www.touronthai.com

หน้าหลัก >> แม่ฮ่องสอน >> โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)

โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)

 โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) เพิ่มเติมรูปภาพหลังจากที่ได้กลับไปยังสถานที่แห่งนี้ถึง 3 ครั้ง (คราวก่อนได้รูปมาน้อยไปหน่อย แต่คราวนี้รับรองได้ว่าจุใจแน่ๆ)

    ข้อมูลท่องเที่ยวโครงการพระราชดำริปางตอง 2 หรือว่าปางอุ๋ง
โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) อยู่ที่ บ้านรวมไทย ตำบลหมอกจำแป่ ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 44 กิโลเมตร โดยใช้เส้นทางน้ำตกผาเสื่อ พระตำหนักปางตอง บ้านแม้วนาป่าแปก และเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร

 นักท่องเที่ยว สามารถเที่ยวชมวิถีชีวิตชาวเขาหลากเผ่า ชิมกาแฟสดจากสวน ชมธรรมชาติและทัศนียภาพของป่าสนสองใบสนสามใบล้อมรอบอ่างเก็บน้ำอันกว้างใหญ่ ซึ่งโอบล้อมด้วยขุนเขาที่เขียวชอุ่ม "อุ๋ง" หมายถึงที่ลุ่มต่ำคล้ายกะทะใบใหญ่ มีน้ำขังเฉอะแฉะ เดิมบริเวณนี้เป็นสถานที่ทำไร่ฝิ่นของชาวเขา ปัจจุบันปลูกพรรณพืชดอกไม้เมืองหนาวหลากสีสันโดยรอบและสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ในด้านอาหารและแพทย์แผนไทย ซึ่งมีความกลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศบนที่สูงและอากาศเย็น พร้อมบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์ประจำถิ่นซึ่งกำลังจะสูญพันธ์อย่างเขียดแลว เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบธรรมชาติและความสงบเงียบ

การเข้าชม ปางอุ๋ง เปิดให้เข้าพื้นที่ทุกวัน ระหว่างเวลา 06.00-20.00 น.ทุกวัน เท่านั้น และ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป ศูนย์ศิลปชีพ จ.แม่ฮ่องสอน จะมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปเที่ยวที่ปางอุ๋ง และระเบียบการเข้าเยี่ยมชมดังนี้

 1.นักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเข้าพัก หรือ นำเต็นท์มาเอง หรือเที่ยวชมปางอุ๋ง จะต้องติดต่อขอรับบัตรอนุญาต ภายในเวลา 17.00 น. ได้ที่ศูนย์ศิลปาชีพ จ.แม่ฮ่องสอน ก่อนเข้าชมโครงการ

 2.กรณีต้องการจองเกสท์เฮ้าส์ หรือเต็นท์ของโครงการ จะต้องไปชำระเงินที่ศูนย์ศิลปาชีพ จ.แม่ฮ่องสอน ก่อนพร้อมรับบัตรอนุญาตเพื่อใช้เป็นบัตรผ่านทาง กรณีบ้านพักและเกสท์เฮ้าส์ริมทะเลสาบเต็ม ทางศูนย์ฯ จะจัดให้ท่านเข้าพักเกสท์เฮ้าส์ของชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านรวมไทย

 3. กรณีจองเกสท์เฮ้าส์ไว้ และนักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าพักตามวันที่จองได้ ทางศูนย์ฯ จะไม่คืนเงินให้ แต่จะให้เลื่อนวันเข้าพักได้ภายใน 3 เดือน (กรณีมีห้องว่าง)

 4. จุดตรวจรับบัตรอนุญาต จะมี 2 จุด คือ

 - จุดแรก คือ บริเวณทางเข้าหมู่บ้านนาป่าแปก (ห่างจากโครงการฯ ประมาณ 10 กม.)
 - จุดที่สอง คือ ทางเข้าหมู่บ้านรวมไทย

 สอบถามเพิ่มเติมการรับบัตรอนุญาต ที่ ศูนย์ศิลปาชีพ จ.แม่ฮ่องสอน โทร. 053 611 244, 053 611 649

 สอบถามข้อมูลปางอุ๋ง เพิ่มเติมที่
 - ศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 053 611 244
 - หัวหน้าโครงการพระราชดำริ ปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) โทร. 081 783 3981, 053 692 056

สิ่งอำนวยความสะดวกภายในพื้นที่โครงการฯ มีบ้านพัก เกสท์เอ้าส์ และพื้นที่ให้กางเต็นท์

