www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สุโขทัย >> อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า บริเวณที่เรียกว่า แก่งหลวง ห่างจากตัวอำเภอศรีสัชนาลัยลงมาทางอำเภอสวรรคโลก 11 กิโลเมตร หรือห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 550 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ในเขตของตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ ตำบลท่าชัย

 ส่วนตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัยอยู่ในเขตหมู่บ้านพระปรางค์ ตำบลศรีสัชนาลัย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 45.14 ตารางกิโลเมตร เดิมชื่อว่า เมืองเชลียง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ศรีสัชนาลัย ในสมัยกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงขึ้นครองกรุงสุโขทัย และได้สร้างเมืองขึ้นใหม่เป็นศูนย์กลางการปกครองแทนเมืองเชลียง ในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุทั้งหมด 215 แห่ง สำรวจค้นพบแล้ว 204 แห่ง

อัตราค่าเข้า : นักท่องเที่ยวชาวไทย 40 บาท ชาวต่างชาติ 220 บาท รถรางนำชมโบราณสถานคนละ 10 บาท เช่าจักรยาน 20 บาทต่อวัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โทร. 0 5567 9211

ข้อมูลเพิ่มเติม:ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 5561 1619
http://www.tourismthailand.org/sukhothai

แก้ไขล่าสุด 2016-04-27 13:01:48 ผู้ชม 21000

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

การเดินทางสู่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย หลายๆ คนที่เคยมาที่นี่หลายครั้งคงจะรู้ดีว่าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย สามารถเดินทางเข้ามาได้หลายทาง แต่สำหรับผมที่มาเป็นครั้งแรก เคยเห็นแต่ในรูปก็ยังจับทางไม่ถูก ขับมาจากอำเภอสวรรคโลก เข้ามาที่อำเภอศรีสัชนาลัย ก่อนจะถึงชุมชนหาดเสี้ยวประมาณ 5 กิโลเมตร จะมีป้ายบอกว่าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยเลี้ยวซ้าย ผมก็ไปตามอย่างว่าง่าย ทั้งๆ ที่ในใจยังสงสัยอยู่ว่ามันน่าจะตรงไปให้ถึงหาดเสี้ยวมากกว่า แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วไปตามป้ายบอกเผื่อจะเจออะไรใหม่ๆ ซึ่งก็เจอจริงๆ เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกกำแพงเมือง มีวัดโบราณหลายวัด ซึ่งมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์สำหรับวิหาร

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

เข้ามาถึงศูนย์บริการนักท่องเที่ยวผมเห็นป้ายบอกทางซ้ายมีวัดอยู่หลายวัดได้แก่ วัดพญาดำ วัดสระประทุม ส่วนทางขวาเป็นทางไปพื้นที่ในกำแพงเมืองระยะทางไม่ไกลมาก ก็เลยลองไปดูทางซ้ายก่อน นอกจากวัด 2 แห่งนี้แล้วยังมีทางไปต่อได้เรื่อยๆ แล้วก็มีชื่อวัดอีกมากมาย แต่ผมคงไม่สามารถถ่ายรูปมาทุกวัดได้ จึงเอา 2 วัดนี้ แล้วก็กลับรถไปพื้นที่ในกำแพงเมือง

2 ภาพบน เป็นวัดพญาดำ วัดพญาดำเป็นโบราณสถานสมัยสุโขทัย-อยุธยา ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกนอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยด้านทิศตะวันตกใกล้กับทางเข้าเมืองด้านประตูรามณรงค์ ตัววัดมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าวิหารแบบอยุธยาตอนต้น เป็นอาคารทึบขนาด 6 ห้อง ย่อมุขด้านหน้า ฐานเป็นบัวคว่ำและมีผนังเจาะลูกกรงช่องแสง ด้านหลังวิหารเป็นมณฑปประธาน ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ มีซุ้มเรือนธาตุทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งด้านหลังประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน หลังคาก่อด้วยศิลาแลงเป็นทรงโค้งคล้ายประทุนเรือ บริเวณท้ายวัดมีอาคารโถงฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย สันนิษฐานว่าเป็นอาคารสำหรับประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์

