www.touronthai.com

หน้าหลัก >> สุพรรณบุรี >> วัดหน่อพุทธางกูร (วัดมะขามหน่อ)

วัดหน่อพุทธางกูร (วัดมะขามหน่อ)

 วัดหน่อพุทธางกูร (เดิมชื่อ วัดมะขามหน่อ) ตั้งอยู่ที่ตำบลพิหารแดง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสุพรรณ เลยวัดพระลอยไปทางเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 3507 กิโลเมตรที่ 3 เป็นวัดเงียบสงบสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ภายในพระอุโบสถหลังเก่ามีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ ค่อนข้างสมบูรณ์ชัดเจน เป็นจิตรกรรมที่มีความงดงาม เขียนราว พ.ศ. 2391 ในสมัยรัชกาลที่ 3

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สุพรรณบุรี โทร.035 525 880
Facebook tat_suphanburi

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 31458

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
พระอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร

พระอุโบสถวัดหน่อพุทธางกูร เป็นอาคารสูงเด่นเป็นสง่าอยู้ใกล้กับซุ้มประตูวัดมากที่สุด มองเห็นได้แต่ไกล อุโบสถหลังนี้เป็นอุโบสถที่สร้างขึ้นมาใหม่แทนหลังเก่าที่อยู่คู่กับวัดหน่อพุทธางกูรมาช้านาน ตั้งอยู่ลึกเข้าไปด้านในของวัด วัดหน่อพุทธางกูรเป็นวัดลำดับที่ 5 ตามเส้นทางมหามงคลไหว้พระวัดโบราณเลียบแม่น้ำท่าจีนของสุพรรณบุรี อยู่ห่างจากวัดพระลอยอันเป็นวัดลำดับที่ 4 เพียงไม่ถึง 5 นาที ทำเอาผมที่ขับรถมาตั้งตัวไม่ทันเพราะถึงเร็วกว่าที่คาดไว้มากเลยไม่ได้ถ่ายรูปหน้าวัดมาให้ชมเพราะเป็นช่วงทางโค้งที่ไม่สมควรจะจอดรถ
ลานจอดรถของวัดหน่อพุทธางกูรอยู่รอบๆ อุโบสถหลังใหม่ เมื่อจอดรถเป็นที่เรียบร้อยเดินเข้าไปไหว้พระในอุโบสถกันครับ บอกไว้ก่อนเลยว่าที่วัดหน่อพุทธางกูรนี้ มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่แปลกมากๆ หาชมได้ยากยิ่งในโลกก็ว่าได้

ซุ้มประตูกำแพงแก้ว

ซุ้มประตูกำแพงแก้ว ตอนนี้เราก็จะเข้าไปในอุโบสถผ่านซุ้มประตูของกำแพงแก้ว จะเห็นป้ายประชาสัมพันธ์ติดอยู่ให้เห็นได้เด่นชัด เขียนเอาไว้ว่า บรรจุหัวใจพระพุทธเจ้า หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าหมายความว่าอย่างไรนะครับ จะขออธิบายคร่าวๆ ว่า การบรรจุหัวใจพระพุทธเจ้านั้นเป็นพิธีกรรมทางศาสนาอย่างหนึ่ง เมื่อมีการสร้างพระพุทธรูป จะมีพิธีนี้เพื่อให้พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาใหม่มีพุทธานุภาพเกิดความศักดิ์สิทธิ์ขึ้น คล้ายๆ กับพิธีเบิกเนตรพระพุทธรูป อย่างที่บอกไว้แต่แรกแล้วว่าที่วัดหน่อพุทธางกูร มีพระพุทธรูปที่แปลกมากๆ อยู่องค์หนึ่งเมื่อสร้างขึ้นมาแล้วก็จะมีการบรรจุหัวใจพระพุทธเจ้าครับ เข้าไปชมกันเลยดีกว่า

พระสิงห์สามสานชนะมาร

พระสิงห์สามสานชนะมาร นี่ก็คือพระพุทธรูปที่ผมได้กล่าวมาบ้างแล้วว่า เป็นพระพุทธรูปแปลกที่หาชมได้ยากยิ่งในโลก พระพุทธรูปองค์นี้สร้างด้วยกรรมวิธีการสานด้วยไม้ไผ่ มีเพียงองค์เดียวในจังหวัดสุพรรณบุรี จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ก็จะมีอีกองค์หนึ่งที่วัดหิรัญญาวาส (เหมืองแดงน้อย) ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย เป็นพระสานด้วยไม้ไผ่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หน้าตักกว้าง ๙.๙ ศอก นามว่า "พระเจ้าสาน หรือพระสิงห์สานชนะมาร"