การเดินทาง จากเมืองแม่ฮ่องสอนใช้เส้นทางแม่ฮ่องสอน-ปางมะผ้า ไปประมาณ 10 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเส้นทางเดียวกับไป ภูโคลน ผ่านน้ำตกผาเสื่อ พระตำหนักปางตอง เดินทางขึ้นไปเรื่อย ๆ สังเกตทางแยกซ้ายมือจะมีป้ายเล็ก ๆ เขียนว่าไป "บ้านรวมไทย" ให้เลี้ยวซ้ายไป ผ่านหมู่บ้านห้วยมะเขือส้มแล้วถึง บ้านรวมไทย หรือ ปางอุ๋ง เส้นทางนี้คดโค้งขึ้นเขาชันและถนนแคบ บางครั้งมีหมอกเป็นอุปสรรค จึงควรเดินทางในช่วงกลางวัน หากเดินทางโดยรถประจำทางขึ้นรถที่หน้าตลาดเมืองแม่ฮ่องสอน มีคิวรถไปปางอุ๋ง เวลา 09.00 น. และ 15.00 น. และ ออกจากปางอุ๋ง เวลา 05.30 น. และ 11.00 น. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ราคาประมาณ 60 บาท

    จะมีเพิ่มเติมมาหน่อยก็คือการเข้าพักที่ปางอุ๋งนั้นมีที่พักในพื้นที่ของโครงการปกติฤดูท่องเที่ยวอย่างฤดูหนาวจะมีนักท่องเที่ยวมากจนต้องจองกันล่วงหน้า 2 เดือน (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายนปี 2552) และที่พักในหมู่บ้านรวมไทยซึ่งอยู่นอกพื้นที่ของโครงการเป็นบ้านพักซึ่งมีชาวบ้านเป็นเจ้าของแต่ละหลังมีลักษณะเหมือนๆ กับบ้านพักในโครงการ นอนในหมู่บ้านก็ได้บรรยากาศคล้ายๆ กันเพียงแต่ไม่มีอ่างเก็บน้ำเท่านั้นเอง เช้ามาเดินชมบรรยากาศที่มีหมอกลอยเหนือน้ำเพียงไม่กี่ร้อยเมตรก็ถึง

    สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้พักในโครงการหรือในหมู่บ้านรวมไทยการเข้าชมโครงการจะมีการกำหนดเวลาไว้ซึ่งอาจจะทำให้พลาดวิวสวยๆ ได้เพราะเมื่อสายแล้วจะไม่มีหมอกเหลือให้เห็น

เวลาเปิด-ปิด:06:00 - 20:00

โทร:053 611 244

ข้อมูลเพิ่มเติม:ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 0 5361 2982-3
http://www.tourismthailand.org/maehongson

แก้ไขล่าสุด 2016-12-26 19:08:42 ผู้ชม 39570

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
การเดินทางสู่ปางอุ๋ง

การเดินทางสู่ปางอุ๋ง เล่าความหลังถึงความดังแห่งป่าสนกลางอ่างเก็บน้ำและสายหมอก ปางอุ๋งเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวกันไม่มากอย่างทุกวันนี้ แต่หลังจากนั้นไม่นานเมื่อรูปภาพของปางอุ๋งมาปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ และทีวี อย่างกว้างขวาง ทำให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็นที่เที่ยวยอดนิยมไปอย่างไม่มีใครคาดคิด พื้นที่เล็กๆ ของโครงการในพระราชดำริมิได้ออกแบบมาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลเหมือนที่เป็นอยู่ จึงต้องมีการจัดการควบคุมนักท่องเที่ยวเกิดขึ้น สำหรับผู้ที่ไม่ได้พักค้างแรมในพื้นที่โครงการฯ หรือหมู่บ้านรวมไทยจะต้องนำรถมาจอดไว้ที่เชิงเขาในโรงเรียนแบบนี้ จากนั้นเหมารถขึ้นปางอุ๋ง หรือถ้ามาไม่กี่คนจะรอให้มีคนอื่นมาร่วมแจมให้เต็มรถก็ได้

จากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนเดินทางมาจนถึงทางแยกเข้าโครงการพระราชดำริปางตอง 2 หรือปางอุ๋ง ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะไปเที่ยวหมู่บ้านรักไทย ชมพระราชตำหนักปางตอง น้ำตกผาเสื่อ ภูโคลน อยู่ห่างจากเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร โดยมุ่งหน้าไปทางปางมะผ้าหรือเส้นทางสู่อำเภอปาย เมื่อเลี้ยวเข้าทางแยกแล้วขับตรงไปเรื่อยๆ จนถึงปางอุ๋งรวมระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร เส้นทางขึ้นปางอุ๋งเป็นทางโค้งมากมายและมีความชันในหลายๆ ช่วง ส่วนใหญ่ต้องบอกว่าขอแนะนำให้ขับกลางวันถึงแม้ว่าเราจะได้สิทธิ์นำรถขึ้นเพราะจองที่พักได้ก็ตาม ถ้าไม่เคยมาทางนี้แล้วขับกลางคืนอาจจะได้รับอันตราย หรือเครื่องยนต์เสียจะมีปัญหาได้ ผมมาปางอุ๋ง 3 ครั้ง ได้ค้างในหมู่บ้านรวมไทยหน้าโครงการฯ 2 ครั้ง มีครั้งเดียวที่กะมาเที่ยวโดยไม่ค้างคืน เลยมีประสบการณ์การใช้บริการรถของชาวบ้านมาเล่าได้ ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตรจากเชิงเขาขึ้นมาบนปางอุ๋งใช้เวลาไม่นานก็มาถึงลานจอดรถนอกหมู่บ้านรวมไทย จากตรงนี้เราจะต้องเดินเข้าไปซึ่งก็ไม่ไกลมาก ถ้าขยันเดินเที่ยวจนถึงด้านในสุดก็ประมาณ กิโลเมตรกว่าๆ

