www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อ่างทอง >> วัดม่วง

วัดม่วง

 วัดม่วง ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหัวตะพาน อยู่ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ ประมาณ 8 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางสายอ่างทอง-วิเศษชัยชาญ (ทางหลวงหมายเลข 3195) กิโลเมตรที่ 29 เข้าไป 1 กิโลเมตร วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ ภายในวัดมีสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระอุโบสถ ล้อมรอบด้วยกลีบบัวสีชมพูขนาดใหญ่ที่สุดในโลก วิหารแก้ว ชั้นล่าง เป็นพิพิธภัณฑ์วัตถุมงคลและวัตถุโบราณ เปิดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ 09.00-17.00 น. ภายในมีรูปปั้นเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศ ชั้นบน ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เนื้อเงินแท้ องค์แรกองค์เดียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อเป็นเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี บริเวณวัดมีรูปปั้นแสดง แดนนรก แดนสวรรค์ แดนเทพเจ้าไทย และแดนเทพเจ้าจีนซึ่งมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิมขนาดใหญ่ มีรูปปั้นแสดงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามไทย-พม่าที่เมืองวิเศษชัยชาญ ด้านหลังมีวังมัจฉา และสามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ของดีเมืองอ่างทองได้

ประวัติวัดม่วงโดยสังเขป
 เดิมวัดม่วงเป็นวัดร้างเก่าแก่สมัยอยุธยา เมื่อครั้งพม่ายกทัพมาตีไทยและได้จุดไฟเผาเสียหายมาก พม่าได้กวาดต้อนคนไทยไปเป็นเชลย วัดม่วงก็ได้ถูกพม่าเผาทำลาย เสนาสนะเสียหายจนหมดสิ้น คงเหลือแต่เนินและพระพุทธรูปหินศิลาแลงปรักหักพัง พระพุทธรูปหินศิลาแลงเนื้อหินสีขาวองค์นี้มีนามว่า "ขาว" มีลักษณะอยู่ครึ่งองค์ที่โผล่อยู่เหนือเนินดิน หลวงพ่อเกษม อาจารสุโภ ได้หล่อปั้นด้วยเนื้อปูนหุ้มให้เต็มองค์ เนื้อศิลาแลงสีขาวนั้นไว้ข้างใน มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ซึ่งอยู่คู่กับวัดม่วงนี้มาตลอด หลวงพ่อเกษมได้เล่าให้ฟังว่า ที่หลวงพ่อเกษมมาบูรณะวัดม่วงที่นี่เพราะเมื่อครั้งหลวงพ่อเกษมได้ธุดงค์ไปจังหวัดกาญจนบุรี ได้เข้าไปปฏิบัติธรรมวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ในถ้ำ ญาณหลวงพ่อขาวได้มาบอกกับหลวงพ่อเกษมว่า "ให้มาสร้างวัดม่วงอยู่ตำบลหัวตะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ชื่อว่าวัดม่วง หลวงพ่อเกษมได้ตอบด้วยญาณว่า "กระผมยังเป็นพระที่ไม่มีสมณศักดิ์ อายุพรรษายังน้อย" หลวงพ่อขาวตอบว่า "ไม่เป็นไร ไปเถอะ ถึงกาลเวลาแล้วที่เจ้าของวัดม่วงเขาได้มาเกิดกันแล้ว เขาจะมาช่วยสร้างวัด แล้วจะสำเร็จ" ญาณหลวงพ่อขาวก็จางหายไป เมื่อครบกำหนดที่หลวงพ่อเกษมปฏิบัติธรรมในถ้ำได้ตามที่ตั้งใจ ก็ออกจากถ้ำ ธุดงค์มาตามที่หลวงพ่อขาวบอกสถานที่ไว้เมื่อมาถึงสถานที่หลวงพ่อขาวบอกไว้ ไม่พบว่าเป็นวัดเลย เป็นป่าต้นไม้ปกคลุมไปหมด หลวงพ่อเกษมเดินเลยไปได้ยินเสียงเรียกว่า "ลูก ลูก พ่ออยู่ตรงนี้" หลวงพ่อเกษมเดินย้อนกลับมาที่เดิม ได้เอาร่มที่หลวงพ่อถือมากวาดแหวกพงหญ้าที่ขึ้นรกเต็มไปทั่ว ก็พบพวกสัตว์มีพิษ เช่นแมลงป่องตัวใหญ่ ตะขาบ งู หันมาจะต่อสู้ หลวงพ่อเกษมจึงพนมมือ ตั้งจิตอธิษฐานว่า "มาที่นี่ตั้งใจจะมาสร้างและบูรณะวัดขึ้นมาใหม่ตามคำบอกของหลวงพ่อขาว" พออธิษฐานจบ หลวงพ่อเกษมเดินฝ่าดงสัตว์มีพิษเข้าไป โดยพวกสัตว์นั้นไม่ทำอันตรายเลย หลวงพ่อเกษมมีเสื่อติดมาด้วย จึงกางปูแล้วนั่งสมาธิ จึงพบว่าที่นี่เดิมเป็นวัดจริงๆ มีพระพุทธรูปหินศิลาแลงสีขาว มีลักษณะเพียงครึ่งองค์ หลวงพ่อเกษมจึงออกจากที่วัดเข้าไปแจ้งแก่เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัดให้ทราบว่าจะมาขออนุญาตสร้างและบูรณะวัดม่วงที่จมหายไปนานแล้ว ให้ขึ้นมาเป็นวัดดังเดิม ก็ได้รับอนุญาต หลวงพ่อเกษมได้ชาวบ้านบางคนละแวกนั้นที่รู้ว่าจะมาสร้างเป็นวัดมาช่วยถางหญ้าที่รกจึงเหลือแต่ต้นไม้ขนาดใหญ่เก่าแก่ท้งนั้น พื้นที่รกกลับโล่งเตียน ทำให้เห็นสภาพพื้นที่เดิมว่าเป็นวัด เพราะมีเนินดินสูง มีพระพุทธรูปศิลาแลงสีขาวครี่งองค์ตระหง่านอยู่กลางเนินดินนั้น มีอิฐก้อนวางเรียงก่อสูงกว่าพื้นดินก้อนอิฐมีลักษณะถูกเผาไหม้เกรียม สภาพเก่าๆ ยังคงหลงเหลือในยามนั้น หลวงพ่อเกษมก็ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างศาลาครอบบนเนินดิน ยกองค์พระพุทธรูปศิลาแลงสีขาวประดิษฐานอยู่ในศาลานั้น พระพุทธรูปมีนามว่า "หลวงพ่อขาว" ตามที่เรียกขนานนามเดิม

