www.touronthai.com

หน้าหลัก >> อ่างทอง >> วัดสี่ร้อย

วัดสี่ร้อย

 วัดสี่ร้อย อยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลสี่ร้อย ไปตามทางหลวงหมายเลข 3454 กิโลเมตรที่ 31–32 (บนเส้นทางสายโพธิ์พระยา-ท่าเรือ หรืออ่างทอง -วิเศษชัยชาญ ห่างจากอำเภอเมืองอ่างทองไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12.5 กิโลเมตร แล้วแยกซ้ายมือไปตามถนนคันคลองชลประทานอีก 5 กิโลเมตร) ชื่อตำบลสี่ร้อยและชื่อวัดเป็นชื่อที่สันนิษฐานว่าตั้งขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ขุนรองปลัดชู และชาวบ้านวิเศษชัยชาญ 400 คน ที่เสียชีวิตในสงครามระหว่างไทยกับพม่าที่เมืองกุย

 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2302 วัดแห่งนี้ มีพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ สูง 21 เมตร หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ นามว่า หลวงพ่อโต หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า หลวงพ่อร้องไห้ เมื่อปีพ.ศ 2530 มีข่าวใหญ่ว่าหลวงพ่อวัดสี่ร้อยมีโลหิตไหลออกมาจากพระนาสิก ข่าวนี้ได้รับความสนใจจากคนทั่วไปทั้งชาวอ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงต่างหาโอกาสมานมัสการ หลวงพ่อร้องไห้ นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถวัดนี้เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างอยุธยา ที่มีความงดงามมาก ปัจจุบันภาพลบเลือนไปหมดแล้ว

ข้อมูลเพิ่มเติม:ททท.ลพบุรี 036-770096-7
http://www.tourismthailand.org/lopburi

แก้ไขล่าสุด 0000-00-00 00:00:00 ผู้ชม 22302

การเดินทาง แผนที่ ที่เที่ยว/ที่พัก

กดติดตามการเดินทางของเราใน Youtube ด้วยนะคะ
หลวงพ่อร้องไห้

หลวงพ่อร้องไห้ พระพุทธรูปปางป่าลิไลย์องค์ใหญ่ สูง 21 เมตร กว้าง 6 เมตรที่เรามองเห็นได้แต่ไกลเมื่อเราเดินทางมาที่วัดแม้ว่าเราจะยังอยุู่ห่างจากวัดอีกหลายร้อยเมตรก็ยังคงมองเห็นองค์พระได้อย่างชัดเจน ชาวบ้านในวัดเรียกกันว่า หลวงพ่อใหญ่ ส่วนชื่อที่เรียกกันทั่วไปเรียกว่า หลวงพ่อโต เมื่อปี 2530 มีน้ำสีแดงเหมือนโลหิตไหลบริเวณพระนาสิก ก็เรียกกันว่าหลวงพ่อร้องไห้ เป็นข่าวใหญ่โตในสมัยนั้นจนทำให้ประชาชนแห่มากราบไหว้พระพุทธรูปองค์นี้กันเนืองแน่น เมื่อเราเดินทางเข้ามาในวัดหลายคนยังพยายามมองหาร่องรอยดังกล่าว แต่เวลาผ่านไปถึง 25 ปีแล้ว ปัจจุบันก็ไม่มีร่องรอยอะไรให้เห็น ในสมัยนั้นพระปลัดบุญ เจ้าอาวาสวัดสี่ร้อย หลวงพ่อปั้น เจ้าอาวาสวัดพิกุล อำเภอบางบาล พระนครศรีอยุธยา ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านได้ร่วมกันก่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ปางป่าลิไลย์ เพื่อให้ชาวบ้านกราบไหว้บูชาเริ่มดำเนินการก่อสร้างปี พ.ศ. 2456 ถึง พ.ศ. 2471 เป็นระยะเวลา 15 ปี ทำพิธีพุทธาภิเษก ยกรัศมี เบิกพระเนตร ติดอุณาโลม พ.ศ. 2475 รวมระยะเวลานับแต่เริ่มสร้างจนแล้วเสร็จ 19 ปี