หมู่บ้านรวมไทย

หมู่บ้านรวมไทย ภาพบนซ้ายขอเอาบรรยากาศเช้าวันปีใหม่ในปางอุ๋งมาให้ชม ที่จริงนักท่องเที่ยวมีมากกว่าที่เห็นในภาพเยอะ คนเดินไปทางอ่างเก็บน้ำแน่นเบียดเสียดกันตลอดทาง ทุกคนต่างก็ตื่นแต่เช้าเพื่อมุ่งหน้าไปรอชมพระอาทิตย์ขึ้น และวิวสวยๆ ในปางอุ๋งในขณะที่หมอกลอยขึ้นจากผิวน้ำปกคลุมแนวสน ทุกๆ ก้าวที่เราเดินเข้าไปในหมู่บ้านก็จะเห็นกระท่อมเรียงรายอยู่มากมายเต็มไปหมด ชาวบ้านที่นี่เปลี่ยนพื้นที่ในบ้านให้กลายเป็นโฮมสเตย์บริการนักท่องเที่ยว การเลือกที่พักไม่ต้องหนักใจมากเพราะทุกหลังดูเหมือนกันไปหมด ไม่มีการจัดอันดับว่าโฮมสเตย์หลังไหนได้กี่ดาว นอกจากนั้นด้านหน้าสุดก็เปิดเป็นร้านขายของ มีของกินบ้างของฝากบ้างของที่ระลึกบ้าง อาหารเช้าสำหรับผู้ที่พักในหมู่บ้านรวมไทยควรจะเลือกแบบง่ายๆ แต่ถ้าต้องการอาหารตามสั่งก็มีบริการหลายร้านเหมือนกัน ภาพบนขวาเป็นร้านที่ผมชอบเพราะข้าวต้มอร่อยมาก มาทีไรกินไม่ต่ำกว่า 2 ชาม ถ้ารีบจริงๆ ก็มีเมนูแบบควิกๆ ไว้บริการ ส่วนอย่างอื่นเท่าที่เห็นก็จะมีเฟรนซ์ฟรายด์ ข้าวจี่ มันเผา ไข่ปิ้ง ประมาณนี้ เดินตรงไปเรื่อยๆ สุดหมู่บ้านรวมไทยก็จะเห็นป้ายโครงการในพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง) จะตรงไปอีกก็ได้แต่จะไม่ผ่านบริเวณสันเขื่อนกับท่าแพ ต้องเดินย้อนกลับมาอีก เพราะท่าแพเป็นบริเวณที่เรียกว่าไฮไลท์แบบสุดยอดของปางอุ๋ง นักท่องเที่ยวจะยืนออกันอยู่บริเวณนี้และใช้เวลามากที่สุดกว่าพื้นที่อื่นๆ ในการถ่ายรูป ดังนั้นเมื่อเจอป้ายโครงการแบบนี้เราก็ควรจะเลี้ยวซ้ายผ่านวัด ไปสันเขื่อนจะดีกว่า

สันเขื่อนปางอุ๋ง

สันเขื่อนปางอุ๋ง ไม่นานนักเราก็เดินมาถึงบริเวณสันเขื่อน จุดที่ผมบอกว่าวิวมันสวยที่สุดนั่นแหละ ตั้งแต่เช้าเราจะได้เห็นเด็กๆ ในหมู่บ้านมาวิ่งเล่นกันที่นี่ดูสนุกสนานกันไปเลยทีเดียว แต่ตอนนี้มันประมาณเที่ยง ไว้คืนนี้นอนที่นี่แล้วเช้าจะออกมาเดินอีกรอบเพื่อวิวปางอุ๋งที่มีหมอกเต็มไปหมดตามที่เราต้องการ

