www.touronthai.com

หน้าหลัก >> เชียงใหม่ >> ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์

 โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ตามพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ (ดอยอินทนนท์) สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ มีพระราชดำริเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 กับนายโกวิท ปัญญาตรง ผู้อำนวยการสำนักสนองงานพระราชดำริ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สรุปใจความได้ว่า "ให้พิจารณาหาหนทางในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีซึ่งเป็นกล้วยไม้ไทยที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินไทย เนื่องจากถูกลักลอบเก็บออกจากป่าส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และให้หน่วยงานที่ดำเนินการปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้เหมาะสมยิ่งขึ้น"

วัตถุประสงค์ของโครงการ
 1. เพื่อสนองพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี
 2. เพื่อรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีเพื่อการศึกษาวิจัยและการท่องเที่ยว
 3. เพื่อขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี
 4. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและจำหน่ายกล้วยไม้ที่ได้จากการขยายพันธุ์
 5. เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีที่หายาก
 6. เพื่อขจัดปัญหาการลักลอบนำกล้วยไม้ออกจากป่าธรรมชาติซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของกล้วยไม้

ประวัติกล้วยไม้รองเท้านารีในประเทศไทย
 กล้วยไม้รองเท้านารี "Lady's Slipper" ชื่อรองเท้านารีได้มาเนื่องจากปากหรือกระเป๋าคล้ายรองเท้า มีถิ่นกำเนิดทั้งในเขตร้อนและหนาว เท่าที่พบมี 5 สกุล 137 ชนิด ซึ่งนับได้ว่าเป็นพันธุ์แท้ กล้วยไม้รองเท้านารีจัดอยู่ในสกุล Pophiopedium ที่มีถิ่นกำเนิดในไทยมีอยู่ 17 ชนิด ถูกค้นพบครั้งแรกโดย ดร.นาธานิล วอลลิส ชาวอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2359 และกล้วยไม้รองเท้านารีดังกล่าวได้ออกดอกครั้งแรกในเดือน พฤศจิกายน 2352 ต่อมาได้ออกไปสำรวจที่เดิมอีกได้ค้นพบอีก 1 ชนิด จึงตั้งชื่อว่า Pophiopedium insigne หลังจากนั้นเพื่อนๆ ของ ดร.นาธานิล วอลลิช จึงได้ออกสำรวจในแถบเอเซีย ในระยะเวลา 44 ปี ได้ค้นพบกล้วยไม้รองเท้านารีสกุลนี้จำนวน 17 ชนิด

 ต่อมาในปี พ.ศ. 2412 นายจอห์น โดมินีย์ ผสมพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีข้ามชนิดสำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับคำแนะนำจากนายแพทย์ แฮรีส โดยการนำกล้วยไม้รองเท้านารี Pophiopedium villosum (ชนิดเดียวกันกับพันธุ์แท้ของไทย ชื่อรองเท้านารีอินทนนท์) ที่พบในพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2396 มาผสมกับรองเท้านารี paphiopedium barbatum (มีลักษณะคล้ายคลึงกับพันธุ์แท้ของไทยชื่อรองเท้านารีคางกบ) หรือรองเท้านารีม่วงสงขลา ที่พบในมาเลเซียเมื่อปี พ.ศ.2381 ได้ลูกผสมกล้วยไม้รองเท้านารีข้ามชนิดชุดแรกและได้ทำการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ นายแพทย์แฮริส ว่า Paphiopedium Harisianum

 หลังจากนั้นจึงเป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย และได้ทำการผสมพันธุ์ เกิดลูกผสมต่างๆ มากมาย สำหรับประเทศไทย เริ่มให้ความสนใจการปลูกเลี้ยงประมาณ 30-40 ปี ที่ผ่านมาก ในระยะแรกๆ ปลูกเลี้ยงเฉพาะพันธุ์แท้ ที่ค้นพบและนำออกมาจากป่าตามภาคต่างๆ ทำการขยายพันธุ์โดยการแยกต้น เนื่องจากยังไม่สามารถทำการเพาะเมล็ดได้ ต่อมาเมื่อมีการค้นพบสูตรเพาะที่เหมาะสมในการเพาะเมล็ด จึงได้ผสมพันธุ์ข้ามต้นในชนิดเดียวกัน และผสมข้ามชนิด แต่ส่วนใหญ่นิยมผสมข้ามต้นเพื่อให้ได้พันธุ์แท้ที่มีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งตรงกับความต้องการพันธุ์แท้ของต่างประเทศ

