ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.สุพรรณบุรี โทร.035 525 880
Facebook tat_suphanburi
การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก
หน้าวัดพระนอน เพียงไม่กี่ชั่วโมงของวัน การเดินทางไหว้พระ 9 วัด ตามเส้นทางมหามงคล ไหว้พระโบราณ 9 วัด สุพรรณบุรีของผมก็มาถึงวัดที่ 6 นั่นก็คือวัดพระนอน ขับรถออกมาจากวัดหน่อพุทธางกูร วัดที่ 5 ตามถนนสมภารคงเพียงไม่ถึง 5 นาที ตอนนี้ผมก็มีถึงหน้าวัดพระนอนเรียบร้อยแล้วครับ
ศาลาการเปรียญวัดพระนอน เป็นศาลาที่อยู่ติดกับประตูวัด มีขนาดใหญ่โตโอ่โถงจากศาลาหลังนี้ขับเข้าไปตามถนนในวัดไปสุดทางที่ท่าน้ำ
กุฎิสงฆ์วัดพระนอน เอกลักษณ์ที่น่าประทับใจของการไหว้พระในสุพรรณบุรี ทุกวัดจะมีกุฎิสงฆ์ทรงไทยแบบนี้กันทุกวัด รอบๆ บริเวณกุฎิเราจะต้องระวังนิดนะครับ มีป้ายเตือนว่าสุนัขดุอยู่ด้วย และดูท่าทางว่าจะดุจริงๆ อย่างที่เตือนเอาไว้ ระหว่างที่เดินถ่ายรูปอยู่มันก็คอยจ้องจะเข้ามาใกล้เราตลอดเวลาพร้อมเสียงเห่าดังลั่นวัด ไม่ได้มีตัวเดียวซะด้วย
ที่จอดรถข้างศาลพระแม่กวนอิม ลานจอดรถของวัดพระนอนมี 3 จุดครับ จุดแรกคือหน้าศาลา จุดที่ 2 คือจุดที่ผมจอดอยู่ระหว่างกุฎิกับศาลพระแม่กวนอิม ตอนที่เดินลงจากรถจะไปไหว้พระเจ้าสุนัขวัดหลายตัวยังคอยวนเวียนมาเดินให้เราเสียวขาเล่นแต่จะมีพระคอยดูแลมันให้เราก็เดินไปของเราไม่ต้องกลัวมันมากเกินไปครับ หรือจะเอาแบบสบายใจแนะนำให้ไปใช้ลานจอดรถอีกลานหนึ่งที่อยู่ข้างวิหารพระนอน เป็นลานจอดรถขนาดใหญ่มีร้านค้ามากมายคอยให้บริการอาหาร เครื่องดื่ม ของฝากของที่ระลึก
ศาลเจ้าแม่กวนอิมวัดพระนอน จากลานจอดรถที่ 2 ที่ผมจอดเดินไปวิหารพระนอนจะผ่านศาลเจ้าแม่กวนอิมก่อนครับ แต่ตอนนี้เราไปไหว้พระกันก่อนเดี๋ยวกลับมาไหว้เจ้าแม่กวนอิมหรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรกันครับ
วิหารพระนอน เป็นวิหารทรงจตุรมุข ที่มุขด้านหน้ามีหลังคาต่อเติมออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาไหว้พระ ด้านหน้าของวิหารหันไปทางด้านแม่น้ำท่าจีน ซึ่งถือว่าเป็นด้านหน้าวัดในสมัยก่อนที่การเดินทางจะใช้ทางเรือเป็นหลักก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นการเดินทางด้วยรถยนต์เหมือนในสมัยนี้ หลังคาที่ต่อออกมาจากวิหารยาวไปจนถึงทางลงท่าน้ำเลยทีเดียวครับ
วิหารพระนอน ตอนนี้ผมก็มาอยู่ด้านหน้าของวิหาร บูชาดอกไม้ธูปเทียนของทางวัดมาจุดบูชาพระเสร็จแล้วจึงค่อยเข้าไปด้านในพร้อมกับแผ่นทองคำเปลวเพื่อปิดทององค์พระปฏิมา