 หลวงพ่อเกษมได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อแจ้งกรมการศาสนาในการขอสร้างและบูรณะ พร้อมกันนี้ขอดูสมุดประวัติหรือเรียกสมุดที่เก่าแก่อีกนามว่า สมุดข่อย กรมการศาสนาได้หยิบสมุดข่อยเล่มใหญ่เก่าแก่มากมาให้เปิดดู พบว่ามีชื่อวัดม่วง ตำบลหัวตะพาน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง จริง มีเนื้อที่ดินประมาณ 70 กว่าไร่ แต่ยามนั้นมีเนื้อที่ดินเหลืออยู่น้อย มีชาวบ้านมาทำไร่ไถนาเต็มไปหมด หลวงพ่อเกษมจึงขอติดต่อซื้อที่ดินคืนจากชาวบ้าน มีชาวบ้านแถวนั้นบางคนไม่ค่อยพอใจหลวงพ่อเกษมนัก ที่มาขอซื้อที่ดินคืน ซึ่งเขาเคยทำไร่นาอยู่ แต่ต้องจำยอมขายให้ในราคาที่ทางการกำหนดเพราะพื้นที่เดิมเป็นของวัดจริงๆ ระยะเริ่มแรกที่หลวงพ่อเกษมสร้างหลวงพ่อพระสีวลีก่อน สร้างกุฎิของท่านเองเป็นสังกะสีเก่าๆ ใต้ต้นโพธิ์ (ปัจจุบันต้นโพธิ์อยู่ด้านหน้าศาลาบำเพ็ญบุญ) และสร้างศาลาสังกะสีบนเนินดินเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อขาว (ปัจจุบันคือวิหารแก้ว)