วัดพญาดำเป็นวัดที่มีจำนวนเจดีย์รายมากที่สุดในเมืองศรีสัชนาลัย มีจำนวน 41 องค์ แต่ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดเหลือเพียงฐานชั้นล่างสุดทั้งสิ้น

2 ภาพล่าง วัดสระประทุมสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกนอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยด้านทิศตะวันตกใกล้กับทางเข้ามืองด้านประตูรามณรงค์ ตัววัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีคูน้ำล้อมรอบ ด้านหน้าวัดเป็นวิหารโถงขนาด 5 ห้อง ย่อมุขด้านหน้า ภายในวิหารมีอาสนสงฆ์อยู่ทางซ้ายมือ มีมณฑปท้ายวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ฐานมณฑปย่อมุมไม้แปด ตกแต่งฐานด้วยชุดบัวลูกแก้วอกไก่ประดับด้วยปูนปั้นลายกรอบลูกฟักที่ท้องไม้ หลังคาทรงจั่วก่อด้วยศิลาแลง ด้านหลังมณฑปเป็นเจดีย์ประธานที่มีลักษณะพิเศษคือ เจดีย์ทรงกลมศิลปะสุโขทัยที่มีฐานเขียงหน้ากระดานชั้นล่างสุดเป็นทรงกระบอกรูปวงกลม ซึ่งไม่ปรากฏเจดีย์ที่มีฐานลักษณะนี้ในโบราณสถานอื่นที่สร้างในสมัยสุโขทัย เนื่องจากบริเวณมุขหน้าวิหารวัดสระประทุมมีทางเดินก่อขอบด้วยศิลาแลง ที่เชื่อมต่อไปยังประตูด้านหลังของวัดพญาดำ จึงสันนิษฐานว่าโบราณสถานทั้งสองแห่งนี้อาจเป็นวัดเดียวกันในสมัยโบราณ

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

ส่วนนี้เป็นพื้นที่ที่อยู่ในกำแพงเมืองประกอบไปด้วยวัดสำคัญๆ หลายวัดซึ่งเป็นจุดแรกๆ ที่นักท่องเที่ยวจะต้องมากัน และแน่นอนว่าพื้นที่ส่วนนี้เก็บค่าเข้าชม ส่วนที่อยู่นอกกำแพงเมืองนั้นไม่เก็บ เส้นทางที่เราเข้ามาหลังจากจ่ายค่าเข้าแล้วจะเห็นร่มไม้คล้ายอุโมงค์ต้นไม้แบบนี้เลย ก็ต้องจอดสักนิดเก็บภาพก่อนที่จะไปต่อ

วัดช้างล้อม

วัดช้างล้อม หรือเจดีย์วัดช้างล้อม เป็นโบราณสถานที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดก็ว่าได้ เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจะต้องมีภาพกลับไป อย่างน้อย 1 แห่ง ส่วนวัดอื่นๆ ก็ถ่ายรูปบ้างไม่ถ่ายบ้าง ลักษณะของเจดีย์ก็เหมือนกับชื่อช้างล้อม คือมีรูปปั้นก่อด้วยอิฐรูปช้างยืนเรียงรายรอบฐานเจดีย์ชั้นที่ 2 ด้านหน้าของเจดีย์มีบันไดเดินขึ้นไปชมเจดีย์ชั้นบนได้ ซึ่งจะมีซุ้มมีพระพุทธรูปรอบฐานเจดีย์