หลวงพ่อโต

หลวงพ่อโต ภายในวัดสี่ร้อยที่เราเลี้ยวรถเข้ามา ก็เห็นมีทั้งอุโบสถ วิหาร เจดีย์ พระโพธิสัตว์กวนอิมองค์ใหญ่ ซึ่งแต่ละอย่างก็น่าสนใจทั้งหมด แต่พอลงจากรถทุกคนมุ่งหน้าไปที่องค์หลวงพ่อโตเป็นอันดับแรกโดยที่ไม่ได้นัดกันมาก่อน ด้านหน้าหลวงพ่อโตมีศาลาสำหรับบูชาธูปเทียนดอกไม้นำมาสักการะบูชาองค์พระ ด้านขวามือมีที่บูชาวัตถุมงคลของวัด สมเด็จองค์สีขาวฝังพลอยสร้างตั้งแต่ประมาณปี 2533 ราคาองค์ละ 100 บาท เราก็พากันบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลคนละหลายองค์ สำหรับผู้ที่สนใจศรัทธาห่มผ้าจีวรหลวงพ่อโตก็สามารถทำได้ที่ศาลาเดียวกันนี้

วัดสี่ร้อย

เรื่องราวความเป็นมาของสมครามสมัยรองปลัดชู เท่าที่เห็นจะมีให้อ่านบนเว็บไซต์ต่างๆ เป็นฉบับย่อๆ พอเราได้เอกสารจากทางวัดมาอ่าน เห็นควรว่าน่าจะเอาประวัติที่ละเอียดมากขึ้นมาให้คนรุ่นหลังได้ลองอ่านศึกษาหาความรู้ และร่วมกันระลึกถึงบรรพชนผู้เสียสละพลีชีพแลกชีวิตเพื่อชาติจนมีประเทศไทยให้เรามาทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้

ประวัติวัดสี่ร้อย
เมื่อ พ.ศ. 2302 แผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์กษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา พม่าได้ยกทัพมาตีไทย สาเหตุมาจากพระเจ้าอลองพญาให้แม่ทัพยกทัพมาตีมอญ คือหงสาวดี เมื่อตีได้แล้วก็กลับไปเมืองรัตนสิงห์ ส่วนไทยกำลังปราบพวกกระแซ ซึ่งรบติดพันอยู่กับพม่าทางเหนือ ต่อมามีขุนามอญคนหนึ่งคุมพรรคพวกเข้าตีเมืองสิเรียม ที่ปากน้ำหงสาวดีได้พม่ายกทัพมาตีคืนพวกมอญสู้ไม่ได้จึงลงเรือกำปั่นฝรั่งเศสหนีไป ตั้งใจจะไปอินเดีย แต่เรือถูกพายุใหญ่ พัดเรือมาทางตะวันออก จึงแวะมาซ่อมเรืออยู่ที่มะริด เมืองมะริดเป็นเมืองขึ้นของตะนาวศรีซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทย พม่าจึงมีหนังสือมาขอตัวมอญจากพญาตะนาวศรี แต่ไทยไม่ยอกส่งมอญให้ ฝ่ายพระเจ้าอลองพญา ลงมาฉลองพระเกศาธาตุที่เมืองย่างกุ้ง ซึ่งได้สั่งให้ปฏิสังขรณ์ตั้งแต่ตีเมืองนี้ได้ เมื่องฉลองพระธาตุแล้วจึงโปรดให้มังระราชบุตร กับมังฆ้องนรธา คุมพล 800 คน ลงไปตีทวาย ซึ่งแข็งเมืองอยู่และได้ทราบเรื่องของพวกมอญที่หลบหนึอยู่ตะนาวศรีและมะริดหลายลำ พระเจ้าอลองพญาจึงให้มังระราชบุตรยกทัพไปตีทวายและเลยไปตีมะริดและตะนาวศรีด้วยโดยถือโอกาสตัดไมตรีกับไทยด้วยเรื่องมอญ ตีได้เมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี โดยง่ายดาย จึงคิดจะตีหัวเมืองไทยต่อๆ เข้ามา ทางกรุงศรีอยุธยาได้รับใบบอกว่าพม่าจะตีตะนาวศรีจึงได้จัดทัพพล 300 มีพญายมราชเป็นแม่ทัพ ยกไปรักษาเมืองมะริดแล้วให้พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งหน้าที่ปกติเป็นจตุสดมภ์กรมวังคุมพล 200 คน ยกหนุนขึ้นไปและการยกทัพไปของพญารัตนาธิเบศร์ครั้งนี้ทางอยุธยายังให้ "ขุนรองปลัดชู" กรมการเมืองวิเศษชัยชาญซึ่งเป็นผู้รู้วิทยาคมคุมพรรคพวกวิเศษชัยชาญเป็นกองอาทมาตทหารกองนี้ จะคงทนมีอาคมแก่กล้า ให้ขุนรองปลัดชูยกไปในทัพพญารัตนาธิเบศร์ ฝ่ายทัพพญายมราช 300 คน ยกข้ามแนวเขาบรรทัดออกไปทางด่านสิงขร (เลยประจวบคีรีขันธ์แล้วแยกขวาไปอีก 17 กม.) พอยกด่านไปทราบว่าเมืองมะริดแตกแล้วจึงไม่ยกทัพไปต่อ ตั้งทัพอยู่ที่แก่งตุ่มปลายน้ำตะนาวศรี ทางฝ่ายพม่า มังระนายทัพจึงให้มังฆ้องนรธายกทัพจากมะริดมาตีทัพไทยที่ตั้งอยู่ปลายน้ำแตกพ่ายไป ทัพพม่าก็ตามทัพไทยตีแตกพ่ายเข้ามา