ข้อมูลเพิ่มเติม:โทร : 035631974,035631556

แก้ไขล่าสุด 2016-05-11 16:45:00 ผู้ชม 138716

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
พระวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล

พระวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล เนื่องจากวันที่เดินทางไปยังวัดม่วงเป็นวันตรุษจีนพิเศษที่หลายๆ ปีจะมาบรรจบกันกับวันวาเลนไทน์ บรรยากาศการท่องเที่ยวในหลายๆ สถานที่ดูคึกคักเป็นพิเศษโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าวัดทำบุญก็ยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากของชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ เมื่อเดินทางมาถึงการจะหาที่จอดรถว่างๆ ซักที่นั้นต้องขับวนไปวนมาหลายรอบ ทั้งๆ ที่วัดม่วงจังหวัดอ่างทองแห่งนี้มีพื้นที่ของลานจอดรถกว้างขวางมากๆ และมีหลายลานให้เลือกจอดก็ตาม ในที่สุดเมื่อเราหาที่จอดได้แล้วก็เริ่มเดินมาที่พระวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล แห่งนี้ก่อนเพื่อสักการะนมัสการหลวงพ่อเงิน (พระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยเนื้อเงินแท้องค์แรกของไทย)

ภายในพระวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล

ภายในพระวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล เริ่มจากรูปบนซ้ายเป็นบันไดทางขึ้นพระวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล ใช้ศิลปะแบบผสมไทย-จีน มีพญานาคเลื้อยที่ราวบันได แล้วเมื่อขึ้นไปถึงหน้าประตูจะมีมังกรพันหลัก เป็นมังกรเงิน-มังกรทอง ส่วนพระวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาลนั้นประดับด้วยแก้วชิ้นเล็กๆ จำนวนมากเหมือนการสร้างวิหาร 100 เมตร หรือมณฑปต่างๆ ที่วัดท่าซุง(วัดจันทาราม) จังหวัดอุทัยธานี ส่วนภาพบนขวาเป็นรูปปั้นเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วประเทศ อยู่โดยรอบผนังของวิหาร ภาพล่างซ้ายเป็นเทพ ภาพล่างขวาเป็นสังขารร่างหลวงพ่อเกษม อาจารสโก ที่ไม่เน่าเปื่อยในโลงแก้ว