 รองเท้านารีหรือกล้วยไม้รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ประเภทฐานร่วมคือ เจริญเติบโตโดยการแตกหน่อใหม่จากตาของต้นเดิมลำต้นสั้นมาก ไม่มีลำลูกกล้วย ออกดอกที่ยอด อาศัยอยู่ตามซอกผาหรือโขดหิน และพื้นดินที่มีซากใบไม้ผุทับถมกันอยู่เป็นเวลานาน หรืออิงอาศัยต้นไม้ใหญ่บนที่สูง

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.เชียงใหม่ 0 5324 8604, 0 5324 8607, 0 5324 8605
http://www.tourismthailand.org/chiangmai

แก้ไขล่าสุด 2016-04-25 12:38:37 ผู้ชม 25064

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
ทางเข้าโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์

ทางเข้าโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ การเดินทางมาที่นี่ใช้เส้นทางเดียวกับอำเภอจอมทองจากตัวเมืองเชียงใหม่ ขึ้นดอยอินทนนท์ ผ่านด่านตรวจเสียค่าเข้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จากนั้นก่อนถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จะมีแยกขวามือเข้าบ้านขุนวาง สังเกตุต้นพญาเสือโคร่งหรือว่าซากุระเมืองไทยอยู่ปากทางเยอะมาก เลี้ยวมาแล้วตรงอย่างเดียวระยะทางขึ้นเขาคดเคี้ยวแถมมีหลุมมีบ่ออยู่บนถนน เป็นเสน่ห์การเที่ยวขุนวาง ประมาณ 8 กิโลเมตร เราก็จะมาถึงทางเข้าโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ตรงปากทางเข้ามีต้นนางพญาเสือโคร่งขนาดใหญ่เป็นจุดสังเกตุ ข้างในมีพื้นที่จอดรถพอประมาณ ถ้านักท่องเที่ยวมากันเยอะมากๆ จะไม่พอจอด แต่ก็มีคนเดินทางมาชมซากุระไม่ขาดสายหลังจากช่วงปีใหม่

นางพญาเสือโคร่งริมอ่างเก็บน้ำ

นางพญาเสือโคร่งริมอ่างเก็บน้ำ ภายโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ พื้นที่กว้างขวางส่วนหนึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ในโครงการ มีโขดหินขนาดใหญ่กระจายอยู่ในพื้นที่ ด้านหนึ่งของอ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นด้านแนวเขา มีต้นนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเป็นแนวอยู่ริมน้ำ ภาพที่เราเห็นที่นี่จะมีความสวยงามเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับการชมดอกซากุระเมืองไทยในที่อื่นๆ เพราะในศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี เป็นแห่งเดียวที่มีซากุระริมน้ำ เมื่อสื่อแขนงต่างๆ ประชาสัมพันธ์ทำข่าวซากุระเบ่งบานทั้งทางทีวีและโลกออนไลน์ ที่นี่ก็กลายเป็นที่รู้จัก นักท่องเที่ยวเดินทางมาแน่นตลอดวัน โดยเฉพาะในปี 2556 ที่นางพญาเสือโคร่งหลายแห่งต่างไม่มีดอกออกมาให้ชมเหมือนทุกปีเหมือนนัดกัน สถานที่ชมซากุระก็เลยเหลือน้อยลงอย่างมาก

นางพญาเสือโคร่งออกดอกบานสะพรั่งริมน้ำเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ได้มากกว่าดอกกล้วยไม้รองเท้านารีเสียอีก น่าเสียดายที่พื้นที่ในโครงการไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวตั้งแคมป์พักแรม เพราะมีข้อจำกัดเรื่องห้องน้ำสำหรับบริการนักท่องเที่ยว ไม่เช่นนั้นคงได้เห็นภาพสวยๆ ในยามเช้าและเย็นกันด้วยและคงจะเพิ่มความสวยงามได้มากขึ้นเยอะ