วัดช้างล้อมสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย หรือราวพุทธศตวรรษที่ 19 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองศรีสัชนาลัย สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นวัดที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1828 ที่พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ขุดเอาพระบรมสารีริกธาตุออกมาบูชาเฉลิมฉลองเป็นเวลาหนึ่งเดือนกับหกวัน จากนั้นจึงนำกลับไปฝังที่กลางเมืองศรีสัชนาลัยพร้อมทั้งสร้างเจดีย์ครอบไว้และสร้างกำแพงล้อมรอบ ใช้เวลาในการก่อสร้างทั้งสิ้น 9 ปี
เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลมบนฐานประทักษิณสูง รอบฐานประทักษิณมีประติมากรรมลอยตัวรูปช้างประดับอยู่โดยรอบรวม 39 เชือก บนฐานทักษิณมีซุ้มจระนำประดิฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยจำนวน 20 ซุ้ม มีองค์ระฆังตั้งอยู่เหนือชั้นบัวถลาและบัวปากระฆังรองรับบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ที่ก้านฉัตรประดับด้วยประติมากรรมนูนต่ำรูปพระพุทธรูปปางลีลา
คติการสร้างเจดีย์ช้างล้อมนั้นมีต้นกำเนินมาจากประเทศศรีลังกา และคงจะได้ส่งอิทธิพลมายังอาณาจักรสุโขทัย ในราวพุทธศตวรรษที่ 19 โดยแนวคิดในการประดับช้างรอบฐานเจดีย์นั้นอาจมีเค้าเงื่อนมาจากการที่ช้างเป็นสัตว์มงคลและมีบทบาทในการอุปถัมภ์ค้ำจุนพุทธศาสนา

วัดช้างล้อมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

วัดช้างล้อมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย การที่จะถ่ายรูปเจดีย์เปล่าๆ นับว่าเป็นการรอคอยที่ต้องอาศัยความอดทนกันค่อนข้างมาก เพราะนักท่องเที่ยวจะเดินทางมาชมเจดีย์วัดช้างล้อมแห่งนี้ตลอดทั้งวัน ต้องคอยหาจังหวะในขณะที่สภาพอากาศฟ้าแจ่มใสก็เป็นปัจจัยให้ภาพออกมาดูดี แต่ในวันนี้ผมโชคดีกว่านั้นคือได้พระภิกษุที่เดินทางมาชมโบราณสถานเดินขึ้นบันไดเจดีย์พอดีเลย

วัดเจดีย์เจ็ดแถว

วัดเจดีย์เจ็ดแถว เป็นวัดที่มีเจดีย์อยู่มากที่สุดก็ว่าได้ เพราะมีถึง 7 แถว แต่ละแถวมีหลายองค์ด้วยกัน มีเจดีย์ที่อยู่ตรงวิหารที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด วัดแห่งนี้นอกจากจะถ่ายภาพจากอากาศแล้ว คงไม่มีวิธีอื่นที่จะถ่ายให้เห็นเจดีย์ทั้งหมดในวัดได้

วัดเจดีย์เจ็ดแถวเป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเมืองศรีสัชนาลัย ภายในวัดเจดีย์ทรงต่างๆ มากถึง 33 องค์ วางตัวอย่างเป็นระเบียบแบบแผนตามคติจักรวาล จากความงดงามและความหลากหลายของเจดีย์ทรงต่างๆ ในวัด จึงทำให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถวแห่งนี้เป็นสุสานหลวงหรือสถานที่บรรจุอัฐิของพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์สุโขทัย
รูปแบบองค์เจดีย์ในวัดเจดีย์เจ็ดแถวสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ
1. เจดีย์ทรงดอกบัวตูม เจดีย์รูปแบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัย มีรูปทรงเพรียวสูง ฐานชั้นล่างสุดเป็นฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมที่ค่อยๆ สอบขึ้นเป็นรูปแปดเหลี่ยมที่กลางเจดีย์ รองรับส่วนยอดรูปดอกบัวตูมที่มีการประดับปูนปั้นเป็นลายกลีบบัว
2. เจดีย์ทรงปราสาท หมายถึงเจดีย์ที่มีเรือนชั้นหรือมีชั้นหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป มีลักษณะรูปทรงเป็นแท่งสี่เหลี่ยม มักมีการเพิ่มมุมและยกเก็จ เจดีย์ทรงปราสาทในวัดเจดีย์เจ็ดแถวนั้นมีรูปทรงที่หลากหลายตามแรงบันดาลใจทางศิลปกรรมที่ได้รับจากชุมชนภายนอก เช่น เจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา และเจดีย์ทรงปราสาทแบบขอม เป็นต้น
3. เจดีย์ทรงกลม เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ มักมีวงแหวนหรือลวดบัวประดับอยู่ใต้องค์ระฆัง ส่วนยอดเป็นก้านฉัตรและปล้องไฉนทรงกรวย สันนิษฐานว่าเจดีย์ทรงนี้น่าจะมีต้นเค้ามาจากเนินดินทรงกลมปักฉัตรบนยอดที่เป็นพิธีกรรมการฝังศพในอินเดียโบราณ