พระพุทธรูปเนื้อเงินแท้

พระพุทธรูปเนื้อเงินแท้ นอกเหนือจากพระพุทธรูปองค์นี้แล้ววิหารแก้วยังมีสังขารของหลวงพ่อเกษมผู้บุกเบิกวัดม่วงแห่งนี้เก็บรักษาไว้ ตามประวัติกล่าวว่า
หลวงพ่อเกษมได้เข้ามาบุกเบิกวัดม่วงเมื่อ วันที่ 8 ธันวาคม 2525 มีชาวบ้านตำบลหัวตะพานที่อยู่ใกล้เคียงกับวัดและชาวบ้านที่อยู่ห่างไกลออกไปหลายตำบลรู้ข่าวว่ามีพระสงฆ์องค์หนึ่งเก่งคาถาอาคม และบอกหวยแม่น และรักษายามเจ็บไข้ได้ป่วย มารักษากันได้หายจากอาการที่เป็น จึงเลื่องลือกันปากต่อปาก มีคนต่างพากันมาเอาหวยบ้าง มารักษาตัวบ้าง มาขอสักยันต์ที่ตัวกันบ้าง บางคนโดนวิญญาณเข้ามาสิงในตัว หาผู้มารักษาไม่หายก็มาให้หลวงพ่อเกษมเสกเป่าไล่วิญญาณออกจากร่าง ทำให้หลวงพ่อเกษมไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน มีผู้คนมาหาหลวงพ่อเกษมกันทั้งกลางวันกลางคืนกันไม่ขาด และพวกที่มาหาหลวงพ่อมัดจะได้ผลสำเร็จ จึงถวายเงินร่วมทำบุญสร้างวัดม่วง หลวงพ่อเกษมมีความอดทนสูง ถึงแม้ร่างกายจะเหนื่อย เพื่อคนมาทำบุญถวายเงินเอาไปสร้างวัดม่วง หลวงพ่อเกษมมรกิจนิมนต์จากคนในกรุงเทพฯ ที่มาเป็นลูกศิษย์กันหลายคนและสถานที่อื่นๆ อีกมากมายก็เพื่อทุ่งสร้างวัดม่วงได้จนสำเร็จ เริ่มแรกสร้างกุฎิสงฆ์ 2 หลัง สร้างห้องน้ำ แทงก์น้ำ พระอุโบสถ พร้อมกับหล่อพระพุทธชินราช หอสวดมนต์เอนกประสงค์ (มีเตาเผาศพด้วย) วิหารแก้วและรูปปั้นต่างๆ ฯลฯ ก็เพราะหลวงพ่อเกษมตรากตรำงาน มีเวลาพักผ่อนน้อยก็เริ่มมีร่างกายอ่อนแอ จึงเกิดล้มป่วย หมอตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ตับ มีอาการถึงขั้นรุนแรงเสียแล้ว หลวงพ่อเกษมได้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ตึก 84 ปี ชั้น 9 ห้อง 925 ต่อมาได้มรณภาพลงที่โรงพยาบาล วันที่ 7 มีนาคม 2544 เวลา 16.54 น. มีอายุได้ 54 ปี 6 เดือน 7 วัน หลวงพ่อเกษมได้สั่งลูกศิษย์ไว้ก่อนว่า ถ้าท่านมรณภาพให้นำร่างของท่านลงโลงแก้วประดับมุก ที่ท่านได้เตรียมไว้นานแล้ว เพราะท่านได้ญาณรู้ว่าท่านมีอายุไม่ยืน และสั่งไม่ให้เผา เก็บไว้ให้เป็นอนุสรณ์ตลอดชั่วกาลนาน ปัจจุบันเก็บไว้ในวิหารแก้ว

หลังคาวิหารแก้ว

หลังคาวิหารแก้ว แม้แต่ภายในของวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล ก็ประดับด้วยวิธีการติดกระจกสะท้อนเงาของผู้ที่มาสักการะบูชาพระพุทธรูปในวิหารได้อย่างชัดเจน ทั้งส่วนผนังและเพดาน

ยักษ์ในวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล

ยักษ์ในวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล มีอยู่หลายตนด้วยกัน ได้แก่ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวธะตะรสมหราช เป็นต้น ประจำอยู่ที่โคนเสาหลายๆ ต้นในวิหาร ส่วนอีกรูปหนึ่งเป็นหอระฆังข้างวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล ด้านหลังหอระฆังเป็นทางเดินเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ของวัดม่วงและห้องน้ำ

พระโพธิสัตว์กวนอิม

พระโพธิสัตว์กวนอิม ด้านตรงข้ามกับวิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล มีวิหารเจ้าแม่กวนอิมปางพันมือที่มีลักษณะงดงามมาก

พิพิธภัณฑ์วัดม่วง

พิพิธภัณฑ์วัดม่วง อยู่ใต้วิหารแก้วรัตนพราหมณ์-สุวรรณปาล ภายในประกอบด้วยพระพุทธรูปเก่าแก่ในสมัยต่างๆ มีโบราณวัตถุ เช่นตุ๊กตารูปยักษ์ เทพพนม และพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ดินเผาเคลือบ ศิลปแบบสุโขทัย ประมาณ พ.ศ. 1900-2200 และวัตถุมงคลต่างๆ รวมทั้งธนบัตรและเหรียญหลายยุคหลายสมัย อยู่ในตู้