อ่างเก็บน้ำปางอุ๋ง

อ่างเก็บน้ำปางอุ๋ง

ท่าแพปางอุ๋ง

ท่าแพปางอุ๋ง เป็นจุดบริการนั่งแพเที่ยวในอ่างเก็บน้ำ อยู่ไม่ไกลจากสันเขื่อนเท่าไหร่ ตอนเช้าเป็นเวลาที่ดีที่สุดในการนั่งแพ หลังจากนั้นพอสายๆ นักท่องเที่ยวก็เดินทางลงจากปางอุ๋ง ที่นี่ก็เลยดูเงียบเหงาไปนิด แต่ก็ยังมีคนนั่งแพเที่ยวโดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ค้างที่ปางอุ๋ง จะรอนั่งแพตอนเช้าก็คงไม่ได้

ปางอุ๋ง

ปางอุ๋ง ก็เพราะวิวมันสวยแบบนี้แหละครับ ผู้คนก็เลยมาเก็บภาพบริเวณนี้กันจนแทบถ่ายวิวไม่ได้เลยเจอแต่หัวคน การเลี่ยงมาเที่ยวในวันที่ไม่ใช่เทศกาล จะเป็นทางเลือกที่ดีอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้เราได้วิวโล่งๆ ถ้ามีเวลาลองอยู่ทั้งวันจนถึงเช้าของอีกวันเหมือนผม จะได้ภาพหลายบรรยากาศเลยทีเดียว

การเดินเที่ยวปางอุ๋งมันขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน บางคนเดินจนสุดด้านในแบบทะลุปรุโปร่ง หลายคนมาเดินถ่ายรูปที่สันเขื่อนกับท่าแพแล้วก็กลับลงเลยก็มี ส่วนเราก็จะเดินไปเรื่อยๆ เอาตามความเหมาะสมถ้าไม่มีอะไรสวยๆ ให้ถ่ายรูปเราก็เดินกลับก็แล้วกัน

โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)

บ้านพักในโครงการปางอุ๋งก็เหมือนๆ กับโฮมสเตย์ที่เราพักในหมู่บ้านรวมไทยนั่นแหละครับ แต่บ้านพักของโครงการจะดีกว่าหน่อยตรงที่ได้นอนริมอ่างเก็บน้ำ เวลาดูพระอาทิตย์ขึ้นก็ตื่นสายกว่าคนอื่นได้นิดหน่อย เพราะไม่ต้องเดินไกล บ้านพักที่เห็นในภาพบนซ้ายเป็นกลุ่มบ้านพักที่อยู่ใกล้ๆ กับท่าแพ มีทางเดินซึ่งใหญ่พอที่รถจะแล่นไปได้ แต่จะต้องเป็นรถเฉพาะของคนที่พักอยู่ในโครงการฯ เท่านั้นครับ ใครที่นอนอยู่ในหมู่บ้านรวมไทยซึ่งถือว่าอยู่นอกอ่างเก็บน้ำอย่างผมก็ต้องจอดนอกหมู่บ้าน ภาพบนขวาเป็นซุ้มขายบัตรเข้าโครงการฯ คนละ 20 บาท แต่สำหรับคนที่นอนที่หมู่บ้านรวมไทยก็ไม่ต้องเสีย คนที่ขึ้นมาเที่ยวแต่ไม่ได้ค้างก็ต้องเสียค่าบัตร เดินเข้าไปอีกหน่อยจะเป็นป่าสนบนเนิน รู้สึกเหมือนเดินอยู่บนเกาะกลางน้ำ มีแนวสนขึ้นมากมายล้อมรอบด้วยน้ำ จากนั้นก็จะเจอร้านกาแฟที่สร้างระเบียงออกมาสวย ห้อมล้อมด้วยดอกไม้หลายสีหลากชนิด ฉากหลังเป็นแนวสนที่อยู่บนยอดเนิน ส่วนภาพล่างขวาเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

ปางอุ๋ง

ปางอุ๋ง วิวนี้เป็นมุมหนึ่งในหลายๆ มุมที่จะถ่ายรูปออกมาแล้วบอกได้ทันทีว่าเป็นรูปของปางอุ๋ง จากบริเวณสันเขื่อนเดินตามถนนเข้ามาเรื่อยๆ จะมีมุมหนึ่งที่ถ่ายรูปนี้ได้อยู่ก่อนถึงซุ้มขายบัตรเข้าโครงการฯ นิดหน่อย หลังจากที่ภาพมุมนี้กระจายไปแพร่หลาย คนที่มาเที่ยวปางอุ๋งก็เลยถ่ายมุมนี้กันมากไม่แพ้กับวิวที่ท่าแพเลยก่อนที่ผมจะมาที่นี่ เพื่อผมก็ส่งวิวนี้มาให้ดู

โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)