พระพุทธรูปวัดเจดีย์เจ็ดแถว

พระพุทธรูปวัดเจดีย์เจ็ดแถว เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก อยู่บนยอดเจดีย์องค์หนึ่งที่หันเข้าหาถนนระหว่างวัดเจดีย์เจ็ดแถวกับวัดช้างล้อม เป็นจุดหนึ่งที่จะนิยมถ่ายรูปกันมาก พระพุทธรูปในซุ้มยอดเจดีย์องค์นี้อาจจะเป็นหนึ่งในไม่กี่องค์ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์มาก

วัดอื่นๆ ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

วัดอื่นๆ ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ตอนที่เข้ามาในอุทยานประวัติศาสตร์ฯ เราก็มักจะพุ่งไปถ่ายรูปที่วัดช้างล้อม แลัวก็วัดเจดีย์เจ็ดแถวก่อน แต่ก่อนหน้านั้นก็จะมีวัดแห่งหนึ่งที่อยู่ซ้ายมือ ชื่อวัดสวนแก้วอุทยานน้อย (ภาพบนซ้าย) ตั้งอยู่ติดกับบริเวณที่เป็นพระราชวังของเมืองศรีสัชนาลัย จึงสันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้เป็นพระอารามในเขตพระราชวังเช่นเดียวกันกับวัดพระศรีสรรเพชญ์แห่งกรุงศรีอยุธยาและวัดพระศรีรัตนศาสดารามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มีประตูทางเข้าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
โบราณสถานภายในวัดสวนแก้วอุทยานน้อยแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของศิลปะสุโขทัย กล่าวคือ เจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และเจดีย์รายทรงปราสาทแบบสุโขทัยที่อยู่รอบเจดีย์ประธาน ซึ่งเจดีย์ทั้งสองรูปแบบนี้มีพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมในทิศทางเดียวกันที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของช่างในสมัยสุโขทัย ที่ได้ดัดแปลงผสมผสานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของปราสาทขอมเข้ากับเจดีย์ทรงกลมแบบลังกาจนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะสุโขทัย
ภายในมณฑปท้ายวิหารของวัดสวนแก้วอุทยานน้อยประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ที่ยังคงเห็นแกนในที่ทำด้วยไม้ของพระกรของพระพุทธรูปซึ่งอาจเป็นแกนไม้ของพระพุทธรูปชิ้นสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองโบราณศรีสัชนาลัย

ต่อจากนั้นก็ขับรถเข้าไปตามทางที่กำหนด เพราะในนี้จะเป็นทางเดินรถทางเดียว 3 ภาพที่เหลือคือวัดนางพญา เป็นวัดที่มีเจดีย์สมบูรณ์ มีผนังของวิหารด้านหนึ่งยังคงสภาพลวดลายสวยงาม ก็เลยมีการสร้างหลังคาคลุมไว้เพื่อรักษาให้อยู่คงนานต่อไป

วัดนางพญาสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 โบราณสถานแห่งนี้เป็นวัดขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแนวแกนหลักของเมืองศรีสัชนาลัย จึงน่าจะเป็นวัดที่มีความสำคัญแต่กลับไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างในพงศาวดารหรือเอกสารใดๆ วิหารประธานวัดนางพญาเป็นอาคารทึบขนาด 7 ห้อง ก่อด้วยศิลาแลงหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ผนังทึบเจ้าช่องแสงเป็นลูกกรงสี่เหลี่ยมผิวปูนฉาบด้านนอกของวิหารประดับลายปูนปั้น เช่น ลายรักร้อย แข้งสิงห์ ประจำยาม เป็นต้น มีความงดงามอันวิจิตร ที่แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากศิลปะล้านนาและศิลปะจึน
เจดีย์ประธานของวัดนางพญา เป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานทักษิณที่แต่เดิมมีช้างปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบเช่นเดียวกับวัดช้างล้อม บริเวณองค์ระฆังมีการทำซุ้มจระนำ ยื่นออกมาทั้งสี่ทิศ รูปทรงของเจดีย์คล้ายคลึงกับเจดีย์ประธานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ด้วยเช่นกัน
ลายปูนปั้นที่วัดนางพญาเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างฝีมือท้องถิ่นนำไปพัฒนาเป็นลวดลายเครื่องประดับเงินและทองที่รู้จักกันในนาม "ทองโบราณศรีสัชนาลัย" สร้างรายได้ให้กับชาวอำเภอศรีสัชนาลัยเป็นจำนวนมาก

วัดเขาสุวรรณคีรี

วัดเขาสุวรรณคีรี จากวัดนางพญาขับไปเรื่อยๆ ตามทาง ยังคงมีทางแยกไปยังวัดต่างๆ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มองไปตามป้ายลูกศรชี้เห็นมีฐานโบราณสถานหลายแห่ง แต่ความสมบูรณ์น้อยจนแทบไม่เหลือเค้าของวัดให้ศึกษา ผมก็เลยมุ่งหน้าไปวัดแห่งหนึ่งที่อยู่บนเขาสูง ภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะขับไปทางไหนจะมองเห็นยอดเจดีย์บนเขาอยู่องค์หนึ่ง นั่นก็คือวัดเขาสุวรรณคีรีแห่งนี้ หลังจากขับรถมาถึงแล้วก็ต้องเดินขึ้นเขาพักใหญ่ๆ วัดแห่งนี้มีทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผมมาทางด้านหลังพอขึ้นมาแล้วเห็นมีเจดีย์องค์ใหญ่มาก อยู่บนฐานสูงหลายชั้น วัดแห่งนี้จะต้องเป็นวัดที่มีความสำคัญมาก

วัดเขาสุวรรณคีรี ตั้งอยู่ภายในเมืองต่อเนื่องกับเขาพนมเพลิง สูงจากระดับพื้นราบราว 28 เมตร พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานไว้ในหนังสือเรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" ว่า แต่แรกชื่อเข้าพนมเพลิง คงเรียกรวมทั้งสองยอด ส่วนชื่อสุวรรณคีรี น่าจะเกิดขึ้นภายหลัง และพิธีบูชากูณฑ์บนยอดเขาตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือ หากมีจริงคงกระทำบนยอดเขาสุวรรณคีรี ซึ่งมียอดสูงกว่า โบราณสถานประกอบด้วยเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่มีซุ้มพระ 4 ด้าน เป็นประธานของวัด ด้านหน้าติดกับองค์เจดีย์มีฐานวิหารขนาดใหญ่และมีเจดีย์รายทรงระฆังอยู่ทางขวา ด้านหลังเจดีย์ประธานมีมณฑปประกอบวิหารขนาดเล็กและเจดีย์ทรงเดียวกับเจดีย์ประธานแต่ขนาดย่อมกว่าตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ทางด้านขวามีกลุ่มเจดีย์ราย 8 องค์ ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วถัดไปทางด้านหลังมีวิหารขนาดเล็ก และทางด้านหลังข้างซ้ายของเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายขนาดย่อมตั้งอยู่อีกองค์หนึ่งทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของวัดยังเหลือเสาตามประทีปประดับลวดลายปูนปั้นสวยงาม

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร หลังจากที่ชมความงดงามของโบราณสถานกลุ่มในกำแพงเมืองไปแล้ว จากนั้นเดินทางออกมาอีกด้านหนึ่งจะมีวัดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งอยู่ไม่ไกลจากลานจอดรถด่านเก็บค่าเข้าชมของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยมากนัก นั้นก็คือ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร สันนิษฐานว่าวัดแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของเมืองเชลียงหรือเมืองศรีสัชนาลัยเดิมในราวพุทธศตวรรษที่ 18 อันเป็นช่วงที่วัฒนธรรมขอมมีบทบาทอย่างสูงในประเทศไทย ดังปรากฏให้เห็นที่ซุ้มเฟื้องประตูซึ่งเป็นประติมากรรมศิลาแลง ประดับปูนปั้นรูปใบหน้าบุคคลและรูปนางอัปสรร่ายรำที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับศิลปะขอมแบบบายน

ต่อมาในสมัยสุโขทัย วัดแห่งนี้ยังคงเป็นศาสนสถานที่มีความสำคัญอย่างสูงดังเห็นได้จากการสรรค์สร้างงานศิลปกรรมชิ้นเอกต่างๆ ภายในวัด เช่นพระพุทธรูปปางลีลาภายในวิหารประธานและมณฑปพระอัฏฐารศ และยังมีหลักฐานปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า "...จารึกอันหนึ่ง มีในเมืองเชลียง สถาบกไว้ด้วยพระศรีรัตนธาตุ..."

ปรางค์ประธานของวัดเป็นศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 21 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขยายอำนาจทางการเมืองขึ้นมายังดินแดนหัวเมืองเหนือ จนสามารถผนวกเอาอาณาจักรสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาได้สำเร็จ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร ส่วนที่สำคัญของวัดแห่งนี้ก็คือ พระมหาธาตุหรือพระปรางค์ประธานองค์ใหญ่ซึ่งอยู่ติดกับด้านหลังของวิหารหลวงซึ่งมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นสถานที่ที่ไม่ว่าใครมาเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ จะต้องได้มีภาพกลับไปคู่กับวัดช้างล้อมเป็นอย่างน้อย

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร พระปรางค์องค์ใหญ่ในวัด มีบันไดทางเดินขึ้นอยู่หลังพระวิหารหลวง เดินอ้อมองค์พระพุทธรูปปางลีลาไปด้านหลัง บันไดค่อนข้างชันต้องค่อยๆ ขึ้นไป บนยอดของพระปรางค์ จะมีองค์เล็กอยู่ด้านใน

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร บนยอดพระปรางค์เป็นจุดที่สามารถมองเห็นบริเวณวัดได้กว้างรวมทั้งบริเวณรอบๆ วัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา มีการสร้างอุโบสถต่อจากเขตของโบราณสถานไปด้านหน้า

ภายในพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ด้วยกัน พระประธานในอุโบสถคือหลวงพ่อเรืองฤทธิ์

หลวงพ่อเรืองฤทธิ์

หลวงพ่อเรืองฤทธิ์ ภาพซ้าย: หลวงพ่อเรืองฤทธิ์ สันนิษฐานว่าสร้างมาพร้อมพระอุโบสถ (ราวพ.ศ. 2497) มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งสุดท้ายเมื่ออาจารย์สด ครั้งที่มาดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย โดยมีการบูรณะหลังคาพระอุโบสถด้วย ปัจจุบันการบูรณะพระอุโบสถและพระพุทธรูปต่างๆ ต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากรเสียก่อน เนื่องจากได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน หลวงพ่อเรืองฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 6 เมตร หน้าตักกว้าง 4 เมตร

ภาพขวา: หลวงพ่อธรรมจักรเป็นพระพุทธรูปโบราณปางประทานพร คาดว่าสร้างมาก่อนกรุงสุโขทัยมีผู้ค้นพบที่พระธาตุมุเนา ใกล้พระปรางค์แล้วยังอัญเชิญมาประดิษฐานด้านหน้าหลวงพ่อเรืองฤทธิ์ ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร (พ.ศ. 2497) วิหารเดิมเป็นไม้เมื่อทรุดโทรมชาวบ้านได้ซ่อมแซมบ้าง แต่ไม่แน่นหนา เพราะใช้ไม้ระแนงหลังคาสังกะสี เกรงว่าจะถูกโจรกรรม องค์พระมีความสูง 1.9 เมตร เนื้อโลหะผสม สาเหตุที่เรียกว่าหลวงพ่อธรรมจักร เนื่องจากที่ฝ่ามือทั้งสองข้างปรากฏรูปกงจักร เห็นได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันองค์พระทรุดโทรมมากตามกาลเวลา