พระพุทธมหานวมินทรศากยมุณี ศรีวิเศษชัยชาญ

พระพุทธมหานวมินทรศากยมุณี ศรีวิเศษชัยชาญ เป็นพระพุทธรูปที่มีข้อมูลว่าใหญ่ที่สุดในโลก มีหน้าตักกว้าง 63 เมตร สูง 95 เมตร ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2534 แรม 9 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเมีย โดยพระครูวิบูลย์ อาจารคุณ หลวงพ่อเกษม อาจารสโก อดีตเจ้าอาวาสวัดม่วง เป็นประธานการก่อสร้างหาทุนพร้อมด้วย นายอานนท์ สุวรรณปาล คณะครู นักเรียน โรงเรียนพานิชยการจำนงค์ ดินแดง กรุงเทพฯ แล้วเสร็จเมื่อ วันที่ 27 กรกฎาคม 2552 งบประมาณ 50,000,000 บาท มีองค์จำลองประดิษฐานไว้ด้านล่างเพื่อให้จุดเทียนธูปบูชาพระพุทธรูป ด้านหน้าทำเป็นบันไดสูงมีพญานาคเลื้อยเป็นราวบันไดตรงกลาง และด้านซ้ายและขวาของบันได

พระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก

พระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก กิจกรรมหนึ่งตามความเชื่อของประชาชนที่เดินทางมายังวัดม่วงก็คือการได้แตะนิ้วของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่มีพระนามว่าพระพุทธมหานวมินทรศากยมุณี ศรีวิเศษชัยชาญ ซึ่งว่ากันว่าเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดในโลก และในวันตรุษจีนก็ยิ่งมีจำนวนประชาชนมาเข้าแถวเรียงกันยาวมากเพื่อที่จะได้สัมผัสนิ้วขององค์พระ ส่วนที่นำลูกหลานมาด้วยก็จะมีการอุ้มขึ้นไปแตะให้ถึง

สัมผัสนิ้วพระพุทธรูป

สัมผัสนิ้วพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคลของประชาชนตามความเชื่อ

พระพุทธมหานวมินทรศากยมุณี ศรีวิเศษชัยชาญ

พระพุทธมหานวมินทรศากยมุณี ศรีวิเศษชัยชาญ องค์ใหญ่พร้อมด้วยองค์จำลองที่ประดิษฐานที่ลานด้านหน้าขององค์จริงเพื่อเป็นสถานที่จุดเทียนธูปบูชาพระพุทธรูป โดยมีการจัดเต็นท์เพื่อไม่ให้ร้อนไว้บริการประชาชน

อุโบสถฐานบัวรอบ

อุโบสถฐานบัวรอบ อุโบสถหลังนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของวัดม่วง ฐานของอุโบสถสร้างเป็นดอกบัวโดยรอบ กลีบของบัวแต่ละกลีบใหญ่กว่าตัวคนมีขนาดใหญ่มาก และเป็นพระอุโบสถ ล้อมรอบด้วยกลีบบัวสีชมพูขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

บริเวณรอบอุโบสถ

บริเวณรอบอุโบสถ ตามกลีบบัวด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ ได้แก่ พระประจำวัน และรูปหล่อพระเกจิอาจารย์ต่างๆ แม้แต่ฐานของเสมาก็เป็นดอกบัวทั้งหมด ด้านหน้าของอุโบสถมีลานกว้างมีแดนเทพเจ้าไทย และแดนเทพเจ้าจีน มีรูปปั้นแสดงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามไทย-พม่าที่เมืองวิเศษชัยชาญ

ภายในอุโบสถ

ภายในอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานพระพุทธชินราชพร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้าย-ขวา ภาพเขียนพระพุทธประวัติสีสันสดใสรอบอุโบสถ