พอเดินข้ามฟากมาถึงป่าสนกับลานกางเต็นท์ เรายังมีมุมมากมายในการเก็บภาพประทับใจ ป้ายปางอุ๋งกับแปลงดอกไม้สีแดงทอดยาวเป็นเป้าหลักของช่างภาพหลายคน นอกจากนั้นในบริเวณใกล้ๆ กันยังมีแปลงดอกไม้ชนิดอื่นๆ อีกหลายแปลง ยามเช้าน้ำค้างเกาะบนดอกไม้สวยมากๆ ถ้ามีเลนส์มาโครเราจะได้ภาพที่ดีสุดยอดได้แบบไม่ยาก จุดเด่นต่อมาก็คือหงส์ บางทีก็ได้ยินคนเรียกมันว่าห่านเป็นเรื่องน่าสงสารที่หน้าตามันคล้ายกันมาก ในปางอุ๋งมีหงส์หลายตัว เท่าที่เห็นมีสีขาวอยู่คู่เดียว ที่เหลือเป็นสีดำหมด ว่ากันว่าหงส์เป็นสัตว์ที่รักเดียวใจเดียว เมื่อเลือกคู่แล้วจะอยู่ไปจนตายจากกัน ถ้าตัวหนึ่งตายก่อนมันจะไม่มีคู่ใหม่ หงส์จะว่ายน้ำวนเวียนอยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำหลอกล่อนักท่องเที่ยวให้นั่งแพตามมันไป ดูๆ ก็น่าตลกดีที่คนในแพสั่งให้คนพายพายตามเจ้าหงส์ ยิ่งพายเร็วเท่าไหร่หงส์ก็ยิ่งว่ายหนีเร็วเท่านั้น บางทีมันก็ว่ายเข้าหาฝั่งเพราะเจ้าหน้าที่ให้อาหารมันที่ฝั่ง หงส์เห็นคนก็นึกว่าเป็นเจ้าหน้าที่ก็ว่ายมาหาก็มี ตอนที่หงส์ว่ายน้ำมันก็ดูสวยดีแต่ถ้ารอจังหวะดีๆ มันกางปีกออกมาผมว่าสวยกว่า เพียงแต่ต้องหามุมแสงให้ดีหน่อย

ปางอุ๋งมีอะไรบ้าง

ปางอุ๋งมีอะไรบ้าง หลายคนมาเที่ยวที่นี่เพราะวิวสวยบรรยากาศดีมุมถ่ายรูปเยอะ อะไรก็ว่ากันไป แต่ในเมื่อมาแล้วเรามาดูหน่อยดีมั้ยครับว่าที่นี่มีอะไรมากกว่านั้น ไม่งั้นคงไม่เป็นโครงการในพระราชดำริแน่นอน จากแปลงดอกไม้บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเดินตามถนนมาเรื่อยๆ อ้อลืมบอกไปว่าข้อดีอีกอย่างของการได้นอนในโครงการก็คือเอารถเข้ามาในบริเวณโครงการได้ แล้วก็มีถนนให้เราขับไปเที่ยวตามจุดต่างๆ ได้ ผมนอนหมู่บ้านรวมไทยจะไปไหนก็ต้องเดินเอา พื้นที่โครงการในพระราชดำริมีกิจกรรมส่งเสริมความเป็นอยู่ของราษฎรหลายโครงการ เริ่มจากพื้นที่เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เขียดแลวแบบธรรมชาติตามพระราชเสาวนีย์ เจ้าเขียดแลวหรือว่ากบภูเขา หรือกบหูด เป็นกบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเชียวนะครับ มันจะมีความยาวได้ถึง 28 เซนติเมตร พบตามภูเขาสูงในภาคเหนือ ภาคกลาง ในบริเวณลำธารที่ชุ่มชื้น อากาศเย็นและมีหมอกมาก ในภาคเหนือจะพบได้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื้อเขียดแลวมีรสอร่อย ชาวบ้านนิยมบริโภค ก็เลยมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ โครงการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เขียดแลวจึงได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณของเขียดแลว โดยที่นี่จะมีโรงผลิตอาหารของเขียดแลวซึ่งก็คือหนอนนก และไส้เดือนดิน

ด้านข้างของโรงผลิตอาหารเขียดแลวเป็นพื้นที่ของสวนกล้วยไม้ มีการเพาะกล้วยไม้พื้นถิ่นหลายชนิดมีสะพานทางเดินไปชมกล้วยไม้ ยาวประมาณ 150 เมตร ในฤดูหนาวคือช่วงปีใหม่ยังไม่มีกล้วยไม้ออกดอกให้เห็นก็เลยไม่มีภาพมาให้ชมกัน พื้นที่บริเวณนี้เราจะเห็นอีกฝั่งหนึ่งของอ่างเก็บน้ำ มีถนนคอนกรีตเอารถเข้าไปได้ เป็นโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับการทดลองการปลูกพืชที่สูงและข้าว มีทางเดินไปศึกษาป่าไม้เมืองหนาวยาว 650 เมตร