พระนอน ลักษณะพิเศษของพระนอนที่วัดพระนอนแห่งนี้ไม่เหมือนพระนอนที่ในวัดอื่นๆ ที่เราจะพบเห็นได้บ่อยกว่า ก็คือ องค์พระพุทธรูปที่วัดพระนอนเป็นลักษณะนอนหงาย เรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า พระปางถวายพระเพลิง เรื่องราวความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนี้มีอยู่ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพานแล้ว ได้นำผ้าใหม่ซับด้วยสำลีแล้วพระพุทธสรีรศพห่อด้วยผ้าห้าร้อยคู่ แล้วเชิญพระพุทธสรีรศพลง ณ รางเหล็กอันเต็มด้วยน้ำมันแล้วปิดครอบด้วยฝารางเหล็ก เสร็จแล้วนำไปตั้งพระพุทธสรีรศพโดยลักษณะนอนหงายไว้บนจิตกาธารที่ทำด้วยไม้หอมล้วนๆ ที่มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา เพื่อทำฌาปนกิจถวายพระเพลิง แล้วจึงได้ทำการประชุมพระเพลิงแต่ปรากฏว่าไฟไม่ติด จนกระทั่งพระมหากัสสปเถระเดินทางมาถึง แล้วได้กราบพระพุทธสรีรศพ พอกราบครบ ๓ ครั้ง ปรากฏว่าไฟติดขึ้นมาอย่างหน้าอัศจรรย์ ดังนั้นจึงเรียกพระปางนี้ว่า ปางถวายพระเพลิง
พระพุทธรูปปางนี้ที่พบเพียงไม่กี่องค์ก็ได้แก่ พระพุทธรูปในพระวิหารเล็กวัดราชคฤห์วรวิหาร ถนนเทอดไท แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร มีเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิงว่า พระยาพิชัยดาบหักได้สร้างพระปางนอนนี้ขึ้น เพื่อเป็นการบำเพ็ญบุญอุทิศกุศลให้ผู้ที่ตนไปฆ่าทหารชาวบ้านล้มตายไปเป็นจำนวนมาก (เป็นเหมือนชดใช้กรรมที่ฆ่าคนตายไป)
พระบูรพาจารย์ รูปเหมือนพระอริยสงฆ์ที่ประชาชนชาวไทยนับถือกันอย่างกว้างขวางในวิหารพระนอน วัดพระนอนสุพรรณบุรี ได้แก่ หลวงพ่อเงินวัดช้างคลาน หลวงพ่อปานวัดบางนมโค หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
เจ้าแม่กวนอิมวัดพระนอน
เลี้ยงอาหารปลาวัดพระนอน อีกหนึ่งในจุดเด่นที่หลายๆ วัด ตามเส้นทางไหว้พระ 9 วัด มหามงคลสุพรรณบุรีในวันนี้ที่คล้ายๆ กันก็คือโป๊ะสำหรับเลี้ยงอาหารปลา โดยมากก็จะเรียกกันว่าอุทยานมัจฉา มีปลาตัวใหญ่ๆ แหวกว่ายอยู่ในน้ำเพราะชาวบ้านในละแวกนี้จะหลีกเลี่ยงการจับปลาหน้าวัดอันเป็นเขตอภัยทานห้ามจับสัตว์น้ำ
ลานจอดรถขนาดใหญ่วัดพระนอน บรรยากาศลานจอดรถที่กว้างใหญ่ขนาดรถบัสเข้ามาได้สบายๆ หลายๆ คัน เพื่อรองรับเทศกาลไหว้พระ 9 วัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ่อค้าแม่ค้าก็เตรียมจัดร้านรอกันแล้วครับ
วิหารพระนอน อีกภาพ เป็นภาพสุดท้ายของการพาเข้ามาไหว้พระนอนปางถวายพระเพลิง เป็นภาพของวิหารที่ถ่ายจากลานจอดรถด้านข้างครับ ตอนนี้ก็ได้เวลาเดินทางไปยังวัดที่ 7 ได้แล้วครับ วัดพิหารแดง นั่นเอง
จังหวัดสุพรรณบุรีก็มีกิจกรรมไหว้พระ 9 วัดเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ด้วยก็จะมีวัดอื่นๆ เลียบฝั่งแม่น้ำท่าจีนในตัวเมืองสุพรรณบุรี ได้แก่
1. วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
2. วัดแค
3. วัดสารภี
4. วัดพระลอย
5. วัดหน่อพุทธางกูร
6. วัดพระนอน
7. วัดพิหารแดง
8. วัดชีสุขเกษม
9. วัดสว่างอารมณ์
""
ปัทมพร สนธิพร
2019-03-03 06:06:23
0/0 จาก 0 รีวิว |
*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