พระสิงห์สามสานขนะมาร (พระไม้ไผ่สาน)

พระสิงห์สามสานขนะมาร (พระไม้ไผ่สาน) มีที่มาดังนี้ครับ
การสร้างพระพุทธรูป อาศัยความศรัทธาอย่างเดียวไม่พอ หากต้องอาศัยพลังความสามัคคีแห่งกัลยาณมิตรด้วย โดยเฉพาะการสร้างด้วยวิธีการสานด้วย "ตอก" ซึ่งในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีให้พบเห็นมากนัก โดยล่าสุดมีการจัดสร้างพระสิงห์สามสานชนะมาร หน้าตักกว้าง ๓ ศอก สูง ๔ ศอก ประดิษฐานอยู่ที่วัดหน่อพุทธางกูร บ้านพลูหลวง ต.พิหารแดง อ.เมืองสุพรรณบุรี
วัตถุประสงค์ในการสร้างพระสิงห์สามสานชนะมาร
1. เพื่อจรรโลงสิบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป
2. เพื่ออนุรักษ์และสืบสานงานประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามให้อนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป
3. เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ฝากไว้ในแผ่นดิน
4. เพื่อสร้างมรดกอันล้ำค่าของโลก
5. เพื่อเป็นศูนย์รวมยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน
6. เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของประเทศไทย

ความเชื่อ-อานิสงส์ ในการสร้างพระสิงห์สามสานชนะมาร ความเชื่อตามโบราณ ผู้ใดได้สร้างพระนี้ด้วยตนเองหรือร่วมกันสร้างเพื่อเป็นพุทธบูชานั้น จะบังเกิดอานิสงส์มากมายดังนี้
1. พระสิงห์สานเป็นพระแห่งความรัก เนื่องจากใช้ยางของต้นรักมาทาองค์พระ หากหนุ่มสาวคู่ใดได้สักการะบูชา จะรักกันยาวนานตลอดไป
2. ด้วยอานิสงส์แห่งการได้ใช้ไม้มุงมาทำพระทั้งองค์ จะบังเกิดผล คือ อานุภาพปกคลุมรักษาตระกูลและตนเองให้อยู่รอดปลอดภัยจากอันตราย อุบาทจัญไร ที่จะเกิดขึ้นทั้งปวง
3. จะเกิดความโชคดี บารมีสูงส่ง จะเป็นเจ้าคนนายคนมีข้าทาสบริวารผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์สุจริตมากมาย
4. จะสานต่อฐานะมั่งคั่ง มั่นคงทรัพย์สินให้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันหมด
5. จะสานต่อกิจการร้านค้า ธุรกิจ ให้เจริญงอกงาม เพิ่มพูน ไพบูลย์ ทวีคูณร้อยเท่าพันเท่า
6. จะสานต่อเงินทองไม่ให้ขาดมือ
7. จะสานต่อตระกูลเพิ่มพูนให้ตระกูลสูงส่ง เป็นที่เชิดหน้าชูตาลูกหลานเป็นคนดี ว่าง่ายสอนง่าย เป็นที่ยอมรับของสังคม

พระสิงห์สามสานชนะมาร เป็นพุทธลักษณะพระสิงห์สาม เชียงแสน ที่ทำจากไม้ไผ่มุงซึ่งจะมีกิ่งก้านสาขาเลื้อยขึ้นมุงไม้ใหญ่ที่อยู่บริเวณรอบๆ คล้ายหวาย เชื่อกันว่ามีลักษณะเหนียวและทนทานเป็นพิเศษ หลังจากนั้นจึงนำน้ำส้มจากการเผาไม้ และนำน้ำจากการเผาไหม้มาชุบ ไม้มุงมีถิ่นกำเนิดจากดอย เมืองโก อำเภอท่าขี้เหล็ก จังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า การตัดและนำลงมาจากยอดดอยสูงนั้น ลำบากมากต้องใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับถึง 6 วัน เนื่องจากระยะทางและสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งถนนหนทางยังเป็นทางขรุขระ จึงต้องขอแรงจากชาวปะหล่อง ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่บนดอยนี้ร่วมร้อยกว่าคนช่วยกันนำไม้ไผ่ลงมาจากยอดเขา ซึ่งนับเป็นจิตศรัทธาอย่างแรงกล้าของชาวปะหล่องที่อยู่บนภูเขาสูง ไม้ไผ่มุงที่นำมาทำองค์พระนี้ต้องตัดเดือนสามไทย หรือเดือนกุมภาพันธ์ และจะตัดได้เพียงวันเดียวให้เสร็จในวันนั้น ในรอบ 1 ปี จะทำพิธีตัดได้เพียงครั้งเดียว และคนจัดจะต้องสมาทานศีล ๘ พร้อมกับงดเว้นการทานเนื้อสัตว์ และห้ามนำอาหารที่มีเนื้อสัตว์ทุกชนิดเข้าในบริเวณภูเขาลูกนั้นโดยเด็ดขาด จึงนำมาจักสานได้ โดยในขณะนี้ก็เป็นองค์พระแล้วด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น