หงส์ขาวที่ปางอุ๋ง

หงส์ขาวที่ปางอุ๋ง หลังจากพยายามตามเก็บภาพเจ้าหงส์ขาวคู่นี้อยู่ตั้งนาน จากรูปมากมายที่ถ่ายมาได้ผมเลือกเอารูปนี้มาให้ชม เป็นช่วงที่ผมเดินไปอีกด้านหนึ่งของอ่างเก็บน้ำ ในยามเช้าของวันปีใหม่ นักท่องเที่ยวกางเต็นท์เต็มพื้นที่ลานกางเต็นท์มีเต็นท์หลายหลังหลากสีสะท้อนเงาลงน้ำเพิ่มความสวยงามให้กับเจ้าหงส์ตัวนี้

โฮมสเตย์บ้านรวมไทย

โฮมสเตย์บ้านรวมไทย เล่าเรื่องการเดินเที่ยวโครงการในพระราชดำริปางตอง 2 มาซะเยอะ ตอนนี้ก็เป็นเวลาของการเข้าที่พัก สมมติว่าเราไม่ได้จองไว้ก่อนแล้วมาเดินหาในช่วงธรรมดาๆ ไม่เกี่ยวกับเทศกาล ก็เดินเลือกได้มากมายเยอะจริงๆ แต่ถ้าเป็นใกล้ปลายปีส่วนใหญ่จะเต็มตลอดนอกจากวันธรรมดา เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีการจองล่วงหน้า ผมเอาเบอร์ติดต่อจองที่พักโฮมสเตย์ในบ้านรวมไทยมีเผื่อ จะได้ลองโทร. ไปก่อนเดินทางจริง ในบรรดาที่พักทั้งหมดผมเคยพักอยู่ 2 แห่ง ประทับใจทั้งสองแห่ง แต่นะโฮมสเตย์ไม่มีน้ำอุ่นวันนั้นตื่นมาอาบน้ำตอนเช้า สุดยอดดดด

เบอร์โทรที่พักในหมู่บ้านรวมไทยปางอุ๋ง มีดังนี้
ลุงตี้โฮมสเตย์ 0833199369
ไม่มีชื่อ 0860675024
ดาวโฮมสเตย์ 0856271551
อุทิศ(ขิ่น) โฮมสเตย์ 0813864814, 0823992664 (เคยพัก)
ไม่มีชื่อ 0833216995
นะโฮมสเตย์ 0811798463 (เคยพัก)
ลุงสร้อยเงิน 0801226795 (มีน้ำอุ่น 30 บาท) ข้าวต้มอร่อย
นายซื่อเกสต์เฮาส์ 0861920892
นายคำ ฟองอารมณ์ 0801348360
ป้าอ่อง โฮมสเตย์ 0821917290
นายกี่โฮมสเตย์ 0813875916
ก้อนละนางมอลโฮมสเตย์ 0806705415
ตาบูนโฮมสเตย์ 0861163694
ภาพบ้านพักปางอุ๋ง

กาดปางอุ๋ง

กาดปางอุ๋ง ในหมู่บ้านรวมไทยก็มีตลาด ตามปกติหมู่บ้านแห่งนี้นอกจากทุกหลังคาเรือนเปิดเป็นโฮมสเตย์แล้ว หน้าบ้านก็ยังขายของเล็กๆ น้อย พวกอาหารเครื่องดื่ม น้ำชา กาแฟ ข้าวต้ม อาหารตามสั่ง ไข่กระทะ ไข่ปิ้ง มันฝรั่งทอด ข้าวจี่ ก็ดูเหมือนเป็นตลาดอยู่แล้วละ แล้วตรงนี้ยังมีที่ที่ผมเรียกว่าตลาดอยู่อีกเหรอ ก็เพราะว่ามีพื้นที่ส่วนหนึ่งในหมู่บ้าน เปิดเป็นร้านค้าหลายร้านอยู่รวมกัน มีทั้งอาหาร เสื้อผ้า ของที่ระลึก โปสการ์ดพร้อมส่ง มาเปิดรวมๆ กันอยู่ตรงนี้ ก็ขอเรียกว่ากาดปางอุ๋งก็แล้วกัน ตลาดแห่งนี้มีบางร้านเปิดกลางคืนด้วย เพราะเจ้าของร้านนอนที่ร้านนี่เลย ของที่น่าสนใจสำหรับเราก็คือโปสการ์ดที่จะส่งให้เพื่อนๆ รวมทั้งส่งหาตัวเองที่บ้านเพื่อเป็นที่ระลึก จะซื้อโปสการ์ดจากร้านไหนเลือกจากตู้ไปรษณีย์เก๋โดนใจจะได้ส่งเลย แล้วก็เสื้อผ้าชาวเขา

