์ย่อเหลี่ยม ไม้ยี่สิบ ๔ องค์ อยู่ระหว่างพระวิหารและพระอุโบสถ

พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม

พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม ประวัติพระประธานในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระนามว่า "พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก" หล่อในรัชกาลที่ ๒ กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงปั้นหุ่นพระพักตร์ด้วยพระองค์เอง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอกคืบ ประดิษฐานเหนือแท่นไพที่ บนฐานชุกชี ที่พระพุทธอาสน์พระประธาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิรัชกาลที่ ๒ มาบรรจุได้

ประวัติพระอุโบสถ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๔๓๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. เกิดอัคคีภัยไหม้พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รีบเสด็จพระราชดำเนินมาอำนวยการดับเพลงด้วยพระองค์เอง และอัญเชิญ พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชออกไปได้ทัน เพลิงไหม้หลังคาพระอุโบสถหมด จึงโปรดให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอุโบสถให้คืนดีดังเดิม และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบานริศรานุวัดติวงศ์ก็ประทานความเห็นในการซ่อมภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ ให้รักษาของเก่าไว้อย่างดีที่สุด และภาพที่จะเขียนซ่อมใหม่ก็ให้กลมกลืนกับภาพเดิม

ซุ้มใบเสมาวัดอรุณราชวราราม

ซุ้มใบเสมาวัดอรุณราชวราราม โดยรอบพระอุโบสถมีซุ้มใบเสมา ๘ ซุ้ม ในเสมาเป็นใบคู่ทำด้วยหินสลักลวดลายงดงามประดิษฐานอยู่ในซุ้มหินอ่อน ทำเป็นรูปบุษบกยอดเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง สูง ๒ วา ๑ ศอก

พระเจดีย์จีน

พระเจดีย์จีน มุมพระอุโบสถทั้ง ๔ มี พระเจดีย์จีนทำด้วยหิน มีซุ้มคูหาตั้งรูปผู้วิเศษ ๘ คน หรือ ที่เรียกว่าโป๊ยเซียน พระเจดีย์มียอดเป็นปล้องๆ เรียวเล็กขึ้นไปตามลำดับ คล้ายปล้อง ไฉนแบบพระเจดีย์ไทย มุมละองค์

สิงโตหินแบบจีนรอบพระอุโบสถ

สิงโตหินแบบจีนรอบพระอุโบสถ ระหว่างซุ้มใบเสมามีสิงโตหินแบบจีนตัวเล็ก ๑๑๒ ตัว ตั้งอยู่บนแท่น มีเหล็กยึดแท่นให้ติดกันโดยตลอด เว้นแต่ช่องตรงกับบันไดพระอุโบสถ ริมช่องว่างนั้นมีตุ๊กตาหินรูปคนจีนนั่งบนเก้าอี้หน้าสิงโตจีนอีกช่องละ ๒ ตัว ๘ ช่อง รวมเป็น ๑๖ ตัว ตุ๊กตาแบบจีนและสิงห์โตจีนเหล่านี้เรียกชื่อรวมกันทั้งหมดว่า อับเฉา ชาวจีนใช้ในการถ่วงด้านล่างเรือสำเภาในระหว่างการเดินทาง

พระระเบียงหรือพระวิหารคด

พระระเบียงหรือพระวิหารคด หน้าพระระเบียงโดยรอบ มีตุ๊กตาหินรูปทหารจีนตั้งเรียงเป็นแถวจำนวน ๑๔๔ ตัว นอกจากนั้นยังมีช้างหล่อด้วยโลหะ ๘ ตัว สูงขนาด ๑ เมตรเศษ ตั้งอยู่บนแท่นตรง ประตูเข้าออกหน้าพระระเบียง แนวเดียวกับตุ๊กตาทหารจีน ด้านละ ๒ ตัว หันหน้าเข้าพระอุโบสถ ช้างโลหะทั้ง ๘ ตัวนี้ มีอิริยาบถไม่เหมือนกัน บางตัวชูงวงบางตัวปล่อยงวง ลง เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หล่อขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ โดยรอบพระอุโบสถมีพระระเบียงหรือพระวิหารคด มีประตูเข้าออกอยู่กึ่งกลาง พระระเบียงทั้ง ๔ ทิศ หน้าบัน ประตูทำเป็นรูปนารายณ์ ทรงครุฑ ประดับด้วยลาย กระหนกลงรักปิดทองงามมาก พระระเบียงเป็นของสร้างในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบานริศรานุวัดติวงศ์ศิลปินเอกของชาติไทยทรงชมเชยไว้ว่า "พระระเบียงมีอยู่ให้ดูได้บริบูรณ์ ทรวดทรงงามกว่าพระระเบียงที่ไหนหมด เป็นศรีแห่งฝีมือในรัชกาลที่ ๒ ควรชมอย่างยิ่ง แต่ลายเขียนผนังนั้นเป็นฝีมือในรัชกาลที่ ๓ ทำเพิ่มเติม" ลายเขียนที่ผนังที่ทรงกล่าวถึงนั้น เขียนเป็นรูปซุ้มเรือนแก้วลายดอกไม้ใบไม้ มีนกยูงแบบจีนคาบอยู่ตรงกลาง พระพุทธรูปในพระระเบียงทั้งหมด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีรวม ๑๒๐ องค์