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์

ทีมงานของเราก็เหมือนกับสื่อและนักท่องเที่ยวหลายๆ คนที่มาเยี่ยมชมโครงการ คือเราเลือกที่จะเดินชมนางพญาเสือโคร่งกันก่อนที่จะเข้าไปชมกล้วยไม้ ต่างคนต่างก็เดินกระจายเข้าไปหาต้นที่คิดว่าจะถ่ายรูปได้สวยที่สุด หากมองในแง่ปริมาณแล้ว ที่โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ มีนางพญาเสือโคร่งไม่กี่ต้น น้อยกว่าที่อื่นๆ มาก แต่บังเอิญว่าปีนี้ในโครงการฯ มีนางพญาเสือโคร่งบานสวยงาม ในขณะที่ที่อื่นแทบไม่มีดอกให้เห็น เช่น ขุนวาง ขุนช่างเคี่ยน เป็นต้น

จากการสอบถามข้อมูลจากสมาชิกทัวร์ออนไทยได้ความว่าในปี 56 นางพญาเสือโคร่งที่ออกดอกบานให้เห็นได้อย่างสวยงามก็มีอีกที่คือ ดอยอ่างขาง แต่คงเหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็คงจะผลิใบออกมาแทนดอกจนหมด

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์

เราเดินทางมาถึงเย็นวันที่ 19 มกราคม 2556 ถ้านับจากวันแรกที่มีข่าวเรื่องการผลิดอกบานสะพรั่งของนางพญาเสือโคร่งในโครงการฯ ก็ประมาณวันที่ 8 มกราคม 2556 ห่างกันประมาณ 11 วัน นางพญาเสือโคร่งเริ่มมีใบแซมตามช่อดอก และเติบโตอย่างรวดเร็ว เช้าวันที่ 20 มกราคม 2556 เราเห็นได้ชัดว่าใบที่เราเห็นในวันที่ 19 เพิ่มจำนวนและโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แสดงให้เห็นว่านี่เป็นช่วงสุดท้ายของฤดูกาลชมซากุระและฤดูหนาวที่กำลังจะผ่านพ้นไป

พญาเสือโคร่งหรือซากุระริมน้ำ

พญาเสือโคร่งหรือซากุระริมน้ำ เนื่องจากในโครงการฯ ไม่มีบริการตั้งแคมป์สำหรับนักท่องเที่ยว การมาเที่ยวชมโครงการฯ ก็จะต้องเลือกว่าจะตั้งแคมป์ หรือพักที่ไหน จากทางแยกถนนขึ้นดอยอินทนนท์ มีที่พักอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก ได้แก่ ลานกางเต็นท์สวนสนที่อยู่ใกล้ๆ ปากทางเข้า ลานกางเต็นท์วิวสวย อยู่ห่างจากลานกางเต็นท์สวนสนไม่ไกล อยู่ก่อนถึงศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ประมาณ 8 กิโลเมตร ที่พักอีกแห่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากก็คือศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ซึ่งอยู่ห่างจากโครงการฯ ประมาณ 8 กิโลเมตรเท่าๆ กัน

ภาพที่เห็นอยู่นี้เป็นช่วงเย็น แสงแดดคล้อยไปทางด้านหลังของแนวเขา เราจะเห็นเงาสะท้อนน้ำของซากุระสีชมพูแสนสวยได้ แต่ช่วงเช้าอาจจะสวยกว่า ถึงแม้ในโครงการฯ ไม่มีลานกางเต็นท์ แต่ที่นี่มีระเบียงชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยมาก น่าเสียดายที่เราต้องไปนอนที่ขุนวาง ก็เลยเลือกที่จะรอชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ขุนวางแทนที่จะขับรถมาแต่เช้ามืดมาที่นี่

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์

บรรยากาศนักท่องเที่ยวในโครงการ

บรรยากาศนักท่องเที่ยวในโครงการ ดอกนางพญาเสือโคร่ง เป็นต้นไม้ที่ออกดอกดกมาก สีชมพูอ่อนจนถึงสีชมพูเข้ม ในระหว่างการออกดอกจะผลัดใบทิ้งทั้งหมด เป็นต้นไม้ที่มีความสวยงามมาก สีชมพูที่สื่อถึงความรักที่หวานและสดใส จึงทำให้คู่รักมากมายหลายคู่มาถ่ายรูปแต่งงานที่ที่มีต้นนางพญาเสือโคร่งมากๆ และโดยเฉพาะศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ ซึ่งมีมุมให้ถ่ายรูปมากมาย ก็เลยเป็นที่นิยมกันมาก ส่วนนักท่องเที่ยวทั่วไปก็มากันเยอะ