พระสิงห์สามสานชนะมาร เป็นพระพุทธรูปขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอก องค์พระหลังจากสานเสร็จได้ทาด้วยน้ำยางรักมีลักษณะเป็นสีดำ เพื่อเป็นการรักษาเนื้อไม้ให้อยู่คงทนถาวรยาวนาน และจะปิดทองทั้งองค์พระ พระสิงห์สามสานชนะมาร เริ่มลงมือสานเมื่อ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 จนมาเสร็จสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ด้วยความร่วมแรงร่วมใจอันแรงกล้าของชาวบ้านในหมู่บ้านเกาะช้าง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา

พระมหาณรงค์ ธมฺมานนฺโท เจ้าอาวาสวัดหน่อพุทธางกูร หวังว่า ผู้ที่มีโอกาสแวะเวียนมาสักการะพระสิงห์สามสานชนะมาร จะได้พิจารณาถึงเส้นตอกเส้นเล็กๆ นับแสนเส้น ที่สานมัดรวมกันจนเป็นพระพุทธรูปที่มีความมั่นคงแข็งแรง สวยงาม เปรียบเสมือนกับประชาชนคนไทยที่จะต้องหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว จึงจะมีความมั่นคงสามัคคีในประเทศชาติได้เช่นเดียวกัน

พระลักแล

พระลักแล เป็นการสร้างพระพุทธรูปตามแบบของชาวพม่า ลักษณะพิเศษของพระลักแลนั้นก็คือ ไม่ว่าเราจะเดินมามองในมุมใดของพระ จะมีความรู้สึกเหมือนว่าองค์พระได้ผินพระพักตร์ตามเราอยู่ตลอดเวลา

พระพุทธรูปทรงเครื่องประจำวันเกิด

พระพุทธรูปทรงเครื่องประจำวันเกิด สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของวัดหน่อพุทธางกูร คือพระพุทธรูปประจำวันเกิดซึ่งปกติเราก็จะได้เห็นพระพุทธรูปเหล่านี้อยู่ตามวัดต่างๆ แทบทุกวัด สิ่งที่พิเศษขึ้นมากว่าวัดอื่นๆ ในวัดหน่อพุทธางกูรคือ พระพุทธรูปเหล่านี้ล้วนเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง ทุกองค์ครับ เริ่มจากพระพุทธรูปปางถวายเนตร (ภาพซ้าย) เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดวันอาทิตย์ ส่วนภาพขวาก็คือพระพุทธรูปปางห้ามญาติหรือปางห้ามสมุทร

พระพุทธรูปทรงเครื่องประจำวันเกิด

พระพุทธรูปทรงเครื่องประจำวันเกิด พระพุทธรูปปางไสยาสน์ ประจำวันอังคาร (เรียกกันทั่วไปว่าพระนอน)

พระพุทธรูปทรงเครื่องประจำวันเกิด

พระพุทธรูปทรงเครื่องประจำวันเกิด ภาพซ้ายเป็นพระพุทธรูปประจำคนที่เกิดวันพุธ (ปางอุ้มบาตร) ส่วนภาพขวาก็เป็นพระพุทธรูปประจำคนที่เกิดวันพุธกลางคืน (ปางป่าเลไลยก์)

พระพุทธรูปทรงเครื่องประจำวันเกิด

พระพุทธรูปทรงเครื่องประจำวันเกิด ภาพซ้ายพระพุทธรูปปางสมาธิ หรือปางตรัสรู้ ประจำผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี ส่วนภาพขวาก็เป็นปางรำพึง พระพุทธรูปประจำวันเกิดสำหรับผู้ที่เกิดวันศุกร์