ซุ้มประตูยอดมงกุฏและยักษ์วัดอรุณราชวราราม

ซุ้มประตูยอดมงกุฏและยักษ์วัดอรุณราชวราราม ตรงด้านหลังทิศตะวันออกทางที่จะเข้าสู่ พระอุโบสถ มีประตูซุ้มยอดมงกุฎสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นประตูจตุรมุข หลังคา ๓ ชั้น เฉลียงรอบมียอดเป็นทรงมงกุฎ ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยสลับสี หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้า ใบระกา หัวนาคและหางหงส์ เป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย หน้าบันเป็นปูนประดับกระเบื้องถ้วย มีลวดลายเป็นใบไม้ดอกไม้ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ประตูซุ้มยอดมงกุฎนี้ชำรุดทรุดโทรมมาก พระยาราชสงครามได้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถ้าจะโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมใหม่ก็ต้องใช้เงินถึง ๑๖,๐๐๐ บาท หรือไม่ก็ต้องรื้อเพราะเกรงจะเป็นอันตรายเมื่อเวลาเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้าพระกฐินวัดนี้ มีพระราชกระแสตอบว่า "ซุ้มประตูนี้อยากจะให้คงรูปเดิม เพราะปรากฏแก่คนว่า เป็นหลักของบางกอกมาช้านานแล้ว" อีกตอนหนึ่งทรงว่า "ขอให้ถ่ายรูปเดิมไว้ให้ มั่นคง เวลาทำอย่าให้แปลกกว่าเก่าเลยเป็นอันขาด อย่าเพ่อให้รื้อจะไปถ่ายรูปไว้เป็นพยาน…" เพราะพระมหากรุณาธิคุณในการทรงอนุรักษ์ศิลปกรรมชิ้นยอดเยี่ยมของชาติชิ้นนี้ไว้ ลูกหลานไทยจึงได้ชื่นชมต่ออัจฉริยะของช่างรุ่นก่อนมาจนทุกวันนี้ และรัฐบาลก็เคยนำภาพซุ้มประตูยอดมงกุฎมีรูปยักษ์ยืนเฝ้าอยู่ด้านหน้า ๒ ตน ลงพิมพ์ในธนบัตรอยู่สมัยหนึ่งที่หน้าประตูซุ้มยอดมงกุฏดังกล่าว มีพญสยักษ์ยืนอยู่ ๒ คน มือทั้งสองกุมกระบองยืนอยู่บนแท่น ยักษ์ด้านเหนือสีขาวชื่อ สหัสเดชะ ด้านใต้สีเขียวชื่อทศกัณฐ์ ปั้นด้วยปูน ประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายรูปลักษณะและเครื่องแต่งตัว สร้างแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ตรัศว่าเป็นฝีมือปั้นของหลวงเทพรจนา (กัน) และเป็นเหตุให้เกิดการปั้นรูปยักษ์ยืนในวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเวลาต่อมา

รีวิว วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)


 ""

Akkasid Tom Wisesklin
2017-11-15 10:38:02

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)


5/5 จาก 1 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
ศาลารัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
อรุณเรสซิเดนซ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
อินน์ อะ เดย์
  0.44 km | แผนที่ | เส้นทาง
OB-ARUN House (Room No.1) เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลาอรุณ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
โพธิ์ โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.50 km | แผนที่ | เส้นทาง
ริว่า อรุณ กรุงเทพ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.52 km | แผนที่ | เส้นทาง
เดอะ รอยัล ท่าเตียน วิลเลจ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.53 km | แผนที่ | เส้นทาง
ออรั่ม เดอะ ริเวอร์ เพลซ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.56 km | แผนที่ | เส้นทาง
อารมณ์ดี โฮสเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  0.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร (วัดแจ้ง)
  0.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระราชวังเดิม กรุงเทพมหานคร
  0.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดเครือวัลย์วรวิหาร
  0.67 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
  0.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
  0.86 km | แผนที่ | เส้นทาง
มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ กรุงเทพมหานคร
  0.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
พระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร
  1.19 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชุมชนตรอกกุฎีจีน กรุงเทพ
  1.23 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนสราญรมย์ กรุงเทพมหานคร
  1.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุโมงค์ดอกไม้ ปากคลองตลาด
  1.39 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com