ทัพพญารัตนาธิเบศร์ไปตั้งทัพอยู่ที่เมืองกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงสั่งให้ปลัดชูคุมกองอาทมาต 400 คน ลงไปสกัดพม่าอยู่ที่อ่าวหว้าขาว พม่ายกมาถึงตอนเช้าตรู่ขุนรองปลัดชูคุมกองอาทมาตออกโจมตีข้าศึกรบกันด้วยอาวุธสั้นถึงขั้นตะลุมบอนกองอาทมาตไล่ฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ฝ่ายพญารัตนาธิเบศร์ทราบว่ากองทัพพญายมราชแตกแล้ว จึงเกณฑ์ทัพหนุน 500 คน ยกไปเพื่อหนุนกองอาทมาต แต่กองหนุนลงไปไม่ทันเพราะกองอาทมาตรบตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเที่ยงวันก็สิ้นกำลังถูกทหารพม่าฆ่าตาย และส่วนหนึ่งถูกไล่ต้อนลงทะเลจนจมน้ำตายพญารัตนาธิเบศร์ทราบว่ากองอาทมาตแตกแล้วก็ยกทัพหนึกลับไปเพชรบุรี ชาวเมืองวิเศษชัยชาญเมื่อทราบข่าวก็เศร้าเสียใจ จึงได้แต่ภาวนาขอบุญกุศลที่ได้สร้างสมไว้จงเป็นปัจจัยส่งผลให้ดวงวิญญาณของทหาร หาญกล้าได้ไปสู่สุคติในสัมปรายภพ เมื่อ พ.ศ. 2314 ประชาชนได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นเป็นที่ระลึก เป็นอนุสรณ์สถานแก่อนุชนรุ่นหลังของชาวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ระลึกถึงบรรพบุรุษที่พลีชีพเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย โดยให้ชื่อว่า วัดสี่ร้อย จนถึงทุกวันนี้ และได้สร้างเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึกรวบรวมดวงวิญญาณ ของขาวเมืองวิเศษชัยชาญ ที่พลีชีพในการสู้รบครั้งนั้นและเสียชีวิต 400 คน เป็นที่เคารพบูชาคุณงามความดีที่ต่อสู้เพื่อแผ่นดินไทย