ภาพจิตรกรรมพระพุทธประวัติ

ภาพจิตรกรรมพระพุทธประวัติ

แดนสวรรค์-แดนนรก

แดนสวรรค์-แดนนรก เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ลานกว้างกลางวัด อยู่ระหว่างพระพุทธมหานวมินทรศากยมุณี ศรีวิเศษชัยชาญ กับอุโบสถฐานบัว มีแยกทางเดินออกไปยังวังมัจฉาสำหรับให้อาหารปลา

เจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่

เจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่

วังมัจฉา

วังมัจฉา ก่อนที่จะถึงโป๊ะสำหรับให้อาหารปลากลางวังมัจฉาของวัดม่วงยังมีร้านค้ามากมายทั้งอาหารเครื่องดื่มจำนวนมาก สำหรับวันพักผ่อนหากยังไม่รู้ว่าจะไปไหนดีอย่าลืมนึกถึงวัดม่วงจังหวัดอ่างทอง สถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนทำบุญในหนึ่งเดียว พร้อมยังได้เห็นโบราณวัตถุสำคัญๆ หลายๆ ชิ้นในพิพิธภัณฑ์ด้วยนะครับ

มุมมหาชนวัดม่วง

มุมมหาชนวัดม่วง ก่อนที่จะจบการนำเที่ยววัดม่วงวันนี้ขอฝากภาพมุมมหาชนที่ไม่ควรพลาดไว้ 3 ภาพครับ ภาพแรกเป็นภาพก่อนที่จะถึงวัดม่วง (ก่อนที่จะเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเลียบคลองเข้าวัดม่วง) จะมีทุ่งนาอยู่แบบนี้จอดรถเลียบชิดขอบทางด้านซ้ายอย่าลืมเปิดไฟบอกรถที่มาข้างหลังว่าจะจอดแล้ว หลังจากนั้นเดินลงไปตามคันนานิดเดียวก็จะได้ภาพพระพุทธรูปองค์ใหญ่มีฉากหน้าเป็นทุ่งนาเขียวขจีสวยๆ แบบนี้

ลองหามุมใหม่ๆ ดูบ้าง

ลองหามุมใหม่ๆ ดูบ้าง บางทีการไปไหว้พระและสัมผัสนิ้วพระพุทธรูปที่วัดม่วงเพื่อความเป็นสิริมงคลหลายคนจะมุ่งเน้นการถ่ายภาพขณะที่สัมผัสนิ้วพระทำให้ภาพออกมาคล้ายๆ กันทุกคน ลองเดินออกมาคิดหามุมใหม่ๆ ถ่ายแนวนอนบ้างแนวตั้งบ้างที่สำคัญพยายามอย่าให้ย้อนแสงจะได้สีของท้องฟ้าที่สดใส

ร้านอาหารริมบ่อกุ้ง

ร้านอาหารริมบ่อกุ้ง ดูเหมือนเป็นบ่อเลี้ยงกุ้งที่ข้างทางริมบ่อมีร้านอาหารตามสั่งร้านนี้มีวิวสวยๆ อย่างที่เห็น ปกติภาพนี้จะแวะเก็บกันตอนขากลับถ้าสภาพแสงดีๆ สวยๆ ช่วงเช้าหรือเย็นอาจจะได้ภาพสวยมากๆ มาเก็บไว้ชมกันอีกนาน

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดม่วง อ่างทอง
สายัณห์ แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  12.55 km | แผนที่ | เส้นทาง
Green village เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  23.76 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไทย คลาสสิค สวีท แอนด์ เอ็กคลูซีฟ โฮม สเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  24.22 km | แผนที่ | เส้นทาง
กรีนเวย์ ลิตเติล ริเวอร์ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  35.51 km | แผนที่ | เส้นทาง
รุ่งอรุณ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  38.00 km | แผนที่ | เส้นทาง
รีเมมเบอร์ สเปซ ปอด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  39.05 km | แผนที่ | เส้นทาง
แบงค็อก ทราเวลเลอร์ส ลอดจ์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  39.49 km | แผนที่ | เส้นทาง
มาบูนา รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  39.84 km | แผนที่ | เส้นทาง
Darapura @ Wangyang resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  40.25 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสวีท อินน์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  44.01 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com