พระพุทธรูปทรงเครื่องประจำวันเกิด

พระพุทธรูปทรงเครื่องประจำวันเกิด ภาพซ้ายสำหรับผู้ที่เกิดในวันเสาร์ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ทั้งเจ็ดองค์เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องที่งดงามมากครับ ส่วนภาพขวาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งนิยมสร้างเป็นองค์พระปฏิมาประธานในพระอุโบสถหรือวิหารต่างๆ ของวัดเกือบทุกแห่ง

ลายพระหัตถ์

ลายพระหัตถ์ เพื่อเป็นสิ่งแสดงว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จบำเพ็ญกุศล ยกฉัตร ยกช่อฟ้า เททองหล่อพระประธานและพระประจำวันเกิด ณ วัดหน่อพุทธางกูร ในวันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2552

หลวงพ่อคำวัดหน่อพุทธางกูร

หลวงพ่อคำวัดหน่อพุทธางกูร ออกจากอุโบสถของวัดเดินมาทางด้านหลังของอุโบสถ จะเห็นมณฑปหลังหนึ่ง เป็นที่ตั้งของรูปเหมือนหลวงพ่อคำ หรือพระครูสุวรรณวรคุณ คำ จันฺทโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดหน่อพุทธางกูร เรียกกันว่าอนุสรณ์หลวงพ่อคำ ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงคุณงามความดีของหลวงพ่อคำ ด้านหลังของอนุสรณ์หลวงพ่อคำ มีจารึกประวัติโดยสังเขปให้ศึกษา

อุโบสถหลังเก่าวัดหน่อพุทธางกูร

อุโบสถหลังเก่าวัดหน่อพุทธางกูร หลังจากที่ได้ไหว้พระสิงห์สามสานชนะมารในอุโบสถหลังใหม่ได้พบกับพระพุทธรูปที่นับว่าแปลกมากองค์หนึ่งไปแล้ว หากไม่รีบไปไหน ควรมีเวลาอีกสักหน่อยเดินเข้ามาในบริเวณวัด เพื่อชมอุโบสถเก่าแก่หลังนี้ที่อยู่คู่กับวัดหน่อพุทธางกูรมายาวนานมาก มีการบูรณะให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจจะบูรณะกันได้โดยง่าย หรืออีกนัยหนึ่งก็ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของกาลเวลา สิ่งนั้นก็คือภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถหลังเก่าแห่งนี้ ที่นับได้ว่าเป็นศิลปะผสมผสานของภาพจิตรกรรมแบบไทย จีน และ ลาว
วัดหน่อพุทธางกูรแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อมดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ชาวบ้านเล่าลือสืบต่อกันมาว่าชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์ เมื่อคราวกบฎเจ้าอนุวงศ์ พ.ศ.2369 ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ และได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นในบริเวณที่มีฐานอุโบสถเก่าอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่สามารถสืบหาอายุได้ว่าสำนักสงฆ์นี้สร้างขึ้นเมื่อใด ต่อมาขุนพระพิมุขข้าหลวงในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มาสร้างเป็นวัดขึ้นให้ชื่อว่า "วัดมะขามหน่อ" จนกระทั่งในสมัยพระครูสุวรรณวรคุณ (คำ จนฺทโชโต) เป็นเจ้าอาวาสจึงได้เปลี่ยนชื่อวัดนี้เป็น "วัดหน่อพุทธางกูร"
พระอุโบสถเก่าของวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากลักษณะของฐานที่แอ่นโค้งแบบท้องเรือสำเภา อันเป็นรูปแบบที่นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย จิตรกรรมของวัดนี้เขียนอยู่ภายในและภายนอกพระอุโบสถ ผู้เขียนคือ นายคำ ช่างหลวงที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทน์เมื่อคราวกบฎเจ้าอนุวงศ์
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของอุโบสถเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูนขนาด 3 ห้อง ด้านหน้าโบสถ์มีมุขยื่นออกมามีเสารองรับอยู่ 4 ต้น หน้าบันและส่วนประดับต่างๆ เป็นไม่จำหลักงดงามมาก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาปลายมน ฐานอาคารแอ่นโค้งเป็นรูปท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานได้ว่าเดิมวัดมะขามหน่อนี้ อาจเป็นวัดเก่ามีมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาชาวบ้านบริเวณวัดมะขามหน่อได้บูรณะขึ้นใหม่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็นพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมุดเยี่ยมวัดหน่อพุทธางกูร