พระอาทิตย์ตกที่วัดพระธาตุ

พระอาทิตย์ตกที่วัดพระธาตุ ช่วงเย็นของแต่ละวัน การได้รอคอยเก็บภาพพระอาทิตย์ตก กับวิวสวยๆ สักแห่งก็เป็นจุดหมายของช่างภาพหลายๆ คน เมื่อเราอยู่ในโบราณสถานก็ลองเก็บภาพพระอาทิตย์ตกในโบราณสถานดูบ้าง พอดีว่าวันที่ผมไปเป็นวันที่มีงานย้อนอดีตศรีสัชนาลัย ซึ่งชาวบ้านร่วมใจแต่งตัวแบบย้อนยุคมาเปิดร้านอาหารเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของแต่ละชุมชนที่นี่ และก็ขอเชิญชวนให้คนที่มาเที่ยวงานนี้แต่งตัวย้อนยุคมาด้วย งานนี้จะมีขึ้นช่วง 6-10 ธันวาคมครับ

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรวิหาร นอกเหนือจากพระวิหารหลวง พระปรางค์ประธาน อุโบสถของวัด ก็ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างรอบๆ บริเวณนี้ ได้แก่ วิหารพระสองพี่น้อง และมณฑปพระอัฏฐารศ มีลวดลายบนซุ้มประตู มีพระพุทธรูปรอบฐานพระปรางค์ ก็เลยให้ชมภาพกันเยอะเป็นพิเศษกว่าโบราณสถานแห่งอื่นๆ ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

นอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมด ยังคงมีอีกนับไม่ถ้วนที่ไม่สามารถถ่ายรูปมาลงให้ชมได้ทั้งหมด สำหรับค่าเข้าชมเพียงไม่กี่สิบบาท ได้ชมความสวยงามที่หลงเหลือจากกาลเวลานับพันปี คุ้มสุดคุ้มครับ โบราณสถานเหล่านี้จะยังคงอยู่ให้ลูกหลานเราได้นานแค่ไหน การไปชมและรักษาชมอย่างรู้คุณค่าไม่จับ ไม่ปีนป่าย ของที่ไม่ควรจะจับจะปีน ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนพอจะทำได้ครับ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย สุโขทัย
ดาวน์ฮิลล์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำยม รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.98 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชานาลัย รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.83 km | แผนที่ | เส้นทาง
ทู ที รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.99 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวรรค์บุรี บูทิค โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.57 km | แผนที่ | เส้นทาง
เลิฟ วิว รีสอร์ต แอนด์ คอฟฟี่ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.26 km | แผนที่ | เส้นทาง
บังกะโล 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 16 ตร.ม. – สวรรคโลก เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  28.65 km | แผนที่ | เส้นทาง
สบายสบาย สุโขทัย เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  36.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสุโขทัยเฮอริเทจรีสอร์ท บาย เดอะยูนีค คอลเลคชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  36.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
บ้านนาข้าว เกสต์เฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  39.17 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย สุโขทัย
ศูนย์ศึกษาและอนุรักษ์เตาสังคโลก (เตาทุเรียง) สุโขทัย
  3.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
ชุมชนไทครั่งภูคัง
  8.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนหลวงพระร่วงเฉลิมพระเกียรติ (ทุ่งแม่ระวิง) สุโขทัย
  8.54 km | แผนที่ | เส้นทาง
สุนทรีผ้าไทย
  14.53 km | แผนที่ | เส้นทาง
สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ สุโขทัย
  18.16 km | แผนที่ | เส้นทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สวรรควรนายก สุโขทัย
  20.04 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศาลหลักเมืองสวรรคโลก อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
  23.27 km | แผนที่ | เส้นทาง
ตลาดริมยม 2437
  28.09 km | แผนที่ | เส้นทาง
สวนบุญชอบ เอมอิ่ม สุโขทัย
  33.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศูนย์การท่องเที่ยวบ้านนาต้นจั่น
  35.52 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com