พระโพธิสัตว์กวนอิม

พระโพธิสัตว์กวนอิม หรือเจ้าแม่กวนอิม สร้างอยู่ด้านในสุดของวัดอยู่ด้านหน้าองค์เจดีย์สีขาว เป็นเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่มาก

เจดีย์วัดสี่ร้อย

เจดีย์วัดสี่ร้อย

ภายในอุโบสถ

ภายในอุโบสถ เดิมเป็นอุโบสถเก่าแก่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมาก สาเหตุจากกาลเวลาที่ผ่านมานานนับร้อยๆ ปี ภาพจิตรกรรมเหล่านั้นก็เลือนหายไปหมด คงเหลือเพียงสีขาวที่ทางวัดทาใหม่ อุโบสถหลังนี้อยู่ด้านหลังหลวงพ่อโต

วิหารวัดสี่ร้อย

วิหารวัดสี่ร้อย เป็นเสานาสนะที่อยู่อีกด้านหนึ่งของโบสถ์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ด้วยกัน

รอยพระพุทธบาท

รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานอยู่หน้าพระประธานในวิหาร มีเหรียญเรียงรายอยู่จำนวนมากเพราะชาวบ้านมาสักการะรอยพระพุทธบาทก็มักจะเอาเหรียญวางไว้ บางคนก็อธิษฐานเสี่ยงตั้งเหรียญ

รับวัตถุมงคล

รับวัตถุมงคล หลังจากทำบุญไหว้พระในวัดครบทุกจุดแล้ว เรามารวมตัวทำบุญร่วมกันในวิหาร หลวงพ่อท่านก็เลยได้มอบพระสมเด็จที่สร้างปี 2533 ให้เราคนละองค์พร้อมกับชายผ้าห่มองค์หลวงพ่อโตให้พกติดตัวเป็นสิริมงคลกลับบ้าน

อนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู

อนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาววิเศษชัยชาญร่วมใจสร้างขึ้นมาเพื่อระลึกถึงความเสียสละกล้าหาญของท่านรองปลัดชูในสงครามที่อ่าวหว้าขาว ประจวบคีรีขันธ์ พลีชีพเพื่อบ้านเมืองพร้อมด้วยทหารชาววิเศษชัยชาญ 400 คน ที่มาของชื่อวัด สี่ร้อย และชื่อตำบลสี่ร้อย จนกระทั่งปัจจุบัน ชาววิเศษชัยชาญและชาวบ้านใกล้เคียงก็มาสักการะอนุสาวรีย์นี้อยู่เป็นประจำ

0/0 จาก 0 รีวิว

10 ที่พัก/โรงแรมใกล้ วัดสี่ร้อย อ่างทอง
สายัณห์ แมนชั่น เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.08 km | แผนที่ | เส้นทาง
Green village เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  16.60 km | แผนที่ | เส้นทาง
ไทย คลาสสิค สวีท แอนด์ เอ็กคลูซีฟ โฮม สเตย์ เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  17.15 km | แผนที่ | เส้นทาง
Darapura @ Wangyang resort เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  37.73 km | แผนที่ | เส้นทาง
รีเมมเบอร์ สเปซ ปอด เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  39.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสวีท อินน์ รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  40.70 km | แผนที่ | เส้นทาง
บางปลาหมอ ริเวอร์ วิว รีสอร์ท เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  40.78 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมบ้านสบายดี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  41.90 km | แผนที่ | เส้นทาง
กรีนเวย์ ลิตเติล ริเวอร์ รีสอร์ต เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  42.82 km | แผนที่ | เส้นทาง
โรงแรมสองพันบุรี เช็คห้องว่าง/ราคา/จอง
  43.71 km | แผนที่ | เส้นทาง

*หมายเหตุ ระยะทางเป็นระยะโดยประมาณ

Line id: @touronthai (ใส่ @)
www.touronthai.com