รูปแต่งงานใต้ต้นซากุระ

รูปแต่งงานใต้ต้นซากุระ

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์

ความรู้เรื่องกล้วยไม้รองเท้านารี

ความรู้เรื่องกล้วยไม้รองเท้านารี เอาละครับผมเอารูปพญาเสือโคร่งสวยๆ มาให้ชมกันหลายต่อหลายมุมแล้ว ตอนนี้มาสนใจเรื่องของกล้วยไม้รองเท้านารีกันบ้างดีกว่า ภายในศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ จะมีพื้นที่เรือนเพาะชำสำหรับปลูกกล้วยไม้รองเท้านารี มีอยู่หลายชนิด ไม่เฉพาะว่าจะต้องเป็นรองเท้านารีอินทนนท์เท่านั้น บริเวณโดยรอบที่เป็นโขดหินประปรายก็ได้ทำปูนปั้นรูปกล้วยไม้รองเท้านารีชนิดต่างๆ ติดไว้บนหิน เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ในเรือนเพาะชำมีกล้วยไม้รองเท้านารีจำนวนไม่ใช่น้อยๆ ในช่วงเดือนมกราคม ที่เราเดินทางมาชมซากุระกัน กล้วยไม้รองเท้านารีก็พร้อมใจกันออกดอกอวดความสวยงามกันเต็มเรือนเพาะชำทีเดียวละครับ สมาชิกของเราบางคนตื่นตาตื่นใจกับรองเท้านารีเหล่านี้มากกว่าพญาเสือโคร่งด้านนอกซะอีก

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์

รองเท้านารีพันธุ์ต่างๆ

รองเท้านารีพันธุ์ต่างๆ ในโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เพาะเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์เพียงอย่างเดียว แต่มีรองเท้านารีอีกหลายพันธุ์เพื่อเป็นศูนย์รวมสำหรับการศึกษา เราจะได้เห็นกล้วยไม้รองเท้านารีมากมายที่นี่ สำหรับผมแล้วน่าประทับใจไม่แพ้การชมนางพญาเสือโคร่งเลยละครับ กล้วยไม้รองเท้านารีที่เห็นได้แก่ รองเท้านารีอินทนนท์ รองเท้านารีคางกบ รองเท้านารีเหลืองปราจีน รองเท้านารีเหลืองเลย รองเท้านารีขาวชุมพร รองเท้านารีอินทนนท์ลาว ฯลฯ สำหรับข้อมูลของกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์ต่างๆ ก็ขอจะไม่กล่าวถึงมาก เอาเฉพาะรองเท้านารีอินทนนท์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของโครงการดังนี้ครับ

รองเท้านารีอินทนนท์ ค้นพบโดย Mr.Thomas Lobb ในปีพ.ศ. 2396 ในประเทศพม่า เผยแพร่ในยุโรปในปีเดียวกัน กล้วยไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในพม่า อินเดีย ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และภาคเหนือตอนบนของไทย แหล่งที่พบคือบนดอยสูงได้แก่ ดอยอินทนนท์ ดอยเชียงดาว ดอยแม่อูคอ และภูหลวง จังหวัดเลย ในทำเลที่เป็นป่าดิบเขา ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่หนา อยู่สูงประมาณ 1200-1500 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นรองเท้านารีชนิดอิงอาศัย โดยขึ้นบนต้นไม้ใหญ่ที่มีเปลือกหนาผุง่าย ปกคลุมด้วยมอส เฟิร์น อุ้มความชื้นได้ดี

ลักษณะเป็นพุ่มต้นกว้าง 25-30 ซม. ใบกว้าง 3.5-4 ซม. ยาว 30-40 ซม. ใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ใต้ใบโคนกาบใบมีจุดประสีม่วง แตกหน่อได้ดี ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดประมาณ 10-20 ซม. ก้านดอกตั้งตรง กลีบดอกสีน้ำตาลเข้ม กลีบในมีเส้นสีน้ำตาล กลีบบนบริเวณขอบมีสีเหลืองหรือขาว โคนกลืบบนสีน้ำตาลเข้มกลีบในมีเส้นสีน้ำตาลเข้มแบ่งกึ่งกลางตามความยาวกลีบ กระเป๋าสีน้ำตาลเป็นมันเงา มีเส้นร่างแหสีน้ำตาล ชอบอากาศเย็น แสงรำไร ความชื้นสูง แต่เลี้ยงออกดอกยาก เนื่องจากต้องการอากาศเย็น ไม่ควรเปลี่ยนกระถางบ่อย