เช้านี้ที่ปางอุ๋ง

เช้านี้ที่ปางอุ๋ง วันแรกของการพักผ่อนในปางอุ๋งก็ผ่านพ้นไป ทุกคนกินข้าวเย็นอาบน้ำเข้านอนแล้วต้องตื่นแต่เช้า การมาเที่ยวปางอุ๋งถ้าตื่นสายก็จบกันอุตส่าห์ดั้นด้นมาถึงนี่แต่ไม่ไปดูไฮไลท์พระอาทิตย์ขึ้นกลางหมอกจางๆ เหนืออ่างเก็บน้ำก็แย่สิ เราตื่นตี 5 ครึ่ง ออกมาตักบาตรหมู่บ้านรวมไทยเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่วัฒนธรรมของชาวพุทธกับการทำบุญตักบาตรยังคงมีอยู่เป็นประจำทุกเช้า อากาศหนาวเหน็บเพียงไหนก็ยังคงมีพระภิกษุสามเณรมารอรับบาตรโปรดเราๆ ท่านๆ เป็นสิริมงคลรับปีใหม่ แต่ละครั้งที่เรามาปางอุ๋งอุณหภูมิยามเช้าก็แตกต่างกันไป 12 องศาบ้าง 10 องศาบ้าง แต่กลางวันอากาศจะเริ่มร้อนตอนสายๆ ส่วนใหญ่คนมาเที่ยวปางอุ๋งก็จะเดินทางลงจากปางอุ๋งเพราะไม่อยากจะเจอแดดร้อน เวลาที่ยังไม่มีแสงอาทิตย์อากาศจะยังหนาวมากที่หมู่บ้านรวมไทยชาวบ้านนิยมมานั่งผิงไฟกันเป็นกลุ่มๆ รอบกองไฟ สนทนาเรื่องราวต่างๆ ไปเรื่อยๆ จะเห็นได้ในหลายหลังคาเรือน ระหว่างการผิงไฟก็จะมีการทำมันเผากินไปเรื่อยๆ บางคนก็ทำมาวางขายให้นักท่องเที่ยว

หลังจากที่ใส่บาตรพระไปแล้ว เราก็มุ่งหน้าไปยังสันเขื่อน แสงแดดยังไม่สว่างมาก ปกติผมจะรอดูพระอาทิตย์ขึ้นอยู่บนฝั่งใกล้ๆ กับท่าแพปางอุ๋ง แต่วันนี้ขอเปลี่ยนแผนดูสักครั้งขอนั่งแพไปรอพระอาทิตย์ขึ้นกลางน้ำบางดีกว่า เหตุเพราะบนฝั่งมีคนมากมหาศาล (ก็ปีใหม่นี่เนาะ) มันยากที่เราจะได้ภาพวิวสวยๆ ตอนที่อยู่บนฝั่ง อีกอย่างคราวก่อนผมก็มารอบนฝั่งทีนึงละไม่อยากได้ภาพซ้ำเดิม แพแต่ละลำราคา 150 บาท นั่งได้ 2 คน ดูนาฬิกาแล้วเวลา 6.30 น. ประมาณนั้น คนที่จะพายพาเราออกไปเที่ยวบอกว่ารอบละ 45 นาที ผมกะเวลาว่า 7 โมงกว่าๆ พระอาทิตย์ก็คงจะขึ้นพอดี ก็เลยตกลงนั่งแพ ผมนั่งไปรอบแรกประมาณ 40 นาที ก็ใกล้หมดเวลา เจ้าของแพจะพาเราเข้าฝั่งแต่พระอาทิตย์ยังไม่โผล่ หนำซ้ำแสงยังน้อยจนมืดไม่เพียงพอที่จะได้ภาพดีๆ จากการนั่งแพ ด้วยความเสียดายตังค์ก็เลยนั่งออกไปอีกรอบ เป็น 300 บาท ท้ายที่สุดแล้วก็ยังไม่ได้ภาพพระอาทิตย์ขึ้นจากกลางน้ำอยู่ดี พอแล้ว 300 บาทก็พอไม่ขึ้นก็อย่าขึ้นไปเดินเที่ยวดีกว่า

พระอาทิตย์ขึ้นที่ปางอุ๋ง

พระอาทิตย์ขึ้นที่ปางอุ๋ง หลังจากนี้ไปก็จะเป็นรวมภาพบรรยากาศสวยๆ ยามเช้าที่ปางอุ๋งมาให้ชมกันครับ แต่ละภาพมาจากต่างทริปต่างวันกัน คัดสรรสวยๆ มาให้ชมเพราะเรื่องการเดินเที่ยวรอบปางอุ๋งก็เล่าจนละเอียดลออแล้ว