สมุดเยี่ยมวัดหน่อพุทธางกูร เป็นสมุดที่คงมีอายุหลายปีแล้วจะวางไว้บนโต๊ะตรงหน้าอุโบสถหลังเก่า เอาหินทับไว้แบบง่ายๆ อย่างที่เห็นครับ

ประตูโบสถ์วัดมะขามหน่อ

ประตูโบสถ์วัดมะขามหน่อ (ขอเรียกด้วยชื่อเดิมว่าวัดมะขามหน่อนะครับเพราะอุโบสถหลังนี้สร้างตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนชื่อวัด) เราจะเห็นเชือกเส้นหนึ่งอยู่ตรงกลางช่องประตู เชือกเส้นนี้โยงไปยังขื่อที่อยู่กลางโบสถ์ น่าจะเป็นเชือกที่ใช้สำหรับดึงเปิดฉากกั้นที่กลางโบสถ์ แต่ปัจจุบันฉากนั้นเลื่อนขึ้นลงไม่ได้เหมือนแต่ก่อนแล้วครับแต่ยังคงมีเชือกขึงไว้เหมือนเดิม ด้านหน้าของอุโบสถเก่าวัดหน่อพุทธางกูร มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ด้านนอกด้วย ภาพเหล่านี้เขียนขึ้นโดยนายคำ ชาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนมาในคราวกบฎเจ้าอนุวงศ์ นายคำมีพี่น้อง 3 คน แต่พลัดพรากจากกันเมื่อตอนเดินทางเข้ามาเมืองไทย ตัวนายคำได้เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ในฐานะที่เคยเป็นช่างเขียนมาก่อน เมื่อมาอยู่ในกรุงเทพฯ นายคำจึงถูกเกณฑ์ให้มาเขียนภาพที่วัดสุทัศน์ หลังจากที่เขียนภาพที่วัดสุทัศน์เสร็จเรียบร้อยแล้ว นายคำพยายามออกตามหาพี่น้องของตนที่มาจากเวียงจันทน์ด้วยกัน และสืบทราบได้ว่าพี่น้องของตนมาอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จึงติดตามมาหาพบอยู่ที่ตำบลพิหารแดง พอดีขณะนั้นชาวบ้านวัดมะขามหน่อได้ก่อสร้างอุโบสถเสร็จจะเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง นายคำจึงอาสาจะเขียนให้และได้ให้นายเทศ ซึ่งเป็นลูกเขยที่กรุงเทพฯ มาช่วยเขียนภาพด้วยอีกคนหนึ่ง หลังจากเขียนภาพที่วัดหน่อพุทธางกูรเสร็จแล้ว นายคำยังได้ไปเขียนภาพที่วัดประตูสาร ต.รั้วใหญ่ อ.เมืองสุพรรณบุรี

ปัจจุบันภาพเขียนที่ด้านนอกอุโบสถเหลืออยู่บริเวณซุ้มประตู และดูเหมือนว่าจะยังเขียนไม่เสร็จเนื่องจากเห็นมีลายเส้นร่างภาพด้วยดินสอดำ เป็นภาพต้นนารีผล (จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่เล่าว่านายคำได้เขียนภาพที่วัดหน่อพุทธางกูรเสร็จแล้วจึงไปเขียนภาพที่วัดประตูสารต่อ ภาพที่เขียนยังไม่เสร็จด้านนอกอุโบสถจึงคาดว่าน่าจะเป็นฝีมือของช่างอีกคนหนึ่งซึ่งมาเขียนเพิ่มเติมในภายหลัง)

พระประธานอุโบสถหลังเก่าวัดหน่อพุทธางกูร

พระประธานอุโบสถหลังเก่าวัดหน่อพุทธางกูร เมื่อเข้ามาด้านในจะเห็นพระประธานประดิษฐานบนฐานยกสูงขึ้นไป ทางวัดมีบันไดไม้สำหรับเดินขึ้นไปปิดทองพระทำเป็นทางขึ้นและทางลง ด้านหลังองค์พระประธานจะเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุมและพระเจดีย์จุฬามณี เก่าแก่มากและเลือนหายไปหลายส่วนเหมือนกับภาพจิตรกรรมฝาผนังอีก 4 ด้าน ภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถหลังเก่าวัดหน่อพุทธางกูร ด้านในประกอบด้วยภาพพระพุทธประวัติ ทศชาติชาดก พระเจดีย์จุฬามณี เทพชุมนุม และเรื่องราวในไตรภูมิ ซึ่งเป็นที่นิยมโดยทั่วไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