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์

ต้นกล้าพญาเสือโคร่ง

ต้นกล้าพญาเสือโคร่ง พอเป็นต้นไม้ที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยว ก็มีหลายๆ พื้นที่ที่จะมีการปลูกต้นพญาเสือโคร่งและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต ในโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ ก็มีการเพาะต้นนางพญาเสือโคร่งจำนวนมาก ในแง่ของธรรมชาติ ต้นนางพญาเสือโคร่งที่เราเห็นทุกวันนี้ก็เริ่มแก่ตัวลง บางทีอาจจะต้องมีการปลูกแซมเอาไว้ เพื่อให้มีดอกให้เราชมอย่างต่อเนื่อง

เอาละครับ จบการนำเที่ยวที่นี่เอาไว้เท่านี้ก่อน ไว้มีโอกาสคงได้มีเวลามาอัพเดตติดตามข่าวการบานของพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทย กันต่อไป

รีวิว ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ เชียงใหม่


 "ดอกนางพญาเสือโคร่งหรือซากุระเมืองไทย ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ เดือนธันวาคม 2561 คอนเฟิร์มว่าบานแล้วจริงๆ "

Akkasid Tom Wisesklin
2018-12-26 16:20:37

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ เชียงใหม่


 "อัพเดทกันหน่อยครับซากุระเมืองไทยหรือดอกพญาเสือโคร่ง ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ เชียงใหม่ บ้านแล้วจ้าปีนี้สดๆ ร้อนๆ รูปภาพใหม่ปี 2561 นี่เอง ไม่รีบไปจะเสียดายนะครับ "

Akkasid Tom Wisesklin
2018-12-26 16:18:21

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ เชียงใหม่


 "พญาเสือโคร่งบานรับวันปีใหม่ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ 1 มกราคม 2560 สายฝนโปรยปรายลงมาเหมือนหิมะ บรรยากาศฟินเวอร์ คนแห่เที่ยวแน่นไปหมด แต่ละจุดต้องรอคิวถ่ายรูปกันเลยทีเดียว"

Akkasid Tom Wisesklin
2017-01-02 06:55:38

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ เชียงใหม่


10/10 จาก 2 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ เชียงใหม่
โปโป&ปิงปิง โฮมสเตย์
  7.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
โปโป & ปิงปิง โฮมสเตย์
  7.02 km | แผนที่ | เส้นทาง
กระท่อมชาวนา ป่าบงเปียง​ หลังที่​2
  13.37 km | แผนที่ | เส้นทาง
โกวิท แม่แจ่ม ฟาร์มเฮาส์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  18.52 km | แผนที่ | เส้นทาง
บังกะโล 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำส่วนตัว ขนาด 15 ตร.ม. – ดอยอินทนนท์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  20.91 km | แผนที่ | เส้นทาง
Fuang Fah camping เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  21.58 km | แผนที่ | เส้นทาง
สายน้ำวางรีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
ฮัก โฮม 2 เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
Mae Win Guest House and Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  26.80 km | แผนที่ | เส้นทาง
Navasoung Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  27.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ เชียงใหม่
ดอยผาแง่ม เชียงใหม่
  4.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
จุดสูงสุดแดนสยาม ดอยอินทนนท์
  4.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา เชียงใหม่
  4.32 km | แผนที่ | เส้นทาง
อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่
  4.35 km | แผนที่ | เส้นทาง
หน่วยพิทักษ์ยอดดอยอินทนนท์
  4.40 km | แผนที่ | เส้นทาง
น้ำตกสิริภูมิ เชียงใหม่
  6.81 km | แผนที่ | เส้นทาง
กิ่วแม่ปาน เชียงใหม่
  7.41 km | แผนที่ | เส้นทาง
จุดชมวิวกิ่วแม่ปาน เชียงใหม่
  7.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
ขุนวาง (ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่)
  7.64 km | แผนที่ | เส้นทาง
โครงการหลวงดอยอินทนนท์ เชียงใหม่
  7.72 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com