ปางอุ๋ง

ปางอุ๋ง

ปางอุ๋ง

ปางอุ๋ง

ปางอุ๋ง

ปางอุ๋ง

นั่งแพกลางสายหมอก

นั่งแพกลางสายหมอก ในเวลาที่พระอาทิตย์กำลังจะขึ้นสูงแสงแดดเริ่มส่องแรงขึ้นๆ ลงมาในบริเวณอ่างเก็บน้ำนี้ส่งผลให้การนั่งแพเที่ยวมองเห็นเพียงลางๆ กลางสายหมอกสำหรับคนที่อยู่บนฝั่ง เวลาผ่านไปนับชั่วโมงแต่นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการแพก็ยังมีมาอย่างต่อเนื่อง

ปางอุ๋ง

ปางอุ๋ง

เด็กดอยที่ปางอุ๋ง

เด็กดอยที่ปางอุ๋ง ถ่ายรูปหนูมั้ย 20 บาท เป็นคำที่ได้ยินออกจะบ่อยจนนักท่องเที่ยวหลายคนเริ่มจะเปลี่ยนจากความเอ็นดูมาเป็นความรำคาญ แต่หนูๆ ที่เห็นในภาพเค้ามานั่งอยู่บนแพริมอ่างเก็บน้ำ ไม่พูดอะไรสักคำ อยากจะถ่ายรูปเค้าก็ไปถ่ายได้เลย เค้าไม่เคยเรียกร้องว่าจะเอาเท่าไหร่ถ่ายจนพอใจสุดท้ายแล้วแต่จะให้ครับ นี่ก็เป็นความน่ารักของเด็กๆ ที่ทำให้เราประทับใจ

วิวสวยปางอุ๋ง

วิวสวยปางอุ๋ง ปิดท้ายกันด้วยป่าสนสุดยอดจุดเด่นของที่นี่ ทิวสนที่ขึ้นอยู่เป็นแนวตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ขนาดต่างกันไป มุมของแสงในแต่ละช่วงเวลาก็มีความสวยงามที่แตกต่างกัน พอเราเลือกนำมาใช้กับการถ่ายภาพ ก็จะสามารถรังสรรงานดีๆ ออกมาได้เยอะทีเดียว นี่คงเป็นเหตุให้ปางอุ๋งอยู่ในใจของใครหลายๆ คน ในการเลือกจุดหมายปลายทางของการพักผ่อน...
ต่อจากปางอุ๋งเค้าไปเที่ยวไหนกันต่อ แน่นอนว่าก็ต้องเป็นหมู่บ้านรักไทยสิครับ ไปชมวิวสวยๆ รอบทะเลสาบ ของบ้านดินจำนวนมากมาย
หรือไปหมู่บ้านรักไทยก่อนแล้วมาปางอุ๋งก็ได้เหมือนกันแล้วแต่การวางแผน จากนั้นก็จะมีพระตำหนักปางตองไปเลี้ยงลูกแกะถ่ายรูปสวยๆ กันครับ
อีกที่หนึ่งที่จะแวะกันได้ง่ายๆ เพราะอยู่ริมทางพอดีก็คือน้ำตกผาเสื่อ แต่ช่วงปีใหม่น้ำอาจจะน้อยไปหน่อยถ้ามาทริปทุ่งบัวตองดอยแม่อูคอน้ำก็พอมีสวยมาก

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ปางอุ๋ง (โครงการพระราชดำริปางตอง 2)
ม้ง โฮมสเตย์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
@Na Pa Paek เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชาสารักไทยรีสอร์ท
  16.77 km | แผนที่ | เส้นทาง
นงนุชรีสอร์ท บ้านรักไทย
  16.93 km | แผนที่ | เส้นทาง
Ban Bone Dai Homestay (House on Hill) เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.59 km | แผนที่ | เส้นทาง
โกลเดนปาย แอนด์ สวีท รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.79 km | แผนที่ | เส้นทาง
Imperial Mae Hong Son Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมบ้านทองพันชั่ง
  31.69 km | แผนที่ | เส้นทาง
Lintfah camping เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  33.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
มาวา มัสโคซา ดิ ออกซิเจน รีสอร์ต
  35.62 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ปางอุ๋ง (โครงการพระราชดำริปางตอง 2)
ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตอง ตามพระราชดำริ
  6.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
วนอุทยานน้ำตกผาเสื่อ แม่ฮ่องสอน
  8.76 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูโคลนคันทรีคลับ
  15.71 km | แผนที่ | เส้นทาง
ภูโคลน แม่ฮ่องสอน
  15.87 km | แผนที่ | เส้นทาง
ลีไวน์รักไทยรีสอร์ท
  16.61 km | แผนที่ | เส้นทาง
หมู่บ้านรักไทย (แม่ออ) แม่ฮ่องสอน
  16.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-ผาเสื่อ แม่ฮ่องสอน
  18.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
สะพานซูตองเป้ แม่ฮ่องสอน
  21.31 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ แม่ฮ่องสอน
  28.96 km | แผนที่ | เส้นทาง
วัดหัวเวียงหรือวัดกลางเมือง แม่ฮ่องสอน
  36.58 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com