จิตรกรรมมหาเวสสันดรชาดก

จิตรกรรมมหาเวสสันดรชาดก เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของนายคำ ฝาผนังภายในอุโบสถหลังเก่ามีการแบ่งส่วนในการเขียนภาพเรื่องราวต่างๆ หลายเรื่อง มีเพียงฝาผนังด้านขวามือของพระประธานเท่านั้นที่เราเขียนภาพมหาเวสสันดรชาดกตลอดผนัง ลักษณะศิลปะของภาพเขียนเราจะเห็นหลายๆ ภาพแต่ละภาพจะแบ่งด้วยต้นไม้หรือพุ่มไม้ และภูเขาบ้าง ในการแบ่งภาพแต่ละตอนออกจากกัน เป็นลักษณะภาพจิตรกรรมฝาผนังในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภาพเหล่านี้จะมีปราสาทที่มีลักษณะของศิลปะงานเขียนแบบไทยผสมอยู่มาก ศาลาทรงไทย แต่ก็มีหลายภาพที่เราจะได้เห็นลักษณะของเก๋งจีนในภาพ ในอีกหลายๆ ภาพที่ไม่ได้ถ่ายรูปมาด้วยก็จะมีเครื่องดนตรีที่ชาวบ้านถืออยู่มี แคน พิณ และซึง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมในชาติลาว จึงเรียกภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถหลังเก่าวัดหน่อพุทธางกูรว่า ศิลปะผสม ไทย จีน และ ลาว

จิตรกรรมมหาเวสสันดรชาดก

จิตรกรรมมหาเวสสันดรชาดก เป็นภาพที่ขยายจากภาพก่อนหน้านี้ให้เห็นปราสาทและเก๋งจีนที่ผสมกันอยู่ในภาพจิตรกรรมฝาผนัง

กุฎิสงฆ์วัดหน่อพุทธางกูร

กุฎิสงฆ์วัดหน่อพุทธางกูร เป็นอาคารที่มีลักษณะการก่อสร้างสะดุดตา เมื่อเรามองออกมาจากหน้าต่างของโบสถ์เก่าวัดหน่อพุทธางกูร อาคารที่สร้างในลักษณะแบบนี้ดูเหมือนจะคล้ายๆ กับอาคารที่พบเห็นทางเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์เลยครับ
ผมขอจบการนำเที่ยวชมศิลปะเก่าแก่ ไหว้พระพุทธรูปที่แปลกมากองค์หนึ่งคือพระสิ่งห์สามสานชนะมาร ผมขออธิษฐานขอความกลมเกลียวสามัคคีเหมือนดั่งเกลียวตอกไม้ไผ่ที่สานอย่างเหนียวแน่นเป็นองค์พระพุทธรูป จงบังเกิดขึ้นแก่ขาวไทยทั้งปวงเทอญ ...

จังหวัดสุพรรณบุรีก็มีกิจกรรมไหว้พระ 9 วัดเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ด้วยก็จะมีวัดอื่นๆ เลียบฝั่งแม่น้ำท่าจีนในตัวเมืองสุพรรณบุรี ได้แก่
1. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
2. วัดแค
3. วัดสารภี
4. วัดพระลอย
5. วัดหน่อพุทธางกูร
6. วัดพระนอน
7. วัดพิหารแดง
8. วัดชีสุขเกษม
9. วัดสว่างอารมณ์

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดหน่อพุทธางกูร (วัดมะขามหน่อ) สุพรรณบุรี
โรงแรมสองพันบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  2.92 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมวาสิฏฐี ซิตี้ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.38 km | แผนที่ | เส้นทาง
ม้วน รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
ซีพีเอส แมนชั่น สุพรรณบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  4.68 km | แผนที่ | เส้นทาง
ศรีอู่ทอง แกรนด์ โฮเต็ล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.18 km | แผนที่ | เส้นทาง
ละมุน บูทีก โฮเทล เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.29 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมคุ้มสุพรรณ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  5.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
Suanrak Resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  7.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
The Country Lake View Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.45 km | แผนที่ | เส้นทาง
Lertsri Hotel เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  